ปริยัติ + วิปัสสนา

 
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ
สุตฺเตสุ พหุชาคโร

อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส
หิตฺวา ยาติ สุเมธโส

คำแปล
บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อคนทั้งหลายประมาทอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาท
เมื่อคนทั้งหลายหลับอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นส่วนมาก
ย่อมละบุคคลผู้ประมาท เหมือนม้าฝีเท้าดี ละทิ้งม้าฝีเท้าไม่ดี ไม่มีกำลังไป ฉะนั้น

อธิบายความ
ผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตื่น คือสติ ท่านเรียกว่าผู้หลับ หลับอยู่เป็นนิตย์
ส่วนผู้ไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี
โดยปริยายเบื้องสูงท่านหมายถึงพระขีณาสพ
คือผู้สิ้นกิเลสแล้ว

กล่าวโดยปริยายสามัญ คนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ

ไม่ประมาท
มีความเพียรไม่เห็นแก่หลับนอน และ
มีปัญญาดี

ย่อมเอาชนะผู้อื่นได้โดยง่าย เป็นเสมือนม้าฝีเท้าดี, คนอย่างนั้นย่อมระลึกอยู่เสมอว่า
"ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราไม่ประมาท ใครจะหลับนอนอย่างเกียจคร้านก็ช่างเขา เราตื่นอยู่"
ทำได้อย่างนี้สม่ำเสมอ จะเรียนหรือจะทำงานก็เจริญรุดหน้าได้ทั้งสิ้น

บางคนมีสมองดี แต่เกียจคร้าน บางคนสมองสติปัญญาไม่ดีแต่ขยัน คือ
ได้อย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง ถ้าใครได้ทั้งสองอย่างคือ
ทั้งสติปัญญาดีและทั้งขยันหมั่นเพียร มีกำลังกายดี
คนนั้นย่อมเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว-ไปเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน

 
 
 
                         เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.
ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร

อาการสำรวมจิตมี ๓ อย่าง

๑. สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ มิให้ความยินดีครอบงำในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา

๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะ และกายคตาสติ หรืออันยังใจให้สลดคือ มรณสติ

๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจรณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานให้เห็นเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

กิเลสกาม คือ เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ กล่าวคือ ตัณหา ความทะยานอยาก ราคะ ความกำหนัด อรติ ความขึ้งเคียดเป็นอาทิ จัดว่าเป็นมาร เพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน

วัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของน่าชอบใจ จัดเป็นบ่วงแห่งมาร เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติดแห่งมาร

 
 
ในประโยค ป.ธ. ๓ พระธรรมบทภาค ๑ เรื่อง ภิกษุสองสหาย  มีใจความเล่าว่า
 
                 เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันกรุงสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุสองสหายได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 นี้

ครั้งหนึ่งมีภิกษุสองรูปเป็นสหายกันจากตระกูลคฤหบดีในกรุงสาวัตถี ในภิกษุสองรูปนี้รูปหนึ่งศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกจนมีความเชี่ยวชาญสามารถท่องจำความในพระคัมภีร์ต่างๆได้มากมาย ท่านรูปนี้ยังได้สอนพระภิกษุอื่นอีกเป็นจำนวน 500 รูป และยังได้เป็นผู้แนะนำภิกษุอื่นๆอีก 18 กลุ่มด้วยกัน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งนั้นมีความขยันหมั่นเพียรตามแนวทางของวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

ครั้งหนึ่งเมื่อพระภิกษุรูปที่สองนี้มาเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ก็ได้มาพบกัน พระภิกษุรูปที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไม่ทราบว่าพระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงดูหมิ่นพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์โดยคิดว่าท่านเป็นพระภิกษุชรารู้เรื่องคัมภีร์ต่างๆแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ความรู้เรื่องนิกายต่างๆสักนิกาย หรือไม่มีความรู้เรื่องในปิฎกใดปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ดังนั้นท่านจึงคิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ให้เกิดความอับอาย พระศาสดาทรงทราบเจตนาที่เป็นอกุศลของพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก และพระองค์ยังทรงทราบด้วยว่า จากผลของการสร้างความลำบากให้แก่พระภิกษุรูปที่พระอรหันต์จะทำให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกไปเกิดในนรกได้

ดังนั้นพระศาสดาทรงมีพระกรุณาต่อพระภิกษุผู้คงแก่เรียน จึงได้เสด็จไปหาพระภิกษุทั้งสองรูปนั้นเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนถามปัญหาพระภิกษุรูปที่เป็นพระอรหันต์ พระศาสดาจึงได้ทรงตรัสถามปัญหาเสียเอง โดยได้ตรัสถามปัญหาที่เกี่ยวกับฌานต่างๆ และมรรคต่างๆกับพระภิกษุรูปที่คงแก่เรียนที่ชำนาญในพระไตรปิฎก พระภิกษุรูปนี้ไม่สามารถตอบปัญหาของพระศาสดาได้เพราะตนไม่เคยนำสิ่งที่ตนสอนมาปฏิบัติ สำหรับกับพระรูปที่เป็นพระอรหันต์นั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านสามารถตอบคำถามของพระศาสดาได้ทุกข้อ พระศาสดาทรงยกย่องพระที่ปฏิบัติธรรมะแต่ไม่ทรงยกย่องพระที่คงแก่เรียน

พวกพระที่เป็นสัทธิวิหาริกไม่เข้าใจสาเหตุที่พระศาสดาทรงยกย่องพระภิกษุชราที่เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ยกย่องพระภิกษุที่คงแก่เรียน พระศาสดาได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พระภิกษุคงแก่เรียนที่รู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั้นก็เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่เลี้ยงโคเพื่อรับค่าจ้าง ในขณะที่พระที่ปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับเจ้าของโคที่ได้เสวยผลของผลิตผลห้าอย่างของโค ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุผู้คงแก่เรียนนั้นได้แต่การอุปัฏฐากจากศิษยานุศิษย์แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ส่วนพระภิกษุสายปฏิบัติธรรมนั้น แม้ว่าจะมีความรู้น้อยและท่องจำพระคัมภีร์ได้น้อย แต่สามารถเข้าใจแก่นแท้ของธรรมะและนำไปปฏิบัติอย่างมุมานะขยันหมั่นเพียร จึงได้ชื่อว่า “อนุธัมมจารี”(ผู้ปฏิบัติตามธรรม) สามารถขจัดราคะ โทสะ และโมหะได้ จิตของท่านจึงปลอดพ้นจากตัณหานุสัยและความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านจึงเป็นผู้ได้เสวยผลประโยชน์ของมรรคและผลจริงๆ

จากนั้นพระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบทพระคาถาที่ 19 และพระคาถาที่ 20 ดังนี้

พหุ ปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน

น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต

โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ

น ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ

คนที่ได้แต่ท่องจำตำราได้มาก

แต่มัวประมาท ไม่ปฏิบัติตามคำสอน

ย่อมไม่ได้รับผลที่ควรจะได้จากการบวช

เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคให้คนอื่นเขา.

อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน

ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี

ราคญจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ

สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต

อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา

ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติฯ

คนที่ท่องจำตำราได้น้อย แต่ประพฤติตามธรรม

ละราคะ โทสะ โมหะได้

รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตหลุดพ้น

ไม่ยึดมั่นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เขาย่อมได้รับผลของการบวช.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมากบรรลุพระโสดาบันป็นต้น พระธรรมเทศนามีประโยชน์แก่มหาชน.

 
 
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

หน้าต่างที่   ๑๔ / ๑๔.

               ๑๔. เรื่องภิกษุ ๒ สหาย [๑๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ” เป็นต้น.
               สองสหายออกบวช                              ความพิสดารว่า กุลบุตร ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกัน ไปยังวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ละกามทั้งหลาย ถวายชีวิตในพระศาสนาของพระศาสดา๑- บวชแล้ว อยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ตลอด ๕ ปีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงธุระในพระศาสนา ได้ฟังวิปัสสนาธุระและคันถธุระโดยพิสดารแล้ว๒-, รูปหนึ่งกราบทูลก่อนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บวชแล้วเมื่อภายแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระได้, แต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ” ดังนี้แล้ว ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาจนถึงพระอรหัต พากเพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตพร้อมกับด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
____________________________
๑- อุรํ ทตฺวา.
๒- เป็นประโยคกิริยาปธานนัย.

               ฝ่ายภิกษุรูปนอกนี้ คิดว่า “เราจะบำเพ็ญคันถธุระ” ดังนี้แล้ว เรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกโดยลำดับ กล่าวธรรม สวดสรภัญญะ ในสถานที่ตนไปแล้วๆ, เที่ยวบอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เป็นอาจารย์ของคณะใหญ่ ๑๘ คณะ.
               ภิกษุทั้งหลายเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระนอกนี้ (รูปบำเพ็ญวิปัสสนา) ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บรรลุพระอรหัตแล้ว นมัสการพระเถระ เรียนว่า “กระผมทั้งหลายใคร่จะเฝ้าพระศาสดา”
               พระเถระกล่าวว่า “ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลาย นมัสการใต้เท้า’” ดังนี้แล้วส่งไป. ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า “ใต้เท้าขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึงใต้เท้า” ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า “อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็นใคร?” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ.”
               เมื่อพระเถระ (วิปัสสกภิกษุ) ส่งข่าวเยี่ยมอย่างนี้เรื่อยๆ อยู่, ภิกษุนั้น (คันถิกะ) อดทนอยู่ได้สิ้นกาลเล็กน้อย ภายหลังไม่สามารถจะอดทนอยู่ได้, เมื่อพวกอาคันตุกภิกษุเรียนว่า “ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการใต้เท้า” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “อาจารย์ของพวกท่าน นั่นเป็นใคร”,
               เมื่อภิกษุทั้งหลายเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ” จึงกล่าวว่า “ก็อะไรเล่า? ที่พวกท่านเรียนในสำนักของภิกษุนั้น บรรดานิกายมีทีฆนิกายเป็นต้น นิกายใดนิกายหนึ่งหรือ? หรือบรรดาปิฎก ๓ ปิฎกใดปิฎกหนึ่งหรือ? ที่พวกท่านได้แล้ว” ดังนี้แล้ว คิดว่า สหายของเราย่อมไม่รู้จักคาถาแม้ประกอบด้วย ๔ บท, ถือบังสุกุล เข้าป่า แต่ในคราวบวชแล้ว ยังได้อันเตวาสิกมากมายหนอ, ในกาลที่เธอมา เราควรถามปัญหาดู”

               พระเถระทั้งสองพบกัน                              ในกาลต่อมา พระเถระ (วิปัสสกะ) ได้มาเฝ้าพระศาสดา, เก็บบาตรจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้สหายแล้ว ไปถวายบังคมพระศาสดา และนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ก็กลับมาที่อยู่ของพระเถระผู้สหาย. ลำดับนั้น พระคันถิกเถระนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทำวัตรแก่ท่านแล้ว ถือเอาอาสนะมีขนาดเท่ากัน นั่งแล้วด้วยตั้งใจว่า “จักถามปัญหา.”
               พระศาสดาถามปัญหาพระเถระทั้งสอง                              ขณะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า “คันถิกภิกษุนี้พึงเบียดเบียนบุตรของเราผู้มีรูปเห็นปานนี้ แล้วเกิดในนรก”, ด้วยทรงเอ็นดูในเธอ ทำประหนึ่งเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จถึงสถานที่เธอทั้งสองนั่งแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เธอจัดไว้. แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะนั่งในที่นั้นๆ จัดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจึงนั่ง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงประทับนั่งเหนืออาสนะที่พระคันถิกภิกษุนั้นจัดไว้โดยปกตินั่นแล. ก็แลครั้นประทับนั่งแล้ว จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.
               ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ. พระเถระก็ทูลตอบได้.

               พระวิปัสสกเถระได้รับสาธุการ                              พระศาสดาทรงชมเชยว่า “ดีละๆ” แล้วตรัสถามปัญหา แม้ในมรรคที่เหลือทั้งหลายโดยลำดับ. พระคันถิกเถระก็มิได้อาจทูลตอบปัญหาได้สักข้อเดียว ส่วนพระขีณาสพทูลตอบปัญหาที่ตรัสถามแล้วๆ ได้. พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่พระขีณาสพนั้นในฐานะทั้งสี่. เทวดาทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภุมเทวดา จนถึงพรหมโลกและนาคครุฑ ได้ฟังสาธุการนั้นแล้ว ก็ได้ให้สาธุการ.
               พวกอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของพระคันถิกเถระ ได้สดับสาธุการนั้นแล้ว จึงยกโทษพระศาสดาว่า “พระศาสดาทรงทำกรรรมอะไรนี่? พระองค์ได้ประทานสาธุการแก่พระมหัลลกเถระผู้ไม่รู้อะไรๆ ในฐานะทั้งสี่, ส่วนท่านอาจารย์ของพวกเราผู้จำทรงพระปริยัติธรรมไว้ได้ทั้งหมด เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระองค์มิได้ทรงทำแม้มาตรว่า ความสรรเสริญ”

               พูดมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์                              ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกันนี่?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เช่นกับผู้รักษาโคทั้งหลาย เพื่อค่าจ้างในศาสนาของเรา, ส่วนบุตรของเรา เช่นกับเจ้าของผู้บริโภคปัญจโครส๑- ตามชอบใจ”
               ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

               ๑๔. 

พหุมฺปิ เจ สหิตํ๒- ภาสมาโน

               

น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต

               

โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ

               

น ภาควา สามญฺญสส โหติ.

               

อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน

               

ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี

               

ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ

               

สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต

               

อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา

               

ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.

               

               “หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี

               

ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว

               

ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่

               

เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล๓- เหมือนคนเลี้ยงโค

               

นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มี

               

ส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าว

               

พระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย

               

(แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

               

ไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มี

               

จิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือ

               

ในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”

____________________________
๑- อันเกิดแต่โค ๕ อย่าง คือ นมสด, นมส้ม, เปรี้ยง, เนยใส, เนยข้น.
๒- ม. สํหิต. อยญฺหิ คาถา อุเปนฺทวชิโร นาม โหติ, โส จ ช ต ช คเณหิ เจว ครุทฺวเยน จ นิยมิโต, ตสฺมา "สํหิต อิติ ยุชฺชติ.
๓- ผล คือคุณเครื่องเป็นสมณะ.

               แก้อรรถ                              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สหิตํ นี้ เป็นชื่อแห่งพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก, นรชนเข้าไปหาอาจารย์ทั้งหลาย เล่าเรียนพระพุทธพจน์นั้นแล้ว กล่าว คือบอก ได้แก่แสดงอยู่ ซึ่งพระพุทธพจน์แม้มากแก่ชนเหล่าอื่น (แต่) หาเป็นผู้ทำกิจอันการกบุคคลฟังธรรมนั้นแล้วจะพึงทำไม่ คือไม่ยังการทำไว้ในใจให้เป็นไป ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ชั่วขณะแม้สักว่าไก่ปรบปีก, นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งผล สักว่าการทำวัตรปฏิวัตรจากสำนักของอันเตวาสิกทั้งหลายอย่างเดียว, แต่หาเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะไม่ เหมือนคนเลี้ยงโครักษาโคทั้งหลายเพื่อค่าจ้างประจำวัน รับไปแต่เช้าตรู่ เวลาเย็นนับมอบให้แก่เจ้าของทั้งหลายแล้ว รับเอาเพียงค่าจ้างรายวัน, แต่ไม่ได้เพื่อบริโภคปัญจโครสตามความชอบใจ ฉะนั้นแล.
               เหมือนอย่างว่า เจ้าของโคพวกเดียว ย่อมบริโภคปัญจโครสแห่งโคทั้งหลาย ที่นายโคบาลมอบให้แล้ว ฉันใด, การกบุคคลทั้งหลายฟังธรรมอันนรชนนั้นกล่าวแล้ว ปฏิบัติตามที่นรชนนั้นพร่ำสอนแล้ว ก็ฉันนั้น, บางพวกบรรลุปฐมฌานเป็นต้น, บางพวกเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุมรรคและผล, จัดว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ เหมือนพวกเจ้าของโค ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งโครสฉะนั้น.
               พระศาสดาตรัสคาถาที่ ๑ ด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ผู้มีสุตะมาก (แต่) มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ไม่ประพฤติแล้วในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจแห่งไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น, หาตรัสด้วยอำนาจแห่งภิกษุผู้ทุศีลไม่ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนคาถาที่ ๒ พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งการกบุคคลผู้แม้มีสุตะน้อย (แต่) ทำกรรมในการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายอยู่.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมฺปิ เจ ความว่า น้อย คือแม้เพียง ๑ วรรค หรือ ๒ วรรค.
               บาทพระคาถาว่า ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี เป็นต้น ความว่า นรชนรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ประพฤติธรรมอันสมควรแก่โลกุตรธรรม ๙ คือประเภทแห่งธรรม มีปาริสุทธิศีล ๔ ธุดงคคุณ และอสุภกรรมฐานเป็นต้น ที่นับว่าข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้น ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีปกติประพฤติธรรมสมควร คือหวังการแทงตลอดอยู่ว่า “เราจักแทงตลอดในวันนี้ เราจักแทงตลอดในวันนี้ ทีเดียว” ชื่อว่าย่อมประพฤติ.
               นรชนนั้นละราคะ โทสะ และโมหะด้วยข้อปฏิบัติชอบนี้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยนัย มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ด้วยอำนาจแห่งตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติและนิสสรณวิมุตติ. หมดความถือมั่นอยู่ในโลกนี้หรือในโลกอื่น คือไม่เข้าไปยึดถือขันธ์อายตนะและธาตุทั้งหลาย อันนับเนื่องในโลกนี้และโลกอื่น หรืออันเป็นภายในและภายนอก ด้วยอุปาทาน๑- ๔ ชื่อว่าเป็นมหาขีณาสพ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ คือผลอันมาแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณเครื่องเป็นสมณะ กล่าวคือมรรค และคุณเครื่องเป็นสมณะคือกองแห่งอเสขธรรม๒- ๕.
____________________________
๑- กามุปาทาน การถือมั่นกาม ๑ ทิฏฐุปาทาน การถือมั่นทิฏฐิ ๑ สีลัพพตุปาทาน การถือมั่นศีลพรต ๑ อัตตวาทุปาทาน การถือมั่นวาทะว่าตน ๑.
๒- สีลขันธ์ คุณคือศีล ๑ สมาธิขันธ์ คุณคือสมาธิ ๑ ปัญญาขันธ์ คุณคือปัญญา ๑ วิมุตติขันธ์ คุณคือวิมุตติ ๑ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ คุณคือวิมุตติญาณทัสสนะ ๑.

               พระศาสดาทรงรวบยอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัต เหมือนนายช่างถือเอายอดแห่งเรือน ด้วยยอดแก้วฉะนั้น ดังนี้แล.
               ในกาลจบคาถา คนเป็นอันมาก ได้เป็นอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น.
               เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

               เรื่องภิกษุ ๒ สหาย จบ.               
               ยมกวรรควรรณนา จบ.               
               วรรคที่ ๑ จบ.   

 

 

ใส่ความเห็น

กันยายน 2009
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930  

คลังเก็บ