ไม่แน่นอน

ชีวิตไม่มีอะไรที่แน่นอน แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่จะได้ดั่งใจ ล้วนมีแต่เหตุแล้วก็เหตุ เพียงแต่ว่า จะมองเห็นเหตุที่มาของเหตุนั้นๆแล้วหรือยังเท่านั้นเอง

หากแม้นว่ายังมองไม่เห็น ก็ยังคงหลงสร้างเหตุของเหตุใหม่ต่อไปเรื่อยๆ เหตุซ้อนเหตุ มีแต่เหตุแล้วก็เหตุไม่รู้จบ ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ ตาบใดที่ยังถูกครอบงำด้วยกิเลส

ตราบนั้น เราก็ตกเป็นขี้ข้ากิเลสที่มีอยู่ในใจของตัวเองนี่แหละ ไม่ใช่ของใครที่ไหนเลย เพราะยังมีความไม่รู้ จึงหลงกล่าวโทษนอกตัวตลอดเวลา ถ้ารู้แล้ว จะไม่โทษใครๆเลย

มีแต่จะมุ่งมั่นเจริญสติให้ต่อเนื่อง เพราะจะได้มีสติเป็นอาวุธคู่มือ เอาไว้รับมือกิเลสยามที่เกิดการกระทบ ทุกๆการกระทบที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลให้เกิดไม่ว่าจะความชอบหรือชังหรืออะไรก้ตามที่ส่งให้จิตกระเพื่อม

สิ่งที่เกิดแล้วส่งผลต่างๆให้เกิดขึ้นในจิตนี้ ล้วนเป็นผลของเหตุที่ทำไว้ทั้งสิ้น หากไม่มีเหตุต่อกันแล้ว การกระทบใดๆ ย่อมไม่ส่งผลให้จิตกระเพื่อมอย่างแน่นอน นี่แหละเหตุใหม่ละถ้าหลงตอบโต้ออกไป

มิตรตอนกู้ ศัตรูตอนคืน

เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ เรื่องยืมเงินนี่แหละ ทั้งๆที่เป็นคนให้เขายืม โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยหรือหวังจะได้อะไรจากเขา ทุกอย่างมันคือเหตุจริงๆ

เราได้ช่วยเหลือช่างเสริมสวย ให้เขายืมเงินไปสี่หมื่นกว่า ใช้บัตรเครดิตรูดให้ แรกๆเหมือนจะไม่มีอะไรนะ แต่พอนานวัน เรื่องกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรารู้สึกรำคาญและจุกจิกหัวใจยิ่งนัก

ตอนนี้เราไม่แปลกใจแล้ว กับเรื่องราวต่างๆที่เขาเล่าให้เราฟัง ทำไมเขาจึงชอบว่าคนที่ให้ความช่วยเหลือเขา เอาความไม่ดีของอีกฝ่ายมาพูดให้เราฟัง มันเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ เขามีแต่ว่าคนอื่นๆ แต่ไม่เคยดูพฤติกรรมของตัวเอง

เวลาเขาต้องการความช่วยเหลือจากใคร เขาจะพยายามพูดให้เกิดความสงสารในชีวิตที่เขาเป็นอยู่ พยายามทุกทางเพื่อจะได้เงินจากอีกฝ่าย ยกทุกเรื่องที่เขาลำบากมาพูดให้ฟัง แล้วพอเราช่วยได้ เขาจะพูดแสดงความซาบซึ้งใจที่เราช่วยเขา

เงินของเราแท้ๆ อยู่ดีๆแท้ๆ แต่เราผิดเองที่สงสารเขา ไปช่วยเหลือเขา นี่ยังดีที่เขาผ่อนใช้ให้มาตลอด ไม่ได้โกงเราแต่เราแต่อย่างใด แต่ก็สร้างปัญหาให้เรารำคาญใจกับเรื่องที่เขานำไปพูดลับหลัง

เอาเราไปว่าเสียๆหายๆ หาว่าเราเอาเปรียบ คิดดอกเบี้ยเขา ทั้งๆที่เราไม่ได้มีส่วนได้จากเงินตรงนั้นเลยแม้แต่สักบาทเดียว ซึ่งพอต่อหน้าเขาจะพูดอีกอย่าง พูดให้เราสงสารเขา นี่ดีนะที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน ถ้าเขาเป็นผู้ชายล่ะ

หมดกันแล้ว เราไม่อยู่ใกล้เขา ไม่ฟังในสิ่งที่เขามาพูดให้ฟัง คนเรานะ ต้องให้เขาลำบาก ให้เขายืนด้วยตัวเอง ให้ทุกข์ด้วยตัวเอง ส่วนเขาจะเข็ดหรือไม่เข็ด นั่นคือชีวิตเขา เหตุของเขา

สำหรับเรา ครั้งนี้เข็ดจริงๆ ถึงแม้จะได้เงินคืนก็ตาม เข็ดในเรื่องใจคน กลับกลอกยิ่งนัก เวลาจะเอาเงินเรา พูดให้สงสารสารพัด พอได้แล้ว กลายเป็นอีกอย่าง มิน่าเขาถึงชอบนำเรื่องของคนแต่ละคนที่ให้เขายืมเงิน เวลาที่คนเหล่านั้นไปทวงเงินเขา

เรานะ บาทเดียว สลึงเดียว ไม่เคยมีจิตคิดอยากได้อะไรของใครๆเลย ถ้าคิดให้คนอื่นๆมากกว่าล่ะก็ใช่นั่นคือเรา เรามีแต่คิดจะให้มากกว่าที่จะรับของใคร

ต่อไปนี้ คนนอกครอบครัว เราจะไม่ให้ใครๆยืมเงินอีกเลย มีแต่เหตุ ส่วนคนในครอบครัว ยังไงๆก็คือคนในครอบครัวเราเอง ให้คนในครอบครัวกินยังดีกว่า อย่างน้อยยังได้ชื่อว่าอุปถัมป์คนในครอบครัว เห็นกันอยู่ตลอด

ไม่ว่าจะคืนหรือไม่คืนกัน ก็ยังพูดบอกกันได้ แต่คนนอกครอบครัวนี่คนละเรื่องเลย ยิ่งพูด ยิ่งมีแต่เหตุ อันนี้เราพูดจากประสบการณ์ที่เราเจอมาด้วยตัวเอง

มันมีแต่เหตุจริงๆนะ คิดดูละกัน ลองพิจรณาดู วันนี้เขาอาจจะคืนเราหรือไม่คืน ถึงแม้ว่าเราอโหสิกรรมให้ก็จริงอยู่ กรรมระหว่างเรากับคนยืมย่อมจบสิ้นลงไป เพราะเราดับที่เหตุคือตัวเราเอง แต่ผลกรรมหรือวิบากของคนที่มายืมยังคงมีอยู่

สิ่งที่เขาทำลงไป เอาทรัพย์ของคนอื่นๆไป ไม่ว่าคนที่ให้ยืมนั้น จะให้ด้วยจิตแบบไหนก็ตาม แต่มันคือการยืมกัน สุดท้าย ฝ่ายอโหสิกรรมให้จบเหตุลงไปได้ แต่คนที่ยืมแล้วไม่คืนนี่สิ เขาก็ต้องโดนคนอื่นๆทำกับเขาต่อ เหมือนเหตุที่เขาไว้

ฉะนั้นเราจึงดับที่ต้นเหตุเสีย คือ ตัวเราเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นๆมามีวิบากร่วมอีกต่อไป โดยการไม่ให้ใครๆยืมเงินอีกต่อไป ไม่ว่าจะมายืมด้วยเหตุใดๆก็ตาม เพราะๆไม่มีใครปล่อยให้ตัวเองลำบากหรอก ต้องตะเกียกตะกายหาจนได้น่ะแหละ

เราให้พี่น้องเรา ให้คนในครอบครัวเราดีกว่า อย่างน้อย เหตุที่เกิดขึ้น ยังน้อยกว่าคนอื่นๆ

รู้ชัดเพื่ออะไร?

เมื่อมีคำถาม จึงมีเรื่องมาเขียน มีผู้ปฏิบัติที่เขามองว่าเขามีเวลาน้อยมากสำหรับเวลาที่ทำเต็มรูปแบบ คือเดินกับนั่ง เขาจะมีเวลาทั้งหมด ๔๐ นาทีโดยประมณ

เราบอกกับเขาว่า มันเป็นสภาวะของคุณ เหตุของคุณสร้างมาแบบนี้ นี่คุณกำลังเปลี่ยนแปลงเหตุของคุณ

ฉะนั้นไม่ต้องไปใส่ใจเรื่องเวลา แค่คุณรู้ชัดอยู่ในกายได้ โดยจิตไม่วิ่งแล่บไปข้างนอก นั่นน่ะกุศลเกิดแล้ว เพราะจิตตอนนั้น มันไม่มีไปคิดว่าร้าย ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ แต่มันมีตัวรู้เกิด ตัวปัญญาเกิด ตัวนี้แหละกุศลแท้ ที่ไม่มีอามิสบูชาเจือแต่อย่างใด เป็นกุศลที่สะอาดและบริสุทธิ์จริงๆ

เขาบอกว่า ตอนนี้ ยิ่งทำ เขายิ่งเห็นความคิดของเขาชัดมาก

สภาวะตรงนี้ เราอยากจะบอกกับผู้ที่เจริญสติทุกๆคนว่า เมื่อใดก็ตาม ที่ปฏิบัติมาถึงจุดๆหนึ่งแล้ว สิ่งแรกที่ทุกคนจะเจอเหมือนๆกันหมดคือ เห็นและรู้ชัดในความคิดของตัวเอง

ทั้งๆที่เมื่อก่อน ก่อนที่จะทำนี้ ความคิดต่างๆนั้นมีไหม มันมีของมันและมันเป็นแบบนั้นของมันอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นที่เราเห็นจะเห็นแค่แว่บๆแล้วผ่านไป เราไม่เคยเห็นมันชัด ถึงแม้เราไม่ได้ตั้งใจดูความคิดนั้นๆก็ตาม แต่มันจะเห็นและรู้ชัดในความคิดนั้นๆ

เหตุเนื่องจาก ตัวสัมปชัญญะเกิดในตัวบุคคลนั้นนั่นเอง ถ้าไม่มีตัวสัมปชัญญะเกิดเราจะไม่เห็นหรือรู้ชัดในความคิดแบบนี้ได้ มีแต่ไหลไปอดีตมั่ง ไหลไปตามอนาคตมั่ง มันไปของมันเรื่อย

แต่สภาวะตรงนี้ เมื่อคิดเราจะรู้และเห็น แล้วความคิดนั้นจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตัวเก่าหายไป ตัวใหม่เกิดต่อ ถ้ารู้กายได้ จิตจะกลับมารู้กาย

เพราะความเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ ย่อมดึงกลับมารู้ที่กายได้ ไม่ปล่อยให้จิตไหลไปอดีตมั่ง อนาคตมั่ง ยืดยาว

เมื่อกลับมารู้กายได้บ่อยๆ กำลังของสติ สัมปชัญญะมากขึ้น สมาธิย่อมมีกำลังมากขึ้นตาม ต่อไปไม่มีการต้องไปดึงจิตกลับมา จิตเขาจะกลับมารู้ชัดที่กายเอง มันจะเป็นไปตามสภาวะ

อีกคำถามที่เขาถามมาคือ เวลาเดิน เวลาที่เกิดความคิด เขาพยายามดึงจิตให้มารู้อยู่กับการเดิน ต้องการให้รู้ชัดในการเดิน ทำแบบนี้เขาทำถูกแล้วใช่ไหม?

เราถามกลับไปว่า คุณทำเพื่ออะไรล่ะ ที่ว่าต้องการให้รู้ชัดในการเดินน่ะ เวลาเกิดสภาวะพวกนี้ ต้องดูให้ทัน ความอยากมันแทรกตลอดเวลา โดยเฉพาะความอยากที่เป็นกุศลจะมีสภาวะที่ละเอียดมากๆ ยากที่จะรู้ทันได้

เราต้องหมั่นถามตัวเองทุกๆครั้งที่เกิดสภาวะที่ต้องการให้รู้ชัดไม่ว่าจะในการเดินหรือให้รู้ชัดในกายก็ตาม เราต้องตั้งคำถาม ถามตัวเองเสมอๆว่า เราทำเช่นนั้นเพื่ออะไร คำตอบที่ตอบกลับมานั่นแหละ คือตัวสภาวะที่แท้จริง

กำลังสติ สัมปชัญญะของแต่ละคนไม่เท่ากัน ล้วนแตกต่างไปตามเหตุที่ทำมา ฉะนั้นจะรู้ชัดในกายได้มากหรือน้อย แตกต่างกันไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องดูให้ทัน

เราเพียงทำเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ทำให้ต่อเนื่องนี่แหละ อุบายหรือวิธีให้รู้อยู่ในกายและจิตของแต่ละคนนั้น แล้วแต่เหตุของใครของมัน

เพียงทำต่อเนื่องไปนี่แหละ กำลังของ สติ สัมปชัญญะจะแข็งแรงหรือมีกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเอง ทำสะสมไป กิเลสน่ะ สามารถทำให้เกิดได้ทั้งสุขและทุกข์ แค่เรารู้อยู่กับมัน รู้ว่ามันมี และยอมรับ นี่ชื่อว่าผู้หลงน้อยลงแล้ว

เดินจงกรม รู้ลมหายใจ

ให้คำแนะนำ

วันนี้มีผู้ปฏิบัติโทรฯมาถามว่า เวลาเดินจงกรม จะคอยรู้ที่ลมหายใจ ไม่ค่อยรู้เท้า ทำแบบนี้ได้หรือไม่?

คำตอบคือ รู้อะไรก็ได้ แค่รู้อยู่ในกาย ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อใดที่สติ สัมปชัญญะดี จะรู้ชัดไปทั้งตัวเอง เท้าก้รู้ ลมหายใจก็รู้ กายก็รู้ จะรู้เอง เหตุที่จิตคอยไปวิ่งจับที่ลมหายใจ เนื่องจากเคยฝึกภาวนาด้วยการดูลมหายใจมาก่อน

ขอถามต่อว่า เวลาจับลมหายใจ จะชอบง่วงนอน

คำตอบ ง่วงก็ให้รู้ว่าง่วง ถ้าอยากจะนอนจริงๆก็นอนไปเลย ส่วนจะฝืนหรือไม่ฝืน อันนี้แล้วแต่ผู้ปฏิบัติเอง ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว

ขอถามต่อ พอรู้ว่าง่วง เคยลองนอน พอนอนลงไป มันก็ไม่หลับ ตากลับสว่าง หายง่วง

คำตอบ มันไม่มีอะไรหรอก กิเลสทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปหาวิธีการอะไร หาวิธีการคนที่ทุกข์ก็คือตัวเราเอง พึงระวังความอยากที่แทรกอยู่ จริงๆแล้วสภาวะมันเปลี่ยนตลอดเวลา ง่วงมั่ง ไม่ง่วงมั่ง ช่างมัน

ขอถามต่อ อะไรเกิดขึ้น ให้แค่รู้ใช่ไหมคะ?

คำตอบ ค่ะ ถ้าทำได้ ถ้ายังทำไม่ได้ จิตมันคิดอะไรก็ให้รู้ไปตามนั้น ใหม่ๆจะเป็นแบบนี้แหละ

หมายเหตุ:-

สภาวะนี้เจอมากับตัวเอง เรียกว่าเดินย่ำจนจำสภาวะได้หมด อันนี้เล่าสู่กันฟัง อาจจะมีสภาวะที่เหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือ ไม่มีอะไรเที่ยง สภาวะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

เมื่อก่อน เวลาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิจะชอบง่วง ก็หาวิธีการน่ะสิ ทำยังไงถึงจะไม่ให้ง่วง ลองทุกรูปแบบ สุดท้ายคือ ง่วงมั่ง ไม่ง่วงมั่ง ล้วนคาดเดาเอาเอง ว่าต้องเกิดจากเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ คาดเดาตลอด ตอนนั้นสติยังไม่มากพอที่จะมองเห็นกิเลสที่เข้ามาแทรก กิเลสที่เป็นกุศล อยากทำความเพียรจ่อเนื่อง พยายามไม่ให้ง่วง มองไม่เห็นจริงๆนะ ความอยาก

ก็ทำไมต้องไปหาวิธีการด้วยล่ะ ความอยากในใจที่เกิดขึ้นดูทันไหม? ส่วนมากคือไม่ทันกันซะมากกว่า เพราะกิเลสความอยากที่เป็นกุศลนี้จะมีสภาวะที่ละเอียดมากกว่ากิเลสที่เป็นอกุศล

บางคนอาจจะพูดว่า ก็พระพุทธเจ้ายังทรงให้ลองทุกวิธีเลย ถ้าไม่ไหวจริงๆให้นอนไปเลย

อ่ะ มาพิจรณากัน สภาวะนี้ทำให้เกิดตัวปัญญานะ ถ้ารู้จักคิดพิจรณาหรือเจอกับสภาวะนี้บ่อยๆ แล้วพยายามแก้ไขสภาวะ

ทำไมพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ทำแบบนั้นล่ะ

เพราะพระองค์ทรงต้องการให้เรียนรู้สภาวะด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้เชื่อในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสไปทุกอย่าง ควรคิดพิจรณาด้วยตนเองกันมั่ง

สภาวะไม่ว่าจะเดินแล้วง่วง หรือนั่งแล้วง่วงก็ตาม บางคนอาจจะมองว่า เพราะกินอิ่มไปไหม? เพราะเหนื่อยหรือเปล่า? เพราะดึกแล้วหรือเปล่า?ฯลฯ มีแต่คำว่าเพราะๆๆๆๆๆ อย่างนั้น อย่างนี้ จริงไหม? มีแต่การให้ค่า การคาดเดาสภาวะ

แท้จริงแล้ว ตัวสภาวะเขามาสอนตลอดเวลา มันเที่ยงไหม เวลานี้อาจจะง่วง ก็คาดเดาละว่า เพราะดึกไปไหม? วันต่อไปทำแต่วัน ยังง่วงอีก อ้าวหาเหตุอื่นๆต่อว่าอาจจะเพราะอย่างนั้น อย่างนี้

นี่นะ สภาวะเหล่านี้ เจอกับตัวเองมาหมดแล้ว ไม่งั้นจะพูดไม่ได้แบบเต็มปาก เดินจงกรมน่ะ เดินเป็นพันๆกิโลได้แล้วกระมัง ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นกิโลละ ถ้าคนทำทุกวันจะเข้าใจนะ

ทำจนเรียกว่า จดจำทุกๆสภาวะได้หมด เลิกให้ค่าแล้ว เดินแล้วง่วงเหรอ ไม่ต้องหาคำตอบหรือหาเหตุอะไรเลย ไม่ต้องไปหาว่าง่วงเพราะอะไร เปลี่ยนอิริยาบททันที

ถ้าเดินไปสักพักต่อแล้วยังง่วงอีก จะเดินไปที่โซฟา นั่งต่อเลย ไม่ก็นั่งที่พื้นน่ะแหละ ที่ไหนได้ พอนั่งลงปั๊บ ก้นยังไม่ทันสัมผัสพื้น จิตเป็นสมาธิทันที นี่เห้นไหม ไปคาดเดาไม่ได้ บางทีเป็นสมาธิทีหลายชั่วโมง เราก็นั่งรู้ไปแบบนั้นแหละ

ประเภทเดินแล้วเกิดความคิดอีกอย่าง อันนี้แล้วแต่อุบายของแต่ละคนนะ เจอมาเยอะแล้ว เดินแล้วคิดๆๆๆๆ บางทีคิดจนเวียนหัว มันจะคิดอะไรนักหนา กำหนดคิดหนอๆๆๆ ก็แล้ว ยังไม่ยอมหยุดคิดสักที ตอนหลังเลิกกำหนด แต่ดู และรู้ว่าคิด แล้วมาสนใจในกายต่อ ดูลมมั่ง เท้ามั่ง มือขยับไปมามั่ง สุดท้ายความคิดหายไปเอง

ก็เราไปสนใจมันเอง ยิ่งสนใจ สภาวะความคิดยิ่งแผลงฤทธิ์ คิดก็ให้รู้ว่าคิด ไม่ต้องไปปฏิเสธ ยอมรับไป แล้วมารู้ที่เท้ากำลังเดิน หรือจะรู้ลมหายใจ หรือจะรู้กายส่วนอื่นๆ ให้รู้อยู่ในกายนี่แหละ พอมันเห็นเราไม่สนใจ ความคิดจะหายไปเอง รู้ไปแบบนี้แหละ สภาวะจะเกิดสลับไปสลับมา ก็ยังมีกิเลสนี่นะ ความคิดย่อมมีเป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าบางคนถนัดกำหนด ก็กำหนดไป ไม่มีอะไรถูกหรือผิดหรอก เหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป อุบายที่ใช้ในการรักษาจิต จึงแตกต่างกันไป

อ้อ … เวลาต้องการให้สภาวะไหนเกิดชัด เช่นเดินจงกรม ต้องการให้รู้เท้าชัด ควรถามตอบตัวเองด้วยว่า ที่ต้องการให้รู้ชัดน่ะ รู้ชัดไปเพื่ออะไร พึงระวังกิเลสให้ดีๆ มันเข้าแทรกได้ตลอดเวลา ทำเพราะความอยาก แต่ไม่รู้ว่าอยาก

กุมภาพันธ์ 2011
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28  

คลังเก็บ