เตโชกสิณ(ตอบคำถาม)

จากสภาวะที่นำมาถาม “การเข้าสู่ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌาน ต้องมีสติมากพอ ที่จะไม่ดิ่งดับหายไป จนขาดความรู้ตัว”

สภาวะนี้เกิดจากการทำสมาธิจนจำสภาวะได้แม่นยำ แล้วจึงปรับอินทรีย์ ระหว่างสติกับสมาธิให้เกิดความสมดุลย์ แล้วตัวสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นเอง เป็นเหตุให้มีความรู้สึกตัวในขณะที่จิตเป็นสมาธิ

คำถามต่อมา ” การทำสมถะกรรมฐาน โดยอาศัยเตโชกสิน จนได้ฌาน พอเข้าเตโชกสิณ กระทั่งเห็นภาพกสิณแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ”

การฝึกเตโชหรือแม้กระทั่งการทำกรรมฐานในรูปแบบอื่นๆ ล้วนเกิดจากสัญญาเก่าหรือเหตุที่เคยทำมา คนที่เคยมีสัญญาเก่าติดตัวมา สามารถฝึกเองได้โดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยงกำกับ

แต่จะพบปัญหาในเรื่องสภาวะที่ไปต่อไปไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อ บางคนติดอยู่กับสิ่งที่ได้พบ ได้รู้เพราะกำลังของสมาธิเป็นเหตุ

เมื่อฝึกเตโช จนชำนาญ เรียกว่านิมิตภาพหรือแสงสว่างนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตา จะสามารถเห็นภาพนั้นได้ดังใจนึก หลายๆคนจะติดอยู่ที่สภาวะนี้ ติดกับสิ่งที่ได้รู้เห็นประหลาดๆ

วิธีไปต่อ คือ ปรับอินทรีย์ค่ะ ปรับสติกับสมาธิให้เกิดความสมดุลย์ ให้เดินก่อนที่จะนั่งทุกครั้ง ครั้งแรกให้ตั้งเวลาเดินกับนั่งเท่าๆกัน แล้วสังเกตุดูเรื่องความรู้สึกตัวขณะที่จิตเป็นสมาธิ

เวลาเป็นสมาธิ มีโอภาส ไม่สามารถรู้ชัดในกายส่วนอื่นๆได้ คือเห็นแต่แสงสว่าง แต่ไม่อาจรู้ชัดในกายส่วนอื่นๆได้ ให้เพิ่มเวลาเดินให้มากกว่านั่ง เพิ่มไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความรู้สึกตัวขณะจิตเป็นสมาธิ

ส่วนโอภาสที่เกิดขึ้น เกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรอย่างไร รู้ไปตามนั้น ไม่ต้องไปอยากให้เกิดต่อ หรืออยากทำให้หายไป โอภาสเป็นเรื่องปกติของสมาธิ แต่ผิดปกติทันที ถ้าไปยึดติดกับสิ่งที่เห็น

๑ พย.

คำถาม

เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมกำลังนอนคว่ำบนเตียงเพื่อทำความเข้าใจกับบทเรียน ผมท่อง excitation ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ในใจไปเรื่อย ๆ ด้วยจิตใจมุ่งมั่นกับบทเรียน จิตคิดอยากจะไปเที่ยว ผมก็ดึงจิตไว้ไม่ให้จิตไปสนใจเรื่องอื่น ผมยื้อกับความอยากไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ของจิตได้สักครู่ ก็เกิดความรู้สึกว่าจิตวูบดิ่งไป ทั้ง ๆ ที่ผมลืมตาจ้องและมีสติเต็มร้อย ผมปล่อยจิตให้ดิ่งวูบต่อไปนิดหนึ่งก็รีบถอนจิตออกมา

๑. อาการที่จิตดิ่งวูบเข้าไป ในขณะที่ผมมีสติเต็มร้อย คืออะไรครับ

ปัจจุบันนี้ผมก็มาเริ่มปฏิบัติใหม่ โดยมีความคิดว่า หากจิตดิ่งวูบอีกก็จะปล่อยให้จิตดิ่งวูบ แต่ ………. ฝึกแล้วฝึกเล่าขณะนี้ยังทำไม่ได้ครับ จิตยังไม่นิ่งเลย

๒. ผมเคยฝึก เตโชกสิณ ด้วยการจ้องมองแสงเทียน แล้วหลับตานึกเห็นเปลวเทียน ทำอยู่หลาย ๆ รอบ กระทั่งเห็นเปลวเทียนเปลี่ยนสีไปเป็นสี แดง สีแดงแบบอะไรดีละ อธิบายไม่ถูก สีแดงสดใสมากและเป็นรูปคล้ายใบตะลาปัดที่พระสงฆ์ยกมาบังขณะให้พรนะครับ

ทุกวันนี้พอมองเปลวเทียนแล้วหลับตาก็จะเห็นเป็นดวงสีแดงทันที พอมองนาน ๆ ก็หายไปต้องลืมตามองเปลวเทียนใหม่อีก ฝึกมาถูกทางหรือไม่ก็ไม่ทราบ ยังไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี

ปัจจุบันผมก็อาศัยดวงสีแดงนี่แหละครับสงบจิต มองดูเบา ๆ เฉย ๆ (เคยเพ่งแล้วหลายครั้ง จิตยังไม่ดิ่งวูบ แบบยังฟุ้งซ่านนะครับ) พอดีทราบว่าอาจารย์ฝึกเตโชกสิณสำเร็จกระทั่งได้ฌาณ ก็ขออนุญาตปรึกษานะครับ

๓.ผมเคยคิดว่า จะดูเปลวเทียนกระทั่งหลับตาเห็นดวงสีแดงสดใสแล้ว เพ่ง ๆ ๆ ๆ ดวงสีแดงไม่ให้จิตวอกแวกให้จิตดิ่งวูบที่ดวงสีแดงนี้ จะเป็นการฝึกที่ถูกต้องหรือไม่ ครับ ขออนุญาตสอบถามนะครับทั้ง ๆ ที่ ขณะนี้ยังทำให้จิตมีสมาธิดิ่งวูบไม่ได้

คำตอบ

ก่อนจะตอบคำถามที่นำมาถามทั้งหมด ขอถามก่อนนะคะว่า คุณปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อจะได้แนะนำสภาวะที่คุณควรจะทำต่อไปได้น่ะค่ะ

เป็นคำถามที่ดีมากครับ

ผมขอตอบอาจารย์ว่า ผมไม่ได้หวังนิพพานในขณะนี้ แต่ผมฝึกปฏิบัติเพื่อต้องการทำความดีให้ได้สมาธิเพื่อที่จะได้เพิ่มพูนปัญญาให้รู้แจ้ง ซึ่งจะรู้แจ้งหรือไม่นั้น ผมยังไปไม่ถึง รู้แต่ว่าผมต้องฝึกเพื่อให้ถึงตรงนั้นนะครับ

ถึงตรงไหนผมก็ยังไม่อาจจะรุ้ได้ในขณะนี้ครับ เพราะจิตยังปฏิบัติไม่ถึงครับ อย่างไรเสียผมก็ต้องปฏิบัตินะครับ ผมมีผลของการปฏิบัติมาบอกอาจารย์ครับ ขออนุญาตบอกนะครับ

คือ อาจารย์คงต้องเคยเกิดอาการสะอึก เวลาเกิดอาการสะอึก อาจารย์ทำอย่างไรให้หายจากอาการสะอึก ผมได้เรียนรู้จากการทำสมาธิพุทธ คือ เวลาเกิดอาการสะอึก ผมจะมองกายในกาย กล่าวคือให้สังเกตดูตรงที่สะอึกว่ามันเกิดอย่างไร

เชื่อมั๊ยครับว่า พอเราเอาจิตมองดูตรงที่สะอึก อาการสะอึกจะหายไปทันทีโดยไม่ต้องไปกินน้ำหรือแกล้งให้ตกใจใด ๆ ทุกท่านที่ผมประสบก็มักสอนวิธีปฏิบัติ แต่ผมขออนุญาตบอกอาจารย์ถึง ผล ของการปฏิบัติเบื้องต้นนะครับ

เอาละ อาจารย์พอจะช่วยอธิบายธรรมที่ผมสงสัยได้แล้วนะครับ

คำถาม อาจารย์คงต้องเคยเกิดอาการสะอึก เวลาเกิดอาการสะอึก อาจารย์ทำอย่างไรให้หายจากอาการสะอึก

ตอบ อับดับแรกแค่ดูค่ะ เกิดอะไรดูไปตามนั้น บางครั้งก็หาย บางครั้งก็ไม่หาย ส่วนถ้าจะหายหรือไม่หายไม่ได้ใส่ใจ แต่ถ้าทำให้รู้สึกรำคาญก็จะเปลี่ยนอิริยาบทค่ะ โดยการไปดื่มน้ำ คือ ตอบตามตรง ไม่ได้ใส่ใจจริงๆค่ะ

เพราะเมื่อเห็นทุกเรื่องเป็นแค่เพียงสภาวะ เห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ จะไม่ไปหาวิธีการอะไร เพราะรู้ดีว่า เดี๋ยวก็หายไปเอง เกิดเอง หายเอง มันเป็นเรื่องปกติน่ะค่ะ ยกเว้นไปจ้อง อาจะทำให้รู้สึกรำคาญได้ เพราะไปมุ่งหวังเรื่องปฏิบัติมากเกินไป

คำถามที่เคยถาม

เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมกำลังนอนคว่ำบนเตียงเพื่อทำความเข้าใจกับบทเรียน ผมท่อง excitation ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ในใจไปเรื่อย ๆ ด้วยจิตใจมุ่งมั่นกับบทเรียน จิตคิดอยากจะไปเที่ยว ผมก็ดึงจิตไว้ไม่ให้จิตไปสนใจเรื่องอื่น

ผมยื้อกับความอยากไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ของจิตได้สักครู่ ก็เกิดความรู้สึกว่าจิตวูบดิ่งไป ทั้ง ๆ ที่ผมลืมตาจ้องและมีสติเต็มร้อย ผมปล่อยจิตให้ดิ่งวูบต่อไปนิดหนึ่งก็รีบถอนจิตออกมา

๑. อาการที่จิตดิ่งวูบเข้าไป ในขณะที่ผมมีสติเต็มร้อย คืออะไรครับ

ตอบ เรื่องปกติสำหรับการทำสมาธิ ไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ตั้งใจทำ สามารถเกิดสภาวะนี้ขึ้นได้ และ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะอิริยาบทนั่งอย่างเดียว ในอิริยาบทอื่นๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ

ปัจจุบันนี้ผมก็มาเริ่มปฏิบัติใหม่ โดยมีความคิดว่า หากจิตดิ่งวูบอีกก็จะปล่อยให้จิตดิ่งวูบ แต่ ………. ฝึกแล้วฝึกเล่าขณะนี้ยังทำไม่ได้ครับ จิตยังไม่นิ่งเลย

ตอบ เพราะความอยากที่มีอยู่ ต้องการให้เกิด ย่อมไม่เกิด ถ้ารู้ไปตามธรรมชาติของจิตหรือตัวสภาวะ ถ้าจะเกิดสภาวะดิ่งอีก จะเกิดเอง

๒. ผมเคยฝึก เตโชกสิณ ด้วยการจ้องมองแสงเทียน แล้วหลับตานึกเห็นเปลวเทียน ทำอยู่หลาย ๆ รอบ กระทั่งเห็นเปลวเทียนเปลี่ยนสีไปเป็นสี แดง สีแดงแบบอะไรดีละ อธิบายไม่ถูก สีแดงสดใสมากและเป็นรูปคล้ายใบตะลาปัดที่พระสงฆ์ยกมาบังขณะให้พรนะครับ

ทุกวันนี้พอมองเปลวเทียนแล้วหลับตาก็จะเห็นเป็นดวงสีแดงทันที พอมองนาน ๆ ก็หายไปต้องลืมตามองเปลวเทียนใหม่อีก ฝึกมาถูกทางหรือไม่ก็ไม่ทราบ ยังไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี

ตอบ โอภาสมีหลายสี ไม่ได้มีเฉพาะแสงสว่างสีขาวหรือสีแดง สีอื่นๆยังมีอีกมากมาย บางครั้งเห็นเป็นแบบฉัพพรรณรังสี บางครั้งเห็นแบบสายฟ้าฟาด คือมีหลายลักษณะค่ะ

ปัจจุบันผมก็อาศัยดวงสีแดงนี่แหละครับสงบจิต มองดูเบา ๆ เฉย ๆ (เคยเพ่งแล้วหลายครั้ง จิตยังไม่ดิ่งวูบ แบบยังฟุ้งซ่านนะครับ) พอดีทราบว่าอาจารย์ฝึกเตโชกสิณสำเร็จกระทั่งได้ฌาณ ก็ขออนุญาตปรึกษานะครับ

ตอบ เรื่องสภาวะดิ่ง เป็นเรื่องของกำลังสมาธิที่กำลังเกิดอยู่ จะไปเจตนาทำให้เกิดขึ้นมาไม่ได้หรอกค่ะ คุณเพียงแค่รู้ แค่ดู ไม่ต้องไปพยายามเพ่ง หรือพยายามจะทำให้เกิด ยิ่งพยายาม ยิ่งเครียดค่ะ เพราะไม่ได้ดั่งใจ ให้รู้ไปแบบปกติ มีอะไรเกิดก็รู้

๓.ผมเคยคิดว่า จะดูเปลวเทียนกระทั่งหลับตาเห็นดวงสีแดงสดใสแล้ว เพ่ง ๆ ๆ ๆ ดวงสีแดงไม่ให้จิตวอกแวกให้จิตดิ่งวูบที่ดวงสีแดงนี้ จะเป็นการฝึกที่ถูกต้องหรือไม่ ครับ ขออนุญาตสอบถามนะครับทั้ง ๆ ที่ ขณะนี้ยังทำให้จิตมีสมาธิดิ่งวูบไม่ได้

ตอบ เรื่องโภาสสีแดง ตอบไปแล้วนะคะ สำหรับเรื่องการฝึกกสิณ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เหมือนๆกับการภาวนาแบบอื่น แบบอื่นบางครั้งต้องหลับตาภาวนา เพื่อตัดสภาวะรอบนอกออก ไม่ให้จิตไปว่อกแว่กกับภาพที่ผ่านไปผ่านมา

ไม่ทราบว่าคุณเพ่งแต่แสง หรือใส่คำบริกรรมกำกับลงไปด้วยหรือเปล่าคะ ถ้าไม่ได้ใส่ ลองทำแบบนี้ดูนะคะ จิตเป็นสมาธิเร็วดี อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนด้วยนะคะ

วิธีการทำ

ยังคงใช้แสงเทียนนำทางเหมือนเดิม เพียงแต่ สถานที่ไม่มีลมจริงๆ ลมต้องนิ่ง แสงต้องไม่ซัดส่ายไปมา แสงต้องตั้งตรง มองไปที่แสง ใช้คำบริกรรมว่า เตโชๆๆๆๆพร้อมกับหายใจเข้าออก
สลับกับการหลับตา คือ จำภาพนิมิตหรือแสง แล้วหลับตาลง พร้อมๆกับยังบริกรรมภาวนาว่า เตโชๆๆไปด้วย ถ้าภาพยังไม่ติดตา ให้ลืมตามองไปที่แสงใหม่ ทำสลับไปมาแบบนี้ สภาวะคือ ดู จำ หลับตา ดูจำ หลับตา สลับไปมาแบบนี้

ขณะลืมตา หายใจเข้าภาวนาว่า เต หายใจออก ภาวนาว่า โช พร้อมๆกับมองไปที่แสง จดจำภาพของแสง

ขณะหลับตา หายใจเข้าภาวนาว่า เต หายใจ ภาวนาว่า โช ภาพจะเกิดขึ้นมาเอง หากจิตจดจำภาพของแสงได้ หากยังจำไม่ได้ เวลามอง จะมีแต่ความมืด ถ้าจำภาพได้ จะมีแสงปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ทำไปแค่นี้ก่อนค่ะ

สุขาแบบเพียงพอ

โลกย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของโลก ทุกรูปทุกนามเช่นเดียวกัน ล้วนไม่มีความแตกต่าง ล้วนเป็นตามไปเหตุปัจจัยของแต่ละคน

ดูข่าวมาหลายวัน เรื่อง สุขาลอยน้ำ เห็นการประดิษฐ์ส้วมชั่วคราวในรูปแบบต่างๆ จึงนำประสบการณ์เรื่องสุขาชั่วคราวที่ไม่ยุ่งยากมาแบ่งปัน

การทำสุขาแบบง่ายๆ

เพียงใช้ถุง ๖ คูณ ๑๔ ถุงหูหิ้วธรรมดาๆนี่แหละ สามารถใช้ในการปลดทุกข์ได้ดีในยามฉุกเฉิน ถ้าไม่สามารถหาห้องน้ำที่ไหนเข้าได้ ไม่ต้องใช้ถุงดำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายออกไปอีก

เพียงถ่ายลงในถุงหูหิ้ว ทั้งใส่กระดาษหรือสิ่งที่ใช้ทำความสะอาดหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ แล้วปิดปากถุงให้เรียบร้อย หากกลัวกลิ่นออก ให้มัดด้วยหนังยาง แล้วนำใส่ลงในถุงขยะได้ หรือจะแยกออกไว้ต่างหากอีกหนึ่งถุง

ถ้าไม่สะดวกในเรื่องกระดาษชำระที่อาจจะหายาก ให้ใช้เศษผ้าชุบน้ำเตรียมไว้ก่อน หลังจากถ่ายเสร็จ นำผ้าที่ชุบน้ำเตรียมไว้ ใช้ทำความสะอาด แล้วนำผ้าไปซักหรือจะทิ้งไปก็ได้ เศษผ้าหาง่าย นำเสื้อผ้าที่ไม่คิดว่าใช้ มาตัดเป็นชิ้นๆก็ใช้ได้แล้ว

แต่สำหรับคนชรา ควรให้ความสะดวกเพราะขาแข้งไม่ค่อยดี เก้าอี้สุขาแบบนั้น เหมาะสำหรับคนชรา เพราะแข้งขาไม่ดี

น้ำ

เรื่องน้ำอาบ ตักน้ำใส่ถังไว้ น้ำที่ท่วมอยู่นี่แหละ แกว่งสารส้มลงไป เท่านี้ก็สามารถนำน้ำนั้นมาใช้ได้

ต่างจังหวัดที่ไกลๆยิ่งกว่านี้ บางที่กันดาร น้ำสะอาดหายากมากๆ ป่าไผ่จะมีแอ่งน้ำ มีทั้งโคลน ทั้งใบไผ่เต็มไปหมด ต้องค่อยๆแหวกใบไม้อาบ

ห้ามทำน้ำกระเพื่อม ไม่งั้นน้ำจะขุ่น เพราะขี้โคลนอยู่ด้านล่าง บ้างก็ตักใส่ถัง แล้วนำสารส้มลงไปแก่วงก่อนที่จะนำไปใช้

การอาบน้ำ ถ้าไม่จำเป็น แค่ล้างหน้า ล้างก้น ล้างในสิ่งที่ควรล้างก็พอแล้ว ที่เหลือใช้น้ำลูบๆตัวเอา ไม่ก็ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว

วิธีการเหล่านี้ ได้มาจากการเดินป่าในสมัยก่อน ต่างจังหวัดบางที่ น้ำสะอาดหาอาบได้ยากมากๆ ส่วนมากอาบในป่าไผ่ ส้วมก็หายาก ใช้ถุงนี่แหละ จะไปถ่ายสุ่มสี่สุ่มห้าตามโคนต้นไม้ไม่ได้ ถ่ายเสร็จ มัดปากถุง แล้วนำไปทิ้งในที่คิดว่าเหมาะสม

ประสบการณ์จากการเดินป่า

เวลาเดินป่า หาห้องน้ำไม่ได้ ถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางไม่ได้ ต้องระวังทุกอย่าง ถุงหูหิ้วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆในการเดินป่า

ที่มาของคำเรียก “วิปัสสนา” ในปัจจุบัน

 

สมัยนั้นตามปีพศที่เขียนไว้ ตอนนั้นจะก็อปมาเพราะเข้าใจว่าวิปัสสนาตามที่ฟังตามๆมา

ตัววิปัสสนา ที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง หมายถึง รูปนาม

ตัวสภาวะมีแค่นี้

26 มิย. 64

ที่มาของแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า “วิปัสสนา” ในปัจจุบัน (ตอนที่ ๒)

ตอนที่ ๒

ที่มาของแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า “วิปัสสนา” ในปัจจุบัน

เรื่องนี้ ท่านอาจารย์ธรรมปาละ พระเถระชาวลังกาได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา ฎีกาวิสุทธิมัคค์ว่า

นนุ จ ตชฺชาปญฺญตฺติวเสน สภาวธมฺโม คณฺหายตีติ?

สจฺจํ คณฺหายตีติ. ปุพฺพภาเค ภาวนาย ปน วฑฺฒมานาย ปณฺณตฺตึ สมติกฺกมิตฺวา สภาวเยว จิตฺตํ ติฏฺฐตีติ

ถามว่า ท่านถือเอาปรมัตถธรรม ด้วยบัญญัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มิใช่หรือ?

ตอบว่า ใช่ แต่ถือเอาเฉพาะตอนต้นๆเท่านั้น ครั้นเจริญวิปัสสนาภาวนาไปนานๆเข้า จิตก็จะพ้นบัญญญัติไปตั้งอยู่ในปรมัตถสภาวะล้วนๆ

ตัวสภาวะในที่นี้ของการอธิบายนั้น

หากจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ให้กำหนดผัสสะที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง แค่นี้ที่เรียกว่า เป็นการเจริญวิปัสสนา

คือกำหนดผัสสะที่มีเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช้คำบริกรรม มีบัญญัติเป็นอารมณ์

รายละเอียดของตัวสภาวะมีหลายอย่าง คำเรียกก็แตกต่างกัน แต่ตัวสภาวะจะพูดเรื่องรูปนาม

26 มิย. 64

ความแตกต่างระหว่างวิปัสสนาในปัจจุบัน กับ วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ (ตอนที่ ๑)

สิ่งที่เขียนไว้ในตอนนั้น ปีนั้น 2011 สมัยนั้นมีความรู้แค่นั้น

สิ่งที่นำมาโพส แค่ก็อปมา จึงได้ลบทิ้ง

คำว่า วิปัสสนา ตัวสภาวะที่มีเกิดขึ้นได้แก่ รูปนาม

ความหมายมีแค่นี้

26 มิย. 64

๒๕-๒๗ ตค.๕๔

๒๕ ตค.๕๔

รอบแรก เดิน ๒ ชม. นั่ง ๑ ชม. ๕๐ นาที

ความแตกต่างของสภาวะเกี่ยวกับการปฏิบัติ ระหว่างอยู่ที่บ้านกับที่ทำงาน

ที่ทำงาน ถึงแม้จะมีงานให้ทำเป็นระยะๆ แต่เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อม ความสงบภายในห้องทำงาน อากาศเย็นสบาย เพราะเป็นห้องแอร์ มีที่นั่งทั้งที่พื้น และโซฟา คือเป็นสถานที่ที่เป็นสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติสำหรับสภาวะของตัวเราเอง

ที่บ้าน มีงานบ้านที่ต้องให้ทำ หรือแม้กระทั่งมีแต่ไม่ทำก็ได้ สภาวะในการปฏิบัติเต็มรูปแบบนั้นมีน้อยมากๆ เนื่องจากสภาวะแวดล้อม อากาศ กิเลสเยอะมากๆเวลาที่อยู่บ้าน เรียกว่าเจอผัสสะต่างๆเยอะ และต่อให้ติดแอร์ ก็ใช่ว่าจะเป็นตัวช่วย

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี

ทั้งดีและเสีย ล้วนเกิดจากความรู้สึกนึกคิดทั้งสิ้น ที่ว่าดี เพราะถูกใจ ที่ว่าไม่ดีหรือเสียเพราะไม่ถูกใจ ฉะนั้น จึงเจอสภาวะทั้งสองนี้ควบคู่ตลอดเวลา พอเห็นว่าไม่ดี จะต้องเห็นข้อดีผุดขึ้นมา พอเห็นข้อดี จะต้องเห็นข้อเสียผุดขึ้นมา

ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ ๑๐๐% เนื่องจากเหตุที่ทำมาจากความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด ถูกผิดตามความคิดของตัวเอง สิ่งที่มากระทบจึงมีทั้งดีและเสีย ตามความคิดแต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง เหตุของการเกิดอยู่ที่ตรงนี้นี่เอง

ได้แก่ การกระทำ ที่ทำตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ขณะผัสสะมากระทบ หรือขณะที่สิ่งต่างๆกำลังเกิดขึ้น ขณะนั้นๆ ต้นเหตุของการทำให้เกิดการกระทำ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในใจ เป็นตัวผลักดันให้เกิดการะทำออกไป เหตุเพราะความไม่รู้

หลุมพรางบัญญัติ

บัญญัติต่างๆล้วนพาให้งงงวยและเป็นเหตุให้เข้าใจสภาวะแบบผิด ๆ ต้องรู้แจ้งชัดในสภาวะนั้นจริงๆ จึงจะรู้ชัดว่าสภาวะนั้นๆมีลักษณะอาการเกิดขึ้นอย่างไร เช่น เรื่อง วิโมกข์ ที่เคยเขียนบันทึกไว้ตามคำอธิบายของอรรถกถาจารย์

เราไม่ได้คิดกล่าวเพ่งโทษท่านทั้งหลายเหล่านั้น เพราะถ้าไม่มีบัญญัติที่แบมากับบาลี ให้เราแปลบาลีเองก็คงแปลไม่ออก อีกอย่าง เมื่อถึงเวลาจะรู้ ตัวปัญญาจะเกิดขึ้นเองตามสภาวะ ทุกๆสิ่งที่เขียนลงไป ใช่ว่าจะเชื่อทั้งหมด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เชื่อ

คือ รับฟัง ตั้งใจทำต่อเนื่อง รู้แล้วว่าเส้นทางนี้มีจุดจบที่ตรงไหน จึงไม่มีความลังเลหลงเหลืออยู่ เพียงแต่สภาวะละเอียดยิ่งนัก กว่าจะรู้ชัดในสภาวะของตัวบัญญัติที่ซ่อนเอาไว้ ต้องหมั่นสังเกตุ หมั่นพิจรณาสภาวะ เพราะสภาวะจะละเอียดมากขึ้น

เมื่อรู้บัญญัติโดยสภาวะแล้ว จากเนื้อความในความหมายของบัญญัติต่างๆที่เขียนไว้วก้างขวางมากมาย เนื้อความบัญญัติต่างๆที่รู้โดยสภาวะจะมีข้อความที่กระชับสั้นลง จดจำได้ง่าย อธิบายให้เป็นรูปธรรมได้ง่ายมากขึ้น

วันนี้ได้แจ้งชัดในสภาวะของวิโมกข์ต่างๆ ว่าวิโมกข์ที่มีความหมายว่า ความหลุดพ้นนั้น แท้จริงแล้วหลุดพ้นจากอะไร ใช่หมายถึงสภาวะนิพพานหรือไม่ ละเอียดจริงๆกว่าจะรู้ได้ ทำเดิมๆซ้ำๆนี่แหละ ตัวปัญญาที่เกิดแต่ละครั้ง ละเอียดกระชับมากขึ้น

วิโมกข์

ต้องไล่มาตั้งแต่สภาวะ อารัมณูปนิชฌาน คือ เพ่งบัญญัติเป็นอารมณ์ ได้แก่การทำสมถะ อารัมมณูปนิชฌาน คือ การยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ได้แก่การปรับอินทรีย์ ให้สติกับสมาธิเกิดความสมดุลย์

เป็นเหตุให้จิตรู้ชัดในรูปนาม, พระไตรลักษณ์ ตามความเป็นจริงของตัวสภาวะ ไม่ใช่เกิดจากความคิดของตัวเองที่มีอยู่เข้าไปตัดสินว่านั่นคือรูป นี่คือ นาม นั่นคือไตรลักษณ์ แต่จะรู้ชัดอยู่ในสภาวะรูปนาม,พระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง

เหตุของการรู้ชัดอยู่ในรูปนามตามความเป็นจริง คือ รูปนามที่เป็นสภาวะปรมัตถ์ เป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณดำเนินตามเหตุปัจจัยของตัวสภาวะเอง ไม่ใช่เกิดจากกำหนดโดยตัวบัญญัติแต่อย่างใด เมื่อรู้ชัดเช่นนี้ได้ ไตรลักษณ์ย่อมเกิด

เมื่อไตรลักษณ์เกิด จิตย่อมปล่อยวางไปโดยตัวของจิตเอง ไม่ใช่เกิดจากการพยายามคิดพิจรณาเพื่อให้เกิดการปล่อยวางแต่อย่างใด เมื่อจิตปล่อยวางลงไปเอง ซึ่งเกิดจากการเห็นทางไตรลักษณ์ ได้แก่

เห็นทางอนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น อนัตตา การบังคับบัญชาใดๆไม่ได้ ทางใดทางหนึ่งซึ่งเกิดทั้ง ๓ ทาง เพียงแต่ทางสภาวะไหนชัดที่สุด ซึ่งมีบัญญัตินำมาเรียกว่า อนิมิตวิโมกข์ อัปปนณิหิตวิโมกข์ สุญญตาวิโมกข์

เมื่อจิตปล่อยวางลงไปได้ สภาวะสังขารุเปกขาญาณจะเกิดขึ้นเอง ตามเหตุปัจจัยของสภาวะ สภาวะจะทบทวนเดิมๆซ้ำๆอยู่แบบนั้น จนกว่าจิตปล่อยวางไปในที่สุด

การรู้แจ้งในสภาวะต่างๆที่เหลือ เมื่อสภาวะพร้อม สภาวะที่เหลือจะเกิดขึ้นเอง เป็นสภาวะสมุจเฉทประหาน สภาวะนี้ยากที่จะอธิบายได้ เพราะเป็นเรื่องของสมาธิที่มีกำลังมากๆควบคู่กับกำลังของสติที่มีกำลังมากๆ จะเกิด เกิดเองเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม

นี่แหละ เหตุที่มาของคำว่า อกาลิโก ไม่จำกัดกาล อยู่เหนือสรรพสิ่ง ไม่พึงรู้ด้วยตาเนื้อที่มองเห็น ไม่พึงไปถึงด้วยเท้าหรือการโดยสารทางใด แต่รู้ได้ด้วยจิต เดินทางด้วยจิตที่มีกำลังของสมาธิเป็นพลังในการเดินทาง ช่วงเสี้ยวเวลาที่กะไม่ได้

สรุปสภาวะวิโมกข์

คำว่า ความหลุดพ้นในสภาวะของวิโมกข์ แท้จริงคือ การเห็นไตรลักษณ์โดยสภาวะ แล้วจิตเกิดการปล่อยวางโดยตัวของจิตเอง ปราศจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่มีอยู่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อจิตปล่อยวางลง สภาวะสังขารุเปกขาญาณจึงเกิดขึ้น ส่วนจะเห็นแจ้งในสภาวะที่เหลือได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำไว้และที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่ หากสภาวะยังไม่พร้อม สภาวะจะย้อนกลับไปที่สภาวะอุทยัพพยญาณ คือรู้ชัดอยู่ในรูปนาม

แต่ไม่มีตกต่ำลงไปกว่านี้ เพราะเป็นสภาวะปรมัตถ์ ย่อมไม่ตกต่ำไปหาบัญญัติ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ ปริคคหญาณ สัมมาสนญาณ ล้วนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือต้องไปเริ่มต้นใหม่แต่อย่างใด

รอบ ๒ เดิน ๑ ๑/๒ ชม. นั่ง ๓๐ นาที

ทุกอย่างล้วนมีเหตุ

การรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าดีหรือไม่ รู้แล้วบอกต่อ เป็นการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งล้วนมีเหตุ เชื่อก็เพราะเหตุ ไม่เชื่อก็เพราะเหตุ ทั้งทางโลกและทางธรรมไม่แตกต่าง ใครจะบังคับให้เชื่อหรือไม่เชื่อนั้นไม่ได้ เมื่อถึงเวลาผลของเหตุที่ได้รับ ต้องได้รับผล

แต่ผลที่ได้รับในเหตุของอดีต ย่อมเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้ เช่นเณรชะตาขาด ที่ถูกส่งกลับบ้าน ระหว่างทาง ได้ช่วยชีวิตสัตว์ให้รอดตาย แทนที่เณรจะต้องตาย กลับไม่ตาย มีอายุ มีชีวิตต่อไปเพราะช่วยชีวิตสัตว์

เรื่องลี้ลับทางจิตวิญญาณ ยากที่จะคาดเดาได้ เหตุที่ทำ ใช่ว่าจะต้องรับผลตามนั้นเสมอไป ขึ้นอยู่กับเจตนาที่ทำไว้ กับสิ่งที่กำลังทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน ล้วนมีเหตุปัจจัยร่วมกันทั้งสิ้น มันแปลกดีนะ

พระอรหันต์

เราเชื่อว่าพระอรหันต์นั้นมีจริง ตำราสอบอารมณ์ วิปัสสนาทีปนีฎีกาที่ได้มา ไม่แตกต่างกับพระไตรปิฎก ที่ถูกถ่ายทอดเรื่องราวของสภาวะไว้ในรูปแบบของบัญญัติ เพราะสภาวะแต่ละสภาวะจะรู้ชัดได้ ต้องรู้ด้วยตัวเอง จากรู้หยาบๆ รู้แบบกระจาย

จะรู้แบบละเอียด แต่กระชับมากขึ้น ตัวหนังสือที่ถูกถ่ายทอดออกมาแต่ละยุค แต่ละสมัย ต้นฉบับถูกขายาใจความออกไปตามรู้ของสภาวะผู้ที่บันทึกทิ้งไว้ มิใช่ตัวต้นฉบับที่แท้จริง เหตุมี ผลย่อมมี ล้วนเกิดจากเหตุของแต่ละคนสร้างขึ้น

ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้อยู่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ตราบใดที่ยังมีการสร้างเหตุของการเกิด ตราบนั้น ภพชาติย่อมไม่จบไม่สิ้น คำถ่ายทอดจากพระโอษฐ์โดยตรง ที่เป็นต้นฉบับ จึงเลือนหายไป ไม่ครบถ้วนตามสภาวะเพราะเหตุนี้

เมื่อก่อนเคยมีปรามาสทั้งในพระพุทธเจ้า ตลอดจนอรรถกถาจารย์ที่เขียนบันทึกถ่ายทอดทิ้งไว้ นั่นเพราะยังไม่รู้ชัดในรายละเอียดที่มีอยู่ตามสภาวะตามความเป็นจริง ซึ่งงไม่ได้ไปทุกข์กับการปรามาสที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

เป็นเรื่องปกติของความไม่รู้ชัดที่ยังมีและกิเลสยังมีอยู่ เพียงยอมรับตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายใน ส่วนภายนอกไม่ได้ไปสร้างเหตุโดยตรงกับผู้ใด เหตุนี้ ปัญญาจึงเกิดขึ้นเนืองๆ เพราะการยอมรับตามความเป็นจริง รู้ แต่ไม่ได้ยึดในสิ่งที่รู้

ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่รู้ รู้ต่างๆจึงละเอียดและกระชับมากขึ้นเรื่อยๆ เขียนตามความเป็นจริง ย่อมเห็นผัสสะที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เพ่นพ่านไปสร้างเหตุนอกตัว ใครจะเป็นอะไรอย่างไร ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำมาทั้งสิ้น ผลจึงเป็นเช่นนั้น

๒๖ ตค.

หลงสภาวะเพราะบัญญัติ หลงบัญญัติเพราะมีเหตุ

คำสอน ตลอดจนหนังสือสอบอารมณ์ต่างๆ แม้กระทั่งสภาวะที่ได้พบเจอแล้วนำไปเทียบเคียง การเทียบเคียงล้วนไม่มีผลต่อสภาวะ แต่เทียบเคียงแล้วยึดในบัญญัตินั้นๆ แล้วนำไปสร้างเหตุใหม่ของความไม่รู้ที่มีอยู่ ผลย่อมมีเกิดขึ้นต่อไป

เหตุมี ผลย่อมมี ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ๒ สิ่งนี้เกิดขึ้นคู่กันตลอดไป จนกว่าจะหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงจะไม่มีทั้งดีและเสีย เพราะไม่มีคำว่าถูกหรือผิดตามความรู้สึกนึกคิดที่เข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งที่เกิดขึ้น จะมีเรื่องของเหตุที่ทำและผลที่ได้รับ

ตำรา

ตำราแนวทางการปฏิบัติ มีเกิดขึ้นมากมายตามความรู้ที่ได้ศึกษามาและจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้พบประสบเจอมา กิเลสของแต่ละคนแตกต่างกันไป ตำราเกิดขึ้นมากมายเพราะเหตุนี้ สุดท้ายของงานเขียน จบลงที่นิพพานที่เป็นบัญญัติ

แต่ไม่สามารถอธิบายชี้ชัดลงไปได้ว่า แท้จริงแล้วสภาวะ ตลอดจนลักษณะอาการเกิดที่แท้จริงของนิพพานนั้นมีลักษณะตลอดจนอาการเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะถึงนิพพาน ดูจากตรงไหนจึงรู้ว่าใช่แล้ว เห็นมีแต่บัญญัติ

ตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดในสภาวะของนิพพาน นั่นคือวิจิกิจฉาที่มีอยู่ ถึงจะไม่สงสัยในคุณของพระรัตนตรัยว่ามีจริงไหม เพราะเกิดความเชื่อมั่น ทำให้บิดเบือนข้อสงสัยในตัวสภาวะนี้ลงไปได้ ตราบใดอธิบายนิพพานเป็นรูปธรรมไม่ได้

นั่นคือ กิเลสวิจิกิจฉายังมีอยู่ เพียงแต่จะยอมรับตามความเป็นจริงตรงนี้หรือไม่เท่านั้นเอง ถ้ายังไม่ยอมรับ ย่อมยึดติดในสิ่งที่รู้ มีแต่กิเลสของการสร้างเหตุของการเกิด ไม่ใช่สร้างเหตุของการดับที่ต้นเหตุของการเกิดแต่อย่างใด

วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงทิ้งแนวทางไว้ให้ คือสมถะและวิปัสสนา เป็นทางที่ตรงและสั้นที่สุดที่จะตอบไขข้อข้องใจในทุกเรื่องราวได้ เกิดก็เพราะเหตุ ดับก็เพราะเหตุ เหตุนี้วิปัสสนารูปแบบใหม่จึงมีเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ทำมาของแต่ละคน

คำสอนของพระองค์ทอนสั้นลงไปเรื่อยๆ เหมือนเขียนตัวหนังสือบนศิลา ที่ค่อยๆจางหายไปเรื่อยๆ ไม่เกิดจากน้ำมือคน(ตามสภาวะของคนเขียนรุ่นหลัง) ก็เกิดจากน้ำมือของธรรมชาติ ทุกสิ่งล้วนมีเหตุ การปฏิบัติจึงดูยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ

เหตุเพราะนับวันบัญญัติหลากหลายมีมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าตัวสภาวะที่แท้จริงของสภาวะต่างๆที่พระองค์ทรงถ่ายทอดทิ้งไว้ ทุกอย่างล้วนมีเหตุทั้งสิ้น เมื่อถึงเวลา ย่อมมีผู้รู้ชัดในสภาวะ นำสิ่งที่รู้เหมือนกับพระองค์มาเริ่มต้นถ่ายทอดกันใหม่

รอบแรกเดิน ๑/๒ ชม. นั่ง ๒ ชม.

หากไม่ได้อยู่ในหมู่ของผู้คน ยากยิ่งนักที่จะเห็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างชัดเจน เมื่อก่อนที่เราหลงภสาวะก็เพราะเหตุนี้ เพราะมีผัสสะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันน้อยมากๆ โดยเฉพาะเวลาที่อยู่บ้านคนเดียว ซึ่งผิดจากการมีครอบครัว

วันนี้เห็นตัวอุปทานที่มีอยู่ชัดมากๆ เดี๋ยวนี้กระทบปั๊บ รู้ทันที เรียกว่ารู้ทันและเห็นกิเลสที่เกิดขึ้นได้ชัดกว่าเมื่อก่อน ขอบคุณทุกๆผัสสะที่เกิดขึ้น หากไม่มีผัสสะที่เป็นตัวเป็นตนให้เห็น ยากนะที่จะรู้ได้ทัน เพราะจิตติดในความสงบมากขึ้น

สมถะเป็นสิ่งที่ดี ที่ไม่ดีคือหากกำลังสติไม่มากพอ ไม่พอดีกับสมาธิที่มีอยู่ ยากที่รู้ทันต่อกิเลสที่เกิดขึ้น ซึ่งถูกสมาธิกดข่มเอาไว้ส่วนหนึ่ง สติเป็นตัวช่วยระงับอีกส่วน ตัวสัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัว)เกิดไม่ทัน หากสติกับสมาธิไม่สมดุลย์

มีการแบ่งแยก

เวลาที่Darlingหรือแม้กระทั่งคนอื่นๆ โทรฯมาหา ถึงแม้จะนั่งสมาธิอยู่ จะพูดคุยด้วยถึงแม้จะสั้นๆหรือคุยกันยาวก็ตาม คุยเสร็จ กลับไปนั่งสมาธิต่อได้ ไม่มีอาการจุกจิกเกิดขึ้นในใจแต่อย่างใด

แต่เมื่อเป็นคนอื่นในที่ทำงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักเที่ยง เดี๋ยวนี้เจอบททดสอบประจำ เจอมาหลายวันแล้ว เมื่อก่อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตไม่ทัน คือเห็นแค่ตอนเกิดเหมือนลมพัดผ่านไป แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้น จับรายละเอียดได้หมด

เห็นอารมณ์หรือกิเลสที่กำลังเริ่มจะเกิดขึ้น ตั้งแต่กำลังเกิด ขณะที่เกิด จนกระทั่งหายไป เป็นเหตุให้แยกแยะสภาวะออกมาได้อีก เหตุมี ผลย่อมมี ทั้งๆที่เป็นช่วงเวลาพักเที่ยงของเราเองแท้ๆ นี่แหละกิเลส ยอมรับว่ายังยึดติด เป็นเหตุให้หงุดหงิด

เพราะไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เจอมาหลายครั้งแล้ว ส่วนมากคนที่รู้จักกับคนที่สนิทกับเรานี่แหละเป็นเหตุ น้องคนที่สนิทกัน มักจะทิ้งข้าวมื้อเที่ยงของเขาไว้ในห้องทำงานของเรา ถ้าเขามาเอาเองไม่เท่าไหร่ เขาจะไม่กวนเราเพราะรู้ว่านั่งสมาธิอยู่

แต่เมื่อเป็นคนอื่นๆที่เขาวานให้เข้ามาเอา เราจะรู้สึกจุกจิกและไม่พอใจทุกครั้ง เพราะชอบมาถามว่าของอยู่ตรงไหน เวลาที่หาไม่เจอ เราน่ะอยากจะล็อกประตูห้อง แต่กลัวมีฉุกเฉิน เป็นเหตุให้ล็อกไม่ได้ แต่คนที่ไม่รู้กาละเทศะก็มีเยอะ

ชอบมาติดต่อเรื่องงานกับเราเวลาพักเที่ยง ไม่ก็เข้ามาจุกจิกแบบนี้ เขียนลงปุ๊บ เจอปั๊บอีกหนึ่งดอกทันที เจอคนเข้ามาขอยา เหตุเพราะเขาแวะมาเข้าห้องน้ำ และเห็นว่ายังไม่บ่าย เขาเลยยังไม่ไปห้องทำงาน เพราะจะต้องทำงานก่อนเวลา

นี่เห็นไหม คน เขาเรียกว่าคนเพราะเหตุนี้แหละ มีแต่วนๆสร้างเหตุด้วยความไม่รู้ เบียดเบียนผู้อื่นด้วยความไม่รู้ เหตุมี ผลย่อมมี ตราบใดที่ยังมีผลกระทบ นั่นคือเหตุที่ยังมีอยู่ กิเลสพรึ่บพรั่บเลยเรา แต่ไม่ได้สร้างเหตุออกไป ไม่มีต่อว่าใคร

ปัญญาเกิด

ทั้งหมด ผิดที่ตัวเราเอง ต้องแก้ที่ตัวเอง ไปแก้ที่ภายนอกไม่ได้ ภายนอกล้วนเป็นผลของเหตุที่เคยทำไว้ ซึ่งไประลึกไม่ได้ ซึ่งผลของเหตุที่ทำไว้นั้น มาส่งผลให้ได้รับในรูปของผัสสะหรือเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่คิดไว้ว่าจะทำคือ

ก่อนจะพัก จะนำข้าวที่น้องชอบนำมาทิ้งไว้ในห้อง นำไปแขวนไว้หน้าห้อง เพราะถ้าพูดกับเขาตรงๆว่า ทำไมเขาไม่นำไปไว้ที่ห้องเขา ตู้เย็นที่ห้องครัวก็มี แต่รู้ดีกว่า เหตุมี ผลย่อมมี พูดไปถูกใจเรา แต่ไม่ถูกใจเขา มันจะมีแต่เหตุไม่รู้จบ

จึงคิดไว้ว่า ก่อนพัก จะนำข้าวของเขาไปแขวนไว้ที่ประตูหน้าห้อง แล้วล็อคห้อง ปิดไฟทั้งหมด บ่ายโมงค่อยเปิดทำการ คนอื่นๆเขาก็ทำแบบนี้เหมือนกันหมด ไม่ใช่เวลางาน ใครไม่ต้องไปติดต่ออะไรเลย ไม่ทำให้ ติดต่อไม่ได้ แม้กระทั่งโทรฯ

สถานการณ์น้ำท่วมในตอนนี้ก็มีเหตุ จึงส่งผลให้เป็นไปเช่นนี้ การมีส่วนร่วมอยู่บนความทุกข์ของชีวิตผู้อื่น เมื่อถึงเวลาผลของเหตุให้ได้รับ จึงได้รับพร้อมๆกันไปถ้วนหน้า หากผู้ใดไม่ได้มีความรู้สึกยินดีอยู่บนกองทุกข์ของผู้อื่น

ผู้นั้นย่อมได้รับผลกระทบจากเหตุนี้น้อยที่สุด แม้กระทั่งไม่ได้รับผลเลยก็มี เราทำให้ผู้อื่นแบกทุกข์ในเหตุของน้ำท่วมไว้แทนมานานเท่าไหร่แล้ว โดยเฉพาะเจตนาที่จะทำลงไปเพื่อปกป้องของตัวเอง แต่เบียดเบียนผู้อื่น นี่แหละเหตุของความไม่รู้

ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนมีความเสื่อสลาย สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับลงไปเป็นธรรมดา เมื่ออุปทานยังมี ย่อมยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่คิดว่าเป็นของๆตนที่ควรดูแลรักษาเอาไว้ แต่ลืมไปว่า วันนี้ไม่พัง วันหน้าก็ต้องพัง ด้วยน้ำมือคนหรือธรรมชาติ

ชีวิตที่เกิดขึ้น มีแต่เหตุที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ที่มีอยู่ เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัย ผลย่อมเกิดขึ้นให้ได้รับ มันเป็นเช่นนี้เองในชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป การเกิดเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้

๒๗ ตค.

ปัญหาทำให้เกิดปัญญา

อะไรๆที่เคยให้ค่าว่าเป็นปัญหา ล้วนเป็นตัวให้เกิดปัญญา เป็นเหตุให้สามารถครอบคลุมระบบภายในของตัวเองได้มากขึ้น ไม่ไปสร้างเหตุภายนอกกับผู้อื่น เพียงแต่ภายในห้ามความคิดไม่ให้เกิดไม่ได้ ยังดีที่ห้ามการกระทำได้ เหตุภายนอกน้อยลง

คำพูด

การพูด สิ่งใดที่คิดว่าถูก นั่นคือ ถูกใจเรา แต่อาจะไม่ถูกใจเขา เก็บเอาไว้ในใจ แล้วกลับมาแก้ไขที่ตัวเราเอง มองหาข้อบกพร่องของตัวเองที่มีอยู่ กลับมาบริหารจัดการกับตัวเอง แก้ที่ตัวเอง คนอื่นเป็นเพียงปลายเหตุ

ต้นเหตุคือกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ยังมีการให้ค่า คาดเดาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น(ผัสสะต่างๆ) เมื่อยังมีเหตุ ผลย่อมมีให้ได้รับ ฉะนั้น ไม่ควรไปแก้ไขอะไร ยอมรับไป รู้สึกยังไงยอมรับ เขียนระบายออกมา ดีกว่านำความรู้สึกไปสร้างเหตุกับคนอื่นๆ

ตราบใดที่ยังมีการสร้างเหตุออกไป นั่นคือต้นเหตุของการเกิด เมื่อไม่อยากเกิด จงอย่าสร้างต้นเหตุของการเกิดออกไป มันมีแค่นี้เอง แค่ยอมรับตามความเป็นจริง ใจจะโล่งเบาสบาย ไม่แบกไม่หาม ไม่มาทำให้ทุกข์

เมื่อยังมีกิเลส ย่อมมีชอบบ้าง ชังบ้าง ตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ คือ กิเลสนี่แหละ ไม่ใช่จากใครหรืออะไรที่ไหนมาทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้เป็นไปต่างๆนาๆ พึ่งพาตัวเองได้ ย่อมกล่าวโทษนอกตัวน้อยลง มีแต่เพ่งโทษในความโง่ของตัวเองที่มีอยู่

ปัญหาที่ทำงาน

เช้าวันนี้ ระหว่างที่ล้างชามกับน้องที่ฝากข้าวไว้ที่ห้อง เราบอกกับน้องเขาว่า ต่อไปจะล็อคห้องตอนพัก ปิดไฟให้หมด เพื่อคนที่มาหาจะได้คิดว่าไปกินข้าว ตัดปัญหาการพูดจาที่อาจจะมีเหตุต่อกัน ส่วนข้าวของเขา จะแขวนไว้ที่ประตู

เขาบอกว่าดีแล้ว บางทีเขาไม่ว่าง แล้วจะให้เด็กมาหยิบไปเอง คือเราเล่าเรื่องคนที่ชอบมาหาตอนพัก เพราะเห็นว่าเราอยู่ในห้อง เจอบ่อยมากๆ บางคนมานั่งโทรฯ พูดคุยเรื่อยเปื่อยรอเวลาทำงาน ไม่มีความเกรงใจ

คือ เรามองว่า เวลาพัก ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร มันเป็นสิทธิ์ของเรา ซึ่งไม่แตกต่างกับคนเหล่านั้น หากยังไม่ถึงเวลาทำงาน อย่าหวังว่าใครจะติดต่อกับเขาได้ เขาจะปล่อยให้นั่งรอจนกว่าถึงเวลาทำการ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ

นับว่าจบลงไปด้วยดีสำหรับตัวเราเอง โดยใช้คำพูดแบบไม่ใช่ถูกใจเราทั้งหมด แต่พูดเป็นกลางๆ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเราและตัวเขา ยอมรับว่าระวังในเรื่องการสร้างเหตุมากกว่าเมื่อก่อน จะมีการคิดพิจรณามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

รอบแรก เดิน ๑ ชม. นั่ง ๑ ชม. ๕๐ นาที

รอบ ๒ เดิน ๑ ชม. นั่ง ๑/๒ ชม.

กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํฯลฯ อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา.

ท่านผู้บรรลุทัสสนะนั้น แม้ท่านยังทำความชั่วด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือด้วยใจ อยู่บ้าง ท่านก็ไม่อาจปิดบังความชั่วของท่านที่ทำไว้นั้น การที่บุคคลผู้เห็นพระนิพพานแล้ว จะปิดบังความชั่วของตนไว้นั้น ตถาคตกล่าวว่า ไม่อาจปิดบังได้

รอบ ๓ เดิน ๑๓.๐๐

หลายๆครั้งที่เจอสภาวะเบื่อ หรือแม้กระทั่งไม่เบื่อก็ตาม สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ เป็นพลังให้ไปข้างหน้าต่อไป หนังหรือภาพยนต์ บางคนอาจจะมองว่าเป็นกิเลส กิเลสใช่ว่าจะมีแต่ส่วนเสีย ส่วนดีก็มีถ้ารู้จักนำมาใช้ให้ถูกทาง

สำหรับตัวเองไม่ได้มีความต้องการสิ่งใดๆอีกแล้ว อยู่เพราะยังมีเหตุเท่านั้นเอง

๒๒ – ๒๔ ตค.๕๔

๒๒ ตค.

รอบแรก เดิน ๑ ๑/๒ ชม. นั่ง ๒ ชม.

๒๓ ตค

ทำงานบ้าน ซักผ้า มีพักในสมาธิ ๒ ชม.

๒๔ ตค.

ทำงาบ้าน รีดผ้า สลับกับพักจิตในสมาธิเป็นระยะๆ

ที่มาของคำว่า “วิปัสสนา”

คำว่า “วิปัสสนา” มาจากการตีความในพระไตรปิฎก ต้องใช้คำว่าตีความ เช่น

ตุมฺเหหิ กิจิจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา   ปฏิปนฺนา ปโมกิขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา

ท่านทั้งหลาย จงรีบทำความเพียร   เพื่อเผากิเลสให้สิ้นไปจากขันธสันดาน เพราะพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้บอกทางให้เท่านั้น

เมื่อชนเหล่าใดปฏิบัติตามทางที่ตถาคตชี้บอกไว้แล้ว เพ่งด้วยฌานทั้ง ๒ คือ อารัมมนูปนิชเาน ลักขนูปนิชฌาน ได้แก่ เจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

ชนเหล่านั้น ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร กล่าวคือ วัฏฏะเป็นในภูมิ ๓

ธมฺมารา ธมฺมรโต ธมฺมํ อนุวิจินฺตย  ธมฺมํ อนุสฺสรํภิกฺขุ  สทฺธมฺมา น ปริหายติ

“ภิกษุ มีธรรมคือ สมถะและวิปัสสนาเป็นที่มา ยินดียิ่งในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนา คิดถึงอยู่บ่อยๆ นึกถึงอยู่บ่อยๆ กระทำไว้ในใจบ่อยๆ อนุสรณ์ถึงอยู่บ่อยๆ

ซึ่งสมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมไม่เสื่อมจากโพธิปักขยธรรม ๓๗ ประการ และไม่เสื่อมจากโลกุตรธรรม ๙ คือ มรร๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา วิชฺชาภาคิยา กตเม เทฺว สมโถ จ วิปสฺสนา จ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการ เหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน ธรรม ๒ ประการ คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

สมโถ ภิกิขเว ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ จิตฺตํ ภาวิยติ จิติตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ โย ราโค โส ปหียติ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลเจริญสมถกรรมฐาน แล้วจะได้ประโยชน์อะไร? ได้การอบรมจิต? จิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว จะได้ประโยชน์อะไรเล่า? ได้ประโยชน์คือ ละราคะได้

เหตุมี ผลย่อมมี

สมถะและวิปัสสนาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ เป็นสภาวะต่อเนื่องกัน  เหตุเพราะจับแยกสภาวะใดสภาวะหนึ่งออก  นำเรื่องสมถะมากล่าวว่า เป็นเรื่องของพราหมณ์ ของโยคี แล้วจับวิปัสสนาแยกออกมา

เนื่องจากไม่รู้ชัดในสภาวะวิปัสสนาที่แท้จริงที่พระพุทองค์ทรงกล่าวถึง จึงมีตำราเกี่ยวกับวิปัสสนา ตลอดจนรูปแบบการทำแบบวิปัสสนาปรากฏขึ้นมามากมายหลายรูปแบบ ซึ่งไม่แตกต่างจากเรื่องการทำสมถะหรือการทำสมาธิให้เกิด

รู้แบบไหน เขียนแบบนั้น

ศึกษาด้านอภิธรรม เขียนวิปัสสนามาแบบอภิธรรม นำข้อความจากอภิธรรมบางส่วนมาอ้างอิงตามที่รู้ ตามที่เห็น

ศึกษาด้านพระไตรปิฎก เขียนวิปัสสนาโดยตัดข้อความบางส่วนมาอ้างอิงในเรื่องวิปัสสนา ตามที่รู้ตามที่เห็น

บ้างเป็นเรื่องของสภาวะ  แต่นำมาเรียกเองว่า วิปัสสนา  ตามคำบัญญัติที่มีอยู่

คำว่า “วิปัสสนา” ที่นอกเหนือจากวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้  ล้วนเป็นรูปแบบของวิปัสสนาที่สร้างขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น

เพียงแต่นำข้อความในพระไตรปิฎกที่มีคำว่า”วิปัสสนา” ตลอดจนตามความรู้ ตามความเข้าใจที่ได้ศึกษามาไม่ว่าจะด้านอภิธรรมหรือด้านสภาวะ   แล้วนำมาอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนวิปัสสนา

“วิปัสสนา” ที่นำมาสอนในปัจจุบันนี้ มีเหตุเกิดขึ้นมาเพราะเหตุนี้ เกิดจากการตีความในพระไตรปิฎก และการตีความในอภิธรรม  แต่ไม่ใช่โดยสภาวะที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในเรื่องสมถะและวิปัสสนา ที่มีอยู่ในสติปัฏฐาน ๔

วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ได้แก่ การยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ได้แก่การปรับอินทรีย์ ปรับสติกับสมาธิให้สมดุลย์ สภาวะความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้สามารถรู้ชัดอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม

เป็นเหตุให้สามารถรู้ชัดตามความเป็นจริงขณะที่จิตเป็นสมาธิ  ได้แก่สภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นในจิต  และ สภาวะฌานต่างๆจะดำเนินไปตามสภาวะเอง สมาธิยิ่งมาก ยิ่งรู้ชัดอยู่ในรูปนามได้นาน ยิ่งเห็นตามความเป็นจริงได้มากขึ้น

 

 

ยังไม่ได้แก้ไขบทความใหม่ กลัวว่าบทความที่เขียนไว้จะหายไปหมด จึงนำมาลงไว้ชั่วคราว ที่ต้องแก้ไขคือ การกล่าวถึงบุคคลที่ ๓ ถึงแม้มิได้คิดเพ่งโทษ แต่ตัวหนังสืออาจเป็นเหตุใหเกิดเหตุของการเพ่งโทษของผู้อื่นได้

ความบริสุทธิ์ ๗ อย่าง

ความบริสุทธิ์ ๗ อย่าง ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๒๙๐ คือ

๑. สิลวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งศิล

๒. จิตตวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งจิต

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญา

๔. กังขาวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งญาณ ข้ามพ้นความสงสัยในรูปนาม ในเหตุปัจจัยของรูปนาม

๕. มัคคาญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญา พิจรณาเห็นทางถูกและผิด แล้วละทางผิด ยึดทางถูกต่อไป

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งญาณ

เป็นเครื่องพิจรณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม

เห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม

เห็นรูปนามน่ากลัว

เห็นโทษของรูปนาม

เบื่อหน่ายรูปนาม

อยากหลุดพ้นจากรูปนาม

ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริง

ใจเฉยๆ

เห็นอริยสัจ ๔

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งญาณ เป็นเครื่องตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทประหาน ได้แก่ มรรคญาณนั่นเอง

ความบริสุทธิ์เหล่านี้ เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งก็คือ การเจริญสมถะและวิปัสสนา แต่ถูกเรียกไปต่างๆนานา เพราะเรียกไปตามสมมุติบัญญัติของโลก แต่ตัวสภาวะแท้ๆมีเพียงรูปกับนามเท่านั้น

สมถะและวิปัสสนา เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มิใช่อรรถกถาจารย์ หรือ พระฎีกาจารย์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๗๗ บรรทัดที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นไปว่า

เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา วิชฺชาภาคิยา กตเม เทฺว สมโถ จ วิปสฺสนา จ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการ เหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน ธรรม ๒ ประการ คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

สมโถ ภิกิขเว ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ จิตฺตํ ภาวิยติ จิติตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ โย ราโค โส ปหียติ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลเจริญสมถกรรมฐาน แล้วจะได้ประโยชน์อะไร? ได้การอบรมจิต? จิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว จะได้ประโยชน์อะไรเล่า? ได้ประโยชน์คือ ละราคะได้

วิปสฺสนา ภิกฺขเว ภาวิตา กิมตฺถมุโภติ ปญฺญา ภาวิยติ ปญฺญา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ ยา อวิชฺชา สา ปหียติ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ได้การอบรมปัญญา ปัญญาที่บุคคลอบรมดีแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร? ได้ประโยชน์คือ ละอวิชชาได้

 

การเจริญสมถกรรมฐาน เพื่อต้องการให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อน แล้วจึงยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาต่อ เพื่อให้ได้มรรค ผล นิพพาน อันเป็นยอดปรารถนาที่แท้จริง เพียงสมถะอย่างเดียว ไม่สามารถถึงมรรคผล นิพพานได้

การเจริญวิปัสสนา การดูตามความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายในกายและนอกกาย เพื่อให้ได้ปัจจุบันธรรม เห็นรูปนาม เห็นไตรลักษณ์ ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

การจะเห็นตามความเป็นจริงหรือเพื่อให้ได้ปัจจุบันธรรม ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นในระดับหนึ่ง จิตที่ตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมา  จึงต้องเจริญสมถะก่อนเจริญวิปัสสนาเพราะเหตุนี้

ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา

ได้แก่ การปรับอินทรีย์ โดยใช้สมาธิที่มีอยู่ เป็นกำลังในการเจริญวิปัสสนา คือ รู้ชัดในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็น สภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นในกายและจิตขณะที่จิตเป็นสมาธิ

ได้แก่การปรับสมาธิที่มีอยู่ให้เกิดความสมดุลย์ โดยการเพิ่มสติหรือใส่สติลงไป

สมาธิที่เกิดขึ้นจากหลายหลายวิธีการ แม้กระทั่งการใช้ความว่างเป็นอารมณ์  ตราบใดที่สมาธิที่เกิดขึ้น แล้วไม่สามารถรู้ชัดในภายในกาย เวทนา จิต ธรรมได้

สมาธิที่เกิดขึ้นเหล่านั้นล้วนเป็นบัญญัติ ถึงแม้จะใช้รูปนามเป็นอารมณ์ก็ตาม ก็ยังเป็นบัญญัติของคำว่ารูปนาม ยังไม่ใช่การรู้ชัดรูปนามตามความเป็นจริง ที่มีอยู่ในกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

ความคิดในสมาธิ

ความคิดขณะที่จิตเป็นสมาธิ จะไม่มีความฟุ้งซ่าน จะรู้ชัดในความคิดบ้าง ไม่รู้ชัดบ้าง เป็นบางขณะ มีสภาวะต่างๆที่เกิดร่วมด้วยกับความคิด เช่น รู้ชัดที่กายแผ่วๆ หรือรู้ชัดมาก ในสภาวะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ และสติ ที่เกิดขึ้น ไม่เหลื่อมล้ำ มากกว่ากันจนเกินไป ได้แก่

รู้ท้องพองยุบ  รู้การเต้นของหัวใจ รู้การเต้นของชีพจรตามจุดชีพจรต่างๆ รู้การเต้น การสั่นๆของกล้ามเนื้อ บางครั้งรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟอ่อนๆวิ่งวนไปตามอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย รู้ว่าจิตกำลังเกิดกิเลสอะไรอยู่  มีราคะเกิดก็รู้ว่ามี มีโทสะเกิดก็รู้ว่ามี  มีโลภะเกิดก็รู้ว่ามี  มีความว่างเกิดขึ้นก็รู้ว่ามี  ฯลฯ

ทุกๆสภาวะจะเกิดๆดับๆสลับไปมา ตัวนั้นเกิด ตัวนี้ดับ บางครั้งเห็นว่าเกิดพร้อมๆกันแต่คนละขณะ บางครั้งเห็นแต่ละสภาวะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แยกออกเป็นกองๆไม่ปะปนกัน

เหตุที่จิตเป็นสมาธิ แต่มีความคิดเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสภาวะของสัมมาสมาธิ เป็นผลของการปรับอินทรีย์ได้แก่ สติกับสมาธิให้เกิดความสดุลย์  จึงเป็นเหตุให้เกิดสภาวะรู้สึกตัวทั่วพร้อม จึงมีสภาวะต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น

มีความคิดก็ไม่รู้สึกรำคาญ  รู้แต่ว่ากำลังคิดไปเรื่องโน้น เรื่องนี้  พอจบเรื่องหนึ่ง คิดเรื่องอื่นต่อ แต่ไม่รู้สึกรำคาญแต่อย่างใด

ในสัมมาสมาธิ จะมีความคิดเกิดขึ้นได้  แล้วไม่รู้สึกรำคาญแต่อย่างใด  ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากมีกำลังของสมาธิหล่อเลี้ยงจิตอยู่  พร้อมทั้งสามารถรู้ชัดในสภาวะอื่นๆที่เกิดขึ้นในกายและจิต ที่มีสภาวะ มีรายละเอียดต่างๆ รู้ชัดมากขึ้น

ตัวปัญญาจะเกิดจากสภาวะตรงนี้ จิตจะมีการคิดพิจรณาขึ้นมาเองเนืองๆ บางครั้งจะว่างจากความคิดชั่วคราว แต่การรู้ชัดในส่วนอื่นๆของกายยังคงมีอยู่ ตลอดจนรู้ชัดในอาการของจิตยังคงมีอยู่เป็นระยะๆ

 

บางครั้ง มีโอภาส เกิดร่วมด้วย โอภาส เกิดจากกำลังของสมาธิ ขณะนั้นๆ เกิดมาก น้อย สว่างไม่เท่ากัน บางครั้งสว่างเจิดจ้า เหมือนจ้องดวงอาทิตย์ ด้วยตาเปล่า ถึงแม้จะมีโอภาส เกิดร่วมด้วย แต่ไม่ส่งผล กับการที่จิตรู้ชัดใสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภายในกาย แต่อย่างใด

ส่วนอารมณ์หรือความรู้สึกในองค์ประกอบของสมาธิ เช่น ปีติ สุข เฉยๆ จะรู้ตามสภาวะของสมาธิ ตามกำลังของสมาธิ ที่เกิดขึ้น แต่ละขณะ

หากกำลังของสมาธิมีมาก ขาดสติ สัมปชัญญะ ไม่สามารถ เกิดขึ้นได้ สภาวะที่เกิดขึ้น จะขาดความรู้สึกตัว เป็นเหตุให้ ไม่สามารถ รู้ชัดอยู่ ภายในกายและจิตได้ เช่น ดิ่ง นิ่ง เงียบ ว่าง โล่ง ฯลฯ

แม้กระทั่ง มีโอภาสเกิดขึ้น โอภาสนั้นๆ มีหลากหลายสภาวะ สว่างสุดๆ หาที่เปรียบไม่ได้ก็มี ขณะที่เกิดโอภาส ไม่สามารถรู้ชัดภายในกายและจิตได้

โอภาส ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเกิดจาก กำลังของสมาธิ ที่เกิดขึ้น ขณะนั้นๆ ไม่ใช่ การรู้เห็นวิเศษอะไรเลย

หากกำลังของสมาธิ มีมากกว่าสติ จะขาดความรู้สึกตัว เป็นระยะๆ

หากกำลังสมาธิ น้อยกว่า สติ สติจะขุดแคะ งัดแงะสัญญาต่างๆขึ้นมา ในรูปของตัวรู้บ้าง กิเลสบ้าง เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตบ้างฯลฯ

หากกำลังของสมาธิกับสติ ไม่มาก น้อยกว่ากัน อาจมีเหลื่อมล้ำกว่ากันบ้าง เล็กน้อย จะสามารถรู้ชัดอยู่ภายในกายและจิต ได้นาน สภาวะที่เกิดขึ้นภายใน จะรู้เห็น เด่นชัดอยู่

 

 

ฟุ้งซ่าน

ชื่อก็บ่งบอกสภาวะอยู่แล้วว่าเป็นยังไง สภาวะที่เกิดขึ้น มีความคิดแล้วฟุ้ง ทำให้รู้สึกรำคาญ อยากจะหยุดคิด ยิ่งคิดยิ่งรู้สึกรำคาญมากๆ มีความคิดกระจัดกระจาย

ลักษณะความคิดฟุ้งซ่านแบบนี้จะไม่มีเกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นสมาธิ ถ้ามีสมาธิจะไม่รู้สึกรำคาญ

Previous Older Entries

ตุลาคม 2011
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31  

คลังเก็บ