ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

2 กย. 64

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี
มีแต่เรื่องของเหตุปัจจัย
ทำไมเราต้องพิการทางสมอง
เกิดจากในอดีต ความไม่รู้ทำให้ใช้ชีวิตทางโลก เพลิดเพลินทางอายตนะ


ไม่รู้ว่า หากเราตั้งใจทำความเพียรต่อเนื่อง
จะมีสภาวะอีกหลายสภาวะที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน จะปรากฏ
ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วไม่ต้องพิการทางสมองที่เป็นปัจจุบันนี้
กรรมและผลของกรรม ละเอียดยิ่งนัก
ไม่สามารถรู้ได้ว่ากรรมตัวไหน ส่งให้ผลเกิดก่อน

ถ้าย้อนกลับเวลาไปได้ จะไม่ใช้ชีวิตเหมือนสมัยก่อนโน้น
เพราะมันย้อนไปไม่ได้ จึงนำเรื่องประสพการณ์การปฏิบัติมาเขียนเรื่อยๆ

เมื่อผู้ใดที่เคยสร้างกรรมไว้กับเรามาก่อนในอดีต
มาในชาตินี้ จะทำให้เขาเหล่านั้น ดำเนินชีวิตตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
เราเป็นเพียงผู้นำพระธรรมต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้ประสพด้วยตัวเองจากการทำกรรมฐาน
และสิ่งที่รู้เห็น ผลของการแจ้งอริยสัจ ๔

ต่อให้เป็นสมอง ความจำเสื่อม ธรรมะอัศจรรย์ยิ่งนัก
ความจำเสื่อม เสื่อมสมมุติ คำเรียกต่างๆ จำไม่ได้
จำได้ว่า พอความจำเริ่มกลับมา อริยสัจ ๔ เป็นสิ่งแรกที่ผุดขึ้นมา


นับว่าเคยสร้างกรรมไว้ดี มีมาก จึงทำให้เจอสัตบุรุษ เชื่อและปฏิบัติตาม
เมื่อเชื่อกรรมและผลของกรรม ตามที่เทศนาท่านพูดเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่ท่านประสพเจอกับตัวเอง แล้วนำมาสอนทุกคน
เมื่อทำตาม ทำให้ต้องเจอทุกขเวทนาทางใจมากมาย แต่อดทน อดกลั้น ตามคำสอน
น้ำตานองหน้าบ่อยๆ ไหว้พระก็น้ำตาร่วง เดินจงกรม น้ำตาร่วง
ชีวิตทำไมต้องเป็นแบบนี้ แมร่งทุกข์สุดๆ ทุกข์ก็อดทน เพราะเชื่อว่า แล้วทุกสิ่งจะผ่านไปได้

จำได้ว่า สมัยนั้นมีความสงสัยว่า ทำไมเราต้องอดทนให้คนอื่นว่า ถูกด่าทอ
ถูกใส่ร้าย โดนสารพัด แต่อดทน เพราะเชื่อคำสอนจากสัตบุรุษ ที่เทศนาเนืองว่า แล้วจะผ่านไปได้ ให้อดทน อย่าตามใจ
ตอนนั้นไม่เข้าใจ แต่เชื่อ ตั้งใจทำกรรมฐาน ดึกๆดื่น ยังเดินจงกรม สลับการนั่ง
บางคืนฟุบไปกับพื้น รู้สึกตัวเช้า ยังฟุบอยู่กับพื้น เหตุนี้ ทำให้เราเป็นคนมีสมาธิมาก
ปริยัติไม่รู้อะไรสักอย่าง อาศัยศรัทธา ตั้งใจทำกรรมฐาน กว่าจะทำได้ เดิน 1 ชม. ต่อนั่ง 1 ชม. ตามพื้นฐานที่ท่านสอนไว้
แรกๆทำได้ยากจริงๆ เหมือนเด็กฝึกเดิน เดินๆหยุดๆ ทำมั่ง ไม่ทำมั่ง
พอเจอทุกข์ กลับมาปฏิบัติอีก เริ่มต้นใหม่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ไม่ออกจากเส้นทางนี้
หลายปีกว่าจะมั่นคง ไม่ทำๆหยุดๆอีก เกิดจากความไม่รู้เรื่องปริยัติ ไม่รู้เรื่องอินทรีย์ ๕
ไม่รู้ว่าให้เริ่มจากทีละน้อย แล้วสะสม ให้ทำต่อเนื่อง จนกว่าสามารถเดิน 1 ชม. ต่อนั่ง 1 ชม.
สภาวะต่างๆจะดำเนินตามตัวสภาวะของมันเอง

เมื่อทำได้ จะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไงอีก
เหตุมี ผลย่อมมี
เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม จะเจอบุคคลที่มาแนะนำให้เราได้ไปต่อ ทำให้ไม่ติดสิ่งที่รู้เห็นเกิดจากสมาธิ
ต่อมา จะเดิน จะนั่ง โอภาสสว่าง สภาวะส่วนมากไม่รู้กาย
ท่านสอนว่า ให้เดินมากกว่านั่ง จนกว่าสามารถรู้กายได้
ท่านบอกว่าแล้วจะรู้เอง อย่าไปชอบ อย่าไปชัง ให้รู้ตามความเป็นจริง

เราก็ทำตามที่ท่านบอก แล้วสภาวะต่างๆจะดำเนินต่อเนื่อง
การเห็นความเกิดดับในรูปนามตามความเป็นจริง

สมัยก่อน ไม่รู้จักคำเรียกเหล่านี้มาก่อน ไม่รู้สักอย่างเดียว
สิ่งที่เราเขียนนั้นเกิดจากการทำกรรมฐาน
เมื่อมีเหตุให้ศึกษาพระธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
จึงทำให้เรารู้ว่า สภาวะที่มีเกิดขึ้นในแต่ละขณะนั้นๆ มีคำเรียก
เพียงแต่สมัยนั้น เราไม่รู้ ปฏิบัติผ่านไปแล้ว จึงจะรู้ เพราะรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการท่องจำมา


8 กันยายน
ตอนนี้ความจำแย่ลง หมายถึงตัวหนังสือ
นับเลขไม่ถึง 20
เขียนตัวเลข ตามลำดับ เขียนผิด
เป็นเฉพาะทางโลกสมมุติ
ขนาดยากิน ยังต้องเขียนวันที่กำกับ ไม่งั้นจะลืมกินยาว่ากินหรือยังไม่ได้กิน จะจำไม่ได้เลย
วันที่ไหร่ ไม่รู้เลย จำไม่ได้ เปิดโบ๊ตบุ๊ค จึงจะรู้ว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร พศ.ยังลืมเลย
.
ทางธรรมปกติ ความรู้ความเห็น ละเอียดมากขึ้น
ถ้าไม่มีพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ความรู้ความเห็นคงรู้ดับเฉพาะตน
การเขียน แรกๆเป็นดับเฉพาะตน
มันจะรู้แบบนั้นก่อน
พอเขียนมาเรื่อยๆ จากเขียนมาก จะเขียนน้อยลง กระชับมากขึ้น เลือกที่สำคัญ
แบบหากปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ไม่หลงทาง ไม่ติดอุปกิเลส เพราะความรู้ความเห็นจะเป็นสเตป
คือต้องศึกษาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็นหลัก ต้องปฏิบัติด้วย
ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ จะไม่เข้าใจตัวสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้น
.
มีอาการของหงุดหงิด เกิดจากสมองกระทบกระเทือน ประสาทอัตโนมัติเสียหาย
บางครั้งมีความรู้สึกตัวปกติ บางครั้งเหมือนคนบ้า หงุดหงิด รำคาญตัวเอง แบบนึกคำเรียกไม่ออก
ขึ้นรถสองแถว จะกดกริ่งกดไม่ได้เพราะนึกชื่อไม่ออก บังคับตัวเองให้กดกริ่ง ทำไม่ได้ มองภายนอกสักแต่ว่ามีเกิดขึ้น
ตั้งแต่มีโควิด อาการทางสมองแย่ลง เห็นได้ชัด แบบรู้ด้วยตัวเอง

เมื่อก่อน เจ้านายยังทำงานปกติ
อาการเรายังปกติ เพราะทำสมาธิได้ทุกวัน
ตั้งแต่เจ้านายทำงานที่บ้าน เขากินข้าวไม่เป็นเวลา เขากินยาก
ปกติเราทำสมาธิได้บ่อย กลายเป็นต้องทำกับข้าวให้เขาไม่เป็นเวลา
ทำสมาธิเหรอ ไม่แน่นอน บางวันไม่ได้
เหตุนี้เมื่อสมาธิไม่มาก ทำให้รู้ชัดผัสสะชัด เวทนาโดยเฉพาะยินร้าย ปรากฏ
หากเราไม่เคยศึกษาพระธรรมมาก่อน จะงงตัวเองว่าทำไมเป็นแบบนี้
มันไม่ใช่แค่เรื่องสมาธิ มีเรื่องอาการทางสมองที่มีเกิดขึ้นกำเริบเป็นช่วงๆ
เหตุนี้ทำให้เรารำคาญตัวเองเกิดขึ้นก่อน
ต่อมากลายเป็นหงุดหงิด มันจะมีเกิดขึ้นแค่นี้แล้วคลายหายไปเอง ไม่ถึงขั้นสร้างมโนกรรมมีเกิดขึ้น

นับว่าเจ้านายเขาทำกรรมฐานมากับเราตั้งแต่แรก มีอะไรเราเล่าให้เขาฟังทุกเรื่อง สภาวะอะไรก็เล่าให้ฟัง
ที่นี้เวลาอาการป่วยทางสมองเกิดขึ้น ทำให้เขารู้ว่าควรทำตัวยังไงเมื่อเห้นเราอาจพูดไม่ถูกหูเขา
แบบเราไม่ได้เจตนา แต่บังคับตัวเองไม่ได้
เมื่อเขาเข้าใจ เขาจะไม่ยุ่ง
เดี่ยวอาการเราจะหายไปเอง กลับมาพูดกับเขาได้ปกติ

ถ้าถามว่า รู้สึกทุกข์มั๊ย ที่มีอาการแบบนี้
คำตอบ ไม่มีเลย บังคับมันไม่ได้ มันจะเกิดก็เกิด มันจะหายไปเอง
ก็เหมือนเรื่องการจะกดกริ่งในรถสองแถว อาการแบบนั้นเลย ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ รอสักพัก จึงจะกลับมารู้สึกตัวได้
ผู้โดยสารบางคน เขาจะถามว่า จะลงรถเหรอ เราฟังรู้ แต่จะกดเองไม่ได้ เราพยักหน้า เขาจึงกดกริ่งให้ บางครั้งฟังรู้ แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็มี

คำว่ากินยาก
หมายถึง เจ้านายกินข้าวสามมื้อ แล้วกับข้าว เขาไม่ชอบกับข้าวเก่า
ยิ่งช่วงนี้ แม้เขาจะกินกับข้าวเก่าได้ก็ตาม แต่ยังต้องทำอาหารทุกวัน
ส่วนเรากินข้าวหลักหนึ่งมื้อ อะไรก็ได้ กับข้าวเก่าก็กินได้ กินข้าวเพื่อไม่ให้กินพร่ำเพรื่อ
มื้ออื่นๆส่วนมากน้ำดื่ม ผลไม้ เราต้องควบคุมเรื่องอาหาร
เพราะโฮโมนยังไม่ปกติ หากกินข้าวบ่อย จะทำให้นน.ขึ้นง่าย


11 กย. 64

หากไม่เขียนชื่อพระสูตร
ทำให้ไม่รู้ว่าเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ประมาณว่า มีพระธรรมผุดขึ้นมา
ก็ว่าเคยอ่านผ่านตา แล้วเขียนไว้ด้วย
แต่นึกไม่ออก
เมื่อนึกไม่ออก พยายามจะหาว่าเขียนไว้ตรงไหน
ตอนนั้นหาไม่เจอ ทำให้เกิดรำคาญ แบบสมองทำให้เป็นแบบนี้ ความจำไม่ดี
.
ต่อมา ทำให้เกิดความหงุดหงิด เมื่อผัสสะมากระทบ
แบบกำลังพยายามหาพระสูตรนั้น แต่หาไม่เจอ
มาเจอเจ้านาย จะเอาโน้่นนี่ จึงทำให้เราหงุดหงิด
เพียงแค่รู้เฉพาะตน เขาไม่รู้หรอก
ภายหลังจึงอธิบายให้เขาฟัง เกี่ยวกับสภาวะที่มีเกิดขึ้น
เขาบอกว่า น่าจะบอกกับเขาได้ว่า กำลังหาพระสูตรอยู่ เขาจะไม่ยุ่งด้วย
เราบอกว่า ตามความเป็นจริง ควรจะบอกกับเขาได้ แต่อาการสมองไม่สั่งการว่าพูดไปเลย เขาจะได้รู้
แต่ทำไม่ได้ มันไม่นึกอะไรทั้งสิ้น จะรู้เพียงผัสสะ เวทนา ที่มีเกิดขึ้น รู้แค่นั้น ไม่มีมโนกรรม แล้วจะคายหายไปเอง
เราเพียงเล่าสภาวะให้เขาฟัง

เมื่อมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก
ถึงแม้เราสามารถบอกเขาได้ ตามที่เขาพูดไว้
ความจำตรงนั้น จำไม่ได้ แบบจำไม่ได้เลย
มันจะรู้ผัสสะ เวทนา แค่นั้น แล้วคลายหายไปเอง

มาตอนหลัง ได้บอกกับเขาว่า
อาการที่เราเป็นอยู่นั้น ทำให้เข้าใจมากขึ้น
ในพระธรรมต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้

ผู้ปฏิบัติเมื่อเห็นทุกข์ พยามปฏิบัติเพื่อละอุปาทานขันธ์ ๕
เพื่อพยายามละ พยามอย่างหนัก สักวันย่อมสำเร็จ
เมื่อทำได้ จะมีสภาวะผัสสะ เวทนา ที่มีเกิดขึ้น
แบบเราแบบงงๆ ทำไมยังมีความรู้สึกแบบนี้

พอได้อ่านที่พระะรรมที่พระองค์ทรงตรัสไว้
อ่อ เกิดจากอินทรีย์ ๕
คือหากกำลังสมาธิของเราเป็นอรูปฌาน
ความรู้สึกเหล่านี้จะไม่มีเกิดขึ้น
เมื่อรู้แล้ว ไม่สงสัยแล้วว่า ทำไมอาการความรู้สึกเหล่านี้จึงมีเกิดบางครั้ง
เพียงแต่ความรู้สึกเหล่านี้ ไม่สามารถให้เราคิดสร้างกรรมให้เกิดภพชาติการเกิดขึ้นมาอีก
ไม่ต้องใช้ความอดทน ไม่ต้องทำอะไรเลย มีเกิด มันก็คลายดับหายไปเอง

ตรงนี้ ถ้าเขียนแบบนี้ ทำให้ไม่รู้ว่า นำมาจากพระสูตรไหน

คำว่า ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน
ได้แก่
ปฐมญาณ (อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์)
ย่อมเกิดขึ้นในเพราะโสดาปัตติมรรค
อันเป็นเครื่องทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป
แก่พระเสขะผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ผู้ปฏิบัติตามทางอันตรง
ธรรมชาติที่รู้ทั่วถึง (อัญญินทรีย์)
ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแต่ปฐมญาณนั้น
กล่าวคือ
เมื่อมรรคญาณปรากฏขึ้นแล้ว
ผลญาณก็ปรากฏตามมาทันที ไม่มีระหว่างกลางคั่นเลย
มีข้อพึงทราบไว้ในที่นี้คือ
มรรคญาณนี้จะเป็นมรรคชั้นใดก็ตาม ย่อมปรากฏขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำการประหาณกิเลสต่างๆ ตามอำนาจของมรรคนั้นๆ
เช่น ปฐมมรรคเกิดขึ้น ก็ทำการประหานกิเลสที่ปฐมมรรคมีอำนาจประหาณได้ เป็นต้น
สำหรับในที่นี้ มรรคญาณที่ปรากฏนี้ เรียกว่า ปฐมมรรค
ซึ่งทำการประหาณกิเลสได้ ๕ อย่าง
สักกายทิฏฐิ ๑
วิจิกิจฉา ๑
สีลัพพตปรามาส ๑
อปายคมนียกามราคะ ๑
อปายคมนียปฏิฆะ ๑

นับว่า ได้เขียนพระสูตรกำกับไว้
เพียงแต่เมื่อก่อนเขียนกระจัดกระจาย
ไม่ได้เขียนหมวดออกจากกัน
ทำให้หาพระสูตรนั้นไม่เจอ

พระสูตรเต็ม
๓. อินทรียสูตร
[๒๔๐] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้
๓ ประการเป็นไฉน คือ
อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ ๑
อัญญินทรีย์ ๑
อัญญาตาวินทรีย์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ปฐมญาณ (อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์)
ย่อมเกิดขึ้นในเพราะโสดาปัตติมรรค
อันเป็นเครื่องทำกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป
แก่พระเสขะผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ผู้ปฏิบัติตามทางอันตรง
ธรรมชาติที่รู้ทั่วถึง (อัญญินทรีย์)
ย่อมเกิดขึ้นในลำดับแต่ปฐมญาณนั้น
ปัจจเวกขณญาณ (อัญญาตาวินทรีย์)
ย่อมเกิดขึ้นว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ
แก่พระขีณาสพผู้พ้นวิเศษแล้ว ผู้คงที่
ภายหลังแต่ธรรมชาติที่รู้ทั่วถึงนั้น
เพราะความสิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ถ้าว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอินทรีย์ ผู้ระงับแล้ว ยินดีแล้วในสันติบทไซร้ บุคคลนั้นชนะมารพร้อมทั้งพาหนะแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ
.
“ภายหลังแต่ธรรมชาติที่รู้ทั่วถึงนั้น
เพราะความสิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ”
คำว่า ภายหลังแต่ธรรมชาติที่รู้ทั่วถึงนั้น
ได้แก่ ญาณในพระนิพพานเกิดทีหลัง
กล่าวคือ แจ้งนิพพาน ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
.
คำว่า ความสิ้นไปแห่งกิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ได้แก่
ความสิ้นไปแห่งราคะ
ความสิ้นไปแห่งโทสะ
ความสิ้นไปแห่งโมหะ

มรรค มีองค์ ๘ และ อริยมรรค มีองค์ ๘

เหตุไม่มี ผลย่อมไม่มี

พยายามระวังมากขึ้น แต่ไม่เครียด

นอกนั้น ไม่มีอะไร ไม่ได้อยากได้อะไรเป็นอะไร เพราะ ไม่อยากเกิด การเกิดน่ากลัวมากๆ

รู้แล้ว จึงไม่อยาก ไม่รู้จะอยากไปทำไม เพราะรู้ว่า เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม จะรู้เอง

หัวใจของการปฏิบัติ

จิ.เจ.รุ.นิ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพาาน

รู้ชัดเรื่องจิต รู้ชัดเรื่องเจตสิก สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต บางคนเรียก กิริยาของจิต หมายถึง ฝ่ายกุศลและอกุศล และอุเบกขา ที่เกิดขึ้นกับจิต

รู้ชัดในเรื่องรูป ย่อมรู้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือที่เรียกว่า ผัสสะ

รู้ชัดเรื่องนิพพาน ย่อมรู้วิธีการดับเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ เหตุของการเกิดทั้งนอกและใน หมายถึง ภพชาติปัจจุบัน และการเวียนว่าย ในวัฏฏสงสาร

นั่นคือ มรรค มีองค์ ๘ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ ปัจจุบัน ขณะ หรือ เมื่อผัสสะเกิด ทุกๆขณะ หมายถึง สัมมาสติ ขณะผัสสะเกิด สามารถรู้ชัดอยู่ภายใน กาย เวทนา จิต ธรรม คือ รู้ชัดทั้งภายนอก(สิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัว) ภายใน(สิ่งที่เกิดขึ้นในตัว)

เป็นเหตุของ ฝ่ายดับ การเกิดภพชาติปัจจุบัน(ปัจจุบัน ขณะ) เนื่องจาก เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ(มรรค มีองค์ ๘ เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ)

เหตุของฝ่ายเกิดภพชาติ ได้แก่ การสร้างเหตุทางมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ตามความรู้สึกยินดี/ยินร้าย/กิเลส(โลภะ โทสะ โมหะ) ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ โดยมีผัสสะ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ เป็นเหตุปัจจัย

อริยมรรค มีองค์ ๘ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ ปัจจุบันธรรม หมายถึง สัมมาสมาธิ หรือ ขณะจิตตั้งมั่นอยู่ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นเหตุให้ สามารถรู้ชัดอยู่ภายในกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

เป็นเหตุของ ฝ่ายดับ การเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร

เหตุของฝ่ายเกิด ได้แก่ มิจฉาสมาธิ หมายถึง ขาดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม(สัมปชัญญะ) ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่(อัปปนาสมาธิ/ฌาน)

กายในกาย หมายถึง ขณะจิตเป็นสมาธิ สามารถรู้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกายได้ เช่น รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ชัดที่จมูก โพรงจมูก ที่จมูก ปลายจมูก ท้องพองยุบ ตามลมหายใจเข้าออก รู้ชัดที่ลิ้นปี่ กำลังเคลื่อนไหว ตามลมหายใจเข้าออก รู้ชัดที่ชีพจรตามส่วนต่างๆของร่างกาย รู้ชัดที่กายนั่งอยู่ฯลฯ

หมายถึง ไม่ว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับกาย จะรู้หมด อากาศร้อนเย็น ก็รู้ ลมพัดถูกกายก็รู้ ขึ้นอยู่กับ กำลังสมาธิและสติ ที่เกิดขึ้นขณะนั้นๆ

เมื่อมีความสมดุลย์ ระหว่าง สมาธิกับสติ เป็นเหตุให้ สัปมชัญญะ หรือความรู้สึกตัวย่อมเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ สามารถรู้ชัดในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน ขณะจิตตั้งมั่นอยู่

เวทนาในเวทนา หมายถึง ทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น ความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่

จิตในจิต หมาถึง ขณะจิตเป็นสมาธิ กิเลส ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ความกำหนัดในกาม เกิดเอง ดับเอง ไม่ต้องไปกำหนดเพื่อให้หายแต่อย่างใด กิเลสนี้ เป็นสภาวะที่ละเอียด

ธรรมในธรรม หมายถึง ขณะจิตเป็นสมาธิ ความคิด ก็สามารถเกิดขึ้นได้ สุดแต่ว่า มีเหตุปัจจัยอะไรอยู่ ขณะความคิดเกิด รู้ว่าคิด แต่ไม่รู้สึกรำคาญแต่อย่างใด เกิดเอง ดับเอง ไม่ต้องไปกำหนดเพื่อให้หายแต่อย่างใด

เมื่อมีมิจฉาสมาธิ เป็นเหตุให้ สัมมาทิฏฐิ(อริยมรรค) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นเหตุให้ มีการเกิด เวียนว่ายในวัฏฏสงสาร

ถ้าหมั่นสร้างเหตุของการดับ ณ ปัจจุบันขณะ หมายถึง มรรค มีองค์ ๘

อริยมรรค มีองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจจัย

หยุดสร้างเหตุนอกตัว ทำความเพียรต่อเนื่อง นี่คือ หัวใจของการปฏิบัติทั้งในและนอก

นอกนั้น ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ที่มีอยู่ และที่กำลังสร้างให้เกิดขึ้นใหม่

พึงสำรวม สังวร ระวัง เพราะ ชีวิตนี้ น้อยนัก จงใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง ก่อนที่จะหมดลมหายใจ โดยไม่คิดทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง

การทำบุญ ทำทาน ให้ประโยชน์สูงสุดแค่ สวรรค์ แต่เป็นเหตุของการลดความตระหนี่ถี่เหนียวของตนเอง

การหยุดสร้างเหตุนอกตัว ไม่ยอมทำตามกิเลสที่เกิดขึ้น และทำความเพียรต่อเนื่อง มากน้อย ตั้งใจทำ นี่คือ ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ นิพพาน ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกข์อยู่ร่ำไป

ไม่ต้องใช้เงิน ใช้แค่กายที่มีอยู่และใช้ใจที่อดทน กดข่ม ไม่สร้างเหตุตามกิเลสที่เกิดขึ้น

จะอั้นจะอี้ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

ตำราต่างๆที่เขียนไว้ เป็นเพียงอุบายให้รู้จักคิดพิจรณา ซึ่งเหมือนๆในพระไตรปิฎก สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงถ่ายทอดทิ้งไว้ ทุกสิ่งล้วนเป็นอุบายในคำสอน

เพียงแต่ว่า อยู่ที่เหตุของแต่ละคนทำมา ใครจะรู้เห็นได้เช่นใด ตำราทั้งหลาย ล้วนเป็นเพียงแผนที่ ที่มีหลากหลาย ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยของผู้ที่ได้บันทึกเอาไว้เท่านั้นเอง แต่เพราะความไม่รู้ชัดในสภาวะเรื่องของเหตุ

จึงหลงยึดติดบัญญัติที่เขียนไว้ ว่าแบบนี้ถูก แบบนี้ผิด แบบนี้ใช่ แบบนี้ไม่ใช่ นี่แหละพิษของเหตุ พิษของความไม่รู้ เส้นทางจึงเหมือนวนเวียนอยู่ในเขาวงกต ภพชาติจึงเกิดขึ้นเนืองๆเพราะเหตุนี้

ได้แค่อาศัยเปลือกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัยที่ทำไว้ แล้ววนกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพียงมีสัญญาเพิ่มมากขึ้นในการรู้ สะสมสัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด บางคนเมื่อเกิดมาจึงมีปัญญามากน้อยไม่เท่ากันเพราะเหตุนี้

นี่แหละเหตุ หากเคยสร้างเหตุร่วมกันมา ย่อมเชื่อกัน ส่วนจะเชื่อมากหรือน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่เหตุเหมือนกัน ส่วนที่ไม่เชื่อกัน เพราะไม่ได้สร้างเหตุร่วมกันมานั่นเอง ดูสมัยพุทธกาลเป็นตัวอย่าง ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง

อะสัมโมหสัมปชัญญะ หมายความว่า มีความรู้อยู่ทุกขณะ ไม่หลงลืม

เมื่อจะกล่าวโดยละเอียดตามหลักฐานในพระไตรปิฎกแล้ว มีอยู่ ๒๒ อย่าง จะได้อธิบายข้อที่ ๑ กับ ข้อที่ ๒ ก่อน ดังนี้คือ

๑. อภิกฺกนฺเต เวลาจะก้าวไป ก็มีสติกำหนดรู้

๒. ปฏิกฺกนฺเต เวลาจะถอยกลับ ก็มีสติกำหนดรู้

ทั้ง ๒ ข้อนี้ มีอธิบายว่า ธรรมดาอันธพาลปุถุชน คือ บุคคลที่ยังบอด ยังโง่ ยังเขลาอยู่ เวลาก้าวไปหรือถอยกลับ ย่อมมีความลุ่มหลงสำคัญผิดคิดไปว่า “ตนก้าวไป” การก้าวไปตนให้เกิดบ้างดังนี้บ้าง

ย่อมมีความสำคัญผิดคิดไปว่า “เรากำลังก้าวไป” การก้าวไปเราให้เกิดขึ้นเองบ้างดังนี้บ้าง

ส่วนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่มีความลุ่มหลงและไม่มีความสำคัญผิดคิดไปเช่นนั้น ย่อมมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ว่า เมื่อจิตคิดจะไปเกิดขึ้น วาโยธาตุ มีจิตเป็นสมุฏฐาน พร้อมกับจิตนั่นเอง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น

อันที่ก้าวไปนั้น ก้าวไปเพราะอำนาจแห่งการกระทำของจิตกับความแผ่กระพือไปของวาโยธาตุ เมื่อร่างกระดูกนั้นกำลังก้าวไปอยู่อย่างนี้ ในขณะที่ยกส้นเท้าขึ้นครั้งหนึ่งๆ ธาตุดินกับธาตุน้ำมีประมาณน้อย มีกำลังอ่อน

ส่วนธาตุไฟกับธาตุลมที่กำลังมาก มีกำลังกล้า จึงทำให้คล่องแคล่วเบาในการยกปลายเท้าขึ้น เสือกเท้าไป วางเท้าลงถูกพื้น กดส้นเท้า ธาตุไฟกับธาตุลม มีประมาณน้อย มีกำลังอ่อน ธาตุดินกับธาตุน้ำมีกำลังมาก

มีกำลังกล้า สภาวะคือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมมีกำลังอยู่ทุกขณะดังนี้คือ

๑. อุทฺธรเณ ปวตฺตา รูปารูปธมฺมา ในขณะที่ยกส้นเท้าขึ้นนั้น รูปนามที่เกิดขึ้นขณะนั้นดับลงไปแล้ว ยังไม่ทันถึงตอนยกปลายเท้าขึ้นเลย

๒. อติหรเณ ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเกิดขึ้นในขณะที่ยกปลายเท้าก็ดับลงไปนั่นเอง ยังไม่ทันเสือกเท้าไปเลย

๓. วีรติหรเณ ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเสือกเท้าไปก็ดับลงในขณะนั้น ยังไม่ทันถึงตอนเอาเท้าลงเลย

๔. โวสฺสชฺชเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังเกิดในขณะที่เอาเท้าลงก็ดับไปที่ตรงนั้น ในขณะนั้น ยังไม่ทันถึงตอนส้นเท้ากระทบพื้นเลย

๕. สนฺนิกฺเขปเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังกระทบกับพื้นก็ดับลงไปที่นั่นเอง ยังไม่ทันถึงตอนส้นเท้ากดกับพื้นเลย

๖. สนฺนิรุมฺภเน ปวตฺตา รูปนามที่กำลังกดกับพื้นก็ดับลงไปที่ตรงนั้น ยังไม่ทันถึงตอนยกส้นเท้าขึ้นเลย

เป็นอันว่า ในขณะที่ก้าวเท้าไปครั้งหนึ่งๆนั้น แบ่งเป็น ๖ ระยะ มีรูปนามเกิดดับติดต่อกันไปทุกขณะ ดุจงาที่ใส่ลงไปในกะทะร้อนๆ หรือ ดุจเกลือที่ใส่ลงไปในกะทะร้อนๆ แล้วแตกไปๆ หรือดุจฟองน้ำพยับแดด ฉะนั้น

ในการไปเป็นต้นนั้น ว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีใครไป เป็นการไปของธาตุทั้งหลาย เป็นการยืนของธาตุทั้งหลาย เป็นการนั่งของธาตุทั้งหลาย เป็นการนอนของธาตุทั้งหลาย เท่านั้น

ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อะไรๆ เลยในการไปเป็นต้น ท่านเปรียบไว้ว่า มีการเกิดดับดุจความสัมพันธ์กันของคลื่นทะเล และดุจกระแสน้ำ ฉะนั้น ดังหลักฐานว่า

อญฺญํ อปฺปชฺชติ จิตฺตํ อญฺญํ จิตฺตํ นิรุชฺฌติ

อวีจิมนุสมฺพนฺโธ นทีโสโตว ปวตฺตติ.

จิตอื่นเกิดขึ้น จิตอื่นดับไปพร้อมกับรูปทั้งหลาย ในส่วนนั้นๆ มีความสัมพันธ์กันดุจคลื่นทะเล เป็นไปติดต่อกันดุจกระแสน้ำ ดังนี้

สภาวะเดินจงกรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จริงๆแล้วเป็นสภาวะของการกำหนดต้นจิต กิจใดๆก็ตาม เมื่อมีสติรู้ตัวก่อนที่จะทำ มีสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวขณะที่กำลังทำกิจนั้นๆอยู่ สภาวะคือ มีจิตจดจ่อรู้อยู่ในสิ่งที่กำลังทำอยู่

สมาธิย่อมมีการเกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แม้ไม่ได้คิดพิจรณาอะไร ย่อมเห็นสภาวะตามความเป็นจริง ทุกๆการเคลื่อนเท้า จะมีสภาวะรู้เกิดขึ้นที่จิต การขาดออกจากกันของการเคลื่อนเท้า ขาดออกเป็นท่อนๆ

ซึ่งภาษาปริยัตินิยมเรียกว่า สันตติขาด ฆนบัญญัติแตก ซึ่งเป็นสภาวะของสติกับ สัมปชัญญทำงานร่วมกัน เป็นเหตุให้สมาธิ จึงเห็นได้เช่นนั้น สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช่การเห็นตรงนี้ แต่การทำต่อเนื่องต่างหาก

และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การสร้างเหตุภายนอก ตัวผัสสะที่มากระทบ ตรงนี้แหละตัวสร้างภพสร้างชาติ วัฏฏสงสารยาวนานเพราะความไม่รู้ตรงนี้

ขณะที่ผัสสะที่เกิดขึ้น มีความความไม่ชอบใจ เพราะความหลง หรือความไม่รู้ยังมีอยู่ จึงตอบโต้ด้วยความไม่ชอบใจกับผัสสะนั้น

ขณะที่ผัสสะที่เกิดขึ้น มีความ ชอบใจ เพราะความหลงหรือความไม่รู้ยังมีอยู่ จึงตอบสนองด้วยความยินดีกับผัสสะนั้น

การวางใจ

การเขียนบันทึกที่เป็นปัจจุบันธรรม ช่วยให้เรารู้เท่าทันต่อสภาวะหรือกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตว่ามีความยึดมั่นถือมั่นมากน้อยแค่ไหน วางได้ไวแค่ไหน หรือหลงสร้างเหตุไปหรือไม่

เพราะถ้าสติเรายังไม่แข็งแรงหรือมีกำลังมากพอ เราย่อมหลงๆลืมๆในความคิดหรือความรู้สึกต่างๆที่ผ่านๆไป เราจึงไม่สามารถรู้ชัดในกิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะได้ อันนี้ก็แล้วแต่เหตุที่ทำมาด้วยนะ ส่วนตัวเราเป็นเช่นนี้จริงๆ ไม่เคยจำ

พอได้มาบันทึกอย่างต่อเนื่อง กลับทำให้จำสภาวะต่างๆได้แม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้เห็นตามความเป็นจริง ( กิเลส ) เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ นับวันสภาวะละเอียดมากขึ้น เห็นแม้กระทั่งสิ่งที่ไม่สามารถเจาะลงไปถึงได้

เราไม่ต้องให้ใครที่ไหนมาสอบอารมณ์เรา ตัวผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตนี่แหละ ที่จะมาเป็นผู้สอบอารมณ์เราที่เถรตรงที่สุด ยุติธรรมที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างตัวสภาวะเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด ไม่ต้องไปหาใครที่ไหนเลย

การสอบอารมณ์ บางเหตุเป็นช่องโหว่ให้กิเลสเข้าแทรกได้ตลอด แทนที่ทำแล้วจะดับที่เหตุกัน กลายเป็นว่าทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นหนักไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะดับเหตุทั้งปวงได้อย่างไรกัน

อันนี้จะไปว่ากันก็ไม่ได้อีก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำร่วมกันมาทั้งสิ้น ทำไมถึงเชื่อกัน ทำไมถึงไม่มาเชื่อกัน เนื่องจากมันมีเหตุมาก่อนแล้ว ผลจึงมาให้ได้รับหรือแสดงให้เห็นเป็นเช่นนั้น

หลงเล่นกองอุนจิ

เราต้องคอยปรับเปลี่ยนตัวเราเองให้เข้ากับสภาวะ ไม่ใช่ไปคิดแก้ไข หรือขัดขืนสภาวะ ยิ่งทำแบบนั้นยิ่งเจอแต่ทุกข์ และกลายเป็นการสร้างเหตุใหม่ไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้จักจบสิ้น

นับว่าเหตุที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเจริญสติ ได้ส่งผลให้ได้รับผล ทั้งเหตุเก่าที่เคยทำไว้ ทั้งเหตุใหม่ที่กำลังทำอย่างต่อเนื่อง นับวันทำให้เราเข้าใจรายละเอียดของสภาวะมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าควรทำตัวอย่างไร จึงจะผ่านสภาวะต่างๆไปได้

โดยที่เราไม่ต้องไปอยู่ร้อน นอนทุกข์เพราะสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตของตัวเราเอง ที่ยังคงมีความเป็นตัวเรา ของเราแฝงอยู่ในบางครั้งที่สติยังไม่ทัน แต่เราไม่ไปวิตกกังวลแบบก่อนๆ เพราะเชื่อมั่นในทางที่เดินอยู่ ว่าเดินไม่ผิดทางอย่างแน่นอน

เพราะยามใดที่สติทัน และค่อนข้างจะทันมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเรา ของเราที่มีอยู่จะไม่มีเกิดขึ้นเลยแม้แต่สักนิดเดียว นี่แหละเหตุที่เราเพียรทำมาตลอด ดับเหตุทั้งปวงที่เกิดจากการมีเราอยู่นี่แหละ ดับที่ตัวต้นเหตุ คือ ตัวเราเอง ไม่ใช่ไปดับนอกตัว

คิดดับนอกตัว ล้วนเป็นการเดินผิดที่ ผิดทาง เราจะไปดับนอกตัวไม่ได้ เหตุของใคร ก็ของคนนั้น ต่างคนต่างต้องดับเหตุของตัวเอง ใครๆมาดับแทนกันไม่ได้

เราทุกรูป ทุกนาม ล้วนเกิดมาเป็นเพื่อนพึ่งพากันแค่นอกตัว เพื่อดับเหตุในตัวของใคร ของมัน หากยังไม่รู้ แทนที่จะเป็นเพื่อนพึ่งพา กลับกลายเป็นต้นเหตุที่สร้างเหตุใหม่ในการก่อเหตุให้เกิดภพชาติไม่รู้จักจบสิ้น นี่แหละความไม่รู้ที่ยังมีอยู่

มีบางครั้งที่อาจจะเบื่อหน่าย ขี้เกียจ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความรู้สึกล้า เราจะมีที่ปรับเปลี่ยนสัปปายะสำหรับตัวเราเอง ในบางครั้งที่ต้องการอยู่คนเดียว เราจะมีถึง ๓ ที่ ไว้สำหรับปรับสภาวะของตัวเราเองให้เข้ากับสภาวะที่กำลังเกิดขึ้น

ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่จู่ๆจะไปจับเลือกขึ้นมาได้เอง เราต้องสร้างเหตุ ก่อนที่จะเกิดเป็นผลให้ได้รับ เวลาทำ อย่าไปหวังผล ให้ตั้งใจทำ ไม่ว่าผลจะออกมาถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม ความถูกใจหรือไม่ถูกใจ ล้วนเป็นกิเลส

แต่ยังไม่ใช่ผลที่ได้รับตามความเป็นจริง ผลที่ได้รับตามความเป็นจริง จะมีสภาวะตรงกับสภาวะที่เราเป็นอยู่นั่นเอง ไปคิดเอง คาดเดาเอาเองไม่ได้เลย จงตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง รู้สึกอย่างไร รู้ไปตามนั้น ไม่ต้องไปฝืน ไปกดข่ม

เพียงแต่เก็บความรู้สึกนั้นๆไว้ในใจ อย่าปล่อยให้เกิดเป็นการกระทำออกมา ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม เก็บเอาไว้ แล้วเหตุที่กำลังเกิดขึ้นจะจบไปตามสภาวะของเหตุนั้นๆเอง โดยที่เราต้องแค่ดู แค่รู้ อดทน อดกลั้นเอาไว้ ให้นึกถึงแต่คำว่า เหตุ แล้วก็เหตุ

เหตุที่จะเกิดขึ้นไม่รู้จบ คิดไว้แค่นั้น เดี๋ยวสภาวะก็จบลงไปเอง สภาวะอื่นๆเกิดใหม่ต่อ สภาวะใหม่ กิเลสตัวเดิม แต่เป็นสภาวะของกิเลสที่ละเอียดขึ้นกว่าเดิม หากสภาวะแรกยังผ่านไม่ได้ สภาวะต่อไปอย่าหวังว่าจะผ่านได้

ต้องผ่านจากหยาบๆไปก่อน แล้วถึงจะเจอสภาวะกิเลสที่ละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ การเจริญสตินี่แหละ ถึงจะรู้จักและเห็นตามความเป็นจริงของสภาวะเหล่านี้ที่มีอยู่จริงได้ ขาดสติ สัมปชัญญะ สมาธิ มองเห็นตามความเป็นจริงไม่ได้หรอก

สติเป็นความรู้ตัว รู้ตัวก่อนที่จะคิดทำสิ่งใดๆลงไป เป็นตัวนำของการสร้างเหตุทั้งปวง

สัมปชัญญะเป็นตัวรู้ รู้อะไร รู้สึกลงไปในการกระทำที่กำลังกระทำอยู่ เรียกว่า ความรู้สึกตัว รู้สึกตัวทุกขณะที่กำลังทำกิจนั้นๆอยู่

เมื่อกิจใดๆก็ตาม มีการเอาจิตจดจ่อรู้อยู่ทุกๆการกระทำ สมาธิย่อมเกิดอย่างแน่นอน เมื่อสมาธิเกิด ย่อมเกิดการคิดพิจรณา มันจะเป็นไปตามสภาวะเอง เพราะสมาธิที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเกิดสั้นหรือยาว ล้วนเป็นสัมมาสมาธิ

จึงเป็นเหตุให้ตัวปัญญาเกิด เมื่อตัวปัญญาเกิด จึงมีการเกิดการคิดพิจรณาถึงสภาวะต่างๆที่เป็นอยู่ เรียกว่า ทบทวนสภาวะซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ทบทวนกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ยิ่งทบทวน ยิ่งเห็นชัดถึงทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

แล้วจะไม่มีการกล่าวโทษนอกตัวเลย เพราะมันจะเข้าใจถึงเหตุและผล มันจะเห็นแต่ความไม่เที่ยง เห็นเหตุที่เกิดจากอุปทาน ที่เกิดจากความคิด เกิดจากการคาดเดา เกิดจากการเอาเราที่มีอยู่ลงไปคิดแทนสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วจะไม่คิดสร้างเหตุอีกต่อไป

มีแต่ลด ละ เลิกพฤติกรรมเดิมๆที่เคยหลงไปเล่น ลงไปคลุกเคล้ากับกองกิเลส จะไม่หลงลงไปเล่นอีก ยกเว้นยามที่สติยังไม่ทันเท่านั้นเอง นั่นหมายถึงยังโง่อยู่ เลยหลงเล่นกับกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตของตัวเอง เหมือนเด็กที่นั่งเล่นกองอุจจาระของตัวเอง

แล้วนำอุจจาระของตัวเองที่กำลังเล่นอยู่ จับใส่ปากเข้าปากของตัวเอง เพราะหลงว่าเป็นอาหาร กิเลสก็เช่นเดียวกับคนที่หลงเล่น หลงลงไปเล่นกับกิเลสหรือเงาของจิตตัวเอง หลงเล่น หลงกินอุจจาระของตัวเอง เพราะยังมองไม่เห็น

เนื่องจากกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ บดบังดวงตาให้มืดบอดอยู่ นี่แหละเหตุ แล้วก็เหตุที่ยังทำอยู่ เหมือนเด็กที่ชอบทั้งกินและเล่นกับอุจจาระของตัวเอง ทำไปด้วยความไม่รู้

มองเป็นเรื่องฮาๆ

ถ้าเราไม่ไปยึดติดให้ค่ากับสิ่งสิ่งหนึ่งมากมายนัก เราจะมองทุกๆสิ่งเป็นเรื่องฮาๆไปได้ อันนี้ถ้าทำได้ จิตจะผ่อนคลายลงไปเยอะมากๆ ทำให้ไม่ไปเคร่งเครียดกับสภาวะหรือสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

สภาวะ ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ความผิดพลาดย่อมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เกิดเนื่องจากการคาดเดาที่ยังมีอยู่ลดน้อยลงไป ไม่ไปก่อถึงขั้นให้เกิดเหตุของการกระทำออกมา บางคนั้งมีบ้าง แต่หยุดได้ทัน ไม่ยืดเยื้อ

เมื่อยังมีกิเลส เราก็ยอมรับไปตามความเป็นจริง จิตเป็นอย่างไร ยอมรับไปตามนั้น แล้วเจริญสติต่อไป เวลาเกิดการกระทบ อย่างเพิ่งคิดทำอะไร รู้สึกอย่างไร รู้ไปตามนั้น แต่อย่าปล่อยให้เกิดการกระทำออกไป แค่รู้ แค่ดู

แล้วจะฮาในความไม่รู้ต่อการคาดเดาของตัวเอง ที่ว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ มันคนละเรื่องกันเลย เพราะมันมีแต่เหตุแล้วก็เหตุ

แรกๆอาจจะฮาไม่ออกหรอกนะ อาจจะมีแต่น้ำตา น้ำตาแห่งความโง่ที่มีต่อกิเลสของตัวเอง เพียงแต่ตอนนั้นยังมองไม่เห็นความโง่ที่มีอยู่ น้ำตาเลยหยดแหมะๆตลอดเวลา ทุกข์เพราะอุปทาน ทุกข์เพราะให้ค่า

ทุกข์เพราะยึดติด ทุกข์เพราะหาทางแก้ไข ให้ตรงกับสิ่งที่ให้ค่า นี่แหละทุกข์แล้วก็ทุกข์ ต้องโง่มาก่อน โง่งี้นำหน้ามาเลย ตราหน้าไว้ว่า ข้านี่แหละโง่ ถ้าไม่โง่ ย่อมไม่หลงสร้างเหตุตามการให้ค่า ตามอุปทานที่เกิดขึ้น

อุปทานเราไปห้ามมันไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส มันเป้นเรื่องปกติ แต่เราสามารถห้ามไม่ให้ตัวเองสร้างเหตุออกไปได้ ที่ห้ามไม่ได้ หยุพดตัวเองไม่ได้ เพราะยังยอมรับไม่ได้นั่นเอง ตัวกูรู้ กูดี กูถูก

บรรดาๆกูๆทั้งหลายที่มีอยู่ มันบดบังสภาวะ บดบังดวงตาให้มืดบอด เลยโง่ไปก่อน จะโง่นานเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของสติว่า มีมากน้อยแค่ไหน รู้เท่าทันได้ จะบอกว่า ตัวเรานี้โง่มานานนักหนา ให้กิเลสมันหลอกเอาอีกแล้ว และจะไม่มีการไปกล่าวโทษนอกตัวใดๆอีกต่อไป

หากยังมีการกล่าวโทษอยู่ อย่าท้อถอย เพราะเป็นเรื่องปกติ เรามีหน้าที่คือ เจริญสติต่อไป แผ่เมตตาให้กับทุกๆสรรพสิ่ง ขอให้ทุกๆสรรพสิ่งจงมีความสุขทุกรูปทุกนาม มันมีแค่นี้เอง แล้วสภาวะจะจบลงด้วยตัวของสภาวะเอง

ยิ่งตอบโต้ นั่นคือ การแก้ไข นั่นคือ ยังยอมรับตามความเป็นจริงไม่ได้ ก็โง่ไปก่อนแล้วกันนะ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ จงเจริญสติต่อไป ทำให้ต่อเนื่อง แล้วความโง่ที่มีอยู่จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคาดหวังว่าเมื่อไหร่

๙ มีค. ชีวิตประจำวัน

๙ มีค.

สมาธิก็ไม่เที่ยง

อาการป่วยเริ่มดีขึ้น พร้อมๆกับกำลังของสมาธิที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ บางวันสมาธิมีมากๆ ต้องใช้คำว่ามากๆ เพราะมันจะรู้สึกถึงกำลังของสมาธิที่หมุนติ้วๆอยู่ในกายนี้ มันยากที่จะอธิบายได้ มันไม่หลับไม่นอน สมาธิหมุนอยู่อย่างนั้น

เทคนิคส่วนตัวในการปรับอินทรีย์

เวลาสมาธิมากๆแบบนี้ สติไม่ทัน มันคอยจะดิ่งและดับตลอดเวลา เดินไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ หัวทิ่มหัวตำ รู้สึกถึงกำลังของสมาธิที่พุ่งขึ้นมาตลอด ต้องนั่งแล้วปล่อยให้เกิดตามสภาวะ ปล่อยไปเลย อยากจะดับก็ดับ อยากจะดิ่งก็ดิ่ง ปล่อยให้เกิดตามความเป็นจริง

ช่วงสองสามวันมานี่ ทำแบบนั้นตลอด บางทีดับไปครึ่งวัน บางทีก็สองถึงสามชั่วโมง ไม่แน่นอน เราก็ปล่อยนะ ไม่มีวิตกกังวลอะไร เพียงแต่คิดว่า สมาธิมากๆแบบนี้ ธาตุขันธ์มันรับไม่ไหว มันมากเกินไป ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

ก็หาวิธีถ่ายเทออกมา โดยการถ่ายเทให้คนใกล้ตัวที่ปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งเข้าใจในเรื่องของสภาวะในระดับหนึ่ง เขาเองเป็นพวกรับและไม่ให้ใคร ซึ่งการถ่ายเทเช่นนี้ มีประโยชน์ทั้งเขาและเรา

สำหรับเขา ทำให้จิตเขาตั้งมั่นได้ง่ายมากขึ้น ส่วนเราทำให้สภาวะที่สมาธิที่เกิดมากจนใช้งานอะไรไม่ได้ เมื่อได้การถ่ายเทออกไป เริ่มมีสมาธิที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีมากแต่ไม่มากเหมือนเดิมในบางครั้ง ตอนนี้ต้องอาศัยการถ่ายเทออกไป

เมื่อคืน มันไม่ใช่แค่เมื่อคืน สองสามคืนมานี่ ตั้งแต่อาการป่วยที่เริ่มจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่หายสนิท เวลานอน จิตเป็นสมาธิตลอดขณะที่นอน เหมือนคนนอนหลับ แต่จิตไม่หลับ ตื่นอยู่ตลอดเวลา เราแค่ดู แค่รู้ ไปทำอะไรไม่ได้

ยิ่งทำงานมากเท่าไหร่ สมาธิยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ได้แค่ดูไป ไม่ไปคาดเดาอะไร เพราะเริ่มจะชินกับสภาวะเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ แค่มีคนมาให้เราถ่ายเทสมาธิออกไปก็พอใจแล้ว ไม่งั้นมันไม่ไหว มันจะมีมากอะไรขนาดนั้น มากยิ่งกว่าเมื่อก่อนที่ว่ามีมากๆ

นี่แหละ เขาถึงบอกว่า ยิ่งอยาก ยิ่งไม่ได้ ไม่ต้องไปอยากอะไรเลย แค่ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง

สมาธิที่ดี คือ มีทั้งสติ สัมปชัญญะและสมาธิทำงานร่วมกัน ทำให้จิตจะสามารถคิดพิจรณาสิ่งต่างๆหรือทบทวนสภาวะต่างๆได้ คือ รู้ทั้งกายและจิต

สมาธิที่ไม่ดี คือ มีกำลังมากเกินไป จะดิ่งและดับอย่างเดียว ไม่สามารถมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ เรียกว่า มีแต่สมาธิ แต่ด้อยสติ สัมปชัญญะ สมาธิแบบนี้จะคิดพิจรณาหรือรู้อยู่ในกายและจิตไม่ได้เลย เรียกว่า ขาดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

ถ้าสภาวะรู้สึกตัวทั่วพร้อม จะรู้ทุกๆอย่างของสภาวะที่เกิดขึ้นในกายและจิต เรียกว่า รู้ทั้งความคิด รู้ทั้งกาย รู้ทั้งจิต รู้ทุกๆอย่าง ทุกสภาวะที่เกิดขึ้นในกายและจิตนี้ แล้วถ้าปัญญาจะเกิด เขาจะเกิดเอง

๗ มีค.

สภาวะไม่แน่นอนตลอดเวลา ยิ่งเข้าใจสภาวะมากเท่าไหร่ การปฏิบัติยิ่งไปได้อย่างสะดวกสบาย ถ้าไม่ปกิบัติตามสภาวะจะรู้สึกยากลำบาก เพราะไปฝืนสภาวะ
เมื่อฝืน มันคือการแก้ไข สภาวะจึงเปลี่ยนไป แทนที่จะไปอย่างต่อเนื่อง จึงเหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกๆครั้ง

เมื่อวานสมาธิแรงทั้งวัน เนื่องจากมีงานให้ทำเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรรู้สึกถึงกำลังของสมาธิที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เลยนั่งสลับไปมากับการทำงาน

เมื่อคืนนอนหลับๆตื่นๆตลอด จิตเป็นสมาธิช่วงๆ ช่วงไหนเป็นสมาธิจะมีสติรู้สึกตัวตลอด

เดี๋ยวนี้ระหว่างที่นั่งรถไปทำงานไปกลับ จะนั่งกำหนดตลอด จิตเป็นสมาธิตลอด มีความรู้สึกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางไวมาก

ดีกว่านั่งมองโน่นมองนี่ เวลารถติดจะรู้สึกถึงเวลาที่ยาวขึ้นไปอีก ถ้านั่งกำหนดไปซะ รู้สึกถึงเวลาเดินทางที่สั้นลง ถึงแม้จะใช้เวลาเดินทางที่มากก็ตาม

เช้านี้ มีอาการง่วงแต่เช้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องหาเหตุละว่าเกิดจากอะไร เดี่ยวนี้ไม่ ง่วงก็ให้รู้ว่าง่วงเท่านั้นเอง ไม่ไปค้นหาว่าทำไมหรืออะไร อย่างไร ให้เสียเวลา เพราะรู้แล้วว่ามันไม่เที่ยง

ง่วงมั่ง ไม่ง่วงมั่ง เป็นเรื่องปกติของสภาวะ กิเลสต่างหากที่มาทดสอบเรา เพียงแต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ เลยหลงค้นหาเหตุ หาทางแก้ไขสภาวะความง่วง ผลพลอยได้จากสภาวะความง่วงที่ได้มาคือ

ทำให้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนพระโมคคัลลา เกี่ยวกับอุบายในเรื่องของความง่วง พระองค์ทรงสอนให้เรียนรู้สภาวะด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้ไปหาเหตุว่าทำไม แต่ตอนนั้นที่เราอ่าน เราเข้าใจว่า นั่นคือ อุบายที่ใช้ในเวลาที่ง่วงนอนว่า ควรทำอย่างไรบ้าง

เหมือนกับคำปริศนาที่ว่า เดินทางเดียว ไม่เหยียบซ้ำรอยกัน เมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นการเดินจงกรม มาถึงวันนี้ถึงบางอ้อเลย ที่แท้เป็นเรื่องของสภาวะการปฏิบัติ ถึงแม้จะไปทางเดียวกัน แต่ปฏิบัติแตกต่างกันไป เนื่องจากเหตุที่ทำมาของแต่ละคน

นี่แหละ เขาถึงบอกว่า สภาวะมีแค่ไหน จะรู้ได้แค่ตามสภาวะของตัวเอง จะไปรู้มากกว่านั้นไม่ได้เลย ได้แต่คาดเดา อาศัยความรู้ที่มีอยู่ในการตีความสภาวะว่า ต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ มันจะรู้ตั้งแต่หยาบๆก่อนจะรู้ถึงสภาวะที่ละเอียด เราเองก็เป็นเช่นนั้น

เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า คนเราต้องโง่มาก่อนถึงจะรู้ ทุกๆคำปริศนาจะมีตัวสภาวะของสภาวะนั้นๆแฝงอยู่ จะรู้ได้ต่อมา ต้องย่ำสภาวะนั้นจนชำนาญ เหมือนคนที่หลับตาเดินขอบเหว โดยไม่ตกเหว มันต้องแบบนั้น

กลับเข้ามาสู่เรื่องสภาวะความง่วงเองก็เช่นกัน พระพุทธองค์ทรงให้เรียนรู้ด้วยสภาวะด้วยตัวเอง ไม่งั้นเจอคนขี้สงสัย จะต้องถามว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้น แบบนี้ พระองค์เลยให้เรียนรู้ทุกๆสภาวะด้วยตัวเอง

สุดท้ายคำตอบของสภาวะคือ ไม่เที่ยง คุณจะไปแก้ไขยังไงๆก็ไม่ได้ เพราะมันไม่เที่ยง ต้องปล่อยวาง ที่ไปแก้ไขเพราะไปให้ค่ากันเองว่า ง่วงเพราะอะไร เลยหาทางแก้ไข

ง่วงก็ให้รู้ว่าง่วง ถ้าง่วงมากก็ให้นอนไปเลย พอนอนไปบางทีไม่ยอมหลับก็มี หรือหลับไปก็มี เราไปคาดเดาอะไรไม่ได้ วันนี้ง่วงแล้วหลับ ต่อไปง่วงแล้วไม่หลับ นี่แหละสภาวะเขามาสอนไม่ให้ยึดติด เพราะมันไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตลอดเวลา

กอดกันวันละนิด

ขึ้นชื่อว่าของคำว่า กอด เวลาคิดย่อมมองว่ามันมีตัณหาราคะอย่างแน่นอน ส่วนจะมีมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับกิเลสหรือสภาวะของแต่ละคนด้วย

แต่การกอดที่เราเขียนถึงวันนี้ เป็นการกอดเพื่อที่จะให้ มิใช่เกี่ยวกับกิเลสตัณหาราคะแต่อย่างใดเลย

เมื่อก่อนเคยไม่เข้าใจตัวเอง คิดว่าตัวเองต้องมีความผิดปกติบางอย่างในตัว เพราะพอกอดใครๆ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ เวลากอด เราจะต้องง่วงนอนไม่ก็หลับไปทุกครั้ง

ได้แต่สงสัยนะ แม้แต่กับคนที่เราใกล้ชิดก็ตาม ยังไงๆเราก็หลับอยู่ดี ขนาดนั่งกอดกระต่าย ยังหลับเกือบตกบันได มีใครบ้างไหมที่มีอาการแบบนี้

เคยถามน้องคนหนึ่งและคนรอบๆตัวทั้งหญิงและชายว่า ถ้าได้กอดกัน รู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วยิ่งเป็นคนที่อยู่ด้วยกันเช่นคนที่คบกันนั้นเป็นอย่างไร

ส่วนมากตอบว่า ต้องมีตัวราคะความกำหนัดเกิดขึ้น ส่วนจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ความรู้สึกขณะนั้นๆด้วย

เราบอกว่า เราไม่เป็นนะ เรากอดใครๆก็ตาม ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ถ้ากอดนานเราจะหลับ ถ้ากอดแค่สั้นๆเราจะง่วง ไม่มีความรู้สึกแบบนั้น

มาตอนนี้ได้คำตอบแล้ว จากการเจริญสตินี่แหละ ว่าทำไมเวลาที่กอด เราจึงอาการแบบนั้นเกิดขึ้น คือไม่ว่าจะกอดคนหรือสัตว์ จิตเราจะตั้งมั่นทันที

ทีนี้สติเราไม่ทันในขณะนั้นๆ สมาธิจึงล้ำหน้าสติ เราจึงมีอาการง่วงไม่ก็หลับไปทันที พร้อมๆกับสมาธิที่ยังเกิดขึ้นอยู่

สภาวะมาตอกย้ำให้รู้ชัดในเรื่องสภาวะของการกอด แม้กระทั่งคนที่เข้ามาใกล้ชิด ได้มาพูดคุยกับเรา เขาเหล่านั้น ได้รับการถ่ายเทสมาธิจากเราทุกๆคน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ทางตรงคือการกอด ทางอ้อมคือการพูดคุยกัน ไม่ว่าจะทางเน็ตหรือทางตัวตนจริงๆ สมาธิสามารถถ่ายเทไปได้ทุกทาง

ตรงนี้มีข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่นำมาอธิบายให้เห็นภาพชัดได้ คือมีหลักฐาน มีตัวตนมายืนยันได้ว่า การถ่ายเทสมาธินั้นมันมีอยู่จริง

แม้แต่ในตำราหรือในพระไตรปิฎกก็มีเขียนบันทึกไว้ว่า พึงคบกับบุคคลผู้ที่มีสมาธิ

ถ้าคนที่ยังไม่เข้าใจสภาวะ ยังไม่เคยสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ ย่อมอ่านตัวหนังสือแล้วตีความทำนองว่า ให้คบคนที่มีสมาธิ เพราะเหตุว่า คนที่มีสมาธิ ย่อมรู้ดีว่าจะทำให้เกิดสมาธินั้น ทำอย่างไร

จริงๆแล้ว สภาวะมันลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะสมาธิมีทั้งมิจฉาและสัมมาสมาธิ ซึ่งคนที่มีสมาธิจะอธิบายได้หรือไม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสัมมาสมาธิได้ แล้วทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิแบบที่คนๆนั้นมีอยู่ได้

ทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้นกับเรานั้น มีแต่มาสอนเราตลอดเวลา ตอกย้ำตลอดเวลา แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ ยังทำใจไม่ได้ในการให้สมาธิแก่คนอื่นๆโดยเราไม่ได้เต็มใจให้ เพราะความอยากที่มีอยู่แต่เรายังมองไม่เห็นในตอนนั้น

เราหวง เพราะสมาธิเป็นกำลังที่สำคัญในเส้นทางนี้ แท้จริงแล้ว ทุกอย่างมันคือเหตุ เหตุที่ทำมา เราเกิดมาเพื่อที่จะให้ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ สมาธิของเราจึงมึแต่ให้กับคนอื่นๆ แต่รับของคนอื่นๆไม่ได้

สภาวะมาสอนให้เราปล่อยวางในเรื่องทุกๆเรื่อง สอนในเรื่องการให้ด้วยใจโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ สอนให้ยอมรับในทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้น ยอมรับโดยไม่มีข้อแม้ สภาวะมาสอนเรื่องความไม่เที่ยงตลอดเวลา

แต่เราไม่เคยรู้เลย เพราะตอนนั้นยังมองไม่เห็น เรียกว่ากิเลสบดบังสภาวะ แต่ไม่เห็นกิเลส เพราะยังไม่รู้จักกิเลสโดยสภาวะ รู้จักกิเลสที่เป็นเพียงบัญญัติที่เรียกว่า กิเลสๆๆๆๆๆ เท่านั้นเอง รู้จักแต่กิเลสภายนอก ไม่รู้จักกิเลสภายใน

ไม่เคยมีใครมาบอกหรือพูดให้ฟังในเรื่องราวเหล่านี้ เรื่องที่ได้เขียนๆบันทึกเอาไว้ ทุกสิ่งที่เขียนออกมา

ทุกๆครั้งที่เราย้อนกลับมาอ่าน บันทึกเหล่านี้เป็นหลักฐานบ่งบอกถึง ความผิดพลาดที่เจอมาก่อน ก่อนที่จะรู้ นี่แหละถึงมีคำพูดที่ว่า ต้องโง่ แล้วถึงจะรู้ โง่กับกิเลสนี่เอง ไม่ใช่โง่กับใครที่ไหนเลย

การถ่ายเทสมาธิมีหลายแบบ แล้วแต่เหตุที่ทำมา

บางคน เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้

บางคนเป็นแค่ผู้รับ แต่ให้ของตัวเองแก่ใครๆไม่ได้

บางคนควบคุมสมาธิได้ คือจะให้ใครหรือไม่ให้ใครก็ได้ จะรับหรือไม่รับของใครก็ได้

บางคนมีแต่ให้ บังคับอะไรไม่ได้เลย สมาธิไหลอยู่ตลอดเวลา ถ่ายเทไปหารอบๆตัวตลอดเวลา แต่สมารถรับของคนอื่นๆได้ด้วย

บางคนมีแต่ให้ บังคับอะไรไม่ได้เลย สมาธิไหลอยู่ตลอดเวลา ถ่ายเทไปหารอบๆตัวตลอดเวลา แต่ไม่สามารถรับของคนอื่นๆได้

เราเป็นบุคคลในประเภทท้ายสุด คือ ถ่ายเทออกไปให้รอบๆตัวหรือให้คนอื่นๆอย่างเดียว และไม่สามารถรับของคนอื่นๆได้ ต่อให้คนนั้นๆมีสมาธิมากแค่ไหนก็ตาม เราไม่สามารถรับของเขาได้

มีแต่ว่า ของคนๆนั้นมีมากเท่าไหร่ เขายิ่งมีกำลังดึงสมาธิของเราไปมากยิ่งๆขึ้น แม่แต่สมาธิภายใน ที่มีกำลังมากๆ แม้แต่เราเองยังไม่สามารถดึงออกมาหรือนำออกมาใช้ได้ แต่คนเหล่านั้นสามรถเข้าไปดึงสมาธิส่วนนั้นออกมาได้ อะเมซิ่งไหมล่ะ

มาพูดถึงเรื่องการกอดกันต่อ มีน้องที่ทำงาน ที่เคยเล่าให้ฟังมาบ้าง จากที่เขามีสัมผัสอยู่แล้ว ประกอบกับเขาได้คลุกคลี ได้มาพูดคุยกับเรา เหตุระหว่างเขากับเรามีต่อกัน เขาจึงเชื่อในสิ่งที่เราพูด

และสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัวของเขา คนรอบๆตัวเขา เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า สิ่งที่เราบอกให้เขาฟังนั้น มันมีอยู่จริงและเป็นจริง พร้อมทั้งสามารถถ่ายเทไปสู่คนอื่นๆได้ ทั้งๆที่บางคนที่เราอาจจะมองว่า คนๆนั้นไม่มีสมาธิเหรือไม่มีสัมผัสเลย

เรื่องนี้เขาเจอด้วยตัวของเขาเอง เป็นเหตุให้เขามาสนใจเรื่องการเจริญสติ สนใจในเรื่องการปฏิบัติ นี่แหละ สภาวะของแต่ละคน ถ้าทำตามสภาวะ สภาวะจะนำทางให้เขาเอง ว่าทำแบบไหนจึงจะเหมาะกับสภาวะของคนๆนั้น

ไม่ใช่คนอื่นๆมาบอกว่า ตัวเองนั้นเหมาะกับการปฏิบัติแบบไหน นั่นมันคือความคิดของคนอื่นๆ ไม่ใช่ตามความเป็นจริงในสภาวะของแต่ละคน

เดี่ยวนี้ครอบครัวของเขา เริ่มมาปฏิบัติมากขึ้น โดยตัวเขาเองเป็นคนชักนำ ส่วนใครจะทำแบบไหน เขาบอกว่าทำตามสะดวกได้เลย แม้แต่กับลูกและหลานที่ขอตามไปปฏิบัติได้ ไปวันศุกร์กลับวันอาทิตย์ ส่วนตัวเขาอยู่ที่วัดต่อจนครบ ๑๐ วัน

เขาบอกว่า ลูกของเขาได้รับสมาธิจากเขาตลอด เขาบอกว่า เชื่อแล้วว่าสมาธิสามารถถ่ายเทโดยการกอดกันได้ แม้แต่คนในครอบครัวเขา คนที่ใกล้ชิด แต่ละคนเริ่มมีสัมผัสในสิ่งที่มองไม่เห็นที่ชัดมากขึ้น จากที่ไม่เคยรู้จักเรื่องสัมผัสเหล่านี้เลย

นี่แหละปัจจัจตังในสิ่งแรกที่ทุกๆคนสามารถรู้และทดสอบด้วยตัวเองได้ ว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่ ทุกอย่างต้องรู้และสัมผัสได้ด้วยตัวเองก่อน หากไม่รู้ด้วยตัวเอง จะไม่มีวันเชื่อในเรื่องเหล่านี้เลย

และละไม่ใช่แค่น้องคนนี้คนเดียว ที่เชื่อในเรื่องพวกนี้ แม้แต่คนอื่นๆที่เข้ามาหาเรา จากไม่เคยเชื่ออะไรเลย ไม่เคยสนใจเรื่องการเจริญสติ หันมาสนใจกันมากขึ้น

เมื่อวานช่วงที่นั่งรถกลับบ้าน ตอนจะลงจากรถ มีคนถามเราว่า เรานั่งได้ยังไงในท่าเดียว ไม่มีการขยับตัว ตั้งแต่ปากน้ำจนถึงลำสาลี ไม่เมื่อยมั่งเลยหรือ

เราบอกว่า สนใจเรื่องสมาธิไหม มาทำแบบเราสิ แล้วเขาจะทำได้แบบที่เราทำ
เขาบอกว่า มันทำได้จริงๆหรือ เขาไม่เคยทำ เราบอกว่าทำได้สิ หากสนใจไปหาเราที่ห้องทำงาน

เห็นไหมทุกอย่างมันมีเหตุ ไม่ต้องไปอธิบายให้มากความ ถ้าไม่เคยสร้างเหตุร่วมกันมา อธิบายไปก็เท่านั้น เพราะไม่เคยสร้างเหตุร่วมกันมา ย่อมไม่มีการมาเชื่อกัน

จะถูกหรือผิด มันก็แค่ความคิด ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะมีเหตุร่วมกัน เราจึงควรให้อภัยและเมตตาต่อกัน

เพราะถ้ารู้แล้ว ชัดแจ้งแล้ว ความผิดพลาดย่อมไม่มีอย่างแน่นอน ไม่มีใครที่ไหนอยากมาทำร้ายกันหรืออยากทำผิดพลาดหรอก
แต่เพราะความไม่รู้ยังมี เราจึงต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับเจริญสติต่อไปเรื่อยๆ

เหตุของการเกิด

เหตุของการเกิด คือ เกิดจากยังละกิเลสอันเป็นรากเหง้าของวัฏฏะทั้งหลายไม่ได้โดยประการทั้งปวง กรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำลงไป จึงเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วัฏฏะนั้น จึงวนเวียนไปเพราะมีกรรมและกิเลสเป็นปัจจัยด้วยประการดังกล่าว

เมื่อได้มาเจริญสติ เป็นเหตุของการทำสติที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ตัวสัมปชัญญะเกิด เมื่อตัวสัมปชัญญะเกิด สมาธิย่อมเกิดขึ้น สภาวะที่เกิดขึ้นคือ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นเหตุให้สามารถรู้ชัดในกายและจิตได้

สิ่งแรกที่ทุกๆคนจะได้เจอเหมือนกันหมดเมื่อตัวสัมปชัญญะเกิดแล้วคือ กิเลส เจอเหมือนกันหมดทุกๆคน ทั้งๆที่ปกติแล้วกิเลสทำงานตลอดเวลา แต่ไม่สามารถรู้ชัดได้แบบนี้ มันเป็นการตอกย้ำสภาวะของกิเลสที่มีอยู่ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น

กิเลสมีสองชนิด เกิดขึ้นได้โดยมีผัสสะเป็นเหตุ เป็นกิเลสชนิดหยาบ

กับเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องมีผัสสะเป็นเหตุ เป็นกิเลสชนิดละเอียด

กิเลสชนิดหยาบ อาศัยผัสสะเป็นเหตุ

กิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นโดยทางเป็นอารมณ์ เพราะปรารภขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอดีตและอนาคตบ้าง และเพราะปรารภขันธ์ทั้งหลายที่พระขีณาสพทั้งหลาย ที่ท่านกำหนดรู้แล้วบ้าง

เพราะกิเลสดังกล่าว ใครๆก็ละรากเหง้าของภพไม่ได้ แต่กิเลสควรรู้ทางสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะว่าขันธ์ทั้งหลายไม่ได้กำหนดรู้ด้วยการเจริญสติ เกิดขึ้นในภพใดๆ หรือในสันดานใดๆ

จำเดิมแต่การเกิดขึ้น ( ของขันธ์ทั้งหลาย ) ในภพนั้นๆหรือในสันดานนั้นๆ กิเลสที่เป็นรากเหง้าของวัฏฏะก็แทรกซึมอยู่ในขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วย พึงทราบเถิดว่า กิเลส ( ที่แทรกซึมอยู่ ) นั้น คือ ภูมิลัทธะ ( ได้ภูมิพื้น ) โดยความหมายว่ายังละไม่ได้

กิเลสชนิดละเอียด ไม่ต้องอาศัยผัสสะ สภาวะตรงนี้ ต้องเจริญสติจนตัวสัมปชัญญะเกิดขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง จึงจะรู้ชัดได้

นี่แหละชีวิต

มองชีวิตของตัวเอง เออ … คนเราส่วนมากชอบสนใจเรื่องชาวบ้านนะ ใครจะเป็นอะไรยังไง
ต้องคอยตามเฝ้าดู ” ละครชีวิต ”

แต่ผู้คนกลับลืมที่จะดูละครชีวิตของตัวเอง ทุกวันนี้ ในครอบครัวของตัวเองนั้น สุขสบายดีกันไหม อยู่ดีมีสุขไหม มีใครเจ็บป่วยกันบ้างไหม เงินทองที่หามาได้ล่ะ พอเลี้ยงคนในครอบครัวกันบ้างไหม วันนี้จะดูแลคนในครอบครัวให้เขาเหล่านั้นมีความสุขยังไงบ้าง ฯลฯ …..

เท่าที่เราฟังๆเขาคุยกันมา มีแต่คุยอวดความร่ำรวย อวดความยากจน อวดความพอมีพอกิน
ที่คิดว่าพอ

แต่แปลกนะ พอถามถึงคนในครอบครัวว่า รู้บ้างไหมว่าคนในครอบครัวนั้น เขาต้องการอะไรกันบ้าง เกือบจะเหมือนกันหมดนะ ตอบว่า ไม่เห็นมีอะไรนี่ ถ้ามีอะไร เขาก็จะพูดกันเอง เรานั่งนิ่งๆแล้วมองเขาเหล่านั้น

ก่อนที่เราจะเมตตาต่อคนอื่นๆได้ คนในบ้านน่ะ เมตตาทั่วถึงหรือยัง ไม่ใช่เมตตาแค่ตัวเองไปวันๆ หรือวิ่งไปทำบุญ ไปสร้างกุศลนอกบ้าน คนในบ้านน่ะเคยนึกเขากันบ้างไหม จะตักข้าวใส่ปาก เคยหันมองบ้างไหมว่า คนไหนตักกับข้าวถึงไหม …..

นี่แหละชีวิตคน คนจริงๆคนๆวนๆแต่เรื่องชาวบ้าน ส่งจิตออกนอก แต่ไม่เคยดูคนในบ้านให้ทั่วถึง เวลาไปทำบุญ โอ้โห!!!! …. ปราณีตสวยงาม อาหารต้องเลิศรส

คนในบ้านก็คนนะ เขาก็ต้องกินเหมือนๆกัน คุณค่าของความเป็นคนเท่าๆกัน ไม่แตกต่างกันเลย หมั่นทำบุญ เมตตาให้กับในบ้านให้ทั่วถึงก่อนนะ จึงค่อยไปเผื่อแผ่คนนอกบ้าน กิเลสชาวบ้านน่ะ อย่าไปใส่ใจกันนักเลย มันก็แค่ละครที่เขาเล่นไปตามวิบากกรรมของเขาแต่ละคน

เมื่อก่อนเวลาเกิดการกระทบ อารมณ์หยาบๆจะเกิดขึ้นก่อน คือ โกรธ จากความโกรธ มันจะกลายเป็นเกลียดคนๆนั้น

พอโดนกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากความเกลียดหายไป เหลือแค่ความโกรธ จากความโกรธหายไป เหลือแค่ความไม่ชอบใจ

จากกความไม่ชอบใจ เหลือรู้ว่า มันเกิดการกระทบอีกแล้ว ความไม่ชอบใจผุดขึ้นมาแว๊บหนึ่ง แล้วสงบลงไป เหลือ แค่รู้ รู้ว่าอารมณ์ประมาณนี้มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าเมื่อก่อน มันดับได้ไวขึ้น ปฏิกิริยาที่เกิดขณะที่กระทบ มันเลยไม่เกิดขึ้นมากมายเหมือนก่อนๆ ….

เราทุกรูปทุกนาม ย่อมก่อเหตุทุกๆการกระทำ เพราะ ความไม่รู้ เพราะเราถูกครอบงำด้วยกิเลส ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง

เราจึงต้องมาเจริญสติปัฏฐานกันเพราะเหตุนี้ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ความเป็นจริงนั้นคืออะไร คือกิเลสในใจของเรานั่นเอง

เมื่อเรารู้จักกิเลสในใจของเรา เราย่อมมองเห็นกิเลสของชาวบ้านชัดเจนมากขึ้น แล้วเราอยากจะลงไปเล่นกับกิเลสชาวบ้านเขาไหม ไม่มีเลยนะ มันไม่ลงไปเล่น จากที่เคยลงไปเล่น มันจะลงไปเล่นน้อยลง จนกระทั่งมันเลิกลงไปเล่นในที่สุด ….

กิเลสชาวบ้านเขา สิ่งที่เขาแสดงออกมา นั่นคือกิเลสของเขาเหล่านั้น แต่เพราะความไม่รู้ของตัณหาความทะยานอยากทั้งหลาย ที่มันครอบงำเราไว้ เราเลยไปเก็บเกี่ยวกิเลสชาวบ้านเขามาเป็นกิเลสเรา เอามันมาปรุงแต่งตามจริตนิสัยหรือสันดานของตัวเราเอง สันดานดิบที่ยังมีอยู่ในใจของตัวเราเอง สันดานใครสันดานมัน กิเลสมันจะแสดงตามสันดานของเจ้าของ ความหยาบคายมากน้อยของจิตใจของแต่ละคน ….

เมื่อเรามาเจริญสติปัฏฐาน จิตเราจะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้น ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือทุกๆที่ก่อให้เกิดการกระทบมากขึ้น ยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

แรกๆยากนะ ยากมาก ยอมรับว่าทำใจได้ยากมากที่จะปล่อยให้คนอื่นๆมารังแกหรือทำร้ายเรา แม้จะเป็นทางด้านของจิตใจก็ตาม

จิตมันจะดิ้นรนขัดขืน ทุกข์ใจ ทรมาณใจ ขมขื่นใจมากๆนะกับสิ่งที่เราต้องเป็นฝ่ายปล่อยให้เขากระทำกับเราเพียงฝ่ายเดียว โดยที่เราต้องนิ่งไม่ตอบโต้ใดๆทั้งสิ้น สภาพเหมือนถูกมัดมือชก

ช่วงนั้นสภาพของจิตใจจะแย่มากๆ ทรมาณสุดๆเลย ทำไมต้องมาทำร้ายกันขนาดนี้ด้วย เราไปทำอะไรให้หรือ ทุกๆสภาวะที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆจะให้คำตอบแก่เรา ว่าทำไมเราต้องยอมเขา ทำไมเราต้องอดทน ถ้าไม่มาเจริญสติ ไม่มีทางรู้ได้หรอกนะ หรือถ้ารู้ก็อาจจะรู้ได้เพียงผิวเผิน แต่ไม่สามารถรู้ลึกลงไปถึงเหตุที่แท้จริง …..

ทุกๆสภาวะเปลี่ยนไป เราจะได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆการกระทบนั่นคือการเรียนรู้ เหมือนเราเรียนหนังสือ การกระทบก็คือ ครู

แต่เรียนครั้งนี้ เราเรียนชีวิตของเรา เรียนโดยจิต ความรู้ที่ได้รับมันจะมีแต่เรื่องของเหตุที่กระทำ และเรื่องของผลที่มารองรับเหตุที่กระทำนั้นๆ มันจะเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับเรา

เลือกเอานะ เลือกเอา ชีวิตนี้เป็นของทุกๆคน ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก เลือกเอานะ ก่อภพก่อชาติให้เกิดใหม่ไปเรื่อยๆ หรือ กระทำเพื่อให้ภพชาติสั้นลง จงตัดสินใจเอาเอง …

คนเราน่ะ ก่อนจะเอาดีได้ มันก็เลวมาก่อนกันทั้งนั้นแหละ สุดแต่ว่าจะเลวมากหรือน้อย ตามเหตุที่กระทำกันมา

อุปมาอุปมัย ดูเอาง่ายๆนะ ใครที่โดนคนอื่นๆกระทำให้เจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุด หรือ โดนผู้อื่นด่าว่ามากที่สุด จงรู้ไว้ นั่นแหละคือ ตัวคุณเองในอดีต หรือจะเถียงว่าไม่จริงล่ะ ทำไมสามีมีเมียน้อย ทำไมภรรยามีชู้ ฯลฯ ทำไม?????? …….

ทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนๆนั้น นั่นคือ เหตุที่เขาเคยกระทำกับคนอื่นๆมาก่อนทั้งนั้น ทำไว้ในอดีต ซึ่งเราอาจจะระลึกได้และระลึกไม่ได้ ผลที่ได้รับในปัจจุบันเลยเป็นเช่นนี้ ทำกับเขาไว้ เขาย่อมมาทวงถาม ทวงคืนเอามั่ง

เราจึงต้องมาเจริญสติ เพื่อให้มีสติรู้อยู่กับทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ไปกล่าวโทษใครหรืออะไรทั้งสิ้น เราน่ะมันเคยโง่มาก่อน ทำกับเขาไปเพราะความโง่

เรามาเจริญสติ ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เรามีสติ ทำให้เรารู้ว่า ชดใช้เขาไปนะ อดทนไว้ อย่าไปตอบโต้เขา การตอบโต้คือการก่อภพก่อชาติใหม่ให้เกิดขึ้นอีก 1 คน ต่อ 1 ชาติ เอาไหม

คนมีสติดี เขาไม่เอาหรอกนะ มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะตอบว่าเอา เพราะการเกิดน่ะ มันมีแต่อะไร มีแต่การสร้างเหตุใหม่ไม่รู้จักจบสิ้น …..

ฤามีให้หนีกรรม กรรมก็คือการกระทำ ใครทำคนนั้นย่อมรับผล ตัวเองทำแล้วไปโยนให้คนอื่นรับงั้นหรือ ต้องโทษตัวเองนะ โทษความไม่รู้ของตัวเองที่ก่อเหตุใหม่ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ให้หมั่นเจริญสติ จิตจะได้ฉลาดในการสร้างเหตุ จะสร้างแต่กุศลนะ อกุศลมันจะไม่แตะ มันเหมือนของร้อน แค่คิดก็ร้อนแล้ว ร้อนอกร้อนใจด้วยไฟพยาบาท เมื่อไม่ได้ดั่งใจที่ต้องการ นี่เห็นไหม อกุศล ยังไม่ทันลงมือกระทำ ผลแสดงทันที ….

ทำเองก็ได้ ง่ายจัง

เหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป วิธีการที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ ของแต่ละคน จึงเริ่มต้นแตกต่างกันไป เรื่องการปฏิบัติหรือการเจริญสติ บางคนอาจจะคิดว่ายุ่งยาก บางคนก็อาจจะว่าง่าย เพราะเหตุที่ทำมาของแต่ละคนแตกต่างกันไป จึงมีทั้งง่ายและยากแตกต่างกันไปตามความคิดของแต่ละคน

ที่ว่าทำเองก็ได้ ง่ายจัง คือให้ทำตามสภาวะของตัวเอง ถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้น จะใช้รูปแบบไหนๆก็ได้ ใช้เวลาตอนไหนก็ได้ จะมากหรือน้อยตามความคิดของแต่ละคน คือ ทำแค่ไหนก็ได้ เพราะเหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป จะสวดมนต์ก่อนปฏิบัติหรือหลังปฏิบัติหรือจะไม่สวดเลยก็ได้ เรียกว่าทำตามสภาวะของคนๆนั้นจริงๆ

รูปแบบหลักๆที่ต้องทำทุกวันไม่ควรทิ้งคือ เดินก่อนที่จะนั่ง เพื่อเป็นการปรับอินทรีย์ ส่วนการเดิน เดินเท่าที่เดินได้ ถนัดแบบไหนทำแบบนั้น เคยฝึกมาแบบไหน ให้ทำไปตามนั้น ทำเสร็จแล้วค่อยสวดก็ได้หรือไม่สวดเลยก็ได้ เหตุเพราะบางคนอาจจะไม่ชอบสวดมนต์ บางคนสวดแล้วก็หลับไปก่อนก็มี

เดินแล้วปวดขา ก็ให้นั่ง จะเดินแค่รอบเดียว หรือเดินแค่หนึ่งนาทีก็ได้ แล้วนั่งต่อหนึ่งนาทีก็ได้ ถ้าปวดขาก่อน ก็ให้แผ่เมตตากรวดน้ำได้เลย ไม่ต้องไปทนปวด

เราต้องดูว่า จุดประสงค์ที่แท้จริง เราทำไปเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่ออยากที่จะเป็นอะไรตามบัญญัติ นั่นคือ กิเลส ต้องดูให้ทัน เรามาปฏิบัติเพื่อดับเหตุทั้งปวง คือ ดับที่ตัวเราของเรานี่แหละ ไม่ใช่ทำเพื่อไปเป็นอะไร บางทีการรู้มากไปก็เหมือนดาบสองคม รู้แล้วรู้จักนำสภาวะมาใช้ก็มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้แล้วไปยึด นั่นก็เท่ากับไปเพิ่มกิเลสในใจ ทำให้กิเลสบดบังสภาวะ

การแผ่เมตตา กรวดน้ำถ้ายังจำไม่ได้ ก็ลืมตาอ่านไปก่อน จนกว่าจะจำได้ จำได้เมื่อไหร่ค่อยหลับตาแผ่เมตตา กรวดน้ำ เพราะจำได้หมดแล้ว

ถ้าถามว่า ลืมตาให้แบบนี้ แล้วจะได้บุญไหม ทุกอย่างอยู่ที่จิต แค่คิดให้จากใจ การทำแบบนั้น ยังไงๆก็ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการสร้างเหตุดี ผลที่ได้รับย่อมดีอย่างแน่นอน ส่วนจะได้ผลช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเหตุที่เคยทำไว้กับเหตุที่กำลังทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย อาจจะได้ทันทีทันใดหรืออาจจะช้าล้วนขึ้นอยู่กับเหตุที่ทำ

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ