ความเกิด ความดับ เป็นอริยะ

คำว่า ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ได้แก่ รู้ชัดความเกิด ความดับในผัสสะ

  • ที่มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต

  • ที่มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ(สัมมาสมาธิ)
    เห็นความเกิด ความดับในรูปฌาน อรูปฌาน นิโรธ(กายสักขี)

  • ที่มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิในอนิมิตตเจโตสมาธิ(วิปัสสนา)
    เห็นความเกิดและความดับในรูปนาม เช่น กายแตกกายระเบิด ไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกข์ อัตตา) ปรากฏ
    (หลุดพ้นด้วยปัญญา/อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

.

ปฏิปทาวรรคที่ ๒
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี
ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม
ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเราด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามรรค ๔ ประการนี้
มรรค ๔ เป็นไฉน

  • ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า
    เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด
    เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    เมื่อเธอเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
    เมื่อเธอเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า มรรคย่อมเกิด
    เธอย่อมเสพ ย่อมเจริญ ย่อมกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

  • อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
    เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิด
    เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด ฯ

  • อีกประการหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรม
    สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น สงบ ณ ภายใน เป็นจิตเกิดดวงเดียว ตั้งมั่นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ
    เธอย่อมเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    เมื่อเธอเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
    ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด
  • ดูกรอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม
    ย่อมพยากรณ์การบรรลุอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ ประการนี้ โดยประการทั้งปวง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดามรรค ๔ ประการนี้ ฯ

สุริยสูตร

28 กันยายน 61

สุริยสูตร

[๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ณ อัมพปาลีวัน ใกล้พระนครเวสาลี

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม
นี้เป็นกำหนด ควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด
ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ
โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์
หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์
สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์

มีกาลบางคราว ที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี
หลายพันปี หลายแสนปี

เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่ใช้เข้ายา
ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด

สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม
นี้เป็นกำหนด ควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด
ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ

เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ
แม่น้ำลำคลองทั้งหมด ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง … ควรหลุดพ้น ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ

เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ
คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมด
ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น
เป็นสภาพไม่เที่ยง … ควรหลุดพ้น ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ

เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ
ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำคงคา
ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมด
ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น
เป็นสภาพไม่เที่ยง … ควรหลุดพ้น ฯ
.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ

เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ
น้ำในมหาสมุทร ลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์ก็ดี
๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐ โยชน์ก็ดี
๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี

ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี
๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี
๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี

แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน
๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ครึ่งชั่วคน เพียงเอว
เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า เพียงในรอยเท้าโค

ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทร
ยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ

เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา
น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ
ฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ
น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น
เป็นสภาพไม่เที่ยง … ควรหลุดพ้น ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ
เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น
เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว
ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น
เป็นสภาพไม่เที่ยง … ควรหลุดพ้น ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว
โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ
เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง
มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน

เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชน
ลมหอบเอาเปลวไฟฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก

เมื่อขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชนกำลังทะลาย
ถูกกองเพลิงใหญ่เผาท่วมตลอดแล้ว
ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐
โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย

เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่
ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า

เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่
ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น
เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม
ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด
ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ใครจะรู้ ใครจะเชื่อว่า
แผ่นดินนี้และขุนเขาสิเนรุจักถูกไฟไหม้พินาศไม่เหลืออยู่
นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
ศาสดาชื่อสุเนตตะเป็นเจ้าลัทธิ
ปราศจากความกำหนัดในกาม

ก็ศาสดาชื่อสุเนตตะนั้น มีสาวกอยู่หลายร้อย
เธอแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย
เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก

.
และเมื่อสุเนตตศาสดาแสดงธรรม
เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมโลก
สาวกเหล่าใดรู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง
สาวกเหล่านั้น เมื่อตายไป ก็เข้าถึงสุคติพรหมโลก

ส่วนสาวกเหล่าใดยังไม่รู้ทั่วถึงคำสอนได้หมดทุกอย่าง
สาวกเหล่านั้นเมื่อตายไป
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล
บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคฤหบดีมหาศาล ฯ

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล
สุเนตตศาสดามีความคิดเห็นว่า การที่เราจะพึงเป็น
ผู้มีสติเสมอกับสาวกทั้งหลายในสัมปรายภพ ไม่สมควรเลย
ผิฉะนั้นเราควรจะเจริญเมตตาให้ยิ่ง ขึ้นไปอีก

ครั้งนั้นแล สุเนตตศาสดาจึงได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี
แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัล์ป

เมื่อโลกวิบัติ เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ
เมื่อโลกเจริญ เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง
ในวิมานนั้น สุเนตตศาสดาเป็นพรหม
เป็นท้าวมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า
รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก

เกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทวดา ๓๖ ครั้ง
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา
มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้ได้ชัยชนะสงคราม
สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่นมั่นคง
พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ หลายร้อยครั้ง

พระราชโอรสของพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ล้วนแต่องอาจ กล้าหาญ ชาญชัย ย่ำยีศัตรูได้
พระเจ้าจักรพรรดิ นั้นทรงปกครองปฐพีมณฑล
อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา ใช้ธรรมปกครอง

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุเนตตศาสดานั้นแล
มีอายุยืนนาน ดำรงมั่นอยู่อย่างนี้
แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เรากล่าวว่า ไม่พ้นจากทุกข์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะยังไม่ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดธรรม ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน

คือ
อริยศีล ๑
อริยสมาธิ ๑
อริยปัญญา ๑
อริยวิมุติ ๑

.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยศีล
อริยสมาธิ
อริยปัญญา
อริยวิมุติ
เราตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว เราถอนตัณหา ในภพได้แล้ว
ตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ

.
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา
ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุติอย่างยิ่ง
พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ยิ่งด้วยประการดังนี้แล้ว
ตรัสบอกธรรม ๔ ประการแก่ภิกษุทั้งหลาย
ทรงกระทำที่สุดทุกข์แล้ว ปรินิพพาน ฯ

จบสูตรที่ ๒

.

หมายเหตุ;

บทว่า อญฺญตร ทิฏฺฐปเทหิ ความว่า เว้นพระอริยสาวก
ผู้โสดาบัน ผู้มีบท (คือพระนิพพาน) อันตนเห็นแล้ว
อธิบายว่า ใครเล่าจักเชื่อคนอื่นได้
โดย อรรถกถาจารย์

.

.
กำลังจะโยงเข้าสู่ แม่น้ำหลายสาย ล้วนไหลลงที่เดียวกัน
เปรียบเสมือนการปฏิบัติทุกรูปแบบ

หากดำเนินอยู่ในมรรค ล้วนลงรอยเดียวกัน
ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความมีเกิดขึ้นใน
อริยศิล
อริยสมาธิ
อริยปัญญา
อริยวิมุติ

กล่าวคือ
เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณอันจะเป็นไปในภพนั้นๆ
พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงสภาพหาความหวั่นไหวมิได้
นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ภิกษุผู้ไม่มีความยึดมั่น ย่อมปรินิพพานได้ ฯ

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ