ความนึกคิด

ผัสสะ

หากกำลังทำความเพียรอยู่
จิตมีวิตก วิจารณ์ ถึงสิ่งใดก็ตาม

หากความนึกคิดที่เกิดขึ้น ไปหาอดีตบ้าง หาอนาคตบ้าง
เพลิดเพลินกับความคิด ไม่มีความรู้สึกรำคาญแต่อย่างใด

สภาพธรรมนี้ คือ ถูกโมหะครอบงำ ตัณหาเกิด
จึงเพลิดเพลินกับความนึกคิด ที่ไปหาอดีตบ้าง อนาคตบ้าง

หากความนึกคิดที่เกิดขึ้น ไปหาอดีตบ้าง หาอนาคตบ้าง
ความนึกคิดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญ
ประมาณว่า จะคิดอะไรนักหนา

อาการที่เกิดขึ้น ที่มีลักษณะแบบนี้ เรียกว่า ฟุ้งซ่าน
เพราะซ่านไปในอารมณ์ จึงทำให้เกิดความรำคาญ

หากความนึกคิดที่เกิดขึ้น ไปหาอดีตบ้าง หาอนาคตบ้าง
ถ้ากำหนดรู้ว่ามีความนึกคิดไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง
พิจรณาว่า เป็นธรรมดาของเหตุและปัจจัยที่ยังมีอยู่
ไม่เอามาเป็นอารมณ์ แค่รู้ว่ามีเกิดขึ้น

ความนึกคิดที่เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เกิดก็เพราะเหตุ

ดับหายไปเอง ตามเหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่มีเกิดขึ้น

จิตย่อมตั้งมั่นเอง ตามเหตุปัจจัย
โดยไม่ต้องพยายามกระทำเพื่อให้จิตเกิดความตั้งมั่น แต่อย่างใด

===========================

[๕๓๗] ภิกษุนั้นย่อมเจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอย่างไร ฯ
วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น
โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง
โดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นอนัตตา

ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดใน
วิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์

เพราะความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ
ด้วยประการดังนี้ วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง

เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า
เจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ฯ

========================

จริงๆแล้ว ตัวที่เป็นปัญหา คือ ตัวตัณหา ความอยากให้ใจสงบ
พอกำหหนดว่า คิดหนอ รู้หนอ มันก็ดับหายไปด้วยกำลังของการบริกรรม

พอคำบริกรรมหาย ความนึกคิดก็กลับมาอีกแล้ว
เมื่อไปจดจ่ออยู่กับความนึกคิดตรงนี้ จึงทำให้เกิดความรำคาญ
ความอยากให้หาย จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์

การคิดในสิ่งที่น้อมเองว่า คิดไม่ดี

เช่น คิดปรามาสพระพุทธเจ้า
นี่ก็ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้
เพราะถือมั่นกับคำว่า ไม่ดี อกุศล

แท้จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ที่เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกนึกคิด
ล้วนเป็นเหตุและปัจจัยที่มีอยู่ของผู้นั้น กับผัสสะที่เกิดขึ้น
เป็นปัจจัยให้เกิดผลกระทบทางใจ

เพียงตั้งใจทำความเพียรต่อเนื่อง
ความนึกคิดที่ติดข้องสิ่งใดอยู่ จะค่อยๆหายไป
เมื่อยังมีเหตุปัจจัยอยู่ ก็มีความนึกคิดใหม่ เกิดขึ้นแทน

ที่คิดว่า หายไปแล้ว มันแค่หายไปชั่วระยะหนึ่ง
วันเวลาผ่านไป จนลืมไปว่า ไม่เคยมีความนึกคิดนี้ๆ เกิดขึ้น
สิ่งที่เคยมีเกิดขึ้น คิดว่า ไม่มีแล้ว หายไปหมดแล้ว
วันดีคืนดี กลับมาโชว์ตัวหราอีกครั้ง

——————————–

สภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นไปอีก

อนุรุทธสูตรที่ ๒

[๕๗๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่
อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว

จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ขอโอกาสเถิดท่านสารีบุตร
ผมตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

ก็ผมปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไม่หลงลืม
กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่น เป็นเอกัคคตา
เออก็ไฉนเล่า จิตของผมจึงยังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านอนุรุทธะ การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า
เราตรวจดูตลอดพันโลก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้
เป็นเพราะมานะของท่าน

การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย
จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตาดังนี้ เป็นเพราะอุทธัจจะของท่าน

ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่า
จิตของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้
ก็เป็นเพราะกุกกุจจะของท่าน เป็นความดีหนอ

ท่านพระอนุรุทธะจงละธรรม ๓ อย่างนี้
ไม่ใส่ใจธรรม ๓ อย่างนี้ แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุ

ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะต่อมาได้ละธรรม ๓ อย่างนี้
ไม่ใส่ใจถึงธรรม ๓ อย่างนี้ น้อมจิตไปในอมตธาตุ

ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะ หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว
เป็นผู้ไม่ประมาท มีตนอันส่งไปอยู่

ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องกันนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ก็แหละ ท่านพระอนุรุทธะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

กรกฎาคม 2016
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031

คลังเก็บ