พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
โลกวิปัตติสูตร
[๙๖]ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน
คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไป ตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวก ผู้ได้สดับ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไร เป็นข้อแตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ … ยศ … ความเสื่อมยศ … นินทา … สรรเสริญ … สุข … ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้
แม้ความเสื่อมลาภ …แม้ยศ … แม้ความเสื่อมยศ … แม้นินทา … แม้สรรเสริญ … แม้สุข … แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของเขาได้
เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์
เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้น ย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ … ยศ …ความเสื่อมยศ … นินทา … สรรเสริญ … สุข … ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ
อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ … แม้ยศ … แม้ความเสื่อมยศ … แม้นินทา … แม้สรรเสริญ … แม้สุข … แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิต
ของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์
ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฯ
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่อ อนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลือ
อยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ
จบสูตรที่ ๖
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=3247&Z=3301
“ปุถุชนผู้มิได้สดับ”?
ถาม สดับ คืออะไร ?
ตอบ ตามภูมิรู้พระบาลีแค่หางอึ่ง
“ปุถุชน ผู้มิได้สดับ” มาจากบาลีว่า “อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน” สดับ ภาษาไทยยืมและผันมาจาก สุตวา = สุ-ต’ะ -วะ หมายถึง “ได้รับการฟังแล้ว” เป็นรูปกริยาของกรรมในประโยคอันถูกกระทำ โดยสรุปก็คือการให้เกียรติผู้พูดเวลาเป็นกรรมในรูปประโยค เมื่อเอาผู้ฟังขึ้นก่อนก็จะใช้รูป ถูกกระทำ(กัตวา)หรือ passive voice ในภาษาอังกฤษ
สดับ จึงหมายถึง “ได้รับการฟังแล้ว” ในบาลีว่า “สุตวา อริยสาวโก”- อริยะผู้ได้สดับ พจนานุกรมไทย สดับ แปลว่า ตั้งใจฟัง (ซึ่งอาจไม่กินใจความทั้งหมด)
นำมาเฉพาะส่วนที่ต้องการ จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aero1&month=16-12-2010&group=2&gblog=27
ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เรียกว่า ปถุชน
สดับ แปลว่า ฟัง
การฟัง รู้จากการฟัง เป็นจินตามยปัญญา
ผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เรียกว่า อริยบุคคล
สดับ แปลว่า ฟัง รู้จากการฟังของอริยบุคคล เกิดจากการรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ได้แก่ รู้แจ้งแทงตลอดในจิตของตนเอง ไม่ใช่รู้จากการฟังคำของผู้อื่น
ผู้รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ย่อมรู้แจ้งในเหตุและผล ย่อมรู้แจ้งในสภาวะอุปทานขันธ์ ๕ ย่อมรู้แจ้งในสภาวะนิพพาน ย่อมรู้แจ้งในผัสสะต่างๆ ว่าผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...