สมถะและวิปัสสนา

15 ตค.61

 

สมถะ มี ๒ ชนิด

๑. มีบัญญัติเป็นอารมณ์

๒. มีรูปนามเป็นอารมณ์

 

 

วิปัสสนา มี ๒ ชนิด

๑. มีบัญญัติเป็นอารมณ์
เกิดจากการศึกษา การได้ฟัง
แล้วกลายเป็นการทรงจำหรือการจดจำไว้ในใจ
ได้แก่ ไตรลักษณ์

ไม่เที่ยง(อนิจจัง)

เป็นทุกข์(ทุกขัง)

เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)

 

๒. มีรูปนามเป็นอารมณ์
เกิดจาก การแทงตลอดในสภาพธรรม
ที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามความเป็นจริง
โดยปราศจากการคิดพิจรณา มีเกิดขึ้นปกติ
เหมือนลมหายใจเข้าออก

ได้แก่ วิโมกข์ ๓

อนิมิตตวิโมกข์

อัปณิหิตวิโมกข์

สุญญตวิโมกข์

 
การเกิดความรู้ชัดตรงนี้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วในตน
เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะอาการ
ที่มีเกิดขึ้นในสมถะ ที่มีรูปนามเป็นอารมณ์

ซึ่งเป็นที่มีของวิปัสสนาญาณ ๙
ในปฏิสัมภิทามรรค(พระสารีบุตร)
หรือญาณ ๑๖ นับตั้งแต่ภังคญาณ เป็นต้นไป

 

การเจริญสมถะ

สมถะ

จุดประสงค์ของการสมถะ ไม่ใช่แค่เรื่องจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเพียงอย่างเดียว
ยังมีเรื่องของการฝึกกายไปพร้อมๆกันในอิริยาบท 4 ทำไมจึงต้องฝึก

การที่ต้องฝึกในอิริยาบท 4 เพื่อปรับความสมดุลย์ของอินทรีย์(กาย) และอินทรีย์ 5
การทำกรรมฐาน ทุกขเวทนาต่างๆที่มีเกิดขึ้นทางกาย จะมากหรือน้อย ล้วนเป็นการฝึกตน เพื่อรับมือกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย
เช่น ทุกขเวทนาที่เกิดจากการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุแบบไม่คาดคิด แล้วไม่ว่า กายจะเป็นอย่างไร จะปกติหรือไม่ปกติ แต่ใจเป็นปกติ อยู่ได้ทุกสถานการณ์
ทำไมต้องอิริยาบท 4
เพื่อไม่ให้ตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป
ธรรมชาติของจิต อะไรที่เดิมๆซ้ำๆ จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จึงต้องใช้อุบายหลอกล่อจิต เพื่อให้จิตมีที่เกาะ

กรรมฐานก็เช่นเดียวกัน นั่งนานๆ ทุกขเวทนาย่อมมีเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา
บางคนอดทนไม่มากพอ ก็เลิกกลางคัน ปฏิบัติแล้วลำบาก จะทำไปทำไม

นั่งอย่างเดียว พาลจะฟุ้งซ่าน นั่งจนก้นแข็งเป็นกระดาน บางคนได้โรคประสาทเป็นของแถม
มีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทำกรรมฐานแล้วหาหมอโรคประสาท ทำกรรมฐานแล้วเป็นบ้า
อะไรที่ตึงเกินไป ก็จะเป็นแบบนั้น
แล้วอะไรที่หย่อนเกินไป ก็ทำให้ขี้เกียจ
จึงต้องมีอุบายในการรักษาจิต เพื่อให้จิตไม่ไหลไปตามผัสสะต่างๆที่มีเกิดขึ้น
การทำกรรมฐานในอิริยาบท 4 ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แล้วอินทรีย์ 5 มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร

อินทรีย์ 5 ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สมาธิ สติ ปัญญา (เรียกง่ายๆ)
หากศรัทธามาก แต่ขาดปัญญา ไม่รู้วิธีการ เช่นตย.เรื่องนั่งจนก้นแข็งเป็นกระดาน ไม่รู้จักปรับเปลี่ยนอิริยาบท
ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเวทนา แต่เป็นการฝึกจิตให้คุ้นเคยกับอิริยาบท 4 ซึ่งสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เช่นกัน

ยกตย. สำหรับผู้ที่ฝึกจิตในระดับหนึ่ง จิตสามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิเนืองๆในอิริยาบท 4
คนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วย สามารถเจริญสมาธิได้ตลอดเวลา ความฟุ้งซ่านหรือทุกขเวทนาทางใจจะไม่ค่อยมี

ผิดกับคนที่ไม่ได้ฝึก หรือฝึกแล้ว แต่จิตยังไม่สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิเนืองๆ เวลาเจ็บป่วย มักจะวิตกกังวลไปล่วงหน้า จนทำให้เป็นทุกข์
จากทุกข์น้อยกลายเป็นทุกข์มาก บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะรับมือไม่ไหวก็มี
ทีนี้ย้อนกลับไปเรื่องอินทรีย์ 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางสายกลางหรือที่เรียกว่า มรรค ที่เป็นทางเดินสำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายภพชาติของการเกิด
บางคนปฏิบัติเพราะเบื่อทุกข์ ไม่อยากทุกข์ และอีกสารพัดเหตุผล ที่ทำให้มาปฏิบัติ

ไม่ว่าจะมาปฏิบัติด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นตามมา หนึ่งในนั้น มีเรื่องของอินทรีย์ 5 มาเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะอยากได้หรือไม่อยากได้ก็ตาม จะอยากทำหรือไม่อยากทำก็ตาม ก็หนีไม่พ้น ยกเว้น เลิกทำ
แต่เมื่อวันหนึ่งเจอทุกข์ แล้วหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มต้นทำใหม่ โดยไม่ต้องมีใครมาบอกหรือแนะนำ
เพราะสิ่งที่เคยทำไว้ ถูกสะสมเป็นสัญญา เมื่อเจอความทุกข์ บีบคั้นมากๆ มันจะมีตัวบอกขึ้นมาเองว่า เคยทำแบบนี้ แล้วเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ลองทำดูอีก

ส่วนทำแล้วจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หากชีวิตดับสิ้นลงไปก่อน สิ่งเหล่านี้ถูกสะสมเป็นสัญญา จะเกิดกี่ชาติๆๆๆๆ ก็ติดตัวไป
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลา เหตุปัจจัยพร้อม จะทำไม่เลิก จนกระทั่งหมดเหตุปัจจัยของการเกิด

.
ทุกข์กาย ใช้สมถะในการรับมือ เช่น อดทนต่อทุกขเวทนาที่มีเกิดขึ้น จนกระทั่งบึ้ม กายแตกกายระเบิด ทีนี้เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา
เวลาเจ็บป่วย ไม่ต้องมานั่งทนทุกข์ทางกาย ซึ่งมีประโยชน์มากทั้งที่ตอนมีชีวิตอยู่ และเวลาใกล้ตาย
รู้มั๊ยว่า เวลาที่จิตจะพรากจากกาย ทุกขเวทนามากแค่ไหน หลายๆคนอาจตอบว่า ไม่รู้ เพราะไม่เคยตาย

ถ้าอย่างนั้นก็ลองดู ให้นั่งในที่สงัด ที่เงียบๆเพื่อไม่ให้ใครรบกวน หลับตาลง นั่งนิ่งๆ นั่งไปเรื่อยๆไม่กำหนดเวลา
จนกระทั่งเริ่มปวดขา เจ็บก้น ปวดแขน ปวดหลัง ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ปวดจนทนไม่ไหว ความเจ็บปวดต่างๆที่มีเกิดขึ้น
คนใกล้ตายก็เจอแบบนี้น่ะแหละ ทำไมเราไม่มาฝึกเพื่อรับมือความเจ็บปวดต่างๆ ก่อนที่จะตายจริง

บางคนเจอความเจ็บปวดทางกายหนักๆ เลิกนั่งเลยนะ กลัวเป็นอัมพาต กลัวแบบนั้นเลย
น่าจะอดทนอีกสักนิด ทนกันหน่อยไม่ได้เลยหรือไง (ช่วงท้ายนี่ เสียงในฟิล์ม หลวงพ่อจรัญ)

บางคนเหมือนขาดอากาศหายใจ โรคที่เป็นอยู่เหมือนจะกำเริบ เลิกเลยนะ กลัวตาย ทั้งๆที่น่าจะอดทนอีกสักนิด
พอผ่านไปได้ มันจะโล่งเลยนะ แต่จะทำยังไงได้ ความเกลียดตัว กลัวตาย มันมีแรงกว่า

ทำไมถึงบอกว่า เกลียดตัวล่ะ เพราะคนที่รักตัวเอง จะอดทนได้ แล้วจะไม่บอกว่าเกลียดตัวได้ไงล่ะ
เพราะเกลียดตัวเองไง เลยไม่อดทน แบบเดี่ยวเจอของดี ไม่เอา ไม่ให้เจอของดี เจอของดีแล้วมันจะทิ้งชั้นไป(ใจ) อะไรทำนองนี้
ทุกข์ใจ ใช้วิปัสสนารับมือ เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ยึดมากทุกข์มาก ยึดน้อยทุกข์น้อย
เมื่ออุเบกขาเกิด ใจก็สบาย เมื่อใจสบาย จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็ยิ่งสบายไปอีก

กายและใจ ต้องควบคู่กันไป

เอาแต่กายเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธใจ มีแต่คนตายเท่านั้น

เอาแต่ใจเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธกาย ก็อัมพาตไง

สมถะ

เกี่ยวกับสมถะ ที่เคยเขียนอธิบายไว้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาวะที่มีเกิดขึ้น แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด
แม้กระทั่งการเขียน ก็เขียนตามที่รู้เห็น ที่รู้เห็นในตอนนั้น

เมื่อวันเวลาผ่านไป สภาวะทางจิตมีความละเอียดมากขึ้น เหมือนรอเวลาตกผลึก
จนกระทั่งสภาวะสัญญาเกิด ก็รู้ไปตามนั้น เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้นทีละนิดๆ ก็แค่รู้มาตลอด

เนื่องจากประสพการณ์ที่ผ่าน ครูมาสอนว่า อย่าด่วนตัดสินใจเชื่อ
อย่าหมายมั่น เขียนเท่าที่รู้ เขียนออกมาเรื่อยๆ มันจะมีจะเป็นอะไร ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาวะ

เคยเขียนไว้เกี่ยวกับวิโมกข์ 8 ความมีเกิดขึ้น ก่อนเกิด ขณะกำลังเกิด ความดับ และความเสื่อม ทำไมจำเป็นต้องรู้

ในกรณีบุคคลที่ไม่ได้เบื่อหน่ายภพชาติของการเกิด ไม่จำเป็นต้องรู้
แต่สำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายภพชาติของการเกิด จำเป็นต้องรู้ จึงต้องศึกษาไว้
เพื่อไว้เป็นแนวทางในการตรวจสอบสภาวะที่พบเจอ เพื่อจะได้ไม่ติดกับดักหลุมพรางของกิเลส
ตัวสภาวะจะได้ดำเนินต่อไปไม่ติดขัดหรือไม่จมแช่อยู่นั้น

การศึกษาเรื่องก่อนเกิด ขณะกำลังเกิด เพื่อจะได้รู้ว่า ก่อนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จะมีสภาวะใดเกิดขึ้นก่อน
และจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีลักษณะอาการเกิดขึ้นแบบไหน จะรู้ได้อย่างไร ดูได้จากตรงไหน

ความมีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า รูปฌาน
ความดับที่มีเกิดขึ้นแบบไหน จึงเรียกว่า รูปสมาบัติ

ความมีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า อรูปฌาน
ความดับที่มีเกิดขึ้นแบบไหน จึงเรียกว่า อรูปสมาบัติ

ความมีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า การเข้านิโรธ
ความดับที่มีเกิดขึ้นแบบไหน จึงเรียกว่า นิโรธสมาบัติ

 

การรู้ชัดในความเสื่อมของสมถะ
ทำให้ไม่เกิดความประมาท

 

ปัญญาตัวแรก ได้แก่ ไตรลักษณ์
หากมีเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีวันเสื่อม รู้แล้ว รู้เลย
เพราะเกิดจากจิตภาวนา(วิโมกข์ 3)
ไม่ได้เกิดจากการท่องจำ
ได้แก่ หลุดพ้นเพราะเห็นด้วยปัญญา

 

ความมีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า อนุโลมญาณ

ความที่มีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า ความดับในมรรค

ความมีเกิดขึ้นอย่างไร จึงเรียกว่า ผล

ฌาน+วิปัสสนา = วิปัสสนาญาณ

ฌาน+วิปัสสนา = วิปัสสนาญาณ
คำถาม ญาณ 16 สาระที่สำคัญที่แท้จริงอยู่ตรงไหน

คำตอบ โดยตัวสภาวะ สาระสำคัญที่ควรรู้ นับตั้งแต่อุยัพพยญาณ ขึ้นไป

อุทยัพพยญาณ เป็นเรื่องของ อุปกิเลส หรืออาจจะเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสก็ได้
แต่ถ้านำมาอธิบายโดยตัวสภาวะ ก็หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นในสภาวะที่มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เราเองก็เรียกว่า อุปกิเลส ไม่ไปใช้วิปัสสนูปกิเลสให้มันดูสำคัญเกินไป

 

แล้วถ้าจะเลือกนำมาเฉพาะสาระ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ ในการตรวจสอบสภาวะตนเอง
เพื่อจะได้รู้ว่า ควรทำอย่างไรต่อ สาระที่สำคัญจริงๆ จะเริ่มตั้งแต่ อุทยัพพยญาณเป็นต้นไป

 

ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

1. ส่วนของสมถะ ที่เป็นสัมมาสมาธิ เริ่มต้นที่ภังคญาณ

2. ส่วนของวิปัสสนา ได้แก่ การรู้ชัดอยู่ภายในกาย เวทนา จิต ธรรม
หรือที่เรียกว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน 4 นับตั้งแต่ ภยญาณ เป็นต้นไป

3. อนุโลมญาณ มรรคญาณ ผลญาณ อยู่ในส่วนของสัจจานุโลมิกญาณ
เฉพาะสภาวะนี้ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของแต่ละคน ใช่ว่าจะมีเกิดขึ้นทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในพุทธภูมิ

 

จริงๆแล้วของเดิม วิปัสสนาญาณ 9 ในปฏิสัมภิทามรรค ที่พระสารีบุตรนำมาแจกจงไว้นั้น
เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่ใจรายละเอียดสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้น
กล่าวคือ ลงมือปฏิบัติพร้อมๆกับได้ศึกษาสภาวะไปด้วย

 

ส่วนญาณ 16  เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลัง โดยนำเรื่องวิปัสสนาญาณ 9 ฯ มาขยายใจความเพิ่ม
ซึ่งพอจะนำสภาวะมาอธิบายได้ว่า ต้นฉบับของผู้ที่เขียนเกี่ยวกับญาณ 16 ผู้นั้นต้องเคยได้วิโมกข์ 8 มาก่อน
แล้วพบเจอสภาวะจิตเสื่อม สมาธิเสื่อมมาก่อน จึงนำเรื่องรูปนาม มาใส่เพิ่มลงไป
แล้วนำเรื่อง อนุโลมญาณ มรรคญาณ ผลญาณ มาขยายใจความเรื่องสัจจานุโลมิกญาณ

 

และมีอีกกรณีหนึ่ง เกิดจากบุคคลนั้น ต้องเคยพบเจอสภาวะจิตดวงสุดท้ายถึง 2 ครั้ง
และต้องไม่ใช่ผู้ที่ได้วิโมกข์ 8 แต่อาจได้รูปฌานเพียงอย่างเดียว(ฌาน1 ถึงฌาน 4)

 

ฉะนั้น ญาณ 1 ถึง ญาณ 3 จึงไม่ควรนำมาเป็นสาระแต่อย่างใด เพราะเมื่อผ่านไปได้ ก็จะรู้ชัดสภาวะด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า ผู้ที่แต่งหรือนำเรื่องญาณ 16 มาอธิบายหรือมาเขียนเป็นคนแรก ถือว่ามีพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
เพราะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ เวลามีสภาวะใดเกิดขึ้น ก็จะรู้ว่า ควรทำอย่างไรต่อไป

มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

เจลสูตร
ว่าด้วยการมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง

[๗๔๑] สมัยหนึ่ง เมื่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะปรินิพพานแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แทบฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้อุกกเจลนคร ในแคว้นวัชชี กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งอยู่ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทของเรานี้ปรากฏเหมือนว่างเปล่า เมื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะยังไม่ปรินิพพาน สารีบุตรและโมคคัลลานะอยู่ในทิศใด ทิศนั้นของเราย่อมไม่ว่างเปล่า ความไม่ห่วงใยย่อมมีในทิศนั้น.

[๗๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เหล่าใดได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็มีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เหล่าใด จักมีในอนาคตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็จักมีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา

.
[๗๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความอัศจรรย์ของสาวกทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของสาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายจักกระทำตามคำสอน และกระทำตามโอวาทของพระศาสดาและจักเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพและสรรเสริญของบริษัท ๔ เป็นความอัศจรรย์ของตถาคต เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของตถาคต

เมื่อคู่สาวกแม้เห็นปานนี้ปรินิพพานแล้วความโศกหรือความร่ำไรก็มิได้มีแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น จะพึงได้ข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

.
[๗๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ ลำต้นที่ใหญ่กว่าพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรและโมคคัลลานะปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

.
[๗๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ …
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ …
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ …
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างนี้แล.

.
[๗๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ

จิตที่ฝึกมาดี

วรรคที่ ๓

[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ย่อมไม่ควรแก่การงาน เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว 
ย่อมไม่ควรแก่การงาน ฯ

.
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ย่อมควรแก่การงาน เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ย่อมควรแก่การงาน ฯ
.
[๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลายจิตที่อบรมแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
.
[๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลายจิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำทุกข์มาให้ ฯ
.
[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ ฯ

.
จบวรรคที่ ๓

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา
ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้

วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา
ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไรย่อมละอวิชชาได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ
เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ พาลวรรค)

การทำความเพียร

เกี่ยวกับสภาวะนี่ ต้องแยกให้ถูกนะ อย่านำมาปะปนกัน เช่น กรณีอาการป่วยที่วลัยพรเป็นอยู่ ลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น แยกออกเป็น 2 สภาวะ

กล่าวคือ

1. วิบากของสังขาร(อัตภาพร่างกาย)

2. จิตหรือใจ

.
ที่ถูกแยกออกแบบนี้ เพราะเป็นคนละส่วน คนละสภาวะกัน อาการที่มีเกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน ทุกขเวทนาทางกาย ก็เรื่องของกาย ใจส่วนใจ ยังคงมีสุขที่เกิดจากสมาธิที่เกิดขึ้นเนืองๆ

ถ้านำมาพูดให้เห็นเป็นรูปธรรม คนป่วยส่วนมาก กินข้าวไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ บางคนวิตกกังวลมาก ถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าไปก็มี

แต่เรากลับไม่มีอาการเหล่านั้น ยังคงกินข้าวได้ปกติ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเนืองๆเป็นปกติ การนอนปกติ ไม่มีกระสับกระส่าย สภาวะใดเกิดขึ้น แค่รู้ว่ามีเกิดขึ้น ปรับท่านอน ไม่ไปรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนของกายที่เกิดจากหัวใจเต้นแรง แปบเดียว จิตเป็นสมาธิ บางครั้งก็ช้า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ก็แค่นอนเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน สมาธิจะเกิด เดี่ยวก็เกิดเอง ไม่ต้องไปบังคับให้เกิด

.
คือ ไม่ไปทุกข์กับอาการที่มีเกิดขึ้นทางกาย เพราะรู้ดีว่า เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย มันไม่เที่ยง

กล่าวคือ เป็นการแยกรูป แยกนาม ตามความเป็นจริงโดยตัวสภาวะเอง ไม่ได้คิดจะจับแยก

จึงเป็นที่มาของสิ่งที่นำมาโพส

จิตฺตํํ ทนฺตํ สุขาวหํ
จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

.
แล้วเจ้าความเจ็บป่วย อาการที่เป็นอยู่เนี่ย กลับมองว่า เหมือนมีตัวกระตุ้น ให้เกิดความรู้สึกตัวเนืองๆ ทำให้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตที่มีอยู่

เราต้องยอมรับความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า ทุกคนล้วนต้องตาย ไม่สามารถปฏิเสธความจริงข้อนี้ไปได้ แล้วทำยังไงจึงจะใช้ประโยชน์จากชีวิตนี้ ที่มีอยู่ในตอนนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ หายใจทิ้งไปวันๆ

.
สิ่งที่เขียน เขียนตามความเป็นจริง เรื่องของกายก็เป็นเรื่องของกาย เป็นวิบากของขันธ์ เขียนเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่เขียนแล้วนำมาเป็นเครื่องกังวล

ใจก็ส่วนใจ คนละส่วนกัน

นี่แหละประโยชน์ที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้หมด ซึ่งเป็นผลของการทำความเพียรแบบเอกอุ แล้วก็ทำอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้รับคุ้มค่าแบบประมาณมิได้

.

เจลสูตร
ว่าด้วยการมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง

[๗๔๑] สมัยหนึ่ง เมื่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะปรินิพพานแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แทบฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้อุกกเจลนคร ในแคว้นวัชชี กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งอยู่ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทของเรานี้ปรากฏเหมือนว่างเปล่า เมื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะยังไม่ปรินิพพาน สารีบุตรและโมคคัลลานะอยู่ในทิศใด ทิศนั้นของเราย่อมไม่ว่างเปล่า ความไม่ห่วงใยย่อมมีในทิศนั้น.
[๗๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เหล่าใดได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็มีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เหล่าใด จักมีในอนาคตกาล พระผู้มีพระภาคแม้เหล่านั้น ก็จักมีคู่สาวกนั้นเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลานะของเรา

.
[๗๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความอัศจรรย์ของสาวกทั้งหลาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของสาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายจักกระทำตามคำสอน และกระทำตามโอวาทของพระศาสดาและจักเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพและสรรเสริญของบริษัท ๔ เป็นความอัศจรรย์ของตถาคต เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาของตถาคต

เมื่อคู่สาวกแม้เห็นปานนี้ปรินิพพานแล้วความโศกหรือความร่ำไรก็มิได้มีแก่พระตถาคต เพราะฉะนั้น จะพึงได้ข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

.
[๗๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ ลำต้นที่ใหญ่กว่าพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรและโมคคัลลานะปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

.
[๗๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ …
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ …
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ …
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างนี้แล.

.
[๗๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านี้นั้น ที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ.

ไม่เที่ยง

11 พย.

เส้นทางนี้ มีกับดักหลุมพรางวางอยู่ทุกระยะ พอคิดว่า ผ่านไปได้ สภาวะหนึ่งจบไป สภาวะใหม่เกิดต่อ ก่อนจะรู้ทัน ก็ตกหลุมพรางกิเลส(หลุมสบาย) ไปซะก่อน กว่าจะตะกายขึ้นจากหลุมได้ เจอสภาวะใหม่อีก ก็ตกหลุมพรางอีก มันจะเป็นแบบนี้แหละ จนกว่าจะแทงตลอดในอริยสัจ 4 ทีนี้กับดักหลุมพรางต่างๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก ชีวิตที่เหลืออยู่ ย่อมขับเคลื่อนไปโดยตัวสภาวะเอง (กรรมและการให้ผลของกรรม)

เมื่อแจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว ศรัทธาย่อมหยั่งลงดีแล้ว
ย่อมไม่ง่อนแง่นหรือคลอนแคลนหรือแปรเปลี่ยนเป็นอื่น
.

ที่ทำให้เกิดการทอดถอนใจ เพราะไม่สามารถบอกใครได้ว่า จงอย่าหยุดความพอใจเพียงแค่นั้น(โสดาบัน)

คำว่า 7 ชาติ หมายถึงสิ่งใด มันไม่ใช่แค่ชาตินี้เท่านั้น แต่หมายถึง ตายแล้วเกิดอีก 7 ครั้ง ถึงจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ทีนี้นึกถึงนางวิสาขา และท่านอนาถบิณฑกะ ที่ยังพอใจในภพชาติของการเกิด พอใจแค่ความเป็นโสดาบัน แม้ท่านทั้งสองจะเกิดในยุคสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็ทำให้ปลงตกว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของผู้นั้น

.

ขึ้นชื่อว่า การเกิดเป็นอะไร ฐานะไหน ล้วนเป็นทุกข์

สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม/การกระทำของตนเอง
ส่วนผลของกรรม สุดแต่ว่า กรรมไหนมีกำลังมากกว่ากัน
บางคนทำชั่วได้ดี บางคนทำดีได้ชั่ว ด้วยเหตุปัจจัยนี้แหละ
ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาลให้มีเกิดขึ้นหรือให้เป็นไปแต่อย่างใด

แม้กระทั่งโรค ภัย ไข้ เจ็บ ไม่ได้เกิดแค่เพียงการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของกรรมและผลของกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย ด้วยเหตุปัจจัยนี้ ทำไมป่วยเป็นโรคเดียวกัน รักษาเหมือนกันทุกอย่าง ทำไมบางคนรักษาแล้วหาย แต่บางคนรักษาไม่หาย หรือไม่ก็หายเหมือนกัน แต่หายไปจากโลกใบนี้(ตาย)

๖. วิมุตติสูตร

๖. วิมุตติสูตร

[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้นตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ

เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑
ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา แก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ … เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒ …

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ … เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติ ข้อที่ ๓ …

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร

ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ … เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔ …

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ

ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่
ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา แก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่
ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร

แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่
ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ

ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียน สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา

เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕
ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ

จบสูตรที่ ๖

การรักษา

30 ตค.

ความรู้สึกเหมือนกำลังทำวิทยานิพนธ์
เรื่อง รู้กายใจด้วยสมถะและวิปัสสนา

เกี่ยวกับกายและจิต ในภาวะปกติและขณะเจ็บป่วย
การรับมือกับสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้น แบ่งออกเป็น 4

การทำความเพียร เจริญสมถะและวิปัสสนา ให้เป็นกรณีศึกษา

การดำเนินชีวิต ขณะที่มีชีวิตอยู่ ให้เป็นกรณีศึกษา

ชีวิตตอนเจ็บป่วย ให้เป็นกรณีศึกษา

ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ให้เป็นกรณีศึกษา

 

1 พย.61

กราบขอบพระคุณ คุณหมอ สมศักดิ์ เอกปรัชญากุล รพ.รามคำแหง

และคุณหมอชนกพร เปี่ยมพริ้ง รพ.จุฬาภรณ์

คุณหมอสมศักดิ์ ให้การรักษาตั้งแต่แรก จนกระทั่งค่าใช้จ่ายรับมือไม่ไหว ทำให้หาทางเลือกใหม่ โดยการเสริชกูเกิ้ล เจอรพ.จุฬาภรณ์ หรือศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ จึงไปลองติดต่อดู พร้อมกับบอกเหตุผลว่า ที่ไม่รักษาที่รพ.รามต่อเพราะอะไร และบอกอีกว่า แนวทางการรักษาขั้นต่อไป คุณหมอได้บอกไว้แล้วว่า จะต้องตรวจอะไรเพิ่ม และทำอะไรต่อ

.

พอไปถึงรพ.จุฬาภรณ์ สิ่งแรกที่ประทับใจ ห้องน้ำสะอาด แอร์เย็นฉ่ำ โดยเฉพาะที่ศูนย์หัวใจ แอร์เย็นมาก จนท.ให้บริการดีมาก แล้วได้คุณหมอชนกพร เปี่ยมพริ้ง เป็นแพทย์ประจำตัว

ตอนที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้คุณหมอฟัง
คุณหมอถามว่า มีประกันมั๊ย มีสิทธิพิเศษอะไรมั๊ย

เราบอกว่า มีบัตรทองของแพทย์ปัญญา ซึ่งจนท.แนะนำว่า สามารถให้ทางรพ.แพทย์ปัญญาส่งตัวมารักษาได้

แต่แล้วต้องผิดหวัง พอไปสอบถามข้อมูล
ปรากฏว่า รพ.แพทย์ปัญญา ได้ถอนตัวจากคลีนิคที่ใช้บริการอยู่ ตอนนี้ขึ้นกับรพ.พระมงกุฏ

ได้โทรฯติดต่อกับจนท.ศูนย์หัวใจรพ.พระมงกุฏ ซึ่งบอกว่า ที่พระมงกุฏ ก็มีศูนย์หัวใจ จึงไม่สามารถออกใบส่งตัวให้ได้

พอนัดเจอครั้งต่อมา ได้บอกกับคุณหมอชนกพรว่า
ต้องการรักษากับคุณหมอต่อ ไม่อยากเปลี่ยนหมออีก

คุณหมอชี้แจงคร่าวๆว่า ต้องทำอะไรบ้าง
แล้วให้พยาบาล ไปสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายมาให้
สรุป ค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งหมื่นบาท

คุณหมอถามว่า พอจะไหวมั๊ย
เราบอกว่า ไหวค่ะ

คุณหมอจึงนัดวันตรวจ และต้องนอนรพ. 1 คืน

.

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นระริก(AF) หรือหัวใจเต้นพริ้ว การช๊อตไฟฟ้าที่หัวใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา

หมอจะนัดล่วงหน้า นอนรพ. 1 คืน
พร้อมทั้งบอกการเตรียมตัวล่วงหน้า
เช่นงดน้ำงดอาหารตั้งแต่กี่โมง

.
วิธีการช๊อตไฟฟ้า

ขั้นแรก ให้กลืนกล้อง ผ่านหลอดอาหาร
เพื่อตรวจดูหัวใจว่า มีลิ่มเลือดออกหรือเปล่า

หากมี จะไม่สามารถทำการช๊อตได้
หากไม่มี ก็สามารถช๊อตได้
การช๊อต วัตถุประสงค์เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ

.

หลังจากส่องกล้องดูหัวใจแล้ว
ก่อนช๊อตไฟฟ้า หมอจะให้ยานอนหลับ
แล้วให้ยาลดการเต้นของหัวใจ รอจังหวะที่ช่วงหัวใจหยุดเต้น
หมอจึงใช้เครื่องช๊อตที่หัวใจในตอนนั้น

เครื่องสำหรับช๊อต
ก็เครื่องที่ใช้ซ๊อตช่วยชีวิตในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจวาย

.
การรักษาด้วยการช๊อต เป็นสเต็ปแรก
คือ ใช้เครื่องปั๊มหัวใจ แบบที่เคยเห็นในหนัง
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งนอนรพ. ประมาณหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าไม่หาย หมอจึงจะใช้วิธีที่ 2 เรียกว่า จี้ไฟฟ้า
วิธีการทำก็คนละอย่าง ราคาตรงนี้ไม่รู้นะ แบบไม่ได้ถามจนท.

.

หลังช๊อตไฟฟ้า

ระหว่างอยู่รพ. จะมีเครื่องกระตุ้นหัวใจติดตัว
ตรวจจังหวะหรือกระตุ้นก็ไม่รู้นะ เห็นคนไข้มีติดตัวทุกคน

มีใส่เข็มให้น้ำเกลือแบบลอยๆไว้
ถ้าไม่มีน้ำเกลือ ก็ใส่ไว้แบบนั้น ถึงเวลากลับบ้าน
พยาบาลจะถอดหัวเข็มออกให้

.

แนวทางการรักษา อ่านเจอมาเยอะมากว่ารักษาแล้วไม่ได้ผล

สิ่งที่สำคัญมาก หวังพึ่งหมอฝ่ายเดียวไม่ได้
ตัวเราเองต้องจดบันทึกทุกอย่างเกี่ยวกับอาการทางกายและใจ และพฤติกรรมการบริโภคส่วนตัว เช่น กรณที่เป็นไทรอยด์ด้วย อาจมีนน.ตัวขึ้น หรือนน.ลดลงมากผิดปกติ รักษาไปมากลับกลายเป็นอ้วนฉุ

.
เมื่อกลับมาอยู่บ้าน

1. ควรมีเครื่องวัดความดันติดบ้านไว้
เพราะต้องตรวจวัดความดัน และดูการเต้นของหัวใจตลอด

2. ตั้งแต่เริ่มกินยา กินแล้วมีอาการอย่างไร

3. ควรมีสมุดจดบันทึกอาการทั้งหมด เวลาไปหาหมอ หมอจะได้รู้รายละเอียดทั้งหมด ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

4. อาหารเสริมทุกชนิด ให้งด เพราะอาหารเสริมบางชนิดส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ยาที่หมอใช้รักษาจึงไม่ได้ผล หรือเห็นผลไม่ชัดเจน

5. ยาสมุนไพรทุกชนิดให้งด เช่นเดียวกับอาหารเสริม

6. เวลาหมอถามว่า มีอาการใจสั่นมั๊ย
อาการใจสั่นหมายถึง รับรู้ได้ถึงการเต้นของหัวใจ โดยไม่ต้องใช้หูฟัง จะรู้ชัดขึ้นมาเอง บางครั้งรัวเหมือนปืนกล บางครั้งเต้นช้า ตุ้บหนึ่งแล้วหายไปนาน เต้นไม่สม่ำเสมอ บางคืนไม่หลับไม่นอนเพราะได้ยินเสียงหัวใจเต้นทั้งคืน บางครั้งส่งแรงสะเทือนไปทั้งตัว บางคนมีเรียกว่า จิตตื่น ระวังให้ดีนะ จิตตื่น แต่ร่างกายไม่ตื่น กายส่งสัญญาณว่า กำลังป่วยแล้วนะ

.

เรื่องอาหารเสริม ปกติจะกินแคลแม็กดี เพื่อให้แคลเซี่มกับร่างกาย กินวิตมินซีสะกัดจากผลอะเซเรอร่าเชอร์รี่ กินเลซิติน มีกินสามตัวนี้แหละ ที่งดเอง โดยดูจากค่าของความดัน และการเต้นของหัวใจ พอหยุดสามตัวนี้ ความดันและหัวใจกลับมาเต้นจังหวะปกติ ผลการตรวจหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า ออกมาดี ไม่มีลักษณะของหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ

ส่วนโปรตีนที่ผสมกับน้ำผลไม้ ตัวนี้ไม่มีผลกระทบกับยา

.

ตอนที่หมออ่านสมุดรายงานเกี่ยวกับอาการทั้งหมด ที่เราจดบันทึกทุกวัน หมอบอกว่า เราสองคนคุยกันได้นะเนี่ย

คือเราไม่ได้บอกกับหมอว่า เคยประกอบวิชาชีพใดมาก่อน
เราอาศัยพื้นฐานด้านการรักษาหรือความรู้ พร้อมทั้งประสพการณ์ที่ผ่านมาจากการดูแลคนไข้ มาใช้กับตัวเอง

ประกอบกับได้แนวทางมาจากการทำกรรมฐานของตัวเอง การจดบันทึกรายละเอียดของสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้น ทำให้เกิดความเคยชินที่จะทำแบบนี้ โดยที่หมอไมไ่ด้แนะนำให้ทำ

.

แล้วก็มีข่าวดี หมอบอกว่า ตอนนี้หัวใจเรากลับมาเต้นปกติ
แต่ยังต้องกินยาเพื่อปรับระดับการเต้นของหัวใจไปก่อน

หมอนัดอีกที วันที่ 29 พย.’61 หมอบอกว่า ต่อไปไม่ต้องทำ EKG หมอใช้หูฟังเพียงอย่างเดียวได้

ที่ว่าข่าวดีก็คือ หมอบอกว่า ถ้าเราสามารถจัดการเรื่องยาและการเต้นของหัวใจด้วยตนเองได้ หมอาจจะให้งดยา ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป ถ้าเกิดเป็นอีก ให้กินยาหัวใจที่หมอให้มา กินทีเดียว 2 เม็ด การเต้นของหัวใจจะกลับมาปกติเอง

Previous Older Entries

พฤศจิกายน 2018
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930  

คลังเก็บ