อุปกิเลสและภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง

14 กรกฎาคม เวลา 10:37 น.

อุปกิเลสและภาวะที่มีเกิดขึ้นตามจริง

วรรคที่ ๖
[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ย่อมไม่ควรแก่การงาน เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ย่อมไม่ควรแก่การงาน ฯ

[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ย่อมควรแก่การงาน เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ย่อมควรแก่การงาน ฯ

[๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ไม่ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำทุกข์มาให้ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว
ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้ ฯ

[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯ

[๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่ฝึกแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ฝึกแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่คุ้มครองแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่
รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย จิตที่ไม่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ
[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่สังวรแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่ฝึกแล้ว ไม่คุ้มครองแล้ว ไม่รักษาแล้ว ไม่สังวรแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่ฝึกแล้ว
ไม่คุ้มครองแล้ว ไม่รักษาแล้ว ไม่สังวรแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว สังวรแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว รักษาแล้ว
สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ ฯ

[๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวยวะ
ที่บุคคลตั้งไว้ผิด มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว
จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด
ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือยอันบุคคลตั้งไว้ผิด ฉันใด
ภิกษุนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา
จักยังวิชชาให้เกิด
จักทำนิพพานให้แจ้ง
ด้วยจิตที่ตั้งไว้ผิด
ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตตั้งไว้ผิด ฯ

[๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวยวะ
ที่บุคคลตั้งไว้ถูก มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว
จักทำลายมือหรือเท้า หรือจักให้ห้อเลือด
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเดือยอันบุคคลตั้งไว้ถูกฉันใด
ภิกษุนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา
จักยังวิชชาให้เกิด
จักทำนิพพานให้แจ้ง
ด้วยจิตที่ตั้งไว้ถูก
ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตตั้งไว้ถูก ฯ

[๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจอย่างนี้แล้ว
ย่อมรู้ชัดบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตอันโทษประทุษร้ายแล้วว่า
ถ้าบุคคลนี้พึงทำกาละในสมัยนี้ พึงตั้งอยู่ในนรกเหมือนถูกนำมาขังไว้ฉะนั้น
ข้อนั้นเพราะอะไร
เพราะจิตของเขา อันโทษประทุษร้ายแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละเพราะเหตุที่จิตประทุษร้าย
สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ

[๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัด
บุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตผ่องใสว่า ถ้าบุคคลนี้พึงทำกาละในสมัยนี้
พึงตั้งอยู่ในสวรรค์เหมือนที่เขานำมาเชิดไว้ฉะนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตของเขาผ่องใส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แหละเพราะเหตุที่จิตผ่องใส
สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

[๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ขุ่นมัวเป็นตม
บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่ง ไม่พึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง
ก้อนกรวดและกระเบื้อง ถ้วยบ้าง ฝูงปลาบ้าง
ซึ่งเที่ยวไปบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำขุ่น ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักรู้ประโยชน์ตนบ้าง
จักรู้ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง
จักรู้ประโยชน์ทั้งสองบ้าง
จักกระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ
คือ อุตริมนุสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ
อย่างสามารถ ได้ด้วยจิตที่ขุ่นมัว ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตขุ่นมัว ฯ
[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว
บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่ง พึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง
ก้อนกรวดและกระเบื้อง ถ้วยบ้าง ฝูงปลาบ้าง
ซึ่งเที่ยวไปบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำไม่ขุ่น ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักรู้ประโยชน์ตนบ้าง
จักรู้ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง
จักรู้ประโยชน์ทั้งสองบ้าง
จักกระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ
คือ อุตริมนุสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ
อย่างสามารถ ได้ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตไม่ขุ่นมัว ฯ

[๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นจันทน์ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารุกขชาติทุกชนิด
เพราะเป็นของอ่อนและควรแก่การงาน ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นธรรมชาติอ่อนและควรแก่การงาน เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้วกระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นธรรมชาติอ่อนและควรแก่การงาน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เหมือนจิต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น
แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่าย ฯ

[๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง
แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ

[๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง
และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา ฯ

[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง
แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา
ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น
เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิต ฯ

= อธิบาย =

คำว่า อุปกิเลส
ได้แก่ นิวรณ์ ๕


๘. อุปักกิเลสสูตร (๑๒๘)
[๔๕๑] พ. ดีละๆ อนุรุทธ ก็พวกเธอผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมมีคุณวิเศษคือ ญาณทัสสนะอันประเสริฐ สามารถกว่าธรรมของมนุษย์อันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่สบายอันได้บรรลุแล้วหรือ ฯ
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป
แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของพวกข้าพระองค์ ย่อมหายไปได้
พวกข้าพระองค์ยังไม่แทงตลอดนิมิตนั้น ฯ

[๔๕๒] พ. ดูกรอนุรุทธ พวกเธอต้องแทงตลอดนิมิตนั้นแล แม้เราก็เคยมาแล้ว
เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้เองด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน
แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉาแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุสมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉาขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป
แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า อมนสิการแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็อมนสิการเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา และอมนสิการขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความหวาดเสียวแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความหวาดเสียวเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล
เกิดมีคนปองร้ายเขาขึ้นที่สองข้างทาง
เขาจึงเกิดความหวาดเสียว เพราะถูกคนปองร้ายนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความหวาดเสียวแลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความหวาดเสียวเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ
ถีนมิทธะและความหวาดเสียวขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาแหล่งขุมทรัพย์แห่งหนึ่ง
พบแหล่งขุมทรัพย์เข้า ๕ แห่งในคราวเดียวกัน เขาจึงเกิดความตื่นเต้น
เพราะพบแหล่งขุมทรัพย์ ๕ แห่งนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความตื่นเต้นเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ
ความหวาดเสียว และความตื่นเต้นขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๗] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความชั่วหยาบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความชั่วหยาบเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น และความชั่วหยาบขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๘] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษเอามือทั้ง ๒ จับนกคุ่มไว้แน่น
นกคุ่มนั้นต้องถึงความตายในมือนั้นเอง ฉันใด
ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็แลความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ และความเพียรที่ปรารภเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๕๙] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เปรียบเหมือนบุรุษจับนกคุ่มหลวมๆ
นกคุ่มนั้นต้องบินไปจากมือเขาได้ ฉันใด
ดูกรอนุรุทธ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป
และความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๑] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท ฯลฯ
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เรานั้นจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป
ตัณหาที่คอยกระซิบ และความสำคัญสภาวะว่าต่างกันขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๒] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูป แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้ไม่เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว
ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป
ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก ฯ

[๔๖๓] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นแลรู้ว่า วิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละวิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่าอมนสิการเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละอมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่าถีนมิทธะเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความหวาดเสียว ตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความชั่วหยาบเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละความสำคัญสภาวะว่าต่างกันตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้
รู้ว่า ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมอง
จึงละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองเสียได้ ฯ

[๔๖๔] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป
เห็นรูปอย่างเดียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
เรานั้นจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป
เห็นรูปอย่างเดียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เราไม่ใส่ใจนิมิตคือรูป ใส่ใจแต่นิมิตคือแสงสว่าง
สมัยนั้น เราย่อมรู้สึกแสงสว่างอย่างเดียวแล แต่ไม่เห็นรูป
ส่วนสมัยใดเราไม่ใส่ใจนิมิตคือแสงสว่าง ใส่ใจแต่นิมิตคือรูป
สมัยนั้น เราย่อมเห็นรูปอย่างเดียวแล แต่ไม่รู้สึกแสงสว่าง
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง ฯ

[๔๖๕] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่
ย่อมรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย
และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เรารู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย
และรู้สึกแสงสว่างอย่างหาประมาณมิได้ เห็นรูปอย่างหาประมาณมิได้
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง
ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า สมัยใด เรามีสมาธินิดหน่อย
สมัยนั้น เราก็มีจักษุนิดหน่อย ด้วยจักษุนิดหน่อย
เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างเพียงนิดหน่อย เห็นรูปได้นิดหน่อย
ส่วนสมัยใด เรามีสมาธิหาประมาณมิได้
สมัยนั้น เราก็มีจักษุหาประมาณมิได้ ด้วยจักษุหาประมาณมิได้
เรานั้นจึงรู้สึกแสงสว่างหาประมาณมิได้ และเห็นรูปหาประมาณมิได้
ตลอดกลางคืนบ้าง ตลอดกลางวันบ้าง ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันบ้าง ฯ

ดูกรอนุรุทธ เพราะเรารู้ว่าวิจิกิจฉาเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละวิจิกิจฉาตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าอมนสิการเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละอมนสิการตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าถีนมิทธะเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละถีนมิทธะตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความหวาดเสียวเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความหวาดเสียวตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความตื่นเต้นเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความตื่นเต้นตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความชั่วหยาบเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความชั่วหยาบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความเพียรที่ปรารภเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความเพียรที่ปรารภเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าตัณหาที่คอยกระซิบเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละตัณหาที่คอยกระซิบตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าความสำคัญสภาวะต่างกันเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละความสำคัญสภาวะว่าต่างกันตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
รู้ว่าลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปเป็นเครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองแล้ว
เป็นอันละลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปตัวเกาะจิตให้เศร้าหมองได้
เรานั้นจึงได้มีความรู้ดังนี้ว่า เครื่องเกาะจิตให้เศร้าหมองนั้นๆ ของเรา เราละได้แล้วแล ดังนั้น
เราจึงเจริญสมาธิโดยส่วนสามได้ในบัดนี้ ฯ

[๔๖๖] ดูกรอนุรุทธ เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ
ดูกรอนุรุทธ เพราะสมาธิชนิดที่มีวิตกมีวิจารบ้าง
ชนิดที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ชนิดที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง
ชนิดที่มีปีติบ้าง
ชนิดที่ไม่มีปีติบ้าง
ชนิดที่สหรคตด้วยสุขบ้าง
ชนิดที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง
เป็นอันเราเจริญแล้ว ฉะนั้นแล
ความรู้ความเห็นจึงได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ
ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ท่านพระอนุรุทธจึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

= อธิบาย =

“เรานั้นได้เจริญสมาธิมีวิตกมีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง
ได้เจริญสมาธิมีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิไม่มีปีติบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยสุขบ้าง
ได้เจริญสมาธิสหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ฯ”

ได้แก่ รูปฌาน(1 2 3 4) ที่เป็นสัมมาสมาธิ

สมัยก่อนที่เราเป็นผู้มีสมาธิมาก
อาจารย์ที่สอนกรรมฐาน ให้นั่งอย่างเดียว ๓ ชม.ทุกวัน
โดยใช้คำบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ พูดเร็วๆ
เวลาจิตเป็นสมาธิ จะมีแสงสว่าง ไม่รู้กาย มีการรู้เห็นแปลกประหลาด
เวลาจะทำอะไรอยู่ แสงสว่าง มีเกิดขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน
เวลาใครมาคุยด้วย จะฟังไม่รู้เรื่อง เกิดจากจิตเป็นสมาธิ
สมัยนั้นไม่รู้จักคำเรียกสมาธิหรอก
ความที่ว่าเคยอ่านได้หนังสือ เกี่ยวกับแสงสว่างไม่มีประมาณนี้ เป็นอุปกิเลส
ทำให้เราพยายามจะกำจัดแสงสว่างให้หายไป แต่ก็ไม่หาย
จนมาเจอพระครูภาวนา นุกูล วัดนาค บางปะหัน อยุธยา
สอนการกำหนดตามความเป็นจริง
อย่าไปชอบ อย่าไปชัง เดี๋ยวจะแจ้งเอง
ให้เราเดินให้มากกว่านั่ง แล้วแสงสว่างจะหายไปเอง
เราทำตามที่พระอจ.บอก ปรากฏว่า จะมีทั้งแสว่างและรู้กายด้วย
นั่นแหละทางเริ่มเข้าสู่สัมมาสมาธิ

กับดักหลุมพราง

11 พย. 61

เส้นทางนี้ มีกับดักหลุมพรางวางอยู่ทุกระยะ พอคิดว่า ผ่านไปได้ สภาวะหนึ่งจบไป สภาวะใหม่เกิดต่อ ก่อนจะรู้ทัน ก็ตกหลุมพรางกิเลส(หลุมสบาย) ไปซะก่อน กว่าจะตะกายขึ้นจากหลุมได้ เจอสภาวะใหม่อีก ก็ตกหลุมพรางอีก มันจะเป็นแบบนี้แหละ จนกว่าจะแทงตลอดในอริยสัจ 4 ทีนี้กับดักหลุมพรางต่างๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก ชีวิตที่เหลืออยู่ ย่อมขับเคลื่อนไปโดยตัวสภาวะเอง (กรรมและการให้ผลของกรรม)

เมื่อแจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว ศรัทธาย่อมหยั่งลงดีแล้ว
ย่อมไม่ง่อนแง่นหรือคลอนแคลนหรือแปรเปลี่ยนเป็นอื่น
.

ที่ทำให้เกิดการทอดถอนใจ เพราะไม่สามารถบอกใครได้ว่า จงอย่าหยุดความพอใจเพียงแค่นั้น(โสดาบัน)

คำว่า 7 ชาติ หมายถึงสิ่งใด มันไม่ใช่แค่ชาตินี้เท่านั้น แต่หมายถึง ตายแล้วเกิดอีก 7 ครั้ง ถึงจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ทีนี้นึกถึงนางวิสาขา และท่านอนาถบิณฑกะ ที่ยังพอใจในภพชาติของการเกิด พอใจแค่ความเป็นโสดาบัน แม้ท่านทั้งสองจะเกิดในยุคสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ ก็ทำให้ปลงตกว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยของผู้นั้น

.

ขึ้นชื่อว่า การเกิดเป็นอะไร ฐานะไหน ล้วนเป็นทุกข์

สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม/การกระทำของตนเอง
ส่วนผลของกรรม สุดแต่ว่า กรรมไหนมีกำลังมากกว่ากัน
บางคนทำชั่วได้ดี บางคนทำดีได้ชั่ว ด้วยเหตุปัจจัยนี้แหละ
ไม่ได้เกิดจากสิ่งใดดลบันดาลให้มีเกิดขึ้นหรือให้เป็นไปแต่อย่างใด

แม้กระทั่งโรค ภัย ไข้ เจ็บ ไม่ได้เกิดแค่เพียงการบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของกรรมและผลของกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย ด้วยเหตุปัจจัยนี้ ทำไมป่วยเป็นโรคเดียวกัน รักษาเหมือนกันทุกอย่าง ทำไมบางคนรักษาแล้วหาย แต่บางคนรักษาไม่หาย หรือไม่ก็หายเหมือนกัน แต่หายไปจากโลกใบนี้(ตาย)

อุปกิเลส

26 ธันวาคม 60

สภาวะที่มีเกิดขึ้น ขณะจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ สำคัญมาก
หัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง การที่จะเห็นตามความเป็นจริง(ไตรลักษณ์) กับอุปกิเลสนั้น เนียนและละเอียดมาก แทบจะแยกไม่ออก เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่

คือ พลิกนิดเดียวจริงๆ
หากรู้จักโยนิโสมนสิการ ไตรลักษณ์ย่อมปรากฏ

หากน้อมใจเชื่อ กิเลสลากไปกิน ติดกับดักหลุมพรางกิเลส จมแช่อยู่แค่นั้น เมื่อปักใจเชื่อ นำไปสอนคนอื่นๆ สร้างกรรมใหม่ให้มีเกิดขึ้นอีก กรรมซ้ำกรรมซ้อน

.

รู้ว่าทางหรือไม่ใช่ทาง ต้องรู้จักโยนิโสมนสิการ

เมื่อใดเจอสภาวะที่สุดแสนจะอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
กายแตก กายระเบิด อสุภะละเอียด เหมือนโลกถล่มถลายฯลฯ
สภาวะอันใดที่ดูสุดแสนอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

แม้กระทั่งความตาย หรือรอยต่อระหว่างความเป็นกับความตาย
คิดว่ามีเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วจบ

หากน้อมใจเชื่อ คิดว่าเข้าสู่ความมี ความเป็น
โสดา สกิทาคา อนาคามี อรหันต์ หรือบรรลุธรรมก็ตาม
ล้วนไม่ใช่ทาง อุปกิเลสจึงมีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนี้

จะบอกว่า อย่าไปเอาเล๊ย บรรดาความมีความเป็นทั้งหลาย
เพราะขึ้นชื่อว่าการเกิด ล้วนเป็นทุกข์ จะบอกแบบนี้ ก็คงบอกไม่ได้
เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยในแต่ละคน

.

ปฏิบัติถูกทาง ย่อมลงรอยเดียวกัน “เบื่อหน่าย คลายกำหนัด”

.

จาก

คนเคยหลงทาง แล้วกลับตัวกลับใจได้ “โยนิโสมนสิการ”

อุปกิเลส

กับดักในใจ

ผู้ปฏิบัติ ที่ติดกับดักกิเลสในใจ
ตัณหา ความทะยานอยาก ความอยากมี อยากเป็นอะไรๆในสมมุติ
เพราะคิดว่า เมื่อเป็นแล้ว อาจจะพ้นจากทุกข์

เวลาอธิบายความ โดยส่วนมาก
มีแต่การน้อมเข้าสู่ความมี ความเป็นในสมมุติ

พระธรรมคำสอน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนไว้
มีแต่การสละออก ไม่ใช่น้อมใจเชื่อว่า ตนมี ตนเป็นอะไรๆในคำเรียกต่างๆ

เช่น

============================

สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

อกาลิโก เป็นธรรมที่พึงปฏิบัติได้และให้ผลทันทีในลำดับนั้นเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอเวลา หรือมีระหว่างคั่นแต่อย่างใด คุณธรรมข้อนี้หมายถึง มัคคจิต ๔

เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมที่ให้ผลได้อย่างแท้จริง จนสามารถที่จะทำให้พิสูจน์ได้ คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

โอปนยิโก เป็นธรรมที่ควรน้อมนำมาให้บังเกิดแก่ตน และทำให้แจ้งแก่ตน หมายความว่า ควรบำเพ็ญเพียรให้เกิดมัคคจิต ผลจิต ก็จะแจ้งซึ่งพระนิพพาน คุณธรรมข้อนี้หมายถึง โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ เหมือนกัน

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญู เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตนเอง ผู้อื่นหารู้ด้วยไม่ว่า มัคคเราเจริญ ผลเราบรรลุ นิโรธเราได้แจ้งแล้ว เป็นการรู้ด้วยการประจักษ์แจ้งอย่างที่เรียกว่า ประจักขสิทธิ

======================================

คำแปลพวกนี้ คนละเนื้อความ คนละความหมาย
กับพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้

อุปกิเลส

๑๒ สค.๕๗

ดูก่อนอนุรุท เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่

เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน
แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้

เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า

อะไรหนอแลเป็นเหตุเห็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ …

ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าวิจิกิจฉา แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน
เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้
เราจักทำให้วิจิกิจฉาไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

“…..ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า อมนสิการ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็อมนสิการ เป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน ถีนมิทธะ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความหวาดเสียว…… แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความตื่นเต้น แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความชั่วหยาบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความเพียรที่ปรารภเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความเพียรที่หย่อนเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ตัณหาที่คอยกระซิบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา…… สมาธิของเราจึงเคลื่อน…… เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาอมนสิการ ถีนมิทธะความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก…..

อุปักกิเลสสูตร อุ. ม. (๔๕๒-๔๖๑)

หมายเหตุ:

ตามคำสอน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทิ้งเป็นแนวทางไว้ให้
เกี่ยวกับ สภาวะที่เกิดขึ้น ขณะ จิตเป็นสมาธิอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ ไม่ว่าจะมีสภาวะใดๆเกิดขึ้นก็ตาม ให้มนสิการ คือ แค่รู้

อย่าใส่อะไรๆลงไป ในสภาวะที่เกิดขึ้น

ถ้าใส่อะไรๆลงไปในสภาวะที่เกิดขึ้น จึงเป็นการอมนสิการ

ผลของอมนสิการ จึงเกิดขึ้นตามมา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสไว้

อุปกิเลส

บางครั้ง จะเขียนเรื่อง ความหลง ความไม่รู้ที่มีอยู่ อยากหยิบยกเป็นตัวอย่าง ก็น้อยนัก ที่จะหาคนที่เขียนบอกเล่า สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ตามความเป็นจริง

นี่เจอในเนต จึงหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เส้นทางที่ทุกคนต้องเจอ เหตุจากความไม่รู้ที่มีอยู่

“การนั่งภาวนา เดินจงกรมเพื่อให้มี ในสิ่งที่ไม่มี แม้มีความไม่มีดำรงค์อยู่ในตนเพียงแค่ สี่ห้านาที ก็มีค่ามีสาระยิ่งกว่าการเดินจงกรม การนั่งหาความไม่มี ไม่เจอ มีแต่ความมี มีแต่ความยินดีในการได้เดินทน เดินนาน นั่งทน นั่งนาน ป่วยการเปล่า

การปฏิบัติธรรม การเดินจงกรม หรือการนั่งภาวนา สาระไม่ได้อยู่ที่ว่าเดินจงกรมทน เดินได้นาน หรือนั่งภาวนาทน นั่งได้นาน

การปฏิบัติภาวนาหรือปฏิบัติธรรมคือการมีสติเฝ้าระวังจิต ระวังความคิดปรุงแต่งของจิตตะสังขาร ไม่ให้ซัดส่าย ฟุ้งซ่านออกไปภายนอก ให้รู้อยู่แต่ในภายในเท่านั้น

ไม่ใช่นั่งโชว์ นั่งอวดความภูมิใจว่าเดินได้นาน นั่งภาวนาได้ทนทั้งคืน หากจิตใจไม่สงบจะนานเท่าไรก็หาสาระธรรมไม่ได้อยู่ดี สู้คนที่ภาวนาสำรวมในกาย วาจา ใจ แล้วจิตสงบลงไม่ฟุ้งซ่านรำคาญกับสิ่งใดๆ แม้เพียงสองสามนาทีไม่ได้

เพราะความสงบ ว่าง สว่างไม่มีอะไรนั้นเป็นธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล พระพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า หากจิตสงบเพียงแค่ขณิกะสมาธิ เพียงแค่ช้างกระพือหู หรือนกกระพือปีก เมื่อบุคคลนั้นจุติเคลื่อนจากโลกมนุษย์แล้วย่อมไปสู่สุคติ

การยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยการมีสติระลึกรูู้ มีสัมปะชัญญะความรู้ตัว อยู่ในกิริยาอาการในการเคลื่อนไหว การนิ่ง ที่ดำเนินอยู่ทุกๆขณะ โดยไม่ส่งจิตคิดปรุงแต่งออกไปภายนอกกายนั้น นั้นแหละคือการเดินจงกรม การนอนภาวนา การนิ่งยืนภาวนา

การภาวนาจึงไม่ใช่การไปเดิน ไปนั่งเฉพาะที่วัด ภาวนาได้ทุกขณะที่หายใจเข้าออกนั้นแหละ เป็นความเพียรอันเลิศ”

 

 

หมายเหตุ:

นี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่รู้ชัดสภาพธรรมต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นกับตัวเอง และมีเกิดขึ้นกับผู้อื่น เมื่อไม่รู้ จึงมีการเขียนออกมาทำนองนี้ มีแต่การสร้างเหตุของความเกิด มากกว่า การดับเหตุของการเกิด ที่เกิดจาก อุปทาน ความยึดมั่นถือมั่น ที่มีอยู่อย่างหนาแน่น

แนวทางการปฏิบัติ หรือเรียกว่าทำความเพียร หรือเรียกว่าอะไรก็ตาม ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และที่กำลังทำให้เกิดขึ้นใหม่ ในแต่ละขณะๆ ของแต่ละคน

จึงไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีวิธีไหนที่เรียกว่า ดีที่สุด

คำว่า ดีกว่า เลวกว่า ล้วนเกิดจากการเปรียบเทียบ ที่เกิดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่มีอยู่

ที่กล่าวว่า สักกายทิฏฐิ หมายถึง ยังมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น มักจะแสดงออกมาทางคำว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด ใช่ ไม่ใช่ กุศล อกุศล โดยยึดมั่นความเห็น ที่เกิดจาก ความถูกใจ-ไม่ถูกใจ ของตนเป็นหลัก

คำว่า วิจิกิจฉา หมายถึง เหตุของความไม่รู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่รู้ว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความปกติของสภาพธรรมต่างๆ ไม่ใช่เรื่องวิเศษอันใด กิเลสต่างๆที่มีอยู่ ก็ยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แค่ถูกกดข่มไว้ชั่วขณะ ด้วยกำลังของสมาธิที่เกิดขึ้น ขณะนั้นๆ เท่านั้นเอง

คำว่า สีลัพพตปรามาส หมายถึง การลูบคลำศิล เพราะคิดเอาเองว่า สภาวะที่ตนประสพพบอยู่ สามารถนำไปกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

เป็นตัวอย่างของผู้ติดกับดักหลุมพรางของกิเลส หรือกับดักของอุปกิเลส

อุปกิเลส

“หลับตาทำสมาธิ ตั้งต้นด้วยความปลอดโปร่งสบาย แค่กำหนดอิริยาบถนั่ง รู้สึกครบทั้งหัว ตัว แขน ขาคงที่ รู้ว่ามีลมออก มีลมเข้าอย่างเป็นสุขทั่ว ก็เห็นลักษณะเด่นของจิตกับกายโดยความเป็นต่างหากจากกัน ทำให้มีความรู้ชัดว่าอิริยาบถไม่ใช่ตัวตน จิตรวมเด่นเป็นแค่ภาวะผู้ดูความไม่ใช่ตัวตนของอิริยาบถ บังเกิดฉ่ำชื่นในรสวิเวกอันซ่านเย็นไปทุกขุมขน

ขณะหนึ่งที่จิตคลายจากสภาพผนึกแน่นเป็นปึกแผ่น โรยราลงจากลักษณะแผดสว่างมาเป็นสว่างนวล ใจหนึ่งก็สั่งว่าให้ลุกขึ้นเดินจงกรม อีกใจก็อยากนั่งแช่อีกสักพัก เพราะสติยังรู้อยู่กับภาวะของจิต เห็นว่านั่งนิ่งๆก็ทราบชัดดีว่าสว่างน้อยลง ขอบรัศมีแคบลงด้วยใจยอมรับอนิจจังโดยดีไม่มีเงื่อนไข รู้ยิ่ง วางเฉยยิ่ง ปราศจากความคิดปรุงแต่งเสริมเติมยิ่ง

เสียงจักจั่นเรไรตามสุมทุมพุ่มไม้ในละแวกใกล้ดังระงมกระทบโสต ฉันเห็นอาการไหวตัวของจิต คือมีอาการแปรจากลักษณะรู้ที่จิตเอง ไปรับรู้ส่ำเสียงน่าอภิรมย์ของสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ข่ายคลื่นเสียงดุจมนต์กล่อมโลกนั้นก่อให้เกิดความสงบที่จิต และมีความพึงใจในรสแห่งความสงบนั้น แต่ก็เห็นอีกด้วยว่าความสงบดังกล่าวเป็นของปรุงแต่งขึ้นตามหลังเสียงกระทบหู โดยเดิมไม่มีความสงบอยู่ก่อน และอีกเดี๋ยวจะต้องแปรไปเป็นธรรมดา แม้สุขจริงก็ไม่น่าอาลัย เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวตนให้ร้องขอตามปรารถนาได้แม้กระทั่งตัวจิตผู้รู้เสียงเอง

จิตตรองอยู่แต่ว่าเมื่ออุปาทานหายไป จะเหลืออะไรนอกจากความว่างจากตัวตน… ฉับพลันนั้นเองฐานที่ยืนของอัตตาก็หมุนควงสู่ความทลายลงดุจความพินาศของพื้นโลก กลายเป็นความว่างหายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถัดมาจึงบังเกิดแสงสว่างพลุ่งโพลงจากความว่างพิสุทธิ์ ดุจเดียวกับสายฟ้าที่สว่างขึ้นรอบทิศ ยังความมืดมนอนธการให้หายไป แลเห็นแต่ความจริงคือมหาสมุทรแห่งความว่าง ไร้รูป ไร้นาม ไร้นิมิตแม้น้อยเท่าน้อย

และจิตที่แผ่กว้างเบิกบานออกเป็นอนันต์ก็แค่เพียงธรรมชาติหนึ่งที่ต้องถดถอยกลับสู่ภาวะรับรู้ด้วยหูตาตามปกติ ริมฝีปากของฉันสยายแย้มจนสุดตามวิสัยแห่งจิตอันโสมนัสในธรรมาภิสมัย พุทโธ่เอ๋ย! นึกว่านิพพานซ่อนอยู่ที่ไหน ขณะแห่งการรู้แจ่มแจ้งตามจริง แทงทะลุกำแพงบดบังแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เสียได้ นิพพานก็ปรากฏแก่จิตตรงนั้นเอง เปิดเผยตัวเองและถูกรู้ได้จากทุกแห่งในจักรวาล สมดังพระพุทธวจนะที่ว่านิพพานเข้าถึงได้จากทุกทิศ เป็นธรรมชาติไร้ที่อยู่ เป็นสิ่งไร้ความเคลื่อนไหว เป็นมหาธาตุอันไร้การปะปนกับนานาธาตุ เป็นความว่างที่ไม่มีขนาด ไม่มีนิมิต และไม่มีที่ตั้ง ผู้รู้นิพพานจึงกลับมาเล่าขานตรงกันว่านิพพานเป็นเหมือนมหาสมุทร แต่บอกไม่ได้ว่ากว้าง ยาว ลึกเพียงใด”

เป็นตัวอย่างของผู้ติดกับดักหลุมพรางของกิเลส หรือกับดักของอุปกิเลส สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากกำลังของสมาธิ ที่มีเกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ สภาพธรรมเหล่านี้ เป็นความปกติ ที่สามารถมีเกิดขึ้นได้ ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตาม มีเกิดขึ้นได้หมด

ผู้ที่ติดกับดักของกิเลส หรืออุปกิเลส มักจะมีสภาวะคล้ายคลึงกัน

อุปกิเลส

อุปกิเลสเกิด

อุปกิเลส ที่กลับกลายเป็น อุปสรรค ปิดกั้น ไม่ให้เห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของ ผัสสะ ที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิ

๑. ปัจจัยจาก อวิชชา ที่มีอยู่ ทำให้ไม่รู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิ(สิ่งที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิ)

๒. ปัจจัยจาก ความไม่รู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ ในสัมมาสมาธิ(ที่ใช้ชื่อเรียกว่า ญาณ ๑๖ ตั้งแต่ ญาณที่๑-ญาณที่ ๑๖)

๓. ปัจจัยจาก ความทะยานอยาก ความอยากมี อยากได้ อยากเป็นในสิ่งที่เรียกว่า โสดา สกิทาคา อนาคามี อรหันต์ เพราะคิดว่า ในความมี ความเป็น ในคำเรียกเหล่านี้ จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้

อุปกิเลส

บางคนสงสัยว่า สิ่งที่เรียกว่า อุปกิเลส สภาวะที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง ดูยังไง

การดูว่า เป็นอุปกิเลส หรือ ตนติดกับดักของกิเลสหรือไม่

ให้ดูที่จิต ดูความยึดมั่นถือมั่น ที่มีให้ค่ากับสภาวะที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่

ความสำคัญว่า ตนเองได้อะไร เป็นอะไร ตามคำเรียกต่างๆ ที่มีอยู่ในตำรา(โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์)

หากมีคิดว่า ตนได้อะไร เป็นอะไร แต่ไม่สามารถนำสิ่งที่คิดว่า ตนได้อะไร เป็นอะไร นำมากระทำเพื่อ การดับเหตุของการเกิดให้เกิดขึ้นกับตนเอง ได้เลย

นั่นคือ ถูกโมหะครอบงำ หรือติดกับดักของหลุมพรางของกิเลส ที่เรียกว่า อุปกิเลส เหตุจาก อวิชชาที่มีอยู่

ท้ายสุด จักได้คำตอบด้วยตัวเองว่า สิ่งที่คิดว่า ตนมี ตนเป็นนั้น
สิ่งๆนั้น ไม่สามารถให้ตนรอดพ้นจากบ่วงของมาร(โลกธรรม ๘) ได้เลย

จิตจะค่อยถ่ายถอนจากความยึดมั่นถือมั่น ที่มีอยู่
จนกระทั่ง หลุดออกจาก สภาวะอุปกิเลสที่เกิดขึ้น

เท่านี้ ยังไม่จบ สภาวะละเอียดมากเท่าไหร่
สภาวะกิเลส ยิ่งเนียนละเอียดมากขึ้น

หากมีสติ รู้เท่าทันต่อสภาวะที่เกิดขึ้น
สุดท้าย แค่ ผัสสะ เท่านั้นเอง ที่เกิดจาก เหตุปัจจัยที่มีอยู่

เมื่อรู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน ดังนี้ได้
อุปกิเลส ไม่มีกำเริบ หรือเกิดขึ้นได้อีกเลย

ไม่มีความสำคัญ มั่นหมาย คิดว่าได้อะไร เป็นอะไร
แต่มุ่งดู ภพชาติของการเกิด ที่ยังมีอยู่ เป็นหลัก

หากยังมีอยู่ นั่นแหละ คือเหตุปัจจัยของ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปยาส ที่ยังมีอยู่

แล้วจะไปเอาอะไรกับความมี ความเป็น ในคำเรียกต่างๆเหล่านั้น

โดยเนื้อแท้ ความมี ความเป็นในคำเรียกต่างๆเหล่านั้น
ล้วนเป็นตัวบ่งบอกถึง เหตุของภพ(การเกิด) ที่ยังมีอยู่

ฉะนั้น พึงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างไม่ประมาท

หมั่นสร้างเหตุของการ รู้ชัดอยู่ภายในกายและจิตเนืองๆ

หมั่นไม่สร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น

หมั่นสำรวม สังวร ระวัง ทุกย่างก้าว

เพราะขึ้นชื่อว่า การเกิด ล้วนเป็นทุกข์
เจอทุกข์ซ้ำซาก อยู่กับทุกข์ โดยใจไม่ทุกข์ตามได้
เจอสุขซ้ำซาก อยู่กับสุข แค่รู้ว่า สุข ไม่ติดใจ ไม่มีคำนึงถึง
เจอเบื่อซ้ำซาก อยู่กับความเบื่อหน่าย บางครั้งไม่อยากมีชีวิตอยู่
พอรู้ทัน เห็นความเกิดขึ้นเดิมๆซ้ำๆ แค่รู้ว่าเบื่อ

สุดท้าย แค่ความหลอกลวงของกิเลส ที่มีอยู่
แล้วจะไปเอาอะไรกับคำเรียกต่างๆ

รู้อยู่แบบนี้ ยังไม่สักแต่ว่า
สักแต่ว่าเมื่อไหร่

บุคคล ๔ จำพวก

ภิกษุ ท. ! บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ในโลก หาได้โลก.

สี่จำพวกเหล่าไหนบ้าง ?
สี่จำพวก คือ :-

(๑) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้งหลายที่ยังละไม่ได้,
มีสังโยชน์ตัวเหตุให้ต้องเกิดอีกที่ยังละไม่ได้, และมีสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องมีภพ ที่ยังละไม่ได้.

(๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ ละสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้งหลายได้แล้ว
แต่มีสังโยชน์ตัวเหตุให้ต้องเกิดอีก ที่ยังละไม่ได้, มีสังโยชน์ตัวเหตุให้ ต้องมีภพ ที่ยังละไม่ได้.

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ ละสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้งหลายได้แล้ว
ทั้งยังละสังโยชน์ตัวเหตุให้มีการเกิดอีกได้ด้วย, แต่มีสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องมีภพ ที่ยังละไม่ได้.
(๔)บุคคลบางคนในโลกนี้ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งหลายได้แล้ว
ละสังโยชน์ ตัวเหตุให้ต้องเกิดอีกได้แล้ว และยังละสังโยชน์ด้วยเหตุ ให้ต้องมีภพได้อีกด้วย.

(ประเภทที่ ๑) ภิกษุ ท. ! พระสกิทาคามี นี้แล เป็นผู้ยังละสังโยชน์ ส่วนเบื้องต่ำทั้งหลาย ไม่ได้ทั้งหมด

ละสังโยชน์ตัวเหตุให้ต้องเกิดอีกยังไม่ได้ และละสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องมีภพ ยังไม่ได้.

(ประเภทที่ ๒) ภิกษุ ท. ! พระอนาคามีพวกที่มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ นี้แล

เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งหลายได้ทั้งหมด แต่ยังละสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องเกิดอีกไม่ได้ และละสังโยชน์ตัวเหตุให้ต้องมีภพยังไม่ได้.

(ประเภทที่ ๓) ภิกษุ ท. ! พระอนาคามี พวกที่จักปรินิพพานในระหว่างนี้แล
เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งหลายได้ด้วย ละสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องเกิดอีกได้ด้วย แต่ยังละสังโยชน์ตัวเหตุให้มีภพไม่ได้.

(ประเภทที่ ๔) ภิกษุ ท. ! พระอรหันต์ขีณาสพ นี้แล เป็นผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งหลายได้

ละสังโยชน์ตัวเหตุให้ต้องเกิดอีกได้ และยังละสังโยชน์ตัวเหตุ ให้ต้องมีภพได้อีกด้วย.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้ คือบุคคล ๔ จำพวก มีอยู่ในโลก หาได้ในโลก.
– จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘๑/๑๓๑.

พึงระวัง(อุปกิเลส)

๒๓ มค.๕๗

มีสภาวะที่ควรรู้ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้น ขณะจิตเป็นสมาธิอยู่ ถ้าพบเจอสภาวะทำนองนี้

เมื่อ บวชได้เพียง ๑๑ วัน ท่านตั้งใจภาวนาไม่ลดลาความพากเพียร ได้นิมิตว่า “ตนเองเดินทางเข้าไปในป่ากว้าง ผ่านห้วยหนองคลองบึง มีขอนไม้ชาติยาวใหญ่ดำสุดสายตา จึงเดินปีนขึ้นไปไต่ตามขอนนั้นไปเรื่อยๆ พอสุดปลายขอนไม้ชาตินั้น พลันเจอป่าอันรกชัฏมีขวากหนามรกรุงรัง จะหันหลังกลับก็ไม่ได้ จึงต้องพยายามแหวกคมหนามมุดมอดบุกผ่าเข้าไปให้ผ่านป่าอันแสนจะข้ามยากนั้น เมื่อผ่านมาได้ด้วยความยากลำบาก เจอทุ่งโล่งอันเวิ้งว้างมีหอพระไตรปิฏกอันวิจิตรตระการตาตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่ จึงก้าวเดินขึ้นไป เห็นห้องหอประตูตู้ กำลังจะเดินเข้าไปเปิด แต่ยังไม่ทันได้เปิด แต่ได้เข้าไปถึง จิตก็ถอนออกจากนิมิตนั้น”

ท่านสรุปความให้ผู้เขียนบันทึกฟังด้วยความตื่นเต้นในธัมโมชปัญญาว่า

คำว่า “ไปจนสุดปลายขอนชาติ” นั้นหมายถึงชาตินี้เป็นปลายชาติ คือ ชาติสุดท้าย

คำว่า “ป่ารกและขวากหนาม” นั้นหมายถึงท่านต้องฟันฝ่าและต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างมากถึงจะถึงวิมุตติ

คำ ว่า “พบทุ่งโล่ง” นั้น หมายถึง เมื่อข้ามทางอันแสนทรหดและกันดารมาได้ ถึงความเป็นผู้สบายกายใจ โล่งจากกิเลสตัณหา ไม่มีเสี้ยนหนามคือกิเลสตันหาใดเข้ามาทิ่งแทงได้

คำว่า “เห็นตู้พระไตรปิฏก” นั้น หมายความว่า เห็นธรรมที่สัมผัสด้วยใจ ทั้งพระอภิธรรม พระสูตร และพระวินัย

คำว่า “เข้าถึงแต่ไม่ได้เปิดดู” นั้น หมายความว่าถึงธรรมแล้ว แต่ไม่เก่งในเทศนาโวหารในการสอนคน

สิ้นกิเลส

…คืนนั้นฝนตกทั้งคืน เพลิดเพลินในการภาวนา ธรรม คือ สติ สมาธิ และปัญญา หลั่งไหลเหมือนสายน้ำ จิตเต็มอิ่มในธรรม เดินจงกรมคล้ายกับว่าเท้าไม่ได้เหยียบพื้นดิน นั่งภาวนาคล้าย กับว่าตัวลอยอยู่เหนือพื้น ทำสมาธิทั้งคืนไม่นอน ไม่พักผ่อน ในขณะที่พิจารณาเข้าด้ายเข้าเข็มธรรมขั้นสุดท้าย เสียงเทวดาไชโยโห่ร้องก้องทิวเขาพนา เสียงฆ้องทิพย์ดังกระหึ่มมาเป็นระยะๆ สลับกับเสียงเทวดาไชโยแว่วมาแต่ไกล เสียงสาธุการปานว่าโลกธาตุทั้งมวลหวั่นไหว น้ำตาร่วงอัศจรรย์เกินที่จำมาเล่าได้

คืนนั้นเสวยวิมุตติสุขสุดที่จะพรรณนา ต่อมาท่านได้นำเรื่องธรรมที่ได้รู้เห็นไปกราบเรียน ผู้เป็นอาจารย์ทุกประการ”

หมายเหตุ:

สภาวะที่เกิดขึ้นแบบนี้ เป็นเรื่องของ จิตใต้สำนึก ที่มาปรากฏในรูปของนิมิตต่างๆ อย่าหลงเชื่อ หลงคิดว่าได้อะไร เป็นอะไร ตามที่เคยได้ยิน ได้ฟังมา

หากติดอยู่แค่ตรงนี้ จะมีแต่การหลงสร้างเหตุนอกตัว โดยนำสิ่งที่ตนเองคิดว่าใช่ ไปสร้างเหตุนอกตัว เป็นที่มาของอามิสบุชา(จากผู้มีเหตุปัจจัยร่วม) จะทำให้เนิ่นนานออกไป

ผู้ใดที่บเจอสภาวะพิศดารต่างๆ วลัยพรไม่มีที่อ้างอิงหรอก แต่จะบอกว่า แนะนำให้ฟังหลวงพ่อเยื้อน ให้มากๆ(มีหลวงพ่อเยื้อนนี่แหละ ที่พูดให้เห็นสภาวะ ได้ชัดที่สุด)

ต้องเจอสภาวะความตาย และผ่านสภาวะความตายก่อนนะ(พบเจอขณะจิตเป็นสมาธิอยู่นี่แหละ แต่เหมือนเจอความตายจริงๆ)

ส่วนสภาวะวิจิตรพิศดาร หรือนิมิตต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดอุปกิเลส หากไปยึดมั่นถือมั่น

บางครั้ง เรื่องสภาวะของผู้อื่น ที่นำมาเป็นตัวอย่าง มีคิดเหมือนกันนะว่า นำสภาวะผู้อื่นมาเป็นตัวอย่าง จะมีผลอะไรไหม

ดูที่เจตนาเป็นหลัก คือ ดูจิต ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่า มีการก้าวล่วงอะไรทางมโนกรรมบ้างไหม ตอบได้ทันทีว่า ไม่มี

มีเจตนาเพียง ต้องการยกมาให้เห็น ความพิศดาร ที่เกิดจาก กำลังของสมาธินั้น มีมากมาย หลายแบบ ยกมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่า

ถ้าพบเจอแบบนี้กัน อย่าไปเชื่อ จะโดนกิเลสหลอกเอา แทนที่จะก้าวหน้า กลับกลายเป็น ติดอุปกิเลส แต่ไม่รู้ว่าติด เพราะ ความศรัทธา กับ กิเลสที่เกิดขึ้น บดบังไม่ให้สภาวะ ที่เกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

พูดยากนะ เพราะเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และที่กำลังทำให้เกิดขึ้นใหม่ ในแต่ละขณะ(ผัสสะ) ของแต่ละคน

ใครเชื่อใคร หรือ ไม่เชื่อใคร ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่มีต่อกัน

Previous Older Entries

พฤษภาคม 2024
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

คลังเก็บ