เริ่มต้นฝึกสมาธิใหม่

การปฏิบัติต้องรู้ชัดในอารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรรู้วิธีรักษาจิต

หลายๆคนที่มาปรึกษา ส่วนมากที่เราให้เริ่มเรื่องสมาธิใหม่เพราะเหตุนี้ ต้องรู้ชัดในจิตของตัวเองว่า นั่งในอิริยาบทไหนในบรรยากาศหรืออากาศแบบไหน ที่สมาธิเกิดได้ง่ายและมีกำลังมากที่สุด คือดิ่ง

ตอนนี้อาจจะยังมองไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราให้ทำเพิ่ม แต่ต่อไปเขาต้องได้ใช้อย่างแน่นอน เพราะสภาวะเบื่อจะต้องเจอทุกคน ไม่ใช่เบื่อแบบธรรมดาๆ ต้องบอกว่าเบื่อจนไม่มีที่จะอยู่ เป็นเหตุให้ไม่อยากปฏิบัติ แต่ต้องทำแล้วเพราะรู้ว่าทำเพราะอะไร

เมื่อไม่อยากทำ แต่พยายามที่จะทำ กลายเป็นฝืนใจทำ ไม่ใช่ทำแบบปกติ นี่เจอทุกข์อีกแล้ว ฉะนั้นต้องมีที่ให้จิตชอบ มีที่ให้จิตพัก สมาธิเป็นที่พักจิตที่ดีที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ต้องดูจังหวะ รู้ชัดในจิตของตัวเองให้ได้ก่อน รู้ชัดในสภาวะของสมาธิก่อน

บางคนรู้ชัดในสภาวะเวลาสมาธิเกิด แต่ไม่รู้ชัดในวิธีที่จะทำให้สมาธิเกิดได้ง่าย ไม่รู้ชัดในวิธีที่จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้แนบแน่น เกิดสมาธิได้มากๆแบบไม่มีประมาณ จึงให้ฝึกสมาธิใหม่เพราะเหตุนี้ ฝึกเพื่อให้เกิดความชำนาญ ให้มีวสีรู้ชัดในการเข้าออกสมาธิ

เมื่อชำนาญแล้ว เอาไว้ใช้ในเวลาเกิดสภาวะเบื่อ ในสภาวะนี้ต้องใช้สมาธิที่มีกำลังมากๆ จึงจะช่วยกดข่มสภาวะที่เป็นอยู่ได้ เป็นเหตุให้ไม่ต้องทุกข์กับสภาวะที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งการปฏิบัติก็ไม่ฝืนใจทำ จะทำสลับไปมาแบบนี้

เบื่อมาก ปล่อยจิตเข้าพักในสมาธิ จะทำทั้งวันก็ไม่เป็นไร เพราะสภาวะเบื่อบางครั้งจะเกิดขึ้นทั้งวัน พักจิตไปจนกว่าจะหายเบื่อ

จิตพอได้พักเต็มที่จะมีสภาวะสดใส สดชื่น เบิกบาน โปร่ง โล่งเบาสบาย สุขไม่มีประมาณ แล้วตัวปัญญาจะเกิด ที่นี้พอมาปฏิบัติจะทำได้อย่างสะดวกสบายไม่ต้องฝืนใจทำ ไม่ต้องไปบังคับกดข่มจิตเพื่อให้ทำแต่อย่างใด

กิเลส

สมาธิก็เป็นกิเลส ทั้งๆที่สมาธิไม่ได้เป็นกิเลส แต่กลับกลายเป็นกิเลสเพราะความไม่รู้ เกิดการยึดติดในสมาธิ ยึดติดความสงบ สุข ในสภาวะที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของจิตเป็นสมาธิ

เมื่อรู้ว่าสมาธิเป้นกิเลสได้เพราะเหตุใด ต้องรู้จักนำกิเลสมาใช้ให้ถูกที่ ถูกทาง กิเลสก็พลิกสถานะการณ์ให้สภาวะที่เป็นอยู่เป็นต่อไปทันที สภาวะจะก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ รู้ชัดในจิตมากขึ้น เห็นรายละเอียดต่างๆของสภาวะชัดมากขึ้น

รู้ชัดในรูป, นาม (กาย, เวทนา, จิต, ธรรม)

มีบางคนรู้ชัดในรูปนาม แต่ไม่รู้หรอกว่าสภาวะของตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อเจอสภาวะเดิมๆซ้ำๆ ย่อมเกิดอาการเบื่อ นี่เป็นเรื่องปกติของความไม่รู้ ถึงแม้รู้แล้วยังเบื่อเลย เพราะยังไม่รู้จักวิธีรักษาจิต ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

สร้างเหตุยังไง รับผลเช่นนั้น

สภาวะที่เกิดขึ้นของแต่ละคนก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่รู้ชัดในสภาวะ เมื่อเจอสภาวะเบื่อเช่นนี้ อาจจะบอกว่า นี่นิพพิทาญาณเกิดขึ้นแล้ว เสร็จเลย เสร็จกิเลส เสร็จกิเลสเพราะไม่รู้ชัดในสภาวะ ที่นี้ก็วุ่นวาย หาทางแก้ไขสภาวะ ทั้งๆที่จริงแล้วสภาวะเป็นไปตามเหตุของตัวสภาวะเอง

ญาณ ๑๖

เรื่องของญาณ ๑๖ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี มีไว้ให้ศึกษา มีไว้ให้รู้ ไม่ใช่มีไว้ให้ยึด ซึ่งเกิดจากการตีความว่าสภาวะแต่ละญาณจะต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ให้ดูเรื่องเหตุ ให้ดูการกระทำ ดูอารมณ์ยามผัสสะที่เกิดขึ้น ดูทันไหม ถ้าดูทันย่อมรู้ชัด

โสฬสธรรม

อยากรู้เรื่อญาณ ๑๖ ให้อ่านโสฬสธรรม เป็นคำถามที่พรามหณ์พาวารีผูกปัญหาให้ลูกศิษย์ ๑๖ คน นำไปถามพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตอบมานั้นล้วนมีสภาวะซ่อนอยู่ภายในคำตอบทุกคำตอบ

เช่นคำถามของพระโมฆราช สิ่งที่พระพุทธเจ้าตอบ บางคนนำมาตีความเป็นเรื่องสุญญตา

สุญฺญโต โลกํ อเวกฺสฺสุ โมฆราช สทา สโต

อตฺตานุทิฏฐึ โอหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา

เอวํ โลกํ เอวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ

แปลความว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติตลอดเวลา มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ (คือ ความเห็นเนืองๆว่ามีอัตตา) เสีย

จึงจะเป็นผู้ข้ามพ้นมฤตยูด้วยอาการอย่างนั้น มัจจุราช (มองหา) ไม่เห็นบุคคลผู้มองเห็นโลกอย่างนี้

วิโมกคาถา

ครั้นโยคาวจรเห็น(โลก) โดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างนั้นแล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ กำหนดรู้สังขารทั้งหลายอยู่ ก็ละความกลัวและความพึงพอใจเสียได้

เป็นผู้มีตนเป็นกลาง วางเฉยในสังขารทั้งหลาย ไม่ถือว่าเป็น”เรา” หรือว่า “เป็นของเรา”

(นำมาจากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๒ หลวงพ่อโชดก ในบทภังคญาณ)

สุญญตาที่เป็นบัญญัติ ล้วนเป็นเพียงอุบายในการสอน แต่โดยตัวสภาวะของสุญญตาที่แท้จริงมีรายละเอียดลงลึกไปกว่านั้น คำว่า มองโลกว่างเปล่าไม่มีอะไรๆ ล้วนเป็นอุบายในการสอนทั้งสิ้น สอนไม่ให้ยึดติดในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผัสสะ

กับอีกในพระสูตร อากังเขยยสูตร ในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย หน้า ๕๘ ว่า

“อากงฺเขยฺย เจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ฯลฯ วิปสฺสนาย สมนฺนาคโต พฺรูเหตา สุญฺญาคารานํ”

มีใจความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุหวังอยู่ว่า เราพึงเป็นที่รักใคร่ ที่ชอบใจ ที่เคารพ ที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันแล้ว เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศิล พึงเจริญสมถะและวิปปัสนาอยู่เนืองนิตย์ เป็นผู้ไม่ห่างเหินจากฌาน พอกพูนแต่ในสุญญาคารเถิด”

สุญญตาทั้งสองที่นำมาลง มีสภาวะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากไม่รู้ชัดในสภาวะ ย่อมเข้าใจว่าเป็นสภาวะเดียวกัน

คำว่า “เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศิล พึงเจริญสมถะและวิปปัสนาอยู่เนืองนิตย์ เป็นผู้ไม่ห่างเหินจากฌาน พอกพูนแต่ในสุญญาคารเถิด”

พึงทำให้บริบูรณ์ในศิล

หมายถึง หมั่นรู้ชัดอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือ รูปนาม (กายและจิต)

สภาวะคือ มีจิตตั้งมั่น รู้ชัดอยู่ในกายและจิต ขณะที่จิตตั้งมั่นรู้ชัดอยู่ในรูปนาม ศิลย่อมสะอาดบริสุทธิ์ บริบูรณ์

พึงเจริญสมถะและวิปัสสนา

หมายถึง มีสมาธิ (จิตตั้งมั่น) มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) รู้ชัด (สติ) อยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า รู้ชัดอยู่ในรูปนาม

สภาวะคือ มีจิตตั้งมั่น (สมถะ) มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้ชัดอยู่ในกายและจิต (วิปัสสนา)

เป็นผู้ไม่ห่างจากฌาน

หมายถึง เข้าออกฌานโดยชำนาญหรือมีวสีในการเข้าออกฌาน รู้ชัดในสภาวะของฌาน

พอกพูนอยู่แต่ในสุญญคาร

หมายถึง รู้ชัดอยู่ในกายและจิต(รูปนาม) หรือที่นิยมนำมาอธิบายว่า ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ซึ่งเป็นเพียงอุบายในการสอน แต่สภาวะที่แท้จริงคือ รู้ชัดอยู่ในรูปนามเนืองๆ

เมื่อรู้ชัดอยู่ในรูปนามได้เนืองๆ วิปัสสนาญาณ(ญาณ๑๖)ย่อมเกิดขึ้นเองตามลำดับขั้น

ใส่ความเห็น

กันยายน 2011
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930  

คลังเก็บ