ขับเคี่ยวกับกิเลส

ช่วงนี้ไม่ค่อยได้อยู่ดึก เพราะกลับมาจากที่ทำงานก็ปฏิบัติต่อ
หลังปฏิบัติจะกำหนดต่อ เลยไม่ค่อยได้ออนเอ็มนานเหมือนเมื่อก่อน
 
สภาวะตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการสอบ จึงต้องใช้สติ สัมปชัญญะเป็นอย่างมาก
ทำให้มาปฏิบัติพิ่มในตอนเย็นอีกรอบหรือสองรอบแล้วแต่เวลา
 
เราต้องดูที่ผัสสะเวลากระทบ สภาวะที่เกิดขึ้น
แล้วจะทำให้เรารู้ว่ากำลังของสตินั้นมีมากแค่ไหน
 
ชอบใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดการให้ค่าในสภาวะนั้นๆว่าดี ไม่ดี
ถูก ผิด เพราะถูกในความคิดกับไม่ใช่ในความคิดของตัวเอง
สภาวะต่างๆที่ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ล้วนเกิดจากอุปทาน เป็นการให้ค่า
ให้ค่าตามความคิดที่เกิดขึ้น ตามการกระทบที่เกิดขึ้นใน ขณะนั้นๆ มีแต่กิเลส
มีแต่การสร้างเหตุใหม่ให้เกิดขึ้นเนืองๆ ต้องดูให้ทัน เพื่อจะได้ไม่ไปสร้างเหตุใหม่ให้เกิดขึ้น
 
ไม่ต้องไปถามใครว่าตัวเองปฏิบัติแล้วเป็นยังไง
ดีหรือไม่ดี ทุกๆคำตอบที่ได้รับมาจากคนอื่นๆ ล้วนเป็นการให้ค่าตามกิเลสของคนๆนั้น
หาใช่ตามสภาวะที่เป็นจริงไม่  เมื่อฟังคนอื่นๆให้คำตอบแล้ว นั่นกิเลสเขา แล้วเอากิเลสตัวเองปรุงแต่งต่อ
เพราะสติยังไม่ทัน ปรุงแต่ง ชอบใจ ไม่ชอบใจ ภพชาติจึงไม่จบสิ้นเพราะเหตุนี้ เหตุมี ผลย่อมมี ทำเองทั้งนั้น
 
ตัวเองเท่านั้นที่จะรู้สภาวะของตัวเองมากที่สุด
ทำแล้วยังมีการส่งจิตออกนอกไปว่าคนอื่นๆหรือไปเพ่งโทษคนอื่นๆไหม
ทำแล้วยังมีความยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ทำแล้ว ยังมีการไปกล่าวว่าการปฏิบัติอื่นๆที่ไม่ใช่แนวทางของตัวเองว่า มีถูกมีผิดหรือไม่
เรียกว่า การส่งจิตออกนอกทุกชนิด นั่นคือ การวัดผลของการปฏิบัติ ว่า สติทันการปรุงแต่ง การให้ค่ามากน้อยแค่ไหน
 
เดินรู้เท้า นั่งรู้กาย รู้จริงๆมีอยู่แค่นี้เอง
 
เดินให้รู้เท้า  จะมีคำบริกรรมภาวนาหรือไม่มีก็ได้
  
 นั่งรู้กาย รู้ยังไง แรกๆรู้ลมหายใจเข้าออก
การเอาจิตจดจ่อรู้ลมหายใจเข้าออก เขาเรียกว่า วิตก วิจาร
 
วิตก คืออะไร คือ ตัวสติ  รู้ว่ากำลังหายใจ
วิจาร คืออะไร คือ ตัวสัมปชัญญะ การเอาจิตจดจ่อรู้ลงที่ลมหายใจเข้าออก
รู้ธรรมดาๆนี่แหละ เหมือนเวลาหายใจปกติ เพียงแต่เอาใจใส่ลงไปว่ากำลังหายใจอยู่
ไม่ใช่ไหลไปตามสิ่งที่มากระทบ รู้แค่นี้แหละ รู้อันดับแรก ที่ใดทีสติ สัมปชัญญะทำงานร่วมกัน ที่นั่นย่อมเกิดสมาธิ
 
เมื่อเกิดสมาธิ ลมหายใจย่อมละเอียดมากขึ้น จนไม่สามารถจับลมหายใจได้
บางคนสมาธิมากเกิน สติไม่ทันก็อาจจะเห็นว่ากายหายไป จริงๆแล้วคือ สติไม่ทัน
เมื่อสติไม่ทัน จึงขาดตัวสัมปชัญญะ เมื่อตัวสัมปชัญญะไม่เกิด จึงไม่สามารถรู้ที่กายได้
จึงเห็นหรือรู้สึกว่า ลมหายใจหายไปหมด พร้อมๆกับกายนั้นหายไปหมด เหลือแต่จิตดวงเดียว
หรือเหลือความรู้สึกอยู่ตัวเดียว  สภาวะอื่นๆไม่สามารถที่จะไปรับรู้ได้
 
ถ้าเกิดสภาวะตรงนี้ ในการปฏิบัติครั้งต่อไป ให้ปรับอินทรีย์
โดยการเดินจงกรมเพิ่ม เดินให้มากกว่านั่ง ถ้าทำแล้ว ยังเกิดสภาวะนี้อยู่อีก
ให้เพิ่มเดินขึ้นไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะรู้ในกายได้
 
รู้ในกายหรือรู้อยู่กับกาย รู้อย่างไร?
 
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ลมหายใจจะละเอียดจนไม่สามารถจับลมหายใจได้
ถ้าสติ สัมปชัญญะดี จะเห็นอาการของกายที่กำลังเคลื่อนไหวเด่นชัดอีกที่คือ อาการท้องพองขึ้น ยุบลง
ตามลมหายใจเข้าออก จะรู้ตรงนี้ได้ชัดมากๆ ให้รู้ตรงนี้ไป คือดูตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องใช้คำบริกรรมภาวนาใดๆ
 
แต่ถ้ามีกำลังของสมาธิมาก หรือจิตเสพสมาธิสูง
อาการท้องพองยุบจะจับไม่ได้เลย แต่ถ้าสติ สัมชัญญะดี
จะเห็นการเคลื่อนไหวของกายอีกที่คือ บริเวณทรวงอกที่เคลื่อนไหวตามลมหายใจเข้าออก
 
หรือ ถ้าจิตเสพสมาธิมีกำลังมากกว่านั้น
ถ้ามีสติ สัมปชัญญะดี จะรู้ชัดตรงบริเวณลิ้นปี่ที่ถูกกระทบด้วยลมหายใจเข้าออก
 
ส่วนคนไหนจะรู้อยู่ในกายได้มากหรือน้อย มีองค์ประกอบหลายๆอย่าง
และขึ้นอยู่กับเหตุที่ทำมา ตลอดจนเหตุที่กำลังสร้างขึ้นในปัจจุบันด้วย
 
สภาวะภายนอก ( นอกตัว ) สิ่งต่างๆที่ทำลงไปด้วยความไม่รู้
ล้วนส่งผลมาสู่สภาวะภายใน ทั้งขณะที่ปฏิบัติ และการใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นๆ
 
สภาวะภายใน คือ ผลที่ส่งไปยังสภาวะภายนอก
ถ้าสติ ยังไม่มีกำลังมากพอ  ยามเกิดการกระทบ ย่อมเกิดอุปทานให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะทางกาย วาจา ใจ  เมื่อก่อเหตุเกิดขึ้นมา ผลย่อมส่งกลับมาหมดทั้งสภาวะภายนอกและภายใน

กันยายน 2010
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930  

คลังเก็บ