สมาธิ

 

 

โรหิตัสสวรรคที่ ๕

สมาธิสูตร

[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน คือ

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ ๑

สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะมีอยู่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกายเพราะปีติสิ้นไป

บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มนสิการอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญาว่า
กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน
มีใจอันสงัด ปราศจากเครื่องรัดรึง อบรมจิตให้มีความสว่างอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่ดับไป
รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป
รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปรกติพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า

รูปเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้

เวทนาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้
ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้

สัญญาเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้
ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้

สังขารเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้

วิญญาณเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนานี้ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง คำต่อไปนี้ เรากล่าวแล้ว
ในปุณณปัญหาในปรายนวรรค หมายเอาข้อความนี้ว่า

ความหวั่นไหวไม่มีแก่บุคคลใด ในโลกไหนๆ
เพราะรู้ความสูงต่ำในโลก

บุคคลนั้นเป็นผู้สงบปราศจากควันคือความโกรธ
เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้หมดหวัง

เรากล่าวว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว ฯ

 

 

 

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=1188&Z=1233

พฤษภาคม 2016
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031  

คลังเก็บ