กามุปาทาน

28 เมย. 18

กามุปาทาน ได้แก่ กามราคะ ปฏิฆะ
อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต ได้แก่ กามภพ
และมีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ได้แก่ รูปภพ อรูปภพ

.

เมื่อนำมาอธิบายตามสภาวะ เกี่ยวกับลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น

๑. อย่างหยาบ มีเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
กล่าวคือ กามอารมณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส มากระทบทวารทั้ง ๕ แล้วมีความยินดีพอใจเป็นอย่างมาก จนถึงสามารถจะล่วงอกุศลกรรมบถได้ เช่น ความพอใจในรูปารมณ์ที่มากระทบ สามารถให้กระทำกรรมอันเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ เป็นต้น

.

๒. อย่างกลาง เป็นความพอใจในกามอารมณ์ทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ความพอใจนั้นไม่รุนแรง เป็นความพอใจที่ปรากฏอยู่แต่ในใจพอประมาณ

.

๓. อย่างละเอียด ได้แก่ กามอารมณ์ทั้ง ๕ เมื่อมากระทบทวารทั้ง ๕ แล้วไม่อาจยังให่้เกิดความยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆได้ เช่น รูปที่มากระทบจักขุทวาร แม้รูปารมณ์นั้น จะมีความสวยงามสักเพียงไร ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความกำหนัดยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆได้

.

ปฏิฆะ ก็ทำนองเดียวกัน เพียงแต่เป็นเรื่องของ ความยินร้าย ความไม่พอใจ

.

จะเล่าอาการที่มีเกิดขึ้น ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

การเกิดสภาวะจิตดวงสุดท้าย ครั้งที่ ๑
มีเกิดขึ้น ขณะทำความเพียร(จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ)

ความรู้สึกต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม เวลาโกรธ อารมณ์ก็ยังคงรุนแรง คือ ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่ได้เบาลง ก่อนเกิดสภาวะจิตดวงสุดท้าย กับหลังเกิดสภาวะจิตดวงสุดท้าย ความรู้สึกต่างๆ เหมือนเดิมทุกอย่าง

.
มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของการกระทำ คือ จะมีตัวช่วยในการหยุด ไม่ให้กระทำตามความรู้สึกนึกคิดที่มีเกิดขึ้น ซึ่งมีเกิดขึ้นหลังจากเกิดสภาวะจิตดวงสุดท้าย
ได้แก่ ความรู้ชัดในผัสสะ ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริงด้วยตนเอง

คือรู้ว่า เพราะอะไร สิ่งที่เกิดขึ้น(ผัสสะ) จึงมีผลกระทบทางใจ ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เมื่อรู้ดังนี้แล้ว แรกๆ ใช้ความอดทน อดกลั้น กดข่มใจเป็นอย่างมาก ที่จะไม่สร้างเหตุนอกตัว หรือสานต่อ เรียกได้ว่า ใช้เรี่ยวแรง ใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก

ทำไมต้องพยายามหยุดหรือไม่สานต่อ เพราะผัสสะที่มีเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด เป็นเรื่องของของกรรม(ในอดีต)ที่เคยกระทำไว้ ส่งมาให้รับผลในรูปแบบของผัสสะที่มีเกิดขึ้นในชีวิต(ปัจจุบัน) ด้วยเหตุปัจจัยนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีผลกระทบทางใจ ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด

ถ้ากระทำไปแล้ว คือ กระทำตามความรู้สึกนึกคิดที่มีเกิดขึ้น จะกลายเป็นการสร้างกรรมใหม่ให้มีเกิดขึ้นอีก เป็นการสร้างเหตุปัจจัยภพชาติของการเกิดขึ้นมาอีก เป็นการทำกรรมซ้ำ กรรมซ้อน คือ ของเก่าไม่ยอมรับ ของใหม่ทำขึ้นมาอีก ภพชาติของการเกิด จึงมีเกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น

.

เมื่อกระทำดังนี้เนืองๆ คือ หยุดสร้างเหตุนอกตัว
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมมีเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

เมื่อรู้ชัดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่มีเกิดขึ้นเนืองๆ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ในเหตุปัจจัยที่มีอยู่ ได้แก่ กรรมและการให้ผลของกรรม

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว จิตจึงเกิดการปล่อยวางโดยไม่ต้องพยายามคิดที่จะปล่อยวาง ที่เคยใช้เรี่ยวแรง ใช้ความพยายามในการที่จะหยุด ค่อยๆลดน้อยลงไปเอง

ส่วนความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ความพลุ่งพล่านต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ปกติน่ะแหละ แต่รู้ทันมากขึ้น คือ กระทบแล้วเกิดความรู้ชัดทันที หยุดทันบ้าง ไม่ทันบ้าง คือ ยังมีการสร้างเหตุนอกตัวตามใจตนเองอยู่บ้าง แต่มีเกิดขึ้นน้อยกว่าในสมัยที่ยังไม่รู้ชัดในผัสสะ

สำหรับเรื่องการเข้าสังคม การคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ตรงนี้ยังคงมีอยู่เป็นเรื่องปกติ
แต่รู้จักใช้ชีวิตในทางที่ควร มากกว่าตามใจตนเอง

.

.

การเกิดสภาวะจิตดวงสุดท้ายครั้งที่ ๒
มีเกิดขึ้น ขณะดำเนินชีวิต “หัวใจวาย” ภาษาชาวบ้าน “ตาย”

มีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือเรื่องของความรู้สึกต่างๆ ลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น ทำให้รู้ว่า มีเกิดขึ้นในใจแค่พอประมาณนั้น มีลักษณะอาการเกิดขึ้นเป็นแบบไหน

คือจะรู้ว่ามีเกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรง ไม่มีการพลุ่งพล่านแบบก่อนๆ มีความสงบจากภายนอก รู้ชัดอยู่ภายใน มีเกิดขึ้นเป็นระยะๆ สมัยก่อนแทบจะไม่มีอาการแบบนี้เกิดขึ้น มีเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ทำกรรมฐานโดยส่วนมาก แต่นี่มีเกิดขึ้นในการใช้ชีวิตปกติ มีเกิดขึ้นเป็นปกติ โดยไม่ได้พยายามทำให้มีเกิดขึ้นแต่อย่างใด

เรื่องการหยุดสร้างเหตุนอกตัว เรียกได้ว่า แทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามเหมือนเมื่อก่อน แค่กระทบ รู้ว่ามีเกิดขึ้น ความรู้สึกนั้นๆ ดับหายไปเอง หากบางครั้ง มีเกิดขึ้นนาน จิตจะคิดพิจรณาหาเหตุผล เห็นเหตุปัจจัยที่มีอยู่ คือ ไม่กล่าวโทษนอกตัว มองที่ตัวเองเป็นหลัก หากไม่เคยกระทำไว้ ผลจะมาจากไหน จิตจะปล่อยวาง ก็มีเหตุให้ปล่อยวางเอง จบเรื่องนี้ เรื่องใหม่เกิดต่อ

สำหรับการเข้าสังคม แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ การคลุกคลีด้วยหมู่คณะยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ชอบคลุกคลี เพราะเห็นแต่เหตุปัจจัยของการเกิด เมื่อเบื่อหน่ายภพชาติของการเกิด จึงกลายเป็นคนไม่มีสังคมไปเอง

ที่สำคัญ การรู้ชัดสภาวะต่างๆ ขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิในวิโมกข์ ๘ ด้วยตนเอง และสภาวะจิตเสื่อม สมาธิเสื่อม ที่เคยมีเกิดขึ้นกับตน ทำให้ความยึดมั่นถือมั่นในสภาวะไม่ค่อยมี อย่างกรณีที่ ความรู้สึกต่างๆที่เกิดแค่ในใจพอประมาณ นี่เชื่อถือไม่ได้นะ อาจจะเป็นเพราะเกิดจากปัจจุบัน กำลังสมาธิมีมากขึ้นเรื่อยๆ จิตเป็นสมาธิเนืองๆ อาจทำให้กดข่มกิเลสไว้ส่วนหนึ่ง จึงตัดทิ้งไปได้เรื่องความมี ความเป็น

และความมี ความเป็น จะโสดา สกิทาคา อนาคามี ล้วนยังมีเชื้อของการเกิด แล้วจะไปอยากได้ใคร่ดีในสิ่งเหล่านี้ทำไม อุปกิเลสต่างๆ จึงสงบลงไปด้วยเหตุปัจจัยนี้

.

.

การที่จะอธิบายลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น รวมทั้งรายละเอียดของคำเรียกนั้นๆ ต้องรู้ชัดโดยสภาวะด้วยตนเองก่อน จึงจะสามารถนำมาอธิบายได้ อย่างที่เคยบอกว่า ปริยัติมีไว้ให้รู้ ให้ศึกษาได้ แต่อย่าถือมั่นในสิ่งที่ได้ศึกษามา จะมีแต่การสร้างเหตุไม่รู้จบ เพราะเป็นเพียงสุตตะ ไม่ได้เกิดจากภาวนา

ดังคำที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้

[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้. ๔ อย่างเป็นไฉน?
คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขาย่อมไม่บัญญัติ ความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน.
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นพวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน.

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๒ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะอย่างหนึ่งนี้ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในศาสดาใด
ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น
เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด
ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด
ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่าไปแล้วโดยชอบ ในธรรมวินัยเห็นปานนี้แล
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น
เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวชั่วแล้ว
ประกาศชั่วแล้ว
มิใช่สภาพนำออกจากทุกข์
ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้

ความพลุ่งพล่านในใจ

ความพลุ่งพล่านในใจที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีเกิดขึ้นมา ๓ วันละ

เล่าให้เจ้านายฟังว่า ไม่รู้เป็นอะไร มันรู้สึกพลุ่งพล่านในใจ เหมือนมันพุ่งขึ้นมา มีเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องใครหรือคิดอะไรทั้งสิ้น เวลาเกิด มันพาลอยากจะตายท่าเดียว คิดจะตายท่าเดียว สมาธิก็เป็นอยู่นะ ไม่ใช่ไม่เป็น

เขาถามว่า ใช่ปฏิฆะที่เป็นสังโยชน์หรือเปล่า

เราบอกว่า ไม่รู้สินะ มันเป็นของมันเอง ไม่ได้พิจรณาอะไรด้วย ปกติมันจะแค่แผ่วๆ หลังๆนี่พุ่งขึ้นมาเลย หัวใจนี่เต้นแรงและเร็วมาก ขนาดจิตเป็นสมาธิอยู่นะ

เดี๋ยวนี้ ความรู้ชัดในจิต รู้ชัดมากขึ้น แยกออกเป็นส่วนๆ ไม่ปะปนกัน ถ้ากำลังสมาธิที่มีเกิดขึ้น มีกำลังน้อย คือ ยังมี ปีติ มีสุขอยู่ ความพลุ่งพล่าน จะเกิดขึ้นชัดมาก เมื่อสมาธิมีกำลังมากขึ้น อาการพลุ่งพล่าน จะสงบลงไป หรือหายไป

หลังจากทำสมาธิไป 1 ชม.
เจ้านายถามว่า พอแล้วหรือ

เราบอกว่า พอละ หายไปแล้ว

มีเหตุให้เจอ บทความเก่าๆที่เคยเขียนไว้ อีกบล็อกหนึ่ง
ทำให้รู้ว่า เป็นสภาวะเดิมที่เคยมีเกิดขึ้นนานแล้ว จนลืมไปแล้วว่าเคยมีเกิดขึ้น

เขียนไว้ 8th May 2011

กามราคะ กามราคะหรือกิเลสตัวอื่นๆไม่ได้แตกต่างกันเลย มันเหมือนๆกัน
เพียงแต่ว่า สติจะรู้เท่าทันได้หรือไม่เท่านั้นเอง

สภาวะที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่แบบหยาบๆจนกระทั่งละเอียด

แบบหยาบ เกิดจากผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ มีเกิดขึ้น ในการดำเนินชีวิต
ได้แก่รูปเป็นเหตุหรือการถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นเหตุ

แบบละเอียด เกิดขึ้นเองในจิต มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ปฏิฆะ คือ ความยินร้ายหรือความไม่พอใจ ความหงุดหงิดใจ

สภาวะที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่สภาวะแบบหยาบๆจนกระทั่งละเอียด

แบบหยาบ เกิดจากผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ มีเกิดขึ้น ในการดำเนินชีวิต

แบบละเอียด เกิดขึ้นเองในจิต มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ตรงนี้เข้าไปแก้ไขข้อความใหม่
ที่เคยเขียนไว้ เขียนไม่ละเอียด ตอนนั้นรู้แค่ไหน ก็เขียนไว้แค่นั้น

แต่สภาวะที่มีเกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ ความพลุ่งพล่านทางใจ ได้แก่ ปฏิฆะ
มันเป็นแบบนี้นี่เอง เหตุปัจจัยจากความไม่รู้ที่มีอยู่ เวลาที่รู้สึกโกรธ จึงกระทำอะไรได้ทันทีแบบไม่ต้องยั้งคิด

กรรมฐานนี่ดีนะ ยิ่งทำความเพียร ยิ่งรู้ชัดในกายและจิต
ดีนะ ที่กำหนดรู้มาตลอด เขียนสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีความสงสัยว่า คืออะไร
แค่เขียนตามความเป็นจริง ก็สภาวะเดิมๆ แต่ครั้งนี้ปรากฏเด่นชัดกว่าครั้งที่เคยเป็นเมื่อก่อน เท่านั้นเอง

ความละเอียดของกามราคะ

แก้ไขใหม่ 26-10-65

สมัยก่อนจะรู้ชัดสภาวะกามราคะแบบหยาบๆ
ทำให้เข้าใจผิดว่ากามราคะกับภวราคะเป็นตัวสภาวะเดียวกัน

ผัสสะที่มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ความอยากที่มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต มีชื่อเรียกว่า กามราคะ

ผัสสะที่มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิในรูปฌาน อรูปฌาน
ความอยากที่มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน มีชื่อเรียกว่า ภวราคะ

แก้ไขใหม่แล้ว

กามสัญโญชน์และภวสังโยชน์


ของเก่าที่เขียนไว้ ยังไม่ได้แก้ไขใหม่

สมัยก่อนได้เขียนไว้แบบนี้

กามราคะ มีสภาวะแบบหยาบ และ แบบละเอียด

แบบหยาบ จะเกิดขึ้น ในการดำเนินชีวิต ทางผัสสะ ที่ปรากฏ เป็นรูป ที่มีบังเกิดขึ้น

แบบละเอียด จะมีเกิดขึ้น ขณะ จิตเป็นสมาธิอยู่ ขึ้นอยู่กับ กำลังของสมาธิ ที่เกิดขึ้น ขณะนั้นด้วย 

หากเป็น สมาธิ ที่มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้นร่วม ผัสสะต่างๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้ คือ ความรู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น แม้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นทางตา แต่ปรากฏทางใจ และ กายสัมผัสแทน(อรูป)

หากทำความเพียรต่อเนื่อง ไม่ว่าผัสสะใดๆ(สภาวะ) เกิดขึ้น สักแต่ว่า รู้ว่ามีเกิดขึ้น แต่ไม่เอามาเป็นอารมณ์ หรือ ปล่อยให้ไหลไปตามผัสสะนั้นๆ

แรกรู้ อาจจะมีไหลตาม ปรุงแต่งตามไปบ้าง

เมื่อฝึกแค่รู้ว่า มีมากขึ้น ไม่คล้อยตามมากขึ้น สติจะมีกำลังมากขึ้น สัมปชัญญะย่อมเกิดมากขึ้น สมาธิที่เกิดขึ้นจะพอประมาณ เป็นเหตุให้ กลับมารู้ชัดอยู่ ที่กายมากขึ้น

เช่น อาจจะมารู้ที่ท้องพองยุบ หรือ การเต้นของหัวใจ หรือ การเต้นของชีพจร ตามจุดต่างๆของร่างกาย หรือ รู้ชัดจุดอื่นๆ ในร่างกาย มากกว่า จะน้อมไปสู่อารมณ์(ผัสสะ) ที่กำลังเกิดขึ้น

เมื่อมารู้ชัดที่กาย เป็นอารมณ์หลัก อารมณ์รอง ผัสสะที่เกิดขึ้น จะอ่อนกำลังลง และดับหายไปในที่สุด

เพราะเหตุนี้ กามราคะที่มีอยู่ จะค่อยๆเบาบางลง ความสงบของจิต ย่อมมีมากขึ้น ตามเหตุปัจจัย

ตราบใดที่กิเลสสังโยชน์ ยังไม่ถูกทำลายลง เป็นสมุจเฉทประหาน(สภาวะความตายที่เกิดขณะจิตเป็นสมาธิ)

ตราบนั้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ สภาวะกามราคะ หรือ ผัสสะ ที่มาในรูป ที่ละเอียดมากขึ้น ย่อมมีปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน บางคนไปปรากฏในรูปของความฝัน(ฝันเปียก)

ฉะนั้น หากใครต้องการสอบอารมณ์เกี่ยวกับกามที่มีอยู่ ด้วยการนำสิ่งภายนอก มาสอบอารมณ์ตัวเอง รับรองว่า มีแต่เหตุของความหลงสภาวะ เป็นเหตุให้ ติดอยู่ในอุปกิเลส ก็ยังไม่รู้

และยิ่งอามิสบูชาหลั่งไหลมา จากผู้ที่มีเหตุปัจจัยร่วม(เคยสร้างเหตุมาร่วมกัน ทำให้มาเชื่อกัน) เพราะเหตุนี้ ความบังเกิดขึ้นแห่งภพ ย่อมมีอยู่ เหตุของการเวียนว่าย ในวัฏฏสงสาร ย่อมมีอยู่

เพราะอวิชชา ตัวเดียวแท้ๆ โมหะครอบงำ ทำให้ไม่เห็นสภาวะ ที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

พอย้อนกลับไปทบทวนสภาวะเก่าๆ ที่เคยผ่านมา ทำให้เลิกคิดหมิ่นประมาท บุคคลที่ถูกโมหะครอบงำ มีแต่ความเข้าใจ ในสภาวะของบุคคลเหล่านั้น

ตอนที่เขียนนี่ จิตไม่มีคิดล่วงเกินใคร แค่ต้องการชี้ให้เห็น เหตุของอวิชชาที่มีอยู่ ความหลงที่มีอยู่ หลงคิดเอาเองว่า กิเลสตัวนั้น ตัวนี้ไม่มี จึงสอบอารมณ์ตัวเอง โดยการหาสิ่งนอกตัว มาเป็นสื่อในการดูจิตตัวเอง

เมื่อจิตไม่กระเพื่อม จากสภาวะที่ลองทดสอบ ทำให้หลง คิดว่าได้อะไร เป็นอะไร และนำสิ่งที่คิดว่า ใช่ ถูกตามใจตน ไปแนะนำผู้อื่น ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และที่หลงสร้างให้เกิดขึ้นใหม่

ทั้งนี้ จะกล่าวโทษกันไม่ได้เลย ทั้งผู้แนะนำ และ ผู้ถูกแนะนำ เพราะ อวิชชาตัวเดียวแท้ๆ ภพชาติปัจจุบัน และ ภพชาติการเวียนว่าย ในวัฏฏสงสาร จึงมีบังเกิดขึ้น เพราะ เหตุนี้

หลุมพรางของกิเลส ที่ล่อลวง ให้หลงอยู่ในสังสารวัฏ มีมากมาย หลายช่องทาง เผลอคิดเข้าข้างตัวเอง(ความยึดมั่นกับผัสสะที่เกิดขึ้น) ไม่ได้อย่างเด็ดขาด หลงทันที

ฉะนั้น จึงสักแต่ว่า มีผัสสะเกิดขึ้น

แม้ยังไม่รู้ชัดในผัสสะที่เกิดขึ้น ด้วยตนเองก็ตาม ให้พยายามสักแต่ว่าเข้าไว้

จึงจะแคล้วคลาด เอาตัวรอดจาก อุปกิเลสได้

ผู้ไม่ปราฏตน

มีอีกเรื่อง ที่เป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่เริ่มเป็นสาว จนกระทั่งทุกวันนี้ ผู้ที่ไร้ตัวตน ยังคงติดตามวลัยพรอยู่

บางครั้ง ส่งเสียงล่องลอยมาว่า เมื่อไหร่ จะกลับมาซักที ฟังแล้วรู้สึกเศร้าใจ

คิดอยู่ ว่าควรเขียนเรื่องนี้ ตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าคนไม่เข้าใจ เกิดจินตนาการในทางที่ไม่ได้ขึ้นมา จะเป็นเหตุให้กับคนนั้น

เหตุที่เจ้านายอยู่กับวลัยพรได้ เพราะเราใช้ชีวิตคู่แบบกัลยาณมิตรต่อกัน แต่ถ้าใช้ชีวิตร่วมกับแบบคู่ทั่วๆไป เราคงอยู่ด้วยกันไม่ได้

วลัยพรเคยผ่านการมีชีวิตคู่มาสองครั้ง ทั้งสองครั้ง อยู่ด้วยกันประมาณ ๕ ปี สุดท้าย ต้องมีเหตุเลิกลากัน วลัยพร เป็นฝ่ายขอเลิกเอง เพราะฝ่ายชายนอกใจ มีคนอื่น

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้ที่ไม่ปรากฏตัวตน เริ่มมาปรากฏชัดมากขึ้น เราตกใจ บอกว่า กลัวนะ เพราะสติตอนนั้นไม่ทัน เขาแต่งเครื่องทรงสีทอง เห็นแสงสว่างสีทองรอบตัวเขา เห็นแค่แว่บเดียว

พอพูดออกไปว่ากลัว เขาเลยหายไป เล่าเรื่องนี้ให้เจ้านายฟัง เรื่องความสัมพันธ์ ที่มีกับผู้ที่ไม่ปรากฏตน แต่ปรากฏทางสัมผัสทางกาย

ดีที่ว่า เจ้านายเข้าใจเรื่องสภาวะ จึงคุยตามความเป็นจริงได้ แม้กระทั่งเรื่องของเจ้านาย สภาวะกามราคะ ที่เกิดขึ้นในความฝัน เจ้านายเล่าให้ฟังหมด เพียงแต่ ตื่นขึ้นมาแล้ว จำความฝันไม่ได้

สภาวะการละกามราคะของวลัยพร มีความพิศดารมาก ไม่ใช่แบบอย่างที่เคยอ่านเจอในตำรา แต่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่

กามราคะ มีทั้งรูปและอรูป สภาวะที่วัลพรเจอ เป็นอรูป เพราะเกิดขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ คำว่ากามราคะ ที่วลัยพรกล่าวถึงนี้ หมายถึง ความกำหนัดในกาม

เป็นเรื่องแปลก

๒ มิย.๕๔

มีเรื่องที่เราขบคิดมาตลอด แต่ยังไม่ได้คำตอบจากตัวรู้ เชื่อว่าสักวันได้คำตอบอย่างแน่นอน เพราะทุกๆเรื่องที่เคยสงสัยได้คำตอบทุกๆคำตอบว่าคืออะไร เป็นเหตุให้สิ้นสงสัยในเรื่องการปฏิบัติทุกๆแนวทาง

มีเรื่องนี้เรื่องเดียวที่ยังไม่ได้คำตอบ เป็นเรื่องของผู้ที่รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง ทำไมทุกคนต้องเจอความรู้สึกตัวเดียวกันหมด คือ มีความรู้สึกตลอดเวลาว่าตัวเองจะต้องตาย ความรู้สึกนี้ไม่มีผลต่อการปฏิบัติใดๆ

เห็นอะไรบางอย่างในความรู้สึกนี้ เพิ่งเห็นนะ ปกติแล้ว ถ้าคิดว่าตัวเองจะต้องตาย ต้องรีบทำความเพียร เพราะคิดว่าเวลาเหลือน้อย แต่เรากลับไม่เป็นแบบนั้น เราคงใช้ชีวิตปกติ ปฏิบัติปกติ ทำตามสภาวะ ไม่มีความขยันเพิ่ม

เห็นกิเลสสภาวะของความอยากที่คอยเข้าแทรก เพิ่งเห็นนะ เพิ่งเห็นแบบชัดๆ ดูที่ตัวสภาวะ

” ปกติแล้ว ถ้าคิดว่าตัวเองจะต้องตาย ต้องรีบทำความเพียร อาจจะคิดว่าเวลาเหลือน้อย ”

นี่คือ สภาวะของกิเลสความอยากที่มีโอกาสเข้าแทรกได้ โดยที่เจ้าของความรู้สึกไม่รู้ตัวเลย

สภาวะเราก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ตกหลุมพรางของความอยาก กิเลสตัวนี้จะเข้าแทรกแซงทุกสภาวะ เป็นเหตุให้เกิดการยึดติดแต่ไม่รู้ว่ายึดติด คำว่า ” ต้องรีบทำความเพียร เพราะคิดว่าเวลาเหลือน้อย ”

นี่คือ สภาวะของความอยากเข้าแทรก มันคือการยึดติดในสิ่งที่คิดว่ามี สิ่งที่คิดว่าเป็น นี่แหละ ยึดแต่ไม่รู้ว่ายึด

ถ้าถามว่า แล้วไม่ใช่การประมาทเหรอ ถ้าไม่คิดแบบนั้น ทำไมไม่เร่งทำ อาจจะต้องเกิดอีกก็ได้

ตรงนี้มีคำตอบนะ การอยู่กับปัจจุบันดีที่สุด หากแม้นยังมีเหตุ ผลย่อมมี เราไปให้ค่าต่อตัวสภาวะไปล่วงหน้าเอง หากจะต้องตาย ยังไงก็ต้องตาย หากจะต้องเกิด ยังไงก็ต้องเกิด สร้างเหตุที่ปัจจุบันดีที่สุด

สิ่งที่เกินปัจจุบัน ล้วนเป็นกิเลสทั้งนั้น นี่แหละเหตุของการตกหลุมพราง ด้วยความไม่รู้ แก้ไขสภาวะแต่ไม่รู้ว่าแก้ไข ทำไมต้องรีบทำ ทำไมต้องขยัน จะไปตกเป็นเหยื่อของกิเลสอีกทำไมล่ะ

เคยเจอคำพูดหนึ่งของคนที่คิดว่าได้อะไร เป็นอะไร เขาพูดทำนองว่า เขาพยายามชะลอเรื่องการปฏิบัติ ตราบใดที่เขายังจัดการอะไรยังไม่เสร็จ นิพพานเขายังไม่ไป

เราฟังแล้วคิดเลย เวรกรรมจริงๆ เขาไม่รู้จักสภาวะของพระนิพพานจึงได้พูดเช่นนี้ คนนี้เป็นคนดังนะ เป็นคนที่ได้รับเชิญแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ

คือ เรามองเหตุที่เขาทำอยู่ เขาอาจจะพบธรรมเห็นธรรมจริง แต่ยังไม่เห็นสภาวะที่แท้จริงของพระนิพพานจึงทำให้พูดแบบนี้ เขาอยู่ในส้นทางของมรรค ยังไม่ใช่ผล

มีเยอะนะไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่มีสภาวะแบบนี้ มีเยอะมากที่อยู่แค่เพียงเส้นทางของมรรค แต่ยังไม่ใช่ผล หลายๆคนประสบสภาวะตรงนี้เมื่อเข้าสู่เส้นทางของมรรค คือ ตกหลุมพรางกิเลส

ของสภาวะว่าได้อะไร เป็นอะไรในบัญญัติที่มีไว้ เป็นเหมือนกันหมดเลย ไม่มียกเว้นผู้ใดเลย จนกว่าจะปล่อยวางในสิ่งที่คิดว่าได้อะไร เป็นอะไรให้หมดสิ้น สภาวะจึงจะดำเนินต่อไป

แม้นรู้ปริยัติใช่ว่าจะรอดจากสภาวะนี้ เพราะพอพูดถึงพระนิพพาน ล้วนมีแต่การคาดเดาว่า นิพพานจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่ตัวสภาวะของพระนิพพานที่แท้จริง อธิบายออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้

ตรงนี้คาดเดา

คือเริ่มเข้าใจในความรู้สึกของพระพุทธเจ้าว่า ครั้งแรกเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้ ทำไมทรงปริวิตก เพราะพระธรรมนี้เป็นสภาวะที่ละเอียดมากๆ

ถ้าเปรียบเทียบกับเราหรือคนทั่วๆไป ความรู้สึกคงไม่แตกต่างกัน เพราะทุกคนมีความรู้สึกเหมือนๆกันหมดว่าตัวเองต้องตาย เรียกว่ารู้สึกว่าจะต้องตายตลอดเวลา มันรู้สึกแบบนั้น ชีวิตหรือการกระทำจึงระวังในเรื่องของการสร้างเหตุ

แล้วมีครุ่นคิดเหมือนๆกันว่า ทำยังไงหนอจึงจะให้คนอื่นๆรู้เหมือนที่เรารู้ เราเคยเป็นนะ ความรู้สึกเช่นนี้ในตอนแรกๆ พอสติมา จิตกลับอยู่ที่ปัจจุบัน มองเห็นแต่เพียงว่า เหตุมี ผลย่อมมี เลยไม่คิดห่วงคนอื่นๆอีกต่อไป ดูตามความเป็นจริง

พบธรรมเห็นธรรม ทำไมต้องตาย

สภาวะตรงนี้ ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมต้องมีความรู้สึกว่าตัวเองต้องตาย แม้กระทั่งคนที่พบเห็นเหมือนกัน ต้องมีความรู้สึกเหมือนๆกัน เพียงแต่น้องคนนี้เขาเจาะจงปีที่ต้องตายว่าเป็นปี ๕๖

แล้วน้องคนนี้ มีอะไรเหมือนๆเราหลายๆอย่าง เขามองเห็นทั้งอนาคตและอดดีตของคนที่เข้าไปคุยกับเขา เรียกว่ารู้เรื่องของคนๆนั้นหมด แม้กระทั่งคิดอะไรในใจ เขาก็รู้ เขาบอกว่า เขาไม่พูดให้คนๆนั้นรู้ เพราะมันคือเหตุของคนอื่นๆ

เรื่องการถ่ายเทสมาธิ เขามีสภาวะเป็นผู้รับ ไม่ใช่ผู้ให้ เขาเองรู้เรื่องนี้ดี และยังรู้จักคนอื่นๆที่เป็นพวกถ่ายเทสมาธิเหมือนกัน พวกนี้จะมีสภาวะเหมือนกันหลายๆอย่าง

การถ่ายเทสมาธิจะทำกันแบบง่ายๆ คือ พูดคุยปกติ แล้วสมาธิจะไหลไปหาให้กับผู้ที่มีสภาวะเป็นผู้รับเอง นี่สำหรับผู้ที่รู้จักสภาวะพวกนี้ เขาจะขออนุญาติก่อนว่า ขอสมาธินะ

ส่วนผู้ที่มีสภาวะเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว พวกนี้จะรู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาที่อยู่ในหมู่คนเยอะๆ เพราะสมาธิจะไหลไปหาคนที่มีสภาวะเป็นผู้รับตลอด บางคนหยุดตัวเองได้ บางคนหยุดตัวเองไม่ได้

ส่วนเรานั้น มันมีความรู้สึกว่าไม่วันนี้พรุ่งนี้เราต้องตาย ไม่ได้เจาะจงปี มันรู้สึกแบบนั้น มาช่วงนี้ความรู้สึกว่าต้องตายแน่นอน มันรู้สึกได้เด่นชัดมากๆ เป็นเหตุให้เราเร่งเขียนหนังสือน้ำตาหยดสุดท้าย กับ มรรคาอนาลัย ให้เสร็จ

เพื่อให้เป็นที่ระลึกในงานศพของตัวเราเอง หรือแม้เรายังไม่ตาย หากหนังสือเสร็จแล้ว เราจะทำแจกเป็นธรรมทาน จนกว่าเราจะตายจริงๆ นี่ตั้งใจไว้แบบนี้

ตอนนี้ได้รู้เรื่องสภาวะของกามราคะ-ปฏิฆะ ได้คำตอบจากตัวรู้ที่เกิดขึ้น พอรู้แล้วร้องอ้อเลย เป็นเช่นนี้เองเหรอ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เคยสงสัย และได้คำตอบแล้วว่าอะไร ทำไม

สภาวะนี้ต้องเป็นสมุจเฉทประหานเท่านั้น ไม่แตกต่างในเรื่องของโสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล เหมือนๆกัน ต้องผ่านมรรคก่อน จึงจะเกิดปัจจเวกอีกครั้ง จะเห็นสภาวะพระนิพพานที่ละเอียดขึ้นไปอีก

ส่วนเรื่องอื่นๆที่มีคนนำมาพูดๆกัน เรื่องความกำหนัดในกามอะไรนั่น เป็นแค่กิเลสหยาบๆ เป็นการขัดเกลาสภาวะแบบหยาบๆ มีเรื่องของกิเลสความอยากมี อยากได้ อยากเป็น เข้าแทรกด้วย แต่ตัวผู้ที่นำมาพูดนั้น พูดด้วยความไม่รู้

โทสกิเลส

โทสกิเลส ได้แก่ ความขัดเคืองไม่พอใจในอารมณ์ที่มากระทบ จำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. โทสะที่เป็นอปายคมนียะ คือ นำไปสู่อบายภพ ได้แก่ ความโกรธที่ดุร้าย สามารถล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น การทำปานาติบาตเป็นต้น

โทสะชนิดนี้ พระอริยบุคคลละได้อย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นโสดาบันบุคคล

๒. โทสะที่ไม่เป็นอปายคมนียะ คือ นำไปสู่อบายไม่ได้ ได้แก่ ความขัดใจโกรธเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ

โทสะชนิดนี้ที่เป็นโอฬาริกะ คือ อย่างหยาบ พระอริยบุคคลละได้อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ยังเป็นสกทาคามีบุคคล

แต่ส่วนสุขุมะ คือ โทสะอย่างละเอียดประณีตสุขุมนั้น ผู้ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีเท่านั้นจึงจะสามารถละได้อย่างเด็ดขาด เป็นอันว่า อนาคามิมรรคนี้ ประหาณโทสกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

การละกามราคะ

อนุสัย ๗

ธรรมทั้งหลาย ๗ มีกามราคะเป็นต้น ซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้คือ

๑. กามราคานุสัย อนุสัย คือ ความกำหนัดในกามารมณ์

๒. ปฏิฆานุสัย อนุสัย คือ ความขัดเคือง

๓. มานานุสัย อนุสัย คือ ความถือตัว

๔. ทิฏฐานุสัย อนุสัย คือ ความเห็นผิด

๕. วิจิกิจฉานุสัย อนุสัย คือ ความสงสัย

๖. ภวราคานุสัย อนุสัย คือ ความกำหนัดยินดีในกามภพ

๗. อวิชชานุสัย อนุสัย คือ อวิชชา

เรียกว่า อนุสัย โดยความหมายว่า มีเรี่ยวแรง

เพราะว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่า อนุสัย เพราะว่า นอนเนื่องอยู่นั่นแล โดยความเป็นของการบังเกิดขึ้นแล้วๆเล่าๆแห่งกามราคะเป็นต้น เพราะความมีเรี่ยวแรง

กามราคะ

สภาวะ ความกำหนัดในกาม

เหตุของการละกามราคะ

การละกามราคะ ผู้ใดเจริญสติอยู่เนืองๆ เมื่อสติ สัมปชัญญะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวหิริ โอตตัปปะ จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมทั้งกำลังของสมาธิที่นับวันมั่นคงมากขึ้น

เรียกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทไหนๆ จิตจะมารู้อยู่ที่กายเนืองๆ มากกว่าจะไปรู้นอกกาย เป็นเหตุให้ จิตเกิดความตั้งมั่นได้ทุกสภาวะ ทุกสถานที่ ทุกเวลา

เมื่อมีสภาวะต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น ตัวกามราคะหรือความกำหนัดในกามจะค่อยๆลดกำลังลงไป เกิดเนื่องจาก

๑. กำลังของสมาธิกดข่มกิเลสเอาไว้

๒. มีสติรู้เท่าทันต่อการปรุงแต่งหรือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ณ ขณะนั้นๆ ความรู้สึกนั้นๆย่อมดับหายไปเอง โดยไม่ต้องไปกำหนดหรือพิจรณาใดๆเลย เรียกว่า ดูตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และรู้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิต นั่นคือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ณ ขณะนั้นๆนั่นเอง

๓. เมื่อมีกำลังของหิริ โอตตัปปะมากขึ้น มันจะรู้สึกละอายใจต่อการกระทำของตัวเอง มันเป็นเอง ถึงแม้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์จะเป็นเรื่องปกติที่หลายๆคนจะมีก็ตาม

แม้ว่าจะมีการสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ความกำหนัดอาจจะเกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือ มันเกิดขึ้นมาเองก็ตาม เรียกว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

แต่เมื่อเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกที่เกิดทางอ้อม จะค่อยๆลดน้อยลงไปเอง คือ ยังคงมี แต่เมื่อไปกระตุ้นตัวเองเพื่อให้เกิดความรู้สึกชัด มันจะไม่เกิด มันจะแค่รู้ แต่ไม่เกิดเพิ่มจากที่มีอยู่

ส่วนทางตรง ที่มีการสัมผัสโดยตรง จะรู้สึกละอาย ต่อสิ่งที่มองไม่เห็น ส่วนจะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของหิริ โอตตัปปะขณะนั้นด้วย

คนที่เจริญสติ นับวันจะมีความรู้ชัดในกายมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้รู้ชัดภายนอกทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ซึ่งเป็นเหตุให้ เมื่อจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นลามกอนาจาร ทั้งๆที่เป็นเรื่องปกติก็จริงอยู่ แต่มันจะละอายใจ จนได้แค่สัมผัสภายนอก อาจจะแค่กอดกัน

ความกำหนัดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ จะค่อยๆเบาลงจนหายไปเองในที่สุด แล้วหลับไปเอง จะไม่กระทำอะไรไปมากกว่านั้น ไม่มีอาการหงุดหงิด หรือฟุ้งซ่านแต่อย่างใด เมื่อไม่ได้ดั่งใจ มันจะแค่รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังของสติ สัมปชัญญะและสมาธิ

นี่คือ สภาวะการละกามราคะแบบหยาบๆที่จะต้องเจอในเบื้องต้น มันเป็นเอง เกิดเอง โดยไม่ต้องไปกำหนดหรือพิจรณาอะไร แต่เกิดเนื่องจาก สติ สัมปชัญญะและสมาธิทำงานร่วมกัน

อันนี้ก็แล้วแต่เหตุของแต่ละคนที่ทำมา จะพิจรณาก็ไม่ได้ผิดอะไร เวลาทำอะไร ควรคิดพิจรณาด้วยว่า เราทำเช่นนั้นเพื่ออะไร พึงระวังความอยากที่เป็นกุศล

กิเลสตัวนี้จะมีสภาวะที่ละเอียด มากกว่ากิเลสอกุศล หากขาดการคิดพิจรณา จะดูไม่ทัน แต่ไม่เป็นไร เพราะสภาวะจะเกิดเดิมๆซ้ำๆ ตอกย้ำ ย่ำอยู่จนเรารู้เองในที่สุด เมื่อสติมากพอ

ปฏิฆะ

ปฏิฆะ คือ ความหงุดหงิด มีทั้งที่ทำให้เกิดขึ้นมาเองทางผัสสะ กับ เกิดขึ้นเองในจิต โดยไม่ต้องมีผัสสะมากระทบ

ความรักกับกามราคะ

ความรักทางโลกจะมีข้อแม้ ข้ออ้างมากมาย เวลาบอกว่ารัก จะต้องถามว่ารักเพราะอะไร แล้วอะไรคือความรัก

คำอธิบายของคำว่า ความรัก ของทางโลก ดูหลายๆข้อความที่นำมากล่าวโดยสวยงาม ดูดี แต่โดยเนื้อแท้ตามความเป็นจริง น้อยคนนักที่จะสามารถทำได้ตามคำที่กล่าวมา

ความรักทางธรรม มีแต่เรื่องของสภาวะ มีแต่เรื่องตามความเป็นจริง มีแต่การกำหนดรู้ คิดพิจรณา เพื่อตรวจสอบกิเลสของตัวเอง

ทำไมจึงกล่าวว่าเป็นกิเลสของตัวเอง

เราทุกรูปทุกนามล้วนมีกิเลสด้วยกันทุกคน ส่วนจะมีมากหรือน้อยอะไรยังไงนั้น แล้วแต่เหตุที่ทำมาของแต่ละคน และทุกคนจะรู้เห็นกิเลสของตัวเองที่มีอยู่ตามความเป็นจริงได้แล้วหรือยัง ยอมรับตามวามเป็นจริงได้แล้วหรือยัง

ตลอดจนเหตุในปัจจุบันที่กำลังสร้างให้เกิดขึ้นมาใหม่อีก ทุกๆอย่างที่ทำลงไปล้วนมีเหตุปัจจุยร่วมกัน แต่อยู่ที่ว่าจะรู้หรือยังเท่านั้นเอง หากรู้แล้วย่อมหยุดหรือดับที่ต้นเหตุทั้งปวง

ความรักเกิดจากอะไร

ทุกสรรพสิ่งไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุ ผลย่อมมีให้ได้รับอย่างแน่นอน ทุกๆสรรพสิ่ง ทุกๆสภาวะเป้นเช่นนั้นอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีเราเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะกาลไหนๆก็ตาม

ความรักคืออะไร

ความรัก คือ การให้ค่าตามความนึกคิด ตามความรู้สึก หรือ อุปทานที่เกิดจากผัสสะนั้นๆ

ความรักในทางธรรม โดยสภาวะ เราทุกรูปทุกนามล้วนเกิดมาเป็นเพื่อนพึ่งพาซึ่งกันและกัน พึ่งพากันในการถ่ายถอนอุปทานที่มีอยู่ ต่างคนต่างอาศัยกันและกันในการขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ในจิตของแต่ละคน ตามเหตุปัจจุยที่ทำมา เพียงแต่จะรู้หรือยังเท่านั้นเอง

โดยสภาวะ

ความรักทางโลก ถ้าว่าตามสภาวะตามความเป็นจริง คือ กิเลส ตัวความยินดี ความพอใจ ต้นเหตุของความกำหนัดในกาม

โดยแนวทางการปฏิบัติ

แต่ละคนล้วนสร้างเหตุมาแตกต่างกันไป แม้กระทั่งในเรื่องของความรักก็เช่นกัน ไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด

กามราคะ ในแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้ให้ปฏิเสธ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ทำตามความต้องการ เพียงให้เรียนรู้กิเลสความกำหนัดของแต่ละคนที่มีอยู่ ตัวผัสสะที่มากระทบเป็นตัววัดผลอย่างดี

บางคนใช้การพิจรณาอสุภะ เพื่อกดข่มกิเลสไว้ก่อน ทำให้กามราคะลดลงไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะได้ผลตลอดไปแค่ไหนนั้น เจ้าตัวย่อมรู้ดีที่สุด ยามที่เกิดการกระทบ แล้วจะยับยั้งชั่งใจได้แค่ไหนหรือหยุดได้ทันที่

ส่วนในคู่ของชีวิตคนที่มีคู่หรือมีครอบครัวแล้ว หากเข้าใจเรื่องราวของสภาวะในระดับหนึ่ง คู่นั้นๆส่วนมากศิลเสมอกัน ต่างฝ่ายต่างคอยตรวจสอบตัวเอง ตรวจสอบกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปกดข่มกิเลสไว้แต่อย่างใด เรียกว่ายอมรับตามความเป็นจริงต่อสภาวะที่เกิดขึ้น

ส่วนการตอบสนองตามความต้องการ ขึ้นอยู่กำลังของสติ สัมปชัญญะของแต่ละคน ณ ขณะที่เกิดสภาวะนั้นๆ

ความกำหนัด

กิเลสหรือกามราคะ กามราคะหรือกิเลสตัวอื่นๆไม่ได้แตกต่างกันเลย มันเหมือนๆกัน เพียงแต่ว่า สติจะรู้เท่าทันได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ตำราถึงได้เขียนเอาไว้ว่า กามราคะคือ ความยินดีหรือความพอใจ ปฏิฆะ คือ ความยินร้ายหรือความไม่พอใจ ความหงุดหงิดใจ

ส่วนความกำหนัดในกามที่นำมาพูดๆกัน ล้วนเป็นตัวกิเลสของกามราคะ ความกำหนัด คือ การกำเริบทางกิเลสที่ค่อนข้างมีกำลังกว่ากิเลสกามราคะตัวอื่นๆ

แล้วแต่เหตุของแต่ละคนด้วย บางคนจึงมีสภาวะกามราคะรุนแรงคือ มีมาก แต่บางคนมีน้อย แต่ไปมีกิเลสในสภาวะอื่นๆที่มีกำลังมากกว่าตัวความกำหนัดตัวนี้ เนื่องจากเหตุที่ทำมาแตกต่างกันไป

เหตุใดบางคนต้องปลงอสุภะ ใช้อุบายในการพิจรณา เพื่อกดข่มกิเลสเอาไว้ เหตุใดบางคนไม่ต้องปลงอสุภะ ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุที่ทำมาทั้งสิ้น นี่แหละ ทุกสรรพสิ่งล้วนมีและเป็นตามเหตุปัจจัยของสิ่งๆนั้น

วิธีการจึงมีหลากหลายรูปแบบ อุบายในการรักษาจิตและถ่ายถอนอุปทานของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปเพราะเหตุนี้ ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะแก่คนใดคนหนึ่ง ทุกๆสภาวะแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา

จึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรือเที่ยงแท้แน่นอน ที่แน่นอนที่สุดคือ ตัวสติ สัมปชัญญะ มีสองสภาวะนี้อยู่ที่ไหน การเห็นตามความเป็นจริงได้ ย่อมมีอยู่ที่นั่น

ฉะนั้น จงเป็นผู้มีสติอยู่เถิด อย่าได้ไปว่ากล่าวผู้ใดอีกเลย ไม่มีอะไรถูกหรือผิด ที่ผิดคือ ผิดไปจากวิธีที่ตัวเองทำมาหรือได้เรียนรู้มานั่นเอง ผิดที่ตัวเอง เพราะยังมีความไม่รู้อยู่ คนอื่นๆไม่ได้ทำให้ผิดเลย

ยิ่งว่าคนอื่นๆมากเท่าไหร่ มีถูกหรือผิดมากเท่าไหร่ เท่ากับสะสมกิเลสไว้ในใจมากขึ้นเท่านั้น เท่ากับก่อภพก่อชาติไม่รู้จบกับคนอื่นๆมากเท่านั้น จงอย่าได้เบียดเบียนกันอีกเลย เพราะมันจะมีแต่เหตุไม่รู้จักจบสิ้น

ใครทำอะไร ยังไง ปฏิบัติยังไง รู้ยังไง นั่นคือเหตุของเขา หากเขาทำไม่เหมือนเราหรือมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากเรา นั่นก็คือเหตุของเขา ของตัวเราเองก็คือเหตุของเรา

ใครเชื่อใคร ใครไม่เชื่อใคร ล้วนเกิดจากเหตุที่แต่ละคนทำมาทั้งสิ้น ไม่ใช่ไปว่าเขาทำถูกหรือผิด ว่าเขามากเท่าไหร่ ติติงเขามากเท่าไหร่ เท่ากับสะสมกิเลสในใจไว้มากขึ้นเท่านั้น ก่อภพก่อชาติไม่รู้จบมากขึ้นเท่านั้น

เราว่าเขา เขาก็ว่าเรา เราไม่ว่าเขา หากเขายังว่าเรา นั่นคือเหตุที่เราเคยทำเอาไว้ เมื่อเหตุยังไม่หมด ผลที่ได้รับย่อมยังไม่หมด เหตุหมดเมื่อไหร่ ผลจบลงเมื่อนั้น เราจึงต้องหมั่นรู้อยู่ในกายและจิตให้บ่อยๆ เพื่ออยู่กับปัจจุบัน

ไม่ใช่เพื่อที่จะได้อะไรหรือเป็นอะไร มันมีแต่กิเลส อยู่กับปัจจุบันได้ทัน คือ การดับเหตุทั้งปวงได้ในระดับหนึ่ง เหตุทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากตัวเราเป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดขึ้นเอง

จิตโสโครก

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จิตนี่สุดๆไปเลย หลายๆเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว มันตอกย้ำให้ชัดๆไปเลยว่า ทุกอย่างที่เราคิดว่าไม่มีนั้น มันก็แค่การคาดเดา

กิเลส การแสดงออกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน กิเลสบางตัวอาจจะมาในรูปแบบหยาบๆสำหรับคนบางคน แต่สำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นรูปที่ละเอียด เพราะอยู่ในส่วนลึกของจิต

เรากำลังถูกทดสอบเจ้าตัวโทสะ ตัวหงุดหงิด ความไม่พอใจ ยอมรับว่า บางครั้งสภาวะนี้ทำให้เราเกิดความรำคาญ มันพูดมาก มันเอาแต่ว่าคนอื่นๆ จนบางครั้งเราทนไม่ได้ ต้องตะหวาดออกไปว่า จะอะไรนักหนา ใครเขามาทำอะไรให้ หรือเขาจะทำอะไรมันก็เรื่องของเขา ทำไมต้องไปว่าเขาด้วย ทำไมต้องไปด่าคนอื่นๆ

คิดดูสิ ถ้าทุกคนสามารถรู้ความคิดของกันและกัน เรียกว่าทุกๆคนเลย ถ้าเราได้ยินเสียงของความคิดว่าเขากำลังด่าเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เสียงที่จิตกำลังว่าคนอื่น ก็สงบไป

สภาวะจิตด่าคนอื่นๆ ที่เราเคยเจอมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเรามองว่าแค่นี้เรารับมือกับสภาวะนี้ได้ เพราะโดยนิสัยส่วนตัวของเรานั้น นิสัยแบบนั้นเราไม่มี เราไม่เคยคิดจะไปด่าใครอะไรแบบนั้น

ทุกอย่างที่มองว่ามันไม่น่าจะมี พอได้มาเจริญสติแล้ว มันคนละเรื่องกันเลย จิตจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาหมด อะไรที่เคยคิดเอาไว้ ล้วนเป็นเพียงแค่การคาดเดาของตัวเราเองทั้งนั้น ทั้งๆที่เราคิดว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ

แต่โดยสภาวะตามความเป็นจริง มันตรงข้าม มันกลับกลายเป็นว่า จิตชักจะหยาบคายมากขึ้น มากจนเราแค่ดูเฉยๆไม่ได้ในบางครั้ง เพราะเริ่มจะทนดูไม่ได้ มันรู้สึกว่า มันมากไปแล้วนะ นับวันกิเลสตัวนี้ผยองพองขนมากขึ้น

เผลอไม่ได้นะ พอเผลอเอาอีกแล้ว มันผุดขึ้นมาระนาวเลย เราต้องอาศัยรู้อยู่ในกายให้บ่อยๆ อาศัยสมาธิช่วย แค่สติที่เรามีอยู่ ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะรู้อยู่กับกิเลสตัวนี้ได้ มันหงุดหงิดอยู่ข้างใน

แต่ภายนอกที่คนอื่นๆมองเห็นคือ เราพูดคุยปกติ หัวเราะ ยิ้มแย้มปกติ แต่จิตข้างในโสโครกสิ้นดี เหมือนคนสอดส่ายสายตาจ้องจับผิดคอยว่าคนอื่นๆ นิดนึงก็ยังเอาเลย นี่แหละเราถึงว่ามันโสโครก

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ