ผัสสะ
[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิโครธาราม เมือง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ เป็นสาวกของนิครนถ์
เสด็จเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า
ดูกรวัปปะ บุคคลในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย สำรวมด้วยวาจา สำรวมด้วยใจ
เขาฆ่าตัวนี้ กลับไปฆ่าตัวอื่น เพราะอวิชชาดับไป วิชชาเกิดขึ้น
ท่านเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาไปตามบุคคลในสัมปรายภพ หรือไม่
วัปปศากยราชตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น
บุคคลกระทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด
อาสวะทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
พึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพอันมีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะสนทนากับวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ ค้างอยู่เพียงนี้เท่านั้น
ครั้งนั้นแล เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น
เสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้
ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ดูกรโมคคัลลานะ บัดนี้ เธอทั้งหลายประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
และเธอทั้งหลายพูดอะไรค้างกันไว้ในระหว่าง
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส
ข้าพระองค์ได้กล่าวกะวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ว่า
ดูกรวัปปะ บุคคลในโลกนี้
พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย สำรวมด้วยวาจา สำรวมด้วยใจ
เพราะอวิชชาดับไป วิชชาเกิดขึ้น
ท่านเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว วัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น บุคคลกระทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด
อาสวะทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพ อันมีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สนทนากับวัปปศากยราช สาวกของนิครนถ์ค้างอยู่เพียงนี้แล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็เสด็จมาถึง
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับวัปปศากยราชสาวกของนิครนถ์ว่า
ดูกรวัปปะ ถ้าท่านจะพึงยินยอมข้อที่ควรยินยอม และคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อเรา
และท่านไม่รู้ความแห่งภาษิตของเราข้อใด
ท่านพึงซักถามในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า ข้อนี้อย่างไร
ความแห่งภาษิตข้อนี้อย่างไร ดังนี้ไซร้
เราพึงสนทนากันในเรื่องนี้ได้
วัปปศากยราชกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยินยอมข้อที่ควรยินยอม
และจักคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อพระผู้มีพระภาค
อนึ่ง ข้าพระองค์ไม่รู้ความแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคข้อใด
ข้าพระองค์จักซักถามพระผู้มีพระภาคในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า ข้อนี้อย่างไร
ความแห่งภาษิตข้อนี้อย่างไร
ขอเราจงสนทนากันในเรื่องนี้เถิด พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่าใดก่อทุกข์ เดือดร้อน
เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางกายเป็นปัจจัย
เมื่อบุคคลงดเว้นจากการกระทำทางกายแล้ว
อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา
เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไปด้วย
นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้เอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา
วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะ
อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ
ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่าใดก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้น
เพราะการกระทำทางวาจาเป็นปัจจัย
เมื่อบุคคลงดเว้นจากการกระทำทางวาจาแล้ว
อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา
เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไปด้วย
นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ…
วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะ
อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา พึงไปตามบุคคลใน สัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ
ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่าใดก่อทุกข์ เดือดร้อน
เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางใจเป็นปัจจัย
เมื่อบุคคลงดเว้นจาก การกระทำทางใจแล้ว
อาสวะที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มีแก่เขา
เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไปด้วย
นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ…
วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะ
อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ
ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรวัปปะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
อาสวะเหล่าใดก่อทุกข์ เดือดร้อน
เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
เพราะอวิชชาดับไป วิชชาเกิดขึ้น
อาสวะที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เหล่านั้นย่อมไม่มีแก่เขา
เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไปด้วย
นี้เป็นปฏิปทาเผากิเลสให้พินาศ …
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ดูกรวัปปะ ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะ
อันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่ ฯ
ว. ไม่เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรวัปปะ เมื่อภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมบรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิตย์ ๖ ประการ
เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
ฟังเสียงด้วยหู…
สูดกลิ่นด้วยจมูก…
ลิ้มรสด้วยลิ้น…
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย…
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อกายแตกสิ้นชีวิตไป
เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินในโลกนี้ จักเป็นของเย็น
ดูกรวัปปะ เงาปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้
ครั้งนั้น บุรุษพึงถือจอบและตะกร้ามา เขาตัดต้นไม้นั้นที่โคน
ครั้นแล้ว ขุดคุ้ยเอารากขึ้น โดยที่สุดแม้เท่าต้นแฝกก็ไม่ให้เหลือ
เขาตัดผ่าต้นไม้นั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระทำให้เป็นซีกๆ แล้วผึ่งลมและแดด
ครั้นผึ่งลมและแดดแห้งแล้วเผาไฟ กระทำให้เป็นขี้เถ้า
โปรยในที่มีลมพัดจัดหรือลอยในกระแสน้ำอันเชี่ยวในแม่น้ำ
เมื่อเป็นเช่นนั้น เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้นั้น
มีรากขาดสูญ ประดุจตาลยอดด้วน
ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา แม้ฉันใด
ดูกรวัปปะ ฉันนั้นเหมือนกันแล
เมื่อภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมได้บรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ
เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
ฟังเสียงด้วยหู…
สูดกลิ่นด้วยจมูก…
ลิ้มรสด้วยลิ้น…
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย…
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่
เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อกายแตกสิ้นชีวิตไป
เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลินในโลกนี้ จักเป็นของเย็น ฯ
จบมหาวรรคที่ ๕
จบจตุตถปัณณาสก์