มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร

[๕๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารตโปทาราม เขตพระ-
*นครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นในราตรีตอนใกล้รุ่ง เข้าไปยัง
สระตโปทะเพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับขึ้นมานุ่งสบง
ผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มี
รัศมีงาม ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่ที่ยืนอยู่นั้น
แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๕๔๙] เทวดานั้น พอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสมิทธิ
ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้
ไหม ฯ
ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำ
ได้หรือ ฯ
เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดง
ราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ
ส. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ
เท. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ
อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล
ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ
เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ
[๕๕๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว จึงเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ตอนใกล้รุ่ง ข้าพระองค์ลุกขึ้นเข้าไปยังสระตโปทะ
เพื่อสรงสนานร่างกาย ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมานุ่งแต่สบงผืนเดียว
ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงาม
ส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วยืน ณ ที่
ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ
ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เมื่อเทวดานั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวดานั้นดังนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดานั้นกล่าวว่า ดูกร
ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม
ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดา
นั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำ
อุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคล
ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เทวดา
นั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ แก่ข้าพระองค์
เถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าวต่อไป ท่านพระสมิทธิทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธ-
*เจ้าข้า ฯ
[๕๕๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา
ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่
ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง
เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน
วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ
ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง
เจริญ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตจึงทรงลุก
จากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ฯ
[๕๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึง
ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
อุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา
ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง
ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง
เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียใน
วันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ
ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง
เจริญ
ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกออกจากอาสนะเสด็จเข้า
ไปยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ
ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก
เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน
พระมหากัจจานะเถิด ฯ
[๕๕๓] ต่อนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่
อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า ดูกรท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกกระผมว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก
บุคคล … นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง
พระวิหาร ดูกรท่านกัจจานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวก
กระผมนั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียก
บุคคล … นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง
พระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
โดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ดูกรท่านกัจจานะ พวกกระผมนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ
ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้ากระไร พวก
เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน
พระมหากัจจานะเถิด ขอท่านพระมหากัจจานะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ
[๕๕๔] ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ
เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญ
แก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่า ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้น
เสีย ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่า พึงสอบถามเราได้ ล่วงเลย
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ
มีธรรม มีความประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม
ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่
ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรง
พยากรณ์แก่เราอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด ฯ
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านกัจจานะ แท้จริง พระผู้มีพระภาคย่อม
ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ
ประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น
เจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่พวก
กระผมจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์
แก่พวกกระผมอย่างใด พวกกระผมพึงทรงจำได้อย่างนั้น แต่ว่าท่านพระมหา-
*กัจจานะ อันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน
ยกย่อง สรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความ
หนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ
ก. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
ข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะว่า ชอบแล้ว
ท่านผู้มีอายุ ฯ
[๕๕๕] ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม
เรียกบุคคล…นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง
พระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ฯ
[๕๕๖] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้
เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ
จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็น
ดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็น
ดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็น
ดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้
เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้
เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วย
ฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึง
ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่
ล่วงแล้ว ฯ
[๕๕๗] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
อย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้
เป็นดังนี้ รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ
จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วง
แล้ว
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้
เป็นดังนี้ เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้
เป็นดังนี้ กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้
เป็นดังนี้ รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเรา
ได้เป็นดังนี้ โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเรา
ได้เป็นดังนี้ ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่อง
ด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึง
ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่
คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ
[๕๕๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
อย่างไร คือ บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็นดังนี้
ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิดเพลิน
จักษุและรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ
เสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้
ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้
ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ
โผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอ
ธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิด
เพลินมโนและธรรมารมณ์ เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ
[๕๕๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
อย่างไร คือ บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็น
ดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่
เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยัง
ไม่มาถึง
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้
ขอเสียงพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้
ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้
ขอรสพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต…
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้
ขอโผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต …
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้
ขอธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่
เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่
มาถึง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฯ
[๕๖๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน
อย่างไร คือ มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่างที่เป็น
ปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุ
และรูปนั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ…
มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่างที่เป็น
ปัจจุบันด้วยกันแล เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและ
ธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ
[๕๖๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรม
ปัจจุบันอย่างไร คือ มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่าง
ที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่
เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม
ปัจจุบัน
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง …
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ…
มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ อย่างที่
เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแล เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่
เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นใน
ธรรมปัจจุบัน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม
ปัจจุบัน ฯ
[๕๖๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศ
โดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม
เรียกบุคคล…นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป
ยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลาย
หวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มี-
*พระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้
อย่างนั้น ฯ
[๕๖๓] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหา-
*กัจจานะแล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อม
เรียกบุคคล…นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป
ยังพระวิหาร พอพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้น
ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มา
ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยัง
ไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึง
เจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสีย
ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความ
ผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่ง
เจริญ
ดังนี้แล มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไป
ยังพระวิหาร ใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั้นได้มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุร่วมประพฤติ
พรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่อง สรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะนี้พอจะ
จำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ ถ้า
กระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อ
ความนี้กะท่านพระมหากัจจานะเถิด ต่อนั้นแล พวกข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่าน
พระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนั้นกะท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้
โดยบทดังนี้ โดยพยัญชนะดังนี้ ฯ
[๕๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็น
บัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะ
พยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน ก็แหละ
เนื้อความของอุเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่าง
นั้นเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

 

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=7223&Z=7493

ทิฏฐิ ๓

ติตถสูตร
[๕๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลัทธิของเดียรถีย์ ๓ อย่างนี้ ถูกบัณฑิต
ไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างลัทธิสืบๆ มา ตั้งอยู่ในอกิริยทิฐิ ๓ อย่าง
เป็นไฉน คือ ๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข
ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรม
ที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ ๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ
อย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วน
แต่มีการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ ๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคล
เสวยนั้น ล้วนแต่หาเหตุหาปัจจัยมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์
ทั้ง ๓ พวกนั้น พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุข
อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนมีแต่กรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ
เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น แล้วถามอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านทั้งหลายมี
วาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่
บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ จริงหรือ ถ้าสมณ
พราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้า
เช่นนั้น เพราะกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนเป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ จัก
ต้องลักทรัพย์ จักต้องประพฤติกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ จักต้องพูดเท็จ จัก
ต้องพูดคำส่อเสียด จักต้องพูดคำหยาบ จักต้องพูดคำเพ้อเจ้อ จักต้องมากไปด้วย
อภิชฌา จักต้องมีจิตพยาบาท จักต้องมีความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อ
บุคคลยึดถือกรรมที่ได้ทำไว้แต่ก่อนโดยความเป็นแก่นสาร ความพอใจหรือความ
พยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือว่ากิจนี้ไม่ควรทำ ย่อมจะมีไม่ได้ ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจ
และอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตัว ย่อมจะ
สำเร็จไม่ได้ แก่ผู้มีสติฟั่นเฟือน ไร้เครื่องป้องกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะ
สำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรม ในสมณพราหมณ์พวกนั้นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้
อย่างนี้แลเป็นข้อแรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ทั้ง ๓ พวกนั้น
พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ เราเข้าไปหาสมณ-
*พราหมณ์พวกนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิ
อย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วน
แต่มีการสร้างสรรของอิสรชนเป็นเหตุ จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์นั้นถูกเราถาม
อย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะการสร้างสรร
ของอิสรชนเป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ ฯลฯ จักต้องมีความเห็นผิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลยึดถือการสร้างสรรของอิสรชนไว้โดยความเป็น
แก่นสาร ความพอใจ หรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือว่ากิจนี้ไม่ควรทำ
ย่อมจะมีไม่ได้ ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณ
วาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตน ย่อมจะสำเร็จไม่ได้แก่ผู้มีสติฟั่นเฟือน ไร้เครื่อง
ป้องกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะสำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรม ในสมณพราหมณ์
พวกนั้นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ อย่างนี้แลเป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บรรดาสมณพราหมณ์ทั้ง ๓ พวกนั้น พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข
ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่หาเหตุหา
ปัจจัยมิได้ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า
ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขอย่างใด
อย่างหนึ่ง ที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่หาเหตุหาปัจจัยมิได้ จริงหรือ ถ้าสมณ-
*พราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้า
เช่นนั้น เพราะหาเหตุหาปัจจัยมิได้ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์ ฯลฯ จักต้อง
มีความเห็นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลยึดถือความไม่มีเหตุไว้โดยความ
เป็นแก่นสาร ความพอใจหรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือว่ากิจนี้ไม่ควรทำ
ย่อมจะมีไม่ได้ ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจ โดยจริงจังมั่นคงดังนี้ สมณ
วาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตน ย่อมจะสำเร็จไม่ได้ แก่ผู้ที่มีสติฟั่นเฟือน ไร้เครื่อง
ป้องกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีวาทะสำหรับข่มขี่ที่ชอบธรรม ในสมณพราหมณ์
พวกนั้นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ อย่างนี้แลเป็นข้อที่ ๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ลัทธิเดียรถีย์ ๓ อย่างนี้แล ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เรียงเข้า ย่อมอ้างถึงลัทธิ
สืบๆ มา ตั้งอยู่ในอกิริยทิฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนธรรมที่เราแสดงไว้นี้แล
คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้าน โดยสมณพราหมณ์ผู้รู้
ก็ธรรมที่เราแสดงไว้แล้ว คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้าน
โดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า ธาตุ
หก คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้
ธรรมที่เราแสดงว่า ผัสสายตนะ ๖ ... มโนปวิจาร ๑๘ ... อริยสัจ ๔ ...
ธาตุ ๖ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์
ผู้รู้ นี้เราได้กล่าวไว้แล้วเช่นนี้แล เพราะอาศัยอะไรจึงได้กล่าวไว้ดังนั้น ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ธาตุ ๖ เหล่านี้ คือ ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศ
ธาตุ วิญญาณธาตุ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่
เราแสดงไว้ว่าธาตุ ๖ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้าน
โดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนั้น ก็คำว่าธรรมที่เราแสดงไว้
ว่า ผัสสายตนะ ๖ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดย
สมณพราหมณ์ผู้รู้ นี้เราได้กล่าวไว้แล้วเช่นนี้แล เพราะอาศัยอะไรจึงได้กล่าวไว้
ดังนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ อายตนะเป็นเหตุแห่ง
ผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า ผัสสายตนะ ๖ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่
มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้
ดังนั้น ก็คำว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า มโนปวิจาร ๑๘ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่
มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ นี้เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้
แล เพราะอาศัยอะไรจึงได้กล่าวไว้ดังนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นรูปด้วย
ตาแล้ว ย่อมเข้าไปไตร่ตรองรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส เข้าไปไตร่ตรองรูปอัน
เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เข้าไปไตร่ตรองรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฟังเสียงด้วย
หู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมเข้าไปไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส เข้าไป
ไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส ย่อมเข้าไปไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่ง
อุเบกขา เพราะอาศัยคำที่เราได้กล่าวไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้
ว่า มโนปวิจาร ๑๘ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดย
สมณพราหมณ์ผู้รู้ ฉะนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้ ก็คำว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า อริยสัจ ๔ คนอื่นข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่
ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ นี้เราได้กล่าวไว้แล้วเช่นนี้แล เพราะอาศัยอะไร
จึงได้กล่าวไว้ดังนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะถือมั่นธาตุ ๖ สัตว์จึงลงสู่ครรภ์
เมื่อมีการลงสู่ครรภ์ จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะ
สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เราบัญญัติ
ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
แก่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจเป็นไฉน คือ แม้ชาติ
ก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาส เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ แม้ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมหวังก็เป็น
ทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข-
*อริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน คือ เพราะอวิชชาเป็น
ปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็น
ปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะ
เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็น
ปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็น
ปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อม
เกิดขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกขสมุทัยอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกไม่
เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูป
จึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ
อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะ
ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ กอง
ทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมดับด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ-
*อริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน อริยมรรค
มีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยง
ชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยถ้อยคำ
ที่เราได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า อริยสัจ ๔ คนอื่น
ข่มขี่ไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกติ ไม่ถูกคัดค้านโดยสมณพราหมณ์ผู้รู้ ฉะนั้น
เราจึงได้กล่าวไว้ดังนั้น ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=4571&Z=4686  

ไอ้ตัวร้าย

๑๙ กค.๕๗

ตัวที่คิดว่า รู้ นี่มันร้ายนักนะ เล่นกันแบบเนียนๆ ถึงแม้ไม่เอามัน แต่พอได้ช่อง มันเล่นงานเราทันที

การสนทนาตามเว็บบอร์ด อยากเลิกมาตั้งนานละ เพราะเห็นว่า ตัวเองจะเป็นเหตุปัจจัย ให้กับผู้อื่นเปล่าๆ ในเรื่องการสร้างเหตุ

เพราะว่า ผู้ที่สำคัญหมายมั่นว่า ตนรู้อะไร ได้อะไร เป็นอะไร ในคำเรียกนั้นๆ พวกนี้โมหะแรง มีแต่การสร้างเหตุแห่งวิวาทะ มากกว่าการสนทนาเพื่อหาทาง ดับเหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู

เมื่อวลัยพรเข้าไปสนทนาด้วย เจ้าตัวข้างใน ที่เรียกมันว่า ไอ้ตัวแสบ นี่แสบจริงๆ เห็นพวกนั้นเป็นไม่ได้ จ้องจะแง่งกับเขา(เหมือนหมาจ้องจะกัดกัน) มีช่องเมื่อไหร่ เล่นทันที

หลังจากที่เล่นมานาน เกิดความเบื่อหน่าย ในสิ่งที่กระทำอยู่ ถึงแม้ไอ้ตัวแสบ อยากจะแง่ง แต่ตัวอื่นๆ เบื่อหน่ายมากกว่า ไม่อยากร่วมลงเล่นด้วย เจ้าตัวนี้ก็ได้แต่แง่งๆๆๆ อยู่ตัวเดียว แค่รู้ว่า มันมีอยู่

ตอนนี้ เริ่มมองเห็น การหาสาระอะไรอะไรไม่ได้ กับสัญญาต่างๆ ที่เป็นใบไม้นอกกำมือ นับวันยิ่งเฝือ เพราะหาแก่นสารสาระอันใดไม่ได้ มองเห็นแต่เหตุปัจจัย ที่ตนเอง เป็นเหตุให้ผู้อื่น สร้างเหตุแห่งทุกข์ ด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ของผู้นั้น

เริ่มเบื่อหน่ายสัญญา ที่เป็นปัจจัย ให้เกิดการสร้างเหตุนอกตัว มากกว่า การกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู่

เล่นนอกตัว มีปัญหา

เล่นในตัว เพียงคนเดียว ก็ไม่พ้นปัญหาจากนอกตัว ที่เกิดจาก เหตุปัจจัยที่มีต่อกัน

ช่วยไม่ได้ ยังชอบขีดเขียน ถึงจะเป็นสัญญา ถึงแม้จะไม่ใช่นำไปกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์

เป็นเพียงสัญญา ที่มีเกิดขึ้นในคำเรียกต่างๆ นำไปใช้ตามอุทานที่ยังมีอยู่

เมื่อเห็นแต่เหตุที่ตนเอง เป็นเหตุปัจจัยให้ผู้อื่น สร้างเหตุแห่งทุกข์(ตามเว็บบอร์ด) ปัจจัยจาก ความไม่รู้ชัดในผัสสะ ของผู้นั้น วลัยพรจะพยายามระงับมือไม้ตัวเอง ไม่เข้าไปตามเว็บบอร์ด

แต่ยังอดที่จะขีดเขียนสัญญาต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นยังไม่ได้ ยังคงขีดเขียน เรื่องราวผัสสะต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นกับตัวเอง

เพราะการขีดเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ(ผัสสะ) เป็นปัจจัยให้ ได้รู้ชัดในเหตุปัจจัยที่วลัยพร ยังคงมีอยู่ และเป็นอยู่

กิเลส นับวัน ยิ่งละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ แฝงตัวทุกขณะ

เมื่อผัสสะเกิด จะพยายามเตือนตัวเองว่า อย่าไปยุ่ง เหตุของใคร ของคนนั้น อย่า และก็อย่า ดูสิว่า ระหว่างกิเลสที่เกิดขึ้น กับ สติ ตัวไหนจะมีแรงมากกว่ากัน

 

 

 

สัญญาเว้ยเฮ้ย

ไม่อยากรู้อะไรแล้ว เกิดขึ้นอยู่ได้ เบื่อจะตายชัก

แค่สิ่งที่ควรรู้ ก็พอแล้ว (ที่สามารถนำไปกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ได้)

เกินจากนั้น(คำเรียกต่างๆ) ก็แค่นั้นเอง เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และที่กำลังทำให้เกิดขึ้นใหม่ ด้วยความไม่รู้ของตัวเขา ทำกันขึ้นมาเอง

เบื่อ ไม่อยากเจอทุกข์

ชอบอยู่กับความสงบ รู้แต่สิ่งที่ตนเอง ยังมีเหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดการสร้างเหตุ จะได้ยับยั้งได้ทัน

สัญญาต่างๆ ที่เกินจากวิธีการกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์
เบื่อ ไม่อยากรับรู้

เวลาไม่อยากรู้ เกิดขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ เกิดจนเบื่อ
ทีเวลาที่อยากรู้ เงียบสนิท ไม่มีสักแอะ

ทั้งๆที่รู้ว่า สัญญา ก็ไม่เที่ยง
แต่ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้

เบื่อ

๑๙ กค.๕๗

บางครั้งขีดเขียนเกี่ยวกับคำเรียกต่างๆ แล้วแต่สัญญาจะเกิด(จิตคิดพิจรณา)

สิ่งที่เขียนลงไป เป็นการเขียนเพื่อดูผัสสะ ที่เกิดขึ้น แล้วให้ค่าในผัสสะที่เกิดขึ้นว่าอย่างไรบ้าง(ตามสัญญาที่เกิดขึ้น) ซึ่งบางครั้ง ดูทันที ดูไม่ทัน เกิดขึ้น ดับไป ไวมาก

เขียนๆลงไปแล้ว ก็มีคิดว่า คำเรียกต่างๆนี้ เป็นเพียงเปลือก กระพี้ ไม่ใช่แก่น เป็นเพียงใบไม้นอกกำมือ ใบไม้ในกำมือ มีแต่การกระทำเพื่อ อนุปาทาปรินิพพาน 

นอกกำมือ มีแต่สัญญา บางคนอ่านแล้ว รู้เรื่องและเข้าใจก็มี บางคนอ่านแล้ว ไม่รู้เรื่องก็มี แถมมาว่าเราอีกว่า เขียนยังไง อ่านไม่รู้เรื่อง(ตามเว็บบอร์ด ที่วลัยพรเข้าไปสนทนา)

นี่แหละ ความปกติของ ความไม่รู้ที่มีอยู่ จึงมักกล่าวโทษนอกตัว แทนที่จะกล่าวโทษในเหตุปัจจัยที่ตนมีอยู่

ตอนนี้มีความคิดเกิดขึ้นเนืองๆ ประมาณว่า หัวใจของวิธีการกระทำ(แก่น) เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ มีอยู่ ๒ ข้อ คือ

๑. การดับเหตุ ที่จะเกิดต่อจาก สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจาก ผัสสะ หรือ สิ่งที่มีเกิดขึ้น ในชีวิต กล่าวคือ

หากทุกคนรู้ว่า ผัสสะต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด หรือเฉยๆ

เพียงแค่รู้ว่า มีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น พยายามไม่สร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ที่เกิดจากผัสสะ เป็นเหตุปัจจัย

หากทำได้แบบนี้ เท่ากับ เป็นการดับเหตุแห่งทุกข์ ที่จะมีเกิดขึ้นในภพชาติปัจจุบัน และ มีผลให้ การเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏ สั้นลง จะกี่ชาติ ไม่ต้องคิด แต่สั้นลงอย่างแน่นอน

๒. การดับเหตุ ที่จะเกิดต่อจาก สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจาก ผัสสะ หรือ สิ่งที่มีเกิดขึ้น ขณะทำความเพียร กล่าวคือ

หากทุกคนรู้ว่า ผัสสะต่างๆ ที่มีเกิดขึ้น ขณะทำความเพียร สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด หรือเฉยๆ เช่น

นิมิต แสง สี เสียง กายสัมผัส ความนึกคิด(จิตคิดพิจรณา)

เพียงแค่รู้ว่า มีสิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น เป็นความปกติของผัสสะที่มีเกิดขึ้น จะเกิดด้วยกำลังสมาธิ สติ สัมปชัญญะ ให้แค่รู้ว่ามีเกิดขึ้น ไม่ต้องใส่การปรุงแต่งลงไป(คำเรียกต่างๆ)

หากทำได้แบบนี้ การทำความเพียรจะก้าวหน้า ไม่ติดกับดักของอุปกิเลสต่างๆ(ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำความเพียร)

เมื่อถึงเวลาเหตุปัจจัยพร้อม สภาวะต่างๆที่มีอยู่ในตำรา จะเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัย มีผลให้ ภพชาติการเวียนว่ายในวัฏฏสงสาร สั้นลงอย่างแน่นอน

ทั้งการหยุดสร้างเหตุนอกตัว และการทำความเพียร ควรทำ ๒ อย่างนี้ ควบคู่กันไป เพราะการสร้างเหตุทั้งสองอย่างนี้ ต่างฝ่าย ต่างเกื้อหนุน ซึ่งกันและกัน

อาจจะมีคำถามว่า เลือกทำอย่างใด อย่างหนึ่งได้ไหม?

คำตอบคือ วลัยพรรู้วิธีการ จึงนำมาบอกเล่า ส่วนใครจะเลือกวิธีการแบบไหน ขึ้นอยู่กับตัดสินใจเลือกกันเอง

ส่วนวลัยพร ทำทั้ง ๒ อย่าง เพราะ เบื่อทุกข์ ไม่อยากเกิด เกิดมาแล้ว ให้มีชีวิตสุขสบายขนาดไหน ก็ไม่พ้นทุกข์

แถมแรกเกิด ต้องโง่มาก่อน โง่กับกิเลสที่มีอยู่ กว่าจะรู้ ยังไงก็ทุกข์เกิดขึ้นก่อน ขึ้นชื่อว่า การเกิดจึงน่ากลัว

สติๆๆๆ

๑๖ กค.๕๗

เวลาที่ขีดเขียนเรื่องทางโลกลงไป เขียนๆไป มีสติกลับมาคิดพิจรณา

ใครจะเป็นอะไร อย่างไร เป็นเรื่องของ เหตุปัจจัยของแต่ละคน คิดไปก็เท่านั้น

แต่ก็อย่างว่าแหละ ยังมีแว่บอยู่

 

 
๗. ทุกกรสูตร
ว่าด้วยสมณธรรมที่ทำได้ยาก
[๑๗] เทวดากล่าวว่า
สมณธรรม คนไม่ฉลาดทำได้ยาก อดทนได้ยาก
เพราะสมณธรรมนั้นมีความคับแคบมาก
สำหรับคนพาลที่อาศัยอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คนพาลประพฤติสมณธรรมเป็นเวลานาน
หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่ในอำนาจแห่งความดำริ
ก็จะพึงติดขัดในทุกบท๑
หากภิกษุยับยั้งความวิตกในใจไว้ได้
เหมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดองของตน
ก็จะไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
ดับสนิทแล้ว ไม่พึงว่าร้ายใคร

เพียรละในเหตุปัจจัย

๑๕ กค.๕๗

การทำความเพียรของวลัยพรในตอนนี้ เข้าสู่การเจริญอิทธิบาท ๔ แบบเต็มตัว ไม่ต้องเพียรแบบหักโหมเหมือนเมื่อก่อน

ที่เมื่อก่อนทำแบบหักโหม เกิดจาก ความไม่รู้ที่มีอยู่

เกิดจาก การให้ค่า ต่อผัสสะ ที่เกิดขึ้น ในแต่ละขณะๆๆๆๆ ที่มีเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และขณะจิตเป็นสมาธิอยู่

เหตุปัจจัยจาก ความรู้ชัดสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นของ สิ่งที่เรียกว่า ผัสสะ

เป็นปัจจัยให้ เกิดการละ มากกว่า กกกอดผัสสะต่างๆเอาไว้ ตามอุปทานที่มีอยู่ว่า จะต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น

เมื่อจิตเกิดการปล่อยวางลงโดยจิตเอง ไม่ใช่พยายามคิดพิจรณาเพื่อให้เกิดการปล่อยวาง

ผลคือ การทำความเพียรทั้งในการดำเนินชีวิต และ การทำความเพียรเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เป็นไปตามความสะดวก สบาย ไม่ต้องอดทน อดกลั้น กดข่มใจแบบก่อนๆ คือ ไม่ต้องพยายามทำเพื่อความมี ความเป็น ความได้อะไร เป็นอะไร

แต่เป็นการกระทำเพื่อ อนุปาทาปรินิพพาน ซึ่งมีอยู่จริง ที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพระธรรมคำสอน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้หลากหลายแนวทาง ตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน ที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสสอนไว้

 

 

สุขกับทุกข์

เรื่องทางโลก มองเห็นแต่ทุกข์ ที่เกิดจาก เหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู่

เมื่อรู้ชัดภายใน รู้ชัดในทุกข์ ย่อมรู้ชัดภายนอก รู้ชัดในทุกข์ที่มีเกิดขึ้นกับผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งของเขา และของเรา ล้วนไม่แตกต่างกัน

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นกับตัวเอง แทนที่จะผูกโกรธ หรือผูกใจเจ็บกับการกระทำของอีกฝ่าย ที่กระทำกับเรา

เพราะรู้ชัดในทุกข์ รู้ชัดในเหตุปัจจัย ที่ทำให้ทุกข์ มีบังเกิดขึ้น จิตมีแต่การให้อภัย และให้การอโหสิกรรมกับอีกฝ่าย ไม่มีความพยาบาท อาฆาต หรือคิดแค้น จองเวรกับอีกฝ่าย ไม่ว่าอีกฝ่าย จะเป็นใคร เป็นอะไร เด็ก หรือ ผู้ใหญ่ เพศใดๆก็ตาม

เรื่องการทำความเพียร ผลของการทำความเพียรและการปฏิบัติสมควรแก่ทำ(พยายามไม่สร้างเหตุออกไป ตามความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นจาก ผัสสะ เป็นเหตุปัจจัย)

เมื่อจิตเกิดการน้อมผัสสะเหล่านั้น มาทบทวน มักมีสุข เกิดขึ้นเนืองๆ แม้ขณะเวลานอนและตื่นขึ้นมา ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน

สุขเกิดขึ้นจาก ใจที่ปล่อยวาง เกิดจากใจที่ไม่เอา ไม่นำสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่มีสิ่งใด เป็นของๆตน เพราะทุกสรรพสิ่งที่มีเกิดขึ้น ล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย แล้วจะไปเอาอะไรกับสิ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเหตุแห่งทุกข์ มากกว่า การกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์

ปฏิปทา ๔

๑๕ กค.๕๗

สภาวะสัญญา บทจิตจะคิดพิจรณา หากจะเกิด ก็เกิดขึ้นเอง

เมื่อนำสิ่งที่จิตมีวิตก วิจารณ์ขึ้นมา เกี่ยวกับคำเรียกต่างๆ ในกูเกิ้ล จากสิ่งหนึ่ง(จิตคิดพิจรณา) ไปสู่สิ่งหนึ่ง(คำเรียกต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้)

เรื่อง ปฏิปทา ๔ เคยอ่านเจอมานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่นัก และตอนนั้น ก็ยังไม่รู้ว่า หมายถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นของผัสสะ ขณะใดบ้าง

ที่สำคัญ ตอนนั้นยังไม่รู้ชัดในผัสสะ จึงเป็นปัจจัยให้ ไม่รู้ชัดในลักษณะอาการที่เกิดขึ้นของคำเรียก “ปฏิปทา ๔”

ถ้ายังไม่รู้ชัดในผัสสะ ที่มีสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การอ่านพระธรรมคำสอน เป็นอะไรที่ชวนให้ปวดหัวมาก

อ่านแล้วมึน เพราะ ต้องแปลไทยเป็นไทย กว่าจะแปลเสร็จ แปลแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นภาพที่เป็นรูปธรรม มีแต่การคาดเดาเอาเอง

ปฏิปทา ๔

ที่เป็นของอรรถกถาจารย์ หากได้อ่านแล้ว ย่อมคิดว่า ต้องเป็นแบบนี้ คือ เกี่ยวกับสภาวะจิต ที่เป็นสมาธิระดับฌาน

ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ ผู้ทำความเพียร(ในรูปแบบ) หากยังไม่สามารถทำปฐมฌาน ให้มีเกิดขึ้นกับตนได้ ย่อมเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ปฏิทา ๔ ได้ยาก

แล้วสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำความเพียร(ในรูปแบบ) ยิ่งยากจะเข้าใจและเข้าถึง
สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของสิ่งที่เรียกว่า ปฏิปทา ๔

ปฏิปทาวรรคที่ ๒

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4083&Z=4299

ทีนี้มาดูคำสอน ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า ปฏิปทา ๔

[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑
ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑
สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล ฯ

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
การปฏิบัติไม่อดทน ๑
การปฏิบัติอดทน ๑
การปฏิบัติข่มใจ ๑
การปฏิบัติ ระงับ ๑ ”

 

อ่านแล้ว มึนเลยใช่ไหม วลัยพรก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เวลาที่อ่านพระไตรปิฎก ตอนนั้นยังไม่รู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น

เวลาหาข้อมูลพระธรรมคำสอน ซึ่งมีหลากหลาย ถึงเวลาได้เจอ เดี๋ยวเจอเอง

เวลาหาข้อมูลพระธรรมคำสอน ซึ่งมีหลากหลาย
ถึงเวลาได้มีเหตุปัจจัย ให้ได้รู้ เดี๋ยวเจอเอง

 

หมายเหตุ:

เกี่ยวกับปฏิปทา ๔ ในแต่ละหัวข้อ เป็นการขยายรายละเอียดของอีกคำเรียก จะได้อ่านรายละเอียดที่เกิดขึ้นของคำเรียกนั้นๆ ว่ามีลักษณะอาการเกิดขึ้นแบบไหน จึงมีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง

ตรงนี้ ถ้าถามว่า เกี่ยวกับทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการกระทำเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ไหม

คำตอบคือ ไม่ใช่โดยตรง แต่เกี่ยวเนื่องกันกับ ผลของเหตุ ในการทำความเพียรต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบและการเจริญอิทธิบาท ๔

ทั้งประกอบด้วย ใช้หลักปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ได้แก่
การหยุดสร้างเหตุนอกตัว ที่เกิดจากผัสสะ เป็นเหตุปัจจัย

เป็นการเรียนรู้พระธรรมคำสอน ที่ใช้ทั้ง
ปริยัติ(ศึกษาพระธรรมคำสอน)
ปฏิบัติ(ทำความเพียร)
ปฏิเวธ(ผลของการปฏิบัติ)

ทั้ง ๓ สิ่งนี้ ต้องลงรอยเดียวกับพระธรรมคำสอน
คือ เป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมคำสอน

ไม่ว่าจะแยกส่วนไหนออก หรือพลิกแพลงอย่างไรก็ตาม
ต้องลงรอยเดียว หรือ เป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรมคำสอน

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสไว้
เป็นการกระทำเพื่อ อนุปาทาปรินิพพาน

ไม่เที่ยง

๑๔ กค.๕๗

ความรู้สึกนึกคิด แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่า มีเหตุปัจจัยกับสิ่งใดอยู่

ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจาก ความชอบใจ ไม่ชอบใจ อยากให้ความคิดนั้นๆหายไป หรือพยายามกดข่มความคิดที่เกิดขึ้น หรือมีความติดใจในความคิดที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นบ่อเกิดของเหตุแห่งทุกข์ ให้มีบังเกิดขึ้น

หากรู้ว่า ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ล้วนไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ใจย่อมเป็นอิสระ จากความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ คือ รู้ว่ามีอยู่ เป็นอยู่ เป็นเหตุปัจจัยทำให้ ไม่จมแช่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น

จากสิ่งหนึ่ง ไปสู่สิ่งหนึ่ง ล้วนเกิดจาก ผัสสะ เป็นปัจจัย ให้มีเกิดขึ้น

ตราบใดที่ยังมีกิเลส แค่รู้ว่า มีผัสสะเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ(ความรู้สึกนึกคิด)

เมื่อรู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้นว่า ทำไมผัสสะ ที่เกิดขึ้น จึงเป็นปัจจัย ให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ(ความรู้สึกนึกคิด)

ทุกข์ที่มีเกิดขึ้น ย่อมเบาบางลงไป ตามเหตุปัจจัย

 

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย

ยิ่งรู้ชัดในผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ชัดในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู่

เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำ ทำตัวเป็นเต่า หดตัวอยู่ในกระดองมากขึ้น

มีเหตุปัจจัยจาก เมื่อรู้ชัดในผัสสะแล้ว ยิ่งทำความเพียร ยิ่งเบื่อหน่าย ทำเพราะ รู้

ยิ่งรู้ ยิ่งเบื่อหน่าย ความเพียรจึงแปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย

ปฏิบัติสบาย เพราะเลือกวิธีการปฏิบัติ โดยการแก้ที่ตัวเอง ดับเหตุที่ตัวเอง ที่เกิดจาก ผัสสะ

ไม่ต้องทำความเพียรแบบโหมกระหน่ำ เหตุจากความไม่รู้ชัดในทุกข์ ที่เกิดขึ้น แบบสมัยก่อนๆ

ฉะนั้น เมื่อเจอผัสสะ ที่มีเหตุปัจจัยต่อกันอยู่ จากการเรียนรู้ผัสสะต่างๆที่ผ่านๆมา ทำให้เกิดการยอมรับ และเริ่มอยู่กับผัสสะนั้นๆ ได้มากขึ้น

ยิ่งอยู่ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งรู้ชัดในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ มากขึ้น ความเบื่อหน่าย มีเกิดขึ้นเนืองๆ เพราะเหตุนี้

จะรู้ชัดในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับเหตุแห่งทุกข์ และวิธีการกระทำ ต้องรู้ชัดในผัสสะ

การทำความเพียร ปฏิบัติลำบาก หรือ สบาย ขึ้นอยู่กับความรู้ชัดในผัสสะ ที่เกิดขึ้น

ความรู้สึก

๑๔ กค.๕๗

ไปแพร่ตั้งแต่วันที่ ๘ กค.๕๗ เพิ่งกลับมากทม. เมื่อคืนนี้

ขาไปเทวดานำส่ง(ฝนตก)

ขากลับเทวดาต้อนรับ(ฝนตก)

ไปแพร่ก็เช่นกัน ถึงแพร่ เทวดาต้อนรับ(ฝนตก)

ขากลับ เทวดานำส่ง(ฝนตก)

ไม่เกี่ยวกับใคร รู้สึกเฉพาะตน

เห็นความเบื่อหน่าย ที่เกิดขึ้นเนืองๆ จากผัสสะ ที่ยังมีเหตุปัจจัยต่อกันอยู่

ความยึดมั่นถือมั่น อุปทานที่มีอยู่ เป็นปัจจัยให้ภพ มีเกิดขึ้น ทั้งของเราที่มีอยู่ ทั้งของเขา ที่มีอยู่ ช่างน่าเบื่อจริงๆ

มนุษย์ เมื่อให้ความสำคัญมั่นหมายกับสิ่งใด มักนำสิ่งที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ เป็นปัจจัยทำให้ภพ มีเกิดขึ้น

เหตุปัจจัยของความไม่รู้ที่มีอยู่ เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ นำความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ก้าวล่วงออกไป เกิดการกระทำเป็นวจีกรรม กายกรรม ให้มีเกิดขึ้น

รู้ชัดภายใน เป้นปัจจัยให้ รู้ชัดภายนอก

เมื่อรู้ชัดในทุกข์ ที่เกิดขึ้น(ตนเอง) เป็นปัจจัยให้รู้ชัดทุกข์ ภายนอก(ที่มีเกิดขึ้นกับผู้อื่น)

เหตุปัจจัยจากอวิชชาที่มีอยู่ ผู้คนส่วนมาก เมื่อไม่รู้ชัดในทุกข์ ที่เกิดขึ้น

ย่อมหลงสร้างเหตุแห่งทุกข์ ให้เกิดขึ้นเนืองๆ ให้มีเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ยังไม่รู้

กระทำเดิมๆซ้ำซาก สร้างเหตุแห่งภพ ชาติ ให้มีเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้

ภพ ชาติการเวียนว่ายในสังสาวัฏ จึงมีเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ เหตุปัจจัยจาก จิตที่ยังหนาแน่นด้วยอวิชชา

 

 

ความไม่มี ไม่ทำให้วุ่นวาย

เมื่อก้าวเข้าไปสู่ความมี(ที่ไม่รู้ว่ามี) ความวุ่นวายจึงมีเกิดขึ้น

เมื่อยังมีให้ความสำคัญ หมายมั่น ยึดมั่นถือมั่น ต่อสิ่งใดอยู่

นั่นแหละคือ เหตุแห่งทุกข์ ที่ยังมีอยู่

เตรียมตัวสอบ

2 กค.57

๒ กค.๕๗

การพัฒนาของสติ

ไม่ว่าลงมือทำกิจใดๆ จะมีการทบทวน คิดพิจรณา เกิดขึ้นเนืองๆ

บางครั้ง เป็นเรื่องราวในอดีต เพราะเคยกระทำแบบนี้ ผัสสะที่เกิดขึ้น จึงเป็นแบบนี้

เห็นความละเอียด ในการทำงานบ้าน รู้ชัดในรายละเอียดของการแยกงาน ออกเป็นส่วนๆ

ยังมีความชอบเล่นเกมส์ เป็นบางเกมส์ ยังมีความชอบดูหนังอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์กับกิเลสที่มีอยู่ แค่รู้ว่า ยังมี

เรื่องนอกตัว กับบุคคลที่ยังมีเหตุปัจจัยต่อกันอยู่ บางครั้งการกระทำของอีกฝ่าย ก้ทำให้เกิดความทุกข์ แต่ทุกข์ไม่นาน ก็หายไปเอง

ยอมรับผัสสะที่เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ใจน้อมเข้าไปสู่ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หากไม่เคยสร้างเหตุไว้ ผลจะมาจากไหน ที่ยังมีผลอยู่ เพราะ ยังมีเหตุอยู่

เมื่อยอมรับได้มากขึ้น กลับมาแก้ในเหตุปัจจัยที่ตน มากกว่า กล่าวโทษอีกฝ่าย เพราะเขาไม่รู้ เขาจึงทำ หากรู้แล้ว จะพยายามหยุด เท่าที่จะหยุดได้ทัน

สิ่งที่ช่วยให้แก้ในเหตุปัจจัยที่ตนมีอยู่ ได้มากที่สุด คือ การพยายามไม่ตอบโต้อีกฝ่าย แค่รู้ว่ามีความรู้สึกนึกคิด จบแค่ตรงนั้น

และที่สำคัญ ไม่มีใครช่วยเราได้ หรือเป็นที่พึ่งให้กับเราได้ นอกจาก ตัวเราเอง โดยอาศัยการทำความเพียรต่อเนื่อง

7 กค.57

สภาวะที่เกิดขึ้นในครั้งที่แล้ว และที่กำลังจะมีเกิดขึ้นในครั้งนี้ วลัยพรรู้ดีว่า ไม่ใช่สภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะเรามีโล่ป้องกันตัวหนึ่งชั้น(เจ้านาย) สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น จึงเบาบางลงไป ตามเหตุปัจจัย หากเจ้านายอยู่ด้วย จะไม่ค่อยมีผัสสะอะไรมากมาย จนดูเหมือนว่า ไม่มีอะไร ถ้าไม่รู้มาก่อน อาจมีหลงในผัสสะที่เกิดขึ้นอีก ประมาทน้อยลง ผัสสะต่างๆที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเหตุ(เหตุปัจจัยที่มีต่อกัน และที่มีอยู่ของตนเอง/กิเลส) และปัจจัย โอกาสที่จะหลุดออกไปทางวาจา กาย ที่ยังมีอยู่ ยิ่งรู้ชัดในเหตุและปัจจัย ยิ่งเห็นรายละเอียดในแต่ละขณะๆๆๆๆ ที่จะมีบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เป็นปัจจัยให้ เกิดการสำรวม สังวร ระวัง มีเกิดขึ้นเนืองๆ โดยไม่ทำให้รู้สึกทุกข์มาก แบบแรกเจอ คือ เริ่มเกิดความเคยชินกับผัสสะที่เกิดขึ้น เดิมๆซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ การกระทำเดิมๆ ทั้งนี้เกิดจาก เหตุปัจจัยที่ยังมีต่อกันอยู่ ความรู้ชัดในผัสสะ เมื่อเริ่มอยู่กับผัสสะ ที่มีเหตุปัจจัยต่อกันได้(ความเคยชิน) จะเจอบทเรียนใหม่ เป็นผัสสะ ที่เกิดจากสิ่งที่มีเหตุปัจจัยต่อกัน จากสิ่งหนึ่ง ไปสู่สิ่งหนึ่ง การเรียนรู้ผัสสะต่างๆ ที่ย้ำเตือนว่า อย่าประมาท ทุกสิ่งไม่ได้จบลงง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยอยู่ เหตุมี ผลย่อมมี รับมือกันในชาตินี้แหละ ไม่ต้องไปรอชาติหน้า หรือชาติไหนๆ ไม่ใช ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๕๐๐ ชาติ แต่เป็นทุกๆขณะ ที่มีผัสสะเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิด ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา จนกระทั่งหลับลงไปในที่สุด แม้กระทั่งผัสสะ ที่มาในรูปของความฝัน นั่นแหละเหตุปัจจัยที่ยังมีอยู่ หลุมพรางกิเลส กับดักหลุมพรางกิเลส มีหลากหลายรูปแบบ หากหลงยึดมั่นถือมั่น ในผัสสะที่เกิดขึ้น นั่นคือ เสียท่ากิเลส ตกหลุมพรางทันที บางครั้งมีหลงบ้าง เมื่อจิตเกิดการทบทวน คิดพิจรณา กลับมารู้ชัดภายในมากขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิด สภาพธรรมตามความเป็นจริงของผัสสะ ที่เกิดขึ้น ในแต่ละขณะๆๆๆ อ้าว นี่ตกหลุมพรางอีกแล้ว รู้ดังนี้แล้ว จะทำยังไงดี ทางมีเห็นอยู่ มีทางเดียว พยายามตั้งสติให้มาก ขณะผัสสะเกิด จากผู้ที่มีเหตุปัจจัยต่อกัน หากเขาดีมา อย่าหลงดีใจ หากเขาร้ายมา เรายิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะเรากำลังเป็นต้นเหตุให้ผู้อื่น หลงสร้างเหตุด้วยความไม่รู้ที่มีอยู่ อยู่ในคนหมู่มาก โอกาสพลาดพลั้งในการสร้างเหตุ ย่อมมีอยู่ เป็นความปกติ หากยังไม่รู้เท่าทันต่อผัสสะที่เกิดขึ้น อยู่อย่างสันโดษ โอกาสหลง ก็มีเยอะ หากไม่รู้เท่าทันต่อผัสสะ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีอาชีพใด หรืออยู่ในเพศใด สถานะใด อยู่ในสถานที่ใด ใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม ก็ตาม หากอวิชชา ยังหนาแน่นอยู่ นั่นคือ เหตุปัจจัยของ ความบังเกิดขึ้นแห่งภพ ย่อมยังมีอยู่ หากยังไม่รู้เท่าทันต่อผัสสะที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเหตุของการเกิด(ชาติ/ปล่อยให้ก้าวล่วงออกไปทาง วจีกรรม กายกรรม) ให้มีเกิดขึ้น ย่อมยังมีอยู่ เป็นพระ ก็หลงแบบพระ หลงในอามิสบูชา หลงในคำสรรเสริญเยินยอ ฆราวาส ก็ไม่แตกต่างกัน ในเรื่องของความหลง อยู่ในฐานะใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็ไม่แตกต่างกัน ในเรื่องของความหลง ความแตกต่าง อยู่ที่เปลือกภายนอกที่มองเห็น ภายใน ล้วนไม่แตกต่าง หากยังหนาแน่นด้วยอวิชชา     ๑๙ กค.๕๗ “เตรียมตัวสอบ สภาวะที่เกิดขึ้นในครั้งที่แล้ว และที่กำลังจะมีเกิดขึ้นในครั้งนี้ วลัยพรรู้ดีว่า ไม่ใช่สภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะเรามีโล่ป้องกันตัวหนึ่งชั้น(เจ้านาย) สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น จึงเบาบางลงไป ตามเหตุปัจจัย” จากตรงนี้ ที่เคยเขียนไว้ ก็โดนซะ ต้องกลับไปแพร่อีก ครั้งนี้ไปคนเดียว พายายเจ้านายไปหาหมอ ตามนัด ไปวันที่ ๒๒ กค.นี้ ส่วนกลับ ดูผลการตรวจชิ้นเนื้อของยายก่อน หากแผลยายแห้งดี ผลชิ้นนื้อปกติ อาจจะอยู่สักไม่กี่วัน จึงกลับ การอยู่ที่โน่น มีโอกาสเบียดเบียนชีวิตสัตว์ต่างๆเยอะมาก วลัยพรไม่ได้กลัวสิ่งที่เรียกว่า บาป แต่ไม่อยากทุกข์ เพราะผลของเหตุการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ถึงจะไม่เจตนาก็ตาม ส่งผลกลับมาที่สุขภาพ ภูมิแพ้ที่ยังเป็นอยู่ คันทั้งตัว นอนไม่ค่อยได้ เป็นทุกข์ ไม่อยากทุกข์ เหมือนที่ยายเจ้านายเป็นอยู่ เป็นผลของการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เคยพูดแล้วยายก็ไม่เชื่อ เพราะเป็นวิถีชีวิตของเขา ก็เลยเลิกพูด ปล่อยไป อยากทำอะไร ก็ทำไป ไม่ห้าม เดี่ยวมีปัญหาต่อกันอีก ไปครั้งก่อน แกให้ซื้อปลาช่อนเป็นๆ จะนำมาขังไว้ เพื่อทำเป็นอาหาร ซึ่งแกไม่ได้ฆ่าเองหรอก แกบอกว่า เดี๋ยวให้คนอื่นทำให้ ทั้งเราและเจ้านาย ไม่มีใครซื้อให้ เราสงสาร น้องสาวของยายนะ แกรักยายมากจริงๆ จะฆ่าสัตว์อะไร ยอมทำให้พี่สาวหมด ไม่ยอมให้พี่สาวทำ(ยาย)

Previous Older Entries

กรกฎาคม 2014
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031  

คลังเก็บ