แปลกๆ

วันนี้เห็นสภาวะแปลกๆ เป็นช่วงที่เรากำลังต่อว่าผู้ที่ต้องมาวางบิลให้กับเรา ไม่งั้นเงินเดือนที่ได้รับจะได้รับช้าตามการวางบิล

คือในการพูด คำพูด เราพูดแบบที่ว่าเวลามีคนทำไม่ได้ดั่งใจเรา เป็นแค่ขั้นความไม่พอใจ ไม่ถึงขั้นโกรธ ในระหว่างนั้น เราเห็นจิตของเรา แบบมันแปลกๆนะ

คือ แบบปากต่อว่าเขา แต่จิตของเราที่เรามองเห็นในขณะนั้นมันว่างเปล่า มันไม่ได้มีอารมณ์หรือความรู้สึกใดๆเกิดขึ้นในขณะที่กำลังต่อว่าเขา นี่ไง เราถึงบอกว่าดูแล้วมันแปลกๆ

การปฏิบัติที่แท้จริง

การปฏิบัติจะมีสภาวะแบบหยาบๆและละเอียด แรกเริ่มของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของกายและจิต เมื่อสภาวะละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ จิตตั้งมั่นได้ตามต้องการหรือแม้กระทั่งไม่ได้ต้องการให้เกิด แต่จะเกิดเอง เป็นเองตามสภาวะ

สภาวะที่เกิดขึ้นต่อไป จะเป็นสภาวะที่ละเอียด เป็นเรื่องของจิตเพียงอย่างเดียว

สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้

แรกเริ่มของการปฏิบัติ เรามาเรียนรู้เรื่องกายก่อน เพราะสภาวะของกายจะเห็นได้แบบหยาบๆได้ง่ายกว่าสภาวะของจิต

จิตมีสภาวะที่กลับกลอก หลอกลวงตลอดเวลา ถ้าไม่มีสติที่ตั้งมั่น จะไม่สามารถรู้เท่าทันสภาวะที่แท้จริงของจิตได้

เราจึงต้องมาฝึกเจริญสติเพราะเหตุนี้ เพื่อให้รู้จักทุกซอก ทุกมุม ที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเอง นี่คือวัตถุประสงค์แรกของการเริ่มฝึกเจริญสติ

เราจะรู้จักทุกๆสิ่งได้ ต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงให้ได้ก่อน หากยังไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง สิ่งต่างๆนอกตัวไม่ต้องไปพูดถึง

การเจริญสติ จึงมีการแยกหมวดออกมาเป็น สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม

รู้กายในกาย ได้แก่ รู้ชัดในกายนี้เป็นแค่เปลือกที่เป็นที่ให้จิตได้อาศัยอยู่ชั่วคราว

รู้เวทนาในเวทนา ได้แก่ รู้ชัดในทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย การยึดติดในกาย

รู้จิตในจิต ได้แก่ รู้ชัดถึงความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นในจิต

รู้ธรรมในธรรมหรือธรรมารมณ์ ได้แก่ รู้ชัดในความคิดที่เกิดขึ้น

จะรู้ชัดในกาย เวทนา จิต ธรรมได้ ต้องมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

เหตุของการเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีองค์ประกอบได้แก่ สติ ๑ สัมปชัญญะ ๑ สมาธิ ๑

เรียนรู้เรื่องกาย,เวทนา,จิต,ธรรม

กาย

เห็นกายในกาย

เหตุที่ทำให้สามารถเห็นกายในกายได้ ต้องมาเรียนรู้เรื่องกายแบบหยาบๆก่อน จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของกายที่ละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้น

หลักการดูกาย

จุดเริ่มต้นในการดูกาย เราเรียนรู้แบบง่ายๆก่อน คือ ดูลมหายใจเข้าออก เป็นการเรียนรู้เรื่องของกายแบบหยาบๆ เพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่พาเราไปเรียนรู้ในส่วนอื่นๆของกายภายในที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

เรื่องของกายภายใน เป็นสภาวะที่ละเอียด ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถรู้ได้ด้วยใจหรือที่นิยมเรียกว่าจิต

เวทนา

เห็นเวทนาในเวทนา

เหตุที่ทำให้สามารถเห็นเวทนาในเวทนาได้ ต้องมาเรียนรู้เรื่องเวทนาแบบหยาบๆก่อน จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของเวทนาที่ละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้น

หลักการดูเวทนา

จุดเริ่มต้นในการดูเวทนา เราเรียนรู้แบบง่ายๆก่อน คือ ดูความเจ็บปวด ทุกขเวทนาที่เกิดกับกาย เป็นการเรียนรู้เรื่องของเวทนาแบบหยาบๆ เพราะความเจ็บปวด เป็นสิ่งที่พาเราไปเรียนรู้ในส่วนอื่นๆของเวทนาแบบละเอียด

เหตุของการเกิดเวทนาทั้งหมด เป็นสภาวะที่ละเอียด ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการมองเห็นหรือรู้ได้ด้วยการท่องจำ แต่สามารถรู้ได้ด้วยใจหรือที่นิยมเรียกว่าจิต

จิต

เห็นจิตในจิต

เหตุที่ทำให้สามารถเห็นจิตในจิตได้ ต้องมาเรียนรู้เรื่องจิตแบบหยาบๆก่อน จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของจิตที่ละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้น

หลักการดู จิต

จุดเริ่มต้นในการดูจิต เราเรียนรู้แบบง่ายๆก่อน คือ ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต เป็นการเรียนรู้เรื่องของจิตแบบหยาบๆ เพราะความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นในจิต เป็นสิ่งที่พาเราไปเรียนรู้จิตแบบละเอียด

เหตุของการรู้ชัดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต ที่เป็นสภาวะที่ละเอียด จะเป็นเรื่องของ สติ สัมปชัญญะและสมาธิที่ทำงานร่วมกัน

ธรรม ( ธรรมารมณ์ )

เห็นธรรมในธรรม

เหตุที่ทำให้สามารถเห็นธรรมในธรรมได้ ต้องมาเรียนรู้เรื่องความหมายของธรรมก่อนว่า ธรรมตัวนี้หมายถึงอะไร

ธรรมในที่นี้หมายถึง ธรรมารมณ์ ได้แก่ ความคิดที่เกิดขึ้นแบบหยาบๆก่อน จะทำให้เราเข้าใจในเรื่องของธรรมที่ละเอียดได้ชัดเจนมากขึ้น

หลักการดูธรรม ( ธรรมารมณ์ )

จุดเริ่มต้นในการดู ได้แก่การดูความคิดที่เกิดขึ้น เราเรียนรู้แบบง่ายๆก่อน คือ ดูความคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เป็นการเรียนรู้เรื่องของความคิดแบบหยาบๆ เพราะความคิดต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่พาเราไปเรียนรู้เรื่องความคิดแบบละเอียด

เหตุของการรู้ชัดถึงความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆได้ เป็นสภาวะที่ละเอียด จะเป็นเรื่องของ สติ สัมปชัญญะและสมาธิที่ทำงานร่วมกัน

บันทึก

แก้ไขใหม่ 14 มค. 65

สิ่งที่เขียนไว้ของเก่านั้นที่เกิดขึ้นครั้งที่ ๑
เป็นสภาวะของบุคคลที่ปฏิบัติได้วิโมกข์ ๘
ต่อมาได้มรรคผลตามความเป็นจริง
ต่อมารู้ชัดสภาวะเนวสัญญาฯ มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ต่อมา ขณะทำกรรมฐาน จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
จะมีความรู้ความเห้นผุดขึ้นมา นิพพานดับภพ
ต่อมามีความรู้ความเห็นเกิดขึ้นมา อวิชชา สังขาร วิญญาณฯลฯ
เกิดจากความไม่รู้ เข้าใจว่าการดับภพชาติการเวียนว่ายตายเกิด

ต่อมากำลังสมาธิ(วิโมกข์ ๘) เสื่อมหายไปหมดสิ้น
เกิดจากการคลุกคลีหมู่คณะ พูดคุยกัน
บางคนมีความสามารถในการดูดกำลังสมาธิจากคนอื่นได้
จากเหตุการณ์ที่เจอกับตัวเองทำให้รู้ว่าสมาธิสามรถถ่ายเทให้กันได้

จากกำลังสมาธิเสื่อมหายไปหมดสิ้น ทำให้รู้ชัดผัสสะ เวทนา ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ทำให้รู้ว่าคำเรียกเหล่านี้คืออะไร ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
ทำให้รู้ว่าเป็นการดับภพชาติของการเกิดปัจจุบัน
ซึ่งเคยเขียนเล่าวไว้

ส่วนครั้งที่ ๒ ไม่ใช่สภาวะที่เขียนไว้
ตรงนี้ทำให้รู้ว่ากำลังสมาธิมีเกิดขึ้นได้ก็เสื่อมได้
เกิดจากการคลุกคลีกับหมู่คณะ จับกลุ่มคุยกัน สมาธิสามารถถ่ายเทไปยังคนอื่นได้
บางคนมีความสามารถดูดกำลังสมาธิจากคนอื่นได้

สำหรับบุคคลที่สนใจเรื่องการได้มรรคผลตามความเป็นจริง
ให้ดูสภาวะไตรลักษณ์ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ต่อด้วยสภาวะจิตดวงสุดท้าย แล้วดับ

หากมีแต่สภาวะจิตดวงสุดท้าย ไม่มีไตรลักษณ์ปรากฏก่อนหน้า
อันนี้ไม่ใช่การได้มรรคผล เป็นเพียงเหตุปัจจัยของบุคคลนั้นคือตายแล้วฟื้น

มรรคผลตามความเป็นจริง ครั้งที่ ๑
ไตรลักษณ์(ทุกขัง)ปรากฏก่อน ต่อด้วยสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ
แล้วเหมือนมีแรงดูดมหาศาลจากอีกที่ไปสู่อีกที แล้วกลับมารู้กาย
เฉพาะบุคคลที่ได้วิโมกข์ ๘ สภาวะจะปรากฏตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า วิชชา ๑
ส่วนวิธีกระทำเพื่อดับทุกข์
มีความรู้ความเห็นแตกต่างกันเกิดจากอินทรีย์ ๕

ครั้งที่ ๒
ไตรลักษณ์(อนัตตา)ปรากฏก่อน ต่อด้วยสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ
สภาวะจะปรากฏตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า วิชชา ๒
บุคคลปฏิบัติได้รูปฌานหรืออรูปฌาน จะมีความรู้ความเห็นเหมือนๆกันตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ส่วนวิธีกระทำเพื่อดับทุกข์
มีความรู้ความเห็นแตกต่างกันเกิดจากอินทรีย์ ๕

ครั้งที่ ๓
ไตรลักษณ์(อนิจจัง)ปรากฏก่อน ต่อด้วยสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ
สภาวะจะปรากฏตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า วิชชา ๓
บุคคลปฏิบัติได้รูปฌานหรืออรูปฌาน จะมีความรู้ความเห็นเหมือนๆกันตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ส่วนวิธีกระทำเพื่อดับทุกข์
มีความรู้ความเห็นแตกต่างกันเกิดจากอินทรีย์ ๕

ที่ไม่ลบการอธิบายที่เขียนไว้
คนที่มาอ่านจะทำให้เข้าใจตัวสภาวะของการได้มรรคผลตามความเป็นจริงนั้น
ต้องมีไตรลักษณ์ปรากฏก่อน ต่อด้วยสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ
ถ้าไม่มีสภาวะดังนี้ แล้วคิดว่าตนได้มรรคผล ล้วนเกิดจากอุปาทานขันธ์ ๕
คือความอยากแต่ไม่รู้ทันตัณหาที่มีเกิดขึ้น

และเกิดจากความไม่รู้ที่มีอยู่


สภาวะการเกิดปัจจเวกขณญาณครั้งที่ ๑

ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นในตัวของผู้ปฏิบัติ คือ สมาธิที่มีอยู่จะหายไปหมดจนไม่มีเหลือแม้แต่สักนิดเดียว จะมีเหลือแต่สติ สัมปชัญญะ ตามความเป็นจริงที่มีอยู่

เหตุที่สมาธิไม่มีเหลือเลย เกิดเนื่องจากเป็นสภาวะทบทวนกิเลส หากสมาธิยังคงมีมาก จะเห็นสภาวะกิเลสที่มีเหลืออยู่อย่างแท้จริงไม่ได้ เนื่องจากกำลังของสมาธิกดข่มกิเลสเอาไว้

เนื่องจากไม่มีกำลังของสมาธิหล่อเลี้ยงจิต จะเกิดสภาวะจิตเห็นจิต เห็นกิเลสที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ยามที่เกิดผัสสะหรือเกิดการกระทบทุกๆครั้ง แม้กระทั่งไม่มีการกระทบเกิดขึ้นก็ตาม จะเห็นสภาวะกิเลสที่ละเอียดลึกลงไปอีก

การเกิดครั้งแรก ด้วยความไม่รู้ในเรื่องของสภาวะ ไม่มีการเขียนบันทึกจากใครๆ หรืออาจจมีการเขียน แต่ตัวผู้เขียนไม่รู้ว่าสภาวะนั้นๆคืออะไร เราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน จะรู้สึกทุกข์ใจ ทรมาณมากๆ

เพราะเมื่อไม่มีสมาธิหล่อเลี้ยงจิต จะมองเห็นกิเลสยามเกิดการกระทบได้อย่างชัดเจน ต้องใช้กำลังสติที่มีอยู่ในการรู้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ เพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดเหตุใหม่ที่เป็นการสร้างเหตุกับคนอื่นๆให้เกิดขึ้น ทรมาณจริงๆสภาวะนี้

หลวงตามหาบัว ได้เคยพูดไว้เรื่องการสูญเสียสมาธิของท่าน ที่จู่ๆก็หายไปจนหมดสิ้น แต่ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องสภาวะของญาณ หรือคำเรียก แต่อาการที่เกิดขึ้นเหมือนๆกันคือ สมาธิหายไปหมด เหลือแค่สติ สัมปชัญญะ

ซึ่งตัวท่านเองก็บอกว่ารู้สึกทรมาณมากๆ เหมือนคนเริ่มต้นการภาวนาใหม่ ที่ไม่มีอะไรเลย เรียกว่าเริ่มต้นใหม่หมดในการทำจิตให้เป็นสมาธิ สภาวะที่เกิดขึ้นของหลวงตากับเราไม่มีความแตกต่างกันเลย

สภาวะตอกย้ำ

เมื่อผ่านครั้งที่ ๑ มาได้ จะรู้แน่ชัดได้ว่าสภาวะที่เกิดขึ้นใช่สภาวะของปัจจเวกขณญาณจริงหรือไม่ จะรู้ได้ต่อเมื่อมีสภาวะนั้นเกิดขึ้นอีก

การเกิดสภาวะปัจจเวกขณญาณครั้งที่ ๒

ครั้งนี้จะมีสภาวะเหมือนครั้งแรก แต่แตกต่างตรงที่ กำลังของสมาธิ ครั้งแรกจะหายไปหมด เรียกว่าเหี้ยนเตียนไม่เหลือสักนิดเดียว

ครั้งที่ ๒ กำลังของสมาธิจะเหลือแค่แผ่วๆ อาการเหมือนคนใกล้จะหมดลมหายใจ แต่ยังหายใจได้อยู่ สมาธิที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะแผ่วเบามากๆ เหมือนแทบจะไม่มี ครั้งนี้ไม่ทรมาณเพราะรู้แล้วว่าสภาวะที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร

พอผ่านสภาวะครั้งที่ ๒ สมาธิจะกลับมามีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งหนักหน่วงแนบแน่นทุกครั้งที่เกิด โดยไม่ต้องเริ่มฝึกทำสมาธิใหม่เหมือนการผ่านครั้งแรก กิเลสเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัด ดูจากทั้งผัสสะที่เกิดขึ้น และไม่มีผัสสะเป็นเหตุปัจจัย

ต้องดูจิตให้ทันว่า ทุกๆการกระทำนั้นๆ ทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพราะความอยาก มันจะทุกข์ เหมือนสภาวะปัจจะเวกที่เกิดขึ้นครั้งแรก ทุกข์มากๆเพราะเสียดายสมาธิ และมีความคาดหวัง อยากรู้ในสภาวะต่อๆไป มีความอยากแต่มองไม่เห็น

พอมาเกิดสภาวะนี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ ไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์แต่อย่างใด เพราะเข้าใจในตัวสภาวะแบบถ่องแท้แล้ว รู้ดีว่าสภาวะจะดำเนินไปตามเหตุของตัวสภาวะเอง ไม่ได้มีความอยากเหมือนในครั้งแรก ครั้งนี้ดูจิตทันตลอด

เมื่อรู้แล้ว ย่อมไม่อยาก เพราะไม่รู้จะอยากไปทำไม ทำตามสภาวะไปนี่แหละ แล้วทุกอย่างจะจบลงไปด้วยตัวของตัวสภาวะเอง เรามีหน้าที่คือ ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา พยายามหาอุบายรักษาจิตตัวเองเอาไว้ ยามที่เกิดความเบื่อหน่าย

เพราะนับวันสภาวะความเบื่อหน่ายเปลี่ยนไปมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องเอากิเลสที่เราชอบ มาหลอกล่อสภาวะความเบื่อที่เกิดขึ้น เพื่อจิตจะได้มีกำลัง จะได้อยู่ได้กับสภาวะความเบื่อที่เกิดขึ้น ยิ่งนับวันเกิดนานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่สั้นๆ

ทุกๆครั้งที่ผ่านแต่ละสภาวะหรือรู้ชัดในสภาวะนั้นๆได้ กับดักกิเลสจะเกิดขึ้นตลอดเวลา นับวันเนียนมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น สติจะคมกล้า ปัญญาจะเกิดขึ้นมากมาย ขอเพียงรู้เท่าทันสภาวะ จะไม่ตกหลุมพรางกิเลสอย่างแน่นอน

ครั้งนี้เราอยู่กับสภาวะต่างๆได้สบายๆมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะจัดสรรกิเลสให้ลงตัว ถึงแม้จะเปลี่ยนตัวละครมาแสดง เราดูทัน ไม่หลงกลกิเลส เหตุเพราะความอยากมี อยากได้ อยากเป็นอะไรๆนั้น หรือแม้กระทั่งความอยากสอน ไม่มีเหลือในจิต

สภาวะครั้งนี้ จะเห็นตัวโลภะในเรื่องอาหารได้อย่างชัดเจน เราพยายามทำใจให้เป็นกลาง นี่ก็เช่นกันโดนกิเลสเล่นงานแต่ไม่รู้ว่าโดน แรกๆหลงแก้ไขสภาวะไปด้วยความไม่รู้ จริงๆแค่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปพยายามทำอะไรเลย

ต้องโง่มาก่อน ต้องผิดพลาดถึงจะดูออก เรียกว่าถึงจะรู้ตัวว่าแก้ไขสภาวะอีกแล้ว เลยโดนกิเลสเล่นซะอ้วนพี แต่ไม่ทุกข์กับสภาวะ โง่กับกิเลสก็ยอมรับไปตามความเป็นจริง ของใกล้ตัวย่อมดูยาก เพราะเป็นของชอบ เรื่องปกติ

อยากกิน ก็ให้รู้ว่าอยากกิน ยังเป็นคนชอบกินอยู่ก็ให้รู้ว่าชอบกิน เพราะรู้ดีว่า เดี๋ยวมีเหตุให้โลภะตัวนี้ค่อยๆลดน้อยลงไปเอง จนกระทั่งไม่มี คืออยู่กับปัจจุบันได้ในที่สุด เหมือนหลายๆสภาวะที่ผ่านๆมา

ทุกข์น้อยลง

ทุกข์น้อยลง

ทุกข์นับวันน้อยลงไปเรื่อยๆ เหตุเพราะยอมรับตามความเป็นจริงต่อสิ่งหรือสภาวะที่เกิดขึ้น และรู้เท่าทันต่อการให้ค่าที่ยังมีอยู่ รู้ทันมากขึ้นเรื่อยๆ การเขียนตามความเป็นจริงในสิ่งที่เราเป้นอยู่ นั่นคือการยอมรับตามความเป็นจริง

ไม่ได้เขียนเพราะกิเลสของความอยาก อยากมี อยากได้ อยากเป็น โดยเฉพาะอยากสอน ไม่มีเลยจริงๆ แล้วไม่เคยคิดอยากให้ใครมาเชื่อ เขียนข้อความทั้งหมดที่เกิดจากจิตตัวเอง เพื่อดูตัวเอง ดูสภาวะทั้งหมดของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต

ไม่ได้ทำเพื่อสนองตัณหาความทะยานอยากแต่อย่างใด เมื่อยอมรับได้แล้ว สภาวะกิเลสความอยากเริ่มเห็นได้ทันมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยคนเพราะอยากหรือช่วยเพราะตามเหตุ แยกแยะสภาวะได้ทัน หากมีจิตช่วยเพราะอยากจะหยุดทันที

มีการคาดเดาก็รู้เท่าทันว่านี่คาดเดานะ เป็นเหตุให้เห็นสภาวะตามความเป้นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในการคาดเดา เราย่อมเฝ้าดู ทบทวนสภาวะตลอดเวลา สภาวะจะเกิดเดิมๆซ้้ำๆ แต่เปลี่ยนตัวบุคคลหรือตัวผัสสะที่มากระทบ

พอดูทัน การคดาเดาลดน้อยลง บางครั้งสติทัน ผัสสะจบแค่ตรงนั้นทันที แค่ดู แค่รู้ แต่ไม่มีความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้นแต่อย่างใด เรียกว่า เกิดแล้วดับทันที สภาวะอื่นเกิดต่อทันทีเหมือนกัน

สภาวะที่ว่างหรือว่างจากความคิด ดูทันมากขึ้น แค่สงบจากกิเลสชั่วคราวเท่านั้นเอง พอมีกิเลส เริ่มมีตัวตนทันที เป็นเหตุให้มีความคิดเกิดขึ้นทันที่ หากปราศจากความคิด หรือมีความว่างจริงๆ มันจะไม่มีคำพูดใดๆกล่าวออกมาเลย

ที่ยังมีคำกล่าวออกมา แสดงอย่างนั้นอย่างนี้ตามบัญญัติ นี่ล้วนเกิดจากการให้ค่าตามอุปทานที่ยังมีการยึดติดอยู่ในสภาวะนั้นๆ เราดูทันมากขึ้นเรื่อยๆ จิตย่อมหยุดได้ไว การปรุงแต่งย่อมน้อยลงโดยไม่ต้องไปคิดอะไรต่อ

คิดทบทวนสภาวะตอนที่เคยแต่งกลอน คิดแล้วขำตัวเอง นั่นอีกหนึ่งสภาวะที่ตอนนั้นดูไม่ออก กิเลสจินตนาการแต่ดูไม่ออก ไหลไปตามกิเลสดูไม่ออก แต่งกลอน เขียนกลอนออกมามากมาย ที่แท้กิเลสความคิดทั้งนั้น

แยกแยะสภาวะความว่างได้ละเอียดมากขึ้น หากมีความว่างปรากฏขึ้น จะไม่มีความคิดใดๆเกิดขึ้นเลย จะรู้อยู่แต่ในกายและจิต กิเลสนี่นะไวมาก กว่าจะดูออก ต้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำอีก เรียนเดิมๆซ้ำๆอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะแยกสภาวะออกได้

เมื่อแยกออกมาได้ จะมองเห็นชัดที่ว่า สภาวะแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะเรายังดูไม่ทัน ที่แปรเปลี่ยนคือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ที่ยังมีการให้ค่าต่อสภาวะที่เกิดขึ้นนี่เอง ส่วนสภาวะก็ยังคงเป็นตัวของสภาวะเอง เพราะมีเรา จึงมีการแปรเปลี่ยน

เมื่อไม่มีเราในสภาวะนั้นๆ สภาวะย่อมคงเป็นสภาวะอยู่อย่างนั้น เป็นไปตามเหตุของตัวสภาวะเอง

วางลงได้ สบายมากขึ้น

ตอนนี้เห็นแบบนี้ ทำตามเหตุแล้วสบาย รู้สึกอย่างไรรู้ไปตามนั้น คิดอย่างไรคิดไปทียังมีการให้ค่าหรือคาดเดาอยู่ แต่ไม่ค้นหาคำตอบ เพราะรู้ดีว่า วางลงได้เมื่อใด คำตอบจะรู้เอง มันมีเท่านี้ และเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป

การแผ่เมตตา กรวดน้ำในผู้อื่นมีความสุข ได้ผลแน่นอน ดีกว่าไปขอให้ผู้อื่นรวย สวย ดี แม้กระทั่งขอให้ตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความอยากมี อยากได้ อยากเป็นทั้งสิ้น เมื่อไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ทุกข์อีกแล้ว นี่แหละความไม่รู้

เอาจิตวิ่งไปหาความทุกข์ที่หลงว่านั่นคือ ความสุข อธิษฐานความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตไปด้วยความไม่รู้

ใครๆก็ชอบความสุข ความสบาย แต่เขาผู้นั้นที่จะรู้เองว่า อะไรทำให้เขามีความสุข มีความสบาย ไม่ใช่จากการคาดเดาของผู้อื่นแต่อย่างใด สุข,สบายไปตามเหตุปัจจัยที่ทำมาและที่กำลังสร้างให้เกิดขึ้นมาใหม่อีก สุข,สบายที่เกิดจากการคาดเดา

ความทุกข์ล่ะ มองยังไม่เห็น เพราะความสุขที่เกิดจากคาดเดา เกิดจากการให้ค่าบดบังสภาวะตามความเป็นจริงอยู่ สุขของเขา อาจจะเป็นทุกข์ของเรา ทุกข์ของเขา อาจจะเป็นความสุขของเรา ตราบใดที่ยังมีการให้ค่า ย่อมไม่เห็นสภาวะที่แท้จริง

๒๕ มิย.

ดูหนัง สอนตัวเอง

เป็นคนชอบดูหนัง ยิ่งดูยิ่งตอกย้ำสภาวะว่า จงอย่าโง่ในการสร้างเหตุของการเกิดอีก ทุกข์ภายนอกที่มองเห็น ไม่ต่างกับทุกข์ที่เราจะต้องพบเจอทุภพทุกชาติ

การดูหนัง เป็นอุบายในการรักษาจิตของเราอย่างหนึ่ง ดูแล้วสภาวะจะตอกย้ำตลอดเวลาว่า จงอย่าโง่อีก ทุกข์ของทุกๆคนไม่ว่าจะชีวิตจริงหรือในหนัง ล้วนไม่แตกต่างกันเลย

แม้กระทั่งเรื่องของความศรัทธา เมื่อก่อนเราชอบนำความศรัทธาในเรื่องต่างๆมาพิจรณา เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เหตุใครสร้างมาอย่างไร เขาย่อมรับผลไปตามนั้น ทุกๆสภาวะไม่มีความแตกต่าง ที่ยังมีความแตกต่างอยู่ ล้วนเกิดจากกิเลสที่ให้ค่าต่อสภาวะ

มีเขา มีเรา ล้วนเกิดจากการให้ค่า ไม่มีเขา ไม่มีเรา ก็ล้วนเกิดจากการให้ค่าตามบัญญัติที่ได้เรียนรู้มา สุดแต่จะปรุงแต่งออกมาเพื่อรักษาจิตของตนเอง แต่โดยตัวสภาวะที่แท้จริงก็เป็นไปตามสภาวะ ไม่ว่าจะมีเราในสภาวะนั้นๆหรือไม่ก็ตาม

แต่จะรู้หรือยังว่ามีการให้ค่าว่าไม่มีเรา,เขา,คน,สัตว์ ตัวตนบุคคลทั้งหลาย ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ล้วนเป็นการให้ค่าทั้งสิ้น สิ่งใดก็ตามที่ยังไม่รู้ชัดหรือพิสูจน์ด้วยตัวเองได้ สิ่งต่างๆเหล่านั้นตามบัญญัติล้วนคือการให้ค่าทั้งสิ้น

ให้ค่าแล้วหยุดตัวเองได้ หยุดการสร้างเหตุของการเกิดได้ นั่นคือประโยชน์ของการให้ค่า

ให้ค่าแล้ว ยังหยุดตัวเองไม่ได้ ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความชอบหรือความชังขึ้นมา ล้วนเป็นการสร้างเหตุของการเกิดทั้งสิ้น ให้ค่าแบบนี้เป็นโทษ

หากเราไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความอยากแฝงอยู่ในสภาวะนั้นจริงๆ ย่อมมองตามเหตุ เหตุของผู้ใด เขาย่อมรับผลไปตามที่เขาทำ มันมีและมันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ใช่คิดไปทำหน้าที่แก้ไขผู้อื่นด้วยความอยากที่แฝงอยู่ แต่ยังดูไม่ออก ดูไม่ทันกิเลส

ต้องดับเหตุทั้งปวงที่ตัวเอง นี่ต่างหากสิ่งที่สมควรทำก่อนเรื่องอื่นๆ ดับที่ตัวเองยังดับไม่ได้ นับประสาอะไรกับนอกตัว ที่อยากคิดจะไปดับ มีแต่กิเลสความอยากทั้งนั้น

หากดับที่ตัวเองได้แล้ว ผู้ที่มีเหตุร่วมย่อมตามมาเอง ไม่ต้องไปโน้มน้าวให้เชื่อ มาเชื่อกันก็เพราะเหตุ ไม่เชื่อกันก็เพราะเหตุ เพียงแต่จะรู้ด้วยตัวเองหรือยังเท่านั้นเอง หากรู้แล้วจะไม่เสียเวลาไปกับเรื่องนอกตัว

ทำตามเหตุแล้วสบาย สบายทั้งกายและจิต

๒๙ มิย.

กลับมาปกติ

วันนี้เกิดสภาวะสังขารุฯกับสภาวะทิสากา ๑ ครั้ง เป็นทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย เวลาที่สภาวะนี้เกิดสมาธิจะมีกำลังแนบแน่นและหนักหน่วงมากๆ

เริ่มเรียบเรียงสภาวะต่างๆได้แม่นยำมากขึ้น เพราะจดจำรายละเอียดของสภาวะต่างๆขณะที่กำลังเกิดได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะจะเดิมๆซ้ำๆวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น จากการเห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นเหตุให้เห็นความไม่ได้ดั่งใจ

เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย เบื่อน้อยๆจนกระทั่งเบื่อมากๆ จนกระทั่งจิตปล่อยวางไปเอง

เรามีหน้าที่เพียงคอยปรับเปลี่ยนสภาวะของตัวเอง ใช้วิธีรักษาจิตเอาไว้ อุบายในการรักษาจิตของเรานั้นมี้ทั้งให้จิตพักในสมาธิบ้าง ดูหนังบ้าง เย็บผ้าบ้าง ทำงานบ้านบ้าง เล่นเกมส์บ้าง สารพัดวิธีต่างๆเหล่านี้สลับสับเปลี่ยนตลอดเวลา

เพื่อรักษาจิตเอาไว้ ไม่ให้จิตเกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญใจ ถ้าเป็นแบบนั้น กิเลสต่างๆจะเป็นคลื่นแทรกเข้ามาได้อย่างง่ายดาย แค่สร้างเหตุให้จิตอยู่กับปัจจุบัน หางานที่จิตชอบให้จิตทำ หลบจากสภาวะที่กำลังเป็นอยู่ชั่วคราว

พอจิตมีกำลังตั้งมั่นมากพอ จะอยู่กับสภาวะต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจิตจะกลับเข้าสู่ความเป็นปกติของตัวจิตเอง โดยไม่ไปข้องเกี่ยวกับสภาวะที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด มียอมรับว่ามี แต่ไม่มีผลต่อจิต

ความไม่รู้

บางคนเมื่ออยู่ในสภาวะนี้ หากไม่รู้จักหาวิธีรักษาจิตเอาไว้ จะพบแต่ความเบื่อหน่าย เป็นเหตุให้เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดเนื่องจากการไม่ยอมรับตามความเป็นจริงโดยไม่รู้ว่าไม่ยอมรับ จนกระทั่งพลาดท่าเสียทีกิเลสไปแล้วถึงจะรู้

เช่นหาทางแก้ไขสภาวะ เวลามีความคิดเกิดขึ้นมากมาย เกิดความฟุ้งซ่าน พยายามหยุดความคิด พยายามดึงจิตให้กลับมารู้ที่ลมหายใจบ้าง ที่กายบ้าง ยื้อไป ยื้อมาอยู่แบบนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อถอย

การที่พยายามไปทำแบบนั้น ควรถามตัวเองก่อนว่า ไปยื้อทำไม ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร แล้วจึงจะรู้คำตอบโดยตัวสภาวะเอง สุดท้ายคือ ความอยากให้ความคิดหายไป หรืออาจจะตอบว่า อยากลองทำดูว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไร

สุดท้ายไปต่อไม่ได้อีก เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรมีกัลยาณมิตรเพราะเหตุนี้ คนที่ผ่านสภาวะเหล่านี้มาจนชำนาญแล้ว จึงจะแนะนำแนวทางที่ถูกต้องกับเราได้

วิธีการรักษาจิตไม่ได้มีความยุ่งยากอะไรเลย ให้เปลี่ยนอิริยาบท อย่าไปจมแช่กับิอริยาบทเดิมๆ หากนั่งอยู่ในลุกขึ้นเดิน หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆแทน อย่าไปกังวลเรื่องการปฏิบัติ อย่าไปกังวลเรื่องเวลา เพียงรู้ไปตามความเป็นจริง และยอมรับไป

ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะ ให้อยู่กับสภาวะนั้นๆได้ อาจจะดูเหมือนหลบหลีกสภาวะ แต่เราไม่ได้คิดหนี หรือปฏิเสธสภาวะที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องใช้อุบายในการรักษาจิต ให้จิตมีกำลังตั้งมั่นให้มากขึ้นก่อน จึงจะอยู่กับสภาวะนั้นๆได้

วิธีก็ใช้กิเลสที่เรามีความชอบนี่แหละ อะไรที่ชอบให้ทำสิ่งนั้นไป เอาความชอบใส่ลงไป เช่น ชอบดูหนังให้ดูไป ชอบเล่นเกมส์ให้เล่นไป ชอบพักจิตในสมาธิให้พักๆป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำได้เป็นระยะๆแล้วจะเบื่อเหมือนเดิม

จึงต้องคอยปรับเปลี่ยนอิริยาบทตลอดเวลา จนกว่าอาการเบื่อจะคลายตัวลง ดีกว่าไปทุกข์หรือไปพยายามแก้ไขสภาวะที่เกิดขึ้น เราแค่หลบจากสภาวะนั้นชั่วคราว ไม่ได้หนี แค่พักให้จิตมีกำลัง เมื่อจิตมีกำลัง จะทำให้สภาวะนั้นๆคลายตัวลงไปเอง

อยู่อย่างสบาย

๑๐ มิย.๕๔

ยอมรับตามความเป็นจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากเท่าไหร่ นับวันชีวิตอยู่อย่างสบายมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลให้รู้ชัดในกายและจิตเนืองๆ นั่นหมายถึงการปฏิบัติก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

ความอคติที่เคยมีทั้งชีวิตส่วนตัว ทั้งเรื่องภายนอก ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นเหตุให้ จิตส่งออกนอกลดน้อยลง อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จึงรู้สึกสบายๆ เมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้น ตัวปัญญาจึงเกิดขึ้นเนืองๆเพราะเหตุนี้

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะทำอะไร จิตจะคิดพิจรณาก่อนที่จะลงมือทำ บางครั้งมันจะเป็นเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิดพิจรณาอะไรเลย สภาวะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหตุนอกตัวเริ่มลดน้อยลง ผลที่ได้รับจากเหตุนอกตัวจึงลดน้อยลงไป

ของเก่าชดใช้ไป ของใหม่ไม่ทำเพิ่ม เหมือนนำน้ำสะอาดเติมลงในน้ำในแก้วที่มีน้ำสกปรกใส่อยู่ ( กิเลส ) เมื่อเติมน้ำสะอาดใส่ลงไปเรื่อยๆ น้ำสกปรกย่อมล้นแก้ว ไหลทิ้งออกไปนอกแก้วเรื่อยๆ

เมื่อหมั่นเติมน้ำสะอาดๆลงไปบ่อยๆมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่โอกาสจะอำนวย สักวันน้ำสกปรกย่อมล้นไหลออกไปจนหมดสิ้น น้ำในแก้วที่มีอยู่จึงเป็นน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์

สติคอยกำกับ

๑๑ มิย.

วันนี้เพิ่งเห็นสภาวะนี้ชัดเจน ทุกๆครั้งที่สภาวะนี้เกิดจไม่ชัด รู้อีกทีคือ ตอนที่สภาวะนั้นๆผ่านไปแล้ว วันนี้รู้ทันทีตอนที่เกิด สภาวะนี้เรียกเองว่า ” สติคอยกำกับ ” เพราะไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

สภาวะที่เกิด คือ เวลาที่เราเผลอว่าหรือคิดเพ่งโทษใคร จะมีตัวสภาวะนี้เกิดขึ้น คอยกำกับในสิ่งที่เรากำลังคิดลงไปทุกครั้ง

เช่นวันนี้ นั่งมอไซค์ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยนั่ง เพราะกลัวอุบัติเหตุ กลัวเจ็บตัว เคยเจอมาหลายครั้ง แต่ละครั้งโหดมาก เป็นเหตุให้ไม่ชอบนั่งมอไซค์หรือซ้อนท้ายใคร วันนี้ซื้อของเยอะ จำเป็นต้องนั่ง

คนขับ ขับเร็วมาก แข่งกับรถเก๋งข้างหน้า เรากลัวนะในใจคิดว่า ไอ้ห่าเอ๊ย จะรีบไปไหน ทำไมขับเร็วขนาดนี้ มันมีจิตอีกตัวขึ้นมาทันทีว่า จะไปว่าเขาทำไม นั่งไม่ได้ก็ลงสิ ความคิดที่ปกติจะต้องคิดว่ามอไซค์ต่อ มันดับไปทันที

เราบอกมอไซค์ให้จอดเดี๋ยวนั้น ซึ่งเพิ่งนั่งออกมาได้นิดเดียว เราจ่ายเงินแล้วยืนรอรถสองแถว มีหลายครั้งที่สภาวะนี้เกิด แต่ไม่ทันจะรู้ สภาวะผ่านไปแล้วถึงจะรู้ มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่รู้ทัน

นี่แหละ สภาวะของสติรู้เท่าทันการปรุงแต่งของจิต

๒๔ มิย.

บนเส้นทางของความอยาก

วางแล้วจะเห็นชัด

เมื่อจิตเริ่มปล่อยวางสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เป็นเหตุให้เห็นกิเลสชัดมากขึ้น โดยเฉพาะกิเลสความอยาก ตัวนี้สำคัญ เป็นกิเลสที่สามารถเข้าแทรกได้ทุกๆสภาวะ เพียงเพราะมีความคาดหวังโดยไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่ายังดูไม่ทัน

กิเลสความอยากเข้าแทรกได้เมื่อใด สภาวะจะวนๆจนเราไม่ทันรู้ตัว สภาวะจะวกวนไปมาอยู่แบบนั้น วางในสิ่งที่คิดอยู่ได้เมื่อใด จะเห็นสภาวะที่วนเวียนอยู่ชัดเจนเอง ทำเพราะความอยากแต่ไม่รู้ว่าอยาก สภาวะไปต่อไม่ได้เพราะมีความอยาก

แต่ไม่เป็นไร ทุกอย่างเหตุมี ผลย่อมมี ยอมรับตรงนี้ได้ จะเห็นความอยากซ้อนความอยากอีกที เห็นไหมกิเลสน่ะละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คิดว่าไปต่อไม่ได้ นั่นก็ความอยากอีก แต่มองไม่เห็นสภาวะที่ซ้อนๆกันอยู่ ให้ค่าแต่ไม่รู้ว่าให้ค่า

นับว่าคุ้มค่ามากๆกับการเจริญสติที่ทำมาสม่ำเสมอ ทำต่อเนื่องมาตลอด ถึงแม้จะทำเพราะความอยาก การกระทำทุกๆอย่างล้วนเป็นการสร้างเหตุของการดับที่เหตุของการเกิด อาจจะทันกิเลสบ้าง ไม่ทันบ้าง ยังดีกว่าหลงสร้างเหตุของการเกิด

เรามุ่งดูภายในกายและจิตของตัวเอง สิ่งที่มองเห็นได้ชัดคือ การไหลไปตามกิเลสน้อยลง ไม่เป็นคนเพ้อเจ้อ ละเมอเพ้อพก ไหลไปตามกิเลส หลงปรุงแต่ถ้อยคำแต่ไม่รู้ว่าปรุงแต่ง มันจะดูทันหมดนะ แล้วมันจะค่อยๆลดน้อยลงไปเอง

ถึงแม้ว่ายังมีกิเลสก็ยอมรับว่ามี นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร มาแบบไหน เริ่มยอมรับได้หมด เพราะรู้ชัดภายในได้ ย่อมรู้ชัดภายนอก ย่อมเข้าใจสิ่งต่างๆมากขึ้น เขา,เราล้วนไม่แตกต่างกันเลย ทุกอย่างล้วนมีเหตุมาก่อน

เหตุเขา เหตุเรา แตกต่างแค่ตัวละครมาแสดงในรูปของเหตุใหม่ แต่เป็นผลของเหตุที่สร้างไว้ด้วยความไม่รู้ กิเลสที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันเลย สภาวะแตกต่างเพราะเหตุที่ทำมา แต่กิเลสไม่แตกต่าง สติเป็นตัววัดผล ไม่ใช่จากผู้อื่น

แม่

เมื่อก่อนเคยกังวลเรื่องแม่ เหตุที่แม่กำลังทำอยู่ เราได้แต่แผ่เมตตา กรวดน้ำให้แม่ ขอให้แม่จงมีความสุข ทำอย่างนี้มาตลอดในหลายปีที่ผ่านมา นับว่าได้ผลที่คุ้มค่าจริงๆ แม่เริ่มเข้ารูปเข้ารอยในสภาวะมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้แม่โทรฯมา เรื่องสภาวะของแม่ นิสัยของแม่ ปกติแล้วแม่ไม่เคยพูดแบบนี้กับเรา นี่ไง เราถึงบอกว่า ถ้าใครมีตัวสัมปชัญญะเกิดแล้ว จะเห็นแต่กิเลสของตัวเอง แม่เองก็เช่นกัน และแม่ยอมรับตามความเป็นจริงในสิ่งที่แม่เป็นอยู่

แม่บอกว่าตอนนี้นิสัยที่แม่เป็นอยู่เบาบางลงไปเรื่อยๆ เวลาใครถามแม่ว่าปฏิบัติแบบไหน แม่จะตอบทันที่ว่าเจริญสติ สภาวะของแม่ กำลังเป็นไปในแบบของแม่ อานิสงส์ที่เราตั้งใจทำให้กับแม่มาตลอด ส่งผลไวทันตาเห็น

๒๕ มิย.

รู้จักสภาวะของสภาวะ

พอรู้จักสภาวะของสภาวะที่เกิดขึ้นว่า สภาวะนั้นๆคืออะไร เราจะไม่ไปรู้สึกเป็นทุกข์กับสภาวะที่เกิดขึ้นอีกต่อไป แต่กว่าจะรู้และเข้าใจในสภาวะนั้นๆ ทำให้เกิดความทุกข์มากมาย ทุกข์เพราะความอยาก แต่ไม่รู้ว่าที่แท้ความอยากเป็นเหตุ

มัวไปหลงกับการให้ค่า มีการคาดเดา ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความอยากตัวเดียว นี่แหละสุดยอดของความเนียนในสภาวะของกิเลส ยากที่จะดูออก จนกว่าจะพ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่ได้ หรือรู้ได้ว่าสภาวะที่เกิดขึ้นคือสภาวะอะไร นั่นแหละจึงไม่ทุกข์

หลายวันมานี้ เจอสภาวะเบื่ออย่างต่อเนื่อง สมาธิก็แปลกๆ ถึงจะเกิดได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีสภาวะแปลกๆ คือ แผ่วๆบ้าง แรงบ้าง แต่ไม่แรงเท่ากับตอนแรกๆ หลังจากที่สมาธิกลับมามีกำลังเกิดขึ้นใหม่ ช่วงที่ฟื้นฟูสมาธิกลับมา

ตอนนี้สภาวะที่เห็นชัดคือ เรายังคงพักจิตในสมาธิได้เหมือนเดิม กำลังสมาธิตรงนั้นไม่เปลี่ยน แต่ช่วงระหว่างวันที่เราเจริญสตินี่สิ ปกติสมาธิจะมีกำลังแรงมาก ตอนนี้เกิดแบบแผ่วๆ ระยะสั้นๆ ไม่ยาวแบบก่อนๆ แต่ยังคงรู้ชัดในกายและจิตได้ดี

บางครั้งเป็นสมาธิแค่แป๊บเดียวก็หายไป บางวันทำได้แค่รอบเดียว บางวันได้ทั้งวัน แต่สภาวะสมาธิยังคงเหมือนเดิม เป็นเหตุให้เราเห็นสภาวะกิเลสได้ชัดมากขึ้น

เมื่อวานเรามานั่งทบทวนสภาวะว่าเกิดอะไรขึ้น ได้คำตอบแบบไม่คาดคิด เพราะสภาวะนี้เคยผ่านมาแล้ว สภาวะนี้จะไม่มีสมาธิมาก มีแต่สติ สัมปชัญญะเป็นหลัก สภาวะนี้คือ การทบทวนกิเลส ได้แก่ สภาวะของปัจจเวก เป็นการรู้ครั้งที่ ๒

เมื่อรู้ชัดในสภาวะต่างๆแล้ว ความทุกข์ต่างๆที่เคยมีเกี่ยวกับสภาวะจะลดน้อยลงไป ไม่ไปทุกข์ใจกับสภาวะแบบก่อนๆ ยังมีการให้ค่าอยู่ แต่ไม่ไปทุกข์กับการให้ค่า เมื่อก่อนทุกข์เพราะความไม่รู้ ทุกข์เพราะการให้ค่า การคาดเดา

สภาวะสติชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้ามีการเพ่งโทษต่อผู้อื่น จะมีตัวสติเกิดขึ้นกำกับในความคิดนั้นๆทันที ก่อนที่จะปล่อยให้เกิดการกระทำออกไป สภาวะที่เกิดขึ้น เป็นการตอกย้ำว่า สภาวะของตัวสติที่เราเขียนไว้นั้น ตรงตามความเป็นจริงของสภาวะ

สภาวะของตัวสติ

สติ หมายถึง ความระลึก บางคนนำไปตีความว่า ความระลึกนี้ คือ ความรู้สึกตัว

สติ ในแง่ของบัญญัติ คือ ความระลึก

แต่ที่เป็นตามความเป็นจริงของตัวสภาวะ คือ ความรู้ตัว

สภาวะที่เกิดขึ้นคือ รู้ตัวก่อนที่จะลงมือทำ เวลาคิด จะทำสิ่งใด จะมีความรู้ตัว รู้ชัดในความคิดก่อนที่จะลงมือกระทำ เช่น

เราเป็นคนกลัวมอไซค์ที่ขับเร็ว เวลาเจอสภาวะแบบนั้น เราชอบบ่นว่าคนขับในใจ และทนนั่งไปจนถึงบ้าน มีวันหนึ่ง สภาวะนี้เกิดขึ้น ตอนเราบ่นมอไซค์ในใจ จะมีสติขึนมากำกับว่า ไปว่าเขาทำไม นั่งไม่ได้ ไม่ต้องนั่ง

ความคิดที่กำลังบ่นมอไซค์ยืดยาวในใจ ดับลงทันที เราบอกให้มอไซค์จอด แล้วลงทันที สภาวะเปลี่ยนไปคือ เวลาเจอมอไซค์ขับเร็ว เดี๋ยวนี้ไม่การบ่นหรือว่าในใจอีก แต่จะลงทันที

สรุป

สภาวะปัจจเวก เวลาเกิดขึ้น จะมีสมาธิน้อย แต่มีสติ สัมปชัญญะเป็นตัวหลัก จึงเป็นเหตุให้ครั้งแรกที่สภาวะนี้เกิดขึ้น เกิดความทุกข์มากมาย โดยเฉพาะคนที่เคยมีสมาธิมากๆ เพราะการที่มีสมาธิมากๆ ตัวสมาธิจะกดข่มสภาวะของกิเลส

เป็นเหตุให้ ไม่สามารถเห็นหรือรู้ชัดในกิเลสที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ติกกับดักกิเลสเพราะเหตุนี้ โดยเฉพาะกิเลสความอยาก จะมีสภาวะที่เนียนและละเอียดมากๆ กว่าจะรู้ ต้องโง่หรือเสียทีทุกครั้ง แล้วหมดสิทธิ์ไปแก้ไขใดๆ ต้องอยู่กับปัจจุบัน

ต้องอยู่กับสภาวะที่เป็นอยู่ทุกๆสภาวะให้ได้ มีหน้าที่คือ เจริญสติต่อไป ไม่ว่าสภาวะที่กำลังเป็นอยู่นั้น จะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม หากคิดแก้ไข สภาวะจะเปลี่ยนไปทันที สภาวะเดิมนี่แหละ แต่เปลี่ยนตัวละครมาแสดงให้ได้รับผล

ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ยังอยู่กับสภาวะที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ สภาวะยังไม่จบ เพราะนั่นคือ ผลของเหตุในอดีตที่ทำไว้ มาส่งผลในรูปของเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเหตุยังมี ผลย่อมยังมีอยู่

สภาวะที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความชอบใจ เป็นโลภะ

สภาวะที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบใจ เป็นโทสะ

สภาวะที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความเฉยๆ เป็นโมหะ

หากเป็นผู้ที่มีสติ สัมปชัญญะดี จะแค่ดู แค่รู้ ในความรู้สึก,นึกคิดที่เกิดขึ้น มีให้ค่า ยอมรับว่าให้ค่า

หากเข้าใจสภาวะชัดแจ้งแล้ว ย่อมยอมรับตามความเป็นจริง และอยู่ท่ามกลางความรู้สึกเหล่านี้ได้ โดยไม่ไปทุกข์กับสภาวะที่เกิดขึ้น สภาวะนั้นๆจะจบลงไปด้วยของสภาวะเอง

คนโง่ คือ ผู้ที่ยังโง่กว่ากิเลสในใจของตัวเอง ยอมให้กิเลสกดข่มตามใจชอบ ยอมทำตามกิเลสสั่งการ ภพชาติเกิดไม่จบไม่สิ้น วัฏฏสงสารจึงยาวนาน

คนโง่มักชอบอวดการกระทำที่คิดว่าฉลาดแบบทางบัญญัติ มักกล่าวบัญญัตินิยมว่า นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน,สัตว์ เหมือนท่องอาขยาน แต่ยังก่อเหตุแห่งการเกิด ทำให้เกิดขึ้นเนืองๆ โง่เพราะกิเลส เพราะความอยาก แต่มองไม่เห็น

หมั่นจด หมั่นจำ

สภาวะจะมาสอนในรูปแบบต่างๆ เป็นเหตุให้เป็นคนช่างสังเกตุมากขึ้น ดูสภาวะที่เกิดขึ้นทันมากขึ้น ล้วนเกิดจากเหตุที่เป็นคนหมั่นจด หมั่นจำทุกสภาวะที่เกิดขึ้นในจิต เขียนออกมาตามความเป็นจริง

ถึงแม้สภาวะจะหลากหลายรูปแบบ แต่กิเลสจะเป็นตัวเดิมๆซ้ำๆ โดยเฉพาะการให้ค่า จะเห็นชัดมากๆ เมื่อเห็นชัด จะระมัดระวังความคิดมากขึ้น เพราะถ้ามีการคาดเดาทีไร ไม่ตรงกับสภาวะที่เป็นอยู่จริงทุกที

เหตุนี้จึงขยาดกับการให้ค่า เพราะรู้ดีว่า แม้จะเป็นเพียงความคิด ผลย่อมมีอย่างแน่นอน อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือ ความรู้สึกผิด เป็นเหตุให้พยายามระวังความคิดมากขึ้นเรื่อยๆ

และถึงแม้การคาดเดาบางอย่างจะได้รับผลตรงกับความจริงก็ตาม ผลที่ได้รับ ไม่ใช่ความยินดีหรือก่อให้เกิดความพอใจเลย มันกลับมองเห็นแต่เหตุแล้วก็เหตุ เพราะยังมีเหตุ ย่อมมีผลให้ได้รับ

ชอบใจ,ไม่ชอบใจ

สภาวะหลักๆไม่มีอะไรเลย นอกจากความชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

โลภะด้านอาหาร

เรามีโลภะด้านอาหารมาก เกิดจากเหตุที่เป็นคนชอบทำบุญ และให้ทานด้านอาหารมากกว่าทานด้านอื่นๆ ตอนนี้กำลังรับผลจากการให้ทานนั้น

เมื่อก่อนเวลาทำบุญหรือทำทาน เรามักจะชอบทำบุญในสิ่งที่เราชอบ และชอบทำทานโดยการให้อาหารแก่ผู้อื่น ชอบเลี้ยงเพื่อน เลี้ยงคนอื่นๆ แม้จะไม่รู้จักก็ตาม เหตุนี้ เราเรียกว่า กรรมตามสนอง ซึ่งเกิดจากเหตุที่เราทำไว้นี่แหละ

สถานที่เราพักอยู่ ไม่ว่าจะที่ไหนๆก็ตามมีร้านอาหารเยอะกว่าที่อื่นๆ การคมนาคมสะดวก อยู่ใกล้ห้าง อาหารมีราคาที่ไม่แพงมากเกินไป เรียกว่า อยากจะกินอะไร ได้กินดังใจนึก จึงเป็นเหตุสนองด้านโลภะที่เรามีเกี่ยวกับอาหารได้เป็นอย่างดี

เราเป็นคนชอบกิน ชอบก็บอกว่าชอบ ตอนนี้น้ำหนักตัวเลยขึ้นมาอีก หลังจากที่ควบคุมไปได้สักพัก ที่ควบคุมเพราะไม่อยากเปลี่ยนไซค์กางเกงใหม่ เสื้อใหม่ เรียกว่า ไม่อยากซื้ออะไรเพิ่มอีก เลยพยายามควบคุมน้ำหนักเพราะเหตุนี้

ความสุข

เรามีความสุขกับการเจริญสติ เหตุเพราะสภาวะได้พบสิ่งแปลกๆใหม่ๆตลอดเวลา เหมือนเรียนหนังสือแล้วสนุก สนุกกับการค้นหาคำตอบที่ไม่ได้อยากรู้ เพียงแต่ครูให้การบ้านมา เราต้องทำเท่านั้น ครูในที่นี้คือ ครูกิเลส

กิเลสมักจะมีสภาวะแปลกๆให้เราได้เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ แรกๆเจ็บทั้งตัวและหัวใจ เพราะยังมีความโง่อยู่มากๆ เจ็บจนต้องร้องไห้หลายครั้งต่อหลายครั้ง เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว อาการเจ็บทั้งตัวและหัวใจไม่มีอีกต่อไปแล้ว

มีแต่สนุกกับทุกบทเรียน ถึงแม้จะมีไม่ชอบใจในสภาวะบางสภาวะก็ตาม สภาวะเบื่อเป็นสภาวะที่เราไม่ชอบมากๆ แต่ต้องเรียน เพราะตัวสภาวะเบื่อตัวนี้ เมื่อเราอยู่กับสภาวะนี้ได้แต่ละครั้ง สภาวะเราจะเปลี่ยนต่อไป มีบทเรียนใหม่มาต่อ

ก่อนที่จะได้เรียนบทเรียนใหม่ ครูจะให้รางวัลทุกๆครั้ง คือ ตัวปัญญา สภาวะก่อนที่ตัวปัญญาจะเกิด สภาวะจิตจะเบิกบาน นี่ก็กิเลสเหมือนกัน หากไปยึดติด เห็นไหม ขนาดให้รางวัล ครูยังสอนตลอดเวลา ไม่ได้ให้แบบเปล่าๆ ให้แบบมีข้อแม้

สภาวะเช่นไร เจอเพื่อนเช่นนั้น

ไม่ว่าสภาวะของเราจะเป็นอย่างไร เราจะเจอคนรอบๆตัวเป็นเหมือนๆเรา ไม่แตกต่างกันเลย นี่อีกหนึ่งเหตุที่เป็นเหตุให้สภาวะของการมุ่งสร้างเหตุของการดับเหตุทั้งปวงของการเกิด ย่อมเป็นไปตามสภาวะ ไม่มีติดขัด

คนทุกๆคน จะมีสองส่วนในตัว คือ ดีกับไม่ดี ไม่มีใครดี ๑๐๐% หรือใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งหมด เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลส ย่อมมีทั้งดีและไม่ดี เขาดีเพราะถูกใจเรา ถ้าไม่ถูกใจเขา เรานั้นย่อมไม่ดี เขาไม่ดีเพราะไม่ถูกใจเรา เราดีเพราะถูกใจเขา

การจะเห็นตรงกัน เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะได้สร้างเหตุมาเช่นนั้น จงมองส่วนดีของแต่ละคน แล้วหมั่นหาจุดบอดหรือช่องโหว่ของตัวเอง ไม่ไปเพ่งโทษนอกตัว หากยังมีการให้ค่านอกตัว ให้ค่าต้องยอมรับว่าให้ค่า ไม่ใช่ให้ค่าแล้ว มองไม่เห็น

จิตเบิกบาน

ทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้น การเขียนตามความเป็นจริงในสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ เป็นเหตุให้เราได้รู้ชัดในจิตมากขึ้นเรื่อยๆ ลำพังแค่สติที่มีอยู่ ยังไม่ค่อยทันต่อกิเลสที่มีสภาวะละเอียด นับวันกิเลสมีสภาวะละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ

พอได้เขียนออกมา จะมองเห็นจุดบกพร่องของตัวเอง ที่ยังมีการกล่าวเพ่งโทษนอกตัว ไม่ได้เกี่ยวกับใครหรืออะไร การที่จะไปว่าผู้อื่นหรือพฤติกรรมที่เคยกระทำกับผู้อื่นในทางที่ไม่ดี ไม่มีอีกแล้ว ไม่เคยคิดจะไปว่าใครๆอีก มีแต่มองด้วยความเข้าใจ

ให้เขาว่าเรา ดีกว่าเราว่าเขา เขาว่าเรามา เรายอมรับได้ ใจก็สบาย ไม่มีโกรธเคืองหรือหงุดหงิดแต่อย่างใด เพราะเชื่อในเหตุและผล ยอมได้หมดทุกๆเรื่อง ไม่คิดจะตอบโต้กับใครๆอีก ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามสภาวะ เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

เวลาที่จิตจดจ่อรู้อยู่ในบทธรรมะต่างๆ จิตจะเบิกบาน อาการเบื่อค่อยๆลดลง แต่เมื่อใดที่มีความว่างเกิดขึ้น จะมองเห้นความเบื่อที่ยังมีเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จึงหางานให้จิตทำอยู่เรื่อยๆเพราะเหตุนี้ ยิ่งทำงาน จิตยิ่งอยู่กับปัจจุบัน

ไม่ว่าสภาวะใดๆเกิดขึ้น ล้วนมีเหตุทั้งสิ้น เป็นเหตุของสภาวะ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของใครทำให้เกิดหรือทำให้ผลของสภาวะเป็นเช่นนั้น

คนดี

คนดี สำหรับตัวเรา คือ คนที่พูดตามความเป็นจริง วิพากย์วิจารณ์ตามความเป็นจริงในสิ่งที่เขารู้สึกเกี่ยวกับเรา ไม่ใช่คนที่มายกยอปอปั้นเรา หรือมาชื่นชมเรา ยิ่งเพ่งโทษเรามากเท่าไหร่ยิ่งดี

เพราะบ่งบอกถึง ยังมีอีกมากมายที่คนอื่นมองคนละมุมกับเรา เป็นเหตุให้เราปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม ไม่ไปคัดค้านใครๆว่าสิ่งที่เขาว่าเรามานั้น มันไม่จริง

ใหม่ๆยังมีอยู่ที่ยอมไม่ได้ เมื่อโดนผู้อื่นมาว่า ยอมไม่ได้เลย เพราะมองว่าตัวเองไม่ผิด ลืมคิดไปว่า ถูกใจเรา แต่ไม่ถูกใจเขา หน้าที่เรามีเพียงปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาวะ เรายังต้องอยู่กับสังคม ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ

ฉะนั้นต้องปรับเพื่อให้อยู่กับสภาวะนั้นๆได้ ไม่ใช่ให้สภาวะปรับเข้าหาเรา เหตุเกิดที่ตัวเรา ต้องแก้ที่ตัวเรา ไม่ใช่ไปกล่าวโทษนอกตัว แล้วพยายามแก้นอกตัว ทำแบบนั้นมีแต่การสร้างเหตุของเหตุใหม่ให้เกิดขึ้น

รูดซิปปาก

มุ่งแก้เหตุที่ตัวเอง เรื่องนอกตัวปิดปากเงียบดีที่สุด และเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดในทุกๆสภาวะที่ยังมีสิ่งนอกตัวเป็นเหตุปัจจัยอยู่ เราทำเพื่อดับที่เหตุ ปากนี้ก่อเหตุมากที่สุด ใหม่ๆมีอึดอัดมากๆ เดี๋ยวนี้ยอมรับได้ทุกอย่างมากขึ้น

ให้ค่าก็ยอมรับว่าให้ค่า เมื่อให้ค่า ย่อมยังมีคำว่าดีหรือไม่ดีอยู่ ฉะนั้นเมื่ออะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ยอมรับได้หมด และระวังตัวไม่ก่อให้เกิดการกระทำออกไป บางทีสติไม่ทัน ความคิดที่เกิดขึ้นยังมี แต่ไม่ถึงขั้นก่อให้เกิดการกระทำ

ดูให้ทัน

หลายๆสภาวะยังดูไม่ทัน โดยเฉพาะสภาวะเบื่อ ช่วงนี้โดนเล่นงานหนักมากที่สุด ถ้าไม่นำสภาวะเรื่องลำบากกับสบายมาเทียบกัน ดูสภาวะไม่ออกจริงๆว่าตัวเองให้ค่ากับสภาวะ แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง ได้คำตอบแล้ววางทันที

รวมมิตรสภาวะ ยังไม่ได้แยก

การเริ่มต้นการฝึกเจริญสติ

คนทุกคนชอบความสบาย ถ้าเลือกได้ ไม่มีใครที่จะเลือกความลำบาก ผลของการเจริญสติ สิ่งแรกที่พบเห็นได้ชัด เมื่อตัวสัมปชัญญะเกิดขึ้นในจิตผู้นั้น คือ ความเห็นแก่ตัว เห็นแบบหยาบๆก่อน แล้วจะเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นกิเลสมากมายที่เกิดขึ้นในจิต ในแต่ละสภาวะที่มีผัสสะมากระทบ แม้กระทั่งไม่มีผัสสะมากระทบก็ตาม เห็นสภาวะกิเลสตั้งแต่หยาบๆที่มองเห็นได้ จนกระทั่งเห็นแบบละเอียด ที่ไม่สามารถจะรู้ได้ หากจิตไม่นิ่งสงบพอ

จะเห็นความคิดที่เกิดขึ้นมากมาย มีแต่กิเลส แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นกิเลส ซึ่งเมื่อก่อนก็มีไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่สามารถรู้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ เป็นเพียงแค่ความคิดที่ผ่านๆไปเท่านั้นเอง ความแตกต่างอยู่ตรงนี้ รู้ชัดกับแค่ผ่านๆ แล้วก็ลืม

สภาวะ

มารู้จักกับว่า ” สภาวะ ” ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตว่า เกิดจากอะไร ทำไมชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

สภาวะ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน

ทุกๆคำเรียกที่นำมาใช้เรียกในการสื่อสารกัน ล้วนมีตัวสภาวะบ่งบอกทั้งสิ้นว่า คำเรียกนั้นๆมีสภาวะอย่างไรตามความเป็นจริงของตัวสภาวะหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆ

ฐานของจิต

สิ่งแรกที่ควรรู้คือรื่องของฐานของจิต หมายถึง ที่ตั้งมั่นของจิต ได้แก่ตัว สติ สัมปชัญญะและสมาธิ ซึ่งทุกๆคนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้วิธีที่จะนำสิ่งที่มีอยู่แล้วนั้น ว่าจะนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

สติ ส่วนมากจะรู้แค่ตัวบัญญัติ ไม่รู้ว่าสติก็มีตัวสภาวะของตัวสติเอง เหมือนสภาวะอื่นๆที่เกิดขึ้นในชีวิต

การเริ่มต้น

การเริ่มต้นของการฝึกเจริญสติ ไม่มีความยุ่งยากอะไร ขอเพียงมีลมหายใจอยู่เท่านั้นเอง เพียงรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก ร่างกายจะพิการ หรือ ไม่พิการ สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเพียงแค่สภาพของเปลือก ที่จิตมาอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

เปลือกหรือร่างกายของแต่ละคน ไม่ว่าจะมีลักษณะแบบใดก็ตาม ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำหรือสร้างขึ้นมาด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น ผลที่ได้รับ ย่อมเป็นไปตามเหตุที่ทำมา ร่างกายหรือเปลือกจึงมีความแตกต่างกันไปเพราะเหตุนี้

เริ่มเรียนรู้

ก่อนที่ฝึกเจริญสติ เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ทุกๆคนจะต้องพบเจออย่างแน่นอนไม่ว่าจะฝึกหรือไม่ได้ฝึกก็ตาม สิ่งนั้น คือ เรื่องกรรมและ วิบากกรรม

กรรม มีใช้เรียกหลายๆ ชื่อ แต่ความหมายคือตัวเดียวกัน สภาวะไม่แตกต่าง แตกต่างที่ตัวบัญญัติ

กรรม เรียกว่า เหตุ เหตุ คือ การกระทำ

ผลของกรรม เรียกอีกชื่อว่า วิบากกรรม ได้แก่ผลของการกระทำ ผลของกรรมหรือเหตุ ที่ทำลงไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

การกระทำทุกๆอย่างล้วนคือ กรรมหรือเหตุ ฉะนั้นย่อมมีผลให้ได้รับอย่างแน่นอน สร้างเหตุอย่างไร ย่อมรับผลเช่นนั้น

จุดประสงค์ในการเจริญสติ

เราทุกคนปฏิบัติเพื่อมรรค,ผลและนิพพานกัน ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้เป็นเพียงคำบัญญัติหรือคำเรียก ถ้าไม่รู้โดยตัวสภาวะที่แท้จริง อาจเป็นเหตุให้เราเหมือนคนที่เดินวนอยู่ในเขาวงกต

สัจจานุโลกมิกญาณ ( อนุโลมญาณ )

ควรอ่านเรื่องนี้ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจในเรื่องของเหตุ ( กรรม ) และ ผล ( วิบากกรรม ) ที่ได้รับ เพราะถ้าไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จะไม่ตรงกับจุดประสงค์ในการฝึกเจริญสติ เป็นเหตุให้แทนที่จะสร้างเหตุของการดับเหตุ กลายเป็นการสร้างเหตุของการเกิดเหตุ

…………………………………………………..

การเบียดเบียน

ขึ้นชื่อว่ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ล้วนแต่มีเหตุของการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนตัวเอง ก็ต้องมีการเบียดเบียนผู้อื่น ความเป็นกลางหรือจะอยู่กับปัจจุบันได้นี่สุดจะกล่าวได้

เรายินดีเบียดเบียนตัวเอง ดีกว่าไปคิดเบียดเบียนผู้อื่น อย่างน้อยเรารู้ดีว่า เราทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อตัวเราเอง เพื่อดับเหตุของการเกิด ไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไป การเกิดล้วนมีแต่ความทุกข์ ยิ่งทำยิ่งเห็นทุกข์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ยังไงก็คือทุกข์

ทุกข์

สภาวะภายนอกที่ทุกคนมองเห็น ใครๆคาดเดาว่า ชีวิตเรานี้สบายแล้ว ไม่ต้องมาห่วงอะไรแล้ว นั่นล้วนเกิดจากการให้ค่าตามผัสสะกันเอง ส่วนจิตเราจริงๆนั้นมันไม่ใช่ สภาวะตอนนี้ยังคงมีแต่ความเบื่อหน่าย ยิ่งทบทวนชีวิต ยิ่งเบื่อหน่าย

ความเบื่อหน่ายก็เป็นสภาวะหนึ่งของความทุกข์ เพราะมีสภาวะความบีบคั้น ความทนอยู่ไม่ได้ แต่สำหรับเรานั้น เราต้องอยู่ได้ทุกๆสภาวะ เบื่อก็ยอมรับว่าเบื่อ รู้สึกอย่างไร ยอมรับไปตามความเป็นจริง

เพราะเรากำลังสร้างเหตุของการดับของตัวต้นเหตุ คือกิเลสทั้งปวง ที่มีอยู่ในจิตนี่แหละ หากไม่ยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่จริง เราจะไม่สามารถไปต่อได้ ขนาดตัวเองยังโกหกได้ แล้วคนอื่นๆล่ะ จะไม่โกหกเลยหรือไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก

มองรอบๆตัว เห็นแต่ความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ไม่แปลกใจเลยนะ เรื่องปกติจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน เราจะไม่มองว่าเป็นเรื่องปกติ กิเลสตัวนี้มีกันทุกคน เพียงแต่ว่าใครจะยอมรับตามความเป็นจริง เราเองก็ยังคงมีกิเลสตัวนี้อยู่

เพียงแต่ว่า เดี๋ยวนี้จิตวางได้ไวมากขึ้น คือแว่บนิดเดียวแล้วหายไปเอง ไม่ต้องไปคิดพิจรณาอะไร หรือต้องไปกำหนดอะไร

ไม่มีใครชอบความลำบาก

ทุกคนชอบความสบาย ไม่มีใครหรอกที่ชอบความลำบาก ขนาดเข้าใจในสภาวะแล้วก็ยังมีความไม่ชอบใจในความลำบาก ความลำบากคืออะไรล่ะ ความไม่ได้ดั่งใจนั่นเอง เมื่อไม่ได้ดั่งใจ จึงเป็นเหตุให้ไม่สบายใจ ลำบากใจนั่นเอง

ทุกสิ่งสำคัญที่จิต

หากจิตสามารถอยู่กับปัจจุบันได้ตลอด จะไม่มีมีทั้งความสบายและความลำบาก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเหตุให้ชอบใจ,ไม่ชอบใจ,สบายหรือลำบาก ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำหรือสร้างด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น นี่แหละเหตุของความไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้สร้างเหตุทั้งเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น

สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

สภาวะตอนนี้ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แต่ที่เห็นชัดมากที่สุดกว่าทุกๆสภาวะคือ ความเบื่อหน่าย ทั้งๆที่ในชีวิตจริงๆแล้ว ไม่ได้มีความทุกข์อะไรมากมายถึงขนาดให้เกิดความเบื่อหน่ายได้มากมายถึงขนาดนี้

แล้วก็ไม่ได้ไปเกิดความทุกข์กับสภาวะที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ยังมีอาการจุกจิกในใจอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขนาดก่อให้เกิดความทุกข์ให้เกิดขึ้น แค่จุกจิก แว่บขึ้นมาแล้วหายไป กลับมาอยู่ปัจจุบันได้เหมือนเดิม มันจะเป็นแบบนี้แต่ไม่บ่อย

เหตุของความเบื่อหน่าย

เหตุที่ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย คือ ความ ไม่ได้ดั่งใจ เห็นแล้วมันรู้สึกเบื่อจริงๆ พอแค่รู้ แค่ดู จะเห็นแต่ความไม่เที่ยง นั่นก็ไม่เที่ยง นี่ก็ไม่เที่ยง ไปคาดเดาอะไรไม่ได้ แม้กระทั่งความรู้สึกเบื่อก็ไม่เที่ยง

สภาวะเบื่อหน่ายตัวนี้แตกต่างกว่าเมื่อก่อน สภาวะเบื่อที่เกิดขึ้นในเมื่อก่อน มันจะเป็นสภาวะเบื่อที่ละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อให้ชีวิตที่คิดว่าดี เราก็เบื่อ คิดว่าไม่ดี เราก็เบื่อ มันรู้สึกเบื่ออยู่ข้างใน เบื่อแบบบอกไม่ถูก

…………………………………………………….

ตัวปัญญาเกิดขึ้นเนืองๆ

การเจริญสติ เมื่อมีตัวสัมปชัญญะเกิดขึ้นแล้ว จะมีตัวปัญญาเกิดขึ้นเนืองๆ ตัวปัญญานี้มีแต่มุ่งไปทางถ่ายถอนกิเลส เฝ้าคิดพิจรณาทบทวนสภาวะของตัวเอง

ส่วนตัวปัญญาที่เป็นปัญญาในการประหาณกิเลสส่วนลึกที่เป็นอนุสัย จะต้องใช้สมาธิที่มีกำลังมากๆ เรียกว่า ต้องมีทั้งสัมมาสติ และฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเกิดสภาวะนั้นขึ้นมาได้

………………………………

ปฏิบัติเพื่ออะไร

ระหว่างที่ฝึกเจริญสติ ควรเรียนรู้เรื่องต่างๆที่นำมาบอกเล่าต่อไปนี้ เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน เพราะจะทำให้เข้าใจในเรื่องของเหจตุที่กระทำและผลที่ได้รับตามความเป็นจริง จะได้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อผัสสะหรือกิเลสที่เกิดขึ้นในใจของตนเอง

อดทนที่จะไม่ปล่อยให้เกิดการกระทำใดๆออกมา ควรเรียนรู้เอาไว้นะ เพราะเรื่องนี่สำคัญมากๆ จะได้ทำความเข้าใจในแนวทางของการเจริญสติได้มากขึ้น

เราต้องตอบคำถามให้กับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกว่า เราปฏิบัติไปเพื่ออะไร ต้องตอบคำถามตรงนี้ก่อน

ถ้าคนที่รู้ปริยัติ อาจจะมีคำตอบตามที่ได้เรียนรู้ ได้ศึกษามาหรือที่ได้ยินได้ฟังมา ส่วนคนที่ไม่รู้ปริยัติก็ตอบตามความเป็นจริงที่ตัวเองรู้สึก

ถ้าคนที่รู้ปริยัติ อาจจะตอบว่า เพื่อไม่ต้องเกิดอีกต่อไป คือ เป็นโสดา,สกิทาคา,อนาคามีและอรหันต์

ถ้าคนที่ไม่รู้ปริยัติเลย อาจจะตอบว่า เพราะเบื่อความทุกข์ เพราะเบื่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะชีวิตไม่มีอะไรดีเลย เพราะทำดีแล้วไม่ได้ดี สารพัดคำตอบ ย่อมตอบไปตามในสิ่งที่ตัวเองได้พบมา

คำตอบส่วนมากจะมีเพียงอย่างเดียวคือ ความอยาก

สำหรับผู้ที่รู้ปริยัติ ความอยากที่เกิดขึ้นคือ ความอยากมี อยากได้ อยากเป็นอะไรๆในคำเรียกต่างๆเหล่านั้น

สำหรับผู้ที่ไม่รู้ปริยัติ ความอยากที่เกิดขึ้นคือ อยากพ้นไปจากสภาวะที่เป็นอยู่

………………………………….

สบายก็เบื่อ เหนื่อยก็เบื่อ

สภาวะตอนนี้เป็นแบบนี้จริงๆ มันรู้สึกอยู่ข้างใน รู้สึกเบื่อมากๆ

ตอนแรกคาเดาว่า เพราะการเดินทางหรือเปล่า เพราะงานบ้านที่มีเยอะในวันอาทิตย์หรือเปล่า

พอมาทำงาน ไม่ได้มีอะไรที่ต้องเหนื่อย งานออกจะสบาย

ทีนี้เอาสภาวะ ๒ สภาวะมาเทียบกัน สภาวะหนึ่งว่า รู้สึกเหนื่อยแล้วอาจจะทำให้เกิดสาเหตุของความเบื่อนี้ อีกสภาวะหนึ่ง อยู่แบบสบายๆก็ยังรู้สึกเบื่อ รู้สึกเบื่ออยู่ข้างในลึกๆ

สรุปแล้วไม่ได้เกิดจากผัสสะที่มากระทบ หรือเกิดจาการใช้ชีวิตประจำวันแต่

…………………………………….

หลักสำคัญในการเจริญสติ

จุดสำคัญของการเจริญสติทั้งหมด มีสภาวะที่สำคัญอยู่ ๓ สภาวะคือ การปรับอินทรีย์ ๑ การยอมรับ ๑ แก้ที่ตัวเอง ๑

การปรับอินทรีย์ ได้แก่ หมั่นสังเกตุดูเรื่องสมาธิกับสติเป็นหลัก หากจิตเป็นสมาธิ แต่ขาดความรู้สึกตัวในขณะที่จิตเป็นสมาธิ เช่น

นั่งแล้วมีนิมิตเกิด เช่น นิมิตภาพ แสง สี เสียงต่างๆ

นั่งแล้วเหมือนเวลาหายไป ไม่สามารถรู้ที่กายได้ ขณะที่รู้สึกว่าเวลาหายไป

นั่งแล้วมีสภาวะดิ่ง แล้วไม่สามารถรู้กายได้ ต้องปรับอินทรีย์ แต่หากนั่งแล้วดิ่ง แล้วมีงุบ แต่สามารถรู้ที่กายได้ตลอด อันนี้ไม่เป็นไร เป็นสภาวะปกติ

นั่งแล้วมีแต่ความว่างปรากฏ แต่ไม่สามารถรู้ชัดในความว่างได้ เช่น รู้แค่ว่าว่าง รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า รู้แบบนั้น คือ ขาดความรู้สึกที่กาย สภาวะของกายจะมีทั้งกายหยาบและกายละเอียด

ถ้าเป็นคนชอบนั่งมากกว่าเดิน ให้เพิ่มในอิริยาบทย่อย เช่น หางานให้จิตทำ อย่าอยู่ว่าง การทำงาน ให้อยู่ในอิริยาบทของยืน เดิน อย่านั่ง ให้อยู่ใน ๒ อริยาบทนี้เป็นหลัก พอถึงเวลานั่ง ให้เดินก่อนนั่งสักเล็กน้อย แล้วต่อด้วยนั่งตามปกติ

ถ้าเป็นคนชอบเดิน ให้เพิ่มอิริยาบทเดิน แล้วต่อด้วยนั่ง เพิ่มเดินไปเรื่อยๆ จนกว่า เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วสามารถรู้กายได้

ถ้านั่งแล้วมีปวดเมื่อย มีทุกขเวทนาปรากฏ จะนั่งต่อหรือเปลี่ยนอิริยาบทก็ได้

หากนั่งต่อ ต้องตอบคำถามก่อนว่า นั่งเพื่ออะไร ถ้าตอบว่า เพราะเคยได้ยินคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่าถ้าผ่านเวทนาได้จะเห็นโน่น เห็นนี่ ,ตายก่อนตายหรือได้อะไร เป็นอะไร คำตอบเหล่านี้ ล้วนเป็นความอยาก ความอยากต่างๆในบัญญัติ

เสร็จแล้ว ถ้านั่งจนเห็นเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วไม่รู้จักพิจรณา หลงยึดติดในสิ่งที่เห็น สภาวะเหล่านี้ จะกลายเป็นกิเลสไปทันที หากเกิดการยึดติดในสิ่งที่เห็นหรือคิดว่ารู้

สภาวะใดๆก็ตามที่เกิดขึ้น แล้วคิดว่ารู้ คิดว่าเห็น คิดว่าเป็นสภาวะอะไรๆในบัญญัติ ล้วนเกิดจากการให้ค่าทั้งสิ้น ให้ค่าได้ แล้วแค่รู้ ถ้าหากให้ค่าแล้วยึดติดในสิ่งที่คิดว่ารู้,เห็น สภาวะนี้จะกลายเป็นกิเลสไปทันที

สภาวะใดๆก็ตามที่เกิดขึ้น แล้วให้ค่าตามความคิด เรียกว่า มีความคิดเข้าไปแทรกแซงสภาวะนั้นๆ หากแค่ดู แค่รู้แล้วยอมรับว่าให้ค่า ตัวสภาวะจะดำเนินต่อไปเอง

แต่หากให้ค่าแล้วไม่รู้ว่าให้ค่า เกิดการยึดติดในสภาวะที่คิดว่ารู้,เห็น สภาวะนี้จะกลายเป็นกิเลสไปทันที ยึดมาก เหตุย่อมมากตามตัว ยึดน้อยเหตุย่อมน้อย ไม่ยึดเหตุย่อมไม่มี

เหตุในที่นี้คือ เหตุในการสร้างเหตุใหม่ที่เป็นเหตุของการเกิด

……………………………………

เหตุของความเบื่อหน่าย

๕ พค.

เรื่องราวของชีวิต

เริ่มจับ อะไรได้หลายๆอย่าง ในเรื่องของตัวรู้ที่เกิดขึ้นล่วงหน้า หรือรู้ในขณะที่กำลังเกิดว่า รู้ได้อย่างไร เคยดูหนังฉายวนซ้ำรอบไหม เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตก็เช่นกัน เหมือนหนังฉายวนรอบ

แสดงแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เปลี่ยนตัวนักแสดง แต่เรื่องเดิม เรื่องราวของคนอื่นๆก็เช่นกัน เมื่อเราเข้าใจในหนังของเรา เราย่อมเข้าใจในหนังของคนอื่นๆ ที่เขากำลังทั้งดูและลงไปเล่นด้วยตัวเอง

ผู้ที่ไม่รู้

ผู้ที่ไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้ถึงสภาวะหรือสิ่งที่ประสบพบเจอในชีวิตว่า เหตุที่เกิดขึ้นนั้นหรือเรื่องราวในชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากอะไร

ตอนนี้สภาวะมีแต่ตอกย้ำให้เห็นชัดๆถึงความไม่รู้ แต่ครั้งนี้เป็นสภาวะภายนอก เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว คนที่รู้จักและไม่รู้จัก สภาวะมีแต่ชี้ชัดในเรื่องเหตุที่สร้างกันให้เกิดขึ้น ด้วยความไม่รู้

เหตุของความเบื่อหน่าย

ทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้น ถ้าสังเกตุดูให้ดีๆ จะเห็นว่าเป็นสภาวะเดิมๆซ้ำๆ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เพียงแค่เปลี่ยนตัวบุคคลมาแสดงให้เห็นเท่านั้นเอง

สภาวะเดิมๆ แต่เพิ่มรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นแบบนี้ได้ เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายยิ่งนัก ยิ่งมอง ยิ่งทำต่อเนื่อง ยิ่งเห็นชัด ยิ่งเบื่อ เบื่อมากๆ จิตเกิดการปล่อยวางลงไปโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าปล่อยวางไปตั้งแต่เมื่อไหร่

รู้ก็ต่อเมื่อเกิดการกระทบ แต่จิตไม่มีความชอบและชังแบบก่อนๆที่มีอย่างมากมาย จะแค่รู้ แค่ดูมากขึ้นเรื่อยๆ

เรามองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ จากที่เคยพูดยาวๆ เคยชอบอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้ เราเริ่มมีความรู้สึกเหล่านี้น้อยลง เราเห็นแต่ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นในจิต มันรู้สึกเบื่อ

๗ พค.

ทำข้อสอบ

ช่วงนี้โดนหนักทางด้านจิต ในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความชอบใจ ไม่ชอบใจ มีมากน้อยแค่ไหน

กิเลสเข้ามาแสดงหลายรูปแบบ ครั้งนี้เป็นสภาวะ ความเบื่อหน่าย,ความขี้เกียจ สภาวะนี้เกิดขึ้นเองในจิต โดยไม่มีตัวผัสสะส่งผล

ตั้งแต่สภาวะเบื่อที่เคยคิดว่าจะดีขึ้น คงค่อยๆหายเบื่อ สิ่งที่คิดเอาไว้ ล้วนเป็นการคาดเดาจากสภาวะที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ สภาวะนี่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย รู้นะ แต่ยังมีคาดเดาอยู่

สภาวะที่เกิดขึ้น ตอกย้ำชัดๆลงไปอีก ไม่ต้องคาดเดา ส่วนเราคาดเดาก็ยอมรับว่าคาดเดา ให้ค่าก็ยอมรับว่าให้ค่า ว่ากันตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น ไม่หลอกตัวเอง มีหน้าที่คือ ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะ

บางวันหลังจากกินข้าวเช้า มีแต่ความง่วงนอน ง่วงมากๆ เดินจงกรมเดินทั้งๆที่ง่วง เดินไม่นาน ไม่ฝืน ถ้าง่วงมาก บางทีเดินนิดเดียว แล้วนั่ง พอนั่งลงจิตเป็นสมาธิทันที ไม่รู้ความง่วงหายไปไหน

บางวันไม่ง่วง เดินรู้เท้าชัด รู้กายชัดดี พอนั่ง อาการง่วงเกิดทันที ตั้งแต่ยังไม่ทันจะได้นั่ง ง่วงตั้งแต่กำหนดยืน

สภาวะมาสอนตลอด ง่วงก็ให้รู้ว่าง่วง ก็นั่งไม่สนใจความง่วงที่เกิดขึ้น มองความรู้สึกที่เกิดขึ้น เห็นแล้วว่า ง่วงแบบนี้ มันไม่ใช่นั่งแล้วหลับ มันไม่หลับ แต่มันทำให้เรารำคาญในความง่วงที่เกิดขึ้น

วันนี้มีรายละเอียดของสภาวะความฟุ้งซ่านที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่ไม่ได้เกิดจากความคิด แต่เกิดจากสภาวะง่วงแล้วทำให้ฟุ้งซ่าน แปลกดีไหมสภาวะนี้ แทนที่ง่วงแล้วจะนั่งหลับ กลับกลายเป็นฟุ้งซ่านแทน

จะรู้สึกจุกจิกอยู่ในใจ ทั้งๆที่ยังง่วงนั่นแหละ นั่งแล้วไม่หลับเลย มีแต่ความรำคาญในความฟุ้งซ่านที่เกิดจากความง่วงเข้ามาแทน เรานั่งมองสภาวะนี้ไปสักพัก พอเห็นว่าไม่ได้เรื่อง เราก็ลุกนะ ไม่ฝืนนั่ง

อาการฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ช่างเหมือนกับอาการฟุ้งซ่านตอนที่สมาธิเราหายไปหมด แล้วมาเริ่มฝึกสมาธิใหม่แบบนั้นเลย ความรู้สึกเดียวกัน อันนั้นไม่มีสมาธิแล้วฟุ้งซ่าน อันนี้ง่วงนอนแต่มีฟุ้งซ่านได้ แปลกดี สภาวะมีรายละเอียดมากขึ้น

เราจะมีที่ปรับเปลี่ยนอิริยาบท เพราะถ้าง่วงแบบนี้ แถมมีฟุ้งแบบนี้ จะทำอย่างอื่นคงไม่ได้ เราก็ไปนั่งที่โซฟาแทน พอนั่งลงจิตเป็นสมาธิทันที แล้วก็ดิ่ง ตอนนี้เป็นเวลา ๙ โมงเช้า รู้สึกตัวอีกทีตอนเที่ยง อาการง่วงยังไม่หาย นั่งต่อยังไม่ลุก

รู้สึกถึงอาการดิ่งอีกครั้ง ปล่อยนะ สภาวะอะไรเกิดแค่รู้ ไม่กำหนดอะไร มารู้สึกตัวอีกทีบ่ายสองโมง ครั้งนี้รู้สึกสดชื่น ก็ลุกขึ้น

เกิดก็เพราะเหตุ ดับก็เพราะเหตุ

ในเมื่อกำลังสร้างเหตุของการดับที่เหตุทั้งปวง ฉะนั้นไม่ว่าสภาวะอะไรเกิดขึ้นที่คิดว่าดีหรือไม่ดี ต้องยอมรับได้หมด แล้วมีหน้าที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาวะ ไม่ใช่หลบ ( ถอย ) หรือสู้ ( ฝืน ) กับสภาวะ ต้องอยู่กับทุกๆสภาวะได้

หาวิธีรักษาจิตเอาเอง เพื่อให้มีสติ รู้อยู่กับปัจจุบัน แล้วคำว่าดีหรือไม่ดี หรือที่ยังมีการให้ค่า,คาดเดาอยู่จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆเอง เมื่อเห็นเหตุได้ทัน จบได้ไว ไม่มีทั้งดีและไม่ดี

Previous Older Entries

มิถุนายน 2011
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930  

คลังเก็บ