ทิฏฐุปาทานและลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น

คำว่า ทิฏฐุปาทานและลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น
ได้แก่ ผู้ที่ไม่ได้สดับธรรมจากพระอริยะ สัตบุรุษ สัปบุรุษ
และไม่แจ้งอริยสัจ ๔

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
ยวกลาปิสูตร
[๓๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฟ่อนข้าวเหนียวบุคคลกองไว้ในหนทางใหญ่ ๔ แพร่ง
ทีนั้นบุรุษ ๖ คนถือไม้คานมา
บุรุษเหล่านั้นพึงฟาดฟ่อนข้าวเหนียวด้วยไม้คาน ๖ อัน
ฟ่อนข้าวเหนียวนั้นถูกบุรุษเหล่านั้นฟาดกระหน่ำอยู่ด้วยไม้คาน ๖ อันอย่างนี้แล
ทีนั้นบุรุษคนที่ ๗ ถือไม้คานมาฟาดฟ่อนข้าวเหนียวนั้นด้วยไม้คานอันที่ ๗
ฟ่อนข้าวเหนียวนั้นถูกบุรุษฟาดกระหน่ำอยู่ด้วยไม้คานอันที่ ๗ อย่างนี้แลแม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ก็ฉันนั้นแล
ถูกรูปอันเป็นที่พอใจและไม่เป็นที่พอใจกระทบจักษุ ฯลฯ
ถูกธรรมารมณ์อันเป็นที่พอใจและไม่เป็นที่พอใจกระทบใจ
ถ้าว่าปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วนั้น ย่อมคิดเพื่อเกิดต่อไป
ปุถุชนนั้นเป็นโมฆบุรุษ เป็นผู้ถูกอายตนะกระทบกระหน่ำแล้ว
เหมือนฟ่อนข้าวเหนียวถูกบุรุษฟาดกระหน่ำด้วยไม้คานอันที่ ๗ ฉะนั้นแล ฯ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
เทวาสุรสังคามสูตร
[๓๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว
ครั้งนั้นแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสเรียกอสูรทั้งหลายว่า
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลายว่า ถ้าเมื่อสงครามเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว
พวกอสูรพึงชนะ พวกเทวดาพึงปราชัยไซร้ เพราะฉะนั้น
ท่านทั้งหลายพึงจองจำท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดานั้นด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ
แล้วพึงนำมายังอสูรบุรีในสำนักของเรา
ฝ่ายท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดา
ก็ได้ตรัสเรียกเทวดาทั้งหลายผู้อยู่ในชั้นดาวดึงส์มาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
ถ้าเมื่อสงครามเทวดากับอสูรประชิดกันแล้ว
พวกเทวดาพึงชนะ พวกอสูรพึงปราชัยไซร้ เพราะฉะนั้น
ท่านทั้งหลายพึงจองจำท้าวเวปจิตติจอมอสูรนั่นด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ
แล้วพึงนำมายังเทวสภาชื่อสุธรรมา ในสำนักของเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ ทีนั้นแล
เทวดาทั้งหลายผู้อยู่ในชั้นดาวดึงส์ จองจำท้าวเวปจิตติจอมอสูรด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ
แล้วนำมายังเทวสภาชื่อสุธรรมา ในสำนักของท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดา ฯ

[๓๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ท้าวเวปจิตติจอมอสูร
ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ อยู่ที่ประตูในเทวสภาชื่อสุธรรมานั้น
ก็ในกาลใดแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรดำริอย่างนี้ว่าเทวดาทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมแล
อสูรทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม
บัดนี้เราจะไปเทพนคร ในกาลนั้น
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรย่อมพิจารณาเห็นตนพ้นจากเครื่องจองจำ ๕ ประการ
และก็ย่อมเป็นผู้อิ่มเอิบพรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์
เมื่อใดแล ท้าวเวปจิตติจอมอสูรดำริอย่างนี้ว่าอสูรทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมแล
เทวดาทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม
บัดนี้เราจักไปอสูรบุรี ในที่นั้นแล
เมื่อนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรพิจารณาเห็นตนถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการ
และย่อมเสื่อมจากกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำของท้าวเวปจิตติจอมอสูรละเอียดอย่างนี้แล
บุคคลผู้อันมารผูกแล้ว สำคัญอยู่ซึ่งเครื่องผูกแห่งมารว่า ละเอียดกว่าเครื่องจองจำของท้าวเวปจิตติจอมอสูรนั้น
บุคคลไม่สำคัญเครื่องจองจำของมารว่าละเอียดกว่านั้น ย่อมพ้นจากมารผู้มีใจบาป ฯ

[๓๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความสำคัญด้วยตัณหา
ท่านกล่าวด้วยบทว่าอสฺมิ (เราเป็น)
ความสำคัญด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อยมหมสฺมิ (นี้เป็นเรา)
ความสำคัญด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า ภวิสฺสํ (เราจักเป็น)
ความสำคัญด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า น ภวิสฺสํ (เราจักไม่เป็น)
ความสำคัญด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า รูปี ภวิสฺสํ (เราจักมีรูป)
ความสำคัญด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อรูปี ภวิสฺสํ (เราจักไม่มีรูป)
ความสำคัญด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า สญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญา)
ความสำคัญด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักไม่มีสัญญา)
ความสำคัญด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า เนวสญฺญินาสญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสำคัญเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีใจไม่สำคัญอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

[๓๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความหวั่นไหวด้วยตัณหา
ท่านกล่าวด้วยบทว่าอสฺมิ (เราเป็น)
ความหวั่นไหวด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อยมหมสฺมิ (นี้เป็นเรา)
ความหวั่นไหวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า ภวิสฺสํ (เราจักเป็น)
ความหวั่นไหวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า น ภวิสฺสํ (เราจักไม่เป็น)
ความหวั่นไหวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า รูปี ภวิสฺสํ (เราจักมีรูป)
ความหวั่นไหวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อรูปี ภวิสฺสํ (เราจักไม่มีรูป)
ความหวั่นไหวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า สญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญา)
ความหวั่นไหวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสญฺญี ภวิสฺสํ(เราจักไม่มีสัญญา)
ความหวั่นไหวด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า เนวสญฺญินาสญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความหวั่นไหวเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีใจไม่ถูกกิเลสให้หวั่นไหวอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

[๓๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความดิ้นรนด้วยตัณหา
ท่านกล่าวด้วยบทว่าอสฺมิ (เราเป็น)
ความดิ้นรนด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อยมหมสฺมิ (นี้เป็นเรา) ฯลฯ
ความดิ้นรนด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสญฺญีภ ภวิสฺสํ(เราจักไม่มีสัญญา)
ความดิ้นรนด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า เนวสญฺญินาสญฺญีภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความดิ้นรนเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีใจไม่ถูกกิเลส ให้ดิ้นรนอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

[๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความเนิ่นช้าด้วยตัณหา
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสฺมิ (เราเป็น)
ความเนิ่นช้าด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อยมหมสฺมิ(นี้เป็นเรา) ฯลฯ
ความเนิ่นช้าด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสญฺญีภวิสฺสํ (เราจักไม่มีสัญญา)
ความเนิ่นช้าด้วยทิฐิท่านกล่าวด้วยบทว่า เนวสญฺญินาสญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเนิ่นช้าเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีใจไม่เนิ่นช้าอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

[๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความถือตัวด้วยตัณหา
ท่านกล่าวด้วยบทว่าอสฺมิ (เราเป็น)
ความถือตัวด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อยมหมสฺมิ (นี้เป็นเรา)
ความถือตัวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า ภวิสฺสํ (เราจักเป็น)
ความถือตัวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า น ภวิสฺสํ (เราจักไม่เป็น)
ความถือตัวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า รูปี ภวิสฺสํ (เราจักมีรูป)
ความถือตัวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อรูปี ภวิสฺสํ (เราจักไม่มีรูป)
ความถือตัวด้วยสัสสตทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า สญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญา)
ความถือตัวด้วยอุจเฉททิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า อสญฺญี ภวิสฺสํ (เราไม่มีสัญญา)
ความถือตัวด้วยทิฐิ
ท่านกล่าวด้วยบทว่า เนวสญฺญินาสญฺญี ภวิสฺสํ (เราจักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความถือตัวเป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีใจกำจัดมานะออกได้อยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ


๑. พรหมชาลสูตร
เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมานพ

พิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย

“ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่งามในกาย”
ได้แก่ ละสักกายทิฏฐิ

ทำให้เกิดการโยนิโสมนสิการ
ทำให้ละกามฉันท์
ด้วยการละศุภนิมิต
อาศัยการสดับธรรมจากพระอริยะ สัตบุรุษ สัปบุรุษ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
กายสูตร
อาหารของนิวรณ์ ๕
[๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้
เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด
นิวรณ์ ๕ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้
เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์
ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศุภนิมิตมีอยู่
การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น
นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ
พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ
เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม
เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน ย่อมเห็นตนในรูป
ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในตน ย่อมเห็นตนในเวทนา
ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน ย่อมเห็นตนในสัญญา
ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน ย่อมเห็นตนในสังขาร
ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ.
ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.

ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร
พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว
เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม
เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม
ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป
ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในตน หรือไม่เห็นตนในเวทนา
ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในตน หรือไม่เห็นตนในสัญญา
ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในตน หรือไม่เห็นตนในสังขาร
ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ.
ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.

ทิฏฐุปาทานและทิฏฐิปาริสุทธิ

ทิฏฐุปาทาน
ความเห็นที่เกิดจากตัณหา
ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในอุปาขันธ์ ๕

ทิฏฐิปาริสุทธิ
ความเห็นที่ปราศจากตัณหา
ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ได้แก่


ครั้งที่ 1 โสดาปัตติผล
แจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
ทำให้สัมมาทิฏฐิปรากฏตามจริง

เป็นความรู้ความเห็นของผู้ปฏิบัติสมถะ วิปัสสนา
ได้อรูปฌาน เนวสัญญาฯ นิโรธ
เวลาได้มรรคผลตามจริง
จะมีความรู้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง

อาหุเนยยสูตรที่ ๑
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ
บรรลุจตุตถฌานอยู่
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส
ปราศจากกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก ฯลฯ
วิชชาข้อแรก
เป็นอันเธอได้บรรลุแล้ว ดังนี้
อวิชชาสูญไป วิชชาเกิดขึ้น
ความมืดสูญไป แสงสว่างเกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับของภิกษุผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร ส่งตนไปแล้วอยู่ ฉะนั้น

จึงมาพระสูตรนี้
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้

สัมมาทิฏฐิ
๗. มหาจัตตารีสกสูตร (๑๑๗)
[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน
คือ ความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้ว มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่
โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามี บิดามี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่

= อธิบาย =

คำว่า สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
ได้แก่ พระอนาคามี

คำว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่
ได้แก่ พระอรหันต์

อริยสัจ ๔
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขสมุทัยอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน
เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน
อริยมรรค มีองค์ ๘ คือ
ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ
เจรจาชอบ
การงานชอบ
เลี้ยงชีวิตชอบ
ความเพียรชอบ
ความระลึกชอบ
ความตั้งใจชอบ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

อริยมรรคมีองค์ ๘
ความเกิด อวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ
ความดับ อวิชชา สังขาร วิญญาณฯลฯ

จึงมาเป็นพระสูตรนี้
เป็นลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้นของโสดาบันประเภทกายสักขี
ของผู้ปฏิบัติสมถะ วิปัสสนา ได้วิโมกข์ ๘ จนได้มรรคผลตามจริง

เวรภยสูตรที่ ๑
ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ
[๑๕๗๔] สาวัตถีนิทาน.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี
ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกรคฤหบดี
ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบระงับแล้ว
อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ
และญายธรรมอันประเสริฐ
อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว
แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา
อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า
เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว
เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา
เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

[๑๕๗๕] ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรคฤหบดี บุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์
ย่อมประสพภัยเวรอันใด
ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี
ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี
ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี
ก็เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย
เมื่ออริยสาวกเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว
ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

บุคคลผู้ลักทรัพย์ …
บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม …
บุคคลผู้พูดเท็จ …

บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
ย่อมประสพภัยเวรอันใด
ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี
ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี
ได้เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี
ก็เพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย
เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
คือสุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอัน อันนั้น
เป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ สงบระงับแล้ว.

[๑๕๗๖] อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้า …
ในพระธรรม …
ในพระสงฆ์ …
ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้.

[๑๕๗๗] ก็ญายธรรมอันประเสริฐ
อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เป็นไฉน
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมกระทำไว้ในใจซึ่งปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว
โดยอุบายอันแยบคายเป็นอย่างดีว่า
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี
เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ย่อมเกิด ด้วยประการดังนี้
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ ด้วยประการดังนี้ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
ก็เพราะอวิชชาดับด้วยการสำรอกโดยหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ …
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา.

[๑๕๗๘] ดูกรคฤหบดี
เมื่อใด ภัยเวร ๕ ประการนี้
ของอริยสาวกสงบระงับแล้ว
อริยสาวกประกอบแล้ว
ด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้
และญายธรรมอันประเสริฐนี้
อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า
เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว
เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา
เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

จึงมาเป็นพระสูตรนี้
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เกี่ยวกับคำว่า สัตบุรุษ

๑๐. จูฬปุณณมสูตร (๑๑๐)
[๑๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกา วิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี

สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อม ประทับนั่งกลางแจ้ง ในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้น เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ
[๑๓๑] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ
จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษหรือไม่หนอ ฯ
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษไหมเล่า ฯ

ภิ. ข้อนี้หามิได้เลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
นั่นก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ฯ

[๑๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อสัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษอย่างไร
คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า
ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มี บิดาไม่มี
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี
ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล อสัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างอสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษหรือไม่หนอ ฯ
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ
นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่าผู้นี้เป็นอสัตบุรุษไหมเล่า ฯ
ภิ. รู้ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ แม้ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้จักอสัตบุรุษว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ
นั่นก็เป็นฐานะที่มีได้ ฯ

[๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ
ภักดีต่อสัตบุรุษ
มีความคิดอย่างสัตบุรุษ
มีความรู้อย่างสัตบุรุษ
มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ
มีการงานอย่างสัตบุรุษ
มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ
ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
เป็นผู้มีศรัทธา
มีหิริ มีโอตตัปปะ
มีสุตะมาก
มีความเพียรปรารภแล้ว
มีสติตั้งมั่น
มีปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก
มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด
งดเว้นจากคำหยาบ
งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ ฯ

[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้
เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
งดเว้นจากอทินนาทาน
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ ฯ

[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า
สัตบุรุษผู้มีทิฏฐิอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล
การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วมีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี
โลกนี้มี
โลกหน้ามี
มารดามีคุณ
บิดามีคุณ
สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่
สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ
ทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็มีอยู่ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล
สัตบุรุษชื่อว่า เป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ฯ

ครั้งที่ 2 สกทาคามิผล
แจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
ทำให้สัมมาทิฏฐิปรากฏตามจริง

เป็นที่มาของพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เกี่ยวกับคำว่า สัปบุรุษ

ครั้งที่ 3 อนาคามิผล
แจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
ทำให้สัมมาทิฏฐิปรากฏตามจริง
ปัจจุบัน เป็นพระอรหันต์(อรหัตมรรค)
เป็นที่มาของพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมคำว่า ปุริสบุคคล

ครั้งที่ 4 อรหัตผล
แจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
ทำให้สัมมาทิฏฐิปรากฏตามจริง

อัตตวาทุปาทานและทิฏฐุปาทาน

แก้ไข 8-10-65

ยังไม่อยากจะลบทิ้ง
ทั้งๆที่อัตตาวาทุปาทาน
เป็นเรื่องของสักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ

ทิฏฐุปาทาน ได้เขียนจบแล้ว
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้

ที่ยังไม่ลบ
เวลากลับไปอ่านย้อนหลัง
ทำให้รู้ว่ากว่าจะเขียนรายละเอียดตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นของคำเรียกนั้นๆ ต้องใช้เวลา
ดังที่เราได้เขียนไว้ว่าเหมือนจิ๊กซอ
แค่เขียนออกมาเรื่อยๆ เดี๋ยวจะได้พระสูตรที่สมบูรณ์


๔. มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์
คือ สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา
สีลัพพตปรามาส
กามฉันทะ
พยาบาท
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้.

[๑๕๔] ดูกรมาลุงกยบุตร เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านี้
ที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แก่ใครหนอ?

ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง
ด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กนี้ได้
มิใช่หรือว่า แม้แต่ความคิดว่า กายของตน ดังนี้
ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่
ก็สักกายทิฏฐิจักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน
ส่วนสักกายทิฏฐิอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น
แม้แต่ความคิดว่า ธรรมทั้งหลายดังนี้
ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่

ก็ความสงสัยในธรรมทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน
ส่วนวิจิกิจฉาอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า ศีลทั้งหลายดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่
สีลัพพตปรามาสในศีลทั้งหลาย จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน
ส่วนสีลัพพตปรามาสอันเป็นอนุสัยเท่านั้น ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า กามทั้งหลาย ดังนี้
ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนยังนอนหงายอยู่
ก็กามฉันทะในกามทั้งหลาย
จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน

ส่วนกามราคะอันเป็นอนุสัยเท่านั้น
ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

แม้แต่ความคิดว่า สัตว์ทั้งหลาย ดังนี้
ย่อมไม่มีแก่เด็กกุมารอ่อนผู้ยังนอนหงายอยู่

ก็ความพยาบาท ในสัตว์ทั้งหลาย
จักเกิดขึ้นแก่เด็กนั้นแต่ที่ไหน
ส่วนพยาบาทอันเป็นอนุสัยเท่านั้น
ย่อมนอนตามแก่เด็กนั้น

ดูกรมาลุงกยบุตร นักบวช พวกอัญญเดียรถีย์จักโต้เถียง
ด้วยคำโต้เถียงอันเปรียบด้วยเด็กอ่อนนี้ได้มิใช่หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
เวลานี้เป็นกาลสมควร ข้าแต่พระสุคต
เวลานี้เป็นกาลสมควรที่พระผู้มีพระภาคพึงทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้.

ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า.

อุบายเครื่องละสังโยชน์
[๑๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์
ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ
ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ
มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมแล้ว อันสักกายทิฏฐิครอบงำแล้วอยู่
และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้น
มีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมแล้ว อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้วอยู่
และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
วิจิกิจฉานั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.

ปุถุชนนั้น
มีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมแล้ว อันสีลัพพตปรามาสครอบงำแล้วอยู่
และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
สีลัพพตปรามาสนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์

ปุถุชนนั้น
มีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมแล้ว อันกามราคะครอบงำแล้วอยู่
และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
กามราคะนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว
ชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์.

ปุถุชนนั้น
มีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมแล้ว อันพยาบาทครอบงำแล้วอยู่
และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมไม่รู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
พยาบาทนั้นก็เป็นของมีกำลัง อันปุถุชนนั้นบรรเทาไม่ได้แล้ว
ชื่อว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์.

ดูกรอานนท์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
ได้เห็นพระอริยะ
เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะดีแล้ว
ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษดีแล้ว
มีจิตอันสักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้ อันสักกายทิฏฐิครอบงำไม่ได้อยู่
และเมื่อสักกายทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
สักกายทิฏฐิพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้

อริยสาวกนั้น
มีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุมไม่ได้ อันวิจิกิจฉาครอบงำไม่ได้อยู่
และเมื่อวิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
วิจิกิจฉาพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.

อริยสาวกนั้น
มีจิตอันสีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ อันสีลัพพตปรามาสย่อมครอบงำไม่ได้อยู่
และเมื่อสีลัพพตปรามาสเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
สีลัพพตปรามาสพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.

อริยสาวกนั้นมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ อันกามราคะครอบงำไม่ได้อยู่
และเมื่อกามราคะเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
กามราคะพร้อมทั้งอนุสัยอันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.

อริยสาวกนั้นมีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ อันพยาบาทครอบงำไม่ได้อยู่
และเมื่อพยาบาทเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมรู้อุบายเป็นเครื่องสลัดออกเสียได้ตามความเป็นจริง
พยาบาทพร้อมทั้งอนุสัย อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้.

มรรคปฏิปทาเครื่องละสังโยชน์
[๑๕๖] ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
แล้วจักรู้ จักเห็น หรือจักละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ไม่ถากเปลือก ไม่ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้น มีแก่น
แล้วจักถากแก่นนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด

ข้อที่ว่า บุคคลจักไม่อาศัยมรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว
จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น
ก็ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.

ดูกรอานนท์ ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว
จักรู้ จักเห็น และจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ นั้นได้
เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนข้อที่ว่า ถากเปลือก ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นมีแก่น
แล้วจึงถากแก่นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด

ข้อที่ว่า บุคคลอาศัยมรรคปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ แล้ว
จักรู้ จักเห็น หรือจักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้นั้น
ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้น.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้
ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกำลังน้อย
พึงมาด้วย หวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดังนี้
เขาจะไม่อาจว่าย ตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

เมื่อธรรมอันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง
เพื่อดับความเห็นว่า กายของตน
จิตของผู้นั้นไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่มั่นคง ไม่พ้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
บุรุษผู้มีกำลังน้อยนั้น ฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.

ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา น้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง กาก้มลงดื่มได้
ครั้งนั้นบุรุษมีกำลัง
พึงมาด้วยหวังว่า เราจักว่ายตัดขวางกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ ไปให้ถึงโดยสวัสดี ดังนี้
เขาอาจจะว่ายตัดขวางกระแสแห่งแม่น้ำคงคา ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ ฉันใด

ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันผู้แสดงๆ อยู่แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง
เพื่อดับความเห็นว่า กายของตน
จิตของตน จิตของผู้นั้นแล่นไป เลื่อมใส มั่นคง พ้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.
บุรุษมีกำลังนั้นฉันใด พึงเห็นบุคคลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.

รูปฌาน ๔
[๑๕๗] ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน?
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก
เพราะละอกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก
เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญเป็นของมิใช่ตัวตน.
เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น
ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว
ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต
คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง
เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท
เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้.
เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น
ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ย่อมเป็นโอปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕
ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕.

ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.

ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข.

ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์

อรูปฌาน
[๑๕๘] ดูกรอานนท์ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน
ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา
เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง
เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น
คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้
เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่มีตัวตน.
เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว
ย่อมน้อมจิตเข้าหาธาตุอันเป็นอมตะว่านั้นมีอยู่ นั่นประณีต
คือสงบสังขารทั้งปวง สละคืนอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา ปราศจากราคะ ดับสนิท นิพพาน
เธอตั้งอยู่ในฌานนั้น ย่อมบรรลุการสิ้นอาสวะ
ถ้าไม่บรรลุ
จะเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
ด้วยความเพลิดเพลินในธรรมนั้น ด้วยความยินดีในธรรมนั้นแล
ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้ปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

ดูกรอานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก
ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่.
เธอพิจารณาธรรมเหล่านั้น
คือเวทนา ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์.

อานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก
ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ บรรลุอากิญจัญญายตนะ
ด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งย่อมไม่มีอยู่.
เธอพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งมีอยู่ในอรูปฌานนั้น โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้
เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตน.
เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น
ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว
ย่อมน้อมจิตเข้าหาธรรมธาตุอันเป็นอมตะว่านั่นมีอยู่ นั่นประณีต
คือการสงบสังขารทั้งปวง การสละคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ วิราคะ นิโรธ นิพพาน ดังนี้.
เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงการสิ้นอาสวะ
ถ้าไม่ถึงการสิ้นอาสวะ
จะเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
เพราะความเพลิดเพลินในธรรม เพราะความยินดีในธรรมนั้นนั่นแล.
ดูกรอานนท์ มรรคปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

[๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ถ้ามรรคนี้ ปฏิปทานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร
ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุติ
บางพวกเป็นปัญญาวิมุติเล่า.

ดูกรอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

= อธิบาย =

“เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น”

คำว่า อินทรีย์
ได้แก่ อินทรีย์ ๕ โดยเฉพาะสมาธินทรีย์

“ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุติ
บางพวกเป็นปัญญาวิมุติเล่า”

คำว่า เจโตวิมุติ
ได้แก่ อุภโตภาควิมุตติ
ผู้ปฏิบัติได้สมถะ วิปัสสนา ได้อรูปฌาน( 5 6 7 8 )
เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องจนได้อรหัตผล ตามจริง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ

คำว่า ปัญญาวิมุติ
ได้แก่ ผู้ปฏิบัติในสมถะ วิปัสสนา ได้รูปฌาน( 1 2 3 4 )
เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องจนได้อรหัตผล ตามจริง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า ปัญญาวิมุติ

= วิธีการปฏิบัติ ให้ศึกษาในสิกขา ๓ =


6 พค. 65 ก่อนที่จะมาเขียนเกี่ยวกับสักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ พร้อมทั้งอุบายเครื่องละสังโยชน์

เจอบันทึกที่เขียนไว้
24 ต.ค. 2011 ๑. ทิฏฐิสังโยชน์
08 มิ.ย. 2013 มิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ
4 พฤษภาคม 2022 สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ
6 พค. 65 อุบายเครื่องละสังโยชน์

ใช้เวลา 10 ปี ในการเขียนตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริงให้สมบูรณ์ได้
ที่แน่นอน หากขาดพระสูตร ที่เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็คงไม่สามารถเขียนรายละเอียดทั้งหมดได้
เพราะสิ่งที่รู้ที่เห็น เป็นเพียงตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้น ไม่มีคำเรียกใดๆ

ตรงนี้อธิบายยังไม่จบเพราะมีความเกี่ยวข้องกับ
อัตตวาทุปาทาน(สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ)และทิฏฐุปาทาน

คำว่าจบแบบสมบูณ์เกี่ยวกับคำที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ

แต่ทิฏฐิสังโยชน์ ยังไม่จบ

ทิฏฐุปาริสุทธิ
การแจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง มี 4 แบบ

เวลาอธิบายต้องแยกอธิบายออกจากกัน
เวลาอ่าน จะเข้าใจมากขึ้นในตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง

และวิมุตติญาณทัสสนะ ต้องอธิบายแยกออกจากกัน
เพราะวิมุตติญาณทัสสนะ
ได้แก่ แจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
และขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ ตามจริง

วิมุตติญษทัสสนะ ไม่ได้หมายถึงแจ้งอริยสัจ ๔ อย่างเดียวเท่ากัน แบบที่ท่องจำมา
การอธิบายรายละเอียดของคำว่า อริยสัจ ๔ จะมีแความแตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ๕ มาเกี่ยวข้อง ความรู้ความเห้นของบุคคลนั้น
ที่สำคัญจะแจ่มแจ้งด้วยตัวเอง ต้องปฏิบัติได้วิชชา ๓ ให้ได้ก่อน
วิมุตติญาณทัสสนะ จะปรากฏตามจริง
ปราศจากตัวตน เรา เขา ของเรา ของเขา มาเกี่ยวกับข้อง


ทิฏฐิสังโยชน์
สมัยนั้นมีความรู้ความเห็นวิธีการกระทำเพื่อดับภพชาติณปัจจุบัน
เป็นการดับเหตุเฉพาะตน คือแจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง
มี 2 แบบ
มีเกิดขึ้นมรรคได้มรรคผลตามจริง(วิชชา ๑) แจ้งนิพพาน แจ้งอริยสัจ ๔
ต่อมามีเหตุให้กำลังสมาธิที่มีอยู่(วิโกมข์ ๘) เสื่อมหายไปหมดสิ้น ไม่มีเหลือ
ทำให้รู้ชัดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ฯลฯ ที่มีเกิดขึ้นตามความจริง
ซึ่งมารู้ที่หลังว่า นี่ก็เป็นการแจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง เป็นครั้งที่ 2

อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องการดับภพชาติ
แต่ความรู้ความเห็นจะแตกต่างกัน

อริยสัจ ๔ ตัวแรก สิ่งที่รู้ ดับได้เฉพาะตน
อริยสัจ ๔ ตัวที่ 2 สิ่งที่รู้ ดับเฉพาะตนและแนะนำคนอื่นให้ปฏิบัติตามได้

นับว่าตัวเองสร้างเหตุไว้ดี ไม่ยึดมั่นถือมั่นในคำเรียกต่างๆ
กำหนดสิ่งที่รู้ที่เห็นตามจริง บางครั้งมีพลั้งเผลอ
แต่ความรู้สึกตัว(สัมปชัญญะ) ทำให้เริ่มต้นใหม่

การเขียน เขียนตามจริง เขียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ
เหมือนสมุดบันทึกช่วยเรื่องความจำ
สิ่งที่เขียนไว้ เป็นสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง
เหตุนี้แม้ป่วยจนความจำเสื่อม คำเรียกต่างๆจำไม่ได้ ต้องใช้เวลาฟื้นความจำ
สำหรับตัวสภาวะจะแยกออกมา เป็นเรื่องของจิต ที่สะสมไว้(สัญญา)
แม้ความจำเสื่อมเกี่ยวกับคำเรียกต่างๆ
แต่ตัวสภาวะที่รู้แจ้งด้วยตัวเอง ไม่เสื่อม
อริยสัจ ๔ แจ้งแล้วแจ้งเลย ไม่เสื่อม

การกำหนดยืนหนอ
การกำหนดขณะเดินจงกรม มีทั้งหมด 6 ระยะ
การกำหนดผัสสะที่มีเกิดขึ้นตามจริงขณะจิตเป็นสมาธิ
ความรู้ความเห็นเหล่านี้ ไม่เสื่อม

เพียงแต่ใช้เวลาในการที่เขียนอธิบายรายละเอียดต่างๆออกมาได้
การที่ที่ทำให้เขียนช้า เกิดจากการเจ็บป่วยทางสมอง
ทำให้มีผลกระทบต่อความคิด ความอารมณ์(แปรปรวน) การสะกดคำ

แม้จะมีสภาพตัวเองเป็นแบบนี้(คนป่วยสมอง)
ไม่ทำให้ความรู้ความเห็นที่มีอยู่ รู้เฉพาะตน ไม่เสื่อมหายไป

ตอนนี้รู้แล้วว่า การสอบอารมณ์ ทำไมแรกเราเน้นเรื่องสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริงขณะนั่ง
เกิดจากขาดการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ละตัณหา(ความอยาก)
ให้กำหนดตามจริง ไม่นำตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะที่มีเกิดขึ้น

เมื่อความจำค่อยๆคืนกลับมาแบบจะเล็กน้อย แต่มีประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ
จะทำให้รู้ว่าควรกำหนดแบบไหน ให้ถูกต้องตัวสภาวะ
แล้วทำให้ตัวสัมปชัญญะมีเกิดขึ้นตามจริง
จะไม่ไปสนใจเรื่องสภาวะที่มีเกิดขึ้นขณะนั่ง

ให้ความสำคัญเรื่องการกำหนดยืนหนอและการกำหนดขณะเดินจงกรม
หากกำหนดถูกตัวสภาวะ(การกระทบ) ตัวสภาวะจะดำเนินตามเองเป็นอัตโนมัติ

เมื่อเวลานั่ง ไตรลักษณ์ย่อมปรากฏตามจริง
ไม่ต้องอยากปฏิบัติเพื่อเป็น
ไม่ต้องไปคิดว่าสภาวะที่มีเกิดขึ้นนั้นๆมีชื่อเรียกว่าอะไร

ด้วยเหตุนี้ คนที่ได้สดับ ได้สุตตะ ได้ศึกษาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
คนนั้นจะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่ได้สดับ


24 ต.ค. 2011 ๑. ทิฏฐิสังโยชน์

ทิฏฐิสังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกสรรพสัตว์ไว้ คือ ความเห็นผิด องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก

สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัว ตน เรา เขา ได้แก่ อุปทานในขันธ์ ๕
เช่น ในการนั่งว่า เรานั่ง ในการนอนว่า เรานอน เป็นต้น

เช่น เมื่อเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏทัพพะ
เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของสวยงาม และเป็นของยั่งยืน

โดยสภาวะ คือ ยึดความเห็นของตน
ได้แก่ การให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ใช่ สิ่งนี้ไม่ใช่ ตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง
แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงของตัวสภาวะหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของสิ่งๆนั้น

ธรรมชาติของจิต
จิตมีสภาวะรู้อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะทางกาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่จะรู้อารมณ์ต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เป็นความปกติของจิต

ทิฏฐิสังโยชน์
กิเลสและสังโยชน์ที่มีองค์ธรรมเดียวกัน คือ ทิฏฐิสังโยชน์กับทิฏฐิกิเลส

ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าปัญขันธ์นี้เป็นของแห่งตน

เรื่องสักกายทิฏฐินี้ พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังปรากฏในสังยุตตนิกายพระบาลีว่า :-
สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ ทยหมาโน ว มตฺถเก
สกฺกายทิฏฺฐิ ปหานาย สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช
ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร รู้สึกตนประหนึ่งถูกศาสตราวุธอันมีคมทิ่มแทงอยู่ หรือดุจถูกไฟไหม้อยู่บนศรีษะ
พึงเป็นผู้มีสติไม่ประมาทอยู่เถิด เพื่อจะได้กำจัดเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ

ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็น

ผัสสะ
เหตุของความไม่รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผัสสะที่เกิดขึ้น
ไม่รู้สาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น ว่าเกิดขึ้นจากอะไร
ไม่รู้ว่าทำไมผัสสะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจึงมีผลต่อจิตบ้าง
ไม่มีผลต่อจิตบ้าง
แต่ละครั้งทำไมไม่เหมือนกัน

ทำไมจึงมีความรู้ึกยินดี ยินร้าย หรือเฉยๆ
ต่อผัสสะที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง

ความไม่รู้ในเหตุ
เพราะเหตุของความไม่รู้ตามความเป้นจริงในเรื่องผัสสะหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้
ความรู้สึกยินดี หรือยินร้ายที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลก่อให้เกิดการกระทำลงไปด้วยความไม่รู้
เป็นการกระทำที่มีเจตนาบ้าง ไม่มีเจตนาบ้าง ตามความไม่รู้ที่มีอยู่
สักกายทิฏฐิอันเป็นกิเลสตัวแรกนี้ เป็นเหตุให้ต้องได้รับความเดือดร้อนวนเวียนอยู่ในวัฏฏทุกข์
โดยไม่อาจนับภพชาติได้ ก็ด้วยอำนาจทิฏฐิกิเลสนี้เอง

โดยเหตุ
สักกายะทิฎฐิ เป็นสภาวะแบบหยาบของมานะกิเลส
คือ เป็นการทำงานของขันธ์ ๕ ที่ยังมีความไม่รู้
เป็นเหตุให้การยึดมั่นถือมั่นในอุปทานขันธ์ ๕
ด้วยความไม่รู้จึงยึดมั่นในความคิดของตนเองที่มีต่อผัสสะที่กำลังเกิดขึ้น

เป็นเหตุให้เกิดการให้ค่าต่อผัสสะหรือสิ่งที่มากระทบหรือสภาวะที่เกิดขึ้น
ว่าสิ่งๆนั้นถูกบ้าง ผิดบ้าง เป็นเหตุให้เกิดความชอบ ชัง ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่กับสิ่งที่มากระทบ

โดยสภาวะ
สักกายะทิฏฐิ กล่าวโดยสภาวะ ได้แก่ ขณะที่ผัสสะเกิดขึ้น
มีความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในจิต ไม่ว่าจะชอบ, ชัง แม้กระทั่งเฉยๆ
ซึ่งไม่รู้ถึงเหตุว่า ทำไมจึงชอบ, ชัง หรือทำไมไม่รู้สึกอะไรเลย (โมหะ)
จากความไม่รู้ถึงเหตุตรงนี้ เป็นเหตุให้สร้างเหตุไปด้วยความไม่รู้ที่ยังมีอยู่
กระทำลงไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้น ผลที่ได้รับคือ สุขบ้าง ทุกข์บ้างตามอุปทานที่มีอยู่

เรา, เขา
ได้แก่ การนำความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่มีอยู่ไปให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
แม้กระทั่งบุคคลอื่นๆก็เป็นเช่นเดียวกัน
โดยการนำความรู้สึกนึกคิดของเขาที่มีอยู่ให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เนื่องจากความไม่รู้ที่มีอยู่
จึงไม่รู้ถึงเหตุว่าทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ จึงมีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกัน
ทั้งๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน
เพียงแตกต่างที่ตัวบุคคลและสภาวะแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น

กล่าวในแง่ของการคิดพิจรณา
ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕
เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าปัญขันธ์นี้เป็นของแห่งตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล, เรา, เขา
เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน ก็เข้าใจว่าตนเป็นผู้ยืน เดิน นั่ง นอน
ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ชื่อว่า สักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นที่ผิด
ที่ทำให้ติดอยู่ในความหมุนเวียนของวัฏฏสงสาร

การสอนเช่นนี้ เป็นเพียงอุบายในการถ่ายถอนอุปทานที่มีอยู่
เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ให้ลดน้อยลงไป

ตามความเป็นจริง
โดยสภาวะที่แท้จริงของตัวสักกายทิฏฐินั้น ได้แก่ การให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้น
ให้ค่าว่า สิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนั้นใช่ สิ่งนี้ไม่ใช่ เป็นการให้ค่าตามรู้สึกความชอบหรือชัง
ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น

เนื่องจากไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงเรื่องเหตุที่กระทำและผลที่ได้รับ
ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเกิดจากอะไร
แล้วทำไมบางสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อจิต เป็นเหตุให้เกิดความชอบ, ชัง
ทำไมบางสิ่งไม่มีผลกระทบต่อจิต เป็นเหตุให้รู้สึกเฉยๆ

เพราะความไม่รู้ชัดในความเป็นจริงตรงนี้
จึงเป็นเหตุให้ก่อให้เกิดการกระทำลงไปด้วยความไม่รู้ที่ยังมีอยู่
ด้วยเจตนาและไม่เจตนาทางกาย วาจา ใจ(ความรู้สึกนึกคิด)

ส่วนการยืน เดิน นั่ง นอน ล้วนเป็นเรื่องปกติที่คิดว่าเรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน
ตราบใดที่ยังมีสภาวะเป็นกายบัญญัติ ย่อมนึกคิดแบบนั้น
จนกว่าจะเป็นสภาวะปรมัตถ์ ความรู้สึกนึกคิดตรงนี้จะไม่มี

แม้กระทั่งที่บอกว่ารูปเดิน รูปยืน รูปนั่ง รูปนอน ล้วนแต่เป็นบัญญัติที่ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติทั้งสิ้น
ไม่ใช่สภาวะตามความเป็นจริง
ถ้าเป็นสภาวะตามความเป็นจริง
จะรู้แบบธรรมชาติ ไม่มีบัญญัติต่างๆเข้าไปเกี่ยวข้อง

ทำอย่างไรจึงจะละสักกายทิฏฐิได้
การละสักกายทิฏฐิมีวิธีเดียวเท่านั้น
คือ การสร้างเหตุของการเกิดสภาวะสมุจเฉทประหาน
ได้แก่ สมถะและวิปัสสนา

ข้อมูลทั้งหมด นำมาลงไว้ชั่วคราว ข้อความที่เขียนทั้งหมดยังไม่เขียนไม่เสร็จ


08 มิ.ย. 2013 มิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ

คำว่า ทิฏฐิ เป็นคำกลางๆ หมายถึง ความคิดเห็น

ถ้าใส่ คำว่า มิจฉา เข้าไป เป็น มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิด

ถ้าใส่ คำว่า สัมมา เข้าไป เป็น สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นถูก

อันนี้กล่าวโดย ปริยัติ

กล่าวโดยสภาวะ
มิจฉาทิฏฐิ เกิดจาก เมื่อ ผัสสะเกิด แล้ว นำความเห็นของตนที่มีอยู่
ได้แก่ การให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตามความรู้สึกยินดี-ยินร้าย ที่เกิดขึ้น
เป็นเหตุให้ มีการสร้างเหตุออกไปทางวจีกรรมบ้าง กายกรรมบ้าง
เช่น กล่าวว่า สิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด สิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล ฯลฯ

ภาษาชาวบ้าน
มิจฉาทิฏฐิ คือ
ใครเห็นไม่เหมือนตน คนนั้นผิด
ใครเห็นเหมือนตน คนนั้นถูก
สร้างเหตุวิวาทะให้เกิดขึ้นเนืองๆ

สัมมาทิฏฐิ เกิดจาก เมื่อผัสสะเกิด ใช้หลัก โยนิโสมนสิการ
คือ ดูตามความเป็นจริงของผัสสะที่เกิดขึ้น รู้ตามความเป็นจริง
คือ รู้สึกนึกคิดอย่างไร รู้ไปตามนั้น แต่ไม่สร้างเหตุออกไปทางวจีกรรมหรือกายกรรม
ขณะที่ โยนิโสมนสิการ มรรค มีองค์ ๘ ย่อมเกิด

มิจฉาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐิ
มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นจาก สักกายทิฏฐิหรือทิฏฐิกิเลส หรือทิฏฐิสังโยชน์


4 พค. 65 สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ

๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ
[๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า
ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี
ขันธปัญจกของเรา ก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี
การปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้
พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้.

[๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี
ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี
ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้
พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร พระเจ้าข้า?

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้
ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ฯลฯ
ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑
ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ
ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑.

เขาย่อมไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง
ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง.

ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์
ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์.

ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา
ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา.

ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง
ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง.

ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี.

[๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล
ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้า
ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า
ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม
ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม
ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ

เธอย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง
ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง.

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์
ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่าทุกข์.

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา
ตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา.

ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง
ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง.

ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า
แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี.

ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น
เพราะเห็นความเป็นต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แลว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี
ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี
ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้
พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

[๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์เสียได้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร
อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็นลำดับ.

พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ
ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง.

ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว
ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี
แม้ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี
ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้.

ดูกรภิกษุ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ
ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง.

ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี
ขันธปัญจกของเรา ก็ไม่พึงมี
กรรมสังขาร จักไม่มี
ปฏิสนธิของเรา ก็จักไม่มี ดังนี้.

ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี
เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง
มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ
วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ
วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่
วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง
มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักบัญญัติการมา การไปจุติ อุปบัติ
หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ
เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด
ในรูปธาตุ
ในเวทนาธาตุ
ในสัญญาธาตุ
ในสังขารธาตุ
ในวิญญาณธาตุ
เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้
เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ
ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี
วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงามไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป
เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม
เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น.
เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล
อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ.


๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ

พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ
เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า
ไม่ฉลาดในอริยธรรม
ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม
เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม
ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม

ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน ย่อมเห็นตนในรูป

ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในตน ย่อมเห็นตนในเวทนา

ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน ย่อมเห็นตนในสัญญา

ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน ย่อมเห็นตนในสังขาร

ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ.

ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.

ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร

พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว
เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า
ฉลาดในอริยธรรม
ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม
เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในสัปปุริสธรรม
ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม

ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป

ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในตน หรือไม่เห็นตนในเวทนา

ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในตน หรือไม่เห็นตนในสัญญา

ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในตน หรือไม่เห็นตนในสังขาร

ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน
ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ.

ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.

สักกายทิฏฐิสูตร
[๒๕๕] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับฯลฯ
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละสักกายทิฐิได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ
บุคคลรู้เห็นจักษุแลโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นรูปโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นจักษุวิญญาณโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นจักษุสัมผัสโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น
เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
บุคคลรู้เห็นหู …
รู้เห็นจมูก…
รู้เห็นลิ้น…
รู้เห็นกาย…
รู้เห็นใจโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นธรรมารมณ์โดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นมโนวิญญาณโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นมโนสัมผัสโดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฐิได้
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะละสักกายทิฐิได้ ฯ

= อธิบาย =

สักกายทิฏฐื

ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ

มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ผัสสะ(สิ่งที่มีเกิดขึ้นในชีวิต) มากระทบ
เห็นเป็นตัวตน เรา เขา
การละสักกายทิฏฐิ ละชั่วคราวโดยการรักษาศิล

มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน
ผัสสะมากระทบ เห็นเป็นตัวตน เป็นตัวตนของเรา.
เวทนากล้าที่มีเกิดขึ้น ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง(ทุกขัง)
การละสักกายทิฏฐิ ละชั่วคราวโดยการทำกรรมฐาน
เวทนากล้าปรากฏ ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง
สิ่งที่มีเกิดขึ้น(ผัสสะ) กับใจที่รู้อยู่ ทั้งสองสภาวะแยกออกจากกัน ไม่ปะปนกัน
เวทนากล้า ความเจ็บปวด กับ ใจที่รู้อยู่
แต่ไม่เสวยเวทนาที่มีเกิดขึ้น(ไม่เจ็บปวดตามด้วย) สักแต่ว่ามีเกิดขึ้นแล้ว แล้วคลายหายไปเอง

มีเกิดขึ้นสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง
ความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ได้แก่ เวทนากล้ามีเกิดขึ้น ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง(อัปปณิหิตวิโมกข์)
สภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ

การละสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท มีเกิดขึ้นใน
โสดาปัตติมรรค เวทนากล้า ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
โสดาปัตติผล สภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง แล้วดับ

ผู้ทีละสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท
ได้แก่ พระโสดาบัน(กายสักขี สัทธาวิมุต ทิฏฐิปัตตะ)
มีเกิดขึ้นขณะสภาวะจิตดวงสุดท้าย(วิมุตติ)
ปรากฏตามความเป็นจริง(ครั้งที่ 1/วิชชา 1)
ปัจจุบันเป็นพระสกทาคามี(สกทาคามมิมรรค)


๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์
[๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอ เป็นคุณ เป็นโทษ เป็นเครื่องสลัดออก แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ

พ. ดูกรภิกษุ สุขโสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป
รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้
นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป
สุขโสมนัส อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ
อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ฯลฯ
อาศัยสังขารเกิดขึ้น
อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ
วิญญาณไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ.
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้
นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.

ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย
[๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก?

พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล
จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และสรรพนิมิตภายนอก.

.
อัตตานุทิฏฐิสูตร
[๒๕๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับฯลฯ
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะละอัตตานุทิฐิได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ
บุคคลรู้เห็นจักษุแล โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นรูปโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นจักษุวิญญาณโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นจักษุสัมผัสโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น
เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
บุคคลรู้เห็นหู…
รู้เห็นจมูก…
รู้เห็นลิ้น…
รู้เห็นกาย…
รู้เห็นใจโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นธรรมารมณ์โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นมโนวิญญาณโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นมโนสัมผัสโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ ฯ

= อธิบาย =

อัตตานุทิฏฐิ

ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ

มีเกิดขึ้นขณะขณะดำเนินชีวิต
ผัสสะ(สิ่งที่มีเกิดขึ้นในชีวิต) มากระทบ
เห็นนั่นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา.
การละอัตตานุทิฏฐิ ละชั่วคราวโดยการรักษาศิล

มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน

ผัสสะมากระทบ เห็นเป็นตัวตน เป็นตัวตนของเรา.

เวทนากล้าที่มีเกิดขึ้น ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง(อนัตตา)

การละอัตตานุทิฏฐิ ละชั่วคราวโดยการทำกรรมฐาน

เวทนากล้าปรากฏ ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง
สิ่งที่มีเกิดขึ้น(ผัสสะ) กับใจที่รู้อยู่ ทั้งสองสภาวะแยกออกจากกัน ไม่ปะปนกัน
เวทนากล้า ความเจ็บปวด กับ ใจที่รู้อยู่
แต่ไม่เสวยเวทนาที่มีเกิดขึ้น(ไม่เจ็บปวดตามด้วย) สักแต่ว่ามีเกิดขึ้นแล้ว แล้วคลายหายไปเอง

มีเกิดขึ้นสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง
ความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
ได้แก่ เวทนากล้ามีเกิดขึ้น ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง(สุญญตวิโมกข์)
สภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ แล้วดับ

การละอัตตานุทิฏฐิเป็นสมุจเฉท มีเกิดขึ้นใน
อนาคามีมิมรรค เวทนากล้า ละความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕
อนาคามีมิผล สภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง แล้วดับ

ผู้ที่ละอัตตานุทิฏฐิเป็นสมุจเฉท
ได้แก่ พระอนาคามี
มีเกิดขึ้นขณะสภาวะจิตดวงสุดท้าย(วิมุตติ)
ปรากฏตามความเป็นจริง(ครั้งที่ 2/วิชชา 2)
ปัจจุบันเป็นพระอรหันต์(อรหัตมรรค) ในสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ


๑๐. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคารมาตุปราสาท ในพระวิหารบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก.
ก็ในสมัยนั้นแล ในคืนวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาค อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งอยู่ในที่แจ้ง.

[๑๘๓] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะพึงทูลถามเหตุประการหนึ่ง กะพระผู้มีพระภาค
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสที่จะพยากรณ์ปัญหา แก่ข้าพระองค์.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้นเธอจงนั่ง ณ อาสนะของตนแล้ว ถามปัญหาที่เธอมุ่งจำนงเถิด
ภิกษุนั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ อาสนะของตน
ทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่
อุปาทานขันธ์คือรูป
อุปาทานขันธ์คือเวทนา
อุปาทานขันธ์คือสัญญา
อุปาทานขันธ์คือสังขาร
อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ
เหล่านี้ ใช่ไหม พระเจ้าข้า?

พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕
ได้แก่อุปาทานขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เหล่านี้แหละภิกษุ.

ว่าด้วยมูลแห่งอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๔] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอะไรเป็นมูลเหตุ พระเจ้าข้า?

พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีฉันทะเป็นมูลเหตุ ฯลฯ

ภิ. อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น
หรือว่าอุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ พระเจ้าข้า?

พ. ดูกรภิกษุ อุปาทานก็อันนั้น และอุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้
และอุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้
แต่ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นเป็นตัวอุปาทาน

ว่าด้วยฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
[๑๘๕] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ แตกต่างกันหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ต่างกันภิกษุ ดังนี้แล้ว
ได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล
ขอเราพึงมีรูปเช่นนี้
พึงมีเวทนาเช่นนี้
พึงมีสัญญาเช่นนี้
พึงมีสังขารเช่นนี้
พึงมีวิญญาณเช่นนี้.
ดูกรภิกษุ ฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล.

ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าขันธ์
[๑๘๖] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ขันธ์ จึงชื่อว่าขันธ์

พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
นี้เรียกว่ารูปขันธ์
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์
สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ นี้เรียกว่าสังขารขันธ์
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์.
ดูกรภิกษุด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ขันธ์จึงชื่อว่าขันธ์.

ว่าด้วยเหตุปัจจัยแห่งขันธ์ ๕
[๑๘๗] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ?

พ. ดูกรภิกษุ มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ.
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ.
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ.
ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ.
นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ.

ว่าด้วยเหตุเกิดสักกายทิฏฐิ
[๑๘๘] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างใดหนอ

พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ยังมิได้สดับ
เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม
เป็นผู้ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม
ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีรูป ย่อมเห็นรูปในตน ย่อมเห็นตนในรูป
ย่อมเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในตน ย่อมเห็นตนในเวทนา
ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน ย่อมเห็นตนในสัญญา
ย่อมเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน ย่อมเห็นตนในสังขาร
ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน ย่อมเห็นตนในวิญญาณ.
ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้ด้วยอาการเช่นนี้แล.

ว่าด้วยเหตุจะไม่มีสักกายทิฏฐิ
[๑๘๙] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิย่อมไม่มีได้อย่างไร

พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว
เป็นผู้ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในอริยธรรม
เป็นผู้ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำแล้วเป็นอย่างดีในสัปปุริสธรรม
ย่อมไม่เห็นรูป โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีรูป ไม่เห็นรูปในตน หรือไม่เห็นตนในรูป
ย่อมไม่เห็นเวทนา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีเวทนา ไม่เห็นเวทนาในตน หรือไม่เห็นตนในเวทนา
ย่อมไม่เห็นสัญญา โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสัญญา ไม่เห็นสัญญาในตน หรือไม่เห็นตนในสัญญา
ย่อมไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีสังขาร ไม่เห็นสังขารมีในตน หรือไม่เห็นตนในสังขาร
ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ.
ดูกรภิกษุ สักกายทิฏฐิ ย่อมไม่มีด้วยอาการเช่นนี้แล.

ว่าด้วยคุณโทษและอุบายสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์
[๑๙๐] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นคุณ เป็นโทษ
เป็นเครื่องสลัดออก แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ

พ. ดูกรภิกษุ สุขโสมนัส อาศัยรูปเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป
รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งรูป
สุขโสมนัส อาศัยเวทนาเกิดขึ้น ฯลฯ
อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ฯลฯ
อาศัยสังขารเกิดขึ้น
อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ
วิญญาณไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ.
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณเสียได้ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.

ว่าด้วยการไม่มีอหังการมมังการและมานานุสัย
[๑๙๑] ภิกษุนั้น ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า
แล้วได้ทูลถามปัญหาที่ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก?

พ. ดูกรภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี
หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล
จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้และสรรพนิมิตภายนอก.

ว่าด้วยกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตา
[๑๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว
ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่โมฆบุรุษบางคน ในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา
มีใจถูกตัณหาครอบงำ
จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำสอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตาคือกรรมได้อย่างไร นี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อันเราได้แนะนำไว้แล้ว
ด้วยการทวนถามในธรรมนั้นๆ
ในบาลีประเทศนั้นๆ
จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ
ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉะนี้แล.


ตรงนี้อธิบายยังไม่จบเพราะมีความเกี่ยวข้องกับ
อัตตวาทุปาทาน(สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ)

คำว่าจบแบบสมบูณ์เกี่ยวกับคำที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิ

แต่ทิฏฐิสังโยชน์ ยังไม่จบ

ทิฏฐุปาริสุทธิ
การแจ้งอริยสัจ ๔ ตามจริง มี 4 แบบ

เวลาอธิบายต้องแยกอธิบายออกจากกัน
เวลาอ่าน จะเข้าใจมากขึ้นในตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง

อินทรีย์ ๕

ความหมายของ “อินทรีย์ ๕” สำหรับผู้ที่ยังมีอุปทานในขันธ์ ๕

๕. สมนุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕

[๙๔] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นตน เป็นหลายวิธี
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมพิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง.
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน?
ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ  ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ  ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ
ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมตามเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมตามเห็นรูปในตน ๑
ย่อมตามเห็นตนในรูป ๑
ย่อมตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน …
ย่อมตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน …
ย่อมตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน …
ย่อมตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
ย่อมตามเห็นตนมีวิญญาณ ๑
ย่อมตามเห็นวิญญาณในตน ๑
ย่อมตามเห็นตนในวิญญาณ ๑.

การตามเห็นด้วยประการดังนี้แล  เป็นอันผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น

เมื่อผู้นั้น ยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นในกาลนั้น อินทรีย์ ๕ คือ
จักขุนทรีย์
โสตินทรีย์
ฆานินทรีย์
ชิวหินทรีย์
กายินทรีย์
ย่อมหยั่งลง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนะมีอยู่
ธรรมทั้งหลายมีอยู่
อวิชชาธาตุมีอยู่.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว อันความเสวยอารมณ์
ซึ่งเกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว เขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นว่า
เราเป็นดังนี้บ้าง
นี้เป็นเราดังนี้บ้าง
เราจักเป็นดังนี้บ้าง
จักไม่เป็นดังนี้บ้าง
จักมีรูปดังนี้บ้าง
จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาดังนี้บ้าง
จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาก็หามิได้
ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๕ ย่อมตั้งอยู่  ในเพราะการตามเห็นนั้นทีเดียว
เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว  ย่อมละอวิชชาเสียได้  วิชชาย่อมเกิดขึ้น  เพราะความคลายไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา
อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในอินทรีย์เหล่านั้นว่า
เราเป็นดังนี้บ้าง นี้เป็นเราดังนี้บ้าง
เราจักเป็นดังนี้บ้าง จักไม่เป็นดังนี้บ้าง
จักมีรูปดังนี้บ้าง จักไม่มีรูปดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาดังนี้บ้าง จักไม่มีสัญญาดังนี้บ้าง
จักมีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ดังนี้บ้าง.

จบ สูตร ๕.

 

สมนุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็น

[๔๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เมื่อพิจารณา ก็พิจารณาเห็นตนเป็นไปต่างๆ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ประการ หรืออุปาทานขันธ์ประการใดประการหนึ่ง

อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ
ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

๑. พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป

๒. พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ

๓. พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ

๔. พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ

๕. พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา  พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ  พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา  หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ

การพิจารณาเห็นอย่างนี้ จัดว่าผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า ‘เราเป็น’
เมื่อผู้นั้น ยึดมั่นถือมั่นว่า ‘เราเป็น’ ย่อมเกิดอินทรีย์ ๕ ประการ คือ
๑. จักขุนทรีย์ (อินทรีย์คือจักขุปสาท)
๒. โสตินทรีย์ (อินทรีย์คือโสตปสาท)
๓. ฆานินทรีย์ (อินทรีย์คือฆานปสาท)
๔. ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์คือชิวหาปสาท)
๕. กายินทรีย์ (อินทรีย์คือกายปสาท)

ภิกษุทั้งหลาย มโนมีอยู่ ธรรม๑- ทั้งหลายมีอยู่ อวิชชาธาตุ๒- มีอยู่

เมื่อปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ถูกความเสวยอารมณ์ ซึ่งเกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว  เขาก็มีความ ยึดมั่นถือมั่นว่า
‘เราเป็น’บ้าง
‘เราเป็นนี้’บ้าง
‘เราจักเป็น’บ้าง
‘เราจักไม่เป็น’บ้าง
‘เราจักมีรูป’บ้าง
‘เราจักไม่มีรูป’บ้าง
‘เราจักมีสัญญา’บ้าง
‘เราจักไม่มี สัญญา’บ้าง
‘เราจักมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่’บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๕ ประการ ตั้งอยู่ได้เพราะการพิจารณาเห็นนั้นแล

เมื่อเป็นเช่นนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ละอวิชชาในอินทรีย์เหล่านั้น วิชชา๓- จึงเกิดขึ้น
เพราะอวิชชาคลายไป เพราะวิชชาเกิดขึ้น  อริยสาวกนั้นจึงไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า
‘เราเป็น’ บ้าง
‘เราเป็นนี้’ บ้าง
‘เราจักเป็น’ บ้าง
‘เราจักไม่เป็น’ บ้าง
‘เราจัก มีรูป’ บ้าง
‘เราจักไม่มีรูป’ บ้าง
‘เราจักมีสัญญา’ บ้าง
‘เราจักไม่มีสัญญา’ บ้าง
‘เราจักมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่’ บ้าง”

สมนุปัสสนาสูตรที่ ๕ จบ

 

หมายเหตุ :

๑. มนะ ใจ
ธรรม ธรรมารมณ์

๒. อวิชชาธาตุ ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔

เกิดจากผัสสะอันสัมปยุตด้วยอวิชชา.
เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงฯลฯ

เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่ อุปทานขันธ์ ๕ ย่อมมีเกิดขึ้น
เมื่อความยึดมั่นถอมั่นในขันธ์ ๕ มีเกิดขึ้น “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา”
๓. วิชชาเกิด การรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ (ปัญญินทรีย์)
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกอินทรีย์ ๕ ได้แก่ จักขุอินทรีย์ โสตินทรีย์ฯลฯ
เป็นเรื่องของ อุปทานขันธ์ ๕ ที่มีเกิดขึ้นกับปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ฯลฯ

สำหรับอริยสาวก จักขุอินทรีย์ ฯลฯ ทรงตรัสเรียกว่า อินทรีย์ ๖

นี่เป็นความต่างของคำเรียก”อินทรีย์ ๕” ในพระอริยบุคคลกับปถุชน

สักกายทิฏฐิและลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น

รายละเอียด สักกายทิฏฐิ
และลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้น

.

ทิฏฐิสังโยชน์ ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือ
ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่น ถือมั่นว่า
ปัญจขันธ์นี้เป็นของตน เป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา

ความเข้าใจผิดเช่นนี้ชื่อว่า สักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิด
ที่ทำให้ตนติดอยู่ในความหมุนเวียนของวัฏฏสงสาร

.

มีเกิดขึ้นตรง ผัสสะ

ตาเห็นรูป
หูได้ยินเสียง
จมูกดมกลิ่น
ลิ้นรู้รส
กายสัมผัส
ธรรมารมณ์

.

ผัสสะ

หูได้ยินเสียง เช่น เสียงเขาด่า

เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่ เป็นปัจจัยให้
ไม่รู้ชัดใน “ผัสสะ” ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕

เช่น เสียงที่มากระทบหู จึงเห็นโดยความเป็นตัวเป็นตน
เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เรา เขา

 

รูปแบบของการเกิดสักกายทิฏฐิ

๑ ขณะจิต(ปัจจุบันขณะ) ที่มีเกิดขึ้น
เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่
สักกายทิฏฐิ มีเกิดตรง  “ผัสสะ”
[สักกายทิฏฐิ/อุปาทานขันธ์ ๕] ผัสสะ>เวทนา>ตัณหา>อุปาทาน>ภพ

หลุดพ้นจากจากอุปทานขันธ์ ๕
ด้วยปัญญา เน้น วิปัสสนา

ข้อปฏิบัติได้แก่ การเจริญสมถะ มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
วิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดที่หลัง

.

หลุดพ้น จากสังโยชน์ที่เป็นเครื่องร้อยรัด
ด้วยสมถะ(สัมมาสมาธิ) เน้น สติปัฏฐาน ๔

ข้อปฏิบัติได้แก่ การเจริญวิปัสสนา มีสมถะเป็นเบื้องต้น
สมถะ(สัมมาสมาธิ) เกิดก่อน วิปัสสนาเกิดที่หลัง

 

 

๑๕ มิย. ๖๑

สมถะและวิปัสสนา

.

พูดถึงสมาธิ โดยเฉพาะสมถะที่เป็นสัมมาสมาธิ มีบทบบาทต่อชีวิตมาก ในแง่ของจิตคิดพิจรณา ได้แก่ สภาวะสัญญาต่างๆ ที่มีเกิดขึ้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการถ่ายถอนอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่

และมีบทบาทสำคัญมาก ที่มีเกิดขึ้น
ขณะก่อนทำกาละ และขณะทำกาละ

.

วิปัสสนา การเห็นสภาพธรรมต่างๆที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ได้แก่

อนิจจัง ไม่เที่ยงแปรปรวนตามเหตุและปัจจัย

ทุกขัง เป็นทุกข์ เพราะถือมั่น

อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเราของเขาหรือของใคร
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดเพราะเหตุ ดับเพราะเหตุ
แม้จะไม่มีเราเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ก็ตาม
ทุกสรรพสิ่งยังคงดำเนินไปตามเหตุและปัจจัย

.
วิปัสสนา จึงมีบทบาทต่อชีวิตมาก ในแง่ของการดับเหตุแห่งทุกข์ คือ รู้แล้วหยุด มากกว่าจะสานต่อให้กลายเป็นการสร้างกรรมใหม่ให้มีเกิดขึ้นอีก

 

 

 

อุปทาน ๔

9 เมย. 18

ก่อนที่จะอธิบายเรื่อง ตัวกู ของกู ว่ามีเกิดขึ้นตรงไหนและอย่างไร มาศึกษาพระธรรมคำสอนที่เนื่องด้วย อุปทาน ๔

.

อุปาทาน ๔

[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้. ๔ อย่างเป็นไฉน?
คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขาย่อมไม่บัญญัติ ความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน.
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นพวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน.

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๒ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ไม่รู้ทั่วถึงฐานะอย่างหนึ่งนี้ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน

.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในศาสดาใด
ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น
เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด
ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ

ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด
ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่าไปแล้วโดยชอบ ในธรรมวินัยเห็นปานนี้แล
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น
เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวชั่วแล้ว
ประกาศชั่วแล้ว
มิใช่สภาพนำออกจากทุกข์
ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ
มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้.

.

 

 

 

.

 

รูปนาม อนัตตา สุญญตา

แก้ไขใหม่ ๓ มิย. ๒๕๖๖

ให้ดูสภาวะที่เห็นไว้ในปัจจุบัน

ส่วนตรงนี้ที่เขียนไว้ สมัยนั้น รู้แค่ไหน จะเขียนอธิบายไว้แค่นั้น


30 มีค. 2564

รูปนาม สุญญตา อนัตตา

.

รูปนาม
ได้แก่ ผัสสะ
มีเพียงสองสภาวะมีเกิดขึ้น คือสิ่งที่มีเกิดขึ้น กับ ใจที่รู้อยู่

อนัตตา
ได้แก่ ไตรลักษณ์  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สภาวะอนัตตา เกิดจากจิตที่เกิดการปล่อยวางกับสภาพธรรมที่กำลังมีเกิดขึ้น

ลักษณะที่มีเกิดขึ้นเด่นชัดของสภาวะอนัตตาคือ
รูปส่วนรูป นามส่วนนาม แยกขาดออกจากกัน ทำงานคนละส่วน
ปราศจากตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาพธรรมที่กำลังมีเกิดขึ้น(อนัตตลักขณะ)

อนัตตาเกิดจากจิตปล่อยวาง
สามารถมีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิตและขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ที่มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
โดยโยนิโสมนสิการ สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี กรรมและผลของกรรม
เห็นทุกข์ จิตพิจรณา เห็นความไม่เที่ยง
ทำให้จิตปล่อยวางจากสิ่งที่มีเกิดขึ้น(ความยึดมั่นถือมั่น)
เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้
เหตุมี ผลย่อมมี
ที่มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน
จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ(สัมมาสมาธิ)
การเจริญสติปัฏฐาน ๔
มีสภาวะกายแตก กายระเบิดที่มีเกิดขึ้น
จะมีสองสภาวะมีเกิดขึ้นคือ ใจที่รู้อยู่ กับ สิ่งที่มีเกิดขึ้น(ผัสสะ)
เป็นการรู้ชัดสภาวะรูปนามที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

สุญญตา
เกิดจากการละสักกายทิฏฐิ
ปราศจากความมีตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะที่มีเกิดขึ้นเองตามความเป็นจริง
ไม่ได้เกิดจากการน้อมเอาคิดเอา นี่รูป นี่นาม

เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
พิจารณาเห็นว่า สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนเอง ดังนี้
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง

ได้แก่ การละสักกายทิฏฐิ(โสดาปัตติผล) และละมานะ(อรหัตผล)

มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิตด้วยสีลวิสุทธิ
และหลังได้มรรคผล(โสดาปัตติผล)
จึงมีความเกิดขึ้นตามเป็นจริงของสภาวะเนวสัญญาฯ(ผู้ที่ได้วิโมกข์ ๘)
หลังจากนั้นแจ้งนิพพาน
ปฏิจจสมุปบาท(อวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ) สภาวะสัญญาเกิดก่อน
กำลังสมาธิ(วิโมกข์ ๘)ที่มีอยู่ เสื่อมหายไปหมดสิ้น
ทำให้รู้ชัดผัสสะที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
แจ้งอริยสัจ ๔
สภาวะปัญญาที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ความเกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ฯลฯ
และความดับ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ฯลฯ
สกิทาคา สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ
อนาคามิผล
แจ้งอริยสัจ ๔
ความเกิด อวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ
และความดับ อวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ
อรหัตผล
แจ้งปฏิจจะ(อวิชชา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ) สัญญาเกิดก่อน
กำลังสมาธิที่มีอยู่ เสื่อมหายไปหมดสิ้น
ทำให้รู้ชัดผัสสะที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
แจ้งอริยสัจ ๔
สภาวะปัญญาที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ความเกิด รูปนาม สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ฯลฯ
และความดับ รูปนาม สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนะมีเกิดขึ้น
แจ้งลักษณะอาการที่มีเกิดขึ้นของคำที่เรียกว่า วิมุตติ
เป็นสภาวะตามความเป็นจริง(สภาวะจิตดวงสุดท้าย ๓ ครั้ง)
แจ้งอริยสัจ ๔
.
อริยสัจ ๔ มี ๔ รอบ
.
ถ้าให้พูดตามความเป็นจริง
หากดำเนินศิล เป็นสีลวิสุทธิ
มีผลต่อจิตตวิสุทธิ ทำให้ดำเนินถูกทางมรรคองค์ ๘
สติปัฏฐาน ๔ จะมีเกิดขึ้น
เพราะอินทรีย์ ๕ มีผลต่อสติปัฏฐาน ๕
จะรู้ชัดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ๕
สภาวะที่มีเกิดขึ้น ให้กำหนดตามความเป็นจริง
อย่านำตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาภธรรมที่มีเกิดขึ้น
เมื่อมรรคผลมีเกิดขึ้น จะดูสภาวะจิตดวงสุดท้ายเป็นหลัก
กายแตก กายระเบิด อุปมาเหมือนบันได เป็นทางผ่าน
เมื่อมีเกิดขึ้นบ่อยๆ ช่วยละความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕
จนกระทั่งสภาวะจิตดวงสุดท้ายมีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
.
สภาวะจิตดวงสุดท้าย เป็นเรื่องความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
หากยังยึดมั่นถือมั่น จะผ่านไปได้ยาก เพราะติดอุปกิเลส
เมื่ออุปกิเลสมีเกิดขึ้น ย่อมคิดว่าตนเป็นโน่นนี้ ตามที่เคยอ่านมา
เมื่อตัณหา(ความอยาก) มีเกิดขึ้น แล้วไม่รู้เท่าทันตัณหา
สภาวะจึงจมแช่อยู่แค่นั้น

วิธีฝึก การละสักกายทิฏฐิ(ทิฏฐิสังโยชน์)

พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดมั่นอะไร?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป
เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ
เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นบ้างหรือ?
ภิ. ไม่ใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นบ้างหรือ?
ภิ. ไม่ใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

หมายเหตุ:

คำสอนนี้ เป็นสภาวะ โยนิโสมนสิการ อาศัย การคิดพิจรณาเป็นตัวช่วย ในการกดข่มใจ ไม่ให้สร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เหตุจาก ผัสสะ เป็นเหตุปัจจัย

การหยุดสร้างเหตุนอกตัว เป็นเหตุให้ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจจัย

กิเลสสังโยชน์ต่างๆ ถูกทำให้เบาบางลง ตามเหตุปัจจัย จนกระทั่ง ดับหายไปหมดสิ้น(เชื้อ) ตามเหตุปัจจัย


แก้ไข 20 ธค. 64

สิ่งที่เคยเขียนไว้ สมัยนั้นจะมีความรู้ความเห็นแค่นั้น
การละสักกยาทิฏฐิได้หมดสิ้น
ต้องได้มรรคผลปรากฏตามความเป็นจริง
สักกายทิฏฐิ ถูกประหานไม่มีเหลือ

ให้อ่านการอธิบายสภาวะถูกต้อง
อย่าอ่านของเก่า ให้อ่านปัจจุบัน มีเขียนไว้แล้ว

สมถะและวิปัสสนา

เมื่อก่อน เป็นคนยึดติดกับคำเรียก จึงมักมีการสร้างวิวาทะกับผู้อื่นเนืองๆ

เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง คำเรียกหรือสมมุติบัญญัติเหล่านั้น ค่อยๆลดลงไป ทุเลาลง

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติแบบไหนๆ รูปแบบไหน หากทำแล้ว ทำให้ กิเลสต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา ความทะยานอยากทั้งหลายลดลง หรือเบาบางลง ใช้ได้หมด

คือ ถูกทาง ไม่จำเป็นต้องรู้ปริยัติหรือคำเรียกตามสมมุติบัญญัติที่มีอยู่ เสมอไป

ที่ยังมี เรียกนั่น เรียกนี่ คือ ยังมีความยึดมั่นถือมั่น ในสมมุติบัญญัตินั้นๆอยู่

เดี่ยวนี้เลิกสร้างวิวาทะกับผู้อื่น ใครจะเรียกว่า อะไร อย่างไร ปล่อยไป เพราะล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยของแต่ละคน

ส่วนการเขียนเรื่องราวของสภาวะ ทั้งคำเรียก ยังคงเขียนไปเรื่อยๆ เลิกแก้ไขบทความเก่าๆ เพราะเคยเขียนบอกไว้แล้วว่า อดีต คือ ความผิดพลาดที่มีอยู่ ให้อ่านบทความปัจจุบัน

ที่ไม่แก้ไข เพื่อเป็นตัวอย่างให้ เห็นเรื่องความผิดพลาด ทั้งสภาวะการปฏิบัติ และการดำเนินชีวิต

สิ่งที่มองเห็นอยู่อย่างหนึ่งคือ ความโง่

คนโง่(หลง) มักชอบอวด ชอบแสดงตนว่า ฉลาด

เมื่อคิดว่า ตนฉลาดกว่าผู้อื่น ตนดีกว่าผู้อื่น แม้กระทั่งรูปแบบการปฏิบัติ มักชอบใช้คำกล่าวเบียดเบียน เปรียบเทียบกับแนวทางอื่น หรือผู้อื่นเนืองๆ

นี่แหละ ความโง่(หลง) ที่มีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าโง่ จึงหลงสร้างเหตุใหม่ให้เกิดขึ้นเนืองๆ กิเลสจึงบดบังสภาวะ ไม่ให้ผู้นั้น เห็นตามความเป็นจริง เหตุจาก อุปทานที่มีอยู่

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ