สัพพโลเกอนภิรตสัญญา และความหมาย

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
และความหมายของสัพพโลเกอนภิรตสัญญา
เมื่อนำมากล่าวในแง่ของการดับเหตุแห่งทุกข์

สัญญาสูตรที่ ๒
ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบาย และอุปาทานในโลก
อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น
ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก อานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจ อันอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่
เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ
ย่อมหดงอเข้าหากัน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันไม่อบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมไหลไปในความวิจิตรแห่งโลก หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันเราไม่เจริญแล้ว
คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราก็ไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าหากว่าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยสัพพโลเกอนภิรตสัญญาอยู่โดยมาก
จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากความวิจิตรแห่งโลก ไม่ยื่นไปรับความวิจิตรแห่งโลก
อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้
ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันเราเจริญแล้ว
คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว

เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ทั่วถึงในสัพพโลเกอนภิรตสัญญานั้น
ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัพพโลเกอนภิรตสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

อธิบาย

“ละอุบาย และอุปาทานในโลก”

คำว่า ละอุบาย
ได้แก่ ไม่เคยสดับธรรมจากพระอริยะ สัตบุรุษ สัปบุรุษ ปุริสบุคคลมาก่อน

“อุปาทานในโลก”
คำว่า อุปาทาน
ได้แก่ ฉันทราคะในอุปทานขันธ์ ๕

คำว่า โลก
ได้แก่ โลกสันนิวาส
ผัสสายตนะ ๖

คำว่า ความวิจิตรแห่งโลก
ได้แก่ กามคุณ ๕

.

.
ผัสสะ
โลกสันนิวาส
ผัสสายตนะ ๖ ประการ

เพราะฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
กามคุณ ๕
เมื่อแจ้งอริยสัจ ๔
โลกธรรม ๘

เมื่อละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ได้หมด
ดับตัณหา ๓
ผัสสะ
โลกสันนิวาส เรียกย่อ โลกามิส เป็นสภาวะเดียวกัน
คือเป็นสภาวะผัสสายตนะ ๖ ประการ ที่มีเกิดขึ้นตามจริง
โลกธรรม ๘
กามคุณ ๕


ความหมายของสัพพโลเกอนภิรตสัญญา
เมื่อนำมากล่าวในแง่ของการดับเหตุแห่งทุกข์

สังคัยหสูตรที่ ๑

[๑๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้

ผัสสายตนะ ๖ ประการเป็นไฉน
คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลไม่ฝึกฝน
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลไม่ฝึกฝน
ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมระวังแล้ว ย่อมนำทุกข์หนักมาให้ ฯ

[๑๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ ที่บุคคลฝึกฝนดี
คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้

ผัสสายตนะ ๖ เป็นไฉน
คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่บุคคลฝึกฝนดี
คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้แล ที่บุคคลฝึกฝนดี
คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมระวังดีแล้ว ย่อมนำสุขมากมาให้

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ

[๑๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่สำรวมผัสสายตนะ ๖ นั่นแหละ
เว้นการสำรวมในอายตนะใด ย่อมเข้าถึงทุกข์
บุคคลเหล่าใด ได้สำรวมระวังอายตนะเหล่านั้น
บุคคลเหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง ย่อมเป็นผู้อันราคะไม่ชุ่มอยู่

บุคคลเห็นรูปที่ชอบใจและเห็นรูปที่ไม่ชอบใจแล้ว
พึงบรรเทาราคะในรูปที่ชอบใจ และไม่พึงเสียใจว่า รูปไม่น่ารักของเรา

ได้ยินเสียงที่น่ารักและเสียงที่ไม่น่ารัก พึงสงบใจในเสียงที่น่ารัก
และพึงบรรเทาโทสะในเสียงที่ไม่น่ารัก และไม่พึงเสียใจว่า เสียงไม่น่ารักของเรา

ได้ดมกลิ่นที่ชอบใจอันน่ายินดี และได้ดมกลิ่นที่ไม่สะอาด ไม่น่ารักใคร่
พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าใคร่ และไม่พึงพอใจในกลิ่นที่น่าใคร่

ได้ลิ้มรสที่อร่อยเล็กน้อย และลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราว
ไม่พึงลิ้มรสที่อร่อยด้วยความติดใจ และไม่ควรยินร้ายในเมื่อลิ้มรสที่ไม่อร่อย

ถูกสัมผัสที่เป็นสุขกระทบเข้าแล้ว และถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบเข้าแล้ว
ไม่พึงหวั่นไหวในระหว่างๆ ควรวางเฉยผัสสะทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ทั้งสอง ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้าย

เพราะผัสสะอะไรๆ นรชนทั้งหลายที่ทรามปัญญา  มีความสำคัญในกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เป็นสัตว์ที่มีสัญญา ย่อมวกเวียนอยู่

ก็บุคคลบรรเทาใจ ที่ประกอบด้วยปัญจกามคุณทั้งปวงแล้ว
ย่อมรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ

ใจที่บุคคลเจริญดีแล้วในอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ในกาลใด ในกาลนั้น
จิตของบุคคลนั้น อันสุขสัมผัสกระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในที่ไหนๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายปราบราคะและโทสะเสียแล้ว
ย่อมเป็นผู้ถึงนิพพานซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้นแห่งชาติและมรณะ ฯ

.
หมายเหตุ;

“บุคคลเหล่านั้น มีศรัทธาเป็นเพื่อนสอง”

 กล่าวคือ มีความศรัทธาในพระธรรมคำสอนและปฏิบัติตาม
โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ย่อมได้ความวางเฉยว่า
ถ้ากรรมในอดีตไม่ได้มีแล้วไซร้
อัตตภาพในปัจจุบันก็ไม่พึงมีแก่เรา
ถ้ากรรมในปัจจุบันย่อมไม่มีไซร้
อัตตภาพในอนาคตก็จักไม่มีแก่เรา
เบญจขันธ์ที่กำลังเป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้วเราย่อมละได้
เธอย่อมไม่กำหนัดในเบญจขันธ์อันเป็นอดีต
ไม่ข้องอยู่ในเบญจขันธ์อันเป็นอนาคต

.

[๒๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย
สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละจักษุนั้นเสีย
จักษุนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
หู …จมูก … ลิ้น … กาย … ใจ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละใจนั้นเสีย
ใจนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป
หรือพึงเผา หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ

เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำพวกเราไป
หรือเผา หรือทำพวกเราตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้บ้างหรือหนอ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร

ภิ. เพราะเหตุว่า หญ้าเป็นต้นนั้นมิได้เป็นตน
หรือเป็นของเนื่องด้วยตนของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
จักษุไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละจักษุนั้นเสีย
จักษุนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
หู … จมูก … ลิ้น … กาย … ใจ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละใจนั้นเสีย
ใจนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฯ

[๒๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย
สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียง… กลิ่น… รส… โผฏฐัพพะ…
ธรรมารมณ์ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย
ธรรมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป
หรือพึงเผา หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ
เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนำพวกเราไป
หรือเผา หรือทำตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้ บ้างหรือหนอ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า หาเป็นดั่งนั้นไม่ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

ภิ. เพราะเหตุว่า หญ้าเป็นต้นนั้นมิได้เป็นตน
หรือเป็นของเนื่องด้วยตนของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย
รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียง… กลิ่น… รส… โผฏฐัพพะ…
ธรรมารมณ์ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย
ธรรมารมณ์นั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ฯ

อาหาเรปฏิกูล และความหมาย

อาหาเรปฏิกูล และความหมายของอาหาเรปฏิกูล
เมื่อนำมากล่าวในแง่ของการดับเหตุแห่งทุกข์

.

ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหดงอเข้าหากันไม่คลี่ออก ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในตัณหาในรส หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้

ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราไม่ได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้

ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น

ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายอาหาเรปฏิกูลสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

.

.

ความหมายของอาหาเรปฏิกูล
เมื่อนำมากล่าวในแง่ของการดับเหตุแห่งทุกข์

๑. อาหารสูตร

[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ เหล่านี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ เป็นไฉน คือ

[๑] กวฬิงการาหารหยาบ หรือละเอียด
[๒] ผัสสาหาร
[๓] มโนสัญเจตนาหาร
[๔]วิญญาณาหาร

อาหาร ๔ เหล่านี้แล ย่อมเป็นไป
เพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด ฯ
[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ
มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด

อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น
มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด

ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นที่ตั้งขึ้น
มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด

ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นที่ตั้งขึ้น
มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด

ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นที่ตั้งขึ้น
มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นที่ตั้งขึ้น
มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด

ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นที่ตั้งขึ้น
มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด

ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นที่ตั้งขึ้น
มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

ก็สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ … ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๓๐] ก็เพราะอวิชชานั้นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ …
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

สัญญาและญาณ

เป็นสิ่งที่ควรรรู้ เกี่ยวกับสภาวะ ที่เป็นผลของการเจริญสมถะและวิปัสสนา กล่าวคือ ผลของการทำความเพียรต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมถะ/สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา ความรู้ตรงนี้ ทุกคนจะรู้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเกิดในยุคใดสมัยใดก็ตาม

ความแตกต่างระหว่างธรรมฐิติญาณและญาณในพระนิพพาน
ทำไมธรรมฐิติญาณ จึงมีเกิดขึ้นก่อน ญาณในพระนิพพาน

.

ก่อนที่จะเกิดความรู้ชัดตรงนี้
สภาวะสัญญามีเกิดขึ้นก่อน ญาณเกิดที่หลัง
กล่าวคือ แจ้งในพระนิพพาน โดยสัญญา แจ้งออกมาจากจิตเอง
โดยไม่เคยอ่าน หรือเคยฟัง หรือเคยได้ศึกษามาก่อน

จะสมัยใด จะกี่กัปป์ กี่กัลป์ ต่อให้โลกแตกสลายลงไป
สิ่งเหล่านี้ยังคงมีอยู่ เพียงแต่จะมีใครไปรู้เห็นเท่านั้นเอง

ธรรมฐิติญาณ
เป็นเรื่องของการทำลายสังโยชน์ที่เป็นเครื่องร้อยรัดอยู่(ละอุปาทานขันธ์ 5)

ญาณในพระนิพพาน
เป็นเรื่องของ การดับเหตุปัจจัยของการเกิดภพชาติปัจจุบันและภพชาติในสารวัฏ
.

ฉะนั้น ลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้นของ “ความดับ”
จึงมีลักษณะโดยเฉพาะของตัวสภาวะเอง

ด้วยเหตุปัจจัยนี้ การเจริญสมถะและวิปัสสนา ทำไมต้องทำให้เต็มที่ ทำไมต้องอดทน ทำไมต้องปฏิบัติแบบเอาชีวิตเข้าแลก และทำไมต้องกำหนดรู้ เป็นการฝึกเตรียมตัวพร้อมรับมือกับเวทนาต่างๆ ก่อนที่จะตายจริง ส่วนผลที่ได้รับเป็นแบบไหนนั้น นั่นอีกเรื่องหนึ่ง คนละส่วน คนละสภาวะกัน

สภาวะความดับที่มีเกิดขึ้นในแต่ละสภาวะ ก็ต้องเรียนรู้
ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มี ๓ ชนิดด้วยกัน

๑. ดับแบบยังมีเชื้อ คือ ยังต้องเกิด ได้แก่ กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา(ความดับที่มีเกิดขึ้นในรูปฌาน) นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร

๒. กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร นี้เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร
กล่าวคือ ความดับที่มีเกิดขึ้นในอรูปฌาน ดับทีละส่วน กายสังขารดับ วจีสังขารดับ เหลือแต่จิตที่รู้อยู่ แล้วดับ

๓. ดับแบบหมดเชื้อ คือ หมดเหตุปัจจัยของการเกิด
กล่าวคือ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้ชัดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีเกิดขึ้น
แล้วสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง แล้วดับ

สำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนา
ย่อมไม่สามารถรู้ชัดในความดับที่มีเกิดขึ้น
มีแต่เป็นไปตามกรรมที่กระทำมา ขณะทำกาละ จิตระลึกถึงสิ่งใด ไปเกิดตามนั้นทันที(๓๑ ภพภูมิ)

ด้วยเหตุปัจจัยนี้ เวลาใกล้ตาย ญาติจึงมักนิมนต์พระมาเทศน์
หรือหาสิ่งที่เป็นมงคลมาเปิดให้ฟัง เพราะเชื่อว่า เมื่อได้ฟัง หากจิตจดจ่ออยู่กับเสียง ย่อมไปสู่สุคติอย่างแน่นอน

.

แรงใดหรือจะสู้แรงกรรม
หากกรรมชั่วที่เคยกระทำไว้ มีกำลังมากกว่า
แม้จะได้ฟังสิ่งที่เป็นมงคล แต่จิตกลับเกิดสิ่งที่ไม่เป็นมงคล
เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่ สังขารจะปรุงแต่งจากสิ่งที่เป็นมงคล ให้กลายเป็นอัปมงคล

สัญญา ปัญญา วิญญาณ

๑๖ กค.

วลัยพรคงสร้างเหตุมาเยอะ เจอเจอะไรสารพัด ยังดีที่ยังมีของเก่าสะสมติดตัวมาในชาตินี้

การที่จะรู้ชัดสภาพธรรมต่างๆ ที่มีปรากฏอยู่ในพระธรรมคำสอน

ในการดำเนินชีวิต สิ่งที่พบผ่านมา ประมาณว่า เจอแต่ความทุกข์ ทุกข์จนไม่มีที่จะอยู่ ทุกข์ขนาดแบบคนโบราณพูดไว้ว่า เข็ดจนขี้เยี่ยวแตก เพราะความทุกข์ตัวเดียวแท้ๆ จึงทำให้เข็ดขยาด

การทำความเพียรในช่วงต้นๆ จึงเป็นยอมตาย ยอมมอบกายถวายชีวิต ตายเป็นตาย นี่แหละ เพราะความทุกข์ บีบคั้นตัวเดียวแท้ๆ จึงก่อให้เกิดการทำความเพียร ทำทั้งๆที่ น้ำตานองหน้า มันทุกข์ขนาดนั้นเลย

เพราะความเข็ดขยาด จึงไม่หลงไปกับความมี ความเป็น ความได้อะไรๆในสมมุติ มันไม่เอาเลย

ที่ไม่เอา เพราะไม่อยากทุกข์ ที่คิดว่ามี คิดว่าเป็น ไม่ได้ช่วยทำให้พ้นทุกข์

เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคามี ล้วนยังมีเหตุให้ต้องเกิด แล้วจะเป็นไปทำไม

เพราะเหตุนี้ ความหลงในความมี ความเป็นอะไรๆในสมุตติ จึงไม่มีกำลังมากพอ ที่จะครอบงำได้ คลาดแคล้วจากอุปกิเลสต่างๆมาได้ เพราะใจที่ละจากความมี ความเป็นนี่แหละ

อุปกิเลสต่อมา เจออีก สภาพธรรมที่มีเกิดขึ้นขณะจิตเป็นสมาธิ เกี่ยวกับความดับต่างๆ ที่ไม่ติดอุปกิเลสตรงนี้ เพราะใจไม่น้อมเข้าสู่ ความมี ความเป็นอะไรๆ แค่รู้ว่า มีเกิดขึ้นได้ เพราะกำลังของสมาธิ ที่รู้ชัด เพราะกำลังของสติ สัมปชัญญะ จึงไม่ถูกความหลงครอบงำเพราะเหตุนี้

อุปกิเลสต่อมา เจอสภาพธรรมบางอย่าง ที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิ เจอลักษณะอาการที่เหมือนกำลังจะหมดลมหายใจ กำลังจะขาดใจตายประมาณนั้น ชั่วขณะนั้น ใจมันระลึกว่า ตายก็ตายไปเลย จะได้ไม่ต้องเจอทุกข์อีก

พอคิดแบบนั้น มันเหมือนมีอะไรบางอย่าง เป็นแรงดูดมหาศาล ผ่านช่องทางบางอย่าง พอผลุบออกมา ความรู้สึกแรกคือ เหมือนเด็กแรกเกิด ที่คลอดจากแม่ ความรู้สึกเป็นแบบนั้นเลย

หลังจากนั้นมา มีคิดพิจรณาเนืองๆ ความตาย อยู่แค่ปลายจูกนี่เอง หากไม่มีความถือมั่นสิ่งใดอยู่ มันก็ไปอย่างสบาย ไม่อึดอัด ไม่ทรมาณ พอรู้ชัดแบบนี้แล้ว ไม่กลัวตาย

ที่ไม่ติดอุปกิเลสตรงนี้ เพราะใจไม่น้อมเข้าสู่ความมี ความเป็น

ต่อมาภายหลัง จึงรู้ว่า ที่ไม่หลงสภาพธรรมต่างๆที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิ เนื่องจาก ใจที่ไม่น้อมเข้าสู่ ความมี ความเป็น ตามคำเรียกต่างๆ

ต่อมา มักมีคำเรียกต่างๆ ที่เป็นพระธรรมคำสอน มีปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ แรกๆหลงเหมือนกัน ตอนที่เจอพระธรรมคำสอน เกี่ยวกับคำเรียกนั้นๆ ยึดมั่นเลยนะ คิดว่าจะต้องเป็นแบบที่อ่านเจอ

ที่ไหนได้ มันมีเหตุให้เจอพระธรรมคำสอนต่อไปอีก ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำเรียกนั้นๆ

ทีนี้รู้ละว่า ไม่ใช่อย่างที่คิดละ ก็เริ่มเซฟเก็บไว้เรื่อยๆ จนกระทั่ง นำพระธรรมคำสอนทั้งหมดมารวมกัน ก็จะได้ ความหมาย และลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น ตามความเป็นจริงของ คำเรียกนั้นๆ

หลังจากศึกษาพระธรรมคำสอนมาได้สักพัก เริ่มแยกแยะความแตกต่างระหว่าง สัญญา กับปัญญา

สัญญา รู้แล้ว ยังหยุดสร้างเหตุนอกตัวไม่ได้

ปัญญา รู้แล้วเหมือนมีดิสเบรค พยายามที่จะหยุด มากกว่าคิดสร้างเหตุนอกตัว

วิญญาณ มารู้ที่หลังสุด

ไอ้ตัวร้าย

๑๙ กค.๕๗

ตัวที่คิดว่า รู้ นี่มันร้ายนักนะ เล่นกันแบบเนียนๆ ถึงแม้ไม่เอามัน แต่พอได้ช่อง มันเล่นงานเราทันที

การสนทนาตามเว็บบอร์ด อยากเลิกมาตั้งนานละ เพราะเห็นว่า ตัวเองจะเป็นเหตุปัจจัย ให้กับผู้อื่นเปล่าๆ ในเรื่องการสร้างเหตุ

เพราะว่า ผู้ที่สำคัญหมายมั่นว่า ตนรู้อะไร ได้อะไร เป็นอะไร ในคำเรียกนั้นๆ พวกนี้โมหะแรง มีแต่การสร้างเหตุแห่งวิวาทะ มากกว่าการสนทนาเพื่อหาทาง ดับเหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู

เมื่อวลัยพรเข้าไปสนทนาด้วย เจ้าตัวข้างใน ที่เรียกมันว่า ไอ้ตัวแสบ นี่แสบจริงๆ เห็นพวกนั้นเป็นไม่ได้ จ้องจะแง่งกับเขา(เหมือนหมาจ้องจะกัดกัน) มีช่องเมื่อไหร่ เล่นทันที

หลังจากที่เล่นมานาน เกิดความเบื่อหน่าย ในสิ่งที่กระทำอยู่ ถึงแม้ไอ้ตัวแสบ อยากจะแง่ง แต่ตัวอื่นๆ เบื่อหน่ายมากกว่า ไม่อยากร่วมลงเล่นด้วย เจ้าตัวนี้ก็ได้แต่แง่งๆๆๆ อยู่ตัวเดียว แค่รู้ว่า มันมีอยู่

ตอนนี้ เริ่มมองเห็น การหาสาระอะไรอะไรไม่ได้ กับสัญญาต่างๆ ที่เป็นใบไม้นอกกำมือ นับวันยิ่งเฝือ เพราะหาแก่นสารสาระอันใดไม่ได้ มองเห็นแต่เหตุปัจจัย ที่ตนเอง เป็นเหตุให้ผู้อื่น สร้างเหตุแห่งทุกข์ ด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ของผู้นั้น

เริ่มเบื่อหน่ายสัญญา ที่เป็นปัจจัย ให้เกิดการสร้างเหตุนอกตัว มากกว่า การกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู่

เล่นนอกตัว มีปัญหา

เล่นในตัว เพียงคนเดียว ก็ไม่พ้นปัญหาจากนอกตัว ที่เกิดจาก เหตุปัจจัยที่มีต่อกัน

ช่วยไม่ได้ ยังชอบขีดเขียน ถึงจะเป็นสัญญา ถึงแม้จะไม่ใช่นำไปกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์

เป็นเพียงสัญญา ที่มีเกิดขึ้นในคำเรียกต่างๆ นำไปใช้ตามอุทานที่ยังมีอยู่

เมื่อเห็นแต่เหตุที่ตนเอง เป็นเหตุปัจจัยให้ผู้อื่น สร้างเหตุแห่งทุกข์(ตามเว็บบอร์ด) ปัจจัยจาก ความไม่รู้ชัดในผัสสะ ของผู้นั้น วลัยพรจะพยายามระงับมือไม้ตัวเอง ไม่เข้าไปตามเว็บบอร์ด

แต่ยังอดที่จะขีดเขียนสัญญาต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นยังไม่ได้ ยังคงขีดเขียน เรื่องราวผัสสะต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นกับตัวเอง

เพราะการขีดเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ(ผัสสะ) เป็นปัจจัยให้ ได้รู้ชัดในเหตุปัจจัยที่วลัยพร ยังคงมีอยู่ และเป็นอยู่

กิเลส นับวัน ยิ่งละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ แฝงตัวทุกขณะ

เมื่อผัสสะเกิด จะพยายามเตือนตัวเองว่า อย่าไปยุ่ง เหตุของใคร ของคนนั้น อย่า และก็อย่า ดูสิว่า ระหว่างกิเลสที่เกิดขึ้น กับ สติ ตัวไหนจะมีแรงมากกว่ากัน

 

 

 

สัญญาเว้ยเฮ้ย

ไม่อยากรู้อะไรแล้ว เกิดขึ้นอยู่ได้ เบื่อจะตายชัก

แค่สิ่งที่ควรรู้ ก็พอแล้ว (ที่สามารถนำไปกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ได้)

เกินจากนั้น(คำเรียกต่างๆ) ก็แค่นั้นเอง เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และที่กำลังทำให้เกิดขึ้นใหม่ ด้วยความไม่รู้ของตัวเขา ทำกันขึ้นมาเอง

เบื่อ ไม่อยากเจอทุกข์

ชอบอยู่กับความสงบ รู้แต่สิ่งที่ตนเอง ยังมีเหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดการสร้างเหตุ จะได้ยับยั้งได้ทัน

สัญญาต่างๆ ที่เกินจากวิธีการกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์
เบื่อ ไม่อยากรับรู้

เวลาไม่อยากรู้ เกิดขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ เกิดจนเบื่อ
ทีเวลาที่อยากรู้ เงียบสนิท ไม่มีสักแอะ

ทั้งๆที่รู้ว่า สัญญา ก็ไม่เที่ยง
แต่ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้

สัญญา

๕ กค.๕๗

การรับรู้ เกิดการศึกษา เกิดการค้นหา จากสิ่งหนึ่ง ไปสู่สิ่งหนึ่ง

สัญญาจึงไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย

หากยึดมั่นถือมั่นในสัญญา(ความจำได้หมายรู้ ในผัสสะ)

เป็นปัจจัยให้ ตัณหาบดบังผัสสะ

เป็นปัจจัยให้ ไม่รู้ชัด สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ของผัสสะ

สัญญา

สภาวะสัญญา คือ การเรียนรู้ปริยัติ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
เป็นการเรียนรู้ทางจิต

ถ้ามีความอยาก หรือมีกิเลสแทรก จะไม่เห็นตามความเป็นจริง

ถ้าจิตสงบจากภายนอก รู้ชัดอยู่ภายในกายและจิตเนืองๆ
มีสิ่งใดเกิดขึ้น สักแต่ว่ารู้ รู้ไปแบบปกติ สภาวะสัญญาจะเกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจัย

หลายวันมาแล้ว เคยเขียนไว้เกี่ยวกับความฝัน คำเรียกของนิพพานต่างๆ
เป็นคำสมมุติ ใช้ในการสื่อสารเรื่องสภาวะนิพพานที่เกิดขึ้น

รู้แค่ว่าฝัน ไม่ได้ใส่ใจอะไร
เพียงบอกกับเจ้านายว่า เดี๋ยวได้มีอะไรให้รู้แน่

การที่จะรู้ชัดในสภาวะสัญญาต่างๆ(คำเรียก) ที่เกิดขึ้น
ต้องเคยมีประสพการณ์เกี่ยวกับสภาวะเหล่านั้นมาก่อน

สิ่งที่วลัยพรได้รู้ ได้เห็น เกิดจากการเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก
ทุกคนถูกให้เรียนรู้สภาวะ โดยเรียนรู้จาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งหมด

เหตุของความไม่รู้ที่มีอยู่ จึงไม่รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต คือ การเรียนรู้
เพราะไม่รู้ จึงหลงสร้างเหตุทาง มโนกรรม วจีกรรม กายกรรม
การดำเนินชีวิต จึงเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อรู้แล้ว จึงหยุด เริ่มต้นจากพยายาม ที่จะหยุด
จนกระทั่ง หยุดแบบปกติ โดยไม่ต้องคิดพยายามที่จะหยุด

รู้ที่ใจ จบลงที่ใจ

ตั้งแต่เกิดสภาวะความรู้สึกตัวเกิดขึ้นเนืองๆ จิตมีคิดพิจรณาตลอด
บางสิ่ง เคยอ่านผ่านตา แต่นึกไม่ออกว่า เคยอ่านเจอที่ไหน
บางสิ่ง เคยเขียนไว้แล้ว แต่นึกไม่ออกว่า เคยเขียนไว้ตรงไหน

ไม่มีความพยายามที่จะคิดต่อ คิดแค่รู้ว่าคิด
รู้ดีว่า ถึงเวลาเหตุปัจจัยพร้อม เดี๋ยวรู้เอง

เส้นผมบังภูเขา ติดอยู่แค่ปลายจมูก
พอรู้ปั๊บ ถึงบางอ้อทันที

อ่อ … คำเรียกนี้ คือ ตรงนี้
นิพพาน ที่เกิดจากไตรลักษณ์ มาจากไหน
มาจากตรงนี้นี่เอง สภาวะที่เกิดขึ้น มีลักษณะแบบนี้ๆ

เหตุของความไม่รู้ที่มีอยู่
จึงมีการนำไปสร้างเหตุของการเกิดกันต่อไป แทนที่จะแค่รู้
กลับนำไปเผยแผ่ ตั้งตนเป็นอาจารย์ ผลคือ ติดแหงกกันอยู่แค่นั้น

มีเหตุ ย่อมมีผล
เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เป็นเรื่องธรรมดา

รู้แจ้งสภาวะสัญญาและนิพพาน

เมื่อรู้แจ้งสภาวะสัญญา

ภิกษุนั้น ย่อม รู้ชัดว่า “สัญญาคตะว่าอย่างนี้ ๆ ก็มีอยู่, สัญญาคตะว่าเลว ก็มีอยู่,
สัญญาคตะว่าประณีต ก็มีอยู่, และอุบายอันยิ่งเป็นเครื่องออกจากสัญญาคตะนี้ ก็มีอยู่” ดังนี้.

เมื่อเธอนั้นรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ
แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ.

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”.
เธอย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ อาบแล้วด้วยเครื่องอาบอันเป็นภายใน, ดังนี้แล.
– มู. ม. ๑๒/๖๙/๙๗.

เมื่อรู้แจ้งสภาวะนิพพาน

ในกาลไหน ๆ ท่านเหล่าใด เห็นภัยในความยึดถือ อันเป็นตัวเหตุให้เกิดและให้ตายแล้ว

เลิกยึดมั่นถือมั่นหลุดพ้นไปได้ เพราะอาศัยนิพพานอันเป็นธรรมที่สิ้นไป แห่งความเกิดความตาย ;

เหล่าท่านผู้เช่นนั้น ย่อมประสพความสุข ลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษม
เป็นผู้ดับเย็นได้ ในปัจจุบันนี้เอง ล่วงเวรล่วงภัยทุกอย่างเสียได้
และก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งความเป็นทุกข์ทั้งปวง.
– อุปริ. ม. ๑๔/๓๔๖/๕๒๕.

สภาวะสัญญา

ขณะที่จิตเป็นสมาธิ ตั้งแต่กายหยาบหายไป ปรากฏแต่ความว่าง หรือ รู้ที่กายเป็นขณะ สภาวะที่เกิดขึ้น ขณะนั้นๆ ไม่มีคำเรียกใดๆเกิดขึ้น จะมีแค่รู้อย่างเดียว

สมาธิคลายก็รู้ เกิดก็รู้ ดับสนิทก็รู้ คือ รู้ในแต่ละขณะๆๆๆๆ ส่วนคำเรียกต่างๆนั้น นำมาใส่เอง หลังจากผ่านสภาวะนั้นๆมา แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตำราต่างๆ ที่มีเขียนไว้

ตัวอย่าง พระอานนท์ สนทนากับพระสารีบุตร

” อา. ดูกรท่านสารีบุตร ตนไม่พึงมีความสำคัญในปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุ
เป็นอารมณ์ ฯลฯ ไม่พึงมีความสำคัญในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์
ก็แต่ว่าพึงเป็นผู้มีสัญญา ก็การได้สมาธิเห็นปานนั้น พึงมีแก่ภิกษุได้อย่างไร ฯ

สา. ดูกรท่านอานนท์ สมัยหนึ่ง ผมอยู่ ณ ป่าอันธวัน ใกล้พระนคร
สาวัตถีนี้แหละ ณ ที่นั้น ผมเข้าสมาธิ โดยประการที่ผมมิได้มีความสำคัญใน
ปฐวีธาตุว่าเป็นปฐวีธาตุเป็นอารมณ์เลย มิได้มีความสำคัญในอาโปธาตุว่าเป็น
อาโปธาตุเป็นอารมณ์ มิได้มีความสำคัญในเตโชธาตุว่าเป็นเตโชธาตุเป็นอารมณ์
มิได้มีความสำคัญในวาโยธาตุว่าเป็นวาโยธาตุเป็นอารมณ์ มิได้มีความสำคัญใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์ มิได้มีความ
สำคัญในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌานเป็นอารมณ์ มิได้มี
ความสำคัญในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ มิได้
มีความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เป็นอารมณ์ มิได้มีความสำคัญในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้เป็นอารมณ์ มิได้มีความ
สำคัญในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้าเป็นอารมณ์ ก็แต่ว่าผมเป็นผู้มีสัญญา ฯ”

หมายเหตุ:

สิ่งที่พระสารีบุตร กล่าวว่า เป็นผู้มีสัญญา หมายถึง สิ่งทีเกิดขึ้น ขณะที่จิตเป็นสมาธิอยู่ ซึ่งมีผู้นิยมเรียกว่า ปัญญา

และสมาธิที่เกิดขึ้น ในแต่ละขณะนั้นๆ แค่รู้ว่ามีรายละเอียดต่างๆของสภาวะเกิดขึ้น ไม่มีคำเรียกปรากฏ

” อา. ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้มีสัญญาอย่างไร ฯ
สา. ดูกรท่านผู้มีอายุ สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ผมว่า การดับภพ
เป็นนิพพาน การดับภพเป็นนิพพาน ดังนี้แล สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไป
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อไฟมีเชื้อกำลังไหม้อยู่เปลวอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เปลว
อย่างหนึ่งย่อมดับไป แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุ สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น
แก่ผมว่า การดับภพเป็นนิพพาน การดับภพเป็นนิพพาน ดังนี้ สัญญาอย่างหนึ่ง
ย่อมดับไป ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็แลในสมัยนั้น ผมได้มี
สัญญาว่า การดับภพเป็นนิพพาน ดังนี้ ฯ”

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=24&A=186&Z=277

สัญญา กับ ปัญญา

การทำความเพียร

ในเรื่องของการปฏิบัติ การทำความเพียรในอิริยาบทต่างๆ ทำตามรูปแบบต่างๆ ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคน

ผลที่เกิดขึ้นเหมือนๆกันคือ สภาวะสัญญา จะมีความรู้ต่างๆผุดขึ้นมามาก น้อยในแต่ละครั้ง สภาวะเหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงสัญญา ยังไม่ใช่ปัญญา

การรู้ จะค่อยๆรู้ไปทีละท่อน ทีละคำ เหมือนการผสมคำให้เกิดเป็นประโยคขึ้นมา

ไม่ว่าคำเรียกเหล่านั้น จะเรียกว่าอะไรก็ตาม หมายถึงสิ่งใดก็ตาม
รู้แล้ว ยังมีการสร้างเหตุนอกตัว ยามที่ผัสสะเกิด

รู้แล้ว ยังมีการสร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้น รู้นั้นๆ เป็นสัญญา

ไม่ว่าคำเรียกเหล่านั้น จะเรียกว่าอะไรก็ตาม หมายถึงสิ่งใดก็ตาม
รู้แล้ว เป็นเหตุให้หยุดการกระทำต่อ ผัสสะ ที่กำลังเกิดขึ้น

ไม่สร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกยินดี-ยินร้าย ที่เกิดขึ้น นั่นแหละคือ ปัญญาที่แท้จริง

รู้ตรงนี้

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ