สีลสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
สีลสูตร
การหลีกออก ๒ วิธี
[๓๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ
การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี
แต่ละอย่างๆเรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
เพราะว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว
ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑
เธอหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น.

[๓๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ภิกษุหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึงย่อมตรึกถึงธรรมนั้น
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เธอมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา.

[๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น
ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ความเพียรอันไม่ย่อหย่อนเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว.

[๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา
พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุปรารภแล้ว
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร.

[๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ.

[๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น.

[๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
เธอย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นด้วยดี.

[๓๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้ว อย่างนั้นด้วยดี
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.

อานิสงส์การเจริญโพชฌงค์
[๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗
อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้
ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ ผลานิสงส์ ๗ ประการเป็นไฉน?

[๓๘๒] คือ
(๑) ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลัน
(๒) ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย

(๓) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ
ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๔) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุและไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๕) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุไม่ได้
เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี
ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๖) ถ้าในปัจจุบัน ก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ
ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี
ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๗) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ
ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ
ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี
ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี
และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี
ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้
กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้ อันเธอพึงหวังได้.

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
นิฏฐาสูตร
[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเชื่อมั่นในเรา
บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ
บุคคล ๕ จำพวกที่สมบูรณ์ด้วยทิฐิเชื่อมั่นในโลกนี้
อีก ๕ จำพวกละโลกนี้ไปแล้วจึงเชื่อมั่น
บุคคล ๕ จำพวกเหล่าไหนเชื่อมั่นในโลกนี้
คือ พระโสดาบันผู้สัตตักขัตตุปรมะ ๑
พระโสดาบันผู้โกลังโกละ ๑
พระโสดาบันผู้เอกพีชี ๑
พระสกทาคามี ๑
พระอรหันต์ในปัจจุบัน ๑
บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้เชื่อมั่นในโลกนี้ ฯ
บุคคล ๕ จำพวกเหล่าไหน ละโลกนี้ไปแล้วจึงเชื่อมั่น
คือพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ๑
พระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ๑
พระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี ๑
พระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี ๑
พระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑
บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงเชื่อมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเชื่อมั่นในเรา
บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ๕ จำพวกเหล่านี้นั้น เชื่อมั่นในโลกนี้
บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงเชื่อมั่น ฯ

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สอุปาทิเสสสูตร
[๒๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ฯ
ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
ท่านพระสารีบุตรมีความคิดดังนี้ว่า การเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถียังเช้าเกินไป ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้น อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกำลังนั่งประชุมสนทนากันในระหว่างว่าดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าว
ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า
ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า การเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี
ยังเช้าเกินไป ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด
ลำดับนั้น ข้าพระองค์เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกำลังนั่งประชุมสนทนากันอยู่ในระหว่างว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
ข้าพระองค์ไม่ยินดีไม่คัดค้านถ้อยคำที่พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว
ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด
อย่างไรจักรู้ผู้ที่เป็นสอุปาทิเสสะว่า เป็นสอุปาทิเสสะ หรือจักรู้ผู้ที่เป็นอนุปาทิเสสะว่า เป็นอนุปาทิเสสะ
ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้ที่เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ
พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานพ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ๙ จำพวกเป็นไฉน ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก
พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๒ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๓ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๔ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๕ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป
เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๖ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี เพราะสังโยชน์สิ้นไป บังเกิดยังภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๗ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป
ท่องเที่ยวอยู่ ๒-๓ ตระกูล แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๘ … ฯ

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล กระทำพอประมาณในสมาธิ ในปัญญา
บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมโสดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป
ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวดาและมนุษย์ ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ดูกรสารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๙ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ
กระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต
ดูกรสารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด
อย่างไรจักรู้บุคคลผู้เป็นสอุปาทิเสสะว่า เป็นสอุปาทิเสสะ
หรือจักรู้บุคคลผู้เป็นอนุปาทิเสสะว่า เป็นอนุปาทิเสสะ

ดูกรสารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้แล เป็นสอุปาทิเสสะ
กระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติและวินิบาต ฯ

ดูกรสารีบุตร ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาก่อน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้ฟังธรรมปริยายที่เรากล่าวด้วยความอธิบายปัญหานี้แล้ว อย่าถึงความประมาท ฯ

= อธิบาย =

“บุคคลนั้นเป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้เพียงคราวเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
คำว่า โลก
ได้แก่ ผัสสะ ๖

“บุคคลนั้นเป็นเอกพีชี เพราะสังโยชน์สิ้นไป บังเกิดยังภพมนุษย์นี้ครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ได้แก่ พระโสดาบันที่บรรลุเร็ว กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต

“บุคคลนั้นเป็นโกลังโกละ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ ๒-๓ ตระกูล แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ได้แก่ พระโสดาบันที่บรรลุช้า

“บุคคลนั้นเป็นสัตตักขัตตุปรมโสดา เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป ท่องเที่ยวอยู่ยังเทวดาและมนุษย์ ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค
๔. มหาสุทัสสนสูตร (๑๗)
[๑๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
ในสมัยใกล้เสด็จปรินิพพานคราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับในระหว่างไม้สาละ ในสาลวัน อันเป็นที่แวะพักของเหล่ามัลละกษัตริย์ เขตกรุงกุสินารา
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย
นครใหญ่เหล่าอื่น มีอยู่คือเมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี
ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสพระตถาคตอย่างยิ่งมีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ดังนี้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย

ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง
ดูกรอานนท์ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ ๗ โยชน์
ดูกรอานนท์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่นและมีภิกษาหาได้ง่าย
ดูกรอานนท์ เมืองอาลกมันทาราชธานี แห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด เมืองกุสาวดีราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย
ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานี มิได้เงียบจากเสียง ๑๐ ประการ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลาย จงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน
ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานี แวดล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น คือ กำแพงแล้วด้วยทองชั้น ๑ แล้วด้วยเงินชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วผลึกชั้น ๑ แล้วด้วยแก้วโกเมนชั้น ๑ แล้วด้วยบุษราคัมชั้น ๑ แล้วด้วยรัตนะทุกอย่างชั้น ๑
ดูกรอานนท์ เมืองกุสาวดีราชธานี มีประตูสำหรับวรรณะทั้ง ๔ คือ ประตู ๑ แล้วด้วยทอง ประตู ๑ แล้วด้วยเงิน ประตู ๑ แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ประตู ๑ แล้วด้วยแก้วผลึก ในประตู ๑ๆ มีเสาระเนียดปักไว้ประตูละ ๗ เสา ปักลึก ๓ ชั่วบุรุษ โดยส่วนสูง ๑๒ ชั่วบุรุษ
เสาระเนียดต้นหนึ่งแล้วด้วยทอง ต้นหนึ่งแล้วด้วยเงิน ต้นหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ต้นหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ต้นหนึ่งแล้วด้วยแก้วโกเมน ต้นหนึ่งแล้วด้วยบุษราคัม ต้นหนึ่งแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง
ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานีแวดล้อมด้วยต้นตาล ๗ แถว ต้นตาลแถวหนึ่งแล้วด้วยทอง แถวหนึ่งแล้วด้วยเงิน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วโกเมน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วบุษราคัม แถวหนึ่งแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง
ต้นตาลที่แล้วด้วยทอง ลำต้นแล้วด้วยทอง ใบและผลแล้วด้วยเงิน ต้นตาลที่แล้วด้วยเงิน ลำต้นแล้วด้วยเงิน ใบและผลแล้วด้วยทอง ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ลำต้นแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ใบและผลแล้วด้วยแก้วผลึก
ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วผลึก ลำต้นแล้วด้วยแก้วผลึก ใบและผลแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วโกเมน ลำต้นแล้วด้วยแก้วโกเมนใบและผลแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วบุษราคัม ลำต้นแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ใบและผลแล้วด้วยแก้วโกเมน ต้นตาลที่แล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ลำต้นแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง
ดูกรอานนท์ แถวต้นตาลเหล่านั้น เมื่อต้องลมพัดแล้ว มีเสียงไพเราะยวนใจ ชวนให้ฟังและให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ ที่บุคคลปรับดีแล้ว ประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ เสียงย่อมไพเราะยวนใจ ชวนให้ฟังและให้เคลิบเคลิ้มฉันใด เสียงแห่งแถวต้นตาลเหล่านั้น ที่ต้องลมพัดแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ ก็สมัยนั้น ในกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่ม พวกเขาบำเรอกันด้วยเสียงแห่งแถวต้นตาลที่ต้องลมเหล่านั้น ฯ

[๑๖๔] ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ แก้ว ๗ ประการ เป็นไฉน ฯ
ดูกรอานนท์ เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสนานพระเศียรในวัน ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถ ทรงรักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นบนปราสาทอันประเสริฐ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีซี่พันหนึ่ง มีกง มีดุม พร้อมบริบูรณ์ โดยอาการทั้งปวง ได้ปรากฏขึ้น
ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็น จึงทรงพระดำริว่า ก็เราได้สดับเรื่องนี้มาแล้วว่า ผู้ใดเป็นขัตติยราชผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว สนานพระเศียรในวัน ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถ ทรงรักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทอันประเสริฐ
จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีซี่พันหนึ่ง มีกง มีดุม พร้อมบริบูรณ์ โดยอาการทั้งปวงย่อมปรากฏขึ้น พระราชาผู้นั้น ย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ เราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือหนอ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้นพระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จลุกจากอาสนะ ทรงกระทำพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้น ตรัสว่า จักรแก้วอันเจริญ จงเป็นไป จักรแก้วอันเจริญ จงชำนะวิเศษยิ่ง
ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล จักรแก้วนั้นก็เป็นไปทางปุรัตถิมทิศ พระเจ้ามหาสุทัสสนะพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ก็เสด็จตามไป
ดูกรอานนท์ จักรแก้วหยุดอยู่ในประเทศใด พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ก็เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ในประเทศนั้น
ดูกรอานนท์ ก็ในปุรัตถิมทิศ พระราชาเหล่าใดเป็นปฏิปักษ์ พระราชาเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ราชสมบัติของหม่อมฉัน ย่อมเป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงประทานพระบรมราโชวาท ฯ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะจึงตรัสอย่างนี้ว่า พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกาม
ไม่พึงกล่าวเท็จ
ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเคยเถิด
ดูกรอานนท์ ก็ในปุรัตถิมทิศ พระราชาเหล่าใดเป็นปฏิปักษ์ พระราชาเหล่านั้นกลับอ่อนน้อม ต่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้นจักรแก้วก็ย่างเข้าสู่สมุทรด้านปุรัตถิมทิศ แล้วกลับเวียนไปทางทิศทักษิณ ย่างเข้าสู่สมุทรด้านทักษิณทิศแล้วกลับเวียนไปทางทิศปัศจิม ย่างเข้าสู่สมุทรด้านทิศปัศจิมแล้วกลับเวียนไปทางทิศอุดร
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงติดตามไปพร้อมด้วย จตุรงคเสนา
ดูกรอานนท์ ก็จักรแก้วหยุดอยู่ในประเทศใด พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็เสด็จเข้าพักแรม พร้อมด้วยจตุรงคเสนาในประเทศนั้น
ดูกรอานนท์ ก็ในอุตตรทิศ พระราชาเหล่าใดเป็นปฏิปักษ์ พระราชาเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมาเถิด พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
ราชสมบัติของหม่อมฉันย่อมเป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงประทานพระบรมราโชวาท ฯ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะจึงตรัสอย่างนี้ว่า พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์
ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่พึงประพฤติผิดในกาม
ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา
จงบริโภคตามเคยเถิด
ดูกรอานนท์ ก็ในอุตตรทิศ พระราชาเหล่าใดเป็นปฏิปักษ์ พระราชาเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ลำดับนั้นจักรแก้วนั้นก็ปราบปรามปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขตให้ราบคาบ เสร็จแล้วก็กลับมากุสาวดีราชธานี ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ที่พระทวารภายในพระราชวัง ณ มุขสำหรับทำเรื่องราว ยังภายในราชวังของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ให้สว่างไสวอยู่
ดูกรอานนท์ จักรแก้วเห็นปานนี้ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๖๕] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ช้างแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นช้างเผือกล้วน เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์มีฤทธิ์ ไปในอากาศได้เป็นพระยาช้างสกุลอุโบสถ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ดำรัสว่า ท่านผู้เจริญ ยานคือช้างอันเจริญ ถ้าได้ฝึกหัด
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น ช้างแก้วก็เข้าถึงการฝึกหัดเหมือนอย่างช้างอาชานัยที่เจริญ อันเขาฝึกหัดเรียบร้อยดีแล้วตลอดเวลานานฉะนั้น
ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เมื่อจะทรงทดลองช้างแก้วตัวนั้นแหละ พอเวลาเช้าก็เสด็จขึ้นทรง แล้วเสด็จเลียบไปตลอดปฐพีอันมีสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกุสาวดีราชธานีแล้วเสวยพระกระยาหารเช้า
ดูกรอานนท์ ช้างแก้วเห็นปานนี้ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๖๖] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ม้าแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นม้าขาวล้วน ศีรษะดำ มีผมเป็นพวงประดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์ ไปในอากาศได้ ชื่อวลาหกอัศวราช ท้าวเธอทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระหฤทัย ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ยานคือม้าอันเจริญ ถ้าได้ฝึกหัด
ลำดับนั้นม้าแก้วนั้นก็เข้าถึงการฝึกหัดเหมือนอย่างม้าอาชานัยตัวเจริญ ที่ได้รับการฝึกหัดเรียบร้อยดีแล้วตลอดเวลานาน ฉะนั้น
ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เมื่อจะทรงทดลองม้าแก้วตัวนั้นแหละ ได้เสด็จขึ้นทรงในเวลาเช้า เสด็จเลียบไปตลอดปฐพีอันมีสมุทรเป็นขอบเขต แล้วเสด็จกลับมากุสาวดีราชธานีแล้วเสวยพระกระยาหารเช้า
ดูกรอานนท์ ม้าแก้วเห็นปานนี้ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๖๗] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง แก้วมณีได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นแก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง
ดูกรอานนท์ แสงสว่างของแก้วมณีนั้น แผ่ไปโดยรอบประมาณโยชน์หนึ่ง
ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะเมื่อจะทรงทดลองแก้วมณีดวงนั้น ทรงยังจตุรงคเสนาให้ผูกสอดเครื่องรบ ทรงยกแก้วมณีไว้ปลายธง แล้วเสด็จไปยืนในที่มืดในราตรีกาล
ดูกรอานนท์ ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ ต่างพากันสำคัญว่ากลางวันประกอบการงานด้วยแสงสว่างนั้น
ดูกรอานนท์ แก้วมณีเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๖๘] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง นางแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ไม่สูงเกิน ไม่ต่ำเกิน ไม่ผอมเกิน ไม่อ้วนเกิน ไม่ดำเกิน ไม่ขาวเกินเย้ยวรรณของหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึงวรรณทิพย์
ดูกรอานนท์ สัมผัสแห่งกายของนางแก้วนั้น เห็นปานนี้ คือ เหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย นางแก้วนั้น ฤดูหนาวตัวอุ่น ฤดูร้อนตัวเย็น กลิ่นจันทร์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของนางแก้วนั้น
นางแก้วนั้นมีปรกติตื่นก่อน มีปรกตินอนภายหลัง คอยฟังว่าจะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย เพ็ดทูลด้วยถ้อยคำที่น่ารัก นางแก้วนั้นแม้ใจก็ไม่คิดนอกพระทัยพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ไหนเลยกายนางจะเป็นได้เล่า
ดูกรอานนท์ นางแก้วเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๖๙] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง คฤหบดีแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ คฤหบดีแก้วนั้นปรากฏว่ามีจักษุเป็นทิพย์ซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรม อาจเห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ
คฤหบดีแก้วนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พระองค์จงมีความขวนขวายน้อย ข้าพระพุทธเจ้าจักกระทำหน้าที่เรื่องทรัพย์ด้วยทรัพย์ของพระองค์
ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะเมื่อจะทรงทดลองคฤหบดีแก้วนั้นแหละได้เสด็จลงเรือตัดข้ามกระแสน้ำไปกลางแม่น้ำคงคา แล้วตรัสกะคฤหบดีแก้วว่าคฤหบดี เราต้องการเงินและทอง
คฤหบดีแก้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น จงเทียบเรือเข้าไปริมตลิ่งข้างหนึ่ง
ดูกรคฤหบดี เราต้องการเงินและทองที่นี่
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น คฤหบดีแก้วนั้น เอามือทั้งสองจุ่มน้ำลงไปยกหม้ออันเต็มด้วยเงินและทองขึ้นมา แล้วกราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะว่า ขอเดชะเท่านี้พอละ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ตรัสอย่างนี้ว่า คฤหบดีเท่านี้พอละ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว ดังนี้
ดูกรอานนท์คฤหบดีแก้ว เห็นปานนี้ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฯ
[๑๗๐] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ปริณายกแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ปริณายกแก้วนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญาสามารถเพื่อยังพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ให้ดำเนินเข้าไปยังที่ที่ควรเข้าไป ให้หลีกไปยังที่ที่ควรหลีกไป หรือให้ทรงยับยั้ง ในที่ที่ควรยับยั้ง
ปริณายกแก้วนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อย ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองเอง
ดูกรอานนท์ ปริณายกแก้วเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ ฯ

[๑๗๑] ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบได้ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ ฤทธิ์ ๔ ประการ เป็นไฉน ฯ
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ มีพระรูปงามน่าดู น่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก เกินกว่ามนุษย์อื่นๆ
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยฤทธิ์นี้ เป็นที่หนึ่ง ฯ
[๑๗๒] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นผู้มีพระชนม์ยืน ดำรงอยู่สิ้นกาลนานกว่ามนุษย์เหล่าอื่นยิ่งนัก
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยฤทธิ์นี้เป็นที่สอง ฯ
[๑๗๓] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีพระโรคาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วยไฟธาตุ อันเกิดแต่วิบากสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยฤทธิ์นี้ เป็นที่สาม ฯ
[๑๗๔] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของพวกพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เหมือนอย่างบิดา ย่อมเป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของบุตรทั้งหลายฉันใด พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ฉันนั้น
ดูกรอานนท์ พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของพระเจ้ามหาสุทัสสนะเหมือนอย่างบุตร ย่อมเป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของบิดาฉันใด พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ก็เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ฉันนั้น
ดูกรอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จออกประพาสพระราชอุทยานด้วยจาตุรงคเสนา ลำดับนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดีเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าด่วนเสด็จไป พวกข้าพระพุทธเจ้าจักได้เห็นพระองค์นานๆ
ดูกรอานนท์ ฝ่ายพระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสเตือนสารถีว่า จงขับรถช้าๆ เราจะพึงได้ดูพวกพราหมณ์และคฤหบดีนานๆ
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยฤทธิ์นี้เป็นที่สี่ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงประกอบด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้ ฯ
[๑๗๕] ครั้งนั้นแล อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงพระดำริว่าถ้ากระไร เราจะพึงขุดสระโบกขรณีระยะห่างกันสระละร้อยชั่วธนู ในระหว่างต้นตาลเหล่านี้
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ให้สร้างสระโบกขรณีระยะห่างกันสระละร้อยชั่วธนู ในระหว่างต้นตาลเหล่านั้น สระโบกขรณีเหล่านั้น ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด อิฐชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ในบรรดาสระโบกขรณีเหล่านั้น สระหนึ่งมีบันได ๔ ด้าน ๔ ชนิด บันไดด้านหนึ่งแล้วด้วยทอง ด้านหนึ่งแล้วด้วยเงิน ด้านหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ด้านหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดแล้วด้วยทอง แม่บันไดแล้วด้วยทอง
ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยเงิน บันไดแล้วด้วยเงิน แม่บันไดแล้วด้วยเงิน ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยทอง บันไดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แม่บันไดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดแล้วด้วยแก้วผลึกแม่บันไดแล้วด้วยแก้วผลึก ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
ดูกรอานนท์ สระโบกขรณีเหล่านั้นแวดล้อมด้วยเวทีสองชั้น เวทีชั้นหนึ่งแล้วด้วยทอง เวทีชั้นหนึ่งแล้วด้วยเงิน เวทีแล้วด้วยทอง เสาแล้วด้วยทอง คั่นและกรอบแล้วด้วยเงิน เวทีแล้วด้วยเงิน เสาแล้วด้วยเงิน คั่นและกรอบแล้วด้วยทอง ฯ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงพระดำริว่า ถ้ากระไรเราพึงให้ปลูกไม้ดอกเห็นปานนี้ ในสระโบกขรณีเหล่านี้
คืออุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันเผล็ดดอกได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องให้ปวงชนผู้มาต้องกลับไปมือเปล่า
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะรับสั่งให้คนปลูกไม้ดอกเห็นปานนั้น ในสระโบกขรณีเหล่านั้น คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันเผล็ดดอกได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องให้ชนผู้มาต้องกลับไปมือเปล่า
ครั้งนั้นแล อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้ทรงพระดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงวางบุรุษผู้เชิญคนให้อาบน้ำไว้ที่ฝั่งสระโบกขรณีเหล่านี้ จักได้เชิญคนผู้มาแล้วๆ ให้อาบ
ดูกรอานนท์พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงวางบุรุษผู้เชิญคนให้อาบน้ำไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น สำหรับเชิญคนผู้มาแล้วๆ ให้อาบ ฯ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงพระดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงตั้งทานเห็นปานนี้ไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านี้ คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน และทองสำหรับผู้ต้องการทอง
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงตั้งทานเห็นปานนี้ไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น คือข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าวน้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงินและทองสำหรับผู้ต้องการทอง ฯ
[๑๗๖] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พวกพราหมณ์และคฤหบดี ถือเอาทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ ทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมากนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้านำมาเฉพาะพระองค์เท่านั้น ขอพระองค์จงทรงรับทรัพย์สมบัตินั้น มีพระราชดำรัสว่า ช่างเถอะ พ่อผู้เจริญ
ทรัพย์สมบัติอันมากมายนี้ พวกท่านนำมาเพื่อเราโดยพลีอันชอบธรรม จงเป็นของพวกท่านเถิด และจงนำเอาไปยิ่งกว่านี้ พวกเขาถูกพระราชาตรัสห้าม ได้หลีกไปข้างหนึ่ง แล้วปรึกษากันอย่างนี้ว่า การที่พวกเราจะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้ กลับคืนไปยังเรือนของตนอีกนั้น ไม่สมควรเลย
ถ้ากระไร พวกเราจงช่วยกันสร้างนิเวศน์ถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยกันสร้างนิเวศน์ถวายแด่พระองค์ ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ
[๑๗๗] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงทราบพระดำริของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ จึงมีเทวโองการตรัสเรียกวิศวกรรมเทพบุตรมาสั่งว่า เพื่อนวิศวกรรม เธอจงมานี่เถิด เธอจงไปสร้างนิเวศน์ชื่อว่าธรรมปราสาทเพื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ดูกรอานนท์ วิศวกรรมเทวบุตรรับสนองเทวบัญชาแล้วอันตรธานไปจากดาวดึงสเทวโลก ได้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออกหรือคู้แขนที่เหยียดเข้าฉะนั้น
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น วิศวกรรมเทวบุตร ได้กราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระองค์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงรับด้วยดุษณีภาพ ฯ
ดูกรอานนท์ วิศวกรรมเทวบุตรได้นิรมิตนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาท แด่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ธรรมปราสาทได้มีปริมาณโดยยาวหนึ่งโยชน์ ด้านปุรัตถิมทิศและปัศจิมทิศ โดยกว้างกึ่งโยชน์ ด้านอุตตรทิศและทักษิณทิศ
ดูกรอานนท์ ธรรมปราสาทมีวัตถุที่ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด โดยส่วนสูงกว่าสามชั่วบุรุษ คือ อิฐชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ธรรมปราสาทมีเสาแปดหมื่นสี่พันต้น
แบ่งเป็นสี่ชนิดเสาชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ธรรมปราสาทปูลาดด้วยแผ่นกระดาน ๔ ชนิด กระดานชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิดบันไดชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดที่แล้วด้วยทอง แม่บันไดแล้วด้วยทอง ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยเงิน บันไดที่แล้วด้วยเงิน
แม่บันไดแล้วด้วยเงิน ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยทอง บันไดที่แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แม่บันไดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดที่แล้วด้วยแก้วผลึกแม่บันไดแล้วด้วยแก้วผลึก ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ในธรรมปราสาทมีเรือนยอดแปดหมื่นสี่พัน แบ่งเป็น ๔ ชนิด
เรือนยอดชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ในเรือนยอดแล้วด้วยทอง แต่งตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดแล้วด้วยเงิน แต่งตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แต่งตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแล้วด้วยแก้วผลึก
แต่งตั้งบัลลังก์แล้วด้วยแก้วบุษราคัมไว้ ที่ประตูเรือนยอดแล้วด้วยทอง มีต้นตาลแล้วด้วยเงินตั้งอยู่ ลำต้นของต้นตาลนั้นแล้วด้วยเงิน ใบและผลแล้วด้วยทอง ที่ประตูเรือนยอดแล้วด้วยเงิน มีต้นตาลแล้วด้วยทองตั้งอยู่ ลำต้นของต้นตาลนั้นแล้วด้วยทอง ใบและผลแล้วด้วยเงินที่ประตูเรือนยอดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
มีต้นตาลแล้วด้วยแก้วผลึกตั้งอยู่ ลำต้นของต้นตาลนั้นแล้วด้วยแก้วผลึก ใบและผลแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแล้วด้วยแก้วผลึก มีต้นตาลแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ตั้งอยู่ ลำต้นของต้นตาลนั้นแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ใบและผลแล้วด้วยแก้วผลึก ฯ
[๑๗๘] ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงพระดำริว่า ถ้ากระไรเราพึงให้สร้างสวนตาลแล้วด้วยทองล้วนไว้ที่ประตูเรือนยอดหลังใหญ่ สำหรับเราจักได้นั่งพักกลางวัน ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะรับสั่งให้สร้างสวนตาลแล้วด้วยทองล้วนไว้ที่ประตูยอดเรือนหลังใหญ่ สำหรับทรงนั่งพักกลางวัน
ดูกรอานนท์ ธรรมปราสาทแวดล้อมด้วยเวที ๒ ชั้น เวทีชั้นหนึ่งแล้วด้วยทอง ชั้นหนึ่งแล้วด้วยเงิน เวทีแล้วด้วยทอง มีเสาแล้วด้วยทอง ขั้นและกรอบแล้วด้วยเงิน เวทีแล้วด้วยเงิน มีเสาแล้วด้วยเงิน ขั้นและกรอบแล้วด้วยทอง
ดูกรอานนท์ ธรรมปราสาทแวดล้อมด้วยข่ายแห่งกระดึงสองชั้น ข่ายชั้นหนึ่งแล้วด้วยทอง ชั้นหนึ่งแล้วด้วยเงิน ข่ายที่แล้วด้วยทอง มีกระดึงแล้วด้วยเงิน ข่ายที่แล้วด้วยเงิน มีกระดึงแล้วด้วยทอง
ดูกรอานนท์ ข่ายแห่งกระดึงเหล่านั้นต้องลมพัดแล้ว มีเสียงไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ ที่บุคคลปรับดีแล้ว ประโคมดีแล้วบรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ เสียงย่อมไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม แม้ฉันใด
ดูกรอานนท์ ข่ายแห่งกระดึงเหล่านั้นต้องลมพัดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีเสียงไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ ในสมัยนั้น กุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่ม พวกเขาบำเรอกันด้วยเสียงแห่งกระดึงที่ต้องลมเหล่านั้น
ดูกรอานนท์ ธรรมปราสาทที่สำเร็จแล้วยากที่จะดู ทำนัยน์ตาให้พร่าพราย
ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนในสรทกาล คือท้ายเดือนแห่งฤดูฝน เมื่ออากาศแจ่มใสปราศจากเมฆหมอก พระอาทิตย์ส่องนภากาศสว่างจ้า ยากที่จะดู ย่อมทำนัยน์ตาให้พร่าพรายฉันใด ธรรมปราสาทก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยากที่จะดู ย่อมทำนัยน์ตาให้พร่าพราย ฯ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้นพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงพระดำริว่า ถ้ากระไรเราพึงสร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงสร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท
ดูกรอานนท์ ธรรมโบกขรณีโดยยาว ด้านทิศบูรพาและทิศปัศจิม ๑ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ กึ่งโยชน์ ธรรมโบกขรณีก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด อิฐชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก ฯ
ดูกรอานนท์ ธรรมโบกขรณีมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด บันไดชนิดหนึ่งแล้วด้วยทอง ชนิดหนึ่งแล้วด้วยเงิน ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ชนิดหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดที่แล้วด้วยทอง แม่บันไดแล้วด้วยทอง ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยเงิน บันไดที่แล้วด้วยเงิน แม่บันไดแล้วด้วยเงิน ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยทอง บันไดที่แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แม่บันไดแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วผลึก บันไดที่แล้วด้วยแก้วผลึก แม่บันไดแล้วด้วยแก้วผลึก ลูกบันไดและพนักแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ฯ
ดูกรอานนท์ ธรรมโบกขรณีแวดล้อมด้วยเวทีสองชั้น เวทีชั้นหนึ่งแล้วด้วยทอง ชั้นหนึ่งแล้วด้วยเงิน เวทีที่แล้วด้วยทอง มีเสาหนึ่งแล้วด้วยทอง ขั้นและกรอบแล้วด้วยเงิน เวทีที่แล้วด้วยเงิน มีเสาแล้วด้วยเงิน ขั้นและกรอบแล้วด้วยทอง ฯ
ดูกรอานนท์ ธรรมโบกขรณีแวดล้อมด้วยต้นตาล ๗ แถว ต้นตาลแถวหนึ่งแล้วด้วยทอง แถวหนึ่งแล้วด้วยเงิน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วผลึก
แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วโกเมน แถวหนึ่งแล้วด้วยแก้วบุษราคัม แถวหนึ่งแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ต้นตาลที่แล้วด้วยทอง ลำต้นแล้วด้วยทอง ใบและผลแล้วด้วยเงิน ต้นตาลที่แล้วด้วยเงิน ลำต้นแล้วด้วยเงิน ใบและผลแล้วด้วยทอง ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ลำต้นแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ ใบและผลแล้วด้วยแก้วผลึก ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วผลึก ลำต้นแล้วด้วยแก้วผลึก ใบและผลแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วโกเมน ลำต้นแล้วด้วยแก้วโกเมนใบและผลแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ต้นตาลที่แล้วด้วยแก้วบุษราคัม ลำต้นแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ใบและผลแล้วด้วยแก้วโกเมน ต้นตาลที่แล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ลำต้นแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง ฯ
ดูกรอานนท์ แถวต้นตาลเหล่านั้นเมื่อต้องลมพัดแล้ว มีเสียงอันไพเราะยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนดนตรีมีองค์ ๕ ที่บุคคลปรับดีแล้ว ประโคมดีแล้ว
บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ เสียงย่อมไพเราะ ยวนใจ ชวนฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม แม้ฉันใด
ดูกรอานนท์ เสียงแห่งแถวต้นตาลเหล่านั้น ที่ต้องลมพัดแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟังและให้เคลิบเคลิ้ม
ดูกรอานนท์ ก็สมัยนั้น ในกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น นักดื่ม พวกเขาบำเรอกันกันด้วยเสียงแห่งแถวต้นตาลที่ต้องลมเหล่านั้น
ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมปราสาทสำเร็จแล้ว และธรรมโบกขรณีสำเร็จแล้ว
พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงยังสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร ที่ตนปรารถนาทุกอย่าง แล้วเสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท ฉะนี้แล ฯ
จบภาณวารที่หนึ่ง

[๑๗๙] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงพระดำริว่านี้เป็นผลแห่งกรรมอะไรของเราหนอ เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร ที่เป็นเหตุให้เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ในบัดนี้
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้นพระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงพระดำริว่า นี้เป็นผลแห่งกรรม ๓ ประการของเรา
เป็นวิบากแห่งกรรม ๓ ประการ ที่เป็นเหตุให้เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ในบัดนี้ กรรม ๓ ประการ คือ ทาน ทมะ สัญญมะ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปยังกูฏาคารหลังใหญ่ ครั้นเสด็จเข้าไปแล้วประทับยืนที่ประตูกูฏาคารหลังใหญ่ ทรงเปล่งพระอุทานว่า กามวิตก
จงหยุดพยาบาทวิตก จงหยุด วิหิงสาวิตก จงหยุด กามวิตก จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกจงกลับเพียงแค่นี้เถิด วิหิงสาวิตก จงกลับเพียงแค่นี้เถิด ดูกรอานนท์
ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปยังกูฏาคารหลังใหญ่ ประทับนั่งบนบัลลังก์แล้วด้วยทอง ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ทรงบรรลุปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ทรงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร สงบไปมีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละทุกข์ละสุข และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ฯ

[๑๘๐] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จออกจากกูฏาคารหลังใหญ่ เสด็จเข้าไปยังกูฏาคารแล้วด้วยทอง ประทับบนบัลลังก์แล้วด้วยเงิน
ทรงมีพระทัยประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สองที่สามที่สี่ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว
สัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยพระทัยอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีพระทัยประกอบด้วยกรุณา … มีพระทัยประกอบด้วยมุทิตา … มีพระทัยประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สองที่สามที่สี่ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยพระทัย อันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ

[๑๘๑] ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ มีพระนครขึ้นแปดหมื่นสี่พัน มีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุข มีปราสาทแปดหมื่นสี่พัน มีธรรมปราสาทเป็นประมุข มีเรือนยอดแปดหมื่นสี่พัน มีเรือนยอดหลังใหญ่เป็นประมุข
มีบัลลังก์แปดหมื่นสี่พันแล้วด้วยทอง แล้วด้วยเงิน แล้วด้วยงา แล้วด้วยแก้วบุษราคัมลาดด้วยขนเจียม ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักอันสูง มีนวมทั้งสองข้างแดง
มีช้างแปดหมื่นสี่พันเชือก มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง คลุมด้วยตาข่ายแล้วด้วยทอง มีพระยาช้างสกุลอุโบสถเป็นประมุข มีม้าแปดหมื่นสี่พัน มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง คลุมด้วยตาข่ายแล้วด้วยทอง มีวลาหกอัศวราชเป็นประมุข
มีรถแปดหมื่นสี่พันหุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง และหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่ายปกคลุมแล้วด้วยทอง มีรถเวชยันต์เป็นประมุข มีแก้วแปดหมื่นสี่พันดวง มีแก้วมณีเป็นประมุข
มีสตรีแปดหมื่นสี่พันนาง มีสุภัททาเทวีเป็นประมุข มีคฤหบดีแปดหมื่นสี่พันคน มีคฤหบดีแก้วเป็นประมุข มีกษัตริย์แปดหมื่นสี่พันองค์ ผู้สวามิภักดิ์ มีปริณายกแก้วเป็นประมุข
มีโคนมแปดหมื่นสี่พัน กำลังกำดัดหลั่งน้ำนม กำลังเอาภาชนะรองได้ มีผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดีและผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่างเนื้อดี ประมาณแปดหมื่นสี่พันโกฏิพับ
มีพระกระยาหารเต็มภาชนะแปดหมื่นสี่พันสำรับ มีคนนำมาถวายทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น ฯ

[๑๘๒] ดูกรอานนท์ ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างแปดหมื่นสี่พันเชือกมาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงพระดำริว่า ช้างแปดหมื่นสี่พันเชือกของเราเหล่านี้ ย่อมมายังที่เฝ้าทั้งเช้าทั้งเย็น
ถ้ากระไร ช้างจำนวนสี่หมื่นสองพัน พึงมาสู่ที่เฝ้าโดยล่วงร้อยปี
ต่อครั้ง ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า เพื่อนปริณายก ช้างแปดหมื่นสี่พันเหล่านี้ มาสู่ที่เฝ้าทั้งเช้าทั้งเย็น อย่ากระนั้นเลย โดยล่วงไปร้อยปี พวกมันจงมาสู่ที่เฝ้าคราวละสี่หมื่นสองพันเชือก
ดูกรอานนท์ ปริณายกแก้วรับสนองพระบรมราชโองการของพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้ว ฯ
ดูกรอานนท์ ลำดับนั้น โดยสมัยต่อมา ช้างมาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะคราวละสี่หมื่นสองพันเชือก โดยล่วงร้อยปีต่อครั้ง
ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแลโดยล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี พระนางสุภัททาเทวีทรงพระดำริว่าเราได้เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะนานมาแล้ว ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระองค์
ครั้งนั้น พระนางสุภัททาเทวีตรัสเรียกนางสนมมาตรัสว่า พวกท่านจงมา จงอาบน้ำชำระเกล้าเสีย จงห่มผ้าสีเหลือง พวกเราได้เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะนานมาแล้ว
พวกเราจักเข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ดูกรอานนท์ พวกนางสนมรับสนองพระราชเสาวนีย์ของพระราชเทวีสุภัททา แล้วอาบน้ำชำระเกล้า ห่มผ้าสีเหลือง เข้าไปหาพระนางสุภัททาเทวี
ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พระนางสุภัททาเทวีตรัสเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า พ่อปริณายกแก้ว ท่านจงจัดจตุรงคเสนา เราได้เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะนานมาแล้ว พวกเราจักไปเฝ้าพระองค์ ปริณายกแก้วรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้ว จัดเตรียมจตุรงคเสนาไว้เรียบร้อยแล้วไปทูลว่า จตุรงคเสนาจัดพร้อมแล้ว ขอพระองค์จงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
ครั้งนั้นแล พระนางสุภัททาเทวีพร้อมด้วยจตุรงคเสนาและนางสนมเสด็จไปยังธรรมปราสาท ครั้นเสด็จเข้าไปขึ้นสู่ธรรมปราสาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่เรือนยอดหลังใหญ่ แล้วประทับยืนเหนี่ยวบานประตูเรือนยอดหลังใหญ่
พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้สดับเสียงทรงพระดำริว่า อะไรหนอ เหมือนเสียงคนหมู่มาก จึงเสด็จออกจากเรือนยอดหลังใหญ่ ทอดพระเนตรพระนางสุภัททาเทวียืนเหนี่ยวบานประตู ครั้นแล้วได้ตรัสกะพระนางว่า เทวี เธอจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ อย่าเข้ามาเลย
ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า พ่อผู้เจริญมานี่แน่ะ พ่อจงนำบัลลังก์แล้วด้วยทองจากเรือนยอดหลังใหญ่ไปตั้งในสวนตาลอัน แล้วด้วยทองล้วนราชบุรุษนั้นรับสนองพระราชโองการแล้ว ยกบัลลังก์แล้วด้วยทอง จากเรือนยอดหลังใหญ่ ไปตั้งไว้ในสวนตาลอันแล้วด้วยทองล้วน ฯ
ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสำเร็จสีหไสยาด้วยพระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ฯ
[๑๘๓] ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พระนางสุภัททาเทวีได้ทรงพระดำริว่าพระอินทรีย์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะผ่องใสยิ่งนัก บริสุทธิ์ พระฉวีวรรณผุดผ่อง พระเจ้ามหาสุทัสสนะอย่าได้ทรงทำกาลกิริยาเลย
พระนางจึงกราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะว่า เทวะ พระนครแปดหมื่นสี่พันอันมีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในพระนครเหล่านี้เถิด จงทำความใยดีในชีวิต เทวะ ปราสาทแปดหมื่นสี่พัน อันมีธรรมปราสาทเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในปราสาทเหล่านี้ ขอจงทรงทำความใยดีในชีวิต เทวะ เรือนยอดแปดหมื่นสี่พันหลัง มีเรือนยอด หลังใหญ่เป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิด
ในเรือนยอดเหล่านี้ จงกระทำความใยดีในชีวิต เทวะ บัลลังก์แปดหมื่นสี่พันแล้วด้วยทอง แล้วด้วยเงิน แล้วด้วยงา แล้วด้วยแก้วบุษราคัม ลาดด้วยขนเจียมลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักเป็นลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักอันสูง มีนวมสีแดงทั้งสองข้างเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในบัลลังก์เหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะ ช้างแปดหมื่นสี่พันเชือก มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีพระยาช้างตระกูลอุโบสถเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในช้างเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะม้าแปดหมื่นสี่พันตัว มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีวลาหกอัศวราชเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในม้าเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะรถแปดหมื่นสี่พันคัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง และหนังเสือเหลืองหุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่าย เครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีรถเวชยันต์เป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในรถเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะแก้วแปดหมื่นสี่พันดวง มีแก้วมณีเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในแก้วมณีเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะสตรีแปดหมื่นสี่พันนาง มีนางแก้วเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในสตรีเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะคฤหบดีแปดหมื่นสี่พันคน มีคฤหบดีแก้วเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในคฤหบดีเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะ กษัตริย์แปดหมื่นสี่พันองค์ผู้สวามิภักดิ์ มีปริณายกแก้วเป็นประมุขเหล่านี้
ของทูลกระหม่อม ขอทูลกระหม่อมจะยังฉันทะให้เกิดในกษัตริย์เหล่านี้ จงทำความไยดีในชีวิต เทวะ โคนมแปดหมื่นสี่พันตัว กำลังกำดัดหลั่งน้ำนม กำลังเอาภาชนะรองได้เหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในโคนมเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต เทวะ ผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี และผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่างเนื้อดี แปดหมื่นสี่พันโกฏิพับเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในผ้าเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต พระกระยาหารเต็มภาชนะแปดหมื่นสี่พันสำรับ มีคนนำมาถวายทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้าเหล่านี้ของทูลกระหม่อม
ขอทูลกระหม่อมจงยังฉันทะให้เกิดในพระกระยาหารเหล่านี้ จงกระทำความไยดีในชีวิต ดังนี้ ฯ
ดูกรอานนท์ เมื่อพระนางกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ตรัสตอบพระเทวีว่า เทวี เธอได้ทักทายเราด้วยของที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจสิ้นกาลนานแล แต่ในกาลภายหลัง เธอจะทักเราด้วยของที่ไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
พระนางกราบทูลว่า หม่อมฉันจะกราบทูลพระองค์อย่างไร เทวีเธอจงทักทายเราอย่างนี้ว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นโดยประการอื่น จากสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจทั้งหลาย ทั้งปวงทีเดียว ย่อมมี
ทูลกระหม่อมอย่าได้มีความอาลัยทำกาลกิริยาเลย กาลกิริยาของผู้มีความอาลัยเป็นทุกข์ และกาลกิริยาของผู้มีความอาลัย บัณฑิตติเตียน
ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในพระนครแปดหมื่นสี่พัน อันมีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อมเสียเถิด อย่าได้กระทำความอาลัยในชีวิตเลย
ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในปราสาทแปดหมื่นสี่พัน… ในเรือนยอดแปดหมื่นสี่พัน… ในบัลลังก์แปดหมื่นสี่พัน… ในช้างแปดหมื่นสี่พัน… ในม้าแปดหมื่นสี่พัน… ในรถแปดหมื่นสี่พัน… ในแก้วมณีแปดหมื่นสี่พัน… ในสตรีแปดหมื่นสี่พัน …
ในคฤหบดีแปดหมื่นสี่พัน … ในกษัตริย์แปดหมื่นสี่พัน … ในโคนมแปดหมื่นสี่พัน …ในผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี ผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่างเนื้อดีแปดหมื่นสี่พันโกฏิพับ… ในสำรับคาวหวานแปดหมื่นสี่พันที่
ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในสิ่งเหล่านี้ๆ เสียเถิด อย่าได้ทรงทำความอาลัยในชีวิตเลย ดังนี้
ดูกรอานนท์ เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสอย่างนี้แล้วพระนางสุภัททาเทวีทรงพระกรรแสงหลั่งพระอัสสุชล ฯ
ดูกรอานนท์ ครั้งนั้นแล พระนางสุภัททาเทวีทรงเช็ดพระอัสสุชลแล้วกราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะว่า เทวะ ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นโดยประการอื่น จากสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจทั้งปวงทีเดียว ย่อมมี
ทูลกระหม่อมอย่าได้มีความอาลัยทำกาลกิริยาเลย กาลกิริยาของผู้มีความอาลัยเป็นทุกข์ กาลกิริยาของผู้มีอาลัย บัณฑิตติเตียน ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในพระนครแปดหมื่นสี่พัน อันมีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อมเสียเถิด อย่าได้ทรงทำความอาลัยในชีวิตเลย
ขอทูลกระหม่อมจงทรงละความพอพระทัยในปราสาทแปดหมื่นสี่พัน… ในเรือนยอดแปดหมื่นสี่พัน… ในบัลลังก์แปดหมื่นสี่พัน … ในช้างแปดหมื่นสี่พัน … ในม้าแปดหมื่นสี่พัน … ในรถแปดหมื่นสี่พัน… ในแก้วมณีแปดหมื่นสี่พัน… ในสตรีแปดหมื่นสี่พัน… ในคฤหบดีแปดหมื่นสี่พัน … ในกษัตริย์แปดหมื่นสี่พัน … ในโคนมแปดหมื่นสี่พัน …ในผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี ผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่างเนื้อดีแปดหมื่นสี่พันโกฏิพับ… ในสำรับคาวหวานแปดหมื่นสี่พันที่
ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในสิ่งเหล่านี้ๆ เสียเถิด อย่าทรงกระทำความอาลัยในชีวิตเลย ดังนี้ ฯ

[๑๘๔] ดูกรอานนท์ ต่อมาไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงกระทำกาลกิริยา
ดูกรอานนท์ คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี เมื่อบริโภคโภชนะอันเป็นที่ชอบใจ ย่อมมึนเมาในอาหาร ฉันใด
ความเสวยอารมณ์ในเวลาใกล้มรณะของพระเจ้ามหาสุทัสสนะได้เป็นฉันนั้นเหมือนกัน และพระเจ้ามหาสุทัสสนะครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงเข้าถึงสุคติพรหมโลก
ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ประมาณแปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงเพศคฤหัสถ์ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมปราสาทแปดหมื่นสี่พัน ท้าวเธอทรงเจริญพรหมวิหารสี่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จึงเสด็จเข้าถึงพรหมโลก ฯ

[๑๘๕] ดูกรอานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะคงจะเป็นคนอื่นแน่
ดูกรอานนท์ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราได้เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ พระนครแปดหมื่นสี่พันอันมีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา ปราสาทแปดหมื่นสี่พันอันมีธรรมปราสาทเป็นประมุขเหล่านั้น เรือนยอดของเราแปดหมื่นสี่พันอันมีเรือนยอดหลังใหญ่เป็นประมุขเหล่านั้นของเรา
บัลลังก์แปดหมื่นสี่พันอันแล้วด้วยทอง แล้วด้วยเงิน แล้วด้วยงาแล้วด้วยแก้วบุษราคัม ลาดด้วยขนเจียม ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักเป็นลวดลายลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักอันสูง มีนวมแดงทั้งสองข้าง เหล่านั้นของเรา
ช้างแปดหมื่นสี่พัน มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทองมีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีพระยาช้างตระกูลอุโบสถเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา
ม้าแปดหมื่นสี่พัน มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีวลาหกอัศวราชเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา
รถแปดหมื่นสี่พัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องอลังการแล้วด้วยทอง มีธงแล้วด้วยทอง มีตาข่ายเครื่องปกคลุมแล้วด้วยทอง มีรถเวชยันต์เป็นประมุขเหล่านั้นของเรา
แก้วมณีแปดหมื่นสี่พันดวง มีแก้วมณีเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา สตรีแปดหมื่นสี่พันนาง มี
สุภัททาเทวีเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา คฤหบดีแปดหมื่นสี่พันคนมีคฤหบดีแก้วเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา กษัตริย์แปดหมื่นสี่พันองค์ผู้สวามิภักดิ์ มีปริณายกแก้วเป็นประมุขเหล่านั้นของเรา
โคนมแปดหมื่นสี่พันตัว กำลังกำดัดหลั่งน้ำนม กำลังเอาภาชนะรองได้เหล่านั้นของเรา ผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี ผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่างเนื้อดี แปดหมื่นสี่พันโกฏิพับเหล่านั้นของเรา
สำรับคาวหวานแปดหมื่นสี่พันที่ มีคนใส่ภัตตาหารนำมาถวายทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น เหล่านั้นของเรา
ดูกรอานนท์ บรรดาพระนครแปดหมื่นสี่พัน พระนครที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น คือกุสาวดีราชธานีเมืองเดียว บรรดาปราสาทแปดหมื่นสี่พันเหล่านั้น
ปราสาทที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้น คือธรรมปราสาทหลังเดียวเท่านั้น บรรดาเรือนยอดแปดหมื่นสี่พันหลัง เรือนยอดที่เราอยู่ครอบครองสมัยนั้นคือเรือนยอดหลังใหญ่หลังเดียวเท่านั้น
บรรดาบัลลังก์แปดหมื่นสี่พันเหล่านั้น บัลลังก์ที่เราใช้สอยสมัยนั้น คือบัลลังก์แล้วด้วยทอง หรือแล้วด้วยเงิน หรือแล้วด้วยงา หรือแล้วด้วยแก้วบุษราคัม บัลลังก์เดียวเท่านั้น
บรรดาช้างแปดหมื่นสี่พันเชือกเหล่านั้น ช้างที่เราขึ้นขี่สมัยนั้น คือพระยาช้างตระกูลอุโบสถเชือกเดียว
เท่านั้น บรรดาม้าแปดหมื่นสี่พันตัวเหล่านั้น ม้าที่เราขึ้นขี่สมัยนั้น คือวลาหกอัศวราชตัวเดียวเท่านั้น
บรรดารถแปดหมื่นสี่พันคันเหล่านั้น รถที่เราขึ้นขี่สมัยนั้นคือรถเวชยันต์คันเดียวเท่านั้น
บรรดาสตรีแปดหมื่นสี่พันคนเหล่านั้น สตรีซึ่งบำรุงบำเรอเราสมัยนั้น เป็นนางกษัตริย์หรือแพศย์คนเดียวเท่านั้น
บรรดาผ้าแปดหมื่นสี่พันโกฏิพับเหล่านั้น ผ้าที่เรานุ่งห่มสมัยนั้น เป็นผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี หรือผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี หรือผ้าไหมอย่างเนื้อดี หรือผ้ากัมพลอย่างเนื้อดีสำรับเดียวเท่านั้น
บรรดาสำรับคาวหวานแปดหมื่นสี่พันที่เหล่านั้น สำรับที่เราบริโภคข้าวสุกทะนานหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง และกับพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้นสำรับเดียวเท่านั้น
ดูกรอานนท์ เธอจงดูเถิด สังขารทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมดล่วงไปแล้วดับไปแล้ว แปรไปแล้ว
ดูกรอานนท์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่น่ายินดีอย่างนี้แล
ดูกรอานนท์ ข้อนี้ควรจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวงทีเดียว ควรที่จะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะหลุดพ้นไป
ดูกรอานนท์ เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย เราทอดทิ้งร่างกายไว้ในประเทศนี้ การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ การทอดทิ้งร่างกายไว้นี้ นับเป็นครั้งที่เจ็ด
ดูกรอานนท์ เราไม่เล็งเห็นประเทศนั้นๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระไว้เป็นครั้งที่แปด ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๑๘๖] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข ดังนี้ ฯ

อธิบาย-๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒)

อธิบาย-๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒)

“คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว
นี้แล โวหาร ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้ ฯ
[๑๖๘] ข้าพเจ้า ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัยไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย … พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย … พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย … พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ดูกรท่านผู้มีอายุจิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้”

ได้แก่ โลกธรรม ๘
มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ผัสสะ เวทนา

มหาวรรคที่ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย… คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไร
บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่า โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้อัตภาพเป็นอย่างนั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว
ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ดังนี้
บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหล
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ กระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค
ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่าโลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนั้นเอง การได้อัตภาพเป็นอย่างนั้น ในโลกสันนิวาสตามที่เป็นแล้ว
ในการได้อัตภาพตามที่เป็นแล้ว โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ หมุนเวียน ไปตามโลก และโลกย่อมหมุนเวียนตามโลกธรรม ๘ ดังนี้
บุคคลนั้นกระทบความเสื่อมญาติ กระทบความเสื่อมโภคทรัพย์หรือกระทบความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในอันตราย… คนมีปัญญาทรามหารู้ไม่ ดังนี้
นี้เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

อายตนสูตรที่ ๗
[๔๖๔] ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยผัสสายตนะ ๖ ฯ
ก็ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่ ฯ
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้ มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยผัสสายตนะ ๖
และภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่
ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด ฯ
[๔๖๕] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ร้องเสียงดังพิลึกพึงกลัว ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค ฯ
ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุอีกรูปหนึ่งอย่างนี้ว่า ภิกษุ ภิกษุ แผ่นดินนี้เห็นจะถล่มเสียละกระมัง ฯ
เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ แผ่นดินนี้ย่อมไม่ถล่ม ดูกรภิกษุ นั่นมารผู้มีบาปมาแล้ว เพื่อกำบังตาพวกเธอ ฯ
[๔๖๖] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่า นี้เป็นมาร ผู้มีบาป
จึงตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น นี้เป็นโลกามิสอันแรงกล้า โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้
ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า มีสติก้าวล่วง โลกามิสนั้น และก้าวล่วงบ่วงมารแล้ว รุ่งเรื่องอยู่ดุจพระอาทิตย์ ฉะนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป เป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง ฯ

คำว่า มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ได้แก่ บรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
ละสักกายทิฏฐิ ละอัตตานุทิฏฐิ ละอัตตาวาทุปาทาน

“จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้”
ได้แก่ ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕


“อุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๕ ประการแล ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ฯ
[๑๖๙]ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ
จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูปและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนาแล้วแลว่า… ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า … ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า …
ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ
จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับสละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในวิญญาณได้
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้”

“จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้”
ได้แก่ ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ละตัณหา ๓


วิชชา ๒

“ธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๖ ประการ
๖ ประการเป็นไฉน คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบแล้ว
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้ ฯ
[๑๗๐] ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย
จึงทราบชัดว่าจิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้
ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุโดยความเป็นอนัตตา … ข้าพเจ้าครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา … ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา … ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุโดยความเป็นอนัตตา …
ข้าพเจ้าครองวิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย
จึงทราบชัดว่าจิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้”

ได้แก่ ต้องมีสภาวะจิตดวงสุดท้ายมีเกิดขึ้นในตน จึงจะเข้าใจได้
ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว
หลักๆ มีทั้งหมด ๓ ครั้ง หมดสติ
และอาจมีเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่ไม่ถึงขั้นหมดสติ

บางคนเจ็บป่วย แล้วความดับที่มีเกิดขึ้นด้วยสมาธิ เนวสัญญาฯ ก็มีอยู่
เกิดจากไม่เคยสดับธรรมจากพระอริยะ สัตบุรุษ สัปบุรุษ ปุริสบุคคลมาก่อน
ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตนเข้าถึงธรรมมรรคผลก็มีอยู่
บางคนคิดไปไกลอีกคิดเอาเองว่าตนเข้าถึงอรหัตก็มีอยู่
เจอบ่อยนะคนที่มีสภาวะแบบที่นำมากล่าวถึง พูดไปก็แค่นั้น เขาไม่ฟังหรอก เพราะเชื่อมั่นในสิ่งที่มีเกิดขึ้นในตน
บางคนอ่านพระสูตร แล้วนำมาอะไรเคียงๆกับสภาวะที่มีเกิดขึ้นในตนก็มีอยู่ ซึ่งเกิดจากความอยากเป็นในสิ่งที่ตนอยากเป็น ก็มีอยู่ มีเยอะ

ทุกขาปฏิปทา
เป็นผู้ที่มีสติปัฏฐาน ๔ มีเกิดขึ้นตามจริง ไม่มีนิมิตสงขารใดๆมีเกิดขึ้น
เวทนากล้า แสนสาหัส กลัวความเจ็บปวดที่มีเกิดขึ้นหรือกลัวตาย จะใช้คำบริกรรมมาช่วย จนเวทนากล้าค่อยๆเบาลง
บางคนปฏิบัติตลอดชีวิต เกิดจากยังละความกลัวไม่ได้
บางคนคิดเอาเองว่าสภาวะเดิมๆซ้ำๆไม่ไปไหน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ล้มเลิกการปฏิบัติก็มีอยู่
จริงๆแล้ว เกิดจากการกระทำของตน ความอทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนาที่มีเกิดขึ้นไม่ได้

สุขาปฏิปทา
จะมีนิมิตสังขารมีเกิดขึ้นก่อน เป็นสภาวะที่มีเกิดขึ้นขณะนั่งอยู่(ทำกรรมฐาน)
นิมิตสังขารมีเกิดขึ้น สภาวะที่มีเกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องจริง สิ่งที่อยู่ในอนุสัย ความกลัว กลัวตาย
ยกตย. นิมิตสังขารมีเกิดขึ้น
งูฉก ตกใจ ทำให้กลับมากายที่นั่งอยู่
บางคนเป็นหอบ นิมิตสังขารมีเกิดขึ้น หอบจนจะขาดใจ กลัวตาย กลับมารู้กายที่นั่งอยู่
นี่เป็นลักษณะนิมิตสังขาร จะมีหลายรูปแบบมีเกิดขึ้น ตอนจะขาดใจ ตายก็ตาย ปลงตกเพราะเห็นทุกข์ ตัวสภาวะจะดำเนินโดยของสภาวะเอง

ดิฉันกลัวจมน้ำ นิมิตสังขารมีเกิดขึ้น เหมือนมีจริงในชีวิต กำลังจมน้ำ กลัวจมน้ำ กระเสือกกระสน พยายามหายใจให้ออก ทำยังไงก็ไม่รอด ตอนขาดใจ
ปลงตก ตายก็ตาย เมื่อเกิดชาติใหม่ จะไม่ต้องมีชีวิตลำบากแบบนี้อีก ที่จิตปลงตกเกิดจากเห็นทุกข์ พอขาดใจ ตัวสภาวะจะดำเนินโดยตัวสภาวะเอง

“จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้”
ได้แก่ ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕


ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน

“ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอกอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มีอย่างละ ๖ แล
อย่างละ ๖ เป็นไฉน คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอายตนะภายใน อายตนะภายนอกอย่างละ ๖ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖เหล่านี้ ฯ
[๑๗๑] ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในฆานะ ในกลิ่น ในฆานวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้”

ได้แก่ ละกามคุณ ๕

“จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้”
ได้แก่ ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕

อายตนสูตร
ว่าด้วยอริยสัจ ๔
[๑๖๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน?
คือทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
[๑๖๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน?
ควรจะกล่าวว่า อายตนะภายใน ๖
อายตนะภายใน ๖ เป็นไฉน?
คือ อายตนะคือตา ฯลฯ อายตนะคือใจ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ.
[๑๖๘๖] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน?
ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ
ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ.
[๑๖๘๗] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน?
ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.
[๑๖๘๘] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน?
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
[๑๖๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.


“[๑๗๓] ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์แล้ว
ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว… ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว … ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว … ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว …
รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์แล้ว ฯ

[๑๗๔] ข้าพเจ้าประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันไม่เจือทุกข์ภายใน
ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง ฯ

[๑๗๕] ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้
ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะเช่นนี้แล้ว
จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ บนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาท
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา ฯ

[๑๗๖] ข้าพเจ้าครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว
จึงได้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ได้เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ได้เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ
มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกข้าพเจ้านั้นได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
ได้เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ

[๑๗๗] ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ
[๑๗๗] ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์
ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ
เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี ฯ”

อธิบาย

ได้แก่
เข้าถึงธรรมมรรคผลตามจริง วิชชา ๑
เข้าถึงธรรมมรรคผลตามจริง วิชชา ๒
เข้าถึงธรรมมรรคผลตามจริง วิชชา ๓
วิมุตติญาณทัสสนะมีเกิดขึ้นโดยตัวของสภาวะเอง

เป็นความรู้เห็นของผู้ปฏิบัติเข้าถึงเนวสัญญาฯที่เป็นสัมมาสมาธิ
ทำต่อเนื่อง ทำวันละหลายรอบ บางคนไม่นอน ทำทั้งกลางวันและกลางคืน
เมื่ออินทรีย์ ๕ แก่กล้า ตัวสภาวะจะดำเนินโดยตัวสภาวะเอง ไม่ต้องคาดหวัง เหตุมี ผลย่อมมี

หากยังคงทำความเพียรต่อเนื่อง ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความหวังใดๆ มีหน้าที่ปฏิบัติต่อเนื่อง ทำวันละหลายรอบ
หากทำได้แค่ไหน ผลที่ได้รับก็แค่นั้น อุปมา ฝากเงินเข้าแบงค์ ๑๐๐ บาท แต่จะเอาผล ๑ ล้านบาท เป็นไปไม่ได้หรอก
ผลของการทำความเพียรก็เช่นกัน ทำแค่ไหน ก็ได้แค่นั้น
ยกเว้นกรณีผู้ที่สามารถอดทนอดกลั้นอยู่กับเวทนากล้าที่มีเกิดขึ้นได้
กำหนดสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง ไม่ใช้คำบริกรรมมาช่วย ต้องใจเด็ด จะมีเกิดกี่ครั้งก็อยู่ได้ สภาวะจึงจะสามารถก้าวไปข้างหน้า
จากนั่ง ๑ ชม. มาเป็น ๒ ชม. จาก ๒ ชม. มาเป็น ๓ ชม.
ตัวไตรลักษณ์ เวทนากล้าที่มีเกิดขึ้น เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในกายว่าเป็นตน ของตน

๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒) วิชชา ๓

๒. ฉวิโสธนสูตร (๑๑๒)
[๑๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น
ครั้นไม่ยินดีไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มี ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน คือ คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว นี้แล
โวหาร ๔ ประการอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้ ฯ
[๑๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ
จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อันกิเลสไม่อาศัยไม่พัวพัน พ้นวิเศษแล้ว พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้เห็น มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย …พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ยิน มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย … พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้ทราบ มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย …พรากได้แล้วในธรรมที่ข้าพเจ้าได้รู้ชัด มีใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดนได้แล้วอยู่
ดูกรท่านผู้มีอายุจิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในโวหาร ๔ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ
ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้ มี ๕ ประการแล
๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ ฯ
[๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ
จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้ารู้แจ้งรูปแล้วแลว่า ไม่มีกำลังปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว
เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในรูปและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในรูปได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งเวทนาแล้วแลว่า …จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในเวทนาและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในเวทนาได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสัญญาแล้วแลว่า …จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสัญญาและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสัญญาได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งสังขารแล้วแลว่า …จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในสังขารและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในสังขารได้
ข้าพเจ้ารู้แจ้งวิญญาณแล้วแลว่า ไม่มีกำลัง ปราศจากความน่ารัก มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความชื่นใจ
จึงทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับสละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นในวิญญาณและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในวิญญาณได้
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชมอนุโมทนาว่า สาธุ
ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ธาตุอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบ นี้มี ๖ ประการ
๖ ประการเป็นไฉน คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลธาตุ ๖ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสไว้ชอบแล้ว
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้ ฯ
[๑๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้วพ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ
จึงนับว่ามีธรรมอันสมควร จะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าครองปฐวีธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยปฐวีธาตุเลย
จึงทราบชัดว่าจิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยปฐวีธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยปฐวีธาตุได้
ข้าพเจ้าครองอาโปธาตุโดยความเป็นอนัตตา …เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอาโปธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอาโปธาตุได้
ข้าพเจ้าครองเตโชธาตุโดยความเป็นอนัตตา …เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยเตโชธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยเตโชธาตุได้
ข้าพเจ้าครองวาโยธาตุโดยความเป็นอนัตตา …เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวาโยธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวาโยธาตุได้
ข้าพเจ้าครองอากาสธาตุโดยความเป็นอนัตตา …เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละและสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยอากาสธาตุและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยอากาสธาตุได้
ข้าพเจ้าครองวิญญาณธาตุโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ครองอัตตาอาศัยวิญญาณธาตุเลย
จึงทราบชัดว่าจิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งอุปาทานขันธ์ที่ยึดมั่นอาศัยวิญญาณธาตุ และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นอาศัยวิญญาณธาตุได้
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในธาตุ ๖ นี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ
ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อายตนะภายในอายตนะภายนอก อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบ นี้มีอย่างละ ๖ แล
อย่างละ ๖ เป็นไฉน คือจักษุและรูป โสตและเสียง ฆานะและกลิ่น ชิวหาและรส กายและโผฏฐัพพะ มโนและธรรมารมณ์
ดูกรท่านผู้มีอายุ นี้แลอายตนะภายใน อายตนะภายนอกอย่างละ ๖ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสไว้ชอบแล้ว
ก็จิตของท่านผู้มีอายุ ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไรเล่า จึงหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖เหล่านี้ ฯ
[๑๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ
จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืน ซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในจักษุ ในรูป ในจักษุวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่น และอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในโสต ในเสียง ในโสตวิญญาณ และในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในฆานะ ในกลิ่น ในฆานวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในชิวหา ในรส ในชิวหาวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นสำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในกาย ในโผฏฐัพพะ ในกายวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณ
ข้าพเจ้าทราบชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้น สำรอก ดับ สละ และสลัดคืนซึ่งความพอใจ ความกำหนัด ความยินดี
ตัณหา อุปาทานที่ยึดมั่นและอนุสัยคือความตั้งใจและความปักใจมั่นในมโน ในธรรมารมณ์ ในมโนวิญญาณและในธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุ จิตของข้าพเจ้าผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงได้หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นในอายตนะทั้งภายในทั้งภายนอกอย่างละ ๖ เหล่านี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ
ครั้นแล้วพึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า ก็เมื่อท่านผู้มีอายุ รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างไร จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้และในนิมิตทั้งหมด ในภายนอกได้ด้วยดี ฯ
[๑๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ
จึงนับว่ามีธรรมอันสมควรจะพยากรณ์ได้ดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองเรือน ยังเป็นผู้ไม่รู้ พระตถาคตบ้าง สาวกของพระตถาคตบ้าง แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้านั้น
ข้าพเจ้าฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้ความเชื่อในพระตถาคต ข้าพเจ้าประกอบด้วยการได้ความเชื่อโดยเฉพาะนั้น จึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง
เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
สมัยต่อมา ข้าพเจ้าจึงละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง ละวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ข้าพเจ้าเมื่อเป็นผู้บวชแล้วอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย
เพราะละปาณาติบาต จึงเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตราแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู ได้เป็นผู้อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูต
เพราะละอทินนาทาน จึงเป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เขาให้ หวังแต่ของที่เขาให้ มีตนเป็นคนสะอาด ไม่ใช่ขโมยอยู่
เพราะละกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ จึงเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล และเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมดาของชาวบ้าน
เพราะละมุสาวาท จึงเป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้กล่าวคำจริง ดำรงอยู่ในคำสัตย์ เป็นหลักฐาน เชื่อถือได้ไม่พูดลวงโลก
เพราะละวาจาส่อเสียด จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ได้ยินจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่บอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้วไม่บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้นทั้งนี้
เมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็สมานให้ดีกันหรือเมื่อเขาดีกันอยู่ ก็ส่งเสริม ชอบความพร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในคนที่พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้กล่าววาจาสมานสามัคคีกัน
เพราะละวาจาหยาบ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาซึ่งไม่มีโทษ เสนาะหู ชวนให้รักใคร่ จับใจ เป็นภาษาชาวเมือง อันคนส่วนมากปรารถนาและชอบใจ
เพราะละการเจรจาเพ้อเจ้อ จึงเป็นผู้เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ กล่าวถูกกาละ กล่าวตามเป็นจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย เป็นผู้กล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้าง มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ ตามกาล
ข้าพเจ้าเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เป็นผู้ฉันหนเดียว งดฉันในเวลาราตรี เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล เป็นผู้เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เป็นผู้เว้นขาดจากการทัดทรงและตบแต่งด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว เป็นผู้เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงและใหญ่ เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
เป็นผู้เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส เป็นผู้เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เป็นผู้เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เป็นผู้เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
เป็นผู้เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เป็นผู้เว้นขาดจากการซื้อและการขาย เป็นผู้เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง โกงด้วยของปลอม และโกงด้วยเครื่องตวงวัด เป็นผู้เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เป็นผู้เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก
ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย และบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปที่ใดๆ ย่อมถือเอาบริขารไปได้หมด เหมือนนกมีปีก จะบินไปที่ใดๆ ย่อมมีภาระคือปีกของตนเท่านั้น บินไป ฯ

[๑๗๓] ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ
ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์แล้ว
ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว… ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว … ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว … ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว …
รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ไม่เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิตและโดยอนุพยัญชนะ
ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ รักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์แล้ว ฯ

[๑๗๔] ข้าพเจ้าประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้แล้ว จึงได้เสวยสุขอันไม่เจือทุกข์ภายใน ได้เป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดูและเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน
ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง ฯ

[๑๗๕] ก็ข้าพเจ้าประกอบด้วยศีลขันธ์ของพระอริยะเช่นนี้ ประกอบด้วยอินทรียสังวรของพระอริยะเช่นนี้ และประกอบด้วยสติสัมปชัญญะของพระอริยะเช่นนี้แล้ว
จึงได้พอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ บนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
ข้าพเจ้ากลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาท
ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายในอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชื่อว่าได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา ฯ

[๑๗๖] ข้าพเจ้าครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว
จึงได้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
ได้เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ได้เป็นผู้วางเฉย เพราะหน่ายปีติ
มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกข้าพเจ้านั้นได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
ได้เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ

[๑๗๗] ข้าพเจ้าเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว
จึงได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ข้าพเจ้าได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ที่ดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับทุกข์
ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ที่ดับอาสวะ นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะ
เมื่อข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อข้าพเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงถอนอนุสัยคือความถือตัวว่าเป็นเรา ว่าของเรา ในกายอันมีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งหมดในภายนอกได้ด้วยดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำกล่าวของภิกษุรูปนั้น พวกเธอควรชื่นชม อนุโมทนาว่า สาธุ
ครั้นแล้วพึงกล่าวแก่ภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้ว ที่พิจารณาเห็นท่านผู้มีอายุ เช่นตัวท่านเป็นสพรหมจารี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

๑๐. ธรรมสูตร วิชชา ๓

๑๐. ธรรมสูตร
[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ได้วิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์โดยธรรม เราย่อมไม่บัญญัติบุคคลอื่นว่าเป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวตามคำที่เขากล่าวไว้แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ได้วิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์โดยธรรม เราย่อมไม่บัญญัติบุคคลอื่นว่าเป็นพราหมณ์
โดยเหตุเพียงการกล่าวตามคำที่เขากล่าวไว้แล้ว อย่างไร ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ
ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้
ภิกษุนั้นได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล้วกำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว กำจัดความมืดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
สมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ถือยึดการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ดังนี้
เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้
เธอได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว กำจัดความมืดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
สมเป็นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เธอได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว กำจัดความมืดได้แล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
สมเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ได้วิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์โดยธรรม
ย่อมไม่บัญญัติบุคคลอื่นว่าเป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงกล่าวตามคำที่เขากล่าวไว้แล้ว อย่างนี้แล ฯ

เรากล่าวผู้ระลึกถึงชาติก่อนได้ เห็นทั้งสวรรค์และอบาย และถึงความสิ้นไปแห่งชาติ เป็นมุนี
ผู้อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นผู้มีไตรวิชชา ด้วยวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์
เราไม่กล่าวบุคคลอื่นผู้มีการกล่าวตามที่เขากล่าวไว้แล้วว่าเป็นพราหมณ์ ฯ

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ

อธิบาย

คำว่า อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
ได้แก่ ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ดับตัณหา ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ดับกามภพ ดับรูปภพ ดับอรูปภพ ดับอวิชชา

“ก็เราย่อมบัญญัติบุคคลผู้ได้วิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์โดยธรรม เราย่อมไม่บัญญัติบุคคลอื่นว่าเป็นพราหมณ์”
ได้แก่ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดับฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ดับตัณหา ๓

.
วิชชา ๑ เป็นสภาวะที่รู้ได้ยาก
หากไม่เคยสดับธรรมจากพระอริยะ สัตบุรุษ สัปบุรุษ ปุริสบุคคล
และขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ๕

“ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก”
บุคคลที่มีวิชชา ๑ มีเกิดขึ้นในตน จึงจะเข้าใจได้
ลักษณะของบุคคลที่มีวิชชา ๑ มีเกิดขึ้นตามจริง
๑. เป็นผู้ที่รักษาศิล
๒. เคยสดับธรรมจากพระอริยะ สัตุบุรษ สัปบุรุษ มาก่อนและปฏิบัติตาม
๓. ผลของการปฏิบัติตาม เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ
๔. ทำกรรมฐาน จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิอรูปฌานที่เป็นสัมมาสมาธิ
เห็นความเกิดขึ้น ขณะกำลังเกิด และถึงความดับ ในรูปฌาน อรูปฌาน นิโรธ
กำหนดสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง
ไม่นำตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะที่มีเกิดขึ้น
ไตรลักษณ์มีเกิดขึ้นตามจริง
อาศัยศรัทธา ทำความเพียรต่อเนื่อง
ตั้งความหวังหรือไม่ตั้งความหวังก็ตาม
เมื่ออินทรีย์ ๕ แก่กล้า ตัวสภาวะจะดำเนินของโดยสภาวะเอง
แล้วจะแจ่มแจ้งแทงตลอดในเรียก วิชชา ๑ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ไม่ใช่ตายแล้วไปเห็นสวรรค์ นรก
หรือการระลึกชาติแบบที่เคยฟังหรืออ่านมาก่อน
จะอยู่เหนือสมมุติ พูดได้แค่นี้ ต้องรู้เห็นด้วยตน จึงจะเข้าใจ

ส่วนบุคคลที่ทำกรรมฐาน กำลังสมาธิต่ำกว่าเนวสัญญาฯ
แม้จะเป็นสัมมาสมาธิก็ตาม จะไม่มีวิชชา ๑ มีเกิดขึ้น

มิตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๙. ทานสูตร
[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ ฯ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสทานใดว่าอย่างยิ่งยอดเยี่ยม
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสรรเสริญการแจกจ่ายทานใดว่าอย่างยิ่งยอดเยี่ยม
วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ผู้เป็นเขตอันเลิศ
รู้ชัดอยู่ซึ่งทานและการแจกจ่ายทานนั้นๆ ใครจะไม่พึงบูชา (ให้ทาน)
ในกาลอันควรเล่า ประโยชน์อย่างยิ่งนั้น ของผู้แสดงและผู้ฟังทั้ง๒
ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคตย่อมหมดจดประโยชน์อย่างยิ่งนั้น
ของผู้ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
มิตตสูตร
[๓๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรลามก มีสหายลามก มีเพื่อนฝูง ลามก เสพ คบ
เข้าไปนั่งใกล้มิตรลามกและประพฤติตามมิตรลามกเหล่านั้นอยู่
จักบำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ภิกษุไม่บำเพ็ญธรรม คือ อภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว
จักบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ไม่บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ไม่บำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์แล้ว
จักละกามราคะ รูปราคะ หรืออรูปราคะ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนฝูงดี เสพ คบ
เข้าไปนั่งใกล้มิตรดี และประพฤติตามมิตรเหล่านั้นอยู่
จักบำเพ็ญธรรม คืออภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
บำเพ็ญธรรม คืออภิสมาจาริกวัตรให้บริบูรณ์แล้ว
จักบำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
บำเพ็ญเสขธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักบำเพ็ญศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้
บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์แล้ว
จักละกามราคะ รูปราคะหรืออรูปราคะ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

อธิบาย

คำว่า กามราคะ
ได้แก่ กามสังโยชน์ กามโยค กามตัณหา กามราคะ กามาสวะ
เขียนแตกต่างกัน สภาวะที่มีเกิดขึ้นตัวเดียวกัน

คำว่า รูปราคะ หรืออรูปราคะ
ได้แก่ ภวสังโยชน์ ภวโยค ภวตัณหา ภวราคะ ภวาสวะ
เขียนแตกต่างกัน สภาวะที่มีเกิดขึ้นตัวเดียวกัน


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต
นฬกปานสูตรที่ ๒
[๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปลาสวัน ในนฬกปานนิคม
สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอันหมู่ภิกษุแวดล้อม ประทับนั่งแล้วในวันอุโบสถ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา
สิ้นส่วนแห่งราตรีเป็นอันมาก ทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบอยู่แล้ว
ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร ภิกษุสงฆ์เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะแล้ว
ธรรมีกถาเพื่อภิกษุทั้งหลายจงแจ่มแจ้งกะเธอเราเมื่อยหลัง จักเอนหลัง
ท่านพระสารีบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิสี่ชั้นแล้ว
สำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวาซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท
ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงกระทำอุฏฐานสัญญาไว้ในพระทัย ฯ

ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับท่านพระสารีบุตรแล้ว
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญา ไม่มีการเงี่ยโสตลงฟังธรรม
ไม่มีการทรงจำธรรมไว้ ไม่มีการพิจารณาเนื้อความ ไม่มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ไม่มีความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นย่อมผ่านพ้นไป
ผู้นั้นพึงหวังได้ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเจริญเลย
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนกลางคืนหรือกลางวันของพระจันทร์ในปักษ์ข้างแรม
ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์ย่อมเสื่อมจากวรรณะ … ฉันใด
ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย … ไม่หวังได้ความเจริญเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริมีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีปัญญา มีการเงี่ยโสตลงฟังธรรม มีการทรงจำธรรมไว้
มีการพิจารณาเนื้อความ มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
กลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นย่อมผ่านพ้นไป ผู้นั้นพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่หวังได้ความเสื่อมเลย
ดูกรอาวุโสทั้งหลายเปรียบเหมือนกลางคืนหรือกลางวันของพระจันทร์ในปักษ์ข้างขึ้น
ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยวรรณะ … ฉันใด
ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย …
ไม่หวังได้ความเสื่อมเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้ว ตรัสชมท่านพระสารีบุตรว่าดีละ ดีละ สารีบุตร
ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย … ไม่หวังได้ความเจริญเลย
ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนกลางคืนหรือกลางวันของพระจันทร์ในปักษ์ข้างแรม
ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์ย่อมเสื่อมจากวรรณะ … ฉันใด
ดูกรสารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย … ไม่หวังได้ความเจริญเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ดูกรสารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย … ไม่หวังได้ความเสื่อมเลย
ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนกลางคืนหรือกลางวันของพระจันทร์ในปักษ์ข้างขึ้น
ย่อมผ่านพ้นไป พระจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยวรรณะ … ฉันใด
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย … ไม่หวังได้ความเสื่อมเลย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๕. อนุคคหสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ อันองค์ ๕ อนุเคราะห์แล้ว
ย่อมเป็นธรรมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส
และเป็นธรรมมีปัญญาวิมุติเป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์
องค์ ๕ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ สัมมาทิฐิ
อันศีลอนุเคราะห์แล้ว
อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว
อันการสนทนาธรรมอนุเคราะห์แล้ว
อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว
อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิอันองค์ ๕ เหล่านี้แล อนุเคราะห์แล้ว
ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์
และมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์ ฯ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
เทวตาวรรคที่ ๒
อนาคามิสูตร
เทวตาวรรคที่ ๒
อนาคามิสูตร
[๓๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑
ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
ความเป็นผู้เกียจคร้าน ๑
ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑
ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการนี้ไม่ได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑
ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
ความเป็นผู้เกียจคร้าน ๑
ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑
ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม ๖ ประการนี้ได้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ฯ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๙. อัคคธรรมสูตร
[๓๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ไม่มีหิริ ๑ เป็น
ผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
เป็นผู้เกียจคร้าน ๑
เป็นผู้มีปัญญาทราม ๑
และเป็นผู้มีห่วงใยในร่างกายและชีวิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อควรกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ
ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑
เป็นผู้มีหิริ ๑
เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๑
เป็นผู้ปรารภความเพียร ๑
เป็นผู้มีปัญญา ๑
และเป็นผู้ไม่มีความห่วงใยในร่างกายและชีวิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อม
เป็นผู้ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตอันเป็นธรรมชั้นเลิศ ฯ

ความเสื่อมและความไม่เสื่อมพระสัทธรรม

ความเสื่อมและความไม่เสื่อมพระสัทธรรม

ถ้าถามความคิดเห็นของเรานะ
น่าจะเกิดจากวิภวตัณหาคืออวิชชา
ของบุคคลที่ยังละความอยากเป็นไม่ได้
เช่นอยากเป็นโสดาบัน สกทาคา อนาคามี อรหันต์ ฝังอยู่ใต้ส่วนลึก
เพียงแต่อวิชชาที่มีอยู่
ทำให้ไม่รู้ว่าตนยังละความอยากลงเป็นไม่ได้
อันนี้ดูจากสภาวะของในอดีตของผู้ปฏิบัติ
จะเป็นฆราวาสหรือพระก็ตาม
พอบุคคลเล่าเรื่องสภาวะที่มีเกิดขึ้น
จะรู้เลยว่าติดขัดอะไรอยู่

เมื่อมีความอยากอยู่ในอนุสัย
ทำให้ติดอุปกิเลสแต่ไม่รู้ว่าตนนั้นติดอุปกิเลส
ทำให้ไม่สามารถจะรู้ชัดในสภาวะอื่นๆหรือมรรคสูงขึ้นไปได้
จมแช่กับสภาวะอยู่เพียงแค่นั้น

หากทำไม่ให้พระสัทธรรมเสื่อมหายไป
ต้องปฏิบัติให้ได้วิชชา ๓ ก่อน
เพราะเมื่อปฏิบัติได้วิชชา ๓ ตามจริง
วิมุตติญาณทัสสนะจะปรากฏโดยตัวของสภาวะเอง

ความรู้ความเห็นที่ละเอียดจะค่อยๆรู้
ไม่ได้รู้ทันทีทันใด
ต้องอาศัยใช้เวลาในการอ่านพระสูตร
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามลำดับ


๓. ธัมมกถิกสูตรที่ ๑
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าพระธรรมกถึก
[๓๐๒] พระนครสาวัตถี.
ภิกษุรูปนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่เรียกว่า พระธรรมกถึก พระธรรมกถึก ดังนี้
ภิกษุชื่อว่า เป็นธรรมกถึก
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยเหตุเพียงเท่าไร?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ
หากว่า ภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้
ควรจะเรียกว่า ภิกษุธรรมกถึก.

หากว่า ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้
ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

หากว่า ภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไซร้
ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้ได้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน.


สัทธรรมปฏิรูป

๗. อาณิสูตร
[๖๗๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี …
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรื่องเคยมีมาแล้ว
ตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า ทสารหะได้มีแล้ว
เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป
สมัยต่อมาโครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป
ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกภิกษุในอนาคตกาล
เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว
อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม อยู่
จักไม่ปรารถนาฟัง จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้
และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษา
แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตร อันนักปราชญ์รจนาไว้
อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้
มีอักษรอันวิจิตร
มีพยัญชนะอันวิจิตร
เป็นของภายนอก
เป็นสาวกภาษิต อยู่
จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้
และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ฯ

[๖๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น
ที่ตถาคตกล่าวแล้วอันลึก
มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ
ประกอบด้วยสุญญตธรรม
จักอันตรธานฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะเหตุดังนี้นั้น
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว
อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ
ประกอบด้วยสุญญตธรรม อยู่
พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ
จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้
และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ


๔. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๑
[๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑
เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


๕. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่แสดงธรรม
ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ทำการสาธยายธรรม
ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ตรึกตรอง ไม่เพ่งดูด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ … อัพภูตธรรม เวทัลละ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมบอกธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมทำการสาธยายธรรม
ตามที่ได้ฟังมาตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ย่อมตรึกตรอง เพ่งดูด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


๖. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๓
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี
ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี
แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี
ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก
ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก
เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต
มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ
เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน
เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก
ไม่ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง

ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง
ประชุมชนเหล่านั้น
ก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน
เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก
ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
สงฆ์เป็นผู้แตกกัน
เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว
ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน
แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน
ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส
และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน
คือ
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี
ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี
แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี
ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย
ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต
เล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ
เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
พระสูตรย่อมไม่ขาดเค้ามูล มีหลักฐานอยู่
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ย่อมไม่มักมาก
ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด
เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง
สงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี ชื่นชมต่อกัน
ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย
ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี
ไม่มีการด่ากันและกัน
ไม่บริภาษกันและกัน
ไม่มีการแข่งขันกันและกัน
ไม่ทอดทิ้งกันและกัน
ในเหตุการณ์เช่นนั้น
คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


อังคสูตร
[๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล
ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละกามฉันทะได้แล้ว ๑
ละพยาบาทได้แล้ว ๑
ละถีนมิทธะได้แล้ว ๑
ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ๑
ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขบุคคล ๑
ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขบุคคล ๑
ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขบุคคล ๑
ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นของพระอเสขบุคคล ๑
ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นของพระอเสขบุคคล ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
บัณฑิตเรียกว่าผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล
ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้ ฯ
กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงเทียว

ภิกษุผู้เช่นนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอันเป็นของพระอเสขะ
ด้วยสมาธิอันเป็นของพระอเสขะ
ด้วยปัญญาอันเป็นของพระอเสขะ
ด้วยวิมุตติอันเป็นของพระอเสขะ
และด้วยวิมุตติญาณทัสสนะอันเป็นของพระอเสขะ
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้ละองค์ ๕ สมบูรณ์ล้วด้วยองค์ ๕
ภิกษุนั้นแล บัณฑิตเรียกว่า ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวลในธรรมวินัยนี้ ฯ

อธิบาย

“เป็นผู้ละกามฉันทะได้แล้ว ๑
ละพยาบาทได้แล้ว ๑”
ได้แก่ มีเกิดขึ้นในโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
ไตรลักษณ์(ทุกขัง/อัปปณิหิตวิโมกข์)
ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ละสักกายทิฏฐิตามจริง
วิมุตติปาริสุทธิเกิดตามจริง
โคตรภูญาณมีเกิดขึ้นตามจริง
วิชชา ๑ เกิดตามจริง
แจ้งอริยสัจ ๔
ละกามตัณหาและวิธีการการดับกามตัณหา
สีลปาริสุทธิ

“ละถีนมิทธะได้แล้ว ๑
ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ๑”
ได้แก่ อนาคามิมรรค อนาคามิผล
ไตรลักษณ์(อนัตตา/สุญญตวิโมกข์ )
ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ละอัตตานุทิฏฐิตามจริง
วิมุตติปาริสุทธิเกิดตามจริง
วิชชา ๒ เกิดตามจริง
แจ้งอริยสัจ ๔
ละภวตัณหาและทำให้รู้วิธีการดับภวตัณหา
จิตตปาริสุทธิ

“ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ๑”
ได้แก่ อรหัตมรรค อรหัตผล
ไตรลักษณ์(อนิจจัง/อนิมิตตวิโมกข์)
ละฉันทราคะในอุปาทานขันธ์ ๕
ละอัตตวาทุปาทานตามจริง
วิมุตติปาริสุทธิเกิดตามจริง
วิชชา ๓ เกิดตามจริง
แจ้งอริยสัจ ๔
ละวิภวตัณหาและวิธีการดับอวิชชา
ทิฏฐิปาริสุทธิ

๔. ปุพพโกฏฐกสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ปุพพโกฏฐกะ
[๙๘๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพโกฏฐกะ ใกล้พระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้ว ตรัสว่า

[๙๘๔] ดูกรสารีบุตร
เธอเชื่อหรือว่า สัทธินทรีย์
ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด
วิริยินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

[๙๘๕] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ไม่ถึงความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคว่า
สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ
ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา
ชนเหล่านั้นพึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่น
ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ก็แลอมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว
กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา
ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัย
ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อมตะนั้น ข้าพระองค์รู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว
กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา
ข้าพระองค์จึงหมดความเคลือบแคลงสงสัย
ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด.

[๙๘๖] พ. ดีละๆ สารีบุตร ด้วยว่าอมตะนั้น ชนเหล่าใดยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ
ไม่กระทำให้แจ้ง ไม่พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา
ชนเหล่านั้น พึงถึงความเชื่อต่อชนเหล่าอื่นในอมตะนั้นว่า
สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่ง ลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

ก็แล อมตะนั้น ชนเหล่าใดรู้แล้ว เห็นแล้วทราบแล้ว
กระทำให้แจ้งแล้ว พิจารณาเห็นแล้วด้วยปัญญา
ชนเหล่านั้นหมดความเคลือบแคลงสงสัย

ในอมตะนั้นว่า สัทธินทรีย์ ฯลฯ ปัญญินทรีย์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด

มหาวรรคที่ ๕
[๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่นิคมของพวกโกฬิยะ ชื่อสาปุคะในแคว้นโกฬิยะ
ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวนิคมสาปุคะมากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะโกฬิยบุตรชาวสาปุคนิคมว่า ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้
พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
องค์ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ
ศีล ๑
จิต ๑
ทิฐิ ๑
วิมุตติ ๑
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีลเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
นี้เรียกสีลปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า
เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
จักใช้ปัญญาประคับประคองสีลปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ
บรรลุปฐมฌาน…
ทุติยฌาน…
ตติยฌาน…
จตุตถฌานอยู่
นี้เรียกว่าจิตตปาริสุทธิ ความพอใจ…
สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า
เราจักยังจิตตปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
จักใช้ปัญญาประคับประคองจิตตปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิ ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิเป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
นี้เรียกว่าทิฏฐิปาริสุทธิ
ความพอใจ…สติและสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า
เราจักยังทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
จักใช้ปัญญาประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิ ฯ

ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิเป็นไฉน
อริยสาวกนี้แล เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร
คือ สีลปาริสุทธิ…
จิตตปาริสุทธิ…
ทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว
ย่อมคลายจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย่อมเปลื้องในธรรมที่ควรเปลื้อง
ครั้นแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุติ
นี้เรียกว่าวิมุตติปาริสุทธิ
ความพอใจ…
สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า
เราจักยังวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนี้อันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
จักใช้ปัญญาประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ

ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔ ประการนี้แล
อันพระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว
เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อก้าวล่วงความโศกและร่ำไร
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุญายธรรม
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฯ

นิคัณฐสูตร
ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ๓ อย่างแล
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ชอบแล้ว
เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อการล่วงความโศกและความร่ำไร
เพื่อความเสื่อมสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง
ความหมดจด ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศีล ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไป
โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ
ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

๒. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล้ว
สงัดจากกาม ฯลฯ
เข้าจตุตถฌานอยู่
เธอไม่ทำกรรมใหม่ด้วย และสัมผัสถูกต้องกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไป
โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ
ซึ่งผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

๓. ภิกษุนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้แล้ว
กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เธอไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยสัมผัสถูกต้องกรรมเก่า แล้วทำให้สิ้นไป
โดยคิดเห็นว่า ความหมดจดที่ทำให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ
ซึ่งผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง เป็นของไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้ด้วย ฯ

๕. สีลสูตร
[๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดถึงพร้อมแล้วด้วย
ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ
เป็นผู้กล่าวสอน ให้รู้แจ้ง ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง
เป็นผู้สามารถบอกพระสัทธรรมได้อย่างดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการเห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การเข้าไปใกล้ภิกษุ
เหล่านั้นก็ดี
การไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี
การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี ว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเมื่อภิกษุซ่องเสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเห็นปานนั้น
ศีลขันธ์
สมาธิขันธ์
ปัญญาขันธ์
วิมุตติขันธ์
วิมุตติญาณทัสนขันธ์
แม้ที่ยังไม่บริบูรณ์ ก็ถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้เห็นปานนี้นั้น
เรากล่าวว่า เป็นศาสดาบ้าง นำพวกไปบ้าง ละข้าศึก
คือกิเลสบ้าง
กระทำแสงสว่างบ้าง
กระทำโอภาสบ้าง
กระทำความรุ่งเรืองบ้าง
กระทำรัศมีบ้าง
ทรงคบเพลิงไว้บ้าง
เป็นอริยะบ้าง
มีจักษุบ้าง ดังนี้ ฯ

การได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้มีตนอันอบรมแล้ว
ผู้มีปรกติเป็นอยู่โดยธรรม
ย่อมเป็นเหตุแห่งการกระทำซึ่งความปราโมทย์แก่บัณฑิตทั้งหลายผู้รู้แจ้ง
บัณฑิตทั้งหลาย ฟังคำสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ผู้กระทำรัศมี ผู้กระทำแสงสว่าง เป็นนักปราชญ์
ผู้มีจักษุ ผู้ละข้าศึก คือกิเลส
ประกาศพระสัทธรรมยังสัตวโลกให้สว่าง
แล้วรู้โดยชอบซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติด้วยปัญญาอันยิ่ง
ย่อมไม่มาสู่ภพใหม่ ฯ


พยัญชนะปฏิรูป

ได้แก่ ผู้ปฏิบัติเขียนอธิบายตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ใช้คำเรียกเฉพาะเท่าที่ตนต้องการสื่อสาร

สมจิตตวรรคที่ ๔
[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว
ย่อมไม่ยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จก็ได้
เพราะการปฏิบัติผิดเป็นเหตุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก
คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว
ย่อมยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จได้
เพราะการปฏิบัติชอบเป็นเหตุ ฯ

[๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่ห้ามอรรถและธรรม
โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ไม่ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น
ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อมิใช่ประโยชน์ของชนมาก
เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย
เพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
อนึ่ง ภิกษุพวกนั้น ยังจะประสพบาปเป็นอันมาก
และทั้งชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ให้อันตรธานไปอีกด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรม
โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น
ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ของชนมาก
เพื่อความสุขของชนมาก
เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้น
ยังประสพบุญเป็นอันมาก
ทั้งชื่อว่าดำรงสัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย ฯ


ตัวอย่างพยัญชนะปฏิรูป

๔. รถวินีตสูตร
ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร
[๒๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ครั้งนั้น ภิกษุชาวชาติภูมิประเทศจำนวนมาก จำพรรษาแล้วในชาติภูมิ
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ในชาติภูมิประเทศ ภิกษุรูปไหนหนอ
ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิประเทศ
ยกย่องอย่างนี้ว่า
ตนเองเป็นผู้มักน้อย
สันโดษ สงัดเงียบ
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
ปรารภความเพียร
สมบูรณ์ด้วยศีล
สมาธิ
ปัญญา
วิมุติ
และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว
ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนา
ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร
ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย
เป็นผู้โอวาท แนะนำ ชี้แจง ชักชวนพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ให้อาจหาญ ร่าเริง.

ภิกษุชาวชาติภูมิประเทศเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ในชาติภูมิประเทศ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร
เป็นผู้ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิประเทศ
ยกย่องว่า ตนเองเป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร
สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว
ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนาความมักน้อย
ความสันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่
ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์
ด้วยศีลสมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย
เป็นผู้โอวาท แนะนำ ชี้แจง ชักชวนพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ ให้อาจหาญ ร่าเริง.

[๒๙๓] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ ที่ใกล้
จึงดำริว่า เป็นลาภของท่านปุณณมันตานีบุตร
ความเป็นมนุษย์อันท่านปุณณมันตานีบุตรได้ดีแล้ว
ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน กล่าวยกย่องพรรณนาคุณ
เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาและพระศาสดาก็ทรงอนุโมทนา
ซึ่งการกระทำนั้น บางทีเราคงได้พบกับท่านปุณณมันตานีบุตร
แล้วสนทนาปราศรัยกันสักครั้งหนึ่ง.

[๒๙๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์
ตามสำราญพระอัธยาศัยเสด็จจาริกไปโดยลำดับ
ถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครสาวัตถี
ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ท่านจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรจาริกไปโดยลำดับตามทางที่จะไปยังพระนครสาวัตถี
ถึงพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถีแล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงทรงชี้แจงท่านพระปุณณมันตานีบุตร
ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา.

ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว
ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพักในกลางวัน.

พระปุณณมันตานีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
[๒๙๕] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง
เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วแจ้งข่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร
พระปุณณมันตานีบุตร ที่ท่านได้สรรเสริญอยู่เนืองๆ นั้น
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านเห็นแจ้ง
ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ท่านก็ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณ หลีกไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพักในกลางวัน.

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรรีบถือผ้านิสีทนะ
แล้วติดตามท่านพระปุณณมันตานีบุตรไปข้างหลังๆ พอเห็นศีรษะกัน
ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร
เข้าไปในป่าอันธวันแล้ว นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง
แม้ท่านพระสารีบุตรก็เข้าไปสู่ป่าอันธวันแล้ว
ก็นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งเหมือนกัน.

พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร
[๒๙๖] ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อน
แล้วเข้าไปหาท่านพระปุณณมันตานีบุตรถึงสำนัก ได้ปราศรัยกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร

พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร
[๒๙๖] ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว
เข้าไปหาท่านพระปุณณมันตานีบุตรถึงสำนัก
ได้ปราศรัยกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว
จึงถามท่านพระปุณณมันตานีบุตรดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ
ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคของเราหรือ?
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า ถูกแล้ว ท่านผู้มีอายุ?
สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อสีลวิสุทธิหรือท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อจิตตวิสุทธิหรือท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ?
สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า
ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีลวิสุทธิหรือ
ท่านตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
เมื่อผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ
เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ
เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ
เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ
เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ
ท่านก็ตอบผมว่าไม่ใช่อย่างนั้นๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออะไรเล่า?
ปุ. ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.
สา. ท่านผู้มีอายุ สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ กังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน?
ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
กังขาวิตรณวิสุทธิหรือเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ท่านก็ตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้นๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงเห็นเนื้อความของถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้อย่างไรเล่า?

[๒๙๗] ปุ. ท่านผู้มีอายุ
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว
ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน.
ถ้าจักทรงบัญญัติจิตตวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิว่า เป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว
ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ถ้าหากว่า ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้
จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว
ปุถุชน จะชื่อว่าปรินิพพาน
เพราะว่า ปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้

ท่านผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่านฟัง
บุรุษผู้เป็นวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความแห่งคำที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.

อุปมาด้วยรถ ๗ ผลัด
[๒๙๘] ท่านผู้มีอายุ
เปรียบเหมือน พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี
มีพระราชกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต
และในระหว่างพระนครสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด ลำดับนั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จออกจากพระนครสาวัตถี
ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่งที่ประตูพระราชวัง
ไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สองด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง
จึงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง
เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง
ทรงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม
เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่
เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า
เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่หก ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หก
เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หก
ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หก ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
เสด็จไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
ถ้าพวกมิตรอำมาตย์ หรือพระญาติสาโลหิต
จะพึงทูลถามพระองค์ซึ่งเสด็จถึงประตูพระราชวังว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า
พระองค์เสด็จมาจากพระนครสาวัตถีถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดนี้ผลัดเดียวหรือ
ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง?

สา. ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง
คือ เมื่อฉันกำลังอยู่ในนครสาวัตถีนั้น
มีกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต
ก็ในระหว่างนครสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้นจะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด
เมื่อเช่นนั้น ฉันจึงออกจากนครสาวัตถี
ขึ้นรถผลัดที่หนึ่งที่ประตูวังไปถึงรถผลัดที่สอง ด้วยรถผลัดที่หนึ่ง
ปล่อยรถผลัดที่หนึ่งขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม ด้วยรถผลัดที่สอง
ปล่อยรถผลัดที่สอง ขึ้นรถผลัดที่สามไปถึงรถผลัดที่สี่ ด้วยรถผลัดที่สาม
ปล่อยรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัดที่ห้าด้วยรถผลัดที่สี่
ปล่อยรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก ด้วยรถผลัดที่ห้า
ปล่อยรถผลัดที่ห้า ขึ้นรถผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด ด้วยรถผลัดที่หก
ปล่อยรถผลัดที่หก ขึ้นรถผลัดที่เจ็ด ไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูวังด้วยรถผลัดที่เจ็ด
ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง.

ปุ. ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้น
สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่จิตตวิสุทธิ
จิตตวิสุทธิเป็นประโยชน์แก่ทิฏฐิวิสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิเป็นประโยชน์แก่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ
ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน
ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.
กล่าวชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน

[๒๙๙] เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร
และพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักท่านว่าอย่างไร?

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อปุณณะ
แต่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักผมว่ามันตานีบุตร.

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ
น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้ง
อันท่านพระปุณณมันตานีบุตรเลือกเฟ้นมากล่าวแก้
ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งตามเยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว
รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้ จะพึงกล่าวแก้ ฉะนั้น
เป็นลาภมากของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ความเป็นมนุษย์อันเพื่อนพรหมจรรย์ได้ดีแล้ว
ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร
แม้หากว่าเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
จะเทิดท่านพระปุณณมันตานีบุตรไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้า
จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับว่าเป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น
ความเป็นมนุษย์อันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว
อนึ่งนับว่าเป็นลาภมากของผมด้วย
เป็นการได้ดีของผมด้วย ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร.

[๓๐๐] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรจึงถามดังนี้ว่าท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร
และเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย รู้จักท่านว่าอย่างไร?

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่ออุปติสสะ
แต่พวกเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักผมว่าสารีบุตร.
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ
ผมกำลังพูดอยู่กับท่านผู้เป็นสาวกทรงคุณคล้ายกับพระศาสดา
มิได้ทราบเลยว่า ท่านชื่อสารีบุตร
ถ้าผมทราบว่า ท่านชื่อสารีบุตรแล้ว คำที่พูดไปเพียงเท่านี้ คงไม่แจ่มแจ้งแก่ผมได้
เป็นการน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้ว
ธรรมอันลึกซึ้งอันท่านพระสารีบุตรเลือกเฟ้นมาถามแล้วด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง
ตามเยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้วรู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้ จะพึงถาม ฉะนั้น
เป็นลาภมากของเพื่อนพรหมจรรย์
ความเป็นมนุษย์นับว่าเพื่อนพรหมจรรย์ได้ดีแล้ว
ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระสารีบุตร
แม้หากว่า เพื่อนพรหมจรรย์จะเทิดท่านพระสารีบุตรไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้า
จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็เป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น
ความเป็นมนุษย์นับว่าอันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว
อนึ่งนับว่าเป็นลาภมากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผมด้วย ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้พระสารีบุตร.

พระมหานาคทั้งสองนั้น ต่างชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน ด้วยประการฉะนี้แล.

ปัจจุบัน

วิสุทธิ7

วิสุทธิมรรค

เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑
เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน
[๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่
ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน
ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้
ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้
ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร
พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน
ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.

ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู
ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย
อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย
สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ
ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก
เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น
เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน
จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน

ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน
ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด
เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น
เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน
จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น
ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.

ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู
ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน
ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า
พวกเธอจงตรึกอย่างนี้
อย่าได้ตรึกอย่างนั้น
จงทำในใจอย่างนี้
อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น
จงละส่วนนี้
จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้
ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น
ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง
จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.
ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.

ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ
มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย
อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก
สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ
ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก
เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น
เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน
จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน

ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย
ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด
เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น
เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน
จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.
ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.

อันนี้ความรู้ความเห็นของตน

พระผู้มีพระภาคพระนามพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)
มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย
อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก
สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ
ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก
เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระโคตมพุทธเจ้า
เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าพระโคตมพุทธเจ้า
สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน
ออกบวชจากตระกูลต่างกัน
จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน จนถึง ๕๐๐๐

ที่พูดได้ หลังพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานถึงปัจจุบัน ๒๕๖๕ ปี
พระสัทธรรมยังคงปรากฏอยู่
และได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้ตามลำดับ
ซึ่งได้มรรคผลตามที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเป็นหลักฐานไว้มีอยู่ และยังปรากฏอยู่
สามารถศึกษาและปฏิบัติตามได้ ได้มรรคผลตามจริงตามที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมไว้

บุคคลเหล่านั้น ย่อมฟังต่อตถาคต
หรือสาวกของตถาคต ผู้แสดงธรรมอยู่
เพื่อถอนขึ้นซึ่งทิฏฐิ
เหตุแห่งทิฏฐิ
ความตั้งมั่นแห่งทิฏฐิ
ความกลัดกลุ้มด้วยทิฏฐิ
และเชื้อแห่งความยึดมั่นทั้งหมด
เพื่อระงับสังขารทั้งหมด
เพื่อสละคืนอุปธิทั้งหมด
เพื่อความสิ้นแห่งตัณหา
เพื่อความสำรอก
เพื่อความดับ
เพื่อนิพพาน

การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ

ข้อปฏิบัติจนได้มรรคผลตามจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้
ประกอบด้วย การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ

ขั้นที่ ๑
การสดับ ตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่าน
สุตะ การฟัง การอ่าน การท่องจำจนขึ้นใจ


๗. คณกโมคคัลลานสูตร (๑๐๗)
[๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ตัวอย่างเช่นปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้
ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ
การปฏิบัติโดยลำดับ คือกระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง
แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ
การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องเล่าเรียน
แม้พวกนักรบเหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ
การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องใช้อาวุธ
แม้พวกข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณ มีอาชีพในทางคำนวณ
ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ
การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องนับจำนวน
เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว เริ่มต้นให้นับอย่างนี้ว่า
หนึ่ง หมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้า
หก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบ หมวดสิบ ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ
การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยแม้นี้ ให้เหมือนอย่างนั้น ฯ

[๙๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์
เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ
การกระทำโดยลำดับ
การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้
เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด
ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เริ่มต้นทีเดียว
ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน
ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ ขึ้นไป ฉันใด
ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเริ่มต้น ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า
ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล
สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่
จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ฯ

[๙๕] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล
สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่
เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว
ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุมาเถิด
เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่
พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด
เธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว …
เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว …
เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว …
เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว …
เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด ฯ

[๙๖] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายได้
ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด
เธอจงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
คือ พึงบริโภคอาหาร พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคมิใช่เพื่อจะเล่น
มิใช่เพื่อจะมัวเมา มิใช่เพื่อจะประดับ มิใช่เพื่อจะตบแต่งร่างกายเลย
บริโภคเพียงเพื่อร่างกายดำรงอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป
เพื่อบรรเทาความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น
ด้วยอุบายนี้ เราจะป้องกันเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
และความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ ความอยู่สบาย จักมีแก่เรา ฯ

[๙๗] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะได้
ตถาคต ย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้ประกอบเนืองๆ
ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ คือ
จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม
ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน
จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม
ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
พึงเอาเท้าซ้อนเท้า มีสติรู้สึกตัว ทำความสำคัญว่า จะลุกขึ้น ไว้ในใจ
แล้วสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวาตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรม
ด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีเถิด ฯ

[๙๘] ดูกรพราหมณ์
ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่ได้
ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด
เธอจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ
ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ
ในเวลาแลดูและเหลียวดู
ในเวลางอแขนและเหยียดแขน
ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร
ในเวลาฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้มรส ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ในเวลาเดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่งเถิด ฯ

[๙๙] ดูกรพราหมณ์
ในเมื่อภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะได้
ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกรภิกษุ มาเถิด
เธอจงพอใจเสนาสนะอันสงัด
คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟางเถิด
ภิกษุนั้นจึงพอใจเสนาสนะอันสงัด
คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง
เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาอาหารแล้ว
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

ละอภิชฌาในโลกแล้ว
มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌาได้

ละความชั่วคือพยาบาทแล้ว
เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความชั่วคือพยาบาทได้

ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้มีจิตปราศจากถีนมิทธะ
มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน
มีจิตสงบภายในอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัย
ไม่มีปัญหาอะไรในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้ ฯ

[๑๐๐] เธอครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง
ทำปัญญาให้ถอยกำลังนี้ได้แล้ว จึงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย
เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่
เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้
มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ดูกรพราหมณ์ ในพวกภิกษุที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัตมรรค
ยังปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้อยู่นั้น
เรามีคำพร่ำสอนเห็นปานฉะนี้

ส่วนสำหรับภิกษุพวกที่เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ
สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะผู้ชอบนั้น
ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สบายในปัจจุบันและเพื่อสติสัมปชัญญะ ฯ

[๑๐๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้
พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน ทุกรูปทีเดียวหรือหนอ หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี ฯ

พ. ดูกรพราหมณ์ สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน
บางพวกก็ไม่ยินดี ฯ

ค. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ในเมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่ พระโคดมผู้เจริญผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่
แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อย จึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี ฯ

[๑๐๒] พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น
ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ ฯ
ค. แน่นอน พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน
เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์
ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์
ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์
บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ จำทางผิด
กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม

ต่อมา บุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน
เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์
ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์
ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์
บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้
พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี

ดูกรพราหมณ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่
ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่ แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้
คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้าม
คนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี ฯ

ค. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง ฯ

[๑๐๓] พ. ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่
เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน
บางพวกก็ไม่ยินดี
ดูกรพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้
ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้ ฯ

[๑๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้
พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา ประสงค์จะเลี้ยงชีวิต
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้โอ้อวด มีมายา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ยกตัว
กลับกลอก ปากกล้า มีวาจาเหลวไหล
ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ
ไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น
ไม่มุ่งความเป็นสมณะ
ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา
มีความประพฤติมักมาก
มีความปฏิบัติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในทางเชือนแช
ทอดธุระในความสงัดเงียบ เกียจคร้าน ละเลยความเพียร
หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มั่นคง มีจิตรวนเร มีปัญญาทราม
เป็นดังคนหนวก คนใบ้
พระโคดมผู้เจริญย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น

ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ยกตน
ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า ไม่มีวาจาเหลวไหล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้จักประมาณในโภชนะ
ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ตื่น
มุ่งความเป็นสมณะ
เคารพกล้าในสิกขา
ไม่มีความประพฤติมักมาก
ไม่มีความปฏิบัติย่อหย่อน ทอดธุระในทางเชือนแช
เป็นหัวหน้าในความสงัดเงียบ ปรารภความเพียร ส่งตนไปในธรรม
ตั้งสติมั่น รู้สึกตัวมั่นคง มีจิตแน่วแน่ มีปัญญา
ไม่เป็นดังคนหนวก คนใบ้
พระโคดมผู้เจริญ ย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เปรียบเหมือน
บรรดาไม้ที่มีรากหอม เขากล่าวกฤษณาว่าเป็นเลิศ
บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม เขากล่าวแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ
บรรดาไม้ที่มีดอกหอม เขากล่าวดอกมะลิว่าเป็นเลิศ ฉันใด
โอวาทของพระโคดมผู้เจริญ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
บัณฑิตกล่าวได้ว่าเป็นเลิศในบรรดาธรรมของครูอย่างแพะที่นับว่าเยี่ยม
แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า
แจ่มแจ้งแล้ว พระเจ้าข้า
พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยปริยายมิใช่น้อย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ หรือเปิดของที่ปิด
หรือบอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืด
ด้วยหวังว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปทั้งหลายได้ ฉะนั้น

ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ประโยชน์ของการฟังธรรม

๔. อิสิทินนเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษของกาม
[๒๙๑] อุบาสกทั้งหลายผู้ทรงธรรม
กล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง

เราได้เห็นแล้ว
อุบาสกเหล่านั้นเป็นผู้กำหนัด
รักใคร่ห่วงใยในแก้วมณี บุตรธิดา และภรรยา

เราได้เห็นแล้ว
เพราะอุบาสกเหล่านั้น ไม่รู้ธรรมในพระพุทธศาสนานี้แน่แท้
แม้ถึงอย่างนั้นก็ได้กล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง
แต่กำลังญาณเพื่อจะตัดราคะของอุบาสกเหล่านั้น ไม่มี
เพราะฉะนั้น อุบาสกเหล่านั้นจึงติดอยู่ในบุตรภรรยาและในทรัพย์.


ประโยชน์ของการฟังธรรม


๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการปฏิบัติธรรม
[๒๘๗] สัปบุรุษเราเข้าไปหาแล้ว
ธรรมทั้งหลายเราฟังแล้วเนืองนิตย์
ครั้นฟังธรรมแล้ว
จักดำเนินไปสู่ทางอันหยั่งลงสู่อมตธรรม

เมื่อเรามีสติ
กำจัดความกำหนัดยินดีในภพได้แล้ว
ความกำหนัดยินดีในภพ ย่อมไม่มีแก่เราอีก
ไม่ได้มีแล้วในอดีต
จักไม่มีในอนาคต
ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแก่เราเลย.

คำว่า สติ
ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน ๔
มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน
มีเกิดขึ้นขณะสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏตามจริง

“กำจัดความกำหนัดยินดีในภพได้แล้ว”
คำว่า ภพ
ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ


๖. ขิตณเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการอบรมจิต
[๒๙๓] จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดังภูเขา
ไม่กำหนัดแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จักมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน

จิตของเราตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดังภูเขา
จิตของเราไม่กำหนัดแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
เราอบรมจิตได้แล้วอย่างนี้ ทุกข์จักมาถึงเราแต่ที่ไหนๆ

คำว่า ความกำหนัด
ได้แก่ ราคะ

คำว่า ความขัดเคือง
ได้แก่ ปฏิฆะ


๒. ธรรมปาลเถรคาถา
สุภาษิตแสดงชีวิตไม่ไร้ประโยชน์
[๒๙๙] ภิกษุหนุ่มรูปใดแล เพียรพยายามอยู่ในพระพุทธศาสนา
ก็เมื่อสัตว์ทั้งหลายนอกนี้พากันหลับแล้ว
ภิกษุหนุ่มนั้นตื่นอยู่
ชีวิตของเธอไม่ไร้ประโยชน์

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรมเนืองๆ เถิด

คำว่า การเห็นธรรมเนืองๆ
ได้แก่ ไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง
ทำให้ละสักกายทิฏฐิตามจริง คือทำให้เบาบาง
เป็นสมุจเฉทในโสดาปัตติผล

เวทนากล้า มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน
ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง
ทำให้ละอัตตานุทิฏฐิตามจริง คือทำให้เบาบาง
เป็นสมุจเฉทในอนาคามิผล

มีเกิดขึ้นขณะสภาวะจิตดวงสุดท้ายปรากฏ
ไตรลักษณ์ปรากฏตามจริง
ทำให้ละกามฉันทะ

ความไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ก่อนอื่น ที่คนอ่านจะเข้าใจในสิ่งที่เราเขียนอธิบายนั้น
เราต้องเขียนประสพการณ์
ก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ก่อน
คือเขียนความรู้ ความเห็น ตามลำดับของพระพุทธเจ้า
ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในพระสูตรต่างๆ ยังปรากฏให้เห็นอยู่
เช่น ชาติสุดท้าย ชาติที่ ๗ แล้วทำกาละ(มรณะ)
ก่อนจะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบัน
เป็นชาติสุดท้ายที่ทุกคนจะรู้จักพระพุทธเจ้า

การศึกษาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้
จะทำให้ละความหลง
ในผัสสะที่มีเกิดขึ้นขณะดำเนินชีวิต
ในสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้นขณะทำกรรมฐาน
รวมทั้งสภาวะต่างๆที่มีเกิดขึ้นขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
ทำให้ละความยึดมั่นถือมั่นในคำเรียกต่างๆ
ทำให้ไม่ทำสัทธรรมปฏิรูป เกิดจากอวิชชาที่มีอยู่
และทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อมหายไป


๔. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๑
[๑๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑
เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

  • คำว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
    ได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

๕. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมไม่ตรึกตรอง ไม่เพ่งดูด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น
ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ … อัพภูตธรรม เวทัลละ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมบอกธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ย่อมตรึกตรอง เพ่งดูด้วยใจ
ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น
ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


๖. สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๓
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี
ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี
แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี
ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก
ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก
เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต
มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ
เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก
มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด
ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง
ประชุมชนเหล่านั้นก็เป็นผู้มักมาก
มีความประพฤติย่อหย่อน
เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด
ทอดธุระในทางวิเวก
ไม่ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง สงฆ์เป็นผู้แตกกัน
เมื่อสงฆ์แตกกันแล้ว ย่อมมีการด่ากันและกัน
บริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน
ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส
และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น
ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี
ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี
แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี
ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย
ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
ที่เป็นพหูสูตเล่าเรียนมาก
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ
เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
พระสูตรย่อมไม่ขาดเค้ามูล มีหลักฐานอยู่
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ย่อมไม่มักมาก
ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด
เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

อีกประการหนึ่ง สงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี
ชื่นชมต่อกันไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย
ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี ไม่มีการด่ากันและกัน
ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการแข่งขันกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน
ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส
และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ


ศิล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
สีลปาริสุทธิ
จิตตปาริสุทธิ
ทิฏฐิปาริสุทธิ
วิมุตติปาริสุทธิ
วิมุตติญาณทัสสนะ

๗. โจทนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสารีบุตร เรื่องก็จะพึงเป็นเช่นนั้น
แต่ว่าโมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้
เมื่อถูกกล่าวสอน ย่อมไม่รับโดยเคารพ ฯ

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเหล่าใด
ไม่มีศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต
มิใช่ออกบวชด้วยศรัทธา
เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง
เหลาะแหละ ปากกล้า พูดพล่าม
ไม่สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ
ไม่ประกอบความเพียร
ไม่เพ่งถึงความเป็นสมณะ
ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา
มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด
ทอดธุระในวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรทราม
มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตมั่นคง
มีจิตฟุ้งซ่าน มีปัญญาทราม
คล้ายคนบ้าน้ำลาย
คนเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมไม่รับโดยเคารพ

ส่วนกุลบุตรเหล่าใด มีศรัทธา ออกบวช
ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง
ไม่เหลาะแหละ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม
สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ
ประกอบความเพียร
เพ่งถึงความเป็นสมณะ
มีความเคารพกล้าในสิกขา
ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด
เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียร อบรมตน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ
มีจิตมั่นคง มีจิตเป็นหนึ่ง มีปัญญา มิใช่คล้ายคนบ้าน้ำลาย
กุลบุตรเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ย่อมรับโดยเคารพ ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลเหล่าใด ไม่มีศรัทธา ต้องการเลี้ยงชีวิต …
มีปัญญาทราม คล้ายคนบ้าน้ำลาย จงยกไว้ (ยกเว้น)
ส่วนกุลบุตรเหล่าใด มีศรัทธา ออกบวช …
มีปัญญา มิใช่คล้ายคนบ้าน้ำลาย

ดูกรสารีบุตร เธอพึงว่ากล่าวกุลบุตรเหล่านั้น
จงกล่าวสอนเพื่อนพรหมจรรย์
จงพร่ำสอนเพื่อนพรหมจรรย์
ด้วยหวังว่า
เราจักยกเพื่อนพรหมจรรย์จากอสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม
เธอพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล สารีบุตร ฯ

  • คำว่า ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม
    ได้แก่
    สีลปาริสุทธิ
    จิตตปาริสุทธิ
    ทิฏฐิปาริสุทธิ
    วิมุตติปาริสุทธิ
    วิมุตติญาณทัสสนะ

๓. สากัจฉาสูตร
[๑๖๓] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง
และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยศีลสัมปทากถาได้ ๑

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง
และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยสมาธิสัมปทากถาได้ ๑

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเอง
และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยปัญญาสัมปทากถาได้ ๑

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง
และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติสัมปทากถาได้ ๑

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง
และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติญาณทัสสนะสัมปทากถาได้ ๑

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
เป็นผู้ควรเพื่อสนทนากับเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ