ปฏิบัติ แต่ไม่รู้ปริยัติ

ปฏิบัติ แต่ไม่รู้ปริยัติ
ซึ่งเคยบอกไว้แล้วว่า ไม่ต้องกังวล
รู้แค่ไหน(จากการปฏิบัติ)
ให้รู้แค่นั้น ไม่ต้องไปขวนขวายนอกตัว
เพราะเมื่อถึงเวลา เหตุปัจจัยพร้อม
จะมีเหตุปัจจัยให้เกิดความรู้ชัดในพระธรรมคำสอนนั้นๆเอง

หรือหากสนใจศึกษา มีขวนขวายหานอกตัว
หาพระธรรมคำสอนในข้อที่คิดว่าจะสามารถทำให้กระจ่างแจ้งแก่ตนได้
ก็ขวนขวายได้ แต่อย่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่คิดว่าน่าจะใช่
ตามความรู้ความเห็นของตนที่มีเกิดขึ้น(สัญญา)
แม้คิดว่า ใช่ ก็ให้กำหนดรู้ว่า วันนี้รู้แบบนี้

ไม่มีการนำความรู้ความเห็นนั้นๆ
น้อมใจเชื่อเข้าสู่ความมี ความเป็นอริยบุคคลต่างๆ
ตามที่เคยอ่านหรือเคยฟังมา

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

อุปกิเลส จะได้ไม่มีเกิดขึ้น

.

มีเหตุปัจจัยให้เจอพระธรรมคำสอนนี้
เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ที่ข้าพเจ้าบอกมาตลอดนั้น
ในพระธรรมคำสอน ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ ก็มีปรากฏอยู่

.

๖. วิมุตติสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ

ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ
ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร

ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ
ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร

แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ
ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ

ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี
ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา

เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น
ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี
ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา

.
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕
ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป

หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม
อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล
ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ

 

๑๑ มิย.๑๘

จุดเริ่มต้นของการทำความเพียรของแต่ละคน
แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่

ไม่ว่าใครจะปฏิบัติแบบไหน รูปแบบใด ใช้ได้หมด
อย่าไปวิตกกังวลว่า ที่ทำอยู่นั้นใช้ได้หรือเปล่า

บางคนชอบสวดมนต์อย่างเดียว ก็สวดไป
บางคนชอบนั่งอย่างเดียว ก็นั่งไป
บางคนชอบเดินเป็นหลัก ก็เดินไป
บางคนชอบนำธรรมะมาคิดพิจรณา ก็คิดไป

ไม่ว่าจะทำแบบไหน ใช้ได้หมด
.
ทีนี้จะให้คำแนะนำกันอย่างไร
นั่นก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ มีจุดประสงค์อะไร

สภาวะเก่าๆคืนกลับมา

เรื่องราวของสภาวะ ที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เมื่อรู้ชัดอย่างแจ่มแจ้งด้วยตนเอง ก็สิ้นสงสัยทุกสภาวะที่มีเกิดขึ้น

มีแต่สภาวะเดิมๆซ้ำๆ ที่ห่างหายไปนาน กลับมีเกิดขึ้นอีก
เช่นสภาวะสันตติขาดและฆนบัญญัติแตก อาการเสียวฝ่าเท้า
ความรู้ชัดที่ฝ่าเท้า ทุกย่างก้าว โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะรู้แต่อย่างใด

กำลังสมาธิ ฟื้นคืนกลับมาเรื่อยๆ เริ่มจะใกล้เคียงของเดิม
ตอนนี้ความแนบแน่นของกำลังสมาธิที่มีเกิดขึ้น จะอยู่ประมาณ ๑ ชม.

อาการสัปหงก ขณะจิตเป็นสมาธิมีเกิดขึ้นน้อยมาก
มีเกิดขึ้นที่จิตแทน จิตสัปหงก นี่ก็สภาวะเดิมๆ มีเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง
โอภาสสว่างมากขึ้น รู้สึกตัวตลอด มีบางช่วงดับลงไป

เวลาที่จิตแนบแน่น ความคิดจะหายไปหมด รู้ชัดอยู่ภายในกาย มีสติรู้อยู่
สภาวะมีเพียงสองสิ่งที่เกิดขึ้น คือ สิ่งที่เกิดขึ้น กับใจที่รู้อยู่
เหมือนได้ทบทวนสภาวะเก่าๆไปในตัว

ถ้านั่งโซฟา นั่งได้หลายชม. บางครั้งนั่งตั้งแต่เช้าถึงมืด
รู้สึกตัวบ้าง ไม่รู้สึกตัวบ้าง สลับไปมา

การนั่งพื้น พอสมาธิคลายตัว จะเลิกนั่ง
ไม่ต้องตั้งเวลา สมาธิจึงจะคลายตัว ๑ ชม.เป๊ะ

จะเน้นเดินและยืน มากกว่านั่ง
เมื่อเช้า นำกางเกงเจ้านายมาขยายเอว
ยืนและเดินไปมา ทำโน่นทำนี่ มองนาฬิกา ๓ ชม.
นั่งสมาธิต่อ เพราะเหตุนี้ อาการสัปหงกจึงน้อยลง
เพราะสติ มีกำลังมากกว่าสมาธิ

มีกำลังมากขึ้น

หลังจากที่ทำความเพียรตามสัปปายะ มาสักระยะหนึ่ง
สิ่งที่รู้สึกได้ชัด กำลังสมาธิที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ

เปลี่ยนจากเย็บผ้าด้วยมือ
มาใช้จักร(กระเป๋า) เย็บผ้าแทน
แต่ยังคงยืนเย็บ เหมือนสมัยเย้บมือ
เหตุผลคือ เป็นการรู้อยู่กับกิจที่ทำอยู่ในอิริยาบทยืน

พอเลิกเย็บผ้า เปลี่ยนเป็นอิริยาบทเดิน
รู้ชัดจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ สภาวะที่เคยมีเกิดขึ้น มีเกิดขึ้นอีก
การเกิด เดินปกติ รู้ชัดที่ฝ่าเท้า ไมได้ใช้คำบริกรรมหรือการกำหนดใดๆ
รู้สึกเสียวที่ฝ่าเท้า รู้ชัดการแยกขาดออกจากกันทุกย่างก้าว ที่ก้าวเดิน

เมื่อนั่งลง หลับตาลง โอภาสสว่างจ้า รู้สึกหน่วงในใจ
รู้ชัดอยู่ภายในกายและจิต ระหว่างนี้มีแต่ความสงบ โอภาสเกิดอยู่
สักระยะ รู้สึกถึงกำลังสมาธิที่อ่อนตัวลง ความคิดเริ่มเกิด
มีแต่คิดพิจรณานั่นนี่ ก็รู้ไป รู้สึกตึงๆที่ขา ก็รู้ไป
จนกระทั่งคิดว่า พอละ แล้วลุกขึ้น มองนาฬิกาผ่านไป ๑ ชม.

เดินไปนั่งที่โซฟา จิตยังคงเป็นสมาธิอย่างต่อเนื่อง
พอนั่งลง หลับตา โอภาสสว่างจ้า นั่งไปจนรู้สึกว่าพอแล้ว
แผ่เมตตา กรวดน้ำ ลืมตามองนาฬิกา ผ่านไป ๔ ชม.

วันนี้สมาธิดี หลังจากเลิกนั่ง เดินทำโน่นนี่
จิตยังคงเป็นสมาธิต่อเนื่อง มีเกิดขึ้นพอดี ไม่มาก ไม่น้อย
รู้ชัดที่โพรงจมูก มีปีติ สุข สลับกับความสงบ เป็นระยะๆ

ต้องได้ฌานงั้นรึ?

ต้องได้ฌานงั้นรึ?
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า เป็นผู้ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน

เขียนอะไรก็ไม่รู้ มีแต่คำศัพท์ อ่านไม่รู้เรื่อง
แล้วจะเข้าใจได้ยังไง

.

บางคน อ่านสิ่งที่วลัยพรเขียน อ่านแล้ว อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดใดๆก็ตาม ที่อ่านแล้ว ไม่เข้าใจ นี่เป็นเรื่องปกติ อ่านแล้วคิดว่าเข้าใจ ก็เป็นเรื่องปกติ

.

ตกลงต้องทำให้ได้ฌานรึเปล่า?
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน

สิ่งที่เขียนนั้น เขียนตามสภาวะ
และต้องการดำรงพระธรรมคำสอนไว้ให้ดังเดิม
ไม่เพิ่มเติม ไม่ตัดทอน จึงเขียนออกมาแบบนั้น

สำหรับผู้ปฏิบัติ ที่ไม่รู้ปริยัติ หรือรู้ปริยัติ
แต่ไม่เข้าถึง ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดสภาวะนั้นๆด้วยตนเอง

เรื่องจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ได้ฌาน หรือไม่ได้ฌาน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตัดทิ้งไปได้

.

เอาเป็นแค่ว่า เวลาทำกรรมฐาน จะอิริยาบทใดก็ตาม
เวลาที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ รู้ชัดว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิมั๊ย
เอาแค่รู้ชัดตรงนี้ก่อน เป็นสิ่งแรก

.
ยกตย. บางคนอาจจะรู้สึกถึงความสงบบ้าง
จู่ๆรู้ชัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายบ้าง
หรือ กำลังมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่
แล้วมีแสงสว่าง(โอภาส) เกิดขึ้น
หรือปรากฏเหมือนมองกระจกใสๆ
ทั้งที่ตรงนั้นไม่มีกระจกฯลฯ

สภาวะที่เกิดขึ้นตรงนี้ เป็นเรื่องของ ขณิกสมาธิ
คือ เกิดในระยะๆสั้นๆ

.

ส่วนโอภาส หรือแสงสว่าง เป็นเรื่องของ กำลังสมาธิ
ที่เรียกว่า อัปนาสมาธิ ที่มีเกิดขึ้น
ถึงแม้จะเป็นระยะสั้นๆ ก็สามารถมีเกิดขึ้นได้

.

เมื่อมีสภาวะใดเกิดขึ้น อย่านำชื่อแซ่หรือคำเรียกต่างๆ ใส่ลงไป
เพราะอาจเป็นปัจจัยให้ อุปกิเลส ทำงานโดยอัตโนมัติ

.

.

ข้อต่อมา ตรงนี้เป็นเรื่องของการทำกรรมฐาน
ในอิริบท ยืน เดิน นั่ง นอน

รู้แค่ว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นสมาธิ รู้ตรงนี้ก่อน
ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ เช่น วิตก วิจารณ์ฯลฯ
คำเรียกต่างๆ อย่านำไปใส่ในสภาวะที่มีเกิดขึ้น
เพราะเป็นปัจจัยให้ สภาวะที่มีเกิดขึ้น ผิดเพี้ยน
และอุปกิเลส มีเกิดขึ้นอัตโนมัติ

.

.

ข้อต่อมา เมื่อจิตเป็นสมาธิ รู้ชัดว่าจิตเป็นสมาธิ
ตรงนี้สำคัญมาก ต้องรู้จักสังเกตุ ไม่ใช่จ้องดู

แต่หมายถึง หลังเลิกทำกรรมฐานแล้ว
ให้ทบทวนสภาวะต่างๆ ที่มีเกิดขึ้น
แล้วจดบันทึกเก็บไว้

วันนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า สภาวะที่มีเกิดขึ้น คืออะไร
เรียกว่าอะไร ให้กำหนดรู้เท่านั้นพอ

หากสงสัยแล้วนำไปค้นหา
จะกลายเป็นนิวรณ์ เป็นอุปสรรคต่อการทำความเพียร

.

ข้อสุดท้าย เมื่อรู้ชัดว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เวลาเป็นสมาธิ รู้กายที่นั่งอยู่มั๊ย
รู้ท้องพองขึ้นยุบลงมั๊ย
หรือรู้ว่ามีกายปรากฏอยู่มั๊ย
รู้อะไรแบบนี้ ประมาณนี้

ส่วนภายนอกอาจจะดับหมด หรือยังได้ยินเสียงอยู่
ตรงนั้นไม่ต้องไปสนใจ แค่รู้ที่กายเท่านั้นพอ

เวทนาต่างๆ สามารถมีเกิดขึ้นได้ ขณะจิตเป็นสมาธิ

จิตคิดพิจรณา ได้แก่ สัญญาต่างๆ สามารถมีเกิดขึ้นได้ ขณะจิตเป็นสมาธิ

กล่าวโดยย่อ รู้ชัดในผัสสะ ที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เป็นลักษณะเด่นเฉพาะ “สัมมาสมาธิ”

.

.

จริงๆแล้ว รายละเอียดมีมากกว่านี้
ตอนนี้รู้แค่นี้พอ อ่านมากๆ เดี่ยวจะมึน
บางคนอาจถอนใจไปเลยก็ได้

ความเพียร

การทำความเพียร และ
ผลของการทำความเพียร

ทำให้รู้ชัดในอริยสัจ4 ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

๓๐ มีค.๕๕ (กระชับสุด สั้นสุด)

นั่ง ๒ ชม.

ความเป็นกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่ชักชวนกันสร้างเหตุของการตัดภพตัดชาติ

เชื่อกันก็เพราะเหตุ

ไม่เชื่อกันก็เพราะเหตุ

ทำตามเหตุปัจจัย อย่าทำด้วยใจทะยานอยาก หยุดสร้างเหตุนอกตัว

หมั่นรู้ชัดภายในกายและจิตเนืองๆ ทุกๆคำถามจะมีคำตอบ โดยไม่ต้องไปหาคำตอบนอกตัว

เพราะจะเห็นแต่เหตุ แล้วก็เหตุ

การดับต้องดับที่ต้นเหตุ คือ ดับความมีตัวตนที่ยังมีอยู่/เขา เรา ได้แก่ การนำความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่ ไปตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นว่าถูก/ผิด ดี/ชั่ว

 

กระชับสุด สั้นสุด

สิ่งใดเกิดขึ้น ดูที่ใจ รู้ที่ใจ ยอมรับไปตามความเป็นจริง

หยุดสร้างเหตุลงไปตามแรงผลักดันของกิเลสที่เกิดขึ้นจากผัสสะเป็นเหตุปัจจัย คิดก็ให้รู้ว่าคิด แต่อย่าสร้างเหตุอกไป

 

สิ่งที่ควรทำ

หมั่นสร้างเหตุของการรู้ชัดอยู่ภายในกายและจิต เท่าที่โอกาสหรือสภาวะเอื้ออำนวย

หากหยุดสร้างเหตุภายนอก ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกนึกคิดใดๆก็ตาม เมื่อหยุดการกระทำได้ ทุกๆสภาวะจะดำเนินไปตามเหตุปัจจัยเอง

หากยังไม่หยุด สภาวะจะหมุนๆวนๆ เดิมๆซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่

เหตุมี ผลย่อมมี เหตุไม่มี ผลย่อมไม่มี

 

ความอิสระทางจิต

เมื่อปฏิบัติเพื่อจิตที่เป็นอิสระ ไม่ควรกดข่มกิเลสหรือความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ทุกอย่าง ทุกความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

อย่านำความมีตัวตนที่ยีงมีอยู่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นดี/คิดได้ สิ่งนี้ไม่ดี/ไม่ควรคิด

 

จงปล่อยให้จิตเป็นอิสระ

อย่าปิดกั้นจิต โดยติดอยู่กับคำว่าดี ชั่ว ถูก ผิด ฯลฯ เมื่อไม่ปิดกั้นจิต จิตย่อมเห็นตามความเป็นจริงในสิ่งที่จิตยังคงมีและยังเป็นอยู่เกิดขึ้นที่จิตตามความเป็นจริง

 

สิ่งที่ควรทำ

คือ กดข่มและอดกลั้น ได้แก่ การกระทำ ไม่ควรกระทำสิ่งใดลงไปตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นแรงผลักดันของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ที่เกิดจากผัสสะเป็นเหตุปัจจัย

๖ ธค. ๕๕ (อุปปันนะ)

๖ ธค. ๕๕ (อุปปันนะ)

รอบแรก เดิน ๓๐ นาที นั่ง ๓ ชม.

ที่สังเกตุเห็นอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อใดที่จิตจดจ่อรู้อยู่กับธรรม ความคิดที่เกิดขึ้นจะมีแต่เรื่องสภาวะต่างๆ ไม่ค่อยมีเรื่องทางโลกๆ ความคิดต่างๆจะไม่ค่อยมี แต่ถ้าจิตจดจ่อกับธรรมะต่างๆ สติจะไปขุดคุ้ยสัญญาต่างๆขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

หรือหลังจากจิตอยู่ในสมาธิจนเกิดความอิ่มตัว ข้อคิดธรรมะต่างๆจะเกิดขึ้นมากมาย หากสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ คือ แค่รู้ว่ามี แต่ไม่ไปยึดติดกับรู้ต่างๆที่เกิดขึ้น สภาวะนี้จะกลายเป็นปัญญา มุ่งถ่ายถอนอุปทานที่มีอยู่

ถ้ามีการยึดติดในรู้ต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วนำรู้นั้นๆสร้างเหตุออกไปนอกตัว เป็นมโนกรรม วจีกรรมหรือกายกรรมก็ตาม เมื่อนั้นสิ่งที่รู้ที่คิดว่าเป็นปัญญา จะกลายเป็นสัญญาไปทันที ซึ่งล้วนก่อให้เกิดเหตุของการเกิดภพชาติทันทีที่กระทำลงไป

แทนที่จะละ กลับกลายเป็นยึดเข้าหาตัว ไม่ว่ารู้นั้นๆจะดีหรือไม่ดี จะใช่หรือไม่ใช่ จะถูกหรือผิดในความรู้สึกนึกคิดก็ตาม เพราะกิเลสยังมี สัญญาที่เกิดขึ้น ย่อมมีความวิปลาสอยู่ หาใช่ตามความเป็นจริงของสภาวะที่เกิดขึ้น

มีเรื่องหนึ่งที่ติดขัดอยู่ เรื่องคำพูด เวลาที่มีคนมาถามสภาวะของเขาว่า “เขาผ่านญาณ ๑๖ หรือยัง?”

สภาวะเรื่องการผ่านญาณ ๑๖ กำลังอยู่ระหว่างการเรียบเรียง ยังไม่สมบูรณ์ การตอบไปตรงๆ ย่อมเป็นการทำลายความหวังของอีกฝ่ายหนึ่ง อาจทำให้หมดกำลังใจในการปฏิบัติลงไป

หรือ ถ้าตอบแบบกลางๆ คำตอบย่อมไม่ชัดเจนแก่อีกฝ่าย หรือตอบแบบให้กำลังใจ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้ผู้นั้นหลงสภาวะได้

เรื่องสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทั้ง ๓ สภาวะนี้ ล้วนสามารถหลอกตัวเองได้ ถ้าผู้นั้นมีความศรัทธาแรงกล้าทั้งเรื่องของพระรัตนตรัยและผลของการปฏิบัติที่เกิดจากการปฏิบัติผ่านๆมาของผู้นั้น

คือ เข้าใจในความรู้สึกของผู้ที่ถามมาทุกๆคน เข้าใจดีว่า เขาแต่ละคนนั้นต้องการอะไร จริงๆแล้ว เรื่องผ่านญาณ ๑๖ว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย

ที่สำคัญคือ เรื่องของการดับที่ต้นเหตุอันเป็นแดนเกิดทั้งปวงต่างหากที่ควรรู้ และควรต้องทำ เรื่องนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด

เพราะเมื่อรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ย่อมรู้แจ้งในสภาวะอุปทานขันธ์ ๕และเป็นเหตุให้รู้แจ้งในสภาวะของพระนิพพานที่แท้จริง ไม่ใช่พระนิพพานที่เป็นบัญญัติหรือต้องใช้การอุปมาอุปมัยนำมาเปรียบเทียบ ให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจได้ สามารถทำตามได้ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล

สภาวะอริยสัจ ๔ รู้ครั้งเดียวจบ สภาวะพระนิพพาน รู้ครั้งเดียวจบ ไม่มีสภาวะทั้งหยาบและละเอียด ส่วนสภาวะอุปทานขันธ์ ๕ จะมีสภาวะตั้งแต่หยาบจนละเอียด ไม่ใช่รู้ครั้งเดียวแล้วจบ

เฉกเช่นเดียวกับสภาวะไตรลักษณ์ ไม่ใช่รู้ครั้งเดียวแล้วละสักกายทิฏฐิได้ แต่สภาวะไตรลักษณ์ จะมีสภาวะตั้งแต่หยาบ จนกระทั่งละเอียด คือ ทั้งภายนอกและภายใน แยกแยะออกจากกันได้ชัดเจน ในเรื่องของเหตุการปล่อยวางของจิตแต่ละขณะ

…………………………………………………………..

อุปปันนะ คือ สิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายประเภท โดยเป็น
เรื่อง อุปปันนะ หลายประเภทนี้ มีกล่าวไว้ที่อื่น เช่น ขุ. สุ. อ. (บาลี) ๑/๑/๔-๗

๑. วัตตมานะ กำลังเป็นไปอยู่

๒. ภูตาปคตะ เกิดแล้วจากไป

๓. โอกาสกตะ โอกาสอันกรรมทำให้

๔. ภูมิลัทธะ ได้ภูมิพื้น

ในอุปปันนะทั้งหลายนั้น

๑. สิ่งที่กล่าวว่า มีองค์ประกอบพร้อมด้วย (ขณะทั้ง ๓ คือ) อุปปาทะ (ความเกิดขึ้น) ๑ ชรา (ความเสื่อมโทรม) ๑ และภังคะ (ความแตกดับ) ๑ แม้ทุกอย่าง เรียกว่า วัตตมานุปปันนะ(ตัวใหญ่) คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ที่กำลังเป็นไปอยู่

๒. กุศลและอกุศล ที่เสวยรสของอารมณ์ แล้วดับไป ซึ่งเรียกได้ว่า อนุภูตาปคตะ(ตัวใหญ่) (คือ เสวยแล้วจากไป) ก็ดี

กุศลและอกุศล อันเป็นสังขตะที่ยังเหลือ ซึ่งมาถึงขณะ ๓ มีอุปปทาขณะเป็นต้น โดยลำดับ แล้วดับไป อันเรียกได้ว่า ภูตาปคตะ(ตัวใหญ่) (คือ เกิดแล้ว จากไป) ก็ดี

เรียกว่า ภูตาปคตุปปันนะ(ตัวใหญ่) คือ สิ่งที่เกิดขึ้น แล้วจากไป

หมายเหตุ :-

รู้ขณะเริ่มเกิด-อุปปาทะ ๑ รู้ขณะที่กำลังเกิด-ฐีติ ๑ รู้ขณะดับ-ภังคะ ๑
วลัยพร

๓. กรรมที่กล่าวแล้วโดยนัยว่า “กรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด เป็นกรรมที่บุคคลผู้นั้นทำไว้แล้ว ในกาลก่อน” ดังนี้เป็นต้น

แม้เป็นอดีต ก็เรียกว่า โอกาสกตุปปันนะ (ตัวใหญ่) คือ สิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีโอกาสกรรมทำให้ เพราะ ห้ามวิบากอื่นแล้ว ทำโอกาส (ให้) แก่วิบากของตนเอง

และอนึ่ง วิบากที่มีโอกาส อันกรรมทำให้แล้ว แม้เป็นวิบากที่ยังไม่เกิด เรียกว่า โอกาสกตุปปันนะ (ตัวใหญ่) (เหมือนกัน) เพราะ เมื่อกรรมทำโอกาสให้อย่างนั้นแล้ว ก็เกิดขึ้นโดยแน่นอน

หมายเหตุ :-

อดีตส่งผลมาปัจจุบัน สิ่งที่ทำในปัจจุบัน ส่งผลในอนาคต

เหตุของในอดีตที่ส่งผลมาปัจจุบัน ยังยอมรับไม่ได้ มีตอบโต้ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข สภาวะของเหตุนั้นยังไม่จบ ส่วนผลของเหตุที่สร้างขึ้นที่เพิ่งผ่านมา ส่งผลให้ได้รับในอนาคต คือสิ่งที่เกิดขึ้นณ ปัจจุบันขณะ
หากยังยอมรับไม่ได้ เหตุจะย้อนวนกลับไปที่เหตุในอดีตอีก วนไปวนมา กลับไปกลับมาแบบนี้ จนกว่าสภาวะจะจบลงด้วยตัวสภาวะเอง คือ การยอมรับ แก้ที่ตัวเอง ไม่โทษนอกตัว หยุดสร้างเหตุ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ตามความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

คำพูดประโยคนี้ เป็นเรื่องของการฝึกจิตเพื่อให้เกิดการปล่อยวาง แบบหยาบๆ คือ วางลงได้ชั่วขณะจากผัสสะที่มากระทบ เป็นการฝึกจิตของตัวเอง จากสภาวะการยึดติดในตัวตน เขา, เราที่ยังมีอยู่ ไม่ใช่นำไปสอนหรือแนะนำผู้อื่น

เหตุมี ผลย่อมมี

เนื่องจาก หากผู้แนะนำผู้อื่นในเรื่องการปล่อยวาง ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ถ้าผู้แนะนำได้ให้การแนะนำเช่นนั้น ผู้แนะนำจะเจอสภาวะกลับมาเป็นข้อสอบหรือสอบอารมณ์ของผู้แนะนำว่า ปล่อยวางได้มากน้อยแค่ไหน

หากยังปล่อยวางไม่ได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ผู้ที่ให้คำแนะนำผู้อื่นในเรื่องการปล่อยวาง มักจะประสบความทุกข์เนืองๆเพราะเหตุนี้ ทุกข์แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร มักคิดว่าเป็นเรื่องของเหตุในอดีตที่ทำไว้ แท้จริงแล้ว เกิดจากการแนะนำผู้อื่น

สภาวะของผู้ปฏิบัติ มักจะวกวนไปมา เดิมๆซ้ำๆเพราะเหตุนี้ สภาวะจากเหตุที่ทำไว้ด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ เหตุเก่ายังไม่ผ่าน สภาวะจากเหตุใหม่ที่สร้างขึ้นมาอีก เหตุของการเวียนว่ายในวัฏฏะ ยืนยาวเพราะเหตุนี้

แม้กระทั่ง การให้คำแนะนำ โดยยกเรื่องราวในอดีตที่ตนเองได้เคยพบประสบเจอมา แล้วคิดว่าผ่านเหตุต่างเหล่านั้นมาได้
เหตุเพราะเกิดจากการกระทำเช่นนั้น ได้แก่ การนำเรื่องราวตรงนั้นมาชี้แนะแก่ผู้อื่น โดยไม่มุ่งเพ่งโทษที่ตนเอง และแก้ไขที่ตนเอง ยังมีการกล่าวโทษผู้อื่นหรือกล่าวโทษนอกตัวอยู่ ล้วนเป็นการสร้างเหตุของการเกิดในวัฏฏะทั้งสิ้น

เหตุมี ผลย่อมมี

เหตุเกิดจากความไม่รู้ที่ยังมีอยู่ เมื่อกระทำลงไปแล้ว ผลย่อมได้รับกลับคืนมา ย่อมประสบกับความทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าเหตุนั้นเกิดจากอะไร
ซึ่งแทนที่จะกระทำเพื่อดับที่ต้นเหตุของการเวียนว่ายในวัฏฏะ กลับกลายเป็นการสร้างเหตุของการเวียนว่ายในวัฏสงสารต่อไป สภาวะของผู้ปฏิบัติจึงดูเหมือนวกวนไปมา เดิมๆซ้ำๆ

สร้างเหตุภายนอกมากเท่าไหร่ ส่งผลกระทบต่อการรู้ชัดสภาวะภายในมากขึ้นเท่านั้น เป็นเหตุให้ มีแต่ส่งจิตออกนอก ไม่สามารถรู้ชัดภายในกายและจิตได้เนืองๆ การเห็นสภาวะต่างๆตามความเป็นจริง ย่อมมีแต่สภาวะสัญญามากกว่าปัญญา
วลัยพร

๔. กรรมเป็นอกุศล ที่ยังมิได้ฉุดถอนให้ขาดในภูมิทั้งหลายนั้นๆ เรียกว่า ภูมิลัทธุปปันนะ (ตัวใหญ่) คือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดย ได้ภูมิพื้น

หมายเหตุ :-

การเห็นแจ้งสภาวะอริยสัจ ๔ สภาวะสักกายะทิฏฐิถูกประหานทันที สภาวะทิฏฐิกิเลสจะถูกทำลายลง แต่ยังไม่หมด ตราบใดที่ยังไม่แจ้งในสภาวะของพระนิพพาน สภาวะทิฏฐิกิเลส ยังมีเชื้ออยู่ ยังไม่หมดสิ้นไปทันที
จนกว่าจะแจ้งในสภาวะของพระนิพพานตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สภาวะสักกายทิฏฐิจะถูกทำลายไปหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ เป็นเหตุให้รู้ชัดภายในกายและจิต เพราะแยกแยะได้ว่า เป็นกิจที่ควรทำและควรจะทำยังไงต่อไป
วลัยพร

อีกประการหนึ่ง ยังมีอุปปันนะอื่น อีก ๔ อย่าง โดยเป็น
ดูเทียบเปรียบเทียบใน องฺ. เอกฺก. อ. (บาลี) ๑/๓๙๔/๔๔/-๔๔๒

๑. สมุทาจาระ คือ นิสัยเคยชิน

๒. อารัมมณาธิคหิตะ คือ ยึดมั่นในอารมณ์

๓. อวิกขัมภิตะ คือ มิได้ถูกกดข่มไว้

๔. อสูมหตะ คือ ยังถอนรากไม่ขาด

ในอุปปันนะ ๔ อย่างนั้น อุปปันนะที่กำลังเป็นไปอยู่นั่นแล เป็นสมุทาจารุปปันนะ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นด้วยความเคยชิน

เมื่ออารมณ์ (คือ รูป) มาสู่คลองแห่งทวาร มีตาเป็นต้น กิเลสแม้จะยังไม่เกิดขึ้นในตอนต้น แต่เพราะ ยึดมั่นอารมณ์ไว้นั่นเอง ท่านกล่าวว่า “เป็นอุปปันนะด้วย ยึดมั่นอารมณ์ไว้” (ตัวใหญ่)

เพราะ ในตอนท้าย (กิเลส) ก็จะเกิดขึ้นโดยแน่นอน เหมือนอย่างกิเลสที่เกิดขึ้นแก่พระมหาติสสเถระ ผู้กำลังเที่ยวเดินบิณฑบาตรอยู่ในหมู่บ้านกัลยาณคาม (หมู่บ้านเป็นที่เกิดของหญิงงาม) โดยได้เห็นรูปที่ไม่สมควร (แก่สมณะ)

กิเลสที่มิได้ถูกกดข่มไว้ด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนา อำนาจใดอำนาจหนึ่ง แม้จะยังไม่ผุดขึ้นสู่สันตติของจิต ก็เรียกว่า เป็นอุปปันนะโดยมิได้ถูกข่มไว้ (ตัวใหญ่) เพราะ ไม่มีเหตุเป็นผู้ห้ามเกิดขึ้น

แต่แม้ว่า ถูกข่มไว้แล้วด้วยสมถะและวิปัสสนา ท่านก็เรียกว่า อุปปันนะที่ยังถอนรากไม่ขาด (ตัวใหญ่) โดยเหตุที่ยังไม่พ้นความเกิด เป็นธรรมดา เพราะเป็นกิเลสที่ยังไม่ถอนรากขาดด้วยอริยมรรค

เหมือนกิเลสที่เกิดขึ้นแก่พระเถระผู้ได้สมาบัติ ๘ กำลังเดินทาง (เหาะไป) โดยอากาศ ได้ยินเสียงเพลงขับร้องของมาตุคาม ซึ่งเก็บดอกไม้ที่ต้นไม้มีดอก อยู่ในป่าใกล้ๆ ขับร้องด้วยเสียงไพเราะ

อนึ่ง อุปปันนะแม้ทั้ง ๓ อย่าง คือ อารัมมณาธิคหิตะ ๑ อวิกขัมภิตะ ๑ และอสมูหตะ ๑ พึงทราบว่า สงเคราะห์เข้ากับภูมิลัทธะ (อุปปันนะ) นั่นเอง

[๘๓๘] ในอุปปันนะ ซึ่งจำแนกประเภทดังกล่าวมานี้ อุปปันนะ ๔ อย่าง กล่าวคือ วัตตมานะ ๑ ภูตาปคตะ ๑ โอกาสกตะ ๑ และสมุทาจาระ ๑ นี้นั้น ไม่เป็นอุปปันนะที่จะต้องละด้วย (มรรค)ญาณแม้ไรๆ เพราะ มิใช่อุปปันนะที่ห่าด้วย(อริย)มรรค

แต่ อุปปันนะ กล่าวคือ ภูมิลัทธะ ๑ อารัมมณาธิคหิตะ ๑ อวิกขัมภิตะ ๑ และอสูมหตะ ๑ (๔อย่าง) นี้ใด เพราะ โลกียญาณและโลกุตรญาณนั้นๆเกิดขึ้น ทำให้ความเป็นอุปปันนะนั้นๆ ของอุปปันนะ(๔ อย่าง) นั้น พินาศไป

เพราะฉะนั้น อุปปันนะแม้ทั้งหมด (ทั้ง ๔ อย่าง ข้างหลังนี้) นั้น จึงเป็นอุปปันนะที่ต้องละ ฉะนี้แล

การเห็นแจ้งสภาวะอริยสัจ ๔ สภาวะสักกายะทิฏฐิถูกประหานทันที สภาวะวิจิกิจฉากิเลสจะถูกทำลายลง แต่ยังไม่หมด ตราบใดที่ยังไม่แจ้งในสภาวะของพระนิพพาน สภาวะวิจิกิจฉากิเลส ยังมีเชื้ออยู่ ยังไม่หมดสิ้นไปทันที
จนกว่าจะแจ้งในสภาวะของพระนิพพานตามความเป็นจริง เมื่อนั้น สภาวะวิจิกิจฉากิเลสจะถูกทำลายไปหมดสิ้น

ความศรัทธา

สภาวะทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส และสีลัพตปรามาส สภาวะเหล่านี้ สามารถถูกทำให้บิดเบือนได้ด้วยความเป็นผู้มีศรัทธามาก ไม่ว่าจะรู้ปริยัติ หรือไม่รู้ก็ตาม เพราะเหตุที่ยังมีความยดมั่นถือมั่นในสิ่งที่คิดว่ารู้แล้ว
ย่อมนำสิ่งที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ไปสร้างเหตุด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่

การสร้างเหตุภายนอก ที่เกิดจากความไม่รู้ชัดในผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ เป็นอุปสรรคต่อ การรู้ชัดภายในกายและจิต เนื่องจากสมาธิที่เกิดขึ้นไม่แนบแน่น เป็นเหตุให้ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้นาน
เป็นเหตุให้ เข้าใจสภาวะผิดเพี้ยนไปอีก จึงต้องหาผู้มาสนับสนุนในสภาวะที่ตนเองเป็นอยู่ว่า สภาวะนี้เป็นตามที่ตนเองคิดว่าใช่

การถูกสอบอารมณ์

เหตุมี ผลย่อมมี ในเรื่องการแนะนำผู้อื่นเช่นเดียวกัน ผู้ใดแนะนำผู้อื่นเช่นไร ผู้นั้นย่อมถูกสอบอารมณ์โดยตัวสภาวธรรมของคำแนะนำนั้นๆ ทุกข์มักเกิดขึ้นเนืองๆโดยไม่รู้สาเหตุเพราะเหตุนี้
แต่ส่วนมากมักโยนเหตุที่เกิดไปที่การสร้างเหตุในอดีตที่ผ่านมานานแล้ว ทั้งแท้จริงแล้ว ล้วนเกิดจากสิ่งที่เพิ่งกระทำลงไป สภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นกับทุกๆคน คือสภาวะแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ตามเหตุปัจจัย ณ ปัจจุบัน ขณะแต่ละขณะ

แล้วจะวกกลับไปที่เหตุในอดีตที่เคยทำไว้ ซึ่งส่งผลให้ได้รับ ในรูปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หากมีการแก้ไข หรือยังยอมรับไม่ได้ สภาวะนั้นยังไม่จบ เหตุนี้ เรื่องสภาวะของเหตุ(กรรม)และผล(วิบากกรรม) จึงมีสภาวะซับซ้อนเช่นนี้

อดีตส่งผลมาปัจจุบัน สิ่งที่ทำในปัจจุบัน ส่งผลในอนาคต

เหตุของในอดีตที่ส่งผลมาปัจจุบัน ยังยอมรับไม่ได้ มีตอบโต้ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข สภาวะของผลนั้นยังไม่จบ ส่วนผลของเหตุที่สร้างขึ้นที่เพิ่งผ่านมา ส่งผลให้ได้รับในอนาคต คือสิ่งที่เกิดขึ้นณ ปัจจุบันขณะ
หากยังยอมรับไม่ได้ เหตุจะย้อนวนกลับไปที่ผลในอดีตอีก วนไปวนมา กลับไปกลับมาแบบนี้ จนกว่าสภาวะจะจบลงด้วยตัวสภาวะเอง คือ การยอมรับ แก้ที่ตัวเอง ไม่โทษนอกตัว หยุดสร้างเหตุ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ตามความรู้สึกนึกคิด
ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะนั้นๆ

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

คำพูดประโยคนี้ เป็นเรื่องของการฝึกจิตเพื่อให้เกิดการปล่อยวาง แบบหยาบๆ คือ วางลงได้ชั่วขณะจากผัสสะที่มากระทบ เป็นการฝึกจิตของตัวเอง จากสภาวะการยึดติดในตัวตน เขา, เราที่ยังมีอยู่ ไม่ใช่นำไปสอนหรือแนะนำผู้อื่น

เหตุมี ผลย่อมมี

เนื่องจาก หากผู้แนะนำผู้อื่นในเรื่องการปล่อยวาง ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ถ้าผู้แนะนำได้ให้การแนะนำเช่นนั้น ผู้แนะนำจะเจอสภาวะกลับมาเป็นข้อสอบหรือสอบอารมณ์ของผู้แนะนำว่า ปล่อยวางได้มากน้อยแค่ไหน

หากยังปล่อยวางไม่ได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ผู้ที่ให้คำแนะนำผู้อื่นในเรื่องการปล่อยวาง มักจะประสบความทุกข์เนืองๆเพราะเหตุนี้ ทุกข์แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร มักคิดว่าเป็นเรื่องของเหตุในอดีตที่ทำไว้ แท้จริงแล้ว เกิดจากการแนะนำผู้อื่น

สภาวะของผู้ปฏิบัติ มักจะวกวนไปมา เดิมๆซ้ำๆเพราะเหตุนี้ สภาวะจากเหตุที่ทำไว้ด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ เหตุเก่ายังไม่ผ่าน สภาวะจากเหตุใหม่ที่สร้างขึ้นมาอีก เหตุของการเวียนว่ายในวัฏฏะ ยืนยาวเพราะเหตุนี้

แม้กระทั่ง การให้คำแนะนำ โดยยกเรื่องราวในอดีตที่ตนเองได้เคยพบประสบเจอมา แล้วคิดว่าผ่านเหตุต่างเหล่านั้นมาได้ เหตุเพราะเกิดจากการกระทำเช่นนั้น

ด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ ย่อมการนำเรื่องราวตรงนั้นมาชี้แนะแก่ผู้อื่น ยังมีการกล่าวโทษผู้อื่นหรือกล่าวโทษนอกตัวอยู่ โดยไม่มุ่งกล่าวถึงว่า ต้องแก้ไขที่ตนเอง

การดับ ต้องดับที่ต้นเหตุ คือดับที่ตนเอง ไม่ใช่ไปดับเหตุนอกตัว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ยังมีต่อกันอยู่

เหตุมี ผลย่อมมี

เหตุเกิดจากความไม่รู้ที่ยังมีอยู่ เมื่อกระทำลงไปแล้ว ผลย่อมได้รับกลับคืนมา ย่อมประสบกับความทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าเหตุนั้นเกิดจากอะไร
ซึ่งแทนที่จะกระทำเพื่อดับที่ต้นเหตุของการเวียนว่ายในวัฏฏะ กลับกลายเป็นการสร้างเหตุของการเวียนว่ายในวัฏสงสารต่อไป สภาวะของผู้ปฏิบัติจึงดูเหมือนวกวนไปมา เดิมๆซ้ำๆ

การหมั่นรู้ชัดอยู่ภายในกายและจิต เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ยิ่งรู้ชัดภายในมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้ชัดในสภาวะของผัสสะต่างๆทั้งภายในและภายนอกมากขึ้นเท่านั้น ปัญญาที่จะเห็นตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มีแต่ถ่ายถอนอุปทานในขันธ์ ๕ ที่มีอยู่

เป็นเหตุให้เห็น ภัย เห็นโทษ เห็นทุกข์ของการเกิด เป็นเหตุให้จิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด มุ่งรู้ชัดอยู่ภายในกายและจิตเนืองๆ กระทบปั๊บ กลับมารู้ชัดภายใน ดับเหตุที่ต้นเหตุ ส่วนเวลา ช้าหรือเร็ว อยู่ที่การทำต่อเนื่อง
รวมทั้งการสร้างเหตุภายนอกที่กำลังทำให้เกิดขึ้น

หยุดตอบโต้ หยุดแก้ไข มาตั้งมั่นรู้ชัดภายใน หยุดเหตุภายนอกมากเท่าไหร่ สภาวะจะขับเคลื่อนไปตามเหตุปัจจัยโดยตัวของสภาวะเอง

เมื่อรู้แจ้งในสภาวะอริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้รู้แจ้ง ในเรื่องของเหตุ(กรรม) และผล(วิบากกรรม)

เป็นเหตุให้รู้แจ้ง ในสภาวะอุปทานขันธ์ ๕

เป็นเหตุให้รู้แจ้ง ในสภาวะสังขาร (การปรุงแต่งของจิต ตลอดจนอัตตาภาพร่างกายนี้ว่า เกิดจากมูลเหตุอันใด ทำไมสังขารหรือร่างกาย หรือที่เรียกว่าเปลือกนี้ แต่ละภพ แต่ละชาติ จึงมีความแตกต่างกัน)

เป็นเหตุให้รู้แจ้ง ในสภาวะของผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้น ว่าอะไรเป็นเหตุ

เป็นเหตุให้รู้แจ้ง ในสภาวะพระนิพพาน เป็นเหตุให้รู้วิธีดับที่ต้นเหตุที่เป็นแดนเกิดในวัฏสงสาร
(ย่อมรู้แจ้งในสภาวะปฏิจจสมุปบาท)

เป็นเหตุให้รู้แจ้งใน สภาวะวิญญาณ, สัญญาและปัญญา ซึ่งเป็นเหตุให้ สามารถแยกแยะสภาวะสัญญากับปัญญาแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

เหตุที่ยังเวียนว่ายในวัฏสงสาร เพราะยังละกิเลสอันเป็นรากเหง้าของวัฏฏะทั้งหลายไม่ได้โดยประการทั้งปวง กรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำไป จึงเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง(ตามความเป็นจริงของสภาวะ ไม่ใช่ตามความรู้สึกนึกคิด)
วัฏฏะของผู้นั้น จึงเวียนวน เพราะกรรมและกิเลส เป็นปัจจัยด้วยประการดังกล่าวนั้น (กิเลสที่เป็นรากเหง้า)

“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาย่อมงอกงามแก่บุคคลผู้เห็นแต่ส่วนที่น่าพอใจในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน อุปทานก็มีขึ้น เพราะปัจจัย คือ ตัณหา” ดังนี้ เป็นอาทิ
สํ. นิ. (ไทย) ๑๖/๕๒/๑๐๔

ในบางพระสูตรก็ทรงแสดง (ปฏิจจสมุปบาท) เทศนายกธรรมทั้งสองข้อ เป็นมูลก็มี นี่เช่นอย่างไร เช่นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย กายอันนี้ของคนเขลา ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ประกอบด้วยตัณหาเป็นไปแล้ว (คือ เกิดขึ้น) ด้วยเหตุฉะนี้ กายดังกล่าวนี้ด้วย นามรูปกายภายนอกด้วย ทั้งสองนั่นเป็นทวยะ (คือ เป็นคู่กันอย่างนี้ เพราะ อาศัยทวยธรรม คือ
อายตนะ ๖ นั้นแล ผัสสะก็เกิดขึ้น คนเขลาถูกธรรมมีผัสสะเป็นต้นอย่างไรเล่า กระทบเอาแล้ว ย่อมเสวยสุขและทุกข์” ดังนี้ เป็นอาทิ
สํ. นิ. (ไทย) ๑๖/๑๙/๓๒

๔ – ๖ ตค.๕๔

๔ ตค.

เบื่อหนออออออ

ระหว่างเดินทาง จิตเป็นสมาธิรู้สึกตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง

ช่วงเช้าโดนสภาวะเบื่อเล่นงานแบบไม่รู้ตัวจริงๆ หลังทานข้าวเช้าเสร็จ มีอาการเหมือนง่วง ก็คิดว่าคงง่วงนอน ไม่ได้สนใจอะไร พอนั่งลง ถึงได้รู้ว่าเป็นสภาวะเบื่อ รู้สึกชัดถึงความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น เป็นสภาวะของความเบื่อที่เบื่อมากๆ

เวลาเกิดสภาวะนี้ จะไม่อยากทำอะไรเลย จิตจะอยากอยู่นิ่งๆ รู้สึกตัวว่าจิตเป็นเป็นสมาธิ แล้วไม่รู้อะไรอีกเลยทั้งภายนอกและภายใน มารู้อีกทีตอนคนเข้ามาหา เวลาผ่านไปชม.กว่าๆ นั่งต่อไม่อยากลุก นั่งไปชม.กว่า ดับสนิทไม่รับรู้

เราเคยเรียกสภาวะนี้ว่าห่วยแตก เพราะบางที่เป็นทั้งวัน บางทีครึ่งวัน แต่ก็แปลกดีนะ ขนาดเกิดสภาวะเบื่อแท้ ช่วงที่จิตออกมาจากสมาธิ กลับไปพิจรณาเรื่องความแตกต่างของทิฏฐิกิเลสกับมานะกิเลส ที่เรายังติดๆแยกออกไม่ชัด

มาครั้งนี้แยกออกได้ชัด ทิฏฐิกิเลสเป็นเรื่องของความเห็น ได้แก่ เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นหลักในการให้ค่าว่าถูก,ผิด ส่วนมานะกิเลส เป็นกิเลสที่ชอบเปรียบเทียบ เช่น ตัวเองดีกว่าเขาหรือเสมอเขาหรือด้อยกว่าเขา เรียกว่าชอบเปรียบเทียบ

สภาวะต่างๆที่เคยรู้ เริ่มรู้ชัดในรายละเอียดมากขึ้น ทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ว่า ทางนี้เป็นทางสายเอก เป็นทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นๆไม่มี

สมถะและวิปัสสนา ต้องทำควบคู่กันไป จึงจะเป็นสมถะและวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ เพราะวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา คือ ทำสมถะให้ได้ก่อน แล้วอาศัยสมถะเป็นบาทขึ้นสู่วิปัสสนา ได้แก่ การปรับอินทรีย์

การที่นำมาแยกในการอธิบาย จึงทำให้สภาวะผิดเพี้ยนไป เหตุมี ผลย่อมมี ไม่มีใครถูกหรือผิด ล้วนเกิดจากเหตุทั้งสิ้น ผลจึงเป็นเช่นนี้

พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะทำให้สภาวะผิดเพี้ยนไป เวลาเอ่ยสภาวะไตรลักษณ์ ต้องเอ่ยทั้ง ๓ สภาวะนี้ ไม่ใช่เอ่ยถึงแค่ตัวใดตัวหนึ่ง สภาวะผิดเพี้ยนไปเพราะเหตุนี้ เหตุมี ผลย่อมมี

ไตรลักษณ์

อนิจจัง ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา

ทุกขัง ความทุกข์ การไม่ได้ดั่งใจ

อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

คำบัญญัติต่างๆที่นำมาใช้แทนสภาวะ เช่น ไม่ใช่ตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุให้เกิดการตีความสภาวะแบบผิดๆ เป็นเหตุให้นำสภาวะพระไตรลักษณ์ คือ อนัตตามาตีความแบบผิดๆ บัญญัติเหมือนไม่ผิด แต่ผิดตามความเป็นจริง

อนัตตา มีความหมายเดียว คือ บังคับบัญชาไม่ได้ การที่นำมากล่าวว่า ไม่ใช่ตัวตน บุคคล สัตว์ เขา เรา ล้วนเป็นเพียงอุบายในการพิจรณา เมื่อไม่เข้าใจในสภาวะจึงนำไปเทียบว่าเป็นสภาวะเดียวกับสุญญตา ซึ่งเป็นคนละสภาวะกัน

อนัตตา นำไปเปรียบเทียบกับอัตตาไม่ได้ คนละเรื่อง และอนัตตาไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับอัตตา คนละเรื่องกับอัตตา

อนัตตาเป็นเรื่องของพระไตรลักษณ์ ที่เกิดร่วมกับอนิจจังและทุกขัง

อัตตา เป็นเรื่องของ ทิฏฐิกิเลส และ มานะกิเลส

ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ ความเห็น เอาความรู้สึกของตัวเองไปตัดสินว่าสิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด ใช่, ไม่ใช่ ตามความชอบ,ชังที่เกิดขึ้นในจิต แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงของผัสสะที่เกิดขึ้น โดยสภาวะที่แท้จริง ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด

แต่เป็นเรื่องของเหตุที่เคยทำและผลที่ได้รับ เหตุกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่ ผลของเหตุที่ได้กระทำลงไปแล้ว มาแสดงให้ได้รับในรูปของเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ ผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้น

เพราะความไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงในเรื่องสภาวะที่แท้จริงของผัสสะที่เกิดขึ้น จึงได้สร้างเหตุใหม่ไปด้วยความไม่รู้ ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามเหตุปัจจัยที่ยังมีอยู่กับผัสสะที่เกิดขึ้น

มานะกิเลส ได้แก่ ความคิด ที่เกิดจากการเปรียบเทียบ คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น คิดว่าตนเลวกว่าผู้อื่น คิดว่าตนเสมอผู้อื่น คิดว่าตนรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔

โดยสภาวะที่แท้จริง ไม่มีใครเลวกว่าใคร ไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีใครเสมอกว่าใคร ทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุที่ทำมา สิ่งที่มองเห็นทุกๆอย่าง ล้วนเป็นไปตามเหตุของสิ่งๆนั้น

เห็นไตรลักษณ์ ย่อมเห็นอัตตา คือ เห็นไตรลักษณ์ เป็นเหตุให้จิตปล่อยวางลงไปได้ ย่อมเห็นตัวตนหรือกิเลสได้ชัดเจน การจะเห็นไตรลักษณ์ได้ ต้องอาศัยสมถะและวิปัสสนา คือ รู้ชัดอยู่ในรูปนามเนืองๆ

คิดถึงเรื่อง”พระราธะ” หากเป็นผู้ปฏิบัติแบบพระราธะได้ ทางนี้ย่อมสั้นลงอย่างแน่นอน ที่ว่ายาก ไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติไม่ได้ยุ่งยากอะไร ที่ยากเพราะเหตุที่ทำมา จึงทำให้ยาก ยากที่จะมาเชื่อกันเพราะไม่ได้สร้างเหตุมาร่วมกัน

ต่อให้เกิดทันพระพุทธเจ้า ก็ย่อมไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เพราะไม่ได้สร้างเหตุมาร่วมกัน เฉกเช่นเดียวกับโยคีที่เจอพระองค์ แล้วถามพระองค์ว่าใครเป็นผู้สอนพระองค์ พระองค์ตรัสตอบว่าเป็นผู้ตรัสรู้เอง โยคีไม่เชื่อ เดินหนีไป

วันนี้ทำได้รอบเดียว ไม่ได้ดูเวลา ถึงแม้ทำได้น้อยรอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดคือ ความรู้สึกสบายใจ เพราะจิตมีแต่คิดพิจรณาในเรื่องสภาวะต่างๆ เป็นเหตุให้การสร้างเหตุภายนอกลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

และที่สำคัญ คือ รู้ชัดอยู่ในรูปนามได้เนืองๆ จิตมักเป็นสมาธิบ่อยๆ เป็นเหตุให้รู้ชัดอยู่ในรูปนามได้เนืองๆ จึงวุ่นวายภายนอกน้อยลง ทำมากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือ การรู้อยู่ในกายจิตและการหยุดสร้างเหตุภายนอก มีแค่นี้เอง

๕ ตค.

เบื่อมากกกกกกกกกกก

เช้านี้จับอารมณ์ของสภาวะเบื่อที่เกิดขึ้นได้ชัด สุดยอดเลยนะสภาวะนี้ เห็นจิตยังมีความไม่ชอบใจกับสภาวะนี้อยู่ ถึงไม่มากเท่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังมี เพียงแต่ยอมรับสภาพสภาวะได้มากขึ้น

รอบแรก เดิน ๑ ๑/๒ ชม. นั่งที่โซฟา ๒ ๑/๒ ชม.

ถ้าไม่มีสมาธิจะเป็นยังไงหนอ คงจะแย่พิลึก คงจะฟุ้งซ่านพิลึก เพราะสภาวะนี้ยิ่งกว่าทุกๆสภาวะ สุดจะทานทนจริงๆ

รอบ ๒ เดิน ๑ ๑/๒ ชม. นั่งที่โซฟา ๓๐ นาที

๖ ตค.

สภาวะเบื่อ

รอบแรก เดิน ๒ ๑/๒ ชม. นั่ง ๓ ชม.

ช่วงนี้ตัวรู้เกิดขึ้นมากมาย สภาวะสติปัฏฐาน ๔ เห็นรายละเอียดชัดเจน หลับตาพูดได้สบาย ซึ่งตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ทุกอย่างทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่มีผิดเพี้ยนแต่ประการใด

เพียงแต่ตอนนี้ สภาวะเบื่อเล่นงาน จิตไม่อยากจะเขียนอะไร เพียงแค่เขียนลงไว้ในบันทึกแบบคร่าวๆ

วิปัสสนา

ธรรมนี้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก คำว่า วิปัสสนา มีที่มา เกิดขึ้นจากการตีความในพระธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ญาณ ๑๖ มีที่มาจากอะไร มาจากสภาวะที่เกิดขึ้นจากการรู้ชัดอยู่ในรูปนาม (นามรูปปริจเฉทญาณที่เป็นปรมัตถ์)

สุญญตา, สุญญคารที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงล้วนเป็นสภาวะของการรู้ชัดอยู่ในรูปนาม ไม่ใช่อนัตตา

พระพุทธเจ้าทรงสอนสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่การสอนวิปัสสนาในแบบปัจจุบัน การสอนวิปัสสนาในปัจจุบัน เป็นเรื่องของการบอกต่อ

การสอนของพระพุทธเจ้า คือ ทำสมถะ จนกว่าจิตจดจำสภาวะสมาธิได้แม่นยำ แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่ใช่จู่ๆก็มาทำวิปัสสนา โดยไม่มีสมาธิเป็นเครื่องเกื้อหนุน มีหลักฐานนำมาอ้างอิงได้ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎก

ทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เป็นทางตรงและสั้นที่สุด จะเข้าใจในสภาวะของสติปัฏฐาน ๔ ได้ ต้องแจ้งชัดในนิพพานโดยสภาวะของนิพพานที่แท้จริง นิพพานที่เป็นบัญญัติล้วนเป็นแนวทางการพิจรณา

นิพพานที่แท้จริง คือ ดับเหตุภายนอก ๑ สร้างเหตุภายใน ๑

ดับเหตุภายนอก ได้แก่ การไม่สร้างเหตุทั้งปวง

สร้างเหตุภายใน ได้แก่ การรู้ชัดอยู่ในรูปนาม (กาย เวทนา จิต ธรรม) , นามรูปปริจเฉทญาณ (ปรมัตถ์) สุญญคาร , สุญญตา เขียนคนละอย่าง แต่สภาวะเดียวกัน

สร้างเหตุภายนอก ส่งผลต่อสภาวะภายใน ได้แก่ ปัญญาเกิดได้ยาก มีแต่สัญญา

สร้างเหตุภายใน ส่งผลต่อสภาวะภายนอก ได้แก่ เหตุของการดับเหตุภายนอก

นิพพานไม่ใช่เมืองแก้ว หรือเมืองอะไรๆเลย นิพพานเป็นเรื่องของการสร้างเหตุของการไม่เกิดอีกต่อไป

เหตุมี ผลย่อมมี ใครเป็นอะไร อย่างไร ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำมาทั้งสิ้น แม้กระทั่งเรื่องวิปัสสนาก็เช่นกัน

พระสัทธรรมเสื่อมเพราะอะไร? พระสัทธรรมที่เป็นบัญญัติ ล้วนเสื่อมไปตามเวลา ดูอย่างเรื่องสมถะและวิปัสสนา ไปนำเรื่องโยคีมากล่าวอ้างในการทำสมถะ แล้วกล่าวตู่เรื่องวิปัสสนา เหตุมี ผลย่อมมี ไม่มีใครถูก และไม่มีใครผิด

พระสัทธรรมที่เป็นสภาวะ ไม่มีวันเสื่อม เพราะอยู่เหนือกาลเวลา ต่อให้โลกถล่มทะลายเสื่อมสลายไป พระสัทธรรมที่เป็นสภาวะยังคงปรากฏอยู่เหนือกาลเวลา

เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา ย่อมมีผู้รู้แจ้งในพระสัทธรรมที่เป็นสภาวะ แล้วนำมาถ่ายทอดต่อ เป็นเหตุที่มาของพระสัทธรรม เป็นการเรียกโดยสมมุติของสภาวะอริยสัจ ๔

อนัตตาเป็นเรื่องของสภาวะไตรลักษณ์

สุญญตา เป็นเรื่องของสภาวะนามรูปปริจเฉทญาณ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ

เริ่มต้นฝึกสมาธิใหม่

การปฏิบัติต้องรู้ชัดในอารมณ์ที่เกิดขึ้น และควรรู้วิธีรักษาจิต

หลายๆคนที่มาปรึกษา ส่วนมากที่เราให้เริ่มเรื่องสมาธิใหม่เพราะเหตุนี้ ต้องรู้ชัดในจิตของตัวเองว่า นั่งในอิริยาบทไหนในบรรยากาศหรืออากาศแบบไหน ที่สมาธิเกิดได้ง่ายและมีกำลังมากที่สุด คือดิ่ง

ตอนนี้อาจจะยังมองไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราให้ทำเพิ่ม แต่ต่อไปเขาต้องได้ใช้อย่างแน่นอน เพราะสภาวะเบื่อจะต้องเจอทุกคน ไม่ใช่เบื่อแบบธรรมดาๆ ต้องบอกว่าเบื่อจนไม่มีที่จะอยู่ เป็นเหตุให้ไม่อยากปฏิบัติ แต่ต้องทำแล้วเพราะรู้ว่าทำเพราะอะไร

เมื่อไม่อยากทำ แต่พยายามที่จะทำ กลายเป็นฝืนใจทำ ไม่ใช่ทำแบบปกติ นี่เจอทุกข์อีกแล้ว ฉะนั้นต้องมีที่ให้จิตชอบ มีที่ให้จิตพัก สมาธิเป็นที่พักจิตที่ดีที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ต้องดูจังหวะ รู้ชัดในจิตของตัวเองให้ได้ก่อน รู้ชัดในสภาวะของสมาธิก่อน

บางคนรู้ชัดในสภาวะเวลาสมาธิเกิด แต่ไม่รู้ชัดในวิธีที่จะทำให้สมาธิเกิดได้ง่าย ไม่รู้ชัดในวิธีที่จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้แนบแน่น เกิดสมาธิได้มากๆแบบไม่มีประมาณ จึงให้ฝึกสมาธิใหม่เพราะเหตุนี้ ฝึกเพื่อให้เกิดความชำนาญ ให้มีวสีรู้ชัดในการเข้าออกสมาธิ

เมื่อชำนาญแล้ว เอาไว้ใช้ในเวลาเกิดสภาวะเบื่อ ในสภาวะนี้ต้องใช้สมาธิที่มีกำลังมากๆ จึงจะช่วยกดข่มสภาวะที่เป็นอยู่ได้ เป็นเหตุให้ไม่ต้องทุกข์กับสภาวะที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งการปฏิบัติก็ไม่ฝืนใจทำ จะทำสลับไปมาแบบนี้

เบื่อมาก ปล่อยจิตเข้าพักในสมาธิ จะทำทั้งวันก็ไม่เป็นไร เพราะสภาวะเบื่อบางครั้งจะเกิดขึ้นทั้งวัน พักจิตไปจนกว่าจะหายเบื่อ

จิตพอได้พักเต็มที่จะมีสภาวะสดใส สดชื่น เบิกบาน โปร่ง โล่งเบาสบาย สุขไม่มีประมาณ แล้วตัวปัญญาจะเกิด ที่นี้พอมาปฏิบัติจะทำได้อย่างสะดวกสบายไม่ต้องฝืนใจทำ ไม่ต้องไปบังคับกดข่มจิตเพื่อให้ทำแต่อย่างใด

กิเลส

สมาธิก็เป็นกิเลส ทั้งๆที่สมาธิไม่ได้เป็นกิเลส แต่กลับกลายเป็นกิเลสเพราะความไม่รู้ เกิดการยึดติดในสมาธิ ยึดติดความสงบ สุข ในสภาวะที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของจิตเป็นสมาธิ

เมื่อรู้ว่าสมาธิเป้นกิเลสได้เพราะเหตุใด ต้องรู้จักนำกิเลสมาใช้ให้ถูกที่ ถูกทาง กิเลสก็พลิกสถานะการณ์ให้สภาวะที่เป็นอยู่เป็นต่อไปทันที สภาวะจะก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ รู้ชัดในจิตมากขึ้น เห็นรายละเอียดต่างๆของสภาวะชัดมากขึ้น

รู้ชัดในรูป, นาม (กาย, เวทนา, จิต, ธรรม)

มีบางคนรู้ชัดในรูปนาม แต่ไม่รู้หรอกว่าสภาวะของตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อเจอสภาวะเดิมๆซ้ำๆ ย่อมเกิดอาการเบื่อ นี่เป็นเรื่องปกติของความไม่รู้ ถึงแม้รู้แล้วยังเบื่อเลย เพราะยังไม่รู้จักวิธีรักษาจิต ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป

สร้างเหตุยังไง รับผลเช่นนั้น

สภาวะที่เกิดขึ้นของแต่ละคนก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่รู้ชัดในสภาวะ เมื่อเจอสภาวะเบื่อเช่นนี้ อาจจะบอกว่า นี่นิพพิทาญาณเกิดขึ้นแล้ว เสร็จเลย เสร็จกิเลส เสร็จกิเลสเพราะไม่รู้ชัดในสภาวะ ที่นี้ก็วุ่นวาย หาทางแก้ไขสภาวะ ทั้งๆที่จริงแล้วสภาวะเป็นไปตามเหตุของตัวสภาวะเอง

ญาณ ๑๖

เรื่องของญาณ ๑๖ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี มีไว้ให้ศึกษา มีไว้ให้รู้ ไม่ใช่มีไว้ให้ยึด ซึ่งเกิดจากการตีความว่าสภาวะแต่ละญาณจะต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ ให้ดูเรื่องเหตุ ให้ดูการกระทำ ดูอารมณ์ยามผัสสะที่เกิดขึ้น ดูทันไหม ถ้าดูทันย่อมรู้ชัด

โสฬสธรรม

อยากรู้เรื่อญาณ ๑๖ ให้อ่านโสฬสธรรม เป็นคำถามที่พรามหณ์พาวารีผูกปัญหาให้ลูกศิษย์ ๑๖ คน นำไปถามพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตอบมานั้นล้วนมีสภาวะซ่อนอยู่ภายในคำตอบทุกคำตอบ

เช่นคำถามของพระโมฆราช สิ่งที่พระพุทธเจ้าตอบ บางคนนำมาตีความเป็นเรื่องสุญญตา

สุญฺญโต โลกํ อเวกฺสฺสุ โมฆราช สทา สโต

อตฺตานุทิฏฐึ โอหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา

เอวํ โลกํ เอวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ

แปลความว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติตลอดเวลา มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ (คือ ความเห็นเนืองๆว่ามีอัตตา) เสีย

จึงจะเป็นผู้ข้ามพ้นมฤตยูด้วยอาการอย่างนั้น มัจจุราช (มองหา) ไม่เห็นบุคคลผู้มองเห็นโลกอย่างนี้

วิโมกคาถา

ครั้นโยคาวจรเห็น(โลก) โดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างนั้นแล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ กำหนดรู้สังขารทั้งหลายอยู่ ก็ละความกลัวและความพึงพอใจเสียได้

เป็นผู้มีตนเป็นกลาง วางเฉยในสังขารทั้งหลาย ไม่ถือว่าเป็น”เรา” หรือว่า “เป็นของเรา”

(นำมาจากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๒ หลวงพ่อโชดก ในบทภังคญาณ)

สุญญตาที่เป็นบัญญัติ ล้วนเป็นเพียงอุบายในการสอน แต่โดยตัวสภาวะของสุญญตาที่แท้จริงมีรายละเอียดลงลึกไปกว่านั้น คำว่า มองโลกว่างเปล่าไม่มีอะไรๆ ล้วนเป็นอุบายในการสอนทั้งสิ้น สอนไม่ให้ยึดติดในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือผัสสะ

กับอีกในพระสูตร อากังเขยยสูตร ในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย หน้า ๕๘ ว่า

“อากงฺเขยฺย เจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ฯลฯ วิปสฺสนาย สมนฺนาคโต พฺรูเหตา สุญฺญาคารานํ”

มีใจความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุหวังอยู่ว่า เราพึงเป็นที่รักใคร่ ที่ชอบใจ ที่เคารพ ที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันแล้ว เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศิล พึงเจริญสมถะและวิปปัสนาอยู่เนืองนิตย์ เป็นผู้ไม่ห่างเหินจากฌาน พอกพูนแต่ในสุญญาคารเถิด”

สุญญตาทั้งสองที่นำมาลง มีสภาวะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากไม่รู้ชัดในสภาวะ ย่อมเข้าใจว่าเป็นสภาวะเดียวกัน

คำว่า “เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศิล พึงเจริญสมถะและวิปปัสนาอยู่เนืองนิตย์ เป็นผู้ไม่ห่างเหินจากฌาน พอกพูนแต่ในสุญญาคารเถิด”

พึงทำให้บริบูรณ์ในศิล

หมายถึง หมั่นรู้ชัดอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือ รูปนาม (กายและจิต)

สภาวะคือ มีจิตตั้งมั่น รู้ชัดอยู่ในกายและจิต ขณะที่จิตตั้งมั่นรู้ชัดอยู่ในรูปนาม ศิลย่อมสะอาดบริสุทธิ์ บริบูรณ์

พึงเจริญสมถะและวิปัสสนา

หมายถึง มีสมาธิ (จิตตั้งมั่น) มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) รู้ชัด (สติ) อยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า รู้ชัดอยู่ในรูปนาม

สภาวะคือ มีจิตตั้งมั่น (สมถะ) มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้ชัดอยู่ในกายและจิต (วิปัสสนา)

เป็นผู้ไม่ห่างจากฌาน

หมายถึง เข้าออกฌานโดยชำนาญหรือมีวสีในการเข้าออกฌาน รู้ชัดในสภาวะของฌาน

พอกพูนอยู่แต่ในสุญญคาร

หมายถึง รู้ชัดอยู่ในกายและจิต(รูปนาม) หรือที่นิยมนำมาอธิบายว่า ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ซึ่งเป็นเพียงอุบายในการสอน แต่สภาวะที่แท้จริงคือ รู้ชัดอยู่ในรูปนามเนืองๆ

เมื่อรู้ชัดอยู่ในรูปนามได้เนืองๆ วิปัสสนาญาณ(ญาณ๑๖)ย่อมเกิดขึ้นเองตามลำดับขั้น

บทเรียน

สิ่งที่นำมาบอกเล่าผ่านๆมา ล้วนเป็นประสพการณ์จากสิ่งที่ไม่เคยรู้ ก่อนที่จะรู้ ไม่เคยมีใครมาบอกเล่าให้ฟัง ไม่เคยมีตัวอย่างมาให้ดูหรือให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เพราะไม่เคยรู้ในสิ่งต่างๆเหล่านี้ การปฏิบัติที่ผ่านๆมา จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเหตุให้ปฏิบัติแล้วเจอแต่ความทุกข์ตลอดทาง

ที่สำคัญ เป็นเหตุให้เลิกปฏิบัติไปหลายครั้งต่อหลายครั้ง กว่าจะมาถึงจุดๆนี้ ที่ได้เรียนรู้โดยสภาวะจนแจ้งชัดในสภาวะต่างๆได้ในระดับหนึ่ง

สภาวะภายนอก

การปฏิบัติ ไม่ได้มีวิธีการยุ่งยาก แต่ที่ยากที่สุดคือ ใจ ยากมากๆในการทำใจที่จะยอมรับในสิ่งที่เราคิดเอาเองว่า เป็นฝ่ายถูกกระทำ และเราต้องยอมให้เขาทำกับเราเช่นนั้น โดยไม่มีการตอบโต้หรือมีข้อโต้แย้งใดๆ

ไม่มีการหลบลี้หนีหน้า ไม่มีการคิดแก้ตัวใดๆ เพียงแต่ให้อยู่กับสภาวะนั้นๆแบบปกติ ภายนอกมองดูเหมือนปกติ ทั้งๆที่ภายใน ใจไม่ปกติ

สภาวะภายใน

การยอมรับในสิ่งที่เราเป็นอยู่ ส่วนมากจะคิดว่า ภายนอกยังไงก็ได้ ภายในเราย่อมรู้ตัวเราเองดีว่าเป็นอย่างไร หากคิดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะกิเลสยังเป็นนายเรา ยังอยู่เหนือและมีอำนาจมากกว่าเรา เราจึงคิดเช่นนี้

เรียกว่า นอกอย่าง ในอย่าง ลักษณะแบบนี้ ยังไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้ายอมรับตามความเป็นจริง นอกกับในต้องเหมือนกัน

สิ่งควรรู้ เรื่องของการปฏิบัติทั้งหมด

ญาณ ๑๖ เป็นเรื่องของไตรลักษณ์ เป็นเรื่องของสติ สัมปชัญญะและสมาธิ

ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ เรื่องของกิเลส ตรงนี้สำคัญมากๆ มากกว่าเรื่องอื่นๆในญาณ ๑๖

ผัสสะ ได้แก่ การกระทบ ความหมายตามปริยัติหมายถึง เป็น สภาวะของอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน ทำงานร่วมกัน

พูดในแง่ของสภาวะ ได้แก่ สิ่งที่มากระทบ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นชิมรส ความรู้สึก ความนึกคิด

เมื่อมีผัสสะหรือการกระทบเกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่มากระทบ ณ ขณะนั้น เรียกว่า ปัจจุบันอารมณ์ หรือปัจจุบันธรรมหรือปัจจุบัน สุดแต่จะให้ค่า

รู้ได้ แต่อย่าเชื่อ

ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ สามารถรู้ได้ แต่จงอย่าเชื่อ เพราะว่าทุกสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยในตัวของสภาวะนั้นๆเอง

แม้กระทั่งตำราหรือหนังสือต่างๆ มีไว้ให้รู้ แต่อย่ายึดติดจนกระทั่งหลงนำไปสร้างเหตุใหม่ของการเกิดให้เกิดขึ้นใหม่ด้วยความไม่รู้

ถ้าอยากจะเชื่อ คงห้ามกันไม่ได้

เพราะเหตุที่ทำมา สภาวะของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป

ตำราก็เช่นเดียวกัน

ผู้ที่เขียนตำรา ย่อมเขียนตามสิ่งที่ตนเองได้รู้ อาจเกิดจากการศึกษามา ได้ยินได้ฟังมา หรือผลจากการปฏิบัติก็ตาม ไม่ว่าจะเรื่องแนวทางการปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ ล้วนเป็นอุบายในการปฏิบัติ รู้อย่างไร ย่อมเขียนตามที่รู้ รู้แค่ไหน เขียนได้แค่นั้น

ส่วนใครมีเหตุร่วมกับใคร ย่อมเชื่อในสิ่งที่ผู้นั้นเขียนหรือนำมาบอกเล่าให้ฟัง หากไม่มีเหตุร่วมกัน ย่อมไม่มีวันที่จะมาเชื่อกัน

เหมือนการอ่านหนังสือหรือตำราต่างๆ ผู้อ่าน มีความรู้หรือรู้ได้ด้วยตนเองแค่ไหน ย่อมอ่านแล้วตีความตามตัวหนังสือได้แค่นั้น

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ