สมุทัย

สมุทัย คือ ต้นเหตุแห่งทุกข์

ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้แก่ กิเลส

ที่กล่าวว่า สมุทัยเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่แน่เสมอไป ต้องดูสภาวะของจิตเป็นหลัก

 

๑.  ยามที่เกิดผัสสะ จิตปราศจากอคติ  สภาวะแบบนี้ การส่งจิตออกนอกไม่เป็นสมุทัย

๒. ยามที่เกิดผัสสะ  จิตมีกิเลสเกิดขึ้น  สภาวะแบบนี้ จิตส่งออกนอก เป็นสมุทัย

 

ลักษณะของจิตที่เป็นสมุทัย คือ จิตที่ไหลไปตามผัสสะที่เกิดขึ้น เช่น ความชอบ,ชัง หรือ จิตที่ชอบเพ่งโทษนอกตัวเนืองๆ หรือชอบกล่าวโทษนอกตัวเนืองๆ

จิตส่งออกนอก เป็นสมุทัย เกิดเนื่องจากยามที่มีผัสสะ( สิ่งที่เกิดขึ้น ) มากระทบ แล้วเกิดการให้ค่าว่าผัสสะ ( สิ่งที่เกิดขึ้น ) นั้นๆว่า ดีหรือไม่ดี ตามตัวตัณหาอุปทาน ( กิเลส ) ที่มีอยู่

เหตุที่เกิดขึ้นตามมา คือ ให้ค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ว่าดีหรือไม่ดีนั้น เป็นความชอบ,ความชัง ใช่,ไม่ใช่ ถูก,ผิด ตามความคิดที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆ แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงของตัวสภาวะที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อมีการให้ค่าตามความคิดไปในทางชอบ,ชัง ใช่,ไม่ใช่ ถูก,ผิด ย่อมมีเหตุเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลย่อมมีให้ได้รับ

ผัสสะนั้นเป็นกลางกับทุกๆสิ่ง

เป็นการทำงานของอายตนะภายนอกและภายในทำงานร่วมกัน  ไม่ว่าผัสสะนั้นๆจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม

เหตุที่ผัสสะมีสภาวะเปลี่ยนไป ล้วนเกิดจากการให้ค่าของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตณ ขณะนั้นๆ

เหตุที่กล่าวว่า จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ เมื่อมีการให้ค่าว่าดีหรือไม่ดี ตัวสังขาร ( ตัวปรุงแต่ง ) ย่อมเกิดต่อเนื่อง

เราให้ค่าตามความคิดของเรา คนอื่นก็ให้ค่าตามความคิดของเขา เราว่าดี ,ไม่ดี ใช่,ไม่ใช่ ถูก,ผิด แต่คนอื่นๆอาจจะเห็นต่างคือเห็นตรงข้ามกับเราก็ได้ เพราะนั่นคือความคิดของเขา ซึ่งไม่แตกต่างจากเราเลย

เหตุที่ทำให้ดูแตกต่าง ล้วนเกิดจากกิเลสนี่เอง เมื่อมีความเห็นต่าง เหตุย่อมเกิด ผลย่อมมี  จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัยเพราะเหตุนี้

จิตส่งออกนอกไม่เป็นต้นเหตุของสมุทัยเสมอไป

การที่จิตส่งออกนอกแล้วเจือไปด้วยกิเลส ล้วนเป็นเหตุแห่งสมุทัยทั้งสิ้น

ส่วนจิตที่ฝึกมาได้ในระดับหนึ่ง จะมองตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จะสนทนากับทุกๆคนด้วยใจที่มีเมตตาต่อกัน ไม่ได้คิดเพ่งโทษใดๆ ไม่ได้มีความชอบใจหรือไม่ชอบใจแต่อย่างใด

แต่เพราะเห็นเหตุที่กำลังจะเกิดขึ้นในแต่ละคน จึงเพียงบอกเล่าเหตุที่ตนเองเคยทำมาก่อน แล้วได้รับผล จึงนำมาเพื่อสะกิดเตือนให้เห็นว่า นั่นคือเหตุนะ

ในเมื่อเราปฏิบัติเพื่อดับเหตุทั้งปวง แล้วจะไปคิดสร้างเหตุที่เป็นต้นเหตุของเหตุใหม่ไปทำไมกัน บางครั้งสติทุกคนใช่ว่าจะทัน กิเลสมันไว เราก็ต้องอาศัยผู้อื่นในการมองช่องโหว่ที่เรานั้นยังคงมีอยู่ ใช่ว่าการกระทำนั้นๆจะถูกเสมอไป

มีแต่ถูกใจเพราะคิดเข้าข้างตัวเองมากกว่าว่า ทำแบบนั้นดี แบบนี้ดี ถูกแน่นอน จริงๆล้วนเป็นเหตุใหม่ที่กำลังทำให้เกิดขึ้น

เมื่อเราเห็นสภาวะตรงนี้ได้ชัด เราย่อมเข้าใจในสภาวะของคนอื่นๆที่เป็นอยู่ จิตย่อมไม่มีความรู้สึกชอบหรือชังเกิดขึ้น ในขณะที่พูดออกไปในสิ่งที่คิดว่าน่าจะช่วยให้แง่คิดกับคนอื่นๆได้ เมื่อพูดไปแล้วย่อมรู้ดีว่า แต่ยินดีที่จะรับผลนั้น

เพราะกิเลสย่อมแตกต่างอย่างแน่นอน  ย่อมเป็นเหตุให้มีความชอบหรือชังเกิดขึ้นในจิตของคนอื่นๆ เมื่อมีความชอบหรือชัง ย่อมมีวิวาทะอย่างแน่นอน  แต่ทีนี้อยู่ที่ตัวเราเองมีความหวังผลไหม เราต้องดูที่จิตตัวเองเป็นหลัก ดูกิเลสที่เกิดขึ้น

เมื่อจิตไม่ได้หวังผล ไม่ได้มีความรู้สึกชอบหรือชังในสิ่งที่มากระทบ  เราจึงแค่ดู แค่รู้ แล้วแบ่งปันในสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์กับคนอื่นๆ

เมื่อมีผลกระทบกลับมา มีความชอบใจ ไม่ชอบใจของคนอื่นเกิดขึ้น มีวิวาทะเกิดขึ้น จิตเราไม่มีกระเพื่อมไปในทางชอบหรือชังแต่อย่างใด  เราจึงชี้แจงแค่ที่ควรชี้แจงแล้วจบ เราย่อมรู้ชัดในจิตของตัวเองดีกว่าคนภายนอก

ส่วนคนภายนอก เขาย่อมรู้จิตเขาดีกว่าคนอื่นๆ แต่การรู้นั้นๆ เป็นเพียงแค่รู้ของแต่ละคน กิเลสเกิดขึ้นมากน้อย ยอมรับตามความเป็นจริงหรือไม่ เห็นหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่เหตุของแต่ละคน

แต่ที่หนีไม่พ้น คือ ผลที่ได้รับตามความเป็นจริงที่ได้กระทำลงไป  ไม่ใช่ได้รับผลตามที่ตัวเองคิดว่าดี,ไม่ดี ใช่,ไม่ใช่ ถูก,ผิด ตามความคิดที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆแต่อย่างใดเลย

ฉะนั้น การส่งจิตออกนอก เป็นได้ทั้งสมุทัย ยามที่กิเลสเกิดขึ้นในผัสสะนั้นๆ

และไม่เป็นทั้งสมุทัย เพราะจิตปราศจากอคติยามผัสสะที่เกิดขึ้น   ให้ดูที่จิตเป็นหลัก

จิตที่ถูกฝึก ย่อมมีสภาวะจิตเห็นจิตได้เนืองๆ

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ