สิ่งสำคัญ ” อย่าโกหกตัวเอง “

 
                            การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4  ที่เราปฏิบัติโดยสภาวะนั้น ไม่ใช่การยึดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  เพราะไม่ว่าใครๆจะปฏิบัติแบบไหน สามารถนำไปสลับปรับเปลี่ยนตามสภาวะของแต่ละคนได้  โยคีจะเป็นผู้เลือกสภาวะเอง  หาใช่จากผู้แนะนำบอกให้ทำตามไม่   เราเป็นเพียงแค่ผู้แนะนำหรือผู้ดูสภาวะเท่าน ไม่ใช่ผู้สอน  เราไม่ชอบสอนใครๆ เพราะไม่ชอบเรื่องการติดตาม  การที่โยคีปฏิบัติตามสภาวะหรือตามแนวทางที่ตัวเองถนัดนั้น  จะไปได้ดี  ดีกว่า ถูกตีกรอบว่าจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้  แต่ สำหรับบางคนก็ต้องใช้รูปแบบบังคับ  กุศลแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป  แนวทางจึงมีหลากหลายเพราะเหตุนี้  ฉะนั้น การปฏิบัติจึงไม่มีถูกหรือผิด  เพียงแต่เราวัดกันที่ ทำแล้วมีสติไหม ทำแล้วเห็นกิเลสตัวเองไหม  ถ้าทำแล้ว กิเลสตัวเองเพิ่มมากขึ้น หรือเห็นแต่กิเลสชาวบั้น นั่นคือ ผิดทางอย่างแน่นอน  ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุที่ทุกๆคนได้กระทำมาทั้งสิ้น  เพียงหมั่นสร้างแต่เหตุดี หมั่นทำความเพียรในการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบทางที่ถูกต้องเอง  ทำไปเถิด ประเสริฐกว่าไม่ได้ทำ  ดีกว่าไปจดจ้องไปมองว่าถูกหรือผิด  สุดท้ายตายเสียก่อนที่จะได้ลงมือทำ  สะสมไปนะ ทำมากทำน้อย  ทำตามสะดวก ทำตามถนัด …..
 
                            การปฏิบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าโกหกตัวเอง  เพราะถ้าสามารถโกหกตัวเองได้ จะไม่มีวันได้พบเจอกิเลสที่แท้จริงๆ  เจอแค่ลูบคลำกิเลส  ปฏิบัติไปจะเจอแต่สุข สงบ สบาย  แต่กิเลสในใจกลับมองไม่เห็นมัน  สุดท้าย เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดๆหนึ่งก็จะติดอุปกิเลส  เหตุเพราะมองไม่เห็นกิเลสในใจของตัวเอง  ไม่รู้จักตัวกิเลสที่แท้จริง พอไปติดเลยไม่รู้ว่าติด  มีวิธีแก้วิธีเดียวคือ เจริญสติเท่านั้น  เช่น เดินจงกรมให้มากขึ้น  กำหนดในอริยาบทย่อยให้มากขึ้น  พูดทุกอย่างตามความเป็นจริง  คนที่สอบอารมณ์เท่านั้น เขาจะรู้ว่า ควรปรับอะไร ควรลดอะไร  แรกๆจึงควรมีผู้แนะนำเพราะเหตุนี้ 
 
                            อุปกิเลส 10 คืออะไร  แล้วทำไมถึงเรียกว่า อุปกิเลส  ซึ่งไม่ว่าจะเป็น โอภาส สติ ความสงบ ความศรัทธา ปีติ สุข ความเพียร อุเบกขา  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดี ทำไมถึงมาเรียกว่า อุปกิเลส  ส่วนมากคนมาตกม้าตายที่ด่านนี้กัน  เพราะว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้น  แล้วมีเจ้านิกันติ คือ ความยินดี ความติดใจ ความชอบใจ ความต้องการ ความพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งคุณวิเศษ 9 ประการ  เลยกลายเป็นกิเลสไป
 
                           เมื่อเป็นกิเลสไปเสียแล้ว  โยคีจึงไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงได้  คุณวิเศษทั้ง 9 เลยกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติไปโดยปริยาย  ไม่สามารถก้าวหน้าต่อไปได้  ยกเว้นได้รับการแนะนำที่ถูกต้องคือ  จงอย่าพอใจหรือติดใจในสิ่งเหล่านี้  วิธีแก้คือ ให้เดินจงกรมให้มากขึ้น เจริญสติให้มากขึ้น  เวลานั่งควรมีสติรู้อยู่กับกายและจิตให้มากขึ้น  ถ้าสมาธิมากเกินสติ ให้ปรับนั่งให้น้อยลง  เพิ่มการเดินให้มากกว่า
 
 
ข้อความต่อไปนี้ นำมาจากหนังสือ วิปัสนาทีปนีฎีกา รจนาโดย หลวงพ่อภัททันตระ อาสภะมหาเถระ
 
อิเม โภสาทโย อุปกิเลสวตฺถุตาย อุปกิเลสาติ วุตฺตา น อกุสลตฺตา นิกนฺติ ปน อุปกิเลโส เจว อุปกิเลสวตฺถุ จ วตฺถุวเสเนว เจต ทส คาหวเสน ปน สมตึส โหนฺติ
 
 
                    วิปัสสนูกิเลสตั้งแต่โอภาส จนถึง อุเบกขา ๙ ประการนี้ เรียกว่า อุปกิเลส เพราะเป็นที่อาศัยของ ตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ  ทั้ง ๙ ประการนี้  ตัวจริงแท้ๆ ไม่ได้เป็นอกุศลเลย  แต่ประการสุดท้ายคือ นิกันติ  เป็นอุปกิเลสด้วย ทั้งเป็นที่อาศัยของอุปกิเลสด้วย  อุปกิเลส ๑๐  ประการนั้น นับโดยที่ตั้งหนึ่งๆเป็นที่อาศัยของอกุศล ๓ ตัว คือ ตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ  ก็คอยหาโอกาสแทรกเข้ามา  เช่น  เมื่อโอภาส ปรากฏขึ้น ทิฏฐิก็จะเกิดแก่โยคี  ทำให้นึกคิดไปว่า  แสงสว่างเกิดขึ้นนี้  คงเป็นเพราะ ตนได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว  ต่อจากนั้นมานะ ก็จะเกิดขึ้น ทำให้นึกคิดไปว่า ตนมีบุญแท้ๆ  ต่อจากนั้น ก็จะยินดีชอบใจว่า  ขอให้เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป  อันแสดงว่า ตัณหา เกิดขึ้นแล้ว  เลยทำให้โภสซึ่งตัวจริงแล้วเป็นของดีแท้ๆ มากลายเป็นอุปกิเลสไป
 
 
                    

สังโยชน์ 10

 
                           คำว่า  สังโยชน์  แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องผูกใจสรรพสัตว์ไว้ในภพ ๓ หมายความว่า  สัตว์ทั้งหลายพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะมีเครื่องผูกไว้ อุปมาดุจเชือกผูกขานก ถึงแม้นกตัวนั้นจะบินไปไหนก็ตาม  บุคคลผู้ถือเชือกนกไว้ในมือ สามารถจะดึงลงมาได้สมปรารถนาฉันใด  กิเลสทั้งหลายก็ฉันนั้น  เพราะฉะนั้น  ผู้ใดไม่ต้องการให้ถูกกิเลสผูก ไม่ต้องการให้ถูกกิเลสจองจำ ต้องตัดสังโยชน์ทิ้งเสีย
 
๑. สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าเป็นตัว ตน เรา เขา เช่น ในการนั่ง ในการนอนว่าเรานอน เป็นต้น
 
๒. วิจิกิจฉา  ความสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุญ บาป นรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน
 
๓. สีลัพพตปรามาส  ได้แก่  ความยึดถือในการปฏิบัติที่ผิด  ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ด้วยเข้าใจว่ามีได้  บริสุทธิ์ได้ด้วยศิลหรือพรต  อย่างนั้นอย่างนี้จริงๆ  แม้การกระทำที่หวังความสุขในโลกหน้า แม้ไม่ได้กระทำตามทางแห่งมรรค ๘ ซึ่งสามารถจะทำให้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ก็จัดเป็นสีลพพตปรามาสทั้งสิ้น
 
๔. กามราคะ  ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม และวัตถุกาม  ได้แก่ความ พอใจในกามคุณ ๕ ความติดอยู่ในกามคุณมีอยู่ ๒ อย่างคือ
 
๔.๑  อปายคมนียะ  ได้แก่  กามราคะที่นำไปสู่อบายภูมิเช่น  เมื่อกามรมณ์ทั้ง ๕  มากระทบทวารทั้ง ๕  แล้วมีความยินดี พอใจเป็นอย่างมาก  คือ เกินขอบเขตแห่งศิลธรรม  จนถึงสามารถล่วงอกุศลกรรมบถได้  ตัวอย่างเช่น  ความพอใจในรูปที่มากระทบ  สามารถให้กระทำกรรมอันเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ เป็นต้น
 
๔.๒  อนาปายคมนียะ  ได้แก่  กามราคะที่ไม่นำไปสู่อบายภูมิ  แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ
 
ก. อย่างหยาบ  ได้แก่  ความพอใจในกามรมณ์ทั้ง ๕  ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น  แต่ความพอใจนั้น ถึงหากจะมีอยู่ก็ไม่รุนแรง  เป็นความพอใจที่ปรากฏอยู่ แต่ในใจเพียงเล็กน้อย
 
ข. อย่างละเอียด  ได้แก่  กามรมณ์ทั้ง ๕  เมื่อมากระทบทวารทั้ง ๕  แล้วไม่อาจให้เกิดความยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆได้  เช่น รูปรมณ์ที่มากระทบทางตา  แม้จะมีความสวบงามสักเพียงใดก็ตาม  ไม่สามารถจะทำให้เกิดความกำหนัด  ยินดีติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆได้
 
พระโสดาบัน  ละกามราคะที่จะนำไปสู่อบายได้โดยเด็ดขาด
 
พระสกทาคามี  ละกามราคะที่ไม่นำไปอบายอย่างหยาบได้
 
พระอนาคามี  ละกามราคะที่ไม่นำไปอบายอย่างละเอียดได้
 
๕. ปฏิฆะ  ได้แก่  ความไม่พอใจในอามรณ์ทั้งหลายที่มากระทบ  โดยองค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิกนั่นเอง  แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ นำไปสู่อบาย ๑  ไม่นำไปสู่อบาย ๑
 
๖. รูปราคะ  ได้แก่  ความพอใจ ยินดีในรูปภพ  รูปฌาน  คือ  มีความพอใจในการเจริญสมถกรรมฐาน  ด้วยมีความมุ่งหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว  จะได้ไปปฏิสนธิในรูปภพ  ความยินดีพอใจดังกล่าวมานี้  ย่อมประกอบด้วยโลภะ  จึงชื่อว่า  รูปราคะ
 
                            หากจะมีคำถามสอดแทรกเข้ามาว่า  คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น  สอนให้พุทธบริษัทพากันปฏิบัติศิล สมาธิ ปัญญา  คำว่า  สมาธิ  ก็ได้แก่  การปฏิบัติสมถกรรมฐานนั่นเอง  เพราะเหตุใด จึงกล่าวว่า  การปฏิบัติสมถกรรมฐานเป็นรูปราคะและเป็นสังโยชน์ประการหนึ่ง
 
                            ขออธิบายว่า  การปฏิบัติ สมถกรรมฐาน  เป็นการบำเพ็ญสมาธิก็จริง  แต่โดยเฉพาะอานิสงส์ของสมถกรรมฐาน  ย่อมให้ผลปฏิสนธิในพรหมภูมิ  อันเป็นการติดอยู่ในภพ  เมื่อยังติดอยู่ในภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์  การที่พระพุทธศาสนาสอนให้ปฏิบัติสมาธินั้น  ก็เพื่อให้สมาธิเป็นบาทของปัญญา  หมายความว่า     เมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้ว  ก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไป  ผู้ใดปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วติดอยู่แค่นั้น  ไม่ปฏิบัติวปัสสนากรรมฐานต่อไปอีก  ผู้นั้นได้ชื่อว่า ติดอยู่ในสังโยชน์  ไม่ถึงความพ้นทุกข์ได้
 
๗. อรูปราคะ  ได้แก่  ความยินดี พอใจในอรูปภพ หรืออรูปฌาน
 
๘. มานะ  ได้แก่  ความถือตัว  เห็นว่าตัวสำคัญยิ่งกว่าผู้อื่น  ย่อมเป็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา  เป็นเขา  มานะนั้นตามที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๙๔  จำแนกออกเป็นหลายอย่างดังนี้
 
มานะ  ๑  คือ  ความฟูของจิต  ได้แก่  ความถือตัว
 
มานะ  ๒  คือ  การยกตน ๑  การข่มผู้อื่น ๑
 
มานะ  ๓  คือ  ถือว่าตัวประเสริฐกว่าเขา ๑  ตัวเสมอเขา ๑  ตัวเลวกว่าเขา ๑
 
มานะ  ๔  คือ  ลาเภน มาน ชเนติ  ยังมานะให้เกิดขึ้นเพราะ  ลาภ เพราะยศ เพราะความสรรเสริญ เพราะสุข
 
มานะ  ๕  คือ  ลาภิมฺหิ มนาปิกานํ รูปานนฺติ มานํ ชเนติ  ยังมานะให้เกิดขึ้นว่า  เราได้รูปทั้งหลายอันเป็นที่พอใจ  เราได้เสียง  ได้กลิ่น  ได้รส  ได้โผฏฐัพพะทั้งหลายอันเป็นที่พอใจ
 
มานะ  ๖  คือ  จกฺขุสมฺปทาย มานํ ชเนติ  ยังมานะให้เกิดขึ้นเพราะ  ความถึงพร้อมแห่งจักขุ ฆานะ ชิวหา กายะ มนะ
 
มานะ  ๗  คือ
 
๑  มโน  ถือตัว
 
๒  อติมา  ดูหมิ่นท่าน
 
๓  มานาติมาโน  ได้แก่  มานะที่เกิดขึ้นว่า  " เมื่อก่อนคนนี้เสมอเรา  เดี๋ยวนี้ประเสริฐกว่าเรา  ส่วนคนนี้เลวกว่าเรา "
 
๔  โอนาโม  ได้แก่  มานะต่ำ  เช่น  มานะว่า ตนเป็นคนต่ำ เป็นคนเลว
 
๕  อธิมาโน  ได้แก่  มานะยิ่ง  เช่น ตนไม่ถึงสัจจะ ๔ แต่เข้าใจว่า ตนถึง  ตนไม่ได้กระทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ แต่เข้าใจว่าตนได้ทำแล้ว  ตนไม่ได้บรรลุสัจธรรม ๔ แต่เข้าใจว่าตนได้บรรลุแล้ว  ตนไม่ได้ทำให้แจ้งอรหันต์  แต่เข้าใจว่า ตนทำให้แจ้งแล้ว  เป็นตัวอย่าง
 
๖  อสฺมิมาโน  ได้แก่  มานะที่เกิดในขันธ์ ๕
 
๗  มิจฺฉามาโน  มานะผิด  ได้แก่  มานะที่เกิดขึ้นพร้อมกับการงานอันลามก  เช่น พรานปลา พรานเนื้อ
 
ศิลปะ อันลามก  เช่น ฉลาดในการสร้างเครื่องมือทำบาป มี แห อวน บ่วง แหลน หลาว ฟ้าทับเหว เป็นต้น
 
วิชชาอันลามก  เช่น  ภาตยุทธ์ การรบของพระเจ้าภารตะ และสีหหรณะ การแย่งนางสีดา เป็นต้น
 
ปฏิภาณอันลามก  เช่น  คำทุพภาษิต เป็นต้น
 
ศิลอันลามก  เช่น  รักษาศิลอย่างแพะ  ปฏิบัติอย่างโค เป็นต้น  และมานะ ได้แก่ มานะที่เกิดขึ้นพร้อมกับทิฏฐิอันลามก คือ ทิฏฐื ๖๒
 
 
มานะ  ๘  ได้แก่  มานะที่เกิดขึ้นเพราะโลกธรรม ๘ คือ เกิดขึ้นเพราะลาภ ๑ เสื่อมลาภ ๑ เพราะยศ ๑ เสื่อมยศ ๑ เพราะสรรเสริญ ๑ นินทา ๑ เพราะสุข ๑ ทุกข์ ๑
 
มานะ ๙  คือ
 
๑  เป็นผู้เลิศกว่าเขา  สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
 
๒  เป็นเลิศกว่าเขา  สำคัญตัวว่าเสมอเขา
 
๓  เป็นผู้เลิศกว่าเขา  สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
 
๔  เป็นผู้เสมอกว่าเขา  สำคัญตัวว่าเสมอเขา
 
๕  เป็นผู้เสมอเขา  สำคัญตัวว่าเสมอเขา
 
๖  เป็นผู้เสมอเขา  สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา
 
๗  เป็นผู้เลวกว่าเขา  สำคัญตัวว่าเสมอเขา
 
๙  เป็นผู้เลวกว่าเขา  สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา
 
มานะ ๑๒ คือ  บุคคลบางคนในโลกนี้  ยังมานะให้เกิดขึ้นเพราะชาติ โคตร ตระกูล รูปสวย  ทรัพย์ อัธยาศัย การงาน ศิลปะ วิชา สุตะ ปฏิภาณ และเพราะวัตถุอื่นๆอีก
 
๙.  อุทธัจจะ  ได้แก่  ความฟุ้งซ่าน  ไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้  มีความไม่สงบเป็นลักษณะ  อุปมาดุจน้ำไหล  น้ำกระเพื่อมเพราะถูกลมพัด  ฉะนั้น  อุทธัจจะจะเกิดขึ้นเพราะ การใส่ใจอารมณ์โดยอุบายไม่แยบคาย
 
๑๐.  อวิชชา  แปลว่า  ความไม่รู้  มีอยู่ ๖ นัย คือ
 
นัยที่ ๑  คือ  อญฺญาณทสฺสนอวิชฺชา  ความไม่รู้โดยทั่วๆไป
 
นัยที่ ๒  คือ  อปฏิปตฺติอวิชฺชา  ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องและไม่ปฏิบัติในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง  มิจฺฉาปฏิปตฺติอวิชฺชา  ปฏิบัติอยู่แต่ปฏิบัติผิด ๑
 
นัยที่ ๓  ไม่รู้เวทนา ๓  คือ  ไม่รู้โสมนัสสเวทนา  ไม่รู้โทมนัสเวทนา  และไม่รู้อุเปกขาเวทนา
 
นัย ๔  คือ  ไม่รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
 
นัย ๕  คือ  ไม่รู้คติทั้ง ๕ ได้แก่  มนุสสคติ เทวคติ นิริยคติ เปตคติ ติรัจฉานคติ
 
นัย ๖  คือ  ไม่รู้ทวารทั้ง ๖ และไม่รู้อารมณ์ทั้ง ๖
 
ถาม  โลภมูลจิต  นั้น  ทั้งหมดมีเท่าไหร่ อะไรบ้าง 
 
ตอบ  มี ๘ คือ
 
๑.  โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ  เวลาทำบาป มีความดีใจ เห็นว่า ไม่เป็นบาป ทำบาปเอง
 
๒.  เวลาทำบาป  มีความดีใจ เห็นว่าไม่เป็นบาป มีผู้ชักชวน จึงทำบาป
 
๓.  เวลาทำบาป  มีใจเฉยๆ  เห็นว่าไม่เป็นบาป ทำบาปเอง
 
๔.  เวลาทำบาป  มีใจเฉยๆ เห็นว่าไม่เป็นบาป มีผู้ชักชวนจึงทำบาป
 
๕.  โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสุงฺขาริกํ  เวลาทำบาปมีความดีใจ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ ทำเอง
 
๖.  เวลาทำบาป  มีความดีใจ เป็นว่าเป็นบาปอยู่ มีผู้ชักชวนจึงทำบาป
 
๗.  เวลาทำบาป  มีใจเฉยๆ เห็นว่าเป็นบาปอยู่ ทำบาปเอง
 
๘.  เวลาทำบาป  มีใจเฉยๆ เห็นว่าเป็นบาปอยู่  มีผู้ชักชวนจึงทำบาป
 
                            ที่จะละอภิชฌา  คือ โลภะได้ ต้องปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔  ปฏิบัติขั้นต้น คือ ผ่านญาณ ๑๖ ครั้ง ที่ ๑ ละโลภะได้ ๔ ข้อข้างต้น   ปฏิบัติผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ จึงจะละโลภะได้หมดสิ้น ไม่มีเหลือ
 
 
จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๒ มหาสติปัฏฐานสูตร หลวงพ่อโชดก

สภาวะที่แสนเกลียด

                          เกลียดนะสภาวะนี้  เกิดทีไร เราจะต้องเป็นแบบนี้ทุกที  ต้องโดนทุกทีสินะ  กระทบไม่ได้เลย  กระทบแล้วจะต้องเป็นแบบนี้ทุกที  เราเฝ้าบอกตัวเองให้อดทน  สักวันเราจะต้องผ่านมันไปได้ในที่สุด  พักนี้ชักจะเกิดถี่แฮะ  เพิ่งจะเกิดไปไม่กี่วันเองนี่นา  เหมือนสภาวะมันบีบเรา  ให้เรายอมแต่เราไม่ยอม  เราฝืนเอาไว้  ตอนนี้เริ่มถอยออกมาจากสภาวะตรงนั้นได้ เพิ่งทำได้วันนี้เอง มันวืดขึ้นมาอีก  แต่เราตั้งสติทัน ฝืนเอาไว้ แล้วถอยออกมา ….
                         สังเกตุหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเราได้ยินเสียงเหมือนหลอดไฟระเบิด หรือ เรามีอาการเหมือนโดนไฟดูดทั้งตัวเมื่อไหร่ นั่นคือ สภาวะนั้นจะเกิด   บางทีจะได้ยินเสียงเหมือนไฟฟ้ามันช็อตกัน  นี่คือ สภาวะนี้มันจะเกิด  เมื่อไม่มีตัวแปรมากระตุ้น  การเกิดสภาวะนี้ ถอยห่างออกไป  แต่วันนี้งงมาก  สภาวะเราวันนี้ปกติดี  เพียงแต่สมาธิเริ่มดีขึ้นมาอีกระดับ แต่ก็ยังคงต้องเดิน 3 ชม. เหมือนเดิม ถึงจะนั่งสมาธิได้  ตอนเที่ยงที่เกิดสภาวะนี้ สมาธิเกิดประมาณ 1 ชม.  แต่รอบเย็น ไม่เกิดเพราะสมาธิไม่มีกำลังมากพอ  …
                        สภาวะที่เกิดขึ้นในตอนนี้  ถึงจะไม่รู้สึกทรมาณมากมายเหมือนเท่ากับทุกๆครั้ง  แต่เราก็ยังเกลียดสภาวะนี้อยู่ดี  ใจมันโหวงๆบอกไม่ถูกนะ  เจอการกระทบไม่ได้เลย  เรายังแพ้กิเลสมันอยู่   มันเป็นจุดอ่อนของตัวเราเอง 
                        

ปัญหาข้อที่ ๓ กลางวันเป็นเปลวได้แก่อะไร?

 
ปัญหาข้อที่ ๓ ถามว่า กลางวันเป็นเปลว ได้แก่อะไร?
 
ตอบว่า  ได้แก่ การประกอบการงาน คือ การงานน้อยใหญ่ ตามหน้าที่ของตนๆ การงานนั้นแบ่งประเภท ๒ อย่างคือ
 
๑. การงานทางโลก
 
๒. การงานทางธรรม
 
๑. การงานทางโลก  นั้น บุคคลย่อมพากันทำตามสมควรแก่ฐานะของตน  เช่น 
ชาวนาก็ต้องตากฝน ทนแดด  ในการทำนา  มีการคราด ไถ หว่าน เกี่ยว เก็บ เป็นต้น 
ชาวสวน ก็ต้องลำบากในการทำสวน  มีดายหญ้า รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน เป็นต้น
พ่อค้าก็ต้องร้อนด้วยการวิ่งไปซื้อวิ่งขาย  หรือนั่งร้านคอยหาลูกค้า เป็นต้น
ข้าราชการก็ต้องร้อนด้วยการทำงานตามหน้าที่ของตน 
 
พูดโดยย่อก็คือ  กลางวันร่างกายไม่ได้อยู่เป็นสุขเหมือนกลางคืน ต้องร้อนด้วยการประกอบการงานทั้งเล็กทั้งใหญ่เสมอไป
ซึ่งเปรียบเหมือนกับไฟอันลุกเป็นเปลวอยู่ ฉะนั้น
 
๒. การงานทางธรรม นั้น จำแนกออกเป็น ๔ อย่างคือ
 
๑. ปริมาณสีลขนฺธโรปนํ  ได้แก่  การรักษาศิล ๕ – ๘ – ๑๐ – ๒๒๗
 
๒. อรญฺญวาโส  ได้แก่  การอยู่ป่า  ตามสมณวิสัยของผู้ปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสให้ปราศจากขันธสันดานของตน ตามหน้าที่ของพุทธบุตร
 
๓. ธูตงฺคปริหรณํ  การถือธุดงค์  ตามหลักของพุทธศาสนา
 
๔. ภาวนารามตา  การเจริญสมถกรรมฐาน  และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  เพื่อให้ได้ฌาน  และเพื่อให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
ผู้ปฏิบัติจะต้องร้อน  คือ ร้อนเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
 
๑. อาตาปี  มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว  เผาให้ไหม้ ให้หมดไป ให้สิ้นไปจากขันธสันดานของตน
 
๒. สติมา  ผู้ปฏิบัติต้องร้อน  คือ รีบสังวรระมัดระวังมิให้กิเลสไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ต้องรีบ ต้องร้อนต้องกัน ต้องปิดไว้ด้วยสติ
 
๓. สมฺปชาโน  มีสัมปชัญญะ  คือ ความรู้อยู่ทุกๆขณะ  รู้เท่าทันอารมณ์ และรูปนาม  อันได้แก่ ปัญญา นั่นเอง
ซึ่งจำแนกออกเป็น ๔ อย่าง มีสาตถกสัมปชัญญะ เป็นต้น
 
รวมความว่า  การงานทางธรรมก็ต้องร้อนเหมือนกันกับทางโลก  แต่ต่างกันที่ภาวะคือ ทางโลกร้อนนั้น ร้อนเพื่อร้อน 
ทางธรรมนั้น  ร้อนเพื่อเย็น  ร้อนคือรีบร้อน  เพื่อดับทุกข์  เพื่อตัดกิเลส  เพื่อดับไฟอันเป็นต้นตอของความร้อน
ในวัฏฏสงสาร   ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า " กลางวันเป็นเปลว " ได้แก่ การประกอบงาน  ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น
 
จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หลวงพ่อโชดก
 

ความทุกข์ของพระติสสเถระ

 
ในกรุงสาวัตถี บุตรของกุฏมภีชื่อติสสะ ละทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ออกบวชโดดเดี่ยวอยู่ในป่าที่ไม่มีบ้าน. ภริยาของน้องชายท่าน ส่งโจร ๕๐๐ ให้ไปฆ่าท่านเสีย . พวกโจรไปล้อมท่านไว้ . ท่านจึงถามว่า “ ท่านอุบาสกมาทำไมกัน ” พวกโจรตอบว่า “ มาฆ่าท่านนะซิ ” ท่านจึงได้พูดขอร้องว่า ท่านอุบาสกทั้งหลาย โปรดรับประกันมาตมา ให้ชีวิตอาตมาสักคินหนึ่งเถิด .

พวกโจรกล่าวว่าสมณะ “ ใครจักประกันท่านในฐานะอย่างนี้ได้ ” พระเถระก็จับหินก้อนใหญ่ทุบกระดูกขาทั้งสองข้าง แล้วกล่าวว่าประกันพอใหม เหล่าโจรพวกนั้นก็ยังไม่หลบไป กลับก่อไฟนอนเสียที่ใกล้จงกรม พระเถระข่มเวทนา พิจารณาศีล อาศัยศีลที่บริสุทธิ์ ก็เกิดปีติและปราโมช ลับดับต่อจากนั้น ก็เจริญวิปัสสนา ทำสมณธรรมตลอดคืน ในยามทั้งสามพออรุณขึ้น ก็บรรลุพระอรหัตผลจึงเปล่งอุทานว่า

อุโภ ปาทานิ ภินฺทิตฺวา สญฺญมิสฺสามิ โว อหํ
อฏฏิยามิ หรายามิ สราคมรเณ อหํ

เอวาหํ จินฺตยิตฺวาน ยถาภูตํ วิปัสฺสิสํ

สมฺปตฺต อรุณุคฺคมหิ อรหตฺตํ อปาปุณึ.

เราทุบเท้าทั้งสองข้าง ป้องกันท่านทั้งหลาย
เราเอือมระอาในความตายทั้งที่ยังมีราคะ เราคิดอย่างนี้แล้ว

ก็เห็นแจ้งตามความเป็นจริง พอรุ่งอรุณมาถึง เราก็บรรลุพระอรหัต ดังนี้..

*-*ทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป *-*

ภิกษุ ๓๐ รูป อีกกลุ่มหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจำพรรษาในวัดป่า ทำกติกากันว่า ผู้มีอายุ เราควรทำสมณธรรม ตลอดคืนฝนยามทั้งสาม เราไม่ควรมายังสำนักของกันและกัน แล้วต่างคนต่างอยู่

เมื่อภิกษุเหล่านั้นทำสมณธรรม ตอนใกล้รุ่งก็โงกหลับเสือตัวหนึ่งก็มาจับภิกษุไปกินทีละรูป ๆ ภิกษุไร ๆ ก็มิได้เปล่งแม้วาจาว่าเสือคาบผมแล้ว ๆ ภิกษุถูกเสือกินไป ๑๕ รูป ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงวันอุโบสถภิกษุที่เหลือก็ถามว่า ท่านอยู่ที่ไหน และรู้เรื่องแล้วกล่าวว่า ถูกเสือคาบควรบอกว่า บัดนี้เสือคาบไป ๆ แล้วอยู่กันต่อไป

ต่อมาเสือก็จับภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง โดยนัยก่อน ภิกษุหนุ่มก็ร้องว่า เสือขอรับ ภิกษุทั้งหลายก็ถือไม้เท้า และคบเพลิงติดตามหมายว่าจะให้ทันปล่อย เสือก็ขึ้นไปยังเขาขาด ทางที่ภิกษุทั้งหลายไปไม่ได้ เริ่มกินภิกษุนั้น ตั้งแต่นิ้วเท้า ภิกษุทั้งหลายนอกนั้น ก็ได้แต่กล่าวว่าสัปบุรุษ บัดนี้ กิจที่พวกเราจะต้องทำไม่มี ขึ้นชื่อว่าความวิเศษของภิกษุทั้งหลายย่อมปรากฏในฐานะเช่นนี้

ภิกษุหนุ่มนั้น นอนในปากเสือ ข่มเวทนา เจ็บปวด แล้วเจริญวิปัสสนาตอนเสือกินข้อเท้า เป็นพระโสดาบัน ตอนกินไปถึงหัวเขาเป็นพระสกทาคามี ตอนเสือกินถึงท้อง เป็นพระอนาคามี ตอนเสือกินไปยังไม่ถึงหัวใจ ก็บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงเปล่งอุทาน ดังนี้

สีลวา วตฺตสมฺโน บญฺญวา สุสมาหิโต
มุหุตฺตํ ปมาทมนฺวาย พฺยคฺเฆ โน รุทฺธมานโส ปญฺชรสฺมึ โส

คเหตฺวา สิลาย อุปรี กโต กามํ ขาทตุ มํ พฺยคฺโฆ

อฏฺฐิยา จ นฺหารุสฺส จ กิเลเส เขปยิสฺสามิ ผุสิมฺสามิ วิมุตฺติยํ

เรามีศีล ถึงพร้อมด้วยวัตร มีปัญญา
มีใจมั่นคงดีแล้ว อาศัยความไม่ประมาท ครู่หนึ่ง

ทั้งที่มีใจไม่คิดร้ายในเสือ มันก็จับไว้ในกงเล็บ พาไปไว้บนก้อนหิน

เสือจงกินเราถึงกระดูกและเอ็นก็ตามที เราจักทำกิเลสให้สิ้นไป จักสัมผัสวิมุตติ ดังนี้…

 
 
เรื่องโทมนัสของท้าวสักกะ

ก็ท้าวสักกะ จอมเทพ ทรงเห็นบุพพนิมิต ๕ ประการ ของพระองค์ถูกมรณะภัยคุกคาม เกิดโทมนัส เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหา ท้าวเธอก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยเทวดาแปดหมื่นองค์ด้วยอำนาจการวิปัสสนาอุเบกขาปัญหา เรื่องการอุบัติของเธอจึงกลับเป็นปกติอีก

เรื่องโทมนัสของสพรหมเทพบุตร

แม้สุพรหมเทพบุตร อันนางเทพอัปสรพันหนึ่ง ห้อมล้อม ก็เสวยสรรค์วมบัติ ในจำพวกนางเทพอัปสรพันหนึ่งนั้น นางเทพอัปสรห้าร้อยมัวเก็บดอกไม้จากต้น ก็จุติไปเกิดในนรก สุพรหมเทพบุตรรำพึงว่าทำไมเทพอัปสรเหล่านี้ชักช้าอยู่ ก็รู้ว่าพวกนางไปเกิดในนรก จึงหันหน้ามาพิจารณาดูตัวเอง อายุเท่าไรแล้วหนอ ก็รู้ว่าตนจะสิ้นอายุ จะไปเกิดในนรกนั้นด้วยก็หวาดกลัว เกิดโทมนัสอย่างยิ่ง เห็นว่า พระบรมศาสดาเท่านั้น จะยังความโทมนัสของเรานี้ให้พินาศไป ไม่มีผู้อื่น แล้วก็พานางเทพอัปสรห้าร้อยที่เหลือเข้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหาว่า

นิจฺจุตฺรมิทํ จตฺตํ นิจฺจุพฺพิคฺคมิทํ
มโน อนุปฺปนฺเนสุ กิจฺเจสุ อโถ อุปฺปตฺติเตสุ จ

สเจ อตฺถิ อนุตฺรสฺตํ ตํ เม อกฺขาหิ ปุจฺฉิโต

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ จิดใจนี้หวาด
อยู่เป็นนิตย์ ทั้งในกิจที่ยังไม่เกิด ทั้งในกิจที่เกิดแล้ว

ถ้าหากว่าความไม่หวาดสะดุ้งมีอยู่ ขอพระองค์ที่ถูกทูลถามแล้ว

โปรดบอกความไม่หวาดสะดุ้งนั้น แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสบอก สุพรหมเทพบุตร

(ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ) ว่า
นาญญฺญตฺร โพชฺฌา นาญฺญตร อินฺทฺริยสํวรา

นาญฺญตฺร สพฺพปฏินิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาฌินํ

นอกจากปัญญาเครื่องรู้ ตปะเครื่องเผาความชั่ว
นอกจากความสำรวมอินทรีย์นอกจากความสละคืน

ทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็มองไม่เห็นความ สวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้..

ในที่สุดเทศนา สุพรหมเทพบุตรก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยนางเทพอัปสรห้าร้อยทำสมบัตินั้น ให้ถาวรแล้วกลับไปยังเทวโลก

มรรคนี้อันบุคคลเจริญแล้ว บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อดับโทมนัส เหมือนอย่างโทมนัสของท้าวสักกะ เป็นต้น ดังกล่าวมานี้

มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นอริยะ เรีบกว่า ญายธรรม ในข้อที่ว่า ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุญายธรรม ท่านอธิบายว่า เพื่อบรรลุ คือเพื่อถึงญายธรรมนั้น จริงอยู่ มรรค คือสติปัฏฐานที่เป็นโลกียะเบื้องต้นนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคที่เป็นโลกุตตร เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อบรรลุญายธรรม…

ข้อว่า เพื่อทำให้เเจ้งพระนิพพาน ท่านได้อธิบายว่า เพื่อทำให้แจ้ง คือเพื่อประจักษ์ด้วยตนเอง ซึ่งอมตธรรมที่ได้ชื่อว่านิพพาน เพราะเว้นจากตัญหาเครื่องร้อยรัด จริงอยู่ มรรคนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังการทำให้แจ้งพระนิพพานให้สำเร็จไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ดังนี้….

นกพุทธรักขิต

 

คำว่า "มหาสติปัฏฐาน" หมายถึง การตั้งสติอย่างใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมหาสติปัฏฐานแก่พระภิกษุและชาวแคว้นกุรุรัฐ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ นิคม ชื่อกัมมาสทัมมะ* มีใจความสำคัญว่า

"ภิกษุทั้งหลาย หนทางสายเอกสายเดียวนี้คือ เอกายโน มคฺโค (เอกายนมัคค์) เป็นทางที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจเพื่อให้เข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยการตั้งสติ 4 อย่าง"

มีคำกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมหาสติปัฏฐาน 4 แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และปวงชนทั่วไปแห่งกุรุรัฐ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ

1. ผู้ฟังพระธรรมเทศนามีสุขภาพกายดี

2. เป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดสามารถรับพระธรรมเทศนาที่มีอรรถะ ลึกซึ้งได้

3. เป็นผู้มีความเพียรสูง

 

เพราะเหตุไร พระผู้เป็นเจ้า จึงตรัสพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว ก็เพราะชนชาวแคว้นกุรุสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งได้.

เล่าว่าชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าเป็นภิกษุหรือภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัย คือฤดูเป็นที่สบายเพราะแคว้นนั้น สมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะ เป็นต้น . ชาวกุรุนั้นมีกำลังปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุ่นแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ่งนี้ได้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความสามรถรับเทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ จึงทรงยกกัมมัฆฐาน ๒๑ ฐานะใส่ลงในพระอรหัตตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถอันลึกซึ้งนี้ แก่ชาวกุรุเหล่านั้น เปรียบเสมือนบุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม่นานาชนิดลงไปในผอบทองนั้น หรือว่าบุรุษได้**บทองแล้ว พึงใส่รตะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้ง ด้วยเหตุนั้นแล.

ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรอื่น ๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้งในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้ ก็คือมหานิทานสูตรในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ก็คือ สติบัฏฐานสูตร สาโรปมสูตร รุกโขปมสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคัณฑิยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร..

อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้น ต่างก็ประกอบเนือง ๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุด คนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วย สติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย..

ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า “ คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใส่ใจสติปัฏฐานข้อไหน ” นางก็จะไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่าน่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริง ๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้วต่อนั้นก็จะสอนเขาว่าอย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ

แล้วให้เข้าเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง แต่สตรีผู้ใดพูดว่า “ ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ ” ชาวกุรุที่เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยการใส่ใจดูสติปัฏฐานแต่พวกเดียวเท่านั้น แม้แต่สัตวดิรัจฉาน ที่อาศัยชาวกุรุอยู่ก็ใส่ใจ เจริญสติปัฏฐานด้วยเหมือนกันในข้อนั้น มีเรื่องสาธกดังต่อไปนี้…..

ลูกนกแขกเต้า

นักฟ้อนรำผู้หนึ่ง จับลูกนกแขกเต้าได้ตัวหนึ่ง ฝึกสอนมันพูดภาษาคน (ตัวเองเที่ยวไปแสดงการฟ้อนรำในที่อื่น ๆ ) นักฟ้อนรำ ผู้นั้นอาศัยสำนักของนางภิกษุณีอยู่ เวลาไปในที่อื่น ๆ ลืมลูกนกแขกเต้าเสียสนิทแล้วไป . เหล่าสามเณรีก็จับมันมาเลี้ยง ตั้งชื่อมันว่า พุทธรักขิต.

วันหนึ่ง พระมหาเถรี เห็นมันจับอยู่ตรงหน้า จึงเรียกมันว่า พุทธรักขิต ลูกนกแขกเต้าจึงขานถามว่า “ อะไรจ๊ะ แม่เจ้า” พระมหาเถรีจึงถามว่า “ การใส่ใจภาวนาอะไร ๆ ของเจ้ามีบ้างใหม่ ” มันตอบว่า “ไม่มีจ๊ะแม่เจ้า” พระมหาเถรีจึงสอนว่า “ ขึ้นชื่อว่าผู้อยู่ในสำนักของพวกนักบวช จะปล่อยตัวอยู่ไม่สมควร ควรปรารถนาการใส่ใจบางอย่าง แต่เจ้าไม่ต้องสำเนียกอย่างอื่นดอก จงท่องว่า อัฏฐิ อัฏฐิ ก็พอ” ลูกนกแขกเต้านั้น ก็อยู่ในโอวาทของพระเถรี ท่องว่า อัฏฐิ อัฏฐิ อย่างเดียวแล้วเที่ยวไป

วันหนึ่งตอนเช้ามันจับอยู่ที่ยอดประตู ผึ่งแดดอ่อนอยู่ แม่เหยี่ยวตัวหนึ่งก็เฉี่ยวมันไปด้วยกรงเล็บ . มันส่งเสียง กิริ ๆ . เหล่าสามเณรี ก็ร้องว่าแม่เจ้า พุทธรักขิต ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป เราจะช่วยมัน ต่างก็คว้าก้อนดินเป็น ไล่ตามจนเหยี่ยวปล่อย เหล่าสามเณรีนำมันมาวางไว้ตรงหน้าพระมหาเถรี ๆ ถามว่า พุทธรักขิตขณะเจ้าถูกเหยี่ยวจับไปเจ้าคิดอย่างไร ?

ลูกนกแขกเต้าตอบว่า “ แม่เจ้า ไม่คิดอะไร ๆ ดอก คิดแต่เรื่องกองกระดูกเท่านั้นจ๊ะแม่เจ้า ว่ากองกระดูกพากองกระดูกไป จักเรี่ยราดอยู่ในที่ไหนหนอ.” พระมหาเถรีจึงให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ พุทธรักขิตนั้นจักเป็นปัจจัย แห่งความสิ้นภพของเจ้า ในกาลภาคหน้าแล.

แม้สัตว์ดิรัจฉานในแคว้นกุรุนั้น ก็ประกอบเนือง ๆ ซึ่งสติปัฏฐาน ด้วยประการฉนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงความเจริญแพร่หลายแห่งสติปัฏฐานของชาวกุรุเหล่านั้นจึงได้ตรัสพระสูตรนี้…

4. มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ นับแต่คนรับใช้ไปจนถึงผู้ใช้แรงงาน

5. เรื่องที่สนทนากันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ก็เจริญสติปัฏฐาน กล่าวหรือพูดกันถึงแต่เรื่องสติปัฏฐาน 4 ทั้งสิ้น

 

ชีวิตทั้งหลายในห้วงวัฏสงสารนี้ หากยังเวียนว่ายอยู่ในความมืดมน ชีวิตนั้นย่อมต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยาวนานราวกับไม่มีวันจบสิ้น

ใช่ว่าทุกชีวิตจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะตราบใดที่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงปรากฏอยู่ ตราบนั้นย่อมมีผู้ได้โอกาสในการสร้างสมบารมี ด้วยความปรารถนาที่จะไปให้ถึงวันแห่งการบรรลุธรรมอย่างแน่นอน

แต่ใครบ้างที่จะสามารถไปถึงวันนั้นได้ ตัวเราเองจะมีโอกาสแค่ไหน และอีกยาวนานเพียงใด กว่าที่เราจะไปถึงวันนั้น คำถามเหล่านี้อาจหาคำตอบได้จากเรื่องราวของชีวิตหนึ่งในอดีตกาล

ชีวิตนั้น เป็นเพียงนกแขกเต้าตัวหนึ่ง ซึ่งนักกายกรรมได้นำมาเลี้ยง และสอนให้พูด แล้วพาออกตระเวนแสดงตามเมืองต่างๆ

ครั้งหนึ่ง นักกายกรรมได้ไปพักอาศัยที่สำนักของนางภิกษุณี อนิจจา! เขาได้ลืมนกแขกเต้าไว้ ณ ที่นั้น

เมื่อสามเณรีได้มาพบนกแขกเต้า นางดีใจมาก รีบนำนกแขกเต้ามาเลี้ยงไว้ที่กุฏิ แล้วตั้งชื่อให้ว่า “พุทธรักขิต”

อยู่มาวันหนึ่ง นกพุทธรักขิตได้บินไปจับลงเบื้องหน้าพระเถรี พระเถรีจึงทักว่า

“เจ้าสบายดีหรือ พุทธรักขิต”

“สบายดีขอรับ พระแม่เจ้า”

“เจ้ามาอยู่ในสำนักที่มีการเจริญภาวนา เจ้าก็ควรที่จะบริกรรมภาวนาสักบทหนึ่งเถิด เอา

บทง่ายๆ ที่เหมาะกับเจ้า คือบทว่า อัฏฐิ อัฏฐิ เท่านี้ก็พอ เจ้าจงหมั่นภาวนาให้ขึ้นใจนะ” แล้วพระเถรีก็อธิบายรายละเอียดต่อไปว่า

“พุทธรักขิต เจ้าจงพิจารณาดูร่างกายที่ มีกระดูกเป็นดังเรือนพัก มีเนื้อหนังห่อหุ้มอยู่ภายในนั้นเต็มไปด้วยของโสโครก เหมือนหม้อใส่มูตรคูถที่เน่าเหม็น แต่ภายนอกงดงามน่า น่าชม เจ้าจงพิจารณาดูตามนี้ แล้วหมั่นภาวนาว่า อัฏฐิ อัฏฐิ อย่าได้ประมาท ”

พุทธรักขิตรับคำพระเถรี ด้วยความเคารพ แล้วตั้งใจภาวนาธรรมนั้น จะไปไหนก็ภาวนาอยู่เสมอมิได้ขาดเลย

วันหนึ่ง นกพุทธรักขิตจับอยู่ที่ข้างบันได แผ่หาง กางปีก อย่างเบิกบาน พลางภาวนาว่า “อัฏฐิ อัฏฐิ อัฏฐิ” ไปเรื่อยๆ

ขณะนั้น มีเหยี่ยวตัวหนึ่งตรงเข้าโฉบนกพุทธรักขิตไป หมายจะกินเป็นอาหาร สามเณรีที่เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น รีบจับฉวยสิ่งของที่พอหาได้ ขว้างปาเหยี่ยว เพื่อจะให้ปล่อยนกนั้น

เหยี่ยวตกใจกลัวจึงปล่อยนกแขกเต้า แล้วรีบบินหนีไป

สามเณรี ทั้งหลาย จึงนำนกมาพบพระเถรี พระเถรีจึงถามว่า

“พุทธรักขิต เมื่อเจ้าถูกเหยี่ยวโฉบจับไป เจ้าคิดอะไรบ้าง”

นกตอบว่า “มิได้คิดเรื่องอื่นเลย ได้แต่ภานาว่า อัฏฐิ อัฏฐิ (กองกระดูกจับเอากระดูกไป) แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นขอรับ ”

พระเถรีก็ชื่นชม พร้อมกับแนะนำให้หมั่นภาวนาไป จักได้เป็นบุญกุศล และเป็นวาสนาติดตัวไปในภพเบื้องหน้า

ต่อมาเมื่อนกพุทธรักขิตตายไป ด้วยใจที่เป็นกุศลจดจ่อต่อการภาวนา ทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลมั่งคั่งแห่งเมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา

ครั้นเจริญวัยขึ้น วันหนึ่งได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งมีศีลาจารวัตรงดงาม ก็รู้สึกศรัทธา ด้วยเหตุที่คุ้นเคยกับนักบวชมาก่อน ทำให้ในชาตินี้ เกิดมีใจรักในการบวชทันที จึงลาบิดามารดาไปบวช แล้วเจริญภาวนาตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งสอน ด้วยอานิสงส์จากการสั่งสมในอดีต พอเจริญภาวนาไปถึงบทว่า “อัฏฐิ อัฏฐิ” รู้สึกถูกอัธยาศัยยิ่งนัก จึงได้เจริญภาวนา โดยยึดเอากรรมฐานข้อนี้เป็นอารมณ์อยู่เสมอ

วันหนึ่งท่านเดินทางไปในเมือง ระหว่างทางมองเห็นหญิงคนหนึ่งผู้ทะเลาะกับสามี แล้วเดินหนีออกมา ด้วยอำนาจภาวนาธรรมที่เคยสั่งสมมาดีแล้ว พอท่านได้เห็นฟันของหญิงนั้น เห็นความไม่งามของกระดูก ก็เกิดอัฏฐิกรรมฐานขึ้น ทำให้ใจของท่านปล่อยวางจากสิ่งทั้งหลาย สงบ หยุดนิ่งอยู่ภายใน ผ่องใสไปตามลำดับ จนเข้าถึงธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณในขณะนั้นเอง

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่นกน้อยพุทธรักขิตสามารถพัฒนาชีวิตของตนได้ ถึงเพียงนี้

พุทธรักขิตได้ย่นย่อระยะทางการสร้างบารมีของตนได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งที่เหลือเชื่อก็เป็นจริงได้เสมอ ด้วยอานุภาพแห่งใจของผู้ที่ทำจริง

ใจของพุทธรักขิตมิเคยหวั่นไหวถ่ายถอนจากภาวนาธรรมเลย ไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่ในภาวะร้ายแรงเพียงใด

ใจเช่นนี้ย่อมเป็นใจที่มุ่งตรงต่อเป้าหมาย เป็นใจที่พร้อมอย่างยิ่งในการเข้าถึงธรรม นกแขกเต้าผู้ต่ำต้อย สามารถพลิกชีวิตสู่ความเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วเราผู้ซึ่งได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ได้เจริญสมาธิภาวนา จะมัวรอช้าอยู่ไย ?

ระวังหลงสภาวะ

 
                            มีผู้ปฏิบัติส่วนมากที่ปฏิบัติเอง แล้วไม่มีครูบาฯหรือกัลยาณมิตรสอบอารมณ์ให้  อาจทำให้หลงสภาวะคิดว่าตัวเองนั้นปฏิบัติแล้วได้อะไร และเป็นอะไร  ดังตัวอย่างที่นำมาให้อ่าน  นี่เรียกว่าหลงสภาวะ    …..
 
ขอเล่าการฝึกนั่งสมาธิจากประสบการณ์…
…ไม่ได้ทำแบบเอาเป็นเอาตาย…เวลานั่งมีหลักของใจใช้"พุทโธ"บริกรรม…
…ปกติก็จะนั่งสมาธิได้ไม่นาน…เพราะผ่านการฝึกมาน้อยมาก…
…เวลานั่งพอรู้สึกว่าชาก็จะเริ่มขยับเพราะกลัวว่าเลือดไปเลี้ยงขาไม่พอ…

…ประสบการณ์ที่ตนเองประสบคือสงบระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านต่างๆจนจิตรวมเป็นหนึ่ง…
…จิตกับกายแยกส่วนเห็นได้ชัดเจนว่า…ที่เราเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกันมันไม่ใช่…
…เพราะสิ่งที่เกิดขณะนั้นมีแต่ผู้รู้คือจิตอยู่โดดๆไม่รับรู้อาการของกาย…ลมหายใจไม่มี…
…แต่ไม่รู้สึกขาดอากาศแต่อย่างใด…เราไม่ตาย และรับรู้เสียงเทศนาธรรมตลอดเวลา…
 
 
                         สภาวะนี้ผู้ปฏิบัติเข้าใจสภาวะแบบผิดๆคิดว่าตัวเองได้อะไร  และเป็นอะไร  จริงๆแล้วเป็นผลของการทำสมาธิที่เกิดจากการเจริญอานาปนสติ   การภาวนาพุทธโหรือภาวนาใดๆก็ตาม  ถ้าเป็นการกำหนดด้วยลมหายใจ  เมื่อจิตเป็นสมาธิ ลมหายใจจะละเอียดจนเรียกว่าแทบจะจับไม่ได้เลย  เมื่อจิตเป็นสมาธิจะมีสติประกอบอยู่  ผู้ปฏิบัติจึงระลึกได้ว่ายังคงมีกายอยู่  คำว่า ไม่รับรู้อาการของกาย  อาจจะมีเวทนาเกิด  แต่ผู้ปฏิบัติไม่ได้รู้สึกปวดตาม  อันนี้เกิดจากการมีสติและอำนาจของสมาธิข่มหรือกดเอาไว้   ….
 
                        กล่าวโดยสภาวะนี้  ถ้าผู้ปฏิบัติสังเกตุจะเห็นอาการของกายที่เคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากๆคือ ท้องพองยุบ ตามลมหายใจเข้าออก  แต่เพราะไม่มีใครแนะนำผู้ปฏิบัติ  เลยทำให้เข้าใจผิดไปว่า ไม่มีลมหายใจแล้ว แต่ตนเองนั้นไม่ตาย เลยคิดว่าตนเองได้พบธรรมอันวิเศษ  เวลาที่จับลมหายใจไม่ได้  ให้กลับมาดูที่กายแทน จะเห็นท้องพองยุบ ให้จับอาการพองยุบแทน  จิตจะได้ไม่ไปติดนิ่ง ติดปีตแลสุข  พอลมหายใจเริ่มมี ให้กลับไปจับลมหายใจ  สลับไปสลับมาแบบนี้  ถ้าเวทนาเกิดให้ดูเวทนา  ตัวไหนชัดให้จับตัวนั้น  ให้จิตมีงานทำตลอดเวลา  บางคนใช้วิธีพิจณาขณะที่นั่ง  จะทำแบบนั้นก็ได้ 
 
                        เลยทำให้หลงสภาวะไป  เพราะดูจากการที่ผู้ปฏิบัติได้สนทนากับพระ แล้วปรามาสล่วงเกินพระ  โดยผู้ปฏิบัติอ้างว่าไม่ได้มีจิตเช่นนั้น แต่ทุกๆคำพูดแสดงออกถึงความมีมิจฉาทิฏฐิ  นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของผู้ปฏิบัติที่เข้าใจสภาวะแบบผิดๆ   ….
 
 
…เมื่อได้ฟังธรรมเกิดศรัทธาก็เข้าวัดสิเจ้าคะ…เวลาฟังท่านเทศน์สดๆน่ะ….
…ท่านเทศน์สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังคิดทุกครั้ง…เวลาไปวัดข้าพเจ้านั่งอยู่ท้ายศาลา…
…ไม่เคยเข้าไปเรียนถามอะไรท่าน……แค่ถามในใจท่านก็ตอบให้แล้วเจ้าค่ะ…
…ตอนข้าพเจ้านั่งสมาธิจนจิตรวมก็ตอนท่านเทศนาสดๆ…5ปีที่ปฏิบัติ…
…ถ้านับเวลาที่ได้เห็นธรรมว่าจิตกับกายแยกส่วนก็ผ่านมา 3 ปีเท่านั้นเอง…
…นับแต่นั้นไม่เคยสงสัยธรรมของพระพุทธเจ้า…ท่านเรียนถึงนิพพานหรือยัวเจ้าคะ…สงสัยหรือไม่
:b10: :b18:
 
…ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าเห็นควรเปิดท่านก็เปิด…อย่างตอนไปโปรดพระบิดาและพระญาติ
…ท่านพระอาจารย์แสนปราชญ์เรียนทางธรรม…น่าจะทราบดีกว่าโยมที่ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก…
…พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์…ปาฏิหาริย์ต่างๆมากมายนั่นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าทรงแสดง
…ต่อสายตาผู้คนยุคนั้น…หรือท่านอยากให้หลวงตาเหาะไปหาท่านล่ะเจ้าคะ…
…ตอนนี้หลวงตา 97 พรรษาไม่อยากมาทัศนาท่านดอกหรือเจ้าคะ.
..
:b20:
 
…เขียนมายืดยาวท่านอ่านแล้ว…อาจจะแย้งไปในใจตลอด…ลองมาดูวัดป่าบ้านตาดสิเจ้าคะ…
…อัฐิที่กลายเป็นพระธาตุของครูบาอาจารย์สายพระกรรมฐานพระอาจารย์เสาร์และหลวงปู่มั่น…
…อยู่ชั้น2บนศาลาเก่าเต็มไปหมด…แล้วก็พระธาตุของพระอาจารย์ปัญญาชาวต่างประเทศก็มี… :b8:

ลองพิจารณาข้อความนี้เจ้าค่ะ…เช่นกันคนไปสวิสเซอร์แลนด์กับมาเล่าว่าสวยมาก…
…เราไม่ได้ไปแต่ก็แค่เขาเล่าเราก็ฟัง…แต่ไม่รู้ว่าสวยยังไง…เรายังอยากไปหรือท่านไม่อยากพ้นทุกข์…
…บวชไปเพื่อสิ่งใด…ทุกวันนี้…เมื่อมีโอกาสว่างการงาน…ข้าพเจ้าไปวัดป่าบ้านตาด…
…ก็ยังคงนั่งอยู่ท้ายศาลาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนเจ้าคะ…เขียนมายาวมาก…อ่านแล้วเดี๋ยวตาลาย…
:b23:

…สงสัยก็ถามมาอีกได้เจ้าค่ะ…ฟังคนอื่นพูดจะเท่าเห็นด้วยตัวเองหรือเจ้าคะ…พอแค่นี้ก่อนเจ้าค่ะ…
…พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร 10 นั่นน่ะของจริง…คำสอนมาจากของจริง…ข้าพเจ้าเขียน…
…ไม่ได้หวังให้ใครมาเชื่อโดยไม่พิสูจน์ก่อน…เพียงอธิษฐานขอให้เป็นผู้ที่ได้มีโอกาสเผยแผ่ธรรม…
…คำสอนของพระพุทธเจ้า…ผู้ที่พิสูจน์ได้เอง…ย่อมไม่เสียที่ที่เกิดเจอพระพุทธศาสนา…
…ให้ดีมาที่วัดป่าบ้านตาดสิเจ้าคะ…หลวงตายังอยู่รอท่านมาพิสูจน์?…ทุกท่านเลยนะเจ้าคะ…
:b8: :b8:
 
เจริญในธรรมพระพุทธศาสดาอุบาสิกา
ที่อุบาสิกาแสดงมาทั้งหมดก็ดี และอนุโมทนาด้วย
ถ้าอุบาสิกาทบทวนคำถามแล้วจะเข้าใจในคำตอบที่ควรตอบ คำถามที่ควรถาม ไม่เบียดเบียนตนเอง
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ควรเป็นคำตอบเพื่อประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อโทษ
คำถามของอาตมาไม่ใช่เป็นการกล่าวร้ายหลวงตาอย่างที่อุบาสิกาเข้าใจและพรรณามาแม้แต่น้อย
ตรงกันข้ามเป็นการส่งเสริมจริยวัตรหนึ่งของหลวงตาที่กล้าประกาศสภาวะออกมา
อาตมานับถือครูบาอาจารย์เสมือนพ่อแม่ และหลวงปู่ดุลย์ ศิษย์หลวงปู่มั่นสายเดียวกันกับหลวงตา
ก็เป็นพระอุปัชฌาย์ของอาจารย์อาตมา ดังนั้นจึงไม่มีจิตดังที่อุบาสิกาเข้าใจ แต่ถ้าหากทำให้อุบาสิกา
ไม่สบายใจก็ขออโหสิกรรมด้วย อาตมาสนทนาในเว็ปนี้ จุดประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้ หาสิ่งที่เป็นประโยชน์
ไม่มีโทษ เป็นไปเพื่อปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อโต้เถียง จึงไม่มีเจตนากล่าวร้ายใคร ๆ ทั้งสิ้น
อาตมาให้อภัยเสมอกับทุกคนที่อาจจะล่วงเกินอาตมาโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
อยากให้อุบาสิกาทบทวนคำถามของอาตมาอีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

เจริญในธรรมพระพุทธศาสดา
เข้าใจ เข้าถึง เผยแผ่ ปกปักษ์รักษาพระสัทธรรม
พระอาจารย์แสนปราชญ์

 
…ในสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน…เขียนด้วยความเคารพครูบาอาจารย์…และเคารพในคุณพระพุทธ…
…พระธรรม…และพระสงฆ์…ไม่มีเจตนาคิดในทางเบียดเบียนผู้ใด…ถ้อยคำที่ร้อยเรียง…
…มาจากจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมของผู้เจตนาให้ศีล5บริสุทธิ์ไม่ให้หลุดขาด… :b6:
…ในความรู้สึกของผู้ที่ไม่รู้จักหลวงตามหาบัวจะเข้าใจผิดว่าที่ข้าพเจ้าเขียนหยาบคาย…
 

กิจวัตรประจำวัน

 
                           บางคนสงสัยว่าวันๆเราทำอะไรบ้าง  แล้วปฏิบัติตอนไหนบ้าง  วันละกี่ครั้ง กี่ชม. เพราะพักหลังนี่แทบจะไม่ได้เขียนเล่าเรื่องการปฏิบัติให้ได้อ่านบ้างเลย   ชีวิตเราวันหนึ่งๆ ทำงานกับใช้เวลาที่เหลือจากการทำงานคือ อยู่บ้าน โอกาสที่จะไปนอกบ้านน้อยมากๆ  ไม่ชอบไปเที่ยว  ไม่ชอบสถานที่คนพลุกพล่าน  คือ พออกนอกบ้านที่ไร จิตที่อันแสนจะสงบของเรานั้นมันวุ่นวายทุกทีในการเห็นภาพผู้คนขวักไขว่ไปมา  ไม่รู้สินะ  บางทีก็ไปยืนบนสะพานลอย  เวลาไปแถวอนุเสาวรีย์ชัยฯ  บนสะพานลอยคนจะเยอะสุดๆ  ยืนมองรถ มองคน ทำให้อยากอยู่แต่บ้าน  …
 
                           พอไปวัดกับเพื่อนๆ  ไม่รู้สินะ  ไม่อยากไปติติงใครๆเขา  แต่ภาพที่ผู้คนเฝ้ากราบไหว้ซากต้นตะเคียนเก่าๆ  นั่งขูดเลขกันเอาเป็นเอาตาย  เห็นลงกระหม่อมกัน เพื่อทางวัดจะได้จำหน่ายของเพื่อนำเงินนั้นมาบำรุงวัด  บางทีสติไม่ทัน ต้องกำหนดคิดหนอๆๆๆ รู้หนอๆๆๆ  บางทีก็เห็นหนอๆๆๆ รู้หนอๆๆๆ  มันรู้สึกสะเทือนใจต่อภาพที่มองเห็น  ขณะที่เขียนอยู่นี่ ภาพต่างๆมันตีขึ้นมา  รู้สึกตื้อๆอยู่ในอก อยู่ในลำคอ  รู้สึกเศร้าใจ   ก็ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไรนัก  พูดแล้วจิตมันหดหู่ทุกที   …..
 
                           ก็พยายามคิดนะ  เราเองก็เคยเป็นแบบคนเหล่านั้นมาก่อน ไม่ใช่ไม่เคยเป็น  เพราะความไม่รู้  เรามีจุดอ่อนในจิตเยอะนะ  คำว่า เพราะความไม่รู้นี่ก็เป็นหนึ่งในจุดอ่อนในจิตของเรา  เอ่ยทีไรสะเทือนใจทุกๆครั้ง  เพราะเรื่องราวสารพัดเรื่องราวผ่านๆมา ที่เราเห็นถึงความผิดพลาดในอดีตที่เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้เลย  บางทีการกลับไปย้อนแก้ไขก็ใช่ว่าจะได้ผลดีกลับมาทั้งหมด  เพราะ ตราบใดที่จิตยังถูกครอบงำด้วยอวิชชาไว้  ยังไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงได้  ตราบนั้นความผิดพลาดย่อมมีเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ….

เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้

 
                                          แมวนี้พอเขาโตแล้ว ถ้าเพศเดียวกัน เขาจะไม่ยอมกันเลยนะ  เหมือนปีโป้กับป๋อมแป๋ม  อาโปหรือปีโป้นี่กร่างยังไม่พอ  แสบสุดๆเลย  คีย์บอร์ดและเมาท์ของเรา  ต้องเสียตังค์ซื้อใหม่หลายครั้งละ เวลาเจ้าสองตัวนี่เขาฟัดกัน  แต่ก็เป็นการสอนเราให้เก็บข้าวของให้เกลี้ยงเรียบวุธ  แบบเดินไปไหนนี่ ต้องดันแป้นเก็บเข้าที่  ไม่งั้นนะ เวลาเขาซัดกันน่ะ ระเนระนาดเลย  เขาชอบไปซัดกันใต้โต๊ะคอมฯ  …
 
                                         ส่วนไดม่อน ( กระต่าย ) นี่ก็ทำให้เราเก็บสายไฟได้อย่างเรียบร้อยที่สุด  ไม่งั้นโดนเขากัดแหลกเลย  สายเมาท์ ลำโพง  คืออะไรที่เป็นสายๆน่ะ เขาจะกัดหมด ถ้ามาเกะกะตรงที่เขานอน  แล้วชอบเข้ามานอนใต้โต๊ะคอมฯเหมือนกัน  เรียกว่า ถ้าเรานั่งที่โต๊ะคอมฯเมื่อไหร่  ทั้งแมวและกระต่ายจะต้องมานอนเฝ้าทันที   บางทีเราก็เผลอนะ  เหยียบเขาเต็มเท้าเลย  ก็ลืมไปน่ะ  ไม่ทันมอง พวกร้องจ๊ากเลย
 
                                         บางทีเรานั่งมองอาโปเขาเลียหน้าตาให้ไดม่อน  คือ ม่อนเขาจะมีปัญหาน้ำตาไหลตลอด  น้ำตาเหม็นด้วย  แล้วอาโปเขาจะเลียทำความสะอาดให้  เราน่ะนั่งใจวั๊บๆแวมๆ กลัวอาโปมันงาบหัวไดม่อนเข้าปาก  อาโปเขาเลียให้จนหน้าตาม่อนสะอาดเลยนะ  แล้วม่อนเองเขาก็เลียทำความหน้าและตัวให้อาโป  แล้วเจ้าจอมแสบก็เอาหัวนอนหนุนไปที่ตัวพี่ม่อน  กระต่ายตัวนิดเดียวเอง  แมวตัวโตยังกะอะไร  แต่พี่ม่อนเขาปล่อยนะ เขาหลับกันทั้งยังงั้นแหละ   นี่ก็มานอนเฝ้าเราอยู่ใต้โต๊ะคอมฯทั้งคู่เลย
 
                                         ส่วนแป๋ม  หนีออกจากบ้านไปแล้ว  ไปอยู่บนหลังคาหลังบ้านโน่น  โดนอาโปมันฟัดเอา  แป๋มสู้ไม่ได้  หลังบ้านระเนระนาดเลย  เราน่ะเอาไม้แขวนเสื้อไล่ตีขู่ให้แยกกัน  พอเผลอก็ฟัดกันอีก  สุดท้ายแป๋มเลยต้องหนีไป 
 
                                          คิดถึงบ้านที่สัตหีบนะ  น้องบอกว่า เราชอบอยู่คนเดียวก็ให้ปลูกบ้านใหม่สิ ปลูกแบบง่ายๆ  เพราะอยู่คนเดียว  มันยังมีที่เหลืออีก 50 ตรว. ข้างบ้านน่ะ  ต้นไม้เพียบเลย  อากาศดีมากๆ  แต่เรายังอยากทำงานตรงนี้อยู่นะ  น้องชวนให้กลับไปทำงานที่บ้าน  ไม่รู้สินะ  … 

ขอจงอดทนทำความเพียร

   
                          ความดี ขอให้ตั้งใจทำกันจริงๆ ทำจริงย่อมได้รับผลจริง ขอเพียงมีความอดทน ตั้งใจทำความเพียรกันให้ต่อเนื่อง ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย การแผ่เมตตา การกรวดน้ำ ขอให้น้อมจิต ตั้งจิตให้มั่น ตั้งใจอธิษฐานให้เขาจริงๆ บุญนั้นย่อมส่งผลถึงคนๆนั้นอย่างแน่นอน

 
                            ของแม่กว่าจะได้ผลนานมากๆเลย  ตอนนี้แม่ได้งานที่ทำแล้วสบายขึ้น  แม่ยังอยากทำงานอยู่  ทั้งๆที่น้องๆขอให้อยู่บ้าน แม่ไม่ยอม  แม่บอกว่าแขนขายังดี จะให้มาอยู่เฉยๆแม่ไม่เอา แม่กลัวเป็นแบบพ่อ  พ่อพอเกษียณอยู่บ้านได้แค่ปีเดียว จู่ๆพ่อไม่สบายแล้วก็เสียชีวิตไป แม่กลัวเป็นแบบนี้  แม่เลยไม่ยอมอยู่บ้านเฉยๆ   เมื่อวานได้ข่าวคนที่คบกัน ก็จะ 1 ปีแล้วสินะ คนๆนี้เราอธิษฐานให้เขาตลอด  ขอให้เขามีความสุข  แรกๆเราก็ห่วงนะกับคำสัญญาที่เราให้ไว้กับเขา  วิบากกรรมเรากับเขาคงหมดสิ้นต่อกันแล้ว  เขาแต่งงานกับคนอาชีพเดียวกัน แล้วผู้หญิงคนนี้ปฏิบัติที่วัดสังฆทานประจำ  เห็นเขาว่า คนที่เคยคบกันนั้นเดี๋ยวนี้ใจเย็นกว่าเมื่อก่อน  และไปวัดตลอด 
 
                          จริงๆแล้วเขายังคงติดต่อเราอยู่ บางครั้งเขาติดขัดเรื่องงาน แต่ไม่บอกเราแฮะว่าแต่งงานแล้ว แต่งมาสามเดือนแล้ว ดีใจนะที่เขาได้พบกับคนที่เขาเคยสร้างเหตุที่เป็นกุศลต่อกัน  เขาถึงได้ยอมเข้าวัด  เขาเคยสร้างเหตุร่วมกันมา จึงมาเชื่อกันอีก  ตอนนี้ก็เหลือกัลยาณมิตร  อธิษฐานทุกวันขอให้เขามีความสุข ส่วนจะสุขแบบไหนนั้นอยู่ที่เหตุที่เขากระทำ  เหมือนคนที่เคยคบกัน  เหมือนแม่ของเรา  ทุกอย่างล้วนเกิดจากเหตุที่ได้เคยกระทำมา  และเหตุที่เขาได้กระทำในชาตินี้  ทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นนะ  ไม่ใช่จู่ๆจะมาเกิดขึ้นเอง  …
 
                          ความรัก  เมื่อเรารักใครสักคน เมื่อมีราคะ เข้ามาแทรก  ย่อมมีโทสะเกิด วิบากกรรมย่อมเกิด  ภพชาติใหม่ย่อมเกิด  ขอบคุณสภาวะความรัก ที่ทำให้เราได้เผชิญอะไรหลายๆอย่าง  ทำให้เราได้รู้จักความรักที่แท้จริง และได้รู้จักสภาวะของความรักว่ามีอยู่จริง เหมือนที่หลวงพ่อพูด ไม่เรียนหรือจะรู้ ไม่ดูหรือจะเห็น ไม่ทำหรือจะเป็น จะลำเค็ญย่ำแย่จนแก่ตาย

Previous Older Entries

พฤศจิกายน 2009
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30  

คลังเก็บ